สิ่งที่รู้สึกหนักใจที่สุดหลังจากดู The Father จบคือจะเขียนถึงตัวหนังยังไงดีให้ผู้อ่านสามารถอ่านจนจบโดยที่ไม่เผลอสปอยล์เนื้อหาและสาระสำคัญของตัวหนังไป เนื่องจากเป็นหนังที่รู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยยิ่งดี ยิ่งไปกว่านั้นนี่ยังเป็นการเขียนรีวิวหนังอย่างจริงจังเป็นเรื่องแรกให้กับทาง The MATTER ด้วย แต่เมื่อนั่งจ้องพื้นที่ว่างอยู่พักใหญ่ ก็ได้ข้อสรุปว่า “เขียนไปเลย” just เขียน
เพราะไม่ว่าจะพูดลงเนื้อหายังไง ก็ไม่มีทางบรรยายสิ่งที่ประสบพบเจอจากการดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างครบครันและไม่สามารถทำลายความแข็งแรงของหนังได้อยู่ดี (ถึงอย่างงั้นบทความนี้ก็ไม่สปอยล์นะ)
‘The Father’ ดัดแปลงมาจากละครเวทีอันโด่งดังชื่อมีชื่อว่า ‘Le Père’ ของ ฟลอเรียน เซลเลอร์ (Florian Zeller) ที่คว้ารางวัล Molière Award ไปเมื่อปี ค.ศ.2014 ละครเวทีเรื่องนี้ฮอตฮิตมากครับทั้งในอังกฤษ, ฝรั่งเศส และนิวยอร์กก่อนที่เซลเลอร์ จะนำมาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์พร้อมนั่งแท่นผู้กำกับด้วยตัวเอง และยังเขียนบทร่วมกับ คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Christopher Hampton) คนเขียนบท Atonement โดยได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) และโอลีเวีย โคลแมน (Olivia Colman) มารับบทนำ
หลังจากออกฉาย หนังก็ได้เข้าชิงรางวัลในเวทีประกวดภาพยนตร์มากมาย และแน่นอนว่าได้เป็นผู้ท้าชิงในเวทีที่น่าจับตามองที่สุดอย่าง Oscars หรือ Academy Award ครั้งที่ 93 (ประจำปี ค.ศ.2021) นี้ด้วยการเข้าชิงถึง 6 รางวัล ในสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, เขียนบทยอดเยี่ยม, นำชายยอดเยี่ยม, สมทบหญิงยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม และโปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม ซึ่งหนังก็สามารถคว้ารางวัลบทดัดแปลงยอดเยี่ยมมาได้ แถมยังพาแอนโธนีคว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมกลับไปตั้งที่บ้านเป็นตัวที่ 2 ในฐานะนักแสดงที่อายุมากที่สุดตลอดกาลที่ได้รางวัลออสการ์สาขาการแสดงอีกด้วย
เรื่องราวจะเกี่ยวกับ ‘แอนโธนี’ (แอนโธนี ฮอปกินส์) พ่อวัยชราผู้เป็นอัลโซเมอร์ มีอุปนิสัยหลงๆ ลืมๆ เกรี้ยวกราด และมีดื้อดึงอีโก้สูงที่อาศัยอยู่ในแฟลตของเขา โดยมี ‘แอนน์’ (โอลีเวีย โคลแมน) ลูกสาวคอยแวะมาดูแล ถามสารทุกข์สุขดิบ และมากินข้าวด้วยเป็นช่วงๆ
ถามว่าแค่นี้เองหรอ?
ใช่ครับ แค่นี้เลย
นี่คือการสรุปภาพรวมของหนังได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในส่วนของเนื้อเรื่องมันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น แถมยังเป็นหนังประเภทเล่าในสถานที่เดียว (one location) เหมือนหนังคลาสสิกแนวเดียวกันเรื่อง 12 Angry Men (ค.ศ.1957) อีกด้วย เพียงแต่เป็นแบบฉบับที่มีหลายห้อง
แต่ประเด็นและความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หนังทำการล้อหลอกกับคนดูอย่างแยบยลด้วยการทำให้คนดูสับสนผ่านความทรงจำอันผสมปนเปและการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความงุนงงกับเครื่องหมาย ‘??????’ ที่รับรู้จากมุมมองของตัวละครแอนโธนี
“ทั้งหมดทั้งมวล
ก็เพื่อให้คนดูได้สัมผัสความรู้สึก
และเข้าใจว่าการเสียการควบคุมเป็นอย่างไร?”
“หนังเรื่องนี้คือความต้องการของผมที่จะเล่าเรื่องราวจากภายใน ด้วยการนำผู้ชมไปจัดวางในตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง ให้พวกเขาเกิดความพยายามที่จะเข้าใจว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น และมองหาทางออกกับความหมายของมัน สำหรับผม นี่คือโอกาสดีที่จะเล่นกับความสับสนรวนเร และผมไม่ต้องการให้ The Father เป็นแค่เรื่องราว ผมต้องการให้มันเป็น ‘ประสบการณ์’ แห่งความหัวเสีย วิตกกังวล และความไม่แน่นอน” ฟลอเรียน เซลเลอร์ พูดถึงหนังของเขากับ The New Indian Express
จึงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า The Father คือ Memento (ค.ศ.2000) ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ในเวอร์ชั่นที่ตัวเอกไร้รอยสัก เนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน ภาพสีทั้งเรื่อง และนักแสดงไม่ใช่กาย เพียร์ซ (Guy Pearce) เพราะหนังสองเรื่องนี้มีกลวิธีในการเล่าเรื่องแบบเดียวกัน คือเล่าผ่านประสบการณ์ของตัวเอกที่ lost in time, space and memory และคนดูจะรู้อะไรพร้อมๆ กัน รู้สึกเหมือนกัน ประหลาดใจ และเคลือบแคลงใจเหมือนกัน โดยเปิดเผยรายละเอียดและยกระดับขึ้นตามเนื้อเรื่องที่เดินไปข้างหน้า
สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ เมื่อดูจบแล้วเสิร์ชกูเกิ้ลว่า ‘The Father Genre’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘Drama’ เพียงอย่างเดียว เพราะถามว่าดราม่ามั้ยแน่นอนดราม่าจ๋าๆ เลย แต่อันที่จริงควรเพิ่มตระกูล ‘Psychological’ กับ ‘Thiller/Horror’ ไปด้วย เพราะหนังมันช่างเต็มไปด้วยการเล่นกับจิตใจอย่างไม่ปรานี แถมยังรู้สึกน่ากลัวผสมระทึกใจนิดๆอีกต่างหาก เริ่มตั้งแต่ไม่กี่นาทีแรกของหนัง
เคยได้ยินประโยคนี้กันมั้ยครับ ไม่ว่าจากหนังหรือจากใครซักคนที่รู้จัก “Sometime memory tricks you.”? หรือเคยมั้ยที่ไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงมั้ยในอดีต แต่เมื่อถูกเน้นย้ำ หรือมีการพูดถึงเข้าบ่อยๆ เราเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเกิดขึ้นจริงโดยจำได้ทั้งภาพ เนื้อหา เสียง สัมผัส ที่ชัดเจน?
หากนั่นเป็นอะไรที่น่าสับสนมึนงงแล้ว แต่ไม่ใกล้เคียงกับโรคอัลไซเมอร์เหมือนที่ตัวละครแอนโธนีได้ประสบ เพราะมันน่ากลัวกว่านั้นมาก และมันไม่ใช่แค่ความไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิดในเรื่องราวเก่าๆ แต่มันเกิดขึ้นอย่างเรียลไทม์
The Father มีความโดดเด่นในด้านนี้ ด้วยการที่จับคนดูไปนั่งอยู่ในหัวของแอนโธนี และมองออกมาผ่านลูกทั้งสองข้างของเขา โดยเรานั่งอยู่บนเก้าอี้ที่มีเชือกมามัดเข้าไว้อย่างแน่นจนดิ้นไม่หลุดคลายไม่ออก พร้อมเครื่องถ่างตา จากนั้นก็บังคับเราให้รับประสบการณ์ที่ตัวละครเอกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งนอกจากความทรงจำของเขายังไม่ปะติดปะต่อแล้ว ความทรงจำแอนโธนียังถูกผสมกันจนไม่อาจแน่ใจได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนแห่งหนใด ในช่วงเวลาไหน เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ กำลังคุยอยู่กับใคร และไม่รู้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไปแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
หนังเปิดหัวมาและตลอดทั้งเรื่องดำเนินไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยผสมกลิ่นของความรู้สึกไม่น่าไว้วางใจตลบอบอวลตลอดทั้งเรื่อง และจนจบเรื่อง หนังก็ไม่ได้ให้คำตอบหรือคำอธิบายกับเราโต้งๆว่าที่ผ่านมานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างแบบเรียงลำดับเวลา (chronological) แต่การโดดไปนู่นทีนี่ทีแบบนี้ก็ใช่ว่าจะทิ้งให้คนดูนั่งงงจนเกาหัวแกรกๆ หลังดูจบซะทีเดียว เพราะกว่าจะถึงบทสรุปเราจะสามารถนำภาพความทรงจำของแอนโธนีมาสลับปรับเรียงใหม่ในหัวและปะติดปะต่ออะไรต่อมิอะไรได้เอง
สิ่งน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการที่ตัวละครแอนโธนีแสดงให้เห็นถึงความดื้อดึงหยิ่งผยองและความมั่นอกมั่นใจในตัวเอง หรือแสดงความเป็นอัตตา (ego) ออกมาให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง นั่นแสดงถึงการดิ้นรนต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์และการสูญเสียตัวตน เพราะมันยากที่จะนิยามว่า คนคนนึงจะเป็นคนคนนั้นได้อยู่มั้ย หากไร้ซึ่งความทรงจำหรือไม่สามารถรำลึกนึกถึงความเป็นตัวเอง คนที่รัก หรือแม้กระทั่งผู้คนที่เกี่ยวข้องในชีวิตอย่างชัดเจนได้เลย
ความพยายามในการรักษาตัวตนนี้ กับตัวห้องแฟลตเองยังมีนัยยะสำคัญยังเชื่อมโยงไปถึงหลักการจดจำที่มีชื่อเรียกว่า ‘memory palace’ ที่ว่าด้วยการที่มนุษย์มักจะจำสิ่งนึงได้แม่นยำเมื่อเชื่อมโยงมันกับตำแหน่งต่างๆ ในสถานที่ หรือการเชื่อมโยงสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งอีกด้วย ห้องแฟลตเปรียบเสมือนสภาวะในการรับรู้หรือภายในหัวข้อแอนโธนี ซึ่งในเรื่อง บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นฉากแอนโธนีถามหานาฬิกาข้อมือ ที่แม้เขาจะวางมันไว้ในที่เดิมเป็นประจำ เขายังสับสนว่า ‘ที่ประจำ’ นั้นของเขาคือที่ไหน
ความสับสนทั้งในรายละเอียดผู้คน วัตถุ และคุณลักษณะของตัวเอง แค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นสัญญาณอันตรายว่าชายชราผู้น่าสงสารคนนี้กำลังอยู่ในสภาวะจิตใจที่มีปัญหาแล้ว แต่สำหรับแอนโธนี คือทุกอย่างที่กล่าวไป
ด้วยความเป็นละครเวทีมาก่อน เห็นได้ชัดว่าหนังใช้ประโยชน์จากการบล็อกกิ้งตัวละคร วัตถุ สร้างฉาก กับการวางบทและเขียนไดอะล็อกแบบผู้รู้ ‘how to ทำให้หนังน่าสนใจตลอดเรื่องโดยอยู่ในสถานที่เดียว’ ได้อย่างชาญฉลาดและได้ผล
หนังยังทดแทนความหวือหวาที่ขาดไปจากการใช้มุมกล้องที่เรียบง่ายและสถานที่เดียวแบบนี้ ด้วยการแสดงสุดทรงพลังของ แอนโธนี ฮอปกินส์ กับ โอลีเวีย โคลแมน ที่ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองตามตำแหน่งที่เข้าชิงออสการ์ได้อย่างไร้ที่ติ แอนโธนี แบก ส่วนโอลีเวียเป็นแรงเสริมที่ยอดเยี่ยมและสอดคล้องกัน
“เมื่อคุณเป็นนักแสดงมาเป็นเวลานาน
คุณจะรู้ว่าหนังที่ดีและบทที่ดีจะทำให้คุณต้องกลับมานั่งพิจารณาชีวิตตัวเอง
และการรับบทในหนังเรื่องนี้ทำให้ผมหวนรำลึกถึงอดีตของชีวิตที่เคยได้ใช้
พ่อแม่ของผม และความหวานอมขมกลืนที่ผ่านมาในชีวิต”
เมื่อพูดถึงเรื่องการแสดงกับการที่เพิ่งได้นำชายออสการ์ตัวที่ 2 แล้ว อย่างที่รู้กันดีว่า เซอร์ แอนโธนี เป็นนักแสดงมากฝีมือระดับตำนานได้ไม่ใช่เพราะแสดงมานานหรืออยู่มาก่อน แต่เพราะเมื่อไหร่ที่เขาแสดง เขาจะนำตัวเองไปหลอมรวมกับกับคาแร็กเตอร์นั้นๆ ที่ตัวเองได้แสดง จนทำให้คนดูเชื่ออย่างไร้ข้อกังขาว่าเขาคือตัวละครนั้นจริงๆ
แม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยม แอนโธนี เคยพูดไว้กับเว็บไซต์ Augustman ว่าตัวเขาไม่ใช่ Method Actor อย่างที่หลายคนเข้าใจ เขาเป็นเพียงนักแสดงที่เชื่อในการเตรียมตัวและการอ่านบทกับทำความเข้าใจในตัวละครอย่างถ่องแท้ เชื่อในสิ่งที่กระทำและการพูดในฐานะที่เป็นตัวละครนั้นๆ เสมอ และเมื่อทำได้แบบนั้นแล้ว เขาใส่เครื่องปรุงที่เรียกว่า ‘การด้นสด (improvisation)’ เพิ่มลงไป และนั่นคือเคล็ดลับการแสดงสุดอร่อยของเขา
แอนโธนี ฮอปกินส์ อาจแสดงเรื่องไหนก็มักจะมีลุคภายนอกที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก หรือจะพูดว่าเป็นนักแสดงที่ลุคเดิมทุกเรื่องก็ได้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือความรู้สึกจากภายในที่เขาส่งออกมาสู่ภายนอก ที่ทำให้เราเชื่อสนิทใจว่าเป็นตัวละครนั้น ไม่ใช่นักแสดงรางวัลออสการ์ที่ชื่อว่าแอนโธนี ฮอปกินส์
จึงเป็นอะไรที่ไม่เกินเลยถ้าจะบอกว่านี่คือการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดบทบาทนึงของตำนานคนนี้ นับตั้งแต่บทบาท Hannibal Lecter ในหนังเรื่องที่ทำให้โลกจดจำเขาได้ดีอย่าง The Silence of the Lambs หากไม่นับบท Dr.Robert Ford ในซีรีส์ Westworld ที่อาจใช้พลังน้อยกว่า แต่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ด้วยการแสดงสีหน้า ท่าทาง การใช้กล้ามเนื้อบนใบหน้า การเว้นจังหวะพูด และการเป็นตัวละครแอนโธนีอย่างเป็นธรรมชาติ
ที่อุทิศถึง 3-4 ย่อหน้าเพื่ออวยการแสดงของ แอนโธนี ฮอปกินส์ ก็เพื่อที่จะตอกย้ำว่า ไม่เพียงแต่บทนี้ถูกฟลอเรียนเขียนมาจากการจินตนาการว่าเป็นเขาตลอดทั้งเรื่องแล้ว เรื่องนี้เขายังยกระดับตัวละครด้วยการแสดงที่ดูจะควักทั้งหมดที่มีออกมาราวกับเป็นการแสดงเรื่องสุดท้ายยังไงอย่างงั้น (มีฉากนึงในตอนท้าย ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่) และเขาสมควรได้รับมัน ออสการ์อีกตัวในช่วงปลายของชีวิตและชีพนักแสดง
The Father เป็นหนังที่ทั้งวัดกึ๋นและทั้งต้องพึ่งพาความสามารถของสามเสาหลักอย่างผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดงเป็นอย่างมาก ซึ่งผลลัพธ์หรือตัวหนัง ก็บ่งบอกว่าสามเสาหลักนี้เป็นยี่ห้อที่มีคุณภาพและตอกลงไปในระดับที่ลึก ส่งผลให้ตัวบ้านแข็งแรงมั่นคงตาม กี่ปีก็บ้านไม่ทรุด