1
หลายปีก่อน ตอนจะสร้างรั้ว เพื่อนบ้านบอกผมว่า ไม่ต้องลงทุนทำรั้วอะไรให้สวยงามนักหรอก สิ่งที่ควรทำก็คือแค่ปักเสา เอา ‘ลวดหนาม’ มาขึง แล้วก็ปลูกต้นชาหรือต้นมะขามอำพรางเอาไว้ รูปทรงที่เห็นอยู่ภายนอกก็จะเป็นต้นไม้เขียวสวยแลดูชะอุ่มพุ่มพฤกษ์น่าเข้าใกล้ แต่ถ้าใครบังอาจเข้ามาใกล้จริงๆ ด้วยการบุกรุก ก็จะได้เจอกับลวดหนามที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ตอนนั้น-จำได้ว่าผมปฏิเสธทันที
ไม่ใช่เพราะผมไม่ชอบรั้วต้นไม้เขียวสวยหรอกนะครับ แต่ผมไม่ชอบรั้วลวดหนามที่ซ่อนอยู่ข้างในต่างหาก แต่ตอนนั้น ผมหาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้-ว่าเพราะอะไรถึงไม่ชอบรั้วลวดหนาม
ผมคิดแต่เพียงว่า มันมีความน่าสะพรึงพิเศษบางอย่างอยู่ในความเป็น ‘ลวดหนาม’ ก็เท่านั้น
2
หลายปีต่อมา ผมไปเที่ยวยุโรปกับเพื่อน ขากลับ เราจองตั๋วเครื่องบินที่ต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่เมืองเคียฟ อันเป็นเมืองหลวงของประเทศยูเครน
ถ้าดูจากรูปภาพโฆษณาท่องเที่ยว เคียฟเป็นเมืองสวยทีเดียว แถมยังมีประวัติศาสตร์น่าสนใจหลายอย่างด้วย ตอนแรกยังอยากแวะเที่ยวเลยครับ แต่พอลงเครื่องบินและต้องนั่งรถบัสเข้าไปพักรอเครื่องที่สนามบิน ผมก็เปลี่ยนใจทันที บอกตัวเองทันทีว่าไม่-ผมคงไม่กล้าไปเที่ยวเคียฟหรอก
ปกติแล้ว สนามบินน่าจะมีบรรยากาศเชิญชวนให้คนอยากเดินทางท่องเที่ยว หรืออย่างเบาะๆ ก็ช็อปปิ้งในสนามบินใช่ไหมครับ อย่างสนามบินที่ญี่ปุ่นนี่เห็นได้ชัดเลยว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายต่อหลายอย่าง แม้แต่สนามบินในประเทศเล็กๆ อย่างเนปาล ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่กาฐมาณฑุหรือที่โพคารา ก็มีบรรยากาศเชื้อชวนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นสบายใจบางอย่าง พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่ไหน ล้วนเป็นสนามบินที่ต้องแสดงสัญญะของ ‘อัธยาศัย’ ในการต้อนรับขับสู้กันทั้งนั้น
แต่อะไรบางอย่างที่เคียฟทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ
ผมรู้สึกว่าเคียฟเป็นสนามบินที่ ‘ระมัดระวังตัว’ เป็นอันมาก เหมือนไม่ค่อยอยากแสดงการต้อนรับเท่าไหร่ และผมเพิ่งนึกออกเมื่อไม่นานมานี้เองครับ ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นก็คือ ‘ลวดหนาม’ ที่ขึงอยู่ด้านบนของรั้วสนามบิน
ลวดหนามนั้นดูไม่เป็นมิตร ลวดหนามนั้นดูเป็นปรปักษ์ ลวดหนามนั้นดูคล้ายการข่มขู่ และลวดหนามนั้นทำให้สนามบินเป็นคล้ายค่ายกักกัน!
3
ดิ๊ก วิทเทนเบิร์ก (Dick Wittenberg) ผู้เขียนหนังสือชื่อ Barbed Wire : A History of Good and Evil เคยเขียนไว้ว่า
เมื่อผมตัดสินใจจะค้นคว้าประวัติศาสตร์ของรั้วลวดหนามโดยละเอียด ผมพบว่าตั้งแต่ต้นมาแล้ว ที่รั้วลวดหนามถูกนำมาใช้เพื่อ ‘แบ่งแยก’ สิ่งมีชีวิตออกจากกัน แรกสุดคือแยกสัตว์ออกจากมนุษย์ ต่อมาก็แยกมนุษย์ออกจากมนุษย์ มันคือสิ่งที่ทำให้ดินแดนตะวันตกของอเมริกาอันเต็มไปด้วยอินเดียนแดงเกิดความเชื่อง และเข้าสู่เวทีโลกด้วยบทบาทน่าสะพรึงกลัวในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จ ด้วยฝีมือของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และโจเซฟ สตาลิน ทุกวันนี้ มันกลายเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ ด้วยการแยกคนออกเป็นคนที่สามารถเข้าไปในพื้นที่หนึ่งๆ ได้ กับคนที่ต้องถูกกีดกันอยู่ภายนอก
เวลาเกิดเหตุการณ์ประท้วงหรือจลาจล นอกเหนือจากการยิงแก๊สน้ำตาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ ก็คือการวางลวดหนามบนถนนเพื่อควบคุมฝูงชนไม่ได้ผ่านเข้าไปในพื้นที่บางแห่ง พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ รั้วลวดหนามถูกนำมาใช้เป็น Human-Proof Fence หรือรั้วกั้นมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะในกรณีประท้วงหรือจลาจลเท่านั้น แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังมีการใช้ในหลายระดับ เช่น ใช้ตามบ้าน ใช้ในเรือนจำ หรือใช้ในค่ายกักกันด้วย
เขาบอกว่า รั้วลวดหนามหรือ Barbed Wire นับเป็น ‘สิ่งประดิษฐ์’ ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของยุคใหม่เลยนะครับ เพราะว่ามันคือการแสดงให้เห็นถึงการ ‘แบ่งอาณาเขต’ อันเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
แรกทีเดียว ลวดหนามมีลักษณะเป็นเส้นลวดแบนบางก่อน ยังไม่ได้มี ‘หนาม’ แบบที่เห็นในปัจจุบัน คิดขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส เป้าหมายของการสร้างรั้วแบบนี้ขึ้นมาก็เพื่อกั้นเขต ความแบนของลวดทำให้อาจบาดผู้บุกรุกได้ แต่ไม่ได้บาดเจ็บอะไรมากนัก หลังจากนั้นก็เกิดการคิดค้นรั้วทำนองนี้ขึ้นหลายแบบ ในราวปี 1867 มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรรั้วทำนองนี้ถึง 6 แบบ แต่รั้วลวดหนามแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน คือเป็นเส้นๆพันกันเป็นเกลียวๆ แล้วมีหนามๆ งอกออกมานั้น เกิดขึ้นในอเมริการาวปี 1873 โดยใช้ลวดที่ทำรั้วมาบิดเป็นเกลียว แล้วใช้ลวดเส้นสั้นๆ สอดเข้าไปตามปม เพื่อให้เป็น ‘หนาม’ ยื่นออกมา เลยกลายเป็นรั้วลวดหนามอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
คำถามก็คือ ทำไมอเมริกาในตอนนั้นต้องทำรั้วที่มีความเป็นปรปักษ์มากขนาดนี้ด้วย คำตอบก็คือตอนนั้นเป็นยุค Wild West หรือเป็นยุคที่มีการบุกเบิกตะวันตก คนนั่งเกวียนไปตะวันตกเพื่อจับจองที่ดินกันเป็นผืนใหญ่ๆ ทีนี้เมื่อมีที่ดินผืนใหญ่ ก็ต้องกั้นเขตเพื่อไม่ให้ซ้อนทับกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดข้อพิพาทกันขึ้นได้ แต่การกั้นเขตด้วยรั้วแบบอื่น (เช่นรั้วหิน) เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะแถบนั้นไม่ได้มีหินมากมายเหมือนในยุโรป การทำรั้วหินจึงมีราคาแพง และเนื่องจากอยู่ในยุคหลังสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รั้วลวดหนามที่มีราคาถูกจึงเป็นเสมือน ‘ของขวัญ’ จากสวรรค์ เพราะมันทั้งถูกและสร้างง่าย แค่ขึงลวดหนามเข้ากับเสาที่ปักอยู่ห่างๆ ก็ใช้ได้แล้ว ประโยชน์ใช้สอยก็ดีมาก นอกจากจะบอกเขตจับจองแล้ว ยังกั้นสัตว์เลี้ยงไม่ให้ออกนอกเขต กั้นสัตว์จากการเข้าไปเหยียบย่ำพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงกันผุ้บุกรุกที่จะเข้ามาลักขโมยสัตว์ได้ด้วย ผลก็คือรั้วลวดหนามในอเมริกายุคนั้นได้รับความนิยมมาก
แต่การกั้นรั้วลวดหนามในดินแดนตะวันตกไม่ได้มีแค่ประโยชน์เท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง มันกลับเป็น ‘โทษ’ ต่อคนกลุ่มหนึ่งด้วย
คนกลุ่มนั้นก็คือชาวอินเดียนแดง!
อย่างที่เรารู้กันอยู่นะครับว่าอินเดียนแดงเป็นชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา พวกเขาอยู่ในดินแดนแถบนั้น และมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง คือไม่ได้จับจองที่ดินกันเป็นผืนๆ แล้วประกาศกรรมสิทธิ์ว่านี่คือพื้นที่ของข้า พวกเขาอยู่ในดินแดนเหล่านั้นโดยเห็นว่า ผืนดิน สายน้ำ ทุ่งหญ้า ควายไบซัน และสัตว์ป่าทั้งหลาย คือสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ก็ใครจะอาจเป็นเจ้าของผืนดินและสายน้ำได้เล่า แต่เมื่อคนขาวเข้ามาจับจองประกาศสิทธิ คนขาวก็ได้สร้างรั้วลวดหนามขึ้นบ่งชี้ว่านี่คือของของตน คนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปอยู่ในนั้น
ปัญหาก็เกิดขึ้น
ชาวอินเดียนแดงลุกขึ้นทำสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า ‘สงครามตัดรั้ว’ หรือ Fence-Cutting Wars ซึ่งก็เป็นไปตามชื่อเลยครับ คือมีการทำลายรั้วลวดหนามเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ร้ายต่อชะตากรรมของชาวอินเดียนแดงในเวลาต่อมา
รั้วลวดหนามจึงไม่ได้เป็นแค่รั้วลวดหนาม ทว่าเป็นขอบเขตการ ‘ปะทะ’ กันระหว่างวิถีชีวิตสองแบบที่มีฐานคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วย
4
เอาเข้าจริง การ ‘กั้นรั้ว’ เพื่อแสดงอาณาเขตนี่ ถือเป็นเรื่องใหม่มากในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินะครับ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่ได้อยู่กันหนาแน่นขนาดนั้น อย่างในยุโรปเองก็มักใช้ ‘กองหินตั้ง’ (Cairn) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินซ้อนๆ กันสูงขึ้นไปจนดูเหมือนเสาหรือเจดีย์เล็กๆ เอาไว้เป็นเครื่องมือบอกเขตแดน (ซึ่งดูเผินๆ ลี้ลับดี ทำให้เกิดตำนานเกี่ยวกับกองหินตั้งเหล่านี้เยอะแยะไปหมด) โดยกองหินตั้งเหล่านี้ไม่ได้มีรั้วเชื่อมระหว่างกัน ถ้าที่ดินเป็นสี่เหลี่ยม ก็จะมีกองหินนี้ตั้งอยู่สี่กองเท่านั้น ส่วนใหญ่คนแค่คะเนกำหนดรู้เอาว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของใคร และเคารพกัน ไม่ไปแย่งชิงบุกรุกมาเป็นของตัวเอง
แต่เมื่อเกิดรั้วลวดหนามขึ้นในอเมริกา ก็เริ่มเกิดความนิยมในการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน อย่างหนึ่งเพราะมันราคาถูก จึงเกิดการค้าขายรั้วลวดหนามอย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้น
อย่างที่รู้กันว่า คุณสมบัติอย่างหนึ่งของรั้วลวดหนามก็คือมัน ‘ทำร้าย’ ผู้บุกรุกได้ ดังนั้นในเวลาต่อมาก็เลยมีการนำรั้วลวดหนามไปใช้ในการทำสงครามอย่างกว้างขวาง คือในสมัยก่อนก็มีการสร้างอุปสรรคในสนามรบกันอยู่แล้วนะครับ ไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่ใช่อุปสรรคหรือเครื่องกีดขวางที่ใหญ่โตอะไร แต่พอเกิดรั้วลวดหนามที่ราคาถูกและใช้ประโยชน์ได้จริง รั้วลวดหนามเลยถูกนำไปใช้แบบ ‘มโหฬาร’ จริงๆ ขึ้นมา
ครั้งแรกที่ใช้รั้วลวดหนามกันแบบขนานใหญ่ คือสงครามระหว่างอังกฤษกับชาว Boer ซึ่งก็คือชาวแอฟริกาใต้กับสวาซิแลนด์ ซึ่งตอนน้ันเรียกตัวเองว่า Orange Free State กับ Transvaal Republic โดยสองประเทศนี้เป็นประเทศยากจน จึงใช้วิธีต่อสู้แบบกองโจรเป็นหลัก อังกฤษเห็นท่าไม่ดี เลยใช้วิธีขึงรั้วลวดหนามยาวกว่า 3,500 ไมล์ ทำให้ยุทธวิธีแบบกองโจรใช้ไม่ได้ผล จึงพูดได้ว่า รั้วลวดหนามทำให้อังกฤษชนะสงครามครั้งนั้นได้ ทั้งยังมีการจับเชลยศึก (ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก) มาไว้ในค่ายกักกัน โดยใช้รั้วลวดหนามล้อมอีกด้วย
เราจะเห็นว่า พร้อมกันกับที่รั้วลวดหนามเป็นของที่ ‘สวรรค์’ ประทานมาให้คนขาวในอเมริกาใช้จับจองที่ดิน และช่วยให้คนขาวในอีกประเทศหนึ่ง (คืออังกฤษ) ชนะศึก รั้วลวดหนามก็ทำหน้าที่เป็น ‘ของขวัญจากนรก’ ของชาวพื้นเมืองทั้งอินเดียนแดงและชาวแอฟริกาไปด้วย
5
อย่างไรก็ตาม รั้วลวดหนามไม่ได้ทำร้ายเฉพาะชาวพื้นเมืองเท่านั้น อีกไม่นานต่อมา คนขาวเองก็ต้องเผชิญกับพิษสงของรั้วลวดหนามด้วยเหมือนกัน นั่นคือในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการสร้างรั้วลวดหนามความยาว 206 ไมล์ เพื่อแบ่งแยกเบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์แบ่งออกจากกันเป็นเวลานานถึงสามปี
ตอนนั้น เยอรมนียึดเบลเยียมได้ ส่วนเนเธอร์แลนด์วางตัวเป็นกลาง สองประเทศนี้ที่เคยไปมาหาสู่กันได้ก็เลยถูกตัดแยก คนแถวนั้นเรียกรั้วลวดหนามนี้ว่า dodendraad หรือ Wire of Death เพราะนอกจากมันจะแยกคนที่เคยในชุมชนเดียวกัน เป็นญาติพี่น้องหรือแม้กระทั่งสามีภรรยาออกจากกันด้วย ยังมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในรั้วลวดหนามพวกนี้ด้วย ผลก็คือคนข้ามไปมาไม่ได้ คนที่พยายามจะข้ามนั้นตายกลายเป็นศพห้อยอยู่กับรั้วเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ รั้วลวดหนามยังเป็น ‘อาวุธ’ สำคัญในค่ายกักกัน ทั้งค่ายกักกันของคอมมิวนิสต์และนาซี เช่นค่ายเอาชวิตซ์ ซึ่งใช้รั้วลวดหนามปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านตลอดเวลา คนจึงหนีออกมาไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องจบชีวิตในห้องรมแก๊ส นักเขียนอิตาลีคนหนึ่ง บรรยายถึงรั้วลวดหนามของนาซีเอาไว้ว่าเป็น monstrous web of slave camps คือเป็นสายใยแบบใยแมงมุมที่ซับซ้อนมโหฬาร และกักผู้คนเอาไว้ในนั้น ไม่สามารถหนีออกมาได้
ด้วยเหตุนี้ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองจึงทำให้รั้วลวดหนามแทบไม่เหลือความเป็น ‘ของขวัญจากสวรรค์’ อีกต่อไป
6
ในปัจจุบัน เราแทบไม่เห็นการใช้รั้วลวดหนามตามบ้านช่องในประเทศพัฒนาแล้ว แม้แต่ในชนบทที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์ ส่วนใหญ่ก็กั้นรั้วเตี้ยๆ มากกว่าจะใช้รั้วลวดหนาม
แน่นอน อย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะรั้วลวดหนามนั้นไม่สวย แต่ในอีกด้านหนึ่ง รั้วลวดหนามมี ‘สัญญะ’ ของความโหดร้ายและการแบ่งแยกกีดกันแบบมุ่งร้ายหมายขวัญแฝงอยู่ด้วย
รั้วลวดหนามในปัจจุบันจึงถูกนำไปใช้ในการกีดกันที่ใหญ่กว่าชีวิตประจำวัน เช่น ใช้กีดกันคนที่นับว่าเป็น ‘คนใน’ (หรือพลเมืองของประเทศ) กับ ‘คนนอก’ (ที่อาจอยากหาทางเข้ามาอยู่ในประเทศ) เช่นรั้วลวดหนามที่พรมแดนระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบของรั้วลวดหนามให้ดูเรียบแต่โหดขึ้นไปอีกขั้น เรียกว่า Razor Wire คือไม่มีหนามแหลมๆ ออกมาให้เห็นอีกแล้ว แต่มีลักษณะเป็นเส้นที่บางเฉียบและคมกริบ (เหมือนใบมีดโกน) ทำให้ดูเผินๆ ไม่ค่อย ‘ร้าย’ เท่าไหร่ ต้องสัมผัสถึงจะรับรู้ถึงความร้ายกาจของมัน
ส่วนลวดหนามแบบเดิมนั้น มีพัฒนาการการใช้งานให้โหดยิ่งขึ้น ด้วยการขดรั้วลวดหนามให้เป็นวงๆซ้อนๆ กัน เรียกว่า Concertina Wire เพื่อให้มันร้ายกาจยิ่งขึ้น และใช้ควบคุมจำกัดพื้นที่ของผู้คนได้มากขึ้น โดยมาก รั้วลวดหนามแบบนี้จะถูกนำมาใช้ควบคุมฝูงชน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยกับภาพลวดหนามแบบนี้ไม่น้อยทีเดียว
มีตัวเลขบอกว่า ในปัจจุบันนี้ จีนกับอินเดียคือประเทศที่ผลิตรั้วลวดหนามมากที่สุดในโลกปัจจุบัน ประมาณว่ามีการผลิตรั้วลวดหนามราว 500,000 ตันต่อปี ซึ่งเท่ากับความยาวราว 5 ล้านไมล์ หรือมากพอเอาไปพันรอบโลกได้ถึง 200 ครั้ง
ความต้องการรั้วลวดหนามมากมายขนาดนี้ ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า-นี่เราอยู่ในโลกแบบไหนหรือ ถึงมีความต้องการใช้รั้วลวดหนามกันมากมายถึงเพียงนั้น โลกแบบที่เต็มไปด้วยลวดหนาม และจะมีรั้วลวดหนามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ-คือโลกแบบไหน
ไม่ผิดหรอกครับ ที่ใครจะสร้างรั้วลวดหนาม เพราะราคาถูก และสร้างความอุ่นใจให้ผู้อยู่ในนั้น แต่คำถามที่ไม่อาจขว้างทิ้งไปได้ก็คือ-โลกที่ไว้วางใจในกัน จำเป็นต้องกั้นขอบเขตพื้นที่ด้วยวัตถุที่ดูไม่ค่อยปรารถนาดีระหว่างกันถึงขนาดนั้นหรือเปล่า และเอาเข้าจริง การใช้รั้วลวดหนามกีดกัน ‘คนอื่น’ (หรือคนที่มีความเป็นอื่น) ออกไปจากชีวิตของเรานั้น สร้างผลดีมากกว่าผลเสียจริงๆ หรือ
นี่ไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบเดียวสำหรับทุกคนหรอกนะครับ แต่โดยส่วนตัวแล้ว-แต่เมื่อนึกย้อนกลับไป ผมก็ดีใจที่วันนั้นตัวเองไม่ได้สร้างรั้วลวดหนามเพื่อล้อมบ้านของตัวเองเอาไว้