1
ซีรีส์ The Last Czars ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายด้าน ไม่ว่าจะบวกหรือลบ แต่กระนั้น ซีรีส์นี้ก็ปลุกเหตุการณ์โหดร้ายเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนให้กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในราวเที่ยงคืนของวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 มันคือการสิ้นสุดลงของราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกราชวงศ์หนึ่ง—ราชวงศ์โรมานอฟ
The House of Romanov หรือราชวงศ์โรมานอฟ มีความเป็นมาที่เก่าแก่มาก แรกเริ่มเดิมที โรมานอฟคือหนึ่งในตระกูลขุนนางสูงส่งของรัสเซีย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันกว่า 20 ตระกูล แต่โรมานอฟโดดเด่นขึ้นมาเมื่อสมาชิกของตระกูลรับตำแหน่ง Boyar ซึ่งเป็นตำแหน่งเกือบสูงสุดของการปกครองแบบฟิวดัลในแถบรัสเซียและยุโรปตะวันออก เช่น บัลแกเรีย เคียฟ มอสโคว์ มอลโดวา โดย Boyar จะเป็นรองก็แค่พระเจ้าซาร์ (Tzar) เท่านั้น
หลังจากนั้น ตระกูลโรมานอฟก็ค่อยๆ เติบกล้าขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทั้งการทำงานด้านการปกครอง และการแต่งงาน ที่ค่อยๆ ‘ผสม’ เชื้อสายของกษัตริย์เข้าไป และสุดท้าย ก็กลายมาเป็นราชวงศ์ที่ปกครองรัสเซียนานถึง 304 ปี ซึ่งไม่ได้แปลว่าตลอด 304 ปีนั้น จะเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะเคยเกิดวิกฤติต่างๆ หลายครั้ง ทว่าราชวงศ์โรมานอฟฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้ จากโบยาร์มาถึงซาร์ และมาถึงการสิ้นสุดของระบบซาร์ด้วยหลายสาเหตุ
ความเป็นซาร์หรือ Tzardom นั้นหมายถึงการปกครองของผู้ที่รวบรวมอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียทั้งหมดเข้าด้วยกัน และที่จริงก็เกิดขึ้นก่อนหน้าความรุ่งเรืองของราชวงศ์โรมานอฟแล้ว ตำแหน่งซาร์เทียบได้กับจักรพรรดิของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และเทียบได้กับ ‘ข่าน’ ของมองโกเลีย (เช่น เจงกีสข่านหรือกุบไลข่าน) ซึ่งซาร์ก็ต้องแข่งขันกับมหาอำนาจจากสองโลกนี้ด้วย
ในตอนแรก อำนาจของซาร์ไม่ได้เป็นอำนาจแบบ ‘ไม่จำกัด’ อย่างที่เราเห็นในซีรีส์ The Last Czars
(คำว่า ซาร์นั้นเขียนว่า Царь ซึ่งเมื่อแปลงเป็นภาษาอังกฤษ สามารถใช้ได้ทั้ง C และ T นำ คำไหนถูกต้องกว่ากันเป็นเรื่องที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ แม้คำว่า Czar จะมีการใช้มาก่อนหน้า Tzar ก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมใช้คำว่า Tzar มากกว่า)
แต่อำนาจของซาร์กลายมายิ่งใหญ่ไร้ขีดจำกัดแบบที่เรียกว่าเป็น ‘อัตตาธิปไตย’ (autocracy) หรือการปกครองเบ็ดเสร็จโดยคนคนเดียวในราวศตวรรษที่ 16 เมื่อแกรนด์ดยุคอีวานที่สี่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นซาร์ และได้รับการยอมรับจากศาสนจักรรัสเซียนออร์โธดอกซ์ว่าเป็นจักรพรรดิ เป็นตอนนั้นเองที่อำนาจของพระเจ้าซาร์พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดและไร้ขีดจำกัดใดๆ เสมือนเป็นอำนาจที่ได้รับจากพระเจ้า ธิดาของตระกูลโรมานอฟได้สมรสกับอีวานที่สี่ ทำให้ตระกูลนี้ขึ้นสู่อำนาจนับแต่นั้นเป็นต้นมา
และแม้ราชวงศ์โรมานอฟจะมีช่วงที่อำนาจลดน้อยถอยลงไปบ้าง แต่เมื่อมาถึงยุคของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่สาม ก็เกิดความพยายามปฏิรูปรื้อฟื้นแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ให้อำนาจพระเจ้าซาร์สูงสุดไร้ขีดจำกัดขึ้นมาอีกหน ที่น่าสนใจก็คือ รูปลักษณ์ของอเล็กซานเดอร์ที่สามนั้นน่าตื่นตะลึงพรึงเพริศ เพราะทรงสูงถึง 1.93 เมตร รูปร่างใหญ่แข็งแกร่ง หนวดเคราหนาทึบแลดูทรงอำนาจอย่างยิ่ง มีผู้วิเคราะห์ว่า รูปลักษณ์เช่นนี้มีส่วนทำให้การสถาปนาอำนาจแบบอัตตาธิปไตยหรือข้ามาคนเดียวในรัสเซียทำได้สำเร็จ แม้ก่อนหน้านั้น พระบิดาของอเล็กซานเดอร์ที่สาม (คืออเล็กซานเดอร์ที่สอง) จะเคยพยายามปฏิรูปประเทศไปในทางเสรีนิยมมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น แต่แล้วทุกอย่างก็หวนย้อนสู่อนุรักษ์นิยมเต็มรูปแบบเดิมอีกครั้ง
และก็เป็นอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประเภทที่เห็นว่าซาร์คือผู้ได้รับสิทธิขาดจากพระเจ้านี่เอง—ที่หวนกลับมาทำร้ายและทำลายราชวงศ์โรมานอฟในที่สุด
2
ในซีรีส์ The Last Czars เราจะเห็นเลยว่า ซาร์นิโคลัสใช้ระบบ ‘ข้ามาคนเดียว’ ตัดสินใจผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า (แม้จะมีผู้ให้คำแนะนำหลายคน) การตัดสินใจผิดพลาดไม่ได้นำชะตากรรมอันโศกสลดมาสู่ประชาชนชาวรัสเซียเท่านั้น ทว่าชะตากรรมอันเลวร้ายยังตกมาถึงครอบครัวของพระองค์เอง และเลยรวมไปถึงการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟทั้งราชวงศ์อีกด้วย
การปฏิวัติใหญ่ของรัสเซีย คือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในปี ค.ศ. 1917 ส่งผลให้ซาร์นิโคลัสต้องสละราชสมบัติ แม้มีผู้บอกให้หนี แต่ซาร์กลับวางใจไม่หนี และที่สุดก็ถูกกักบริเวณ ก่อนถูกส่งตัวไปยังเมืองเยคาเทรินเบิร์กในแคว้นยูราล ซึ่งอยู่ในไซบีเรีย แล้วทั้งครอบครัวก็จบชีวิตลงที่นั่น
นักวิจัยและนักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นตรงกันว่า การสังหารหมู่ครอบครัวโรมานอฟเกิดขึ้นตามคำสั่งของวลาดิเมียร์ เลนิน และคนอื่นๆ อีกสองสามคน คำสั่งสังหารราชวงศ์โรมานอฟส่งตรงมาจากมอสโคว์ เพราะเลนินและคนอื่นๆ เกรงว่ากองทหารจากเชโกสโลวาเกีย (ซึ่งต่อสู้ร่วมกับกองทัพขาวหรือ White Army เพื่อต่อต้านพวกบอลเชวิก) จะบุกเข้ามาช่วยเหลือออกไป เรื่องนี้แม้กระทั่ง ลีออน ทร็อตสกี้ (Leon Trotsky) ก็ยังบันทึกเอาไว้
ในราวเที่ยงคืนของวันที่ 17 กรกฎาคม ทหารสั่งให้แพทย์ประจำครอบครัวปลุกครอบครัวโรมานอฟที่กำลังหลับใหลอยู่ให้ตื่นขึ้นใส่เสื้อผ้า พร้อมแจ้งว่าจะต้องย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยเนื่องจากเกิดเหตุจลาจลในเมืองเยคาเทรินเบิร์ก แต่ทั้งครอบครัวกลับถูกสั่งให้เข้าไปอยู่ในห้องกึ่งใต้ดินที่มีขนาดเพียงหกคูณห้าเมตร
ซาร์นิโคลัสร้องขอเก้าอี้เพื่อให้โอรสและธิดานั่ง ทหารบอกกันว่า—ถ้ารัชทายาทอยากจะตายบนเก้าอี้ ก็ให้ไปหาเก้าอี้มาให้สักตัวหนึ่งเถิด แล้วทั้งครอบครัวก็ถูกสั่งให้รออยู่ในนั้น เวลาในห้องนั้น ณ ตอนนั้นอาจคล้ายเดินช้าหนักอึ้งก็ได้ แต่ที่จริงแล้วไม่นานนัก นายทหารก็เข้ามาอ่านคำสั่งประหารชีวิต แล้วการระดมยิงก็เกิดขึ้น เสียงปืนได้ยินไปทั่วละแวกนั้น หลายคนตกใจตื่นขึ้น จึงมีคำสั่งให้ยิงให้แม่นยำขึ้น เช่นการยิงที่ศีรษะของเด็กๆ ที่ยังไม่ตาย
การสังหารครอบครัวโรมานอฟเป็นไปไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละคนเย็บเครื่องเพชรติดตัวเอาไว้ด้วย ดังนั้น กระสุนจึงไม่ค่อยทะลุทะลวงเท่าไหร่ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก่อนความตายจึงน่าจะทรมานอย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าทุกคนเสียชีวิตแล้ว จึงมีการนำร่างใส่รถบรรทุกยี่ห้อเฟียต แล้วนำไปฝังไว้ในป่าคอปต์ยากิ (Koptyaki) ซึ่งเป็นที่ชื้นแฉะห่างออกไปราวเก้าไมล์
กับเรื่องที่เกิดขึ้น คณะบอลเชวิกประกาศเพียงการตายของซาร์นิโคลัสเท่านั้น แต่ไม่ได้ประกาศการตายของคนอื่นๆ ด้วย เรื่องจึงอึมครึมลี้ลับ ก่อให้เกิดข่าวลือเรื่องราชวงศ์บางคนหนีรอดออกมาได้ นอกจากนี้ บอลเชวิกยังประกาศด้วยว่า พระมเหสีและโอรสถูกส่งตัวไปยังสถานที่ปลอดภัยแล้ว รวมทั้งเก็บงำข้อมูลเรื่องทุกพระองค์ถูกสังหารจนหมดสิ้นเอาไว้อย่างซ่อนเงื่อนเป็นเวลานานถึง 8 ปี โลกจึงไม่ได้รู้ความจริงจากปากของคณะบอลเชวิกว่าเกิดอะไรขึ้นกับราชวงศ์โรมานอฟในคืนนั้นบ้าง
ที่จริงแล้ว มีการค้นพบหลุมศพของราชวงศ์โรมานอฟตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 แล้ว โดย อเล็กซานเดอร์ นิโคลาเยวิช อัฟโดนิน (Alexander Nikolayevich Avdonin) แต่ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการจนกระทั่งอีก 10 ปีให้หลัง
หลังรัสเซียผ่านยุคคอมมิวนิสม์เข้มงวดและโหดร้ายราวม่านเหล็กมาแล้ว ในปลายทศวรรษ 1980 รัสเซียก็ย่างเข้าสู่ยุคที่เริ่มเปลี่ยนนโยบายมาใช้นโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost) หมายถึงนโยบายที่เปิดประเทศให้มีความโปร่งใสมากขึ้น นโยบายนี้ทำให้มีการขุดศพขึ้นมาในปี 1991 เพื่อชันสูตรและหาหลักฐานมายืนยันว่าเป็นศพของราชวงศ์โรมานอฟจริงหรือเปล่า และเมื่อมีการยืนยัน ก็เกิดการถกเถียงกันว่า จะฝังศพทั้งหมดนั้นที่ไหน ฝังในที่เกิดเหตุ หรือนำกลับมาฝังที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ในที่สุดก็มีการฝังศพของราชวงศ์โรมานอฟที่มหาวิทยาลัยปีเตอร์แอนด์พอลในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1998 ทว่ายังไม่ครบทั้งครอบครัว เนื่องจากยังมีอีกสองร่างถูกฝังแยก และเพิ่งมีการค้นพบในปี ค.ศ. 2007 นี่เอง
โดยเนื้อแท้แล้ว การขุดศพ การพิสูจน์ และการพยายามรื้อฟื้นคืนพระเกียรติยศหรือแก้ไขความผิดพลาดในอดีตต่างๆ นั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลของรัสเซียคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า รัสเซียกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการรื้อฟื้นความรุ่งเรืองและอิทธิพลในระดับโลก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน การสืบสวนเรื่องราวของราชวงศ์โรมานอฟก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
มีผู้วิจารณ์ว่า แม้ราชวงศ์โรมานอฟจะไม่ได้มีอยู่อีกต่อไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า อิทธิพลทางการเมืองของราชวงศ์โรมานอฟจะหายไปด้วย เพราะในรัสเซียปัจจุบัน มีกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มขัดแย้งกันทางความคิด โดยเฉพาะในความเห็นเรื่องประวัติศาสตร์ ดังนั้น การหาความจริงในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น และเท่ากับว่า—แม้จะล่มสลายไปแล้ว แต่ราชวงศ์โรมานอฟยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองบางอย่างอยู่ ไม่ผิดกับผู้มีอำนาจอีกมากมายที่แม้จะเสียชีวิตแล้ว แต่ร่องรอยอำนาจของพวกเขากลับไม่ได้หายไปจนหมดสิ้น แต่จะได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งเป็นผู้นำทหารของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในการประหารพระเจ้าชาลส์ที่หนึ่ง และเปลี่ยนอังกฤษเป็นสาธารณรัฐอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่กระแสทางการเมืองของประเทศจะกลับข้างหันไปสนับสนุนกษัตริย์อีกครั้ง เมื่อเกิดการฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1660 แม้ครอมเวลล์จะตายไปแล้ว ทว่าก็มีการขุดศพของเขาขึ้นมา และทำพิธีประหารด้วยการตัดศีรษะศพของเขา ก่อนนำศีรษะไปเสียบประจานเอาไว้นอกเวสต์มินสเตอร์ฮอลเป็นเวลานานถึง 24 ปี แต่ก็มีข้อสงสัยมากมายว่า เป็นศีรษะของครอมเวลล์จริงหรือเปล่า แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 19 คนก็หวนกลับมายกย่องครอมเวลล์กันใหม่อีกครั้ง มีการสร้างรูปปั้นของครอมเวลล์เอาไว้ด้านนอกรัฐสภา แม้แต่วินสตัน เชอร์ชิล ก็เคยเสนอตั้งชื่อเรือรบลำหนึ่งว่า โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ทว่าพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงปฏิเสธ
อีกกรณีหนึ่งก็คือกรณีของอีวา เปรอง เจ้าของเรื่องราวใน Evita และบทเพลง Don’t Cry for Me Argentina อันลือลั่น ความที่เธอเป็นที่รักของประชาชนมากมาย (แม้จะมีเรื่องราวเบื้องหลังที่คนจำนวนมากไม่รู้) เมื่อเธอเสียชีวิตลง ผู้นำทหารเกรงว่าคนจะใช้หลุมศพของเธอเป็นวิหารที่มีนัยทางการเมือง จึงได้ลอบนำร่างของเธอออกไปเก็บไว้ตามสถานที่ลับหลายแห่งทั่วเมือง ก่อนจะนำไปฝังในอิตาลีโดยใช้ชื่อปลอม กว่าร่างของเธอจะได้กลับมาอาร์เจนตินาอีกครั้งก็ในทศวรรษ 1970
ยังมีร่างของผู้นำอีกหลายคนที่เมื่อตายไปแล้วถูกนำมาใช้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการอาบน้ำยาให้ไม่เน่าเปื่อยแล้วเปิดให้คนเข้าชม คนหนึ่งที่ ‘เป็นอมตะ’ ด้วยวิธีนี้ ก็คือผู้ที่ออกคำสั่งสังหารครอบครัวโรมานอฟ ได้แก่วลาดิเมียร์ เลนิน ซึ่งอาบน้ำยาตั้งแสดงไว้ที่อนุสาวรีย์กลางจัตุรัสแดง แม้มีการย้ายไปที่อื่นเพื่อความปลอดภัย แต่ร่างของเลนินก็ยังจัดแสดงอยู่จนถึงทุกวันนี้
3
ความตายจะเกี่ยวพันกับอำนาจก็เฉพาะกับผู้ที่มีอำนาจเท่านั้น สำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป เมื่อตายไปแล้วก็มักไม่มีฤทธิ์อำนาจอะไรหลงหลืออยู่อีก
การที่คนจำนวนหนึ่งพยายามไขว่คว้าหาอำนาจจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พวกเขายังอยากให้อำนาจของตัวเอง ‘ทำงาน’ อยู่ต่อไปหลังความตายนั่นเอง
แต่กระนั้นก็โปรดอย่าลืม—ว่าแถวของผู้เข้าชมร่างของเลนินหดสั้นลงทุกที