เป็นเวลากว่า 20 ปีในโลกของเรานับตั้งแต่ The Matrix ภาคแรกในปี ค.ศ.1999 ออกฉาย และเป็นเวลาหลายร้อยปีในหนังที่มนุษยชาติต่อต้านเหล่าเครื่องจักรที่ยึดครองโลกมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งมี เดอะ วัน (The One) หรือผู้ปลดปล่อยอย่าง นีโอ (Neo) ที่รับบทโดย คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) มาสร้างสันติระหว่างทั้งสองเผ่าพันธุ์ เป็นการปิดไตรภาคลงอย่างสมบูรณ์
ทำให้หากได้ยินเมื่อตอนนั้นว่า The Matrix จะมีภาคก็ 4 คงเป็นอะไรที่ต้องถามทวนซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้หูฝาดแน่ๆ
แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว The Matrix: Resurrections การกลับมาของหนังไซไฟปรัชญาเหนือกาลเวลาที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลและมักจะถูกพูดถึงแม้ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ที่ครั้งนี้นำคู่พระนางสุด iconic อย่าง นีโอ-ทรินิตี้ กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับภัยครั้งใหม่ สร้างคำถามใหม่ ด้วยการพาเราและตัวเอกทั้งสองกลับไปยังในโลกความจริงใบเดิมที่ไม่คุ้นหู กับโลกเสมือนจริงที่ดูไม่คุ้นตาอีกครั้ง
บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์กับอธิบายหนังภาคนี้ และพูดถึงปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในหนังที่นับว่าแทรกอยู่ในทุกอณูและไม่ได้น้อยไปกว่าภาคที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก
(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของภาพยนตร์ The Matrix: Resurrections )
ก่อนอื่นมีเรื่องที่อยากพูดถึงเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของหนังแฟรนไชส์นี้กับภาคนี้ และให้ผู้อ่านได้ทราบสาเหตุที่ว่า ทำไมผู้กำกับสองพี่น้อง ลาน่า กับ ลิลลี่ วาชอว์สกี้ (Lana and Lilly Wachowski) ถึงเคยไม่อยากให้มีภาคต่อ และทำไมจู่ๆ หนังถึงกลับมาหลังจาก 20 ปี
สองพี่น้องเคยให้สัมภาษณ์ว่ามอง The Matrix Trilogy หรือหนังสามภาคแรกเป็นตัวแทนของ “Birth Life and Death (การถือกำเนิด การใช้ชีวิต และการดับสูญ)” ซึ่งทั้งสามภาคได้แก่ The Matrix, The Matrix: Reloaded กับ The Matrix: Revolutions ก็ถือว่าตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์นี้แล้ว เนื้อเรื่องและเป้าหมาย รวมถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีภาคต่อ อีกทั้งยังคิดว่าไม่อยากไปยุ่งกับสิ่งที่ลงตัวอยู่แล้วแม้ว่าตลอด 10-20 ปีมานี้ค่าย Warner Bros. จะตื๊อให้ทั้งสองกลับมาทำอย่างไม่ลดละแค่ไหนก็ตาม
แต่ต่อมาทั้งคู่ถูกรายล้อมไปด้วยความตาย ทั้งการสูญเสียทั้งพ่อทั้งแม่ ไหนจะเพื่อนของแฟน จึงทำให้ ลาน่า (คนพี่) ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า “ถึงเวลาแล้วล่ะที่เราจะนำนีโอกับทรินิตี้กลับมา” และโปรเจ็กต์ The Matrix 4 ก็เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น มันเป็นไอเดียของการตั้งใจที่จะเยียวยาด้วยการนำที่ที่สูญไปแล้วกลับมาใหม่ (Resurrections) ของผู้กำกับที่อยากทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความจริง นั่นคือการ ‘ชุบชีวิต’ และมอบเนื้อเรื่องที่ตัวเอกทั้งสองสมควรได้รับ หลังจากสละชีวิตตัวเองกับทำเพื่อผู้อื่นมามาก
ส่วนผู้กำกับอีกคนอย่างลิลลี่นั้น ปฏิเสธที่จะกลับมาเนื่องจากมีวิธีการเยียวยาตัวเองทางด้านอื่นอย่างเช่น วาดรูปกับสร้างงานศิลปะ และไม่อยากที่จะหันกลับไปของเกี่ยวกับอดีตอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสูญเสียหรือเป็นหนัง The Matrix ก็ตาม จึงกลายมาเป็นหนังภาคใหม่ที่มีหนึ่งในสองผู้กำกับเท่านั้นที่กลับมาสานต่อเรื่องราว ที่ตลบอบอวลไปด้วยความรักและความอิ่มเอมใจ
การกลับมาครั้งนี้ ลาน่า ยังมากับ เดวิด มิทเชล (David Mitchell) คนแต่งหนังสือ Cloud Atlas ที่ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วในซีรีส์ Sense 8
“พวกเขาดูจะสั่งสอนคุณมาอย่างดี ทำให้คุณเชื่อว่า
โลกที่พวกเขาสร้างมาคือสิ่งที่คุณสมควรได้รับแล้ว
แต่บางส่วนในจิตใจคุณรู้ว่ามันไม่จริง
บางส่วนของคุณจำได้ว่าอะไรคือสิ่งที่จริงแท้”
ภาคนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ The Matrix เวอร์ชั่น 7.0 หรือเวอร์ชั่นใหม่มากกว่านั้นไม่อาจทราบได้ ที่ถูกรีเซ็ตหลังเหตุการณ์ในตอนจบภาค 3 ที่เต็มไปด้วยการมอมเมาด้วยเทคโนโลยี ความพึงพอใจในชีวิต กับยาเม็ดสีฟ้าที่ถูกบังคับให้กรอกเข้าปาก
เรื่องราวของภาคนี้เริ่มต้นที่ บั๊กซ์ (Bugs) รับบทโดยเจสซิก้า เฮนวิค (Jessica Henwick) ตัวละครสาวผมฟ้าหน้าใหม่ กัปตันยานเนโมซีนผู้เสียบปลั๊กและให้ผู้ช่วยชื่อซีค (Sequoia) ทำการแฮ็คเข้าโมดัล 101 (Modal 101) ที่เป็นตัวเกมจำลองที่สร้างเพื่อนำไปพัฒนาคล้ายกับตัวเดโม่ (demo) หลังจากพบว่ามีบางอย่างผิดปกติ ที่ต้องหาคำตอบ ด้วยความเชื่อที่ว่าอาจนำไปสู่การยืนยันข้อสันนิษฐานของเธอกับลูกเรือที่ว่า ‘นีโอยังมีชีวิตอยู่’
การแฮ็คครั้งนี้เธอพบว่า เนื้อเรื่องที่คลับคล้ายคลับคลาช่วงต้นของภาคแรกเมื่อปี ค.ศ.1999 ผิดเพี้ยนไป สายลับสมิธ ( Agent Smith) เป็นคนผิวสี แถมทรินิตี้ยังถูกจับและกำลังจะถูกสายลับฆ่า ทำให้เธอค้นพบว่า สายลับสมิธคนนี้คือโปรแกรมมอร์เฟียซ ที่ถูกนำมาใส่ไว้ด้วยจุดประสงค์บางอย่าง เธอจึงต้องหาทางช่วยมอร์เฟียซออกจากโมดัลนี้ก่อนที่เขาจะถูกตรวจพบว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและถูกกำจัด ด้วยการยื่นเม็ดยาสีแดงและสีฟ้าให้
ในฉากนี้จะเป็นฉากที่ฉีกไปจากเดิมตรงที่ฉากยื่นยาในไตรภาคจะเป็นการ ‘เลือก’ เพื่อตื่น ในขณะที่ภาคนี้ ยาคือสิ่งที่บ่งบอกว่าทางเลือกคือภาพลวงตา มันไม่มีอยู่จริงในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าควรทำอะไร เหมือนที่นีโอในหนังภาคแรกไม่มีทางเลือกยาสีฟ้าในเมื่อเขาตัดสินใจจะตื่นรู้และค้นหาคำตอบตั้งแต่ตามกระต่ายสีขาวตัวนั้นและเดินออกจากห้องไปแต่แรกแล้ว ซึ่งไม่ต่างจากการเลือกยาสีแดงตั้งแต่มอร์เฟียซยังไม่ได้ยื่นให้ด้วยซ้ำ
จากนั้นเราจะพบว่า โมดัลนี้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของโทมัส เอ. แอนเดอร์สัน นักสร้างเกมชื่อดังผู้สร้างเกมเปลี่ยนโลกอย่าง The Matrix ไตรภาคที่ได้รับรางวัลเกมแห่งปี หลังจากสร้างกระแสไปทั่วโลก ปฏิวัติวงการด้วยสไตล์แอ็กชั่นผสมปรัชญาไซไฟอีกที
หรือก็คือด้วยเหตุบางอย่าง นีโอของเราที่ควรจะตายไปแล้วในภาคที่แล้ว กลับกลายมาเป็นนักสร้างเกม และหนังไตรภาคที่เราได้ดูกันไปกลายเป็นเกมในเรื่องนี้ซะอย่างงั้น และสิ่งที่นีโอต้องทำหลังจากสตูดิโอ Warner Bros. ร้องขอคือการสร้างภาค 4 เราจึงจะได้เห็นการล้อเลียนเสียดสีหนังตัวเองอย่างเต็มขั้น ไม่ว่าจะเป็นผ่านจากบทสนทนา ไอเดีย หรือวัตถุต่างๆ แถมบอสของเขายังเป็นสายลับสมิธคู่ปรับตลอดกาลที่อยู่ในร่างใหม่ หล่อเฟี้ยวขึ้น ที่รับบทโดย โจนาธาน กรอฟฟ์ (Jonathan Groff) อีกด้วย
เนื้อหาจุดนี้นอกจากสร้างคำถามมากมายกับตัวหนังและสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะเห็นชีวิตของนีโอ (ที่ตอนนี้เป็นทอม หรือโทมัส) ในฐานะนักพัฒนาเกม ที่ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อตอบโจทย์คนอื่น และใช้ชีวิตอีกส่วนในการตื่น ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ มอมเมาตัวเองด้วยเทคโนโลยีบันเทิง เช่น โซเชียลมีเดีย เกม VR และกินยาเม็ดสีฟ้าอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการวิ่งออกกำลังกายที่ฉายซ้ำเพื่อแสดงถึงสัญญะของการวนลูปของตัวเอก ไม่ต่างจากหนูในกงล้อ
ในช่วงต้นมีสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่นีโอจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโมดัล ด้วยการกดเข้าไปดู หรืองงว่าเกิดอะไรขึ้นและคลิกเม้าส์ไม่กี่ที จะมีตัวละครเพื่อนเปิดประตูเข้ามากวนเสมอ ราวกับจงใจไม่ให้เขาทำ
เนื้อเรื่องจะเปิดเผยว่านีโอได้พยายามจะฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากการต้องเห็นภาพหลอน ภาพซ้ำ หรือเกิดอาการเดจาวูบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการที่เขาคิดว่าตัวเองอยู่ในโลกซิมูเลชั่น และมีโลกภายนอกรอเขาไปค้นพบอยู่ นีโอคิดว่าตัวเองบ้า และคนอื่นคิดว่าเขาบ้า เพราะเขา ‘ตั้งคำถาม’ และ ‘สงสัยกับความเป็นจริง’ ทั้งที่เขาเป็นคนดังระดับโลก มีความสำเร็จกับชีวิตที่แสนดีที่อยู่ตรงหน้า แต่กลับไม่พอใจและไม่ยินดีปรีดาไปกับมัน
แต่นั่นคือคำถามสำคัญ “สิ่งเหล่านั้นมีค่าหรือไม่ และมีค่าอะไรหากมันไม่จริง?” ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ต่างจากการที่เราฝันว่าจู่ๆเราก็รวยเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมา หรือได้ทำอะไรตามใจปรารถนา แต่แท้จริงแล้วเรานอนนิ่งอยู่บนเตียงนั่นแหละ สิ่งที่มีค่าที่สุดจึงเป็นความสามารถที่จะตระหนักรู้ถึงตัวตน คิด และเลือกช้อยส์ต่างๆในชีวิตได้อย่างอิสระ อย่างที่ เรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดังเคยพูดไว้ว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น (I think, therefore I am)” หากไร้ซึ่งความคิด ก็ไร้ซึ่งความเป็นปัจเจกบุคคล
เพราะมันจะมีประโยชน์อะไรหากเราจะอินไปกับความสำเร็จที่อาจดูเหมือนจริงแต่เรารู้ลึกๆด้วยจิตใต้สำนึกที่ถูกกดทับอยู่ว่ามันเป็นการจงใจจัดฉาก นีโออาจจะดูเป็นบ้า เสียสติ มีแนวโน้มฆ่าตัวตายด้วยความเครียด แต่แท้จริงแล้วกลายเป็นโลกต่างหากที่ไม่ปกติ และนีโอดูจะกำลังถูกควบคุมให้ดื่มด่ำไปกับความไม่ปกตินี้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะค้นหาความจริงและคลายข้อสงสัย วิธีการของนีโอคือก้าวออกไปยังที่ที่เขาจะร่วง
เพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นใครบางคนที่สำคัญถึงขั้นถูกจับตาดูแล และพิสูจน์ว่าเขาบินได้ เขาไม่ได้บ้า หลักฟิสิกส์ แรงโน้มถ่วงบนโลกใบนี้คือสิ่งที่สมมุติสร้างทั้งสิ้น ดูเหมือนนีโอจะมีความระแคะระคายและสงสัยใคร่รู้ที่เรียกว่า เดอะ วัน แฟคเตอร์ (The One Factor) อยู่ในตัวเสมอ เพราะเมื่อครั้งนึงที่คนคนหนึ่งสงสัยแล้ว ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้
การนำสมิธกับนีโอมาอยู่ด้วยกันก็เพื่อที่จะสอดส่องดูแลควบคุมได้สะดวกโดยระบบ (ทั้งคู่ยังเป็นคู่ที่แยกจากกันไม่ได้ด้วยเหตุผลของสมการการเท่ากัน)
ส่วนการที่ทำไมนีโอถึงได้กลายมาเป็นนักพัฒนาเกม The Matrix สามารถอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายได้ว่า ประสบการณ์กับความทรงจำที่เก็บเกี่ยว ที่ผ่าน และที่เผชิญมาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของคนคนหนึ่ง มันจึงไม่สามารถถูกลบล้างไปได้เพราะจะทำให้นีโอไม่เป็นนีโอ แม้ว่าระบบจะพยายามไม่ให้เขาเป็นตัวการจับเขาไปยัดใส่เปลือกของคนอื่นก็ตาม แต่หากลบ มันจะสูญเสียจุดประสงค์บางอย่างในการนำเขากลับมาไม่ว่าจะเพื่ออะไร และอาจทำลายตัวตนอัตลักษณ์ของนีโอถาวรได้เลย
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจึงต้องกดทับตัวตนและความทรงจำด้วยนีโอด้วยการทำให้อยู่ในจิตใต้สำนึกเบื้องลึก และเพื่อไม่ให้เขาตั้งคำถามกับการรู้สึกคุ้นเคยกับอะไรบางอย่างจนเกิดการต่อต้านหรือทำอะไรแผลงๆ นีโอผู้เป็นคนสำคัญอันดับ 1 จึงได้รับบทบาทเป็นนักพัฒนาคนสำคัญของเกม The Matrix เสมือนให้เขาเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นที่คุ้นเคยเป็นแค่สตอรี่ของเกมที่กำลังทำอยู่เท่านั้นเอง คล้ายกับซีรีส์ Westworld ที่เวลาจะมีการเปลี่ยนบทบาทหุ่นก็จะทำให้ความทรงจำเก่าเป็นความฝันไป แต่จะไม่สามารถลบออกได้
มีฉากหนึ่งที่นีโอเข้าห้องน้ำแล้วเจอข้อความว่า “การกลบฝังด้วยความจริง ง่ายกว่าการลบความฝัน”นี่เป็นวลีที่ดูจะอธิบายด้วยนี้ได้ดีที่สุด วิธีการนี้เป็นการตัดความเป็นตัวเอก (main character) ระดับผู้ถูกเลือกของนีโอออก แล้วแทนด้วยความเป็นตัวเอกระดับคนสำคัญที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกันแทน
ขนาดความทรงจำที่นีโอมีเกี่ยวกับระบบเมทริกซ์อย่างการเห็นแมวดำที่ในเรื่องสื่อความหมายถึงเดจาวูหรือภาพซ้ำอันเกิดมาจากการที่เมทริกซ์เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ยังถูกหลอกโต้งๆ ใน plain sight ด้วยการตั้งชื่อแมวว่า ‘เดจาวู (Déjà vu)’ เพื่อที่จะทำให้นีโอรู้สึกสับสนและเข้าใจว่าตัวเองเอาสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริงไปใส่ในเกมที่เขาสร้าง และแยกอาการเดจาวูกับตัวเจ้าแมวออกจากกันอย่างแนบเนียน
หากยังจำกันได้ยาเม็ดสีแดง คือตัวแทนของ ‘ความจริง’ ในขณะที่ยาสีน้ำเงินหรือสีฟ้า คือตัวแทนของ ‘ภาพลวงตา/ซิมูเลชั่น’ ที่ไม่เพียงแต่จะมาในรูปของเม็ดยาที่นีโอต้องกินประจำ แต่ยังมาในรูปของสีให้เราเห็นอย่างทนโท่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ของเขา (รับบทโดย นีล แพทริค แฮร์ริส (Neil Patrick Harris)) ที่ใส่แว่นตากรอบสีฟ้ากับชุดสีน้ำเงิน กับโทนภาพในห้องสีน้ำเงินแม้ว่าท้องฟ้าจะสีเหลืองส้มแค่ไหน ที่ contrast กับฉากตื่นในโลกความจริงที่เต็มไปด้วยแสงสีแดง
การที่นีโอพบจิตแพทย์และต้องกินยาซ้ำๆ ทั้งยังมีการเปิดเพลง White Rabbit ของ Jefferson Airplane ที่เป็นเพลงประกอบ Alice in The Wonderland บ่งบอกว่าเขากำลังถลำลึกเข้าสู่โพรงกระต่ายแห่งโลกยาสีฟ้าอย่างกู่ไม่กลับ มันจองจำเขาให้อยู่ในร่างของชายแก่หัวล้านมีเครา มันทำให้เขาเชื่อว่าเขาไม่ใช่ตัวเอง และเขามีชีวิตอยู่โดยที่คนอื่นจดจำเขาในรูปลักษณ์อื่น กับในสิ่งที่เขาไม่ได้สร้าง มากกว่าตัวตนที่นีโอเป็นจริงๆ กับสิ่งที่เขาเคยทำ
ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปที่ว่าสังคมชอบบอกให้เราเป็นคนอื่น และเป็นเรื่องที่ดูเสียดสีเหมือนในชีวิตจริงที่เรามักจะถูกคาดหวังให้เป็นแบบหนึ่งจากคนรอบตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครอบครับ ญาติๆ แฟน พี่น้อง เพื่อน เพื่อนที่ทำงาน และอีกมากมาย ทั้งที่รูปลักษณ์ทางนามธรรมภายใต้เปลือกนอกนั้นเราอาจเป็นอีกคน แต่ไม่สามารถเป็นตัวเองได้เลยภายใต้การมีชีวิตอยู่ใน ‘สังคม (Society)’เหมือนประโยคที่ตัวละครดังอย่างโจ๊กเกอร์พูดว่า “We Live in a Society” นั่นเอง
“เราเคยเจอกันมาก่อนมั้ย?”
สิ่งเดียวที่ดูจะเยียวยาใจนีโอคือการที่เขาได้ไปร้านกาแฟร้านประจำ แล้วเจอสาวใหญ่ชื่อ ทิฟฟานี่ (Tiffany) หรือก็คือทรินิตี้ (Trinity) อดีตคนรักของเขาที่เคยเดินทางไปยังปลายทางสุดท้ายด้วยกัน ที่ตอนนี้มีทั้งสามีและลูกสองคน แถมยังมีเงาสะท้อนเป็นผู้หญิงผมทอง แต่นั่นไม่ได้ทำให้นีโอมองเห็นเธอเป็นคนอื่น เขามองเห็นเธออย่างที่เธอเป็นเหมือนที่คนรักที่รักเราจริงๆ มักจะรักเราในแบบของเรา มองเห็นตัวตนที่แท้จริง เข้าอกเข้าใจ และรับตัวตนเราได้โดยไม่ฝืน
มอร์เฟียซคนใหม่รับบทโดย ยาย่าห์ อับดุล–มาทีน (Yahah Abdul-Mateen II) ได้ออกจากโมดัลด้วยการโผล่จากชักโครกในห้องน้ำชายมาพบนีโอ เพื่อที่จะบอกเขาว่าเขากำลังอยู่ในลูปและอยู่ในโลกแห่งความฝันที่ต้องรีบออกมาให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเสียทั้งอายุขัยและโอกาสในการใช้ชีวิตไปกับสิ่งลวงหลอกมากกว่านี้
มอร์เฟียซเวอร์ชั่นนี้รับรู้ถึงเนื้อเรื่องทั้งหมดของ The Matrix กับบทบาทของเขาที่มีต่อเรื่องราวนี้ตามหนังไตรภาค ความตลกร้ายคือนอกจากนี่จะเป็นฉากที่ผู้สร้างพบผลงานสรรค์สร้างของตัวเองแบบสัมผัสได้แล้ว ตัวละครมอร์เฟียสวัยหนุ่มนี้ยังออกมาจาก ‘โลกซิมูเลชั่น’ ระดับล่างกว่า และเป็นคนยื่นให้ผู้สร้างของเขาที่อยู่ใน ‘โลกจำลองอีกชั้น’ ที่อยู่ระดับบนขึ้นไปให้ตื่นขึ้นมาใน ‘โลกความจริงอีกชั้น’ ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีกขั้นอีกด้วย
ตรงส่วนนี้เกี่ยวกับตัวละครมอร์เฟียซหนุ่ม วิเคราะห์ได้ว่าลึกๆ แล้วนีโอรู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย และที่พึ่งพาของเขาที่มักทำให้เขาอบอุ่นใจ และสามารถชี้นำเขา ปลดปล่อยเขา ยื่นยาเม็ดสีแดงท่ามกลางเม็ดสีฟ้าให้กับเขาในช่วงเวลาที่โดนล้างสมองไปแล้ว คือมอร์เฟียซคนเดิม เขาจึงสร้างสำเนามอร์เฟียซเก็บไว้อย่างไม่รู้ตัว ทั้งยังให้เป็นวัยหนุ่มเพื่อที่จะได้บู๊ได้สะดวกและคล่องแคล่วกว่าด้วย
ในที่สุดด้วยความช่วยเหลือของเหล่า FC รุ่นลูกหลาน นีโอตื่นขึ้นมาและพบว่าตัวเองอยู่ในฝักกับถูกเสียบสายระโยงระยางอันคุ้นเคยเหมือนเมื่อตอนที่ตื่นขึ้นครั้งแรกในภาค 1 แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือเครื่องที่จองจำในบริเวณนั้นมีเพียงสองเครื่อง และอีกเครื่องที่อยู่ตรงกันข้าม มีทรินิตี้อยู่ เขามั่นใจว่าใช่เธอ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้
นีโอค้นพบว่าโลกได้เปลี่ยนไปมาก ล้ำกว่าที่เคย และเวลาผ่านไป 60 ไม่ใช่ 20 เขาได้เจอกับสหายเก่าอย่างไนโอบีที่เป็นนายพลแล้ว แต่เมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่กลับไม่ใช่ไซออน เป็นเมือง ไอโอ (IO) ที่มีทั้งท้องฟ้าชีวะ (biosky), เหล้าดีๆ, พืชที่ปลูกโดยสังเคราะห์แสงจากท้องฟ้าชีวะ และที่น่าสนใจไม่น้อยคือสตรอเบอรี่ที่เกิดจากการนำยีนสตรอเบอรี่ในเมทริกซ์หรือในโปรแกรมที่สร้างรูปร่างหน้าตา สายพันธุ์ และรสชาติเลียนแบบสตรอเบอรี่ที่มีในโลกจริง ถอดโค้ดออกมา แล้วแปลงเป็นยีนสตรอเบอรี่ของจริงได้อีกที
การมีอยู่ของนครไอโอคือสัญลักษณ์และข้อพิสูจน์ว่า สิ่งที่นีโอทำไปไม่ได้สูญเปล่าแม้ว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์จะยังใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ใต้ดิน กลัวเซนติเนล และยังเป็นเหล่าเครื่องจักรที่ยังปกครองโลกใบนี้อยู่ด้านบนอยู่ดี เพราะมันเป็นเมืองที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (ซีเบเบและอ็อคตาคลีส สอง ‘น้องง’ ที่ไปพานีโอออกมาก็อยู่ฝั่งเดียวกับมนุษย์เช่นกัน)
และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยที่นี่กับชายคนหนึ่งที่เป็นโปรแกรม แต่ออกมาเดินในโลกภายนอกได้ด้วยเทคโนโลยี เอ็กโซ-มอร์ฟิค (exomorphic) หรือลูกบาสก์เหล็กๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปร่างคน ที่มอร์เฟียซเองก็ใช้เพื่อออกมาทำภารกิจและสื่อสารกับคนในโลกจริงเช่นกัน
ที่น่าคิดคือความล้ำโลกตรงนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วเราสามารถเก็บข้อมูลยีน กรรมพันธุ์ และรหัสสิ่งมีชีวิตชีวะอย่างมนุษย์ สัตว์ พืช ในรูปแบบของ big data หรือข้อมูลดิจิตอลเพื่อที่ว่าหากวันหนึ่งมีวันหลังวันสิ้นโลกหรือสงครามนิวเคลียร์จนไม่เหลืออะไร จะหยิบข้อมูลตรงนี้กลับมาใช้ฟื้นฟูมนุษยชาติได้จริงมั้ย? นี่เป็นอีกครั้งที่ The Matrix ให้ไอเดียเจ๋งๆ และเป็นแรงบันดาลใจ ส่วนจะทำได้มั้ยก็อีกเรื่อง
ไนโอบีเล่าว่าหลังจากการตายของนีโอและสิ่งที่เขาทำทิ้งทวนไว้ก่อนจะจากโลกนี้ไป ในแง่นึงมันเกิดประโยชน์คือสงครามสิ้นสุดลง แทนที่จะตื่นมาได้ยินเสียงไซเรน (siren) เธอได้ยินความเงียบงัน (silence) แทน แต่อีกแง่มันได้สร้างอุดมการณ์อันแข็งแรงให้กับชาวไซออน นำโดยมอร์เฟียซที่เชื่อในตัวนีโอเสมอมาและยังคงเชื่อแม้ว่านีโอจะไม่อยู่แล้วก็ตาม กับเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมนุษย์เป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการทำสงคราม กับฝ่ายที่ต้องการทวงโลกคืนจากเหล่าจักรกล
ในขณะเดียวกันนั้นฝั่งจักรกลเองหลังจากการรีเซ็ตระบบเมทริกซ์และเวลาล่วงเลยไป พวกเครื่องจักรก็ทำสงครามแห่งชิงพลังงานกันเองเนื่องจากมีจำกัดและเริ่มไม่พอใช้ สวนทางกับการขยายจำนวนเพิ่ม นี่ก็เป็นอีกจุดที่คมคายเพราะกำลังพูดถึงประเด็น ‘ไม่มีอะไรกระตุ้นสงครามและความขัดแย้งได้ดีเท่ากับความขาดแคลน’ บัดนี้พวกสิ่งมีชีวิตที่ทำจากเหล็กและเกลียดชังมนุษย์ กลับทำสิ่งที่ไม่ต่างจากมนุษย์ คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและทำสงครามเพื่อความอยู่รอด รวมถึงมีความประนีประนอม และสร้างสันติได้
สัญชาตญาณเป็นตัวผลักดันสิ่งมีชีวิตให้ดำเนินไปทิศทางหนึ่งๆ และสติปัญญาเป็นตัวควบคุมและเป็นตัวกรองว่าจะทำตามสัญชาตญาณนั้นหรือไม่ สำหรับเครื่องจักร AI ที่ตอนนี้วิวัฒน์จนเป็นอีกฟอร์มของสิ่งมีชีวิต คิดได้ รู้สึกได้ น่าสนใจที่พวกมันเลือกวิธีต่างกันทั้ง แบ่งพวก สู้รบกันเอง หลีกดลี่ยงการลดจำนวนพวกเดียวกัน กับเข้าร่วมกับมนุษย์
เนื้อหาช่วงนี้ยังสะท้อนให้เห็นการเหนื่อยล้าจากสงครามการต่อสู้จนกลายเป็นผู้เพิกเฉยและอยู่กับปัจจุบันเท่าที่มี พอใจเท่าที่ได้ ของคนรุ่นเก่าอย่างไนโอบี ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่างกัปตันและลูกเรือเนโมซีน ได้รับอุดมการณ์มุ่งมั่นมาจากบรรพบุรุษรวมถึงสัญชาตญาณการไม่ยอมจำนนต่อการถูกกดขี่ยังแผ่ออกมาอย่างแรงกล้า ทำให้พวกเขายังคงมีหวังที่โลกจะกลับมาเป็นของมนุษย์อีกครั้ง
เมื่อทุกคนกลับเข้าเมทริกซ์เพื่อตามหาทรินิตี้ นีโอได้เข้าปะทะกับสมิธในร่างใหม่ ส่วนมอร์เฟียซกับวัยรุ่นยานเนโมซีนปะทะกับเหล่าผู้ถูกเนรเทศจากการรีเซ็ตระบบ ซึ่งก็คือพวกเมโรวินเจี้ยนที่ตอนนี้ดูจะกลายเป็น homeless ไปซะแล้ว
ระหว่างการปะทะ นอกจากพลังคลื่นกระแทกและบาเรียของนีโอจะตื่นขึ้นอีกครั้งแล้ว (ครั้งแรกคือตอนสู้กับมอร์เฟียซในระบบจำลองของคอนทรัคต์เพื่อดึงความทรงจำและแรงฮึด) สมิธยังได้พูดสิ่งน่าสนใจที่ถอดจากหนังไตรภาคกับเนื้อหาของ The Matrix ทุกภาครวมกันได้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของฐานสอง (binary) หรือสิ่งที่มักมาคู่กัน อย่างเลข 01 ที่เป็นเลขฐานของระบบดิจิตอล, ดีกับชั่วร้าย, สถาปนิกกับเทพพยากรณ์, มนุษย์จักรกล, ทางเลือกกับไม่มีทางเลือก, มอร์เฟียซกับสมิธที่ต่างก็สร้างนีโอในคนละแบบ และนีโอกับสมิธที่ต่างก็สร้างกันและกัน เป็นศัตรูเดนตายที่เห็นเป็นต้องบวกเหมือนในหนัง 4Kings
ฉากปะทะกันอาจดูธรรมดาและประเด็นอาจถูกพูดถึงอย่างดูฉาบฉวย แต่ถือว่าพอจะ ส่งมาให้เราได้ไปขบคิดกับหนังต่อได้
นีโอได้มาหาทรินิตี้ได้สำเร็จ แต่เขากลับพบจิตแพทย์ของเขา ซึ่งตัวจริงก็คือ The Analyst หรือนักวิเคราะห์ โปรแกรมฝ่ายบริหารใหม่ที่มาทำหน้าที่ดูแลเรื่องการใช้มนุษย์ผลิตไฟฟ้าให้กับเซนเทียนส์ (เมืองจักรกล) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยวิธีที่แตกต่างกับสถาปนิก (The Architect) ในภาคก่อนๆ
นักวิเคราะห์มีความสามารถที่น่ากลัวคือพลังที่เลียนแบบ ‘บุลเลท ไทม์ (bullet time)’ หรือห้วงหลบกระสุนแบบสโลว์โมชั่นของนีโอ โดยนักวิเคราะห์สามารถทำให้ทุกอย่างช้าลงจนเกือบหยุดนิ่ง เป็นการกลับด้านของกระบวนการสโลว์ที่เอามาใช้กับนีโอเองและทำให้เขาที่ไม่ได้บู๊เก่งอะไรปลอดภัยในห้วงเวลาที่สามารถเคลื่อนไหวและโลดแล่นได้อย่างอิสระนี้ ทั้งยังสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
เขาใช้ห้วงเวลาของบุลเลทไทม์ในการอธิบายความเป็นจริงให้กับนีโอว่าเขาอยู่เบื้องหลังทุกอย่าง นั่นทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมนีโอจึงต้องไปพบตัวละครนี้และทำไมเขามาสวมบทบาทจิตแพทย์ นั่นก็เพราะเขาต้องคอยควบคุมดูพฤติกรรมของนีโอเป็นระยะๆ คอยดูว่าจังหวะไหนควรรีเซ็ต และเมื่อมีคนพยายามพานีโอออกไปเขาจะพยายามขัดขวางอย่างสุดกำลัง สุดความสามารถ ทั้งยังขู่ว่านีโอจะต้องกลับเข้าไปในฝักแต่โดยดี ไม่เช่นนั้นทรินิตี้จะต้องตาย
ที่บอกว่าวิธีการแตกต่างกับสถาปนิก คือตรงที่นักวิเคราะห์สนกำไรในรูปกระแสไฟฟ้าและผลลัพธ์ มากกว่าวิธีการ หัวหัวอกหัวใจใครในขณะที่สถาปนิกสนเรื่องจิตใจมนุษย์และความสมบูรณ์แบบจนหัวเสีย
นักวิเคราะห์ไม่ใช้สายลับแล้ว มันเก่าไปและได้ผลไม่ครอบคลุมพอ แต่จะใช้บอท เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายๆ แอนดรอยด์ผิวหนังเสมือนจริง ส่งไปใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์เพื่อควบคุมความประพฤติเหมือนที่เขาทำกับนีโอในระดับใกล้ชิด ทั้งยังสามารถสั่งการได้โดยตรง เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเรียกบอทเหล่านั้นจะตาเป็นสีดำ มีฝนโค้ดสีเขียวเหมือนตอนไตเติ้ลขึ้นในตาทั้งสองข้าง จากนั้นก็จะทำตามที่นักวิเคราะห์สั่ง
วิธีการของนักวิเคราะห์คือหยิบยื่นความสุขสมหวังให้มนุษย์โดยรักษาระยะห่างเอาไว้ ไม่เข้าใกล้เกินไป ไม่ห่างเหินเกินเอื้อม เน้นตอบสนองให้ผู้คนรู้สึกพอใจกับสถานะที่ตนเองเป็นอยู่ (บอทที่แฝงตัวไปใช้ชีวิตช่วยให้เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นได้) จากนั้นก็สูบเอาพลังงานชีวิต นักวิเคราะห์ค้นพบว่าสิ่งที่อยู่ในใจมนุษย์ที่เป็นตัวทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นคือช่วงเวลาที่มีอารมณ์ ‘หวาดกลัวและปรารถนา (fear and desire)’ คือหวาดกลัวที่จะสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ และปรารถนาสิ่งที่ไม่มี ซึ่งนั่นคือสาเหตุที่นีโอและทรินิตี้กลับมา นักวิเคราะห์มองเห็นว่านีโอผู้มีกระแสไฟฟ้าและกระแสจิตที่แรงกว่ามนุษย์ทั่วไป
หากนีโอผ่านกระบวนการนี้จะก่อให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้ามหาศาล หล่อเลี้ยงเครื่องจักรได้ในปริมาณมากและนานกว่าคนอื่นๆ แต่ต้องพึ่งพาพลังงานและการมีอยู่ของทรินิตี้ที่เปรียบเสมือนตัวส่งหรือตัวกระตุ้นที่ขาดไม่ได้ (peer) ด้วยเช่นกัน (ซึ่งเขาเองก็ไม่เข้าใจ) จึงได้นำร่างไร้วิญญาณของทั้งสองมาซ่อมแซม เสริมเนื้อเยื่อ เปลี่ยน ใส่อวัยวะ แล้วทำการชุบชีวิตทั้งสองมาเพื่อเป็นถ่านคุณภาพระดับ SS ที่หาซื้อตามเซเว่นหรือที่ไหนไม่ได้ แต่มีเงื่อนไขเดิมคือไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป นำทั้งคู่มาเจอกันให้เกิดอาการโหยหา อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกัน ในระยะที่เอื้อมถึง เพื่อต่าง
นั่นทำให้ตัวละครนี้กลายเป็นพนักงานดีเด่นที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับนครเครื่องจักรได้จำนวนมาก และทำให้ทั้งสองคนจุติในโลกเมทริกซ์อีกครั้ง ในร่างใหม่ แต่ข้างในยังเหมือนเดิม
นีโอ และ FC ของเขา กับไนโอบี ได้พบกับซาตี (Sati) โปรแกรมลูกสาววิศวกรจากไตรภาคที่เป็นผู้ออกแบบเครื่องอโนมาเลียมที่ใช้คุมขังนีโอกับทรินิตี้ที่ตอนนี้โตเป็นสาวแล้ว
พอทั้งพ่อและแม่เธอรู้ว่าเครื่องนี้มีไว้ใช้ทำอะไร ทั้งสองก็ถูกกำจัด เธอรอดมาได้เพราะ (ตามความเข้าใจ ที่หนังดูจะบอกอ้อมๆและไม่เคลียร์ว่า) เธออัพโหลดตัวเองอยู่ในหุ่นยนต์คูจากูที่รูปร่างคล้ายกับปลากระเบนและปลาโลมาหน้าแบ๊วผสมกัน ซาตีได้ผังมาจากพ่อแม่ก่อนพวกเขาจะถูกฆ่า และจะใช้มันเพื่อวางแผนปลดปล่อยทรินิตี้และคืนเธอสู่อ้อมอกคู่รักอีกครั้ง แต่ต้องพึ่งพาจิตของทรินิตี้ที่มีประสงค์ในการแสวงหาโลกภายนอกและปฏิเสธความเป็นจริงปลอมด้วย ไม่เช่นนั้นอย่างที่มอร์เฟียซพูดไว้ในภาคแรก “การปลดปล่อยจิตต้องรอให้พร้อม จิตที่ไม่พร้อมไม่เพียงแต่จะต่อต้าน แต่ยังปกป้องระบบด้วย”
นีโอจึงต้องไปเผชิญหน้ากับนักวิเคราะห์อีกครั้ง เพื่อเดิมพันให้ทรินิตี้ต้องการหลุดพ้นด้วยตัวเอง เขาสร้างความมั่นใจให้กับลูกเรือยานเนโมซีนผู้ร่วมสนับสนุนว่าทรินิตี้เชื่อใจได้ ตอนเขาได้รับคำทำนายว่าเป็น เดอะ วัน ไม่มีใครเชื่อ แต่เธอเชื่อเขา และถึงเวลาที่เขาจะช่วยเธอ (ฟังดูแล้วเหมือนนี่เป็นเรื่องราวในการปลดปล่อยทรินิตี้ในฐานะบุคคลสำคัญสูงสุดของเมทริกซ์ในฐานะผู้เทียบเท่านีโอเลยใช่มั้ย)
นักวิเคราะห์หัวหมอ ส่งบอทสามีและลูกมาหว่านล้อม แต่ไม่อาจปิดกั้นความปรารถนาเบื้องลึกแล้ว นีโออยู่ตรงหน้าเธอและทั้งคู่ไม่อยากพรากจากกันอีก ทรินิตี้จึงฝ่าฝูงทหารคุ้มกันนักวิเคราะห์กับสัมผัสมือกับนีโอพร้อมกับที่ทั้งคู่ต่างก็เรียกชื่อหากัน ผลคือเกิดเป็นประกอบแสงสีขาวและส่งแรงระเบิดออกมา ที่น่าสังเกตคือแสงสีขาวก็ปรากฏที่ฝ่ามือในโลกภายนอกเมทริกซ์ตอนทั้งคู่สัมผัสมือกันหลังถูกชุบชีวิตใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน นั่นดูจะคอนเฟิร์มถึงความสำคัญแบบขาดกันไม่ได้ของนีโอและทรินิตี้
ทั้งคู่พากันหลบหนี เพื่อที่จะรอจังหวะให้ซีคแฮ็คพวกเขาออกไป แต่ก็ถูกไล่ล่าอย่างไม่ลดละ
จนกระทั่งหนีมาบนชั้นดาดฟ้า นีโอที่เหาะไม่ได้แล้ว ตัดสินใจจับมือทรินิตี้กระโดดตึกเพื่อที่จะหลบนี้ ช่วงเวลานี้เองเป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อยจิตของทรินิตี้ เธอต้องอยากออกไปจากโลกซิมูเลชั่นพร้อมๆ กับปฏิเสธโดยสมบูรณ์ว่าโลกแห่งนี้ไม่มีอยู่จริง ไม่มีอะไรจริง และเธอไม่ได้ผูกพันกับมัน และเมื่อนั้นเองพลัง เดอะ วัน ของทรินิตี้ก็ได้ตื่นขึ้น เธอเป็นฝ่ายที่เหาะได้ในขณะที่นีโอยังไม่ และพาทั้งคู่หนีออกไปได้ที่สุด
ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอคือ เดอะ วัน ของเวอร์ชั่นนี้ หรือเป็น เดอะ วัน คนที่ 7 ถัดจากนีโอนั่นเอง นอกจากเหาะได้และเห็นนิมิตล่วงหน้า ทรินิตี้มีพลัง เดอะ วัน ที่แตกต่างกับนีโอคือพลังที่สามารถดีดนิ้วแล้วจัดการกับสภาพวัตถุได้ (สรุปจากการระเบิดตึกก่อนที่จะมาถึง) แถมยัง powerful กว่าตรงที่สามารถแก้ไขโค้ดของนักวิเคราะห์ได้อีกด้วย ทำให้ไม่ต้องเจรจาใดใดทั้งสิ้น
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าบริบทของสังคมสมัยนั้นก็ส่วนหนึ่ง ทรินิตี้อาจดูโดดเด่นและซัพพอร์ตนีโอทั้งทางใจและทางหน้าที่ แต่เธอยังอยู่ในหนังยุคที่มี ‘พระเอกนางเอก’ และ ‘พระเอกเด่นกว่านางเอก’ แต่เมื่อมาถึงยุคนี้สารได้เปลี่ยนไป อีกทั้งยังน่าสนใจที่หนังทำให้ทรินิตี้มี ‘พลังแห่งการสรรค์สร้างและแก้ไข’ เหมือนกับบทบาทผู้หญิงหรือคนเป็นแม่ที่มีทั้งพลัง ‘ให้กำเนิด’ ‘ส่งเสริม’ และ ‘ฟูมฟักดูแล’ รวมถึง’พึ่งพาตัวเองได้’ ในเวลาเดียวกันเหมือนผู้หญิงยุคนี้อีกด้วย
จะว่าไปแล้วนีโอกับทรินิตี้เป็นคู่แท้ไม่มีวันสลายและดูจะเป็นแหล่งพลังงานของกันและกันแต่แรกอยู่แล้ว หากยังจำได้ มีฉากที่นีโอถูกสายลับสมิธยิงแล้วชีพจรหยุดเต้น ทรินิตี้เป็นคนพาเขากลับมาด้วยการจูบ หรือด้วยพลังความรัก จึงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าภายใต้บริบทการการเสียดสีทั้งทุนนิยม อำนาจ วัตถุนิยม (ที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้) กับอภิปรัชญา (metaphysics) ไซไฟ The Matrix ตั้งแต่ภาค 1-4 คือเรื่องรางของทรินิตี้ และเป็น ‘หนังรัก’ มาตั้งแต่แรก
เนื้อหาในภาค Resurrections เพียงแต่นำมาขยาย และมอบตอนจบอันสวยงาม กับมอบความสุขที่ทั้งสองคนควรได้รับหลังจากทั้งคู่ต่างก็เสียสละและทำเพื่อผู้อื่น (selfless) มามากพอแล้ว เป็นการเติมเต็มจิตใจของผู้กำกับ และช่องว่างในใจคนดูที่มีและทั้งที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีอยู่สำหรับบางคนเท่านั้น จากที่เป็น ‘หนังรักที่ไม่ได้สุขสมหวัง’ มาตลอด