เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วงการวรรณกรรมแปลบ้านเราได้อ้าแขนโอบรับงานเขียนสองเล่มหนาๆ ของนักเขียนชาวตุรกีผู้เอกอุนาม Orhan Pamuk ครับ จนหากจะเรียกว่าเป็นปีทองของ Pamuk ในไทยก็คงไม่ผิด ด้วยหันไปทางไหนก็เห็นนักอ่านไทยพากันพูดถึง หรือบ้างก็ชื่นชม หิมะ และ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา กันอย่างครึกครื้นทีเดียว
แต่พ้นไปจากประเทศไทยแล้ว 2017 ยังเป็นปีที่หนังสือเล่มใหม่อีกเล่มของ Pamuk ได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ และออกวางจำหน่ายอีกด้วยครับ แม้ความจริงจะไม่ถือว่าน่าตื่นเต้นอะไรนักเมื่อเทียบกับว่าประมาณ 3 ปีก่อน หรือปี 2014 Pamuk เพิ่งจะออกหนังสือเล่มเขื่อง A Strangeness in My Mind ไปหยกๆ ด้วยเหตุนี้ หากจะบอกว่างานเขียนเล่มล่าสุดของเขาทิ้งระยะห่างจากเล่มก่อนจนแฟนๆ คิดถึงก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก และแม้สำหรับนักเขียนบางคนแล้ว 3 ปีจะดูเป็นระยะเวลาแค่สั้นๆ จนอาจส่งผลเป็นข้อเสียต่อการผลิตงานชิ้นใหม่ (เช่น ในแง่ความซ้ำเดิมของพล็อต หรือช่องโหว่ในเรื่องราว) แต่กับ Pamuk แล้ว ผมกลับพบว่า เผลอๆ การออกผลงานที่วางระยะห่างกันในช่วงสั้นๆ นี้ กลับส่งผลดีอย่างน่าสนใจต่องานเขียนเล่มใหม่ของเขาครับ มาดูกันว่าทำไม
The Red-Haired Woman คือชื่อของหนังสือเล่มนี้ครับ แปลตรงๆ ได้ว่า ‘สตรีผมแดง’ เนื้อหาของนวนิยายเล่มนี้ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายกับพ่อของเขา เพียงแต่มันไม่ใช่ความสัมพันธ์เช่นพ่อ-ลูกอย่างครอบครัวทั่วไป นั่นเพราะตัวพ่อ ผู้เปิดร้านขายยาเล็กๆ ในอิสตันบูลนั้นสนใจในการเมืองอย่างเข้มข้น เขาเรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย (Leftist) และหลายครั้งในชีวิตก็ (คล้ายว่าจะ) ถูกตำรวจและรัฐบาลอุ้มหายไปอย่างเป็นปริศนา แม้สุดท้ายจะรอดกลับมาได้ก็ตาม
ส่วน ‘Cem’ ผู้เป็นลูก ก็เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของพ่อผู้ฝักใฝ่ในเจตจำนงการเมืองที่ชัดเจน แม้ว่าแม่ของเขาจะเห็นต่างในเรื่องนี้ และไม่คิดอยากให้ลูกชายไปสุงสิงกับพ่อ หรือบรรดาเพื่อนๆ ของเขาสักเท่าไรนัก อยู่มาวันหนึ่ง พ่อของเขาก็หายตัวไปอีกครั้ง ไม่ได้เหลืออะไรทิ้งไว้ให้ครอบครัวสักเท่าไร Cem ผู้มีฝันอยากเป็นนักเขียนและหวังอยากเรียนมหา’ลัย แต่ด้วยฐานะของครอบครัวที่เหลือกันอยู่แค่แม่กับเขาสองคนก็ไม่ค่อยจะสู้ดี ในฤดูร้อนหนึ่ง Cem จึงตัดสินใจฝากตัวเป็นผู้ช่วยของ Master Mahmut นักขุดบ่อน้ำมืออาชีพ (Well Digger) ผู้คอยขุดลงไปในดินเพื่อค้นหาน้ำบาดาล และหากเจอ เขาก็จะสร้างบ่อน้ำขึ้นโอบรอบ
ความสัมพันธ์ของ Cem กับ Master Mahmut พัฒนาไปในระดับ – หากวัดจากความรู้สึกของ Cem เอง – คงเรียกได้ว่า เกินเลยจากระดับหัวหน้าและผู้ช่วยไปมากนัก นั่นเพราะ Cem รู้สึกต่อ Master Mahmut ประหนึ่งเป็นพ่อของเขา ทั้งจากการคอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ คอยเอาใจใส่เมื่อเขาอ่อนล้า ทั้งในยามค่ำ Master Mahmut ยังชอบเล่าตำนานต่างๆ ที่อ่านมาจากคัมภีร์อัลกุรอานให้ฟัง สำหรับ Cem ความผูกพันธ์ที่เขามีต่อเจ้านายคงนี้ได้กลายเป็นภาพแทนของความเป็นพ่อที่เขาขาด เป็นความเป็นพ่อที่ปรากฏในบุคคลอื่นซึ่งได้เข้ามาถมช่องว่างในจิตใจที่พ่อบังเกิดเกล้าของเขาได้ปล่อยให้มันกลวงเปล่ามาโดยตลอด
อ่านถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยว่า แล้ว ‘สตรีผมแดง’ อยู่ตรงไหนของเรื่องนี้กัน? เรื่องมันเริ่มที่ว่า อยู่มาวันหนึ่ง Cem ได้พบกับคณะละครเร่ที่มาปักหมุดเปิดแสดงอยู่ใกล้ๆ เมืองที่เขากำลังขุดหาบ่อน้ำ และเป็นวันเดียวกันนั้นที่เขาได้สบเข้ากับหญิงสาวผมยาวผู้มีผมเป็นสีแดงเพลิง – มีอะไรบางอย่างน่าดึงดูดในตัวผู้หญิงคนนี้ Cem คิด – มีพลังงานบางอย่างที่คล้ายจะชักจูงเขาเข้าไปหาหล่อนอย่างที่เขาเองก็ไม่แน่ใจนักว่ามันคือความรู้สึกในเชิงเสน่หาหรืออะไรกันแน่
ความคลางแคลงใจ และความรู้สึกรักใคร่ในตัวสตรีผมแดงนี่เองครับ ที่ Pamuk ได้ผสานมันเข้ากับประเด็นเรื่องพ่อ การขาด การพยายามหาบุคคลทดแทน และอย่างที่ใครหลายๆ คนอาจเดาได้… เรื่องปม Oedipus ครับ
Oedipus Rex หรือ Oedipus the King เป็น Greek Tragedy โดย Sophocles เล่าเรื่องราวของ Oedipus ผู้เกิดมาพร้อมคำทำนายที่ว่า วันหนึ่งเขาจะเติบโตขึ้นมาฆ่าบิดาของตัวเอง และสมรสกับมารดาของตัวเอง แต่ในทางจิตวิทยานั้น ปม Oedipus หรือ Oedipus Complex คือทฤษฎีที่เสนอขึ้นโดย Sigmund Freud นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เด็กชายจะเก็บความหลงใหลในแม่ตัวเองไว้ที่ระดับจิตไร้สำนึก (unconcious) และจะนึกอิจฉาพ่อที่ได้ครอบครองความรักจากแม่ไป เขาจะพยายามจะเป็นให้ได้เหมือนพ่อของเขาครับ
ผมคงจะบอกไม่ได้ว่า Pamuk นำเสนอความขัดแย้งของ Oedipus ไว้อย่างไรในหนังสือเล่มนี้ ด้วยความซับซ้อนที่เขาผูกโยงไว้นั้นลึกซึ้ง และมันจะเปิดเปลือยความลับทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างหมดจดเกินไป
วนกลับมาที่ประเด็นช่วงต้นที่ผมทิ้งไว้ว่า ระยะเวลาแค่สั้นๆ ที่ทิ้งห่างระหว่างหนังสือทั้งสองเล่มของ Pamuk นั้นส่งผลดีต่องานเขียนของเขาอย่างไร คงต้องบอกอย่างนี้ก่อนครับว่า แม้ Orhan Pamuk จะเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ผมรักมาก ทว่าปัญหาหนึ่งที่ผมรู้สึกอยู่ตลอดในงานเขียนของแกคือ ความเยิ่นเย้อของเรื่องราว และการมีวัตถุดิบที่อยากเล่ามากเกินไป พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา และ หิมะ เอง สำหรับผมก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ที่หลายๆ จุดในเล่มดูจะมากล้นจนเกินจำเป็น ทว่ากับ The Red-Haired Woman หนังสือที่หนาเพียงสองร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ ผมกลับไม่รู้สึกว่ามันท่วมท้นเกินพอดี ออกจะอยู่ในระดับกำลังดี ไม่มากเกิน และน้อยไป พูดอีกอย่างว่า Pamuk ดูจะแม่นกับเรื่องเล่าของเขามากขึ้น เขารู้ว่าจุดไหนที่เขาควรจะหยุด และจุดไหนที่ควรจะไปต่อ
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ด้วยหนังสือเล่มก่อนของเขา The Strangeness in My Mind นั้น ดำเนินเรื่องราวมาถึงปี 2012 ส่วน The Red-Haired Woman ก็ยืดขยายเวลาต่อไปถึงปี 2015 ตรงนี้เองที่ Pamuk ได้ใช้บรรยากาศทางการเมืองของตุรกีที่พัดผ่านอยู่ในช่วง 3 ปีที่ต่างกันนี้ ในการวิพากษ์ประเทศของเขาอย่างเฉียบคมและแนบเนียนครับ
The Red-Haired Woman จัดเป็นหนังสืออีกเล่มของ Pamuk ที่อ่านสนุกทีเดียวครับ ยิ่งถ้าใครที่ยังไม่เคยอ่านนวนิยายของนักเขียนท่านนี้ ผมว่าเล่มนี้เหมาะทีเดียวที่จะเป็นใบเบิกทางให้คุณได้ก้าวเข้าไปในโลกอันซับซ้อนของ Pamuk ด้วยเรื่องราวของมันแม้จะซับซ้อนอยู่บ้าง หากก็ไม่ได้ยากเกิน หรือจำต้องเข้าใจบริบทตุรกีมาก่อนล่วงหน้าจึงจะเข้าใจ หรือถ้าใครที่หลงใหลในเรื่องราว และโลกของตำนานปกรณัม หรือ Greek Tragedy ด้วยแล้ว ยิ่งต้องห้ามพลาดหนังสือเล่มนี้เข้าไปใหญ่เลยครับ