เห็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไป ‘ทดลอง’ ข้ามทางม้าลายที่แพทย์หญิงถูกรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชนจนเสียชีวิต แล้วได้ข้อสรุปว่าทางม้าลายนั้นอันตรายจริง พร้อมเตรียมหารือหลายฝ่าย เพื่อปรับปรุงทางม้าลายในไทย ก็ได้แต่อนุโมทนากับคุณตำรวจด้วย
แต่กระนั้นก็ต้องบอกไว้ตรงนี้ – ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย!
เพราะปัญหา ‘ความตายบนทางม้าลาย’ นั้น แม้จะเป็นปัญหาเชิงกายภาพและการจราจรด้วย แต่ถ้ากล่าวให้ลึกลงไปถึง ‘ราก’ แห่งปัญหาและสำนึก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผิน
แต่มันคือเรื่องราวของ ‘ชนชั้น’ ในสังคมไทย ที่มีความ ‘สูง’ และ ‘ต่ำ’ รวมทั้งเกี่ยวพันกับเรื่องของ ‘อำนาจ’ ในสังคมโดยแท้
คุณตำรวจที่ไปทดลองข้ามทางม้าลายนั้น ไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ใส่ชุดตำรวจเต็มยศ มีนักข่าวและทีมงานตามไปด้วยหลายคน แปลว่าไม่น่าจะมีรถคันไหน ‘กล้า’ หือต่อ ‘อำนาจ’ ของภาครัฐที่มาในรูปของเครื่องแบบแน่ๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีรถคันไหนกล้าพุ่งเข้ามาชนตำรวจสามสี่คนที่ใส่เครื่องแบบเห็นเด่นหรามาแต่ไกล ก็เท่ากับรถคันนั้นกำลังฆ่าตัวตายชัดๆ
เพราะมันไม่ได้กำลังจะชน ‘คน’
แต่กำลังจะชน ‘อำนาจ’ ขนาดใหญ่ ที่เห็นอยู่กระจะตา
แต่กระนั้น นายตำรวจท่านนั้นก็ยัง ‘สัมผัส’ ได้ – ว่าการข้ามทางม้าลายนั้นเป็นเรื่องอันตรายจริงๆ ซึ่งก็นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดี ที่คนที่เป็นตัวแทนของ ‘อำนาจ’ ขนาดใหญ่ เริ่มมองเห็นได้ว่า คนเดินถนนทั่วไปต้องเผชิญหน้ากับ ‘อำนาจ’ อะไรบ้าง ไม่เว้นแม้แต่ ‘แพทย์’ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นอีกกลุ่มคนที่มีอำนาจบางอย่างอยู่ในตัว (โดยเฉพาะอำนาจความรู้) แต่เมื่อ ‘เปลี่ยนพื้นที่’ (หรืออาจเรียกได้ว่าเปลี่ยน ‘เขตอำนาจ’) มาเดินข้ามถนนบนทางม้าลายโดยไม่มีใครรับรู้ถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจเดิม – ก็ยังต้องประสบเหตุการณ์แบบเดียวกับที่ ‘คนเดินดิน’ ทั่วไปต้องพบเจอเสมอในชีวิตประจำวัน – โศกนาฏกรรมอันเลวร้ายจึงเกิดขึ้น
ครั้งหนึ่ง ผมเคยก้าวลงไปบนทางม้าลายบนถนน และคิดว่ารถจะหยุดให้เพราะได้มองทะลุกระจกเข้าไปในดวงตาของคนขับแล้ว แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด รถสีขาวคันนั้นไม่หยุด แต่พุ่งเข้ามาหาสะโพกของผม
โชคดีที่รถขับไม่เร็วเพราะไม่ใช่ถนนใหญ่ และผมก็ระแวงอยู่แล้ว จึงถอยเท้าออกมาได้ทัน แต่ก็ยังกระทบกับสะโพก แล้วเอามือยันฝากระโปรงหน้าเหวี่ยงตัวออกมาได้ทัน
ผมโมโหมาก แต่รถคันนั้นก็แล่นจากไปเหมือนไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น
เหมือน ‘คนเดินดิน’ หรือ ‘คนเดินถนน’ เป็นธุลี เป็นฝุ่นละออง เป็นเศษสวะที่ไร้ค่า ไม่ต้องให้ความสนใจกับมัน!
หลายคนจึงมองว่า การถูกรถชนบนทางม้าลายในกรุงเทพฯ (หรือเมืองไทย) ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกเมื่อ นั่นเพราะสำหรับคนจำนวนมาก รถยนต์ไม่ใช่รถยนต์ มันไม่ใช่แค่พาหนะพาเราไปอีกที่หนึ่ง แต่มันแสดงถึง ‘สถานภาพ’ ของเรา แบบเดียวกับที่ขุนนางและเจ้าในยุโรปเคยปลาบปลื้มกับรถม้าในยุคกลาง ใครมีรถเทียมม้าแปดตัว ย่อมมีสถานภาพเหนือกว่าคนมีรถเทียมม้าหกตัว สี่ตัว และสองตัว
และแน่นอน – ถึงจะมีรถเทียมม้ากระจอกงอกง่อยแค่สองตัวหรือแม้แต่ตัวเดียว, ก็ยัง ‘เหนือ’ กว่าพวกคนเดินเท้า!
รถม้าหรือรถยนต์มีอำนาจสองแบบ แบบหนึ่งเป็น Hard Power นั่นคือมันชนเราตายได้ เราจึงกลัว ‘กายภาพ’ ของมัน กับอำนาจอีกแบบหนึ่งที่เป็น Soft Power นั่นคืออำนาจแห่ง ‘สถานภาพ’ ของคนที่เป็นเจ้าของรถ ยิ่งมีสถานภาพสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอำนาจมากเท่านั้น เราจึงกลัวอำนาจนั้น และบ่อยครั้ง Soft Power ของรถ ก็มีอำนาจเหนือ Hard Power ของมันด้วย
ลำดับชั้นในอำนาจของรถยนต์นี่เอง ที่ทำให้คนเดินถนนในไทยมีอาการ ‘เจียมตัว’ ให้กับรถยนต์มาโดยตลอด เวลาแม่จูงมือลูกเดินข้ามทางม้าลาย แม่ต้องแสดงท่าทีกลัวรถ คอยเตือนลูกให้ระวังรถ ซึ่งก็คือการ ‘สืบทอด’ สำนึกแห่งความกลัวนั้นไปสู่คนรุ่นลูกโดยอัตโนมัติ
แต่ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยกว่าในดินแดนที่
‘รถ’ และ ‘คน’ มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ ‘เสมอหน้า’ กัน
ในซิดนีย์ ในญี่ปุ่น ในยุโรปหลายเมือง มีทางม้าลายตรงนี่แยกที่วางตัวในแนวเฉียง เพื่อให้คนเดินตัดตรงจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งได้เลย และหลายแห่งถึงขั้นมี ‘ไฟแดง’ ทุกด้าน เพื่อให้รถทั้งหมดต้อง ‘หยุด’ แล้วให้คนเดินข้ามจากตรงไปไปตรงไหนก็ได้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับ ‘คน’ เท่าเทียมกับ ‘รถ’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า – เรื่องนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
สำนึกที่ว่า การเดินถนนหรือ ‘เดินดิน’ เป็นเรื่องของคนชั้นล่าง คนไม่มีจะกิน หรือคนจน ไม่ได้แสดงออกเฉพาะกับรถยนต์และทางม้าลายเท่านั้น แต่ยังแสดงตัวออกมาให้เราเห็นใน ‘แผ่นพื้นปูถนน’ บนฟุตบาธ ที่มีสภาพน่าเอน็จอนาถ หรือในบางจุดก็อาจกล่าวได้ว่าน่าสังเวชด้วยซ้ำ เช่น มีอาการแตกร้าว กระเดิดจนดีดน้ำพุ่งใส่ รวมไปถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นมา ‘กีดขวาง’ การเดินบนทางเท้า การสร้างทางเท้าให้แคบเสียจนเดินแทบไม่ได้ รวมไปถึงการ ‘เอาหูไปนาเอาตาไปไร่’ กับการใช้พื้นที่ทางเท้าเพื่อทำมาค้าขายจนคนไม่มีที่เดินเลยแม้แต่กระผีกนิ้วเดียว ต้องลงมาเดินบนถนน
คนเดินดินที่ร่างกายปกตินั้นเรื่องหนึ่ง แต่คนเดินดินที่เป็นผู้พิการ คนชรา หรือคนที่ป่วยไข้ช่วยตัวเองไม่ได้ ยิ่งต้องพบเผชิญกับสภาวะ ‘ไปไหนไม่ได้’ มากเข้าไปอีก พูดได้ว่า ‘เนื้อเมือง’ (Cityscape) ของกรุงเทพฯ ได้รับการออกแบบมาอย่างพล่อยๆ ชุ่ยๆ (และไม่ตั้งใจ) เพื่อ ‘กักขัง’ คนเหล่านี้ให้อยู่แต่ในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา หรือบ้านช่องที่เป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ (Private Sphere) ของตัวเอง อย่าได้ ‘เจ๋อ’ ออกมายัง ‘พื้นที่สาธารณะ’ (Public Sphere) เป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นจะต้องยากลำบาก หรืออาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วยซ้ำ
เราจะเห็นได้ว่า เมืองอันได้ชื่อเป็นว่า ‘กรุงเทพฯ’ (หรือเมืองเทพสร้าง) แห่งนี้ ไม่ให้กำลังใจผู้คนเดินทางด้วยวิธีอื่นใดมากนัก เพราะนอกเหนือไปจากการขับรถยนต์ และการใช้รถไฟฟ้า (ที่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มีราคาเหมาะสมกับค่าครองชีพหรือเปล่า) แล้ว การเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ ก็ดูจะยากลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะกับ ‘การเดินเท้า’ ที่ดูเหมือนจะเป็นได้แค่ ‘จัณฑาล’ ของการเดินทางเท่านั้น
คือไม่ได้แม้แต่อยู่ใน ‘วรรณะ’ ใดๆ ในการเดินทางของกรุงเทพฯด้วยซ้ำ
เวลาเดินอยู่บนทางเท้า เช่น บนถนนพหลโยธินหรือสุขุมวิทที่มีทางเท้าค่อนข้างสะดวกสบายกว่าถนนอื่น หากมีรถแล่นออกจากซอย ปั๊มน้ำมัน หรือตึก รถเหล่านั้นไม่เคยหยุดอย่างสุภาพให้ ‘คน’ ได้เดินไปก่อน แต่จะ ‘เสือกหัวรถ’ ออกมาทันควัน แม้ว่าเท้าของคนจะก้าวลงไปบนทางนั้นอยู่ก่อนแล้ว และ ‘คน’ ก็ต้องหลบรถอยู่เสมอ หลายคนถึงกับสะดุ้งโหยง และเมื่อพวกเขาเห็นว่ารถยนต์กำลังจะออกมาจากซอย – พวกเขาก็ต้องหลบ
หลบให้กับอะไร
ก็หลบให้กับ ‘อำนาจ’ ของรถยนต์นั่นปะไร
เวลาข้ามถนน ผมจึงบอกใครๆ ว่า เราต้อง ‘ฝึก’ พวกที่นั่งอยู่ในรถยนต์กันด้วย เราต้อง ‘ฝึก’ พวกเขาให้รู้ว่า ‘คน’ ก็มี ‘สิทธิ’ มากพอๆ กับ ‘รถ’ เหมือนกัน เวลาข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อได้จังหวะที่เหมาะสม (เช่น ไม่ใช่ข้ามถนนตอนรถได้สัญญาณไฟเขียว) หรือแม้แต่เดินไปตามถนน แต่มีตรอกซอกซอยหรือทางรถที่ทับกับทางเท้า เราจึงควรสาวเท้าเดินด้วยจังหวะคงที่ อย่าหยุดเดิน แล้วถ้ามีรถออกมา เราก็ควรจะส่งสายตาของเราไปมองสายตาของ ‘คน’ ที่อยู่ในรถ ให้พวกเขาได้รับรู้ว่า สิ่งที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ตรงนี้ – คือสิ่งมีชีวิต และเป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคนที่อยู่ในรถ
ในสังคมที่ ‘คนเท่ากัน’ นั้น นอกจากคนจะเท่ากับคน
รถจะเท่ากับรถแล้ว ‘คน’ ยังเท่ากับ ‘รถ’ ด้วย
แต่สำนึกแห่งความกลัวรถ กำลัง ‘สอน’ และ ‘ปลูกฝัง’ เราโดยอัตโนมัติ ว่าหากรถกับคนใช้ถนนร่วมกัน (เช่นบนทางม้าลาย) ‘คน’ จะต้องยอมหลีกทางให้ ‘รถ’ เสมอ เพราะคนคือสิ่งมีชีวิตที่ ‘ต่ำ’ กว่ารถ ทั้งที่รถไม่มีชีวิต
นี่คือมิติเชิงอำนาจโดยแท้
ถนนและการใช้ถนนในกรุงเทพฯ จึงบอกอะไรเราหลายอย่างเกี่ยวกับ ‘ความสัมพันธ์’ ที่บิดเบี้ยวในสังคมไทยในมิติต่างๆ เพราะมันคือความสัมพันธ์เหล่านั้น ที่ปรากฏตัวเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้เห็นกระจะตาได้จริงๆ
หากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ก็ต้องเข้าใจไปถึง ‘ราก’ ของปัญหาเรื่องนี้ด้วย ว่ามันมีที่มาเชิงวัฒนธรรมที่ ‘ลึก’ ขนาดไหน
คำถามก็คือ – ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงให้ถึงรากแห่งสำนึกดังกล่าวหรือยัง