1.
“ไอ้นี่ ยังหายใจอยู่ ยิงมัน”
เสียงปืนรัวดังก้องที่บ้านหลังหนึ่ง ในวันที่ 3 ธันวาคม ปี ค.ศ.1988 ที่ชุมชน Trust Feed ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อทุกอย่างเงียบสงบ ตำรวจมาตรวจที่เกิดเหตุ พบผู้เสียชีวิต 11 คน มีทั้งเหยื่อเป็นเด็กชายอายุเพียง 4 ขวบ และหญิงชรา วัย 66 ปี ผู้รอดชีวิตมีเพียงผู้หญิง 2 คน
ทั้งคู่รอดมาได้ เพราะศพบังร่างรับกระสุนไว้
นี่เป็นสถานการณ์สุดเลวร้าย ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า ‘การสังหารโหด Trust Feed’ การสืบสวนดำเนินไป แต่ทุกอย่างกลับจบเร็วอย่างผิดปกติ
เจ้าหน้าที่พบว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่มคนดำสมาชิกพรรค Inkatha ซึ่งเป็นกลุ่มคนผิวดำที่รวมตัวกันต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกสีผิวของรัฐบาลผิวขาวแอฟริกาใต้ โดยกลุ่มนี้ก็ไม่ถูกกับกลุ่มคนดำที่มีนโยบายต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวเช่นกัน อย่างกลุ่ม United Democratic Front หรือ UDF ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งคนที่เชื่อเป้าหมายเหมือนกัน จะมีวิธีการแตกต่างกันไป จนนำไปสู่การแตกตัว ตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา
หลังเกิดเหตุตำรวจผิวขาวในแอฟริกาใต้ ฟันธงอย่างรวบรัดว่า การสังหารโหดนี้ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนดำด้วยกันเองมากกว่า ดังนั้นจึงต้องดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกว่าเดิม
แต่ความจริงกลับมีบางสิ่งซ้อนเร้นมากกว่านั้น มันคือปฏิบัติการมือที่ 3 ที่ดำเนินงานโดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั่นเอง
2.
เดิมที Trust Feed เป็นเมืองทำน้ำตาล ที่มีเจ้าของที่ดินเป็นคนผิวดำ จนเมื่อแอฟริกาใต้คลอดกฎหมายแบ่งแยกสีผิว ทำให้คนดำจำนวนมากในประเทศ กลายเป็นเสียงส่วนน้อย สูญสิ้นสิทธิพลเมือง ขณะที่คนขาวซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ากลับได้ปกครองประเทศ สิทธิหลายอย่างของคนดำถูกพรากหาย นั่นทำให้ Trust Feed เป็นแหล่งชุมชนของคนดำที่ไร้ปากเสียงในทันที
ที่ผ่านมาในแอฟริกาใต้ มีความพยายามลุกขึ้นต่อต้านกฎหมายอันไม่เป็นธรรรมนี้อย่างต่อเนื่อง มีนักสู้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้าร่วม แต่ภายใต้อภินิหารของกฎหมาย ทำให้นักสู้ทางการเมืองผิวดำหลายคนถูกสังหาร บางคนถูกติดคุกขังลืมหลายสิบปี ดังเช่น เนลสัน แมนเดลาเป็นต้น
การต่อสู้ของคนผิวดำ มีความแตกต่างทางแนวทาง บางส่วนเรียกร้องสันติวิธี ไม่เชื่อเรื่องความรุนแรง ขณะที่อีกกลุ่มเชื่อว่า หากไม่จับปืนสู้ แล้วจะได้ชัยชนะมาได้อย่างไร นั่นนำไปสู่การแตกแยกทางความคิด แยกตัวกันเดิน โดยหวังจะร่วมกันตีตกนโยบายเหยียดผิว แต่นานวันเข้า มันก็กลายเป็นการแยกกันเดินคนละทางของจริง
คนในชุมชน Trust Feed เป็นคนดำที่มีแนวทางแตกต่างกันไป บางคนสังกัดกลุ่ม UDF บางคนสังกัดกลุ่ม Inkatha แต่ทุกคนได้รวมกลุ่ม ต่อต้านคำสั่งรัฐบาลที่พยายามจะโยกย้ายคนในชุมชนออกไป ระหว่างการต่อสู้นั้น ได้มีการเรียกร้องปรับปรุงคุณภาพชีวิต ทั้งการให้มีน้ำประปา มีคลินิกรักษาคน
รัฐบาลผิวขาวของแอฟริกาใต้ยินยอมดำเนินการตามคำเรียกร้องนั้น อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลุ่ม Inkatha ให้ได้เป็นผู้นำในการดูแลชุมชนนี้ หลังทางการประเมินว่าจะควบคุมและพูดคุยได้ง่ายกว่าสมาชิกกลุ่ม UDF ซึ่งตำรวจไม่ชอบหน้าเป็นอย่างมาก
แต่ในชุมชนแห่งนี้ ผู้นำและคนดูแลไม่ได้สังกัดกลุ่ม Inkatha ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงพยายามเร่งรัดผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ นั่นทำให้กลุ่ม Inkatha หลายคนได้รับการฝึกอาวุธจากรัฐบาล เมื่อมีข้อมูลหลุดไปถึงสื่อว่า ภาครัฐพยายามผลักดันให้คนจาก Inkatha ขึ้นมามีอำนาจในเมืองแทน กระแสความปั่นป่วนและไม่พอใจก็มีมากขึ้น
แต่แทนที่จะใช้การพูดคุย ทางการกลับใช้หมัดเหล็ก พวกเขาตั้งคณะทำงาน และประกาศให้ Trust Feed เป็นพื้นที่ควบคุมทันที แม้แต่สื่อมวลชนก็ไม่มีสิทธิ์ไปทำข่าวในเมืองแห่งนี้ หลังจากนั้นก็เกิดเหตุบุกเผาร้านของคนดำสังกัดกลุ่ม UDF มีความวุ่นวายอลหม่านมากขึ้น เกิดความหวาดระแวงระหว่างคนดำที่คิดเห็นต่างทางแนวทางการต่อสู้ ความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายก่อตัวขึ้น
ด้วยเหตุผลนี้ ทางเจ้าหน้าที่จึงสรุปเอาอย่างรวบรัดว่า การบุกสังหารโหด 11 ศพ ที่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนของ Inkatha นั้น จะเป็นผลงานใครไม่ได้ นอกจากการตอบโต้จากกลุ่ม UDF ที่ต้องการล้างแค้นความวุ่นวายนี้
การสรุปของตำรวจเป็นไปอย่างมักง่าย พวกเขาไม่แม้แต่จะสอบปากคำผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ แม้จะมีการออกหมายจับผู้ต้องหา แต่ไม่มีการจับกุมใครได้เลย จนเวลาผ่านไป 3 ปี นักสืบคนหนึ่งก็เข้ามาสะสางคดีนี้ พร้อมกับความจริงที่ตื่นตะลึง
3.
แฟรงค์ ดัตตัน (Frank Duttan) เป็นนักสืบยอดฝีมือผิวขาว ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในแอฟริกาใต้ ในช่วงปี ค.ศ.1991 สถานการณ์ของแอฟริกาใต้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) คนที่ถูกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและต้องติดคุกมาหลายสิบปี ได้รับการปล่อยตัว เขากำลังจะได้ฉายแสงเป็นรัฐบุรุษของประเทศและของโลกในเวลาต่อมา
ด้วยบรรยากาศการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความพยายามรื้อฟื้นคดีสังหารโหดนี้อีกครั้ง ทางการตัดสินใจมอบคดีนี้ให้กับแฟรงค์ ดัตตันได้ทำงานร่วมกับคู่หูตำรวจผิวดำในการไขคดี
ตัวดัตตันนั้นเป็นนักสืบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 เขาเป็นคนไม่ยอมใคร หากมันไม่ถูกต้อง ทำงานโดยไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน และที่สำคัญเขาให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน โดยไม่สนใจว่าจะสีผิวไหนทั้งสิ้น ชื่อเสียงของแฟรงค์ ทำให้รัฐบาลมอบหมายงานให้เขาทันที
แฟรงค์กับคู่หูลงสืบสวนคดี สิ่งแรกที่เขาทำ ก็คือการไปคุยกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ นั่นทำให้ได้ข้อมูลมากมาย
ทางยอดนักสืบพบว่า กล้องวงจรปิดรอบบ้านจุดเกิดเหตุถูกถอดออกไป และดูเหมือนรายงานการสืบสวนของตำรวจดูเว้าแหว่ง เหมือนต้องการจะปกปิดอะไรบางอย่าง แต่นั่นเป็นเพียงการครุ่นคิด ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือไล่ล่าจับกุมผู้ต้องหา 2 คนตามหมายจับให้ได้เสียก่อน
เวลาผ่านไปไม่นาน แฟรงค์กับคู่หูก็จับกุมคนดำ 2 คนที่ถูกออกหมายจับในการสังหารโหดนี้ได้สำเร็จ ชายทั้ง 2 รับสารภาพว่า เขาไม่ได้จู่ๆ อยากบุกไปฆ่าคนล้างแค้นให้กับกลุ่ม UDF อะไรทั้งสิ้น แต่ได้รับคำสั่งให้ทำจากตำรวจ
ชิ้นส่วนปริศนามากมายในคดีนี้ถูกประกอบขึ้น ในเวลาต่อมา แฟรงค์และคู่หูจึงสรุปได้ว่า นี่ไม่ใช่การฆ่าล้างแค้นระหว่างคนดำ 2 กลุ่ม แต่เป็นผลงานของตำรวจที่จัดฉากยิง แล้วโบ้ยความผิดให้คนดำเกลียดกันเอง
มันคือปฏิบัติการของมือที่สามอย่างชัดเจน
“ตอนแรก ผมก็ไม่เชื่อว่าจะมีตำรวจเกี่ยวข้อง
ผมก็รักพวกเดียวกันเอง แต่พอหลักฐานมันกระจ่างชัดคาตา
ผมก็ต่อติดว่าตำรวจกำลังทำอะไรกันอยู่”
แฟรงค์และคู่หู ต้องตั้งสำนักงานลับในฟาร์ม ทำการสืบสวนรวบรวมคดีทั้งหมด ไว้ใจใครไม่ได้ เพราะคนที่ก่อเหตุสังหารโหดคือเจ้าหน้าที่รัฐพวกเดียวกับเขาเอง มันมีทั้งการขู่ฆ่า การดักฟังโทรศัพท์ ทั้งสองใช้เวลาอยู่สักพัก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมากมาย ก่อนจะรวบรวมหลักฐานส่งเรื่องถึงอัยการได้สำเร็จ
นั่นจึงนำไปสู่การจับกุม ไบรอัน มิชเชลด์ (Brian Mitchell) หัวหน้าโรงพักที่ดูแลพื้นที่ Trust Feed ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจับกุมตำรวจผิวดำอีก 4 คนด้วย
การจับกุมนี้ ทำให้คนทั้งประเทศ รู้ความจริงว่า ตำรวจแอฟริกาใต้ จัดตั้งกองกำลังลับๆ ทั้งฝึกคนดำให้ฆ่าคนดำด้วยกันเอง และยังจัดตำรวจไปปลอมตัวปฏิบัติภารกิจลับสร้างความวุ่นวายให้กับคนดำ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กฎหมายเฉียบขาดเพื่อคงสภาพรัฐบาลผิวขาวแบ่งแยกสีผิวไปอีกนาน โดยอ้างว่ามีความวุ่นวายในหมู่คนดำ จึงไม่อาจยอมปล่อยอำนาจให้ได้
นี่เป็นปฏิบัติการสมคบคิดที่สุดสยองมาก
เพราะมันมีหลายภารกิจที่เกิดขึ้น
โดยมีตำรวจอยู่เบื้องหลังความเลวร้ายทั้งหมด
สำหรับการสังหารโหดนี้ ทางไบรอันได้วางแผนและส่งตำรวจผิวดำปลอมตัวไปที่บ้านหลังหนึ่ง ก่อนจะเปิดประตูกระหน่ำยิงคนดำในบ้านโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ซึ่งตัวไบรอันก็ยืนสั่งการอยู่ข้างนอก
ไบรอันให้การว่า ที่เขากล่อมให้ตำรวจผิวดำไปฆ่าคนดำด้วยกันเองได้ ไม่เพียงเพราะเป็นคำสั่งเท่านั้น แต่เขายังอ้างว่าพวกที่อยู่ในบ้านนั้น เป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ตัวไบรอันยังเป็นคนสำรวจศพในบ้านแล้วแจ้งว่า มีคนยังไม่ตายอีกราย และให้ยิงซ้ำเสีย เมื่อสังหารจนเสร็จ พวกเขาก็ปกปิดปฏิบัติการ ถอดวงจรปิด และด้วยความเป็นโรงพักที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ ไบรอันจึงปกปิดการกระทำของตนเองและลูกน้อง ภายใต้กฎหมายได้อย่างสบายๆ
ผลงานทั้งหมดของไบรอันเกิดจากคณะทำงานที่ทางการตั้งขึ้น เพื่อให้คนดำเกลียดกันเอง ไม่มีการฆ่าล้างแค้นใดๆ ทั้งสิ้น และเอาเข้าจริง การเผาร้านรวงในชุมชนแห่งนี้ ก็ไม่ใช่ฝีมือใครที่ไหน แต่เป็นตำรวจที่ปลอมตัวไปก่อเหตุเองทั้งสิ้น เพื่อทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง
นี่คือผลงานการสืบสวนของแฟรงค์ ดัตตัน ที่ฉีกหน้าเปิดเปลือยความจริงขององค์กรตำรวจแอฟริกาใต้ได้อย่างน่าอับอายที่สุด ว่ากันว่าภายใต้ปฏิบัติการของตำรวจนี้ มีคนตายไปถึง 1.1 หมื่นคนด้วยกัน
ผู้ต้องหาในคราบอดีตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถูกนำตัวขึ้นศาล ผู้พิพากษาผิวขาวยังตื่นตะลึงกับความเลวร้ายของเรื่องราวเหล่านี้ ไบรอัน มิชเชลด์ถูกพิพากษาประหารชีวิต 11 ครั้งด้วยกัน แต่เพราะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว เขาจึงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
“คุณรู้ไหม มันเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมเลือดเย็นมาก” ผู้พิพากษาในคดีนี้พูดขึ้นมาระหว่างการพิจารณา
ด้านตำรวจผิวดำที่ถูกนำตัวขึ้นศาล ถูกตัดสินจำคุกรองลงมา แม้พวกเขาจะอ้างว่า “ทำตามคำสั่งนายก็ตาม” แต่ผู้พิพากษาได้กล่าวประโยคลือลั่นออกมาว่า
“คุณไม่รู้เหรอว่า การไปฆ่าคนบริสุทธิ์นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย”
4.
เหมือนความยุติธรรมจะอำนวย แต่เรื่องราวคดีนี้มันกลับจบลงที่ตัวไบรอัน มิชเชลด์ ไม่ได้ติดคุกตลอดชีวิตดังที่ศาลตัดสิน เพราะภายใต้คณะกรรมการค้นหาความจริงที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสำรวจบาดแผลของประเทศในช่วงแบ่งแยกสีผิว เพื่อให้เหยื่อได้ฟังผู้ก่อเหตุเล่าความผิด ยอมรับการกระทำ และหาทางเยียวยาประเทศให้ก้าวเดินต่อไป หลังจากอยู่ในสังคมอยุติธรรมทางเชื้อชาติมาอย่างยาวนาน เขากลับได้รับการปล่อยตัวหลังติดคุกไปไม่ถึง 5 ปี
ทั้งนี้ก็เพราะแม้จะมีหลักฐานว่า ตำรวจเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการมือที่สาม สร้างความปั่นป่วนในชุมชนคนดำ แต่ไบรอัน มิชเชลด์กลับเป็นตำรวจระดับสูงเพียงคนเดียวที่ติดคุกจากปฏิบัติการนี้ และเขาได้อ้างว่าตัวเองกลับตัวกลับใจ เล่าเรื่องราวยอมรับผิดในการกระทำของตัวเองแล้ว คณะกรรมการจึงปล่อยตัวเขาออกมา
อดีตตำรวจออกมาสู่โลกความเป็นจริง ท่ามกลางความไม่พอใจของคนในชุมชน Trust Feed เขาแทบจะสมัครทำงานไหนไม่ได้ เพราะคนงานผิวดำไม่ยอมให้มีการจ้าง ภรรยาขอหย่า ไบรอันกลายเป็นเสรีชนที่น่ารังเกียจสุดในประเทศ
บางทีการติดคุกอาจจะดีกว่า
ออกมาเจอโทษทัณฑ์ทางสังคมแบบนี้ก็เป็นได้
สำหรับนักสืบดัตตันที่ทำคดีนี้ เขาได้รับมอบหมายให้คุมดูแลหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใหญ่ขึ้น ถึงขั้นได้ไปทำงานให้กับองค์กรสหประชาชาติ เป็นนักสืบที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก และเพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยอายุ 72 ปี ปิดตำนานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตัวจริงของโลกใบนี้
แฟรงค์ ดัตตันเคยเล่าว่า ตอนเขาไปสืบคดีนี้ โรงแรมหลายแห่งไม่ยอมให้คนผิวดำเข้าพัก ไบรอันไม่ยอมให้คู่หูสืบคดี ต้องไปนอนที่อื่น ทั้งสองจึงตัดสินใจไปนอนในห้องขังด้วยกันเพื่อจะได้ปรึกษาเรื่องคดีแทน
การสังหารโหดนี้ คือการเปิดเปลือยความเลวร้ายที่สังคมแอฟริกาใต้พบเจอ แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็เห็นนักสืบดัตตัน ชายที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความโหดเหี้ยม ไม่ว่ามันจะมาจากพวกเดียวกับเขาก็ตาม และทำให้ทั้งโลกจดจำเขา เป็นตำนานความดีอุดมการณ์ตำรวจกล้าที่มีอยู่จริง
อีกฟากหนึ่งแห่งความดีงาม คือความเลวร้าย สำหรับไบรอันนั้น เขาสาบานตนเพื่ออุทิศปกป้องประชาชน แต่กลับใช้เครื่องแบบและกฎหมายห่มคลุมการกระทำผิดนี้อย่างเลือดเย็น เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว ญาติของผู้เสียชีวิตจากการสังหารโหด ได้พูดถึงฆาตกรรายนี้ว่า
“แม้ฉันจะแก่จนจำปีที่ตัวเองเกิดไม่ได้แล้ว แต่จะไม่มีวันลืม ไบรอัน มิชเชลด์เด็ดขาด มีเพียงความตายเท่านั้น ถึงจะทำให้ลืมเขาได้”
อ้างอิงข้อมูลจาก