คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Witcher 3
เชื่อว่าใครที่เป็นแฟนเกมแนวอาร์พีจี (RPG ย่อมาจาก Role-Playing Game) น่าจะเคยหลุดเข้าไปสิงสถิตอยู่ในโลกของ Witcher 3 เกมดังจาก CD Projekt Red เกมสตูดิโอจากโปแลนด์ บ้างไม่มากก็น้อย ใครได้เล่นต้องยกนิ้วให้เป็นเกมอาร์พีจีที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในประวัติศาสตร์เกม ปิดภาคสุดท้ายของไตรภาค Witcher อันสร้างจากสุดยอดซีรีส์นวนิยายชื่อเดียวกันโดย อันเดรซ แซพโควสกี (Andrzej Sapkowski) นักเขียนชาวโปแลนด์ ซึ่งโด่งดังมาช้านานในบ้านเกิดของเขา รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปตะวันออก พอๆ กับที่ซีรีส์นวนิยาย Game of Thrones โด่งดังในโลกตะวันตก (และหลังจากที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์แล้วก็ดังกระหึ่มกว่าเดิมไปทั่วโลก)
ผู้เขียนเองติดหนึบอยู่ในโลกของ Witcher 3 นานกว่า 160 ชั่วโมง อดตาหลับขับตานอนติดต่อกันหลายเดือน ต่อเมื่อเล่นจบภาคหลักและภาคเสริมทั้งหมดทั้งมวล ควานหาพิมพ์เขียวประจำสำนัก Witcher ได้ครบทุกชิ้นสองสำนัก แถมทำเควสท์ฆ่าสัตว์ประหลาด (ที่ได้เงินค่าจ้าง) ครบหมดทุกเควสต์ทุกแผนที่แล้ว ระหว่างทางปีนเขาสูงชันไปหาเกราะของ Witcher สำนักหมี พลางเหนื่อยใจกับโรช (Roach) เจ้าม้าคู่ใจที่กระโดดข้ามรั้วเตี้ยก็ไม่เป็น ปลาบปลื้มบนอานม้ากับแสงทองส่องฟ้ายามสายัณห์ในเกม ตอนเวลาตีสามในเวลาจริง จึงได้ถึงบางอ้อว่า น่าจะได้เวลาอันสมควรแล้วที่จะบอกลา เกรอลท์ (Geralt) หมอผีสายบู๊ผู้เป็นพระเอกในเกม ลบเกมนี้ออกจากเครื่องก่อนที่จะเสียเวลานอนไปมากกว่านี้ (55)
Witcher 3 ได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากแฟนเกมแนวอาร์พีจีทั่วทุกสารทิศว่า สร้างโลกแฟนตาซีที่สมจริง คือ ‘จริง’ เท่าที่โลกแต่งแห่งมังกร สัตว์ประหลาด และภูตผีนานาชนิดจะ ‘จริง’ ได้ เกมเมอร์บางคน (โดยเฉพาะจากประเทศที่คุ้นชินกับประชากรหลากหลายสีผิว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา) บ่นว่าเกมนี้ ‘เหยียดผิว’ และ ‘ไม่สมจริง’ เพราะทั้งเกมมีแต่ตัวละครผิวสีขาวซีดแบบยุโรปตะวันออก ไม่มีคนผิวเหลือง ผิวดำ ฯลฯ เลย แต่คนที่บ่นแบบนี้คงลืมนึกไปว่า โลกของเกมนี้สร้างอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับคือซีรีส์นวนิยาย Witcher อันเขียนจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสภาพสังคมสมัยยุคกลางของโปแลนด์ ประเทศที่ประชากรกว่าร้อยละ 98 พื้นเพเป็นชนผิวขาวเรียกว่า ชาวสลาฟ (Slav) มาแต่โบร่ำโบราณ การเติมคนผิวสีอื่นๆ เข้ามาในเกมต่างหากที่จะทำให้เกมนี้ ‘ไม่สมจริง’ !
นอกจาก Witcher 3 จะสร้างโลกและตัวละครที่ลืมไม่ลงแล้ว เกมนี้ยังไปไกลกว่านวนิยายต้นฉบับในการดัดแปลงนิทานและตำนานพื้นบ้านจำนวนมากของโปแลนด์มาสร้างเควสต์และผูกเรื่องราว สมบทบาท ‘หมอผี’ หรือ Witcher ของ เกรอลท์ พระเอกและตัวเราในเกม ซึ่งก็ไม่ใช่มนุษย์ เป็น ‘อมนุษย์’ ผู้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ในพิธีกรรม ยังชีพด้วยการรับจ้างกำจัดหรือจัดการกับสัตว์ประหลาด อสูร และภูตผีเหนือธรรมชาติเป็นหลัก
ในเมื่อเรื่องราวเกี่ยวกับผีสางนางไม้ สัตว์ประหลาด และความเชื่อมากมายสมัยยุคกลางซึ่งวันนี้เราดูแคลนว่าเป็น ‘เรื่องงมงาย’ ล้วนแต่มีอยู่จริงใน Witcher 3 ผู้เขียนจึงไม่คิดอะไรมาก จนกระทั่งระหว่างทำเควสต์ชื่อ ‘Doors Slamming Shut’ (ประตูปิดปัง) เกรอลท์เดินเข้าไปสำรวจบ้านหลังหนึ่ง พอมองเห็นผงเกลือถูกโรยเป็นเส้นบนพื้นก็ออกปากว่า “โรยเกลือบนพื้น…นี่คงเชื่อว่าจะไล่ผีได้สินะ งมงายสิ้นดี”
ได้ยินเกรอลท์พูดแบบนี้ก็ทำให้เอะใจว่า เออแฮะ ในโลกที่เวทมนตร์และเรื่องเหนือธรรมชาติทุกอย่างเป็นความจริง ‘ความงมงาย’ ยังมีความหมายอยู่หรือไม่ และถ้ามี มันหมายความว่าอะไรกัน?
หลังจากที่ครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ ทำพิธีเรียกผี ช่วยแม่มดร่ายเวท และฆ่าอสูรตายไปอีกเป็นเบือ ผู้เขียนคิดว่าคำตอบเดียวที่อธิบายได้ก็คือ ‘ความงมงาย’ ในโลกของเกรอลท์ หมายถึง ‘ความเชื่อ’ อะไรก็ตามที่คนยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความจริง ทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใดๆ ซึ่งบ่งชี้ว่ามันเป็นเช่นนั้น
การโรยเกลือบนพื้น (ซึ่งคนสมัยโบราณหลายวัฒนธรรมในโลกจริงเชื่อจริงๆ ว่าไล่ผีได้) เป็น ‘ความงมงาย’ ไม่ใช่เพราะผีไม่มีจริง แต่เป็นเพราะการทำแบบนี้ไล่ผีไม่ได้จริง แต่คนก็ยังดันทุรังเชื่อ และส่งต่อความเชื่อต่อๆ กันไปจากรุ่นสู่รุ่น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่คนในโลกแฟนตาซีของเกรอลท์ หรือคนยุคกลางในโลกจริงของเราเท่านั้นที่เต็มไปด้วย ‘ความงมงาย’ แต่คนทั่วไปในโลกยุคข้อมูลข่าวสารล้นหลาม เทคโนโลยีล้นเหลือแห่งศตวรรษที่ 21 ก็อาจ ‘งมงาย’ ได้ไม่แพ้กัน รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้ด้วย!
บรูซ ฮู้ด (Bruce Hood) นักจิตวิทยาเชิงทดลองชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรับรู้ (cognitive neuroscience) เขียนหนังสืออ่านสนุกสองเล่ม ชื่อ Supersense และ Science of Superstition มาอธิบาย ‘วิทยาศาสตร์ของความงมงาย’ ให้เราเข้าใจที่มาของความงมงาย จากสายตาและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ฮู้ดอธิบายว่า ‘ความงมงาย’ ในนิยาม ‘ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ’ ของเราๆ ท่านๆ นั้นไม่ได้มีรากมาจากศาสนา คนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า หรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็ ‘งมงาย’ ได้ไม่แพ้คนที่เชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทางศาสนาเหมือนกัน ตัวอย่างง่ายๆ เช่น นักกีฬาอาชีพจำนวนมากถือ ‘เคล็ด’ ที่ดูไม่มีเหตุผล เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งชัยชนะ เช่น ต้องก้าวเท้าซ้ายลงจากเตียงเป็นก้าวแรก ใส่เสื้อสีแดงเท่านั้นในวันแข่ง พกเหรียญหรือห้อยเครื่องรางนำโชค หรือที่ดู ‘อี๋’ หน่อยก็อย่างเช่น บางคนเคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นเดิมซ้ำไปซ้ำมาและเก็บมันไว้ใต้หมวกเบสบอล บางคนไม่ซักกางเกงในจนกว่าจะได้แชมป์ (!) หรือถ้าเป็นตัวอย่างแบบไทยๆ ที่เราคุ้นเคยก็เช่น การไป ‘บน’ เจ้าที่หรือทำพิธีบูชาศาลพระภูมิ เป็นต้น
ฮู้ดบอกว่าแท้ที่จริงแล้ว สมองมนุษย์มีแนวโน้มว่าจะเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติตั้งแต่ลืมตาดูโลก เหตุเพราะสมองมนุษย์วิวัฒนาการมามองหา ‘แบบแผน’ (patterns) ในสภาพแวดล้อม และตีความแบบแผนในทางที่มีความหมาย มองหากลไกความเป็นเหตุเป็นผล (A ทำให้เกิด B) ที่สามารถอธิบายแบบแผนเหล่านี้ได้
สมองของเราทำแบบนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งโดยปกติแล้วมันก็ช่วยสร้าง ‘แบบจำลองธรรมชาติ’ ในหัวเราเกี่ยวกับโลก แต่บางครั้งมันก็อาจทำให้เราเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติได้เช่นกัน ซึ่งฮู้ดก็ย้ำว่า ‘เหนือธรรมชาติ’ (supernatural) โดยนิยามแล้วก็คือ ชุดคำอธิบายอะไรก็ตามที่ข้ามพ้นพรมแดนความรู้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลกธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจที่ว่านี้ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา เมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เช่น สมัยก่อนมนุษย์อาจเชื่อว่า ‘คางคกทำให้ฝนตก’ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าไม่ใช่ สองเหตุการณ์ที่เราเคยคิดว่ามัน ‘เป็นเหตุเป็นผล’ ของกันและกัน (causality) วันนี้เรารู้แล้วว่ามันแค่ ‘มีความเชื่อมโยงกัน’ (correlation) เท่านั้นเอง
ฮู้ดชี้ว่า ทั่วโลกมีคนจำนวนมากที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ คนที่นับถือศาสนาอาจอธิบายว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็น ‘พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า’ หรือยืนยันว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีวันอธิบายเรื่องเหนือธรรมชาติได้ เพราะมันอยู่นอกขอบเขตศักยภาพการรับรู้ของวิทยาศาสตร์ ขณะที่ผู้ไม่นับถือศาสนาแต่เชื่อเรื่องเดียวกันอาจมองว่า วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้ามากพอที่จะอธิบายเรื่องนี้เท่านั้นเอง วันหนึ่งในอนาคตวิทยาศาสตร์จะรุดหน้าจนอธิบายได้ ตัวอย่างความเชื่อยอดนิยมเช่น โทรจิต (ความเชื่อที่ว่าคนบางคนสามารถสื่อสารถึงกันทางจิต) เป็นต้น
เช่นนี้แล้ว ‘วิทยาศาสตร์’ แตกต่างจาก ‘ความงมงาย’ อย่างไร ในเมื่อต่างก็เชื่อใน ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างสิ่งต่างๆ ทั้งคู่ ?
ฮู้ดบอกว่า จริงอยู่ วิทยาศาสตร์อาจ ‘พิสูจน์’ ชนิดสิ้นสงสัยไม่ได้ว่าความเชื่อเหนือธรรมชาติล้วนแต่ ‘ไม่มีอยู่จริง’ แต่ความเชื่อหลายเรื่องไม่เอื้ออำนวยให้เราทดสอบหรือสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ได้เลย ในขณะที่วิทยาศาสตร์เดินหน้าด้วยวัฏจักรการตั้งสมมุติฐาน การคาดการณ์ และการพิสูจน์ว่ามันเป็นจริง (หรือไม่จริง) ความงมงายเดินหน้า (ถูกส่งต่อความเชื่อไปเรื่อยๆ) อย่างง่ายๆ เพียงด้วยศรัทธาว่า สิ่งต่างๆ เชื่อมโยงกันในทางที่เราไม่มีวันเข้าใจ และไม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ
มองจากมุมนี้ ปัญหาของ ‘ความงมงาย’ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามันจริงหรือไม่จริง เพราะความงมงายบางอย่างในวันนี้อาจกลายเป็น ‘ความจริงทางวิทยาศาสตร์’ ในอนาคตก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ใครก็ตามเสนอว่า ‘โลกกลม’ ในยุคกลางของเกรอลท์ ยุคที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ‘โลกแบน’ อาจถูกตราหน้าและเยาะเย้ยว่า ‘งมงาย’ แต่วันนี้กลับกัน
ปัญหาที่แท้จริงของ ‘ความงมงาย’ ทุกวันนี้ อยู่ที่การยืนกรานว่า ปรากฎการณ์ ‘เหนือธรรมชาติ’ บางอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยไม่เปิดรับต่อกระบวนการทดสอบและสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ เช่น อ้างว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีวันอธิบายได้หรอก แปลว่ามันต้องเป็นความจริงแน่ๆ ทั้งที่โดยตรรกะแล้ว อะไรที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แปลว่ามันอาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง ‘จริง’
Witcher 3 เต็มไปด้วยเรื่องราวที่กระตุ้นความคิดเกี่ยวกับความงมงาย ศาสนา ความเป็นเหตุเป็นผล และวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบมากคือ ในเควสท์ชื่อ “Defender of Faith” (ผู้พิทักษ์ศรัทธา) หญิงชราคนหนึ่งขอร้องให้เราช่วยซ่อมแซมไม้แกะสลักของเทพีเวอร์นา (Verna) เทพธิดาประจำท้องถิ่น ซึ่งเธอบอกว่าถูก “พวกเด็กบ้า” บางกลุ่มทำลายเสียหาย เธอเชื่อว่าถ้าไม่แก้ปัญหานี้ เทพีเวอร์นาจะล้างแค้น วัวของชาวบ้านและเด็กๆ จะป่วยเป็นโรคตาย
ถ้าเรายอมทำตามคำขอของหญิงชรา ไม่นานเราก็จะพบว่า “เด็กบ้า” ที่เธอพูดถึงคือกลุ่มนักศึกษา ‘หัวสมัยใหม่’ จากมหาวิทยาลัยอ็อกเซนเฟิร์ด พวกเขาให้เหตุผลว่า ที่ทำลายรูปไม้แกะสลักของเทพีเวอร์นาก็เพราะ “พระเจ้าและเทวดาทั้งหลายน่ะตายแล้ว เราเพียงแต่ขจัดซากศพ เถ้าถ่านที่ยังหลงเหลือของความงมงายเท่านั้นเอง …ศาสนาน่ะเป็นฝิ่นของมวลชน พระเจ้าตายแล้ว …ชาวบ้านกลัวศาสนากับนักบวชของพวกเขา ไม่ได้กลัวพระเจ้าจริงๆ และความกลัวนี้ก็ทำให้พวกเราติดกับอยู่ในอวิชชา เราจะต้องคิดค้นศีลธรรมใหม่ขึ้นมา หรือไม่ก็ขจัดศีลธรรมทิ้งไปให้หมด”
เราในฐานะเกรอลท์ฟังแล้วก็เลือกได้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าเราบอกให้พวกเขาทำอะไรก็ได้ตามสบาย แต่อย่าทำให้ทรัพย์สินของคนอื่นเสียหาย นักศึกษาก็จะท้าชกกับเรา ซึ่งเราก็ต่อยพวกเขาลงไปกองได้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย ราวกับเกมกำลังล้อเลียนทั้งฝ่ายประเพณีพื้นบ้าน และฝ่าย ‘หัวก้าวหน้า’ (ไอ้พวกปัญญาชนบนหอคอยงาช้าง ดีแต่อ้างคำพูดสวยหรูจากตำราหรืออาจารย์ ทำอะไรจริงไม่เป็น)
Witcher 3 วิพากษ์ความคิดของทุกฝ่ายตลอดทั้งเกม ส่วนหนึ่งผ่านบุคลิกของเกรอลท์ซึ่งมองโลกในแง่ร้ายและสัมฤทธิ์ผลนิยม (practical) เป็นหลัก เพราะโลกของเขาคือโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรที่พูดได้ว่า ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ สมบูรณ์แบบชนิดไร้ข้อสงสัย การโค่นกษัตริย์คนหนึ่งลงอาจได้ทรราชที่เลวพอๆ กันมาแทนที่ ลัทธินับถือผีของชาวบ้านถูกแทนที่ด้วย “โบสถ์แห่งเพลิงนิรันดร์” (Church of the Eternal Fire) ซึ่งประณามชาวบ้านว่างมงายคร่ำครึ แต่ตัวเองก็มีทีมนักล่าแม่มดที่ออกล่าและจับพ่อมดแม่มดเผาประจานกลางเมือง สัตว์ประหลาดกินคนหลายตัวในเกมดูมีหัวใจและจิตใจอ่อนโยน ขณะที่มนุษย์จำนวนมากทำตัวเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ฯลฯ
โลกของ Witcher 3 เต็มไปด้วยอันตรายนานัปการทั้งจากมนุษย์ สัตว์ และอมนุษย์ โลกที่เรื่อง ‘เหนือธรรมชาติ’ ทั้งมวลเป็นความจริง และชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความแตกต่างระหว่างชีวิตกับความตายบอบบางยิ่งกว่าเส้นด้าย เพียงทำอะไรขัดหูขัดตาผู้มีอำนาจก็อาจถูกฆ่าล้างโคตรได้ง่ายๆ
ในโลกแบบนี้ ‘ความงมงาย’ อาจไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่เป็น ‘เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ’ ที่จำเป็นต่อการรวบรวมพลังชีวิตให้เอาตัวรอดไปวันต่อวัน
โลกปัจจุบันของเรามาไกลมากจากโลกของเกรอลท์ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อในยุคกลาง แต่ด้วยเหตุผลเดียวกัน ยิ่งเรารู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คาดหวังความยุติธรรมไม่ได้ อาจถูกกลั่นแกล้งโดยไม่รู้ตัว เรายิ่งควรคาดหวังว่าจะได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ ที่สะท้อน ‘ความงมงาย’ มากกว่าในสังคมที่ชีวิตแน่นอนกว่า เป็นเหตุเป็นผลกว่า
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ระหว่างทำเควสต์ชื่อ “Family Matters” (เรื่องของครอบครัว) ต้องทำพิธีแปลงร่าง บอทช์ลิง (Botchling) เป็น ลับเบอร์คิน (Lubberkin คล้าย ‘ลูกกรอก’ สไตล์ยุโรปตะวันออก) เกรอลท์ขอให้บารอนเจ้าเมืองไปบอกประชาชนว่า คืนนี้อย่าออกมาข้างนอก ให้ซ่อนตัวอยู่ในบ้าน โรยเกลือหน้าประตูบ้านเป็นเส้นตรง เผื่อว่าปีศาจหรือผีจะโผล่มา
เกรอลท์รู้ดีว่า การโรยเกลือกันผีไม่ได้จริง แต่การทำตามความเชื่อนี้จะทำให้ชาวบ้านอุ่นใจ ช่วยให้เขาทำพิธีได้อย่างราบรื่น