ดูจบเพิ่งจะรู้ว่า The Worst Person in the World (2021) ไม่ใช่หนังเดี่ยว แต่เป็นหนังปิดไตรภาค Oslo ที่เล่าเรื่องในเมืองออสโลประเทศนอร์เวย์ ของผู้กำกับ ยัวคิม เทรียร์ (Joachim Trier) ที่อยู่ในจักรวาลเดียวกับ Reprise (2006) กับ Oslo, August 31st (2011) ทั้งสามเรื่องเหมือนกันตรงที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่มี ‘โอกาส’ ที่แตกต่างกัน
แต่การที่ไม่รู้มาก่อนและไม่ได้ดูหนังสองเรื่องแรก (แต่หลังจากได้ดูเรื่องนี้และสัมผัสได้ถึงความถูกโฉลกกับมู้ดแอนด์โทนก็เกิดความต้องการที่จะตามไปเก็บแล้ว) กลับกลายเป็น privilege ในอีกทางหนึ่ง เพราะนอกจากจะไม่เกิดการเปรียบเทียบ ระหว่างดูก็รู้สึกเหมือนตัวเอกของหนังที่เต็มไปด้วยความไม่รู้กับหนทางข้างหน้า และตัวหนังเองก็เป็นภาคต่อกึ่งหนังเดี่ยวที่สมบูรณ์ในตัวเอง แบบที่ไม่ได้อ้างอิงหรือต้องพึ่งพิงหนังเรื่องอื่น แต่ก็ยังไม่ทิ้งลายการขับเน้นประเด็นด้วย time & space บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครเล็กๆ ใช้เวลาและช่วงชีวิตที่แตกต่างกันในเมืองอันกว้างใหญ่
การใช้เมืองออสโล (Oslo) ในการเล่าเรื่องเป็นครั้งที่สามโดยที่สองเรื่องก่อนหน้าแตกต่างเป็นหนังคนละม้วน ก็เพื่อที่จะบอกว่า โอกาส เวลา และสถานที่ ณ เมืองแห่งนี้มีให้เท่ากัน แต่อยู่ที่ใครจะใช้สามสิ่งที่มีค่าเท่ากันสำหรับทุกคนนี้ได้อย่างคุ้มค่าเพียงใด รูปแบบไหน และนำมันมาต่อยอดไปสู่สิ่งใดได้บ้าง นี่คือโจทย์ที่ผู้กำกับโยนให้ตัวละครขบคิดอย่างไม่ประนีประนอม
บง จุนโฮ (Bong Joon-Ho) ผู้กำกับหนัง Parasite กล่าวกล่าวสปีชหนึ่งในเวทีออสการ์ปีที่เขาได้รับรางวัลจากหนังเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเอาชนะกำแพงหนาหนึ่งนิ้วของซับไตเติ้ลได้ คุณจะพบว่ามีหนังอัศจรรย์อีกมากมายหลายเรื่องบนโลกใบนี้” คำกล่าวนี้จริงบางส่วน ตรงที่เมื่อเราเอาชนะในแง่ ‘มองข้ามว่าเรื่องนั้นๆ เป็นหนังต่างประเทศ’ เราจะได้ดูหนังดีๆ อีกมาก หรือได้ดูซีรีส์เยอรมันอย่าง Dark กับซีรีส์พูดภาษาสเปนอย่าง Narcos
แต่หากมองในทางกลับกันถึงคำว่า ‘กำแพง’ เราสามารถมองว่าหรือยอมรับให้ซับไตเติ้ลเป็นเครื่องมือที่เปรียบดั่งสะพานเชื่อมเราไปยังหนังซีรีส์อัศจรรย์เหล่านั้นได้เช่นกัน และ The Worst Person in the World หนังรอมคอม coming-of-age ที่เข้าชิงออสการ์สองสาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในฐานะคู่แข่งสำคัญของ Drive My Car กับบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม คือหนึ่งในหนังเรื่องนั้น
The Worst Person in the World เกี่ยวกับ ยูลี (Julie) หญิงสาววัย 29 (หรือวัยก้ำกึ่งก่อนจะถึงอายุ 30 ที่คนมักจะนิยามว่าเป็นตัวเลขที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว) ผู้ตามหาตัวเองเรื่อยๆ ในฐานะคนที่ทำได้ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง และมีความสามารถพอ ยูลีเคยเรียนแพทย์ด้วยเกรดที่ถึงและเพราะมันดูเป็นอะไรที่โก้เก๋ เก่ง ฉลาด ใช้ความพยายาม และดูยอดเยี่ยมในสายตาของสังคม
ก่อนที่จะเปลี่ยนใจเรียนจิตวิทยาเพื่อตอบสนองความชอบตัวเอง เพราะรู้สึกชอบเรื่องของจิตใจมากกว่าร่างกายภายนอก แต่ก็ใช้เวลาระหว่างนั้นทำงานชั่วคราวที่ร้านหนังสือพร้อมกับเรียนคอร์สถ่ายรูปไปด้วย จนอยากเป็นช่างภาพอีก และเส้นทางที่เธอเลือกนำพาเธอไปเจอกับชายคนรัก อักเซล (Aksel) ไม่พอ ยังนำเธอไปเจอกับชายคนที่รู้สึกว่ารักอีกคนอย่าง ไอวินด์ (Eivind) ในเวลาเดียวกันอีกด้วย นำมาสู่สิ่งที่เธอเลี่ยงและไม่อยากทำที่สุด นั่นคือการตัดสินใจเอาแน่เอานอนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
The Worst Person in the World เล่าเรื่องแบบน่ารักๆ โทนดูอบอุ่นหัวใจที่เคล้าไปกับบรรยากาศและความสโลว์ไลฟ์ของเมืองออสโล เมืองที่รถไม่ติด ผู้คนเป็นมิตร ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหนาวเหน็บอย่างบอกไม่ถูก อีกทั้งบางช่วงบางตอนก็สอดแทรกไปด้วยการเล่าเรื่องที่มีสไตล์เซอร์เรียลอย่างตั้งตัวไม่ทัน แต่วิธีการเหล่านั้นก็เหมือนเป็นแก้วใส่น้ำหลากสีของสตาร์บัคที่ทำเอาน้ำที่อยู่ข้างในดูเป็นสีๆ ไปด้วย แต่ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงที่ว่านั่นคือน้ำเปล่า หรือน้ำชนิดใดก็ตามที่มีรสชาติของมันเองอยู่แล้ว
สไตล์เหล่านั้นคือความต้องการที่จะกล่าวถึงสิ่งที่อยู่ในใจยูลี ไม่ว่าจะเป็นเมื่อคิดถึงใครคนหนึ่งแล้วโลกเหมือนหยุดหมุน, ช่วงเวลาแห่งความเมาหลอนที่นึกถึงสิ่งที่ตัวเองขาดหายไปอย่างพ่อ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกอยากผลักไสไล่ส่งหรือทำอะไรซักอย่างให้เขารู้สึกเจ็บ หรือในวินาทีที่จุดประกายที่นำไปสู่การนอกใจได้เกิดขึ้น คนดูอย่างเราๆ ก็สามารถสัมผัสไปถึงความคิด ความต้องการในตัวอีกคน กับความปรารถนาที่ตลบอบอวลคละคลุ้งไปทั่วได้ อีกทั้งหนังยังเปิดโปงความรู้สึกกับอารมณ์ด้วยการให้คนดูถึงเนื้อถึงตัวตัวละคร เหมือนที่ตัวละครถึงเนื้อถึงตัวกันเอง ไปยันบทพูดที่อาจดูหลุดโลกและไม่น่าเชื่อไปบ้าง แต่ก็สมจริงอย่างน่าประหลาด และเชื่อมโยงตัวละครเข้าหากันกับผลักไสตัวละครออกจากกันอย่างได้ผล
นอกจากนี้อีกจุดเด่นนึงของหนังคือการเล่าเรื่องเป็นบทๆ ทั้งหมด 12 บท โดยที่เราไม่รู้เลยว่าบทนั้นๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต่อให้รู้มาก่อนแล้วว่าแต่ละบทมีชื่อว่าอะไรก็ตาม หนังแสร้งทำตัวเป็นหนังสือชื่อ ‘ยูลีในเมืองออสโล และโลกใบนี้ที่ 1 ปีมี 12 เดือน’ ด้วยการกำหนดจำนวนบทมาให้เท่านี้ และมันอาจดูเป็นเพียงหนึ่งบทที่ผ่านไป หนึ่งบทที่มาถึงแล้ว และหนึ่งบนที่กำลังจะมาถึง แต่เนื้อในใจความของบทเล่านี้ไม่ได้ต้องการบอกว่ามันผ่านไปนานเท่าไหร่ แต่ในระหว่างเท่าไหร่นั้นแหละ มีรายละเอียดอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เรื่องราวของยูลีคือเรื่องราวการทำตามอำเภอใจของหญิงคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความชิลล์ มีความเสี่ยงเป็นสิ่งเร้าใจในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องการความมั่นคงบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันอีก ก็ไม่พร้อมที่จะลงหลักปักฐานไปกับเวลา สถานที่ และโอกาสที่ได้
ซึ่งเมื่อพูดถึงช่วงอายุและวัยจะ 30 ก็ชวนให้นึกถึงหนังที่เข้าฉายปีเดียวกันอย่าง tick, tick… BOOM!(2021) ที่รับบทโดยหนุ่มอเมซซิ่ง แอนดริว กาฟิลด์ (Andrew Garfield) ที่พูดประเด็นที่อาจดูคลับคล้ายคลับคลาในเรื่องของโลกบังคับให้เราต้องโตและเลือก หนังเรื่องนี้มีให้เห็นในแง่มุมนั้นเช่นกันผ่านคำถามของตัวละครยูลีที่ดูจะถามตัวเองเป็นวรรคๆ ช่วงๆ กับฉากฉากหนึ่งที่ไล่เรียงตั้งแต่แม่ ยาย ทวด ทวดของทวด และทวดของทวดของทวด ว่าตอนที่พวกเขาอายุ 30 พวกเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ มีลูกกี่คน และยึดโยงอยู่กับความมั่นคง/ไม่มั่นคงแบบไหนไปแล้ว
ทั้งสองเรื่องแตกต่างตรงที่ tick, tick… BOOM! พูดถึง โจนาธาน ลาร์สัน ชายที่มีเป้าหมายชัดเจนและต้องการความแน่นอน แค่ว่าเขายังทำมันไม่ได้ ในขณะที่ยูลีเป็นคนที่หวาดกลัวไม่แพ้โจนาธาน
แต่แม้จะพูดออกมาโต้งๆผ่านพฤติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ ‘เลือก’ แล้ว เช่น เจอแฟนและย้ายไปอยู่ด้วยกัน หรือตัดสินใจยังไงก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนใจได้ เมื่อดูหนังเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็พบว่ายูลีไม่ได้หวาดกลัวว่าอายุเท่านี้เธอยังเลือกไม่ได้ แต่เพราะสิ่งที่เธอหวาดกลัวกว่าคือการที่จะต้องเลือกต่างหาก การเลือกขัดกับอุดมการณ์ชีวิตสไตล์เสรีชนของเธอโดยสิ้นเชิง สำหรับยูลีแล้วเธอไม่เคยมั่นใจเลยว่า ตัวเลือกที่ตัวเองเลือกนั้นถูกต้องหรือไม่ และเป็นคนประเภทที่ว่า ถ้าไม่ได้เลือกจะเสียดาย แต่พอเลือกแล้วก็เสียดายที่จะไม่ได้เลือกอย่างอื่นเช่นกัน
แม้จะเป็นเรื่องราวของการนอกใจและความปรารถนา แต่ก็ต้องยอมรับสารภาพแต่โดยดีว่าการที่หนังเล่นกับเรื่องของศีลธรรมและรู้สึกอินไปกับเรื่องราว ก็ได้ทำให้เกิดความสองจิตสองใจว่าจะเห็นดีเห็นงามไปกับยูลีที่ซื่อตรงกับความรู้สึกตัวเองดีหรือไม่ หรือควรสงสารอักเซลที่ต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้
The Worst Person in the World ไม่ได้เป็นหนังที่ romanticize การนอกใจ แต่นำเสนอสองสิ่งเท่าๆ กัน คือความเป็นสสารที่รวนเร เอาแน่เอานอนไม่ได้ของยูลี (ที่ตัวเธอเองก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือรู้ใจตัวเอง 100%) กับการที่กำหนดให้ตัวละครนี้เป็นตัวละครเทาๆ มีมิติเพียงพอที่เราไม่อาจตัดสินได้ว่าเธอทำถูกหรือผิดที่ทิ้งคนคนหนึ่งที่รักเธออย่างอักเซล ชายอายุ 44 ที่ดูจะเข้ากันดีแต่ถูกคั่นกันด้วย generation gap, ทัศนคติ, แนวทางการใช้ชีวิต และการให้ค่าต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อไปหาไอวินด์ที่ดูจะอยู่รุ่นราวคราวเดียวกัน เข้ากันได้มากกว่า และมีแฟนเก่าที่มีช่องว่างระหว่างกันด้วยไลฟ์สไตล์ที่ไม่อาจรับได้ไม่ต่างจากยูลี
สุดท้ายแล้วยูลีคือตัวละครที่มักจะนำพาด้วยสัญชาติญาณและความชื่นชอบ ณ เวลานั้น ที่จะให้ค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างกันออกไปและสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เมื่อเธอรู้สึกว่าไม่ใช่ เธอก็เดินออกมา นี่คือการเปรียบเทียบก็จริงอยู่ แต่ก็เช่นเดียวกับที่ในหนัง เราจะเห็นเธอเดินออกจากงานนิทรรศการไปยังงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งแบบเดินดุ่มๆ เข้าไปโดยไม่ได้มีใครเชิญ แต่นั่นกลับเป็นความรู้สึกที่ว่า การเดินเข้าไปแบบนั้นและสิ่งที่ได้พบที่นั่น (ไอวินด์) คือที่ทางและวิถีของเธอและมันทำให้เธอสบายใจกว่า และแม้เธอจะพยายามต้านมันหรือตัดขาดด้วยวิธีการใดก็ตาม บททดสอบก็ได้เข้ามาให้เธอต้องเลือก ซึ่งแน่นอนว่าคือของแสลงของยูลี
ยูลีจึงมองตัวเองเป็น ‘คนที่เลวร้ายที่สุดในโลก (The Worst Person in the World)’ เธอเลวร้ายยิ่งกว่าคนที่เธอมองว่าฉลาดน้อยกว่าตัวเองซะอีก ตรงที่ไม่สามารถตัดสินใจเลือกอะไรได้เลย (และก็ไม่อยากเลือกด้วย) และดูเหมือนการตัดสินใจของเธอด้วยสัญชาติญาณนั้นก็รังแต่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนอื่นในทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เธอรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ไม่ดีพออีกต่อไปแล้ว
แต่คำว่าโลกนั้นอาจต้องมีการอธิบายและขยายเพิ่มกันซะหน่อย เพราะเราอาจคิดว่าโลกของเราเป็นโลกหนึ่งใบ แต่อันที่จริงยังมีโลกซ้อนทับกันอีกมากมายนับไม่ถ้วน คือโลกประเภท ‘โลกของฉัน โลกของเขา และโลกของเรา’ ที่ขึ้นอยู่กับมุมมอง เราสามารถเป็นคนที่ดีที่สุดในโลกของคนอีกคนได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นคนที่ดูชั่วช้าสามานย์หรือใจไม้ไส้ระกำที่สุดของอีกคนได้ในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราได้สร้างความทรงจำแบบไหน ไว้กับใครคนไหน และเราได้ประทับตราภาพลักษณ์และความเป็นตัวเองแบบไหนในความทรงจำของคนคนหนึ่ง รวมไปถึงประทับอย่างครบด้านและเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ด้วยเช่นกัน
โลกเหล่านี้ต้องการการข้ามเกี่ยวไปทับกัน เหมือนแผนภาพเวนน์-ออยเลอร์สมัยเราเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มเติมที่เป็นส่วนอินเตอร์เซค (ซ้อนทับ) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนสองคนจะต้องเหมือนกันไปทุกอย่าง แต่มีเพียงทั้งคู่เท่านั้นที่จะตอบได้ว่าแต่ละคนต้องการให้ส่วนไหนอินเตอร์เซคกันหรืออินเตอร์เซคมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่ดีได้และเหมือนเรือที่ข้ามผ่านมหาสมุทรจนถึงฝั่ง โดยที่ยูลีก็ดูจะได้คำตอบของตัวเองว่าเธอมีโลกของตัวเองที่มีความอินดี้ (independent) หรือปรารถนาความปลีกวิเวกแยกเดี่ยวมากกว่าที่คิด ซึ่งกว่าจะรู้ตัว เธอก็ได้สูญเสียและพาอีกคนสูญเสียทั้งเวลาและโอกาสไปเสียแล้ว
มีคำพูดหนึ่งตอนต้นเรื่องที่ยูลีได้เจอกับอักเซลครั้งแรกและทั้งสองกำลังหารือกันว่าจะสานต่อความสัมพันธ์ทางกายต่อหรือไม่ เพราะถ้าสานต่อมันจะไม่หยุดแค่นี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็จบลงด้วยคำพูดที่ว่า “Let f*ck (มามีอะไรกันเถอะ)” แล้วก็นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่รู้ลึกๆ ว่ามีแววเรือล่ม แต่ระหว่างทางก็คุ้มค่าที่ได้ลอง ปลายทางคือทั้งสองคนเสียใจเหมือนกัน แค่ต่างกันที่สองคนนี้คนนึงเสียใจแต่อยากกลับไป แต่อีกคนเสียใจแต่ไม่เสียดาย
อักเซลพูดกับยูลีว่า “จะไม่มีใครเข้าใจเธอเหมือนกับที่ฉันเข้าใจเธออีกแล้ว” และก็เป็นเช่นนั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือยูลีจะเข้าใจตัวเองหรือไม่ หรือต่อให้เข้าใจ จะจัดการยังไงกับความเข้าใจนั้น เธอดูเหมือนจะปฏิเสธทั้งหมดนั่นและเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้โดยไร้แรงกดดัน ไม่ว่าจะจากภายนอกหรือจากตัวเอง เนื่องจากเธอเจอมาหมดแล้ว คือ ‘คบชายคนหนึ่ง > เลิกกับเขาด้วยเหตุผลของความขาดและเกิน > คบอีกคนหนึ่ง’ และเธอก็ได้ตั้งคำถามกับลำดับต่อไปว่าอยากให้ชีวิตเป็นเช่นไร จะวนอย่างนี้อีก ตามหาสิ่งที่ขาดหายจากอีกคน และเมื่อถึงเวลาก็โหยหาสิ่งที่คนเก่ามีไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น หรือพอแค่นี้
เธอเลือกได้ว่าอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นหนัง coming-of-age หรือหนังลูปแบบหนังไซไฟ และก่อนนี้จะเข้าไปเติมเต็มใครหรือต้องการให้ใครมาเติมเต็มความรัก ความสุข ความพึงพอใจ ยูลีจะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ารูที่ต้องการให้เติมคือรูอะไร และใคร คนแบบไหน ที่จะเติมเต็มรูนี้ได้ เป็นเธอ หรือคนรักกันแน่
ยูลีดูจะเป็นคนประเภท ‘เป็ด’ คือรู้ตัวว่าทำได้หลายอย่างและสนใจอะไรก็จะลองทำเพื่อให้ตัวเองไม่เบื่อ แม้จะดีไม่สุดแต่ก็ทำมันได้ดี ซึ่งในพอดแคสต์ต่างๆ ต่างก็มองว่าเป็นคุณลักษณะที่ไม่ได้แย่ในยุคนี้ แต่บุคลิกของเธอที่เป็นคนแต่เบื่อเรื่องที่กำลังศึกษาหรือให้ความสนใจง่าย ก็แสดงให้เห็นถึงนิสัยใจคอของเธอเช่นกันว่าการเป็น ‘เป็ด’ ลามมาถึงในเรื่องของความสัมพันธ์และชีวิตคู่เช่นเดียวกัน แต่มันกลับเป็นวิถีที่ไม่ได้สอดรับหรือเวิร์กเหมือนเรื่องงานซักเท่าไหร่นัก หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ดีเท่าไหร่ถ้าคนเราจะเป็นเป็ดด้านความรัก ทั้งกับตัวเองและกับใครอีกคน
The Worst Person in the World เป็นหนังที่มีข้อความที่ต้องการบอกเป็นสิ่งเดียวกับคำถาม คำถามที่จะทำให้คนดูได้นำไปขบคิดต่อตามทัศนะของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ งาน ชีวิต หรือความสัมพันธ์ ที่เราต้องการเป็นไปในทิศทางไหน สิ่งหนึ่งที่ยูลีแสดงให้เราเห็น และเป็นคุณค่าที่เราได้จากหนังเรื่องนี้ คือไม่ว่ามันจะเป็นทางแบบไหนและสังคมมองว่ายังไง สำคัญที่สุดคือการที่เรารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกและควรกับตัวเอง หรือเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลกับคนอื่นหรือไม่ มากน้อยเพียงไร และอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดหรือทางออกที่เข้าท่าที่สุดที่จะทำได้ในตอนนั้น