‘เพื่อไทยแลนสไลด์’ คือยุทธศาสตร์ และเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่หวังจะได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงให้ได้
แต่ไม่เพียงการประกาศแผนแลนสไลด์ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่จังหวัดขอนแก่น ยังมีการเปิดตัวแคมเปญสโลแกนต่างๆ เช่น ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน’ หรือการปรับสีโลโก้ เปิดตัวคณะกรรมการบริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไปถึงการเปิดตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่ทำให้ ส.ส.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค
The MATTER พูดคุยกับหัวหน้าพรรคคนใหม่ล่าสุดของเพื่อไทย ถึงการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ของพรรค เป้าหมายการรีแบรนด์ และการแลนสไลด์ การเข้ามาของแพทองธาร ที่ถูกมองว่าเป็นการกลับมาของตระกูลชินวัตร ไปถึงวาทกรรมที่คนวิจารณ์พรรคว่าสู้ไปกราบไป
คุณหมอก็เป็น ส.ส. มา เคยเป็นรัฐมนตรีมา ตอนนี้เป็นบทบาทใหม่ เป็นหัวหน้าพรรค บทบาทนี้มีความท้าทายอะไรบ้าง
หัวหน้าพรรคการเมือง ถือเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่ท้าทายมากนะ โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยเนี่ยนะครับ มันเป็นระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระบบได้ คุณต้องได้รับอาณัติ ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนที่จะมาใช้อำนาจแทนพี่น้องประชาชนในสภา เพื่อสร้างคืนสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่พี่น้องประชาชนและประเทศชาติโดยรวม พรรคการเมืองเลยมีความสำคัญมาก มันก็เลยเป็นตำแหน่งที่มีความท้าทาย มีความสำคัญในการที่จะนำพาพรรคการเมือง หรือองค์กรทางการเมืองของตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่ทุกคนให้ความไว้วางใจที่จะมอบอำนาจให้ และใช้อำนาจในการบริหารประเทศ จัดสรรผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน ตรงนั้นคือความท้าทาย
นอกจากการที่จะได้อำนาจแล้วเนี่ย ในการที่ติดตามการตรวจสอบการใช้อำนาจ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ในการที่จะรักษาความมั่นคง ความเป็นความอยู่ของพรรคการเมืองก็เป็นหน้าที่ที่ท้าทาย ไม่ใช่มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่สองปีแล้วถูกยึด พูดง่ายๆ ก็คือทำอย่างไรให้องค์กรการเมืองของตัวเองเนี่ย มีความเป็นสถาบันทางการเมือง หนึ่งในนั้นเนี่ยแน่นอนคือความอยู่รอด ความมั่นคง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ พรรคการเมืองต้องปรับตัวได้ จะเปลี่ยนกรรมการบริหาร เปลี่ยนหัวหน้าพรรค ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะฉะนั้น เราเลยมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอดได้ มันเป็นเงื่อนไขหนึ่งของสถาบันทางการเมือง แน่นอนว่าภายใต้การบริหารจัดการที่มีโครงสร้างซับซ้อน มีความสัมพันธ์ระหว่างมิติของการใช้อำนาจ มีการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และความเป็นเอกภาพในเชิงนโยบาย อันนี้จะวัดความเป็นสถาบันทางการเมือง นี่คือหน้าที่ที่ท้าทายที่ต้องทำ
นอกจากหัวหน้าพรรคที่ปรับเปลี่ยนแล้ว พรรคก็มีการรีแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ มีแบบสโลแกนใหม่ มองเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร และอยากให้ประชาชนมองพรรคที่รีแบรนด์ใหม่นี้อย่างไรบ้าง
ก็ต้องตอบแบบไม่เหนียมอาย หนึ่งคือความอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมาก ถ้าเราไม่ปรับตัวนะ เราจะไปไม่รอด พรรคเพื่อไทยจาก 134 เสียง อาจเหลืออยู่ 50 เสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลง เหมือนว่าเรามองไม่เห็น แต่ว่าพอเจาะลึกไปปุ๊บเนี่ย วิธีการเปลี่ยนแปลง เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของวิธีคิด การสื่อสารทางการเมืองมันเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารทางการเมือง มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้เห็นกันหมดเลยว่า พรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร เมื่อก่อนนี้ คอยฟังข่าวคอยดูจากแถลงข่าว แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนเขาถึงได้ เพราะงั้นการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นกระแสเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ เพื่อตัวเองให้อยู่รอด
สองก็แน่นอนว่าเป้าหมายเราคือการช่วยพี่น้องประชาชน โดยใช้ว่า ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน’ เราเห็นสภาพปัญหา เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีภายใต้รัฐบาลที่เขายึดอำนาจ ประชาชนขาดโอกาสมาก ถูกปิดบัง ปิดกั้น ถูกซ่อนงำหมด พลังสมองความคิดต่างๆ เนี่ยใช้แทบไม่ได้เลย คิดต่างก็ผิดแล้ว อันนี้คือข้อจำกัดของการพัฒนาประเทศ ในอีก 15 ปีข้างหน้าเนี่ย รู้หรือเปล่าว่าคนรุ่นนี้ คนรุ่นเจน Z เนี่ยจะเป็นคนรุ่นที่สร้างกำลังการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศชาติเกินกึ่งอะ เพราะงั้นเราไม่ปรับไม่ได้ คนพวกนี้เขามีพลังมาก ถ้าสมมติเราไม่ปรับเปลี่ยนเนี่ย พูดง่าย ประเทศเราอาจไม่มีชื่ออยู่ในแผนที่โลก ก็มีอยู่แต่คนไม่พูดถึงกันแล้ว มันก็เลยมีความจำเป็นที่เราต้องปรับ ปรับเพื่อจะบอกพี่น้องประชาชนว่า ถ้าคุณอยากจะอยู่และมีโอกาสเ ราเสนอโดยการที่ปรับเปลี่ยนตัวเราเองให้คุณได้รู้ได้เห็นว่าเราจะทำอะไร มีผลกระทบกับคุณอย่างไร
เรารีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์เชิงสัญลักษณ์การสื่อสาร โลโก้พรรคก็ยังเป็นสีน้ำเงิน-แดงนี้อยู่เหมือนเดิม อันนี้เป็นตามที่จดทะเบียนใน กกต. แต่ว่าสิ่งที่เรารีแบรนด์เนี่ย เราต้องการให้ภาพมันเกิดถูกตาต้องใจ สีสันง่าย ความหมายชัด สีแดงคือความมุ่งมั่น ความหวังที่จะพุ่งไปในอนาคต อย่างฮึกเหิมห้าวหาญ แน่นอนสีขาว สิ่งที่เป็นสิ่งที่ดี บริสุทธิ์ เสรีภาพ เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้าง ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่เราใช้คำว่า disrupt อะ เราต้องหยุดปิดกั้นตัวเอง อันเก่าๆ หยุดแค่นี้นะ เพื่อรองรับสิ่งใหม่ ปรับโครงสร้างการบริหาร
เรื่องของเหมือนกับเนื้อหาสาระ หรือตัวนโยบายที่จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชน มันเหมือนกับการ reform เรื่องของประเด็น เนื้อหาสาระ ตัวนโยบาย กระบวนการคิด การนำมาซึ่งนโยบาย กระบวนการที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดการทำนโยบาย ได้นโยบายแล้วลงไปสื่อสารไปทำในพื้นที่ ไม่เน้นขายอุดมการณ์ เพราะว่าขายแล้วมันไปไม่ได้ มันต้องมีทั้งอุดมการณ์ มีทั้ง vision มีวิสัยทัศน์ เป้าหมายชัด และที่สำคัญคือมีการปฏิบัติรองรับ สามอย่างมันต้องไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เราคาดว่ามันจะต้องเป็นไปในสิ่งที่เรากำลังพยายามทำให้ได้ บนหลักพื้นฐานที่สำคัญคือการมีส่วนร่วม ถ้าพี่น้องประชาชน คนส่วนใหญ่เห็นว่าเราน่าจะเป็นความหวังของเขา เขาจะมาเทคะแนนให้พวกเรา เราถึงบอกว่าเพื่อไทยแลนสไลด์ไงครับ
ทำไมถึงต้องตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะแลนสไลด์ให้ได้ในเลือกตั้งครั้งนี้
ถ้าไม่แลนสไลด์เราทำอะไรไม่ได้จริงๆ ภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ ถ้าพี่น้องประชาชนไม่ให้อาณัติแบบแลนสไลด์เนี่ย มันก็ไปติดกับดักของตัวรัฐธรรมนูญ ตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรื่องของคนที่ได้เป็นนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกของพี่น้องประชาชนที่เข้าตั้งระบบไว้เนี่ย ถ้าเราสามารถบอกกับพี่น้องประชาชน แล้วเขาเชื่อมั่นอย่างนั้น ว่าถ้ามาทำงานร่วมกับเรา สิ่งนั้นมันจะถูกปิดกั้นไป การเมืองจากภาวะไม่ปกติเนี่ย มันจะเข้าสู่ระบบปกติของประชาธิปไตย คือเป็นเสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ขณะนี้เนี่ยมันแอบอ้างว่าเสียงส่วนใหญ่ปกครองประเทศ แต่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่พยายามใช้กลไกเทคนิค คุณเป็นเสียงข้างน้อย แต่พยายามรวบรวมอย่างไรก็ได้ให้ได้จำนวนมากพอมาบริหารประเทศ มันไปได้ไหม สภาล่มแล้วล่มอีก
ไม่เคยคิดอะไรที่มันจะเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศเลยอะ นโยบายที่เขาแถลงไว้ ใช้ได้น้อยมาก เกือบสี่ปีแล้วนะ คือการที่เรามาเป็นรัฐบาลเนี่ย เราต้องมาบอกประชาชนว่าเรามา และเราจะทำอะไรให้กับประชาชน เราจะใช้เครื่องมืออะไรผ่านนโยบาย เมื่อได้รับการเลือกมาทำหน้าที่เป็นเสียงข้างมากแล้ว ผลักมาเป็นกฎหมายถูกไหม มาทำกฎหมายรองรับเป็นเครื่องมือในการบริหาร เพราะระบอบประชาธิปไตยเนี่ย ต้องยึดหลักการบริหารไปตามหลัก rule of law หลักยุติธรรม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ก็ต้องอาศัยสภาไง
4 ปีมานี้สภาเคยออกกฎหมายอะไรให้รัฐบาลชุดนี้ไปทำ ที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนบ้าง แทบไม่มีเลยนะ กฎหมายปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษาก็เพิ่งเข้า จะหมดสมัยแล้ว มันจะบังคับใช้ทันเหรอ ผมเปรียบเทียบให้ ปี 44 ตอนผมเป็น ส:ส. ครั้งแรก พรรคไทยรักไทยบอก 30 บาทรักษาทุกโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พอเป็นรัฐบาลปุ๊บ ปี 45 ปรับใช้เลย ทุกคนได้รับจากนโยบายที่บอกไว้ มันก็เลยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ไง มันปฏิบัติได้
มั่นใจแค่ไหน หรือมีความท้าทายอะไรในการไปสู่เป้าหมายการแลนสไลด์
เราประกาศเรื่องของเจตจำนงและทางเดินเข้าสู่คำว่าแลนด์สไลด์ ซึ่งคือเป้าหมาย เรามีทางเดินเข้าสู่เป้าหมายตรงนั้น เราเลยมีความมั่นใจ แต่มันอยู่ที่เราว่าเราจะทำยุทธศาสตร์เข้าสู่เป้าหมายได้อย่างไร ที่ได้รับการยอมรับและขับเคลื่อนได้ อันนี้เรามั่นใจ เพราะว่าเราวางเชิงในเรื่องของแนวทางในการบริหารจัดการตรงนี้ ยุทธศาสตร์ตรงนี้ไว้ชัด กลไกที่ในอดีตที่เรามีประสบการณ์ นโยบายที่เราคิดค้นเอาไว้ที่ใช้ได้ผลนะครับ แล้วเอาพลังในอนาคตเนี่ยของคนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่ มาเป็นพลังขับเคลื่อนสู่อนาคต มารวมกัน โดยอาศัยกลไกของผู้บริหาร อย่างเช่นกลุ่มพวกผมเนี่ย มีผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารของพรรคเนี่ยเป็นองค์กรขับเคลื่อน
เราเอาอดีตที่ประสบความสำเร็จแล้ว เอาอนาคตที่เป็นความหวังบนเป้าหมายชัดมาวางไว้ และขับเคลื่อนไปตามยุทธศาสตร์ที่จับต้องได้ในปัจจุบัน นโยบายเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็วางแนว 10 กลุ่ม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา นวัตกรรม เทคโนโลยี ผ่านกระบวนการการคิดค้นจัดทำนโยบายผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แล้วถึงมาอยู่ที่กรรมการบริหารประกาศขับเคลื่อน ตรงนี้มันจะเป็นตัวชี้นำ เป็นเครื่องหมายหรือเครื่องมือในการขับเคลื่อน ตัวนโยบายที่เราได้
เช่น คุณแพทองธาร เข้ามาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม คือคนรุ่นใหม่เนี่ยนวัตกรรมเขาก็จะพยายามผลิตออกมา เรื่องการศึกษา เรื่องเทคโนโลยี เรื่องการสื่อสาร เรื่องของ soft power เรื่องของนวัตกรรมใหม่ด้านการสื่อสาร นวัตกรรมใหม่ทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่เรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง soft power น้องๆ ที่มาร่วมคิดร่วมทำหรือ เราก็มาแปลงให้มันสอดคล้องเหมาะสม ประกาศเป็นนโยบายและนำลงไปขับเคลื่อนในพื้นที่ พอเราได้รับเลือกตั้งปุ๊บ ขับเคลื่อนเลย เราต้องทำอย่างนี้ ก็เลยมั่นใจว่า ตัวนโยบายเนี่ยเราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
ทีนี้เรื่องที่สองเนี่ย เราจะเข้าสู่เป้าหมายนี้ไม่ได้เลยนะครับ ถ้าเขาเห็นตัวผู้บริหาร คือคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเนี่ย เขาไม่เห็นตัว เขาไม่วางใจ ฉะนั้น เราก็มั่นใจเรื่องของคน เราก็นำเสนอเรื่องของคนให้พร้อม และช่องทางที่สามเราก็อาศัยทางที่เป็นจุดแข็งของเรา เรื่องการสื่อสารทางการเมือง เรามีเครือข่ายอยู่ทุกถิ่น เรามี ส.ส. พื้นถิ่นอยู่ 134 เพราะงั้นต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ขยายไป 400 อันนี้เราก็มั่นใจว่าถ้าเราบวกทุกอย่างเข้าด้วยกัน และขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นประเด็นที่พี่น้องประชาชนคาดหวังว่านโยบายนี้จะมาแก้ความเดือดร้อนทุกข์ร้อนของเขาได้เนี่ย คือนโยบายมันต้องตอบในจุดที่เขาเจ็บที่สุดอะ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า pain point คนรุ่นใหม่ คนรุ่นต่อไปเขาจะเลือกแบบนี้
คุณหมอพูดถึงคุณแพทองธารพอดี ก็เป็นการเปิดตัวที่คนก็ฮือฮาเหมือนกัน การที่คุณแพทองธารเข้ามาเนี่ย คิดว่ามันทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคปรับอย่างไรบ้าง
เป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญเลยนะ มีผลทั้งภายในและภายนอก ภายในคือภายในองค์กรพรรคการเมือง ส.ส. สมาชิกมีความฮึกเหิมมาก คือเชื่อมั่นอะว่าองค์กรเราขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่นและเต็มที่ พุ่งสู่อนาคต ภายนอกนอกจากพรรคภายในแล้ว กระแสตอบรับดีมาก แน่นอนย่อมมีคนค้าน คนที่กลัวเราจนหดขึ้นหัว ก็เลยหาเรื่องหาราวต่างๆ แต่กระแสตอบรับในมิติของการนำเอาคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมือง ก็เป็นภาพที่ดีมากในการตอบเรื่องของความเชื่อมั่น กรอบทิศทาง ทิศทางผ่านกระบวนการของการทำนโยบาย กระบวนการของการมีส่วนร่วม เพราะว่าจะมีเป้าหมายเข้าไปเข้าหาพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม ให้เขามามีส่วนร่วมอย่างไรผ่านช่องทางของพรรคการเมือง
พูดง่ายๆ เนี่ย คุณแพทองธารจะมาสร้างให้พี่น้องประชาชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของพรรคเพื่อไทย หุ้นส่วนนี้หมายความว่ามีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ถ้าเป็นสมาชิกพรรคธรรมดาก็แค่เสนอความคิดความเห็น ฉะนั้น คำว่าหุ้นส่วนนี้มันเหมือนเป็นหุ้นอะ มาทำเรื่องนี้ เป็นหุ้นส่วนนะ ทำเรื่องของ soft power เรื่องของพูดง่ายๆ เรื่องของเกม เรื่องอีสปอร์ตอย่างนี้ เขาสามารถขับเคลื่อนไปเป็นเส้นทางอาชีพเขาได้เลย แล้วยิ่งเป็นนโยบายหนุนเสริมเข้าไป
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพอคุณแพทองธารเป็นลูกของคุณทักษิณ มันก็มีการมองว่า มีการครอบงำ มีอิทธิพลของคุณทักษิณอยู่ในพรรค คุณหมอมองอย่างไรบ้าง
ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เขามองนะ โดยเฉพาะคนที่ต้องการขจัดหรือทำลายตระกูลชินวัตร เพราะเขากลัวมาก อันนี้เรื่องธรรมดา เราก็หาทางป้องกัน หาทางที่จะทำให้ภาพเหล่านี้มันลดลง วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ง่ายที่สุด คือเอาคุณแพทองธารมาตั้งบนโต๊ะเลย ให้ถูกชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายพรรคการเมือง ตั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมด้านนวัตกรรมไป ชอบด้วยกฎหมาย ถามว่าใครล่ะที่มีอิทธิพล ไม่ใช่อดีตนายกทักษิณชินวัตร ใครก็ได้ที่มีความคิดความอ่าน พี่น้องประชาชนรวมตัวกัน ฉันคิดอย่างนี้ ผลักดันเข้ามา เขาเข้ามาสานต่อ มาเข้าสู่กระบวนการของการแปลงเป็นนโยบาย ถามว่ามีอิทธิพลไหม ก็เป็นอิทธิพลไง มีอิทธิพลแต่เข้าช่องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มาเข้าครอบ ไม่ได้มาชี้นำ เพราะคุณแพทองธารก็เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ท่านอดีตนายกฯ ทักษิณก็ไม่ได้มาสั่งการ มาชี้บอกว่าพรรคเพื่อไทยต้องทำ ทุกอย่างมันเป็นกระบวนการที่ถูกตรวจสอบแล้ว กลั่นกรองตามมิติของตัวบทกฎหมายที่รองรับ ก็เลยไม่กลัว อันนี้คือการป้องกันคำว่าชี้นำครอบงำ โดยเปิดให้โปร่งใสตรวจสอบได้
การปรับเรื่องโครงสร้างก็เป็นตัวบอกแล้วว่า นี่องค์กรเราปรับมาอย่างนี้ หมอชลน่านเป็นสส. ธรรมดา สามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้ กรรมการบริหารพรรคเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค โดยไม่มีใครชี้ว่าต้องเอาคนนั้นคนนี้ ต้องแยกว่าผู้มีอิทธิพลการชี้นำ ควบคุม ครอบงำเนี่ย มันต่างกัน คุณอาจจะมีอิทธิพลต่อคนนั้น คนนั้นอาจมีอิทธิพลต่อคุณ ในแง่ของสิ่งที่เขาทำดี ผมอาจนำมาใช้ต่อ ก็อย่างวงการสื่อทั่วๆ ไป อินฟลูเอนเซอร์ใช่ไหม แล้วมันผิดไหม มันอยู่ที่คนมองคนจ้องหาเรื่อง มีขณะนี้เขาไปฟ้องคุณอุ๊งอิ๊งเยอะแยะไปหมด ซึ่งตรงนั้นเ เราก็มีมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองโดยอาศัยหลักกฎหมายเนี่ยแหละ ถ้าคุณฟ้องเท็จ คุณเจตนาที่จะใส่ร้าย คุณก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องนั้นไป
พอขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก็มีคนที่ไปฟ้องว่าจะยุบพรรค ว่าแบบคุณทักษิณครอบงำบ้าง หรือการที่คุณหมอเลี้ยบเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคว่าจะยุบพรรค มองอย่างไรที่พรรคเราโดนอย่างนี้
แน่นอนครับ เขาจ้องจับผิด เพราะจุดมุ่งหมายของเขา เขาไม่อยากให้เพื่อไทยใหญ่ ไม่ให้เพื่อไทยเป็นที่ยอมรับ ได้รับมอบอำนาจจากพี่น้องประชาชนอย่างล้นหลาม สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการยุบพรรค พรรคไทยรักไทยถูกยุบไป สมาชิกเราสูญเสียไป 14-15 ล้านคน หายไปเลย โดนพลังประชาชนอีก กรรมการบริหาร 119-111 หายไปหมด ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองห้าปี หลายคนเพิ่งกลับมา อย่าง ดร.สุทิน คลังแสง นี่ก็เพิ่งกลับมา พ้นห้าปี เข้ามาทำการเมืองรุ่นเดียวกับผมนะ แต่ผมแก่กว่าพรรษา
เรื่องพวกนี้มันเป็นมิติของผู้ที่มีอำนาจแฝงเร้นที่ไม่อยากให้กลไกประชาธิปไตยมันมาขับเคลื่อนในการที่จะดูแลพี่น้องประชาชน นี่เป็นสมมติฐานของผมเอง เขาอยากปิดกั้นไม่ให้เรามีส่วนร่วม พยายามที่จะสืบต่ออำนาจนิยมแบบเดิมๆ เพราะมันประโยชน์มันมีมหาศาล ลองสังเกตดูสิ 7 ปีที่ผ่านมา ใครได้กำไรเป็นร้อยสองร้อยเท่า ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่พี่น้องประชาชนเนี่ย ย่ำแย่ที่สุดเลย เจอวิกฤตซ้ำเข้ามาอีก เรื่องโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ทำอะไรไม่เป็น
ที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรม ตราบใดกระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรม ภาพมันก็จะเป็นแบบนี้ ที่เราใช้คำว่าตุลาการภิวัตน์ ใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งอันตราย ประเทศเราเป็นแบบนี้มาตลอด 15 ปีเลย ตั้งแต่ปี 49 ผมพูดเชิงระบบ แน่นอนคำพิพากษาตัดสินย่อมมีที่มาที่ไป อ้างข้อกฎหมายได้หมด แต่นั่นคือการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักของนิติธรรม rule of law มันเป็น rule by law ไม่ใช่ปกครองด้วยหลักกฎหมาย แต่ใช้กฎหมายบังคับเลย ประเทศเราเป็นอย่างนี้ มันก็เลยเป็นเรื่องที่เราต้องสู้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อพูดถึงพรรคเพื่อไทย ก็มักจะมีคอมเมนต์ มีวาทกรรมที่พูดว่า ‘พรรคเพื่อไทยสู้ไปกราบไป’ คุณหมอมองถึงวาทกรรมนี้อย่างไรบ้าง
เขาคงมีจุดมุ่งหมายที่ใช้ ผมเองไม่อยากลงลึกว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ตรงนี้ไม่ได้มาจากฝ่ายอำนาจนิยม มันมาจากฝ่ายการเมืองเราเองที่ต้องการใช้วาทกรรมนี้ อาจเป็นหนึ่งเพื่อต้องการให้ใครเข้าไปเล่นกระบวนการต่อสู้เหมือนที่เขาต้องการ ในแนวทางของเขา เลยมองว่าแนวทางของเรามันไม่เป็นแนวทางของเขา จึงประดิษฐ์วาทกรรมนี้ออกมา
เรื่องที่สองเนี่ย มันเป็นการใช้วาทกรรมเหมือนกับการเอาประโยชน์ทางการเมือง แสวงหาความนิยม ซึ่งอันนี้ผมเองค่อนข้างไม่เห็นด้วย ตราบใดที่เราใช้เรื่องเหล่านี้มาทำลายกัน ไปเหยียบคนอื่นแล้วก็เอาคะแนนให้ตัวเองเนี่ย มันไม่ยั่งยืน และมันก็เป็นความเชื่อผิดๆ ด้วย
เพราะฉะนั้นการประดิษฐ์วาทกรรมอย่างนี้ขึ้นมา ที่ได้ประโยชน์อย่างนี้ มันก็อันตราย ผมขอตอบว่า การสู้ของเพื่อไทยเนี่ย เราสู้กับอุดมการณ์ เราสู้เพื่อให้ได้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เป็นระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่แท้จริง อย่าดึงสถาบันมาแปดเปื้อนกับการเมือง คุณอย่าใช้ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ เพราะงั้นเจตนารมณ์เราชัด เราสู้กับเผด็จการ มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่เราจะกราบเผด็จการอะ ก็อยากจะถามกลับเหมือนกันว่า คุณรู้หรือเปล่าว่าเพื่อไทยสู้กับใคร แต่เราบอกแล้วเราสู้กับเผด็จการ เพราะงั้น ความหมายที่ว่ากราบไปเนี่ย จะให้เรากราบใคร อันนี้คือตอบอย่างนี้นะ แต่ว่าไม่ค่อยโดนใจเท่าไร ส.ส.น้ำ จิราพร และคุณอ้วน ภูมิธรรม คือคนที่ตอบโดนใจว่า
เราสู้จนคนของเราเดินเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น จนยุบพรรคไป 2-3 ครั้ง ตรงๆ เนี่ยสองครั้ง ไทยรักษาชาติอีกหนึ่งครั้ง เพราะงั้น มาบอกว่าเราสู้ไปกราบไปเนี่ย มันเป็นแค่วาทกรรมเพื่อสร้างหนึ่งคะแนนนิยมให้กับตัวเอง ไปบีบคั้นว่าฉันอย่างนี้แล้วฉันได้คะแนน
เรื่องที่สามเนี่ยเป็นการปล่อยวาทกรรมที่ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนในเชิงระบบ เราต้องยอมว่า ประเทศชาติบ้านเมืองเราเนี่ย ขณะนี้ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนะ เราเปลี่ยนระบอบไม่ได้นะ ไม่มีใครยอม ผมเองก็ไม่ได้ยอม อาจจะมีคนไม่กี่คนที่อยากยอม แต่บอกให้เปลี่ยนไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ โดนข้อหาล้มล้างการปกครอง แต่เรามีสิทธิ์สู้เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง องค์พระประมุขก็เป็นองค์พระประมุขตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครไปแอบอิง ไปดึงเอาองค์พระประมุขมาแปดเปื้อนกับการเมือง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะงั้น วาทกรรมนี้ก็ปล่อยไป เขาเองก็รู้ว่าเขาพูดหมายถึงใคร อย่างไร แต่เราเองไม่ได้หมายเหมือนกับเขา เราสู้กับอุดมการณ์ เราไม่กราบเผด็จการ
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็มี movement ของพรรคพอดีที่จะผลักดันเรื่องการแก้ไข ม.112 ทางหมอชลน่านมองถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้อย่างไร
การแก้ไข ม.112 ก็ดี เป็นประเด็นที่ผู้เรียกร้อง ผู้ชุมนุมเขาเรียกร้องนะครับ อันนี้เราเห็นสภาพปัญหาเป็นอย่างนั้น ครั้งล่าสุด เขาก็มายื่นข้อเสนอ แต่เป็นในนามกลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมืองเนี่ย ไม่เกี่ยวกับแก้ ม.112 ที่เขามายื่นกับเรา เพราะงั้นการบอกว่าพรรคเพื่อไทยเนี่ยจะผลักดันแก้ ม.112 อันนี้เป็นการนำเสนอมุมที่ไม่ค่อยตรงนัก แต่ว่าเราเห็นสภาพปัญหาว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับนะ ทั้ง ม.116 กฎหมายเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกจับกุมคุมขังเพียงแต่มีความเห็นต่าง หรือมีความคิดก็ถูกขัง แล้วก็ไม่มีให้สิทธิประกันตัวอะไรต่างๆ เขาก็มายื่นข้อเสนอ เราเพียงแต่ประกาศว่าในฐานะที่เราเป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนเนี่ย ถ้ามีปัญหาอะไรมายื่นให้เรา เราจะนำเรื่องเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไขปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้มีการพูดการคุยกัน นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา
พื้นที่ปลอดภัยที่ดีที่สุดขณะนี้คือสภาเท่านั้น เราก็ประกาศเจตนารมณ์อย่างนี้ เรื่องอะไรมาก็ได้ ทั้งเห็นค้านเห็นต่างนะ ฝ่ายที่เห็นต่างบอกว่าไม่ให้แก้เราก็รับ ฝ่ายที่เขาแก้เราก็รับ ฝ่ายที่ยกเลิกเราก็รับ แต่รับแล้วเราเนี่ยไม่ใช่เป็นผู้ตัดสิน เราเพียงทำหน้าที่ของตัวแทนพี่น้องประชาชน ซึ่งเขียนในรัฐธรรมนว่ามีหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ นำเอาเรื่องที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนเข้าสู่กระบวนการแก้ไข
อย่างพรรคเองที่บอกว่าจะพยายามผลักดันเข้าสู่การเป็นพื้นที่ปลอดภัย อย่างม.112 เอง ที่ผ่านมา ตั้งแต่สิบปีที่แล้วที่เคยมีการรวบรวมรายชื่อ ของครก. แต่ก็ถูกปัดตก หรือว่าของก้าวไกลที่เสนอแก้ไข ก็ถูกปัดตกอย่างรวดเร็ว อย่างนี้คุณหมอมองว่าครั้งนี้ สภามันควรจะเป็นพื้นที่ที่มีการถกเถียงเรื่องนี้จริงจังไหมคะ แล้วก็มีความยากอะไรไหมที่ทำให้เรื่องนี้จะพูดคุยไม่ได้ในสภาไหม
ถามว่ายากอะไรไหมที่จะพูดคุยไม่ได้ในสภา มันมีจุดเริ่มต้นนะ ที่คุณพูดคือจุดเริ่มต้นที่ผ่านๆ มา ตรงนั้นก็เป็นประโยชน์ที่เป็นจุดตั้งต้นที่เราเห็นว่ามันเกิดจากอะไร พอถึงขั้นนี้แล้ว สิ่งเหล่านั้นมันเป็นบทเรียน ก็นำตรงนั้นมาเป็นประโยชน์ได้ การที่เราจะเปิดพื้นที่ปลอดภัยต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายใช่ไหมครับ มันถึงจะปลอดภัยจริง ทุกฝ่ายต้องยอมรับ และทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยภายใต้เป้าหมายสูงสุด
อย่างที่ยกตัวอย่าง กฎหมาย 112 มีจุดหมายสูงสุด เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะดูว่ามันมีพื้นที่ปลอดภัยที่พูดคุยเรื่องนี้ เราต้องยึดอันนี้เป็นตัวตั้ง วัตถุประสงค์แรกคือปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ วัตถุประสงค์ที่สองคือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ทำให้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเขาถูกทำลาย เห็นไหมครับ มันไปสองทางได้เลย มันไปพร้อมกันได้ ถ้าคุณไปใช้กฎหมายที่ผิด แทนที่จะเป็นการปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์เนี่ย มันมีผลลบตรงข้าม เหมือนกับดึงเอาสถาบันไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อันนี้เราต้องช่วยกันทำ เราต้องบอกวัตถุประสงค์ให้ชัด ที่เราทำเนี่ย เราไม่ได้ต้องการยกเลิกนะ เราบอกต้องมีกฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้มันเป็นการปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่ให้ใครแอบอิงไปใช้เป็นเครื่องมือ ความชัดเจนตรงนั้นมันก็เกิดประโยชน์ใช่ไหมครับ ไม่ใช่เครื่องมือที่จะแอบอิงเอาสถาบันไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ขณะนี้ หลายคนเขาตั้งคำถามไว้ว่า คุณเอากฎหมายฉบับนี้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองไง อย่างนี้คุณไม่เคารพสถาบันนะ คุณดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวการเมือง อันนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราต้องช่วยกันขจัดออกไป นั่นหมายความว่าเราเคารพสถาบัน อันนี้ มุมการนำเสนอมันก็จะมีพวกนี้ ก็เลยมีความมั่นใจว่าพูดคุยกันได้ ถ้าวัตถุประสงค์มันไปด้วยกันได้ คนที่เขาต่อต้านเนี่ย เขามองมุมสถาบันเป็นหลัก อย่าแตะ ห้ามแตะ แต่มุมที่เขาอยากยกเลิก เขาก็มองมุมว่ามันถูกใช้เป็นเครื่องมือนะ ทำให้คนนี้เดือดร้อน แล้วก็มาถูกผสมรวมกันอีก มันก็เลยจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้
สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ มันก็มีการต่อสู้กันของประชาชนกับเผด็จการ แล้วก็มีการมองว่าฝั่งพรรคการเมืองฝ่ายค้านเองชอบทะเลาะ ชอบตีกัน คุณหมอมองอย่างไร ในเรื่องของการถกเถียงกันในมุมของฝ่ายค้าน
ผมมองเป็นเรื่องดีนะ ในมุมประชาธิปไตยเนี่ย ความเห็นต่าง ความหลากหลาย มันจะนำไปสู่การพัฒนา แล้วอุดมการณ์ หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยต้องการให้เกิดเรื่องนี้ ไม่มีระบบการปกครองอื่นยอมรับนะ แต่ประชาธิปไตยยอมรับเรื่องความเห็นต่าง ให้มีการถกเถียง ให้มีการพูดคุย ให้มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็เลยต้องวางโครงสร้างสามอำนาจที่แยกกันไง เพราะเขาต้องการส่งเสริมการเห็นต่าง
แต่ความเห็นต่างตรงนี้ก็ต้องมองว่าเป็นความเห็นต่างที่ไม่ได้เป็นการทะเลาะเบาะแว้ง หลายคนไปเข้าใจว่า การที่คุณมีความเห็นต่างคือการทะเลาะกัน มันใกล้เคียงกันมาก มันเป็นเส้นบางๆ มากระหว่างความเห็นต่างกับการโต้แย้งถกเถียงกัน การทะเลาะกัน การโต้แย้งถกเถียงกันเนี่ย ก็คือสภา ที่มีการอภิปราย นี่คือการเสนอความเห็นต่าง สภาเลยมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย จะพูดเนี่ย ต้องใช้ปากเท่านั้นนะ ใช้อย่างอื่นพูดแทนไม่ได้ การอภิปรายคือการพูดเพื่อแสดงความเห็นของคุณ ในมุมที่คุณเห็น
แน่นอนบอกแล้วคุณต้องเห็นต่าง เพราะคุณเป็นฝ่ายค้าน อันนี้ฝ่ายรัฐบาล หลายเรื่องเรามีความเห็นร่วมกันได้ แต่หน้าที่มันคือเห็นต่าง เขาเสนอเรื่องหนึ่งมาว่าดีมากเลย แต่คุณต้องมองหามองเห็นให้ได้ว่าอะไรคือไม่ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนไง และความเห็นต่างเนี่ยเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าอย่าใช้ความเห็นต่างเนี่ยมาเป็นเรื่องของความขัดแย้ง เป็นเรื่องความทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งพรรคการเมืองเองไม่มีหรอกครับ ในระดับที่เราพูดคุยกันมันไม่มี แต่ว่าบรรดาสมาชิก FC แฟนๆ อาจมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันไป เป็นเรื่องธรรมดา เพราะงั้นอยู่ที่เราเองจะปรับเอาความเห็นต่างนั้นมาเป็นความเห็นร่วมได้อย่างไร ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่านำความเห็นต่างนั้นมาทำลายซึ่งกันและกัน
เมื่อกี้คุณหมอบอกว่าเป็น ส.ส. ครั้งแรกปี 2544 ก็ประมาณ 20 ปี แล้วพูดถึงคนรุ่นใหม่ การเมืองใหม่ไป แต่ว่าคุณหมอก็อยู่ในเส้นทางการเมืองนี้มานาน อยากถามว่ามองตัวเองอย่างไรบ้างในสองทศวรรษนี้ และมองตัวเองไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง
มองตัวเองอย่างไรค่อนข้างตอบยากนะ แต่ถ้าไม่ตอบนี่ก็เหมือนเราล่องลอยมาก คือมุมที่ได้ประสบการณ์การเป็น ส.ส. มาตั้งแต่ปี 44 ก็ผ่านประสบการณ์มาพอสมควร ทั้งในมุมดี มุมร้าย มุมดีก็คือเป็นยุคที่ผมตัดสินใจมาในจังหวะที่กลไกประชาธิปไตยเอื้ออำนวยมากนะ เพราะประชาชนสามารถมอบอำนาจให้พรรคการเมือง และพรรคการเมืองก็เอาสิ่งที่เขามอบไปทำนโยบายคืนกลับให้พี่น้องประชาชนในลักษณะที่จับต้องได้ มันก็เลยมีถ้อยคำที่ว่า ประชาธิปไตยที่กินได้
ก่อนหน้านั้นเนี่ย มันไม่มีสิ่งนี้ให้เขาเห็น เราก็มัวแต่ไปโทษพี่น้องประชาชนว่า ทำไมถึงเห็นเงินแค่ 100 บาท 200 บาท 500 บาท ขายสิทธิ์ขายเสียง ก็เขาไม่เคยเห็นอะไรที่มันเป็นของเขา เขาเลือกไปก็แค่นั้น ไม่เห็นได้อะไร ภาพการเมืองเก่าเนี่ย เขาคิดว่าการที่จะให้ประชาชนมามีอำนาจตัดสินโดยอิสระเนี่ย เขาคุมไม่ได้ เขารู้นะ เขาเลยใช้วิธีการเก่าๆ อย่าทำนโยบายได้จริงๆ เพราะถ้าทำจริงจะซื้อเสียงได้อย่างไร เห็นไหม ไม่ใช่เขาไม่คิดนะ เขาคิดมากกว่าเราอีก ว่าจะคงฐานอำนาจนี้ไว้ได้อย่างไร โดยใช้แค่เมล็ดเงิน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง ได้เสียงอีก เห็นไหม การเมืองเก่ามันถึงเป็นอย่างนี้ไง เพราะแค่คำว่าภาคการเมือง โอ้โห ร่ำรวยมหาศาล เอางบประมาณลงพื้นที่ ผูกมัดเรื่องงบประมาณ มีเงินทอน ได้เงินก้อนไว้ ไปซื้ออำนาจต่อไป มันก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด
จริงๆ ผมถูกชวนเข้ามาเป็นนักการเมืองตั้งแต่ปี 38 แต่ผมไม่เข้า เพราะเห็นภาพการเมืองอย่างนี้ เราเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ และก็ตกอยู่ในระบบที่แสนเลวร้าย พอมีการเมืองใหม่แบบนี้มันก็ดูมีโอกาสที่ดีขึ้นมาก ตามกระบวนการที่คนมีส่วนร่วมเยอะ ตามกระบวนเขาที่เอานโยบายที่พรรคไทยรักไทยเอง ที่มานโยบายเขามาจากประชาชน เขาไปทำ focus group มันเป็น pain point จริงๆ เข้ามา นโยบายแก้ไขใหญ่ และภาพนี้มันชัด ซึ่งมันคือประสบการณ์ที่ดี ประสบการณ์ที่ทำให้ไทยรักไทยแลนสไลนด์ 377 เสียง แต่ประสบการณ์ที่เลวร้ายก็คือ เพราะ 377 เสียง เราก็ถูกยึดคืนไป เพราะเขากลัว ประเทศก็ดิ่งเหวเลย ก็อยู่ในระบอบที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยจอมปลอม ลุ่มๆ ดอนๆ เลือกตั้งก็ถูกตีเป็นโมฆะไปสองครั้ง
สิ่งเหล่านั้นมันก็บ่มเพาะผมพอสมควร เราเห็นประเทศหลังจากถูกยึดอำนาจเนี่ย ไม่ใช่ลงมาเป็นศูนย์นะ ลงไปใต้เส้นศูนย ความเชื่อมั่น ศรัทธา โอกาสของพี่น้องประชาชนหายไปหมด ความเชื่อมั่นของนานาประเทศหายหมด โอกาสถูกปิดกั้น สมองของลูกหลานเราถูกปิด เกิดภาวะวิกฤตก็แก้ปัญหาไม่เป็นอีก เนี่ยคือเลวร้ายที่สุด พอมาถึงขั้นนี้ก็อยู่ในคราบเผด็จการอยู่นะ อันนี้คือประสบการณ์แบบนี้มันก็เลยทำให้ผมเกิดการเรียนรู้ เกิดประสบการณ์ เพราะงั้นสิ่งที่เรามุ่งไปในอนาคต ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งผู้แทน มาเป็นหัวหน้าพรรค และก็เป็นผู้นำเสียงข้างมากของสภาในพรรคร่วมฝ่ายค้าน มันเป็นโอกาสที่เราจะสร้างภาพฝันของเรา ทำอย่างไร แม้ว่าจะอยู่ในคราบเผด็จการเนี่ย เราต้องสื่อประชาธิปไตยที่มันเป็นแต่เปลือกให้แจ่มชัดที่สุด ให้มันขยับใกล้สู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ด้วยกลไกที่เรามีอยู่ อันนี้เราต้องทำ
เรื่องที่สองเนี่ย กลไกนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเรายังเป็นฝ่ายค้านอย่างนี้อยู่ เราก็ต้องแสวงหาเสียงข้างมากที่ยอมรับพี่น้องประชาชน ให้เรามีโอกาสมาเป็นเสียงข้างมาก นำเอาสิ่งที่เราฝันที่เราคิดมานำเสนอให้ได้ อันนั้นคือก้าวกระโดดเลย และปรับเรื่องโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่มันไม่ชอบ กฎหมายที่มันไม่ชอบ สถาบันที่เกี่ยวข้องทางการเมืองหลักๆ เป็นไปตามบทรัฐธรรมนูญที่ชอบ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ องค์กรอิสระ องค์กรตุลาการต่างๆ มันสามารถใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยนี่แหละ เห็นไหมว่าภาพมันชัดขึ้นมา ผมมีทางเดิน พอแจ่มชัดตรงนั้นปุ๊บ ด้วยพลังของการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ของการสื่อสารทางการเมืองที่ทุกคนรู้แล้วว่าภาพจริงมันคืออะไร
เมื่อก่อนเขาไม่รู้ ทีนี้เขาตาสว่างกันหมดแล้ว ความตาสว่างมันจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้สิ่งที่ผมคิดหวังเนี่ย มันจะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะงั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผมหวังว่าเราจะเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่แท้จริง ระบบรัฐสภาเรา ระบบเสียงข้างมากก็เป็นเสียงข้างมากที่สะท้อนเจตจำนงของพี่น้องประชาชนแบบจริงๆ เสียงข้างน้อยก็ตรวจสอบถ่วงดุลตามบทบาทหน้าที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนจริงๆ มันต้องขับเคลื่อนได้
ประชาธิปไตยเนี่ยต้องเอาความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วม และตอบโจทย์เรื่องประโยชน์ของชาติ ประโยชน์ของประชาชนนะครับ แน่นอนว่าอันนี้ในมุมภาพใหญ่ ในมุมภาพเล็กคือ ในมุมของพรรคผม ผมก็พูดไปแล้ว มุ่งหวังว่าต้องเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับ ทุกคนมามีส่วนร่วม ลึกลงไปอีก ประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนต้องได้รับ ต้องกระจายอย่างเป็นธรรมทั่วถึง นั่นคือความมุ่งหวังของการเป็นผู้แทน จะมาทำให้ตรงนี้