1
โทนี มอร์ริสัน ไม่ใช่เฟมินิสต์
เธอคือนักเขียนรางวัลโนเบลหญิงเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล
แต่เธอประกาศว่า—เธอไม่ใช่เฟมินิสต์
ในปี ค.ศ. 1998 เคยมีผู้ถามเธอว่า—ทำไมเธอจึงวางตัวเหินห่างจากเฟมินิสม์นัก
เธอตอบว่า “เพื่อจะได้เป็นอิสระได้มากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ ในความคิดของฉัน ฉันไม่อาจยอมรับที่ทางแบบปิดได้ ทุกสิ่งที่ฉันเคยทำ ในโลกแห่งการเขียน ล้วนแต่เป็นการขยายกว้างออกแทนที่จะปิดเข้า เพื่อเปิดประตูค้างไว้ บางครั้งหนังสือถึงกับไม่จบ เพื่อทิ้งตอนจบที่เปิดกว้างเอาไว้ให้เกิดการตีความซ้ำ กลับมาอ่านใหม่ ทิ้งความคลุมเครือไว้เล็กๆ น้อยๆ”
หลายคนคิดว่า หากไม่สมาทานเฟมินิสม์ ก็แปลว่าเธอต้องตกอยู่ใต้ลัทธิชายเป็นใหญ่หรือ patriarchy แน่ๆ
แต่โทนี มอร์ริสัน บอกว่า “ฉันไม่ได้ ‘สมัคร’ เข้าสู่ลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้น ฉันจึงคิดว่าตัวเองก็ไม่ควรสมัครเข้าสู่ลัทธิผู้หญิงเป็นใหญ่ (matriarchy) ด้วยเช่นกัน”
เป้าหมายของเธอ—ก็คือการตั้งคำถามถึงการเข้าถึงที่เท่าเทียม และเปิดประตูให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง
แน่นอน—มุมมองของเธอย่อมไม่ถูกใจเฟมินิสต์บางส่วน เฟมินิสต์บางกลุ่มมักอยากชวนผู้คนย้อนกลับไปดูว่า แม้ต่อสู้ผ่านยุค 90s มาแล้วอย่างโชกโชน ทว่าสถานะของผู้หญิงก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย ดังนั้น การจะ ‘ข้ามพ้น’ ผู้หญิง ไปสู่การต่อสู้อื่นๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมใหญ่ขึ้นมาจึงเป็นเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คำพูดและแนวคิดแบบโทนี มอร์ริสัน จึงไม่ valid สำหรับบางคน
แต่กระนั้น งานของโทนี มอร์ริสัน ก็ถูกหยิบมาวิเคราะห์ในฐานะงานที่พูดถึง black feminism อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะงานเขียนลือลั่นที่สุดในชีวิตของเธอ คือนิยายอย่าง Beloved
เรื่องราวใน Beloved นั้นแสนสั่นสะเทือน มันคือเรื่องของทาสหญิงผิวดำชื่อเซธ (Sethe) กับลูกสาวคนสุดท้องของเธอที่มีชื่อว่า เดนเวอร์ (Denver) ทั้งคู่หลบหนีจากการเป็นทาสมาอยู่ที่ซินซินนาติ และต้องพบพานเหตุประหลาด คล้ายถูกผีสิง ก่อนจะตระหนักและเชื่อมั่นว่า ‘สิ่งนั้น’ ก็คือ บีเลิฟด์ (Beloved) ลูกสาวคนโตที่เธอจำต้องเป็นผู้พรากจากชีวิต เพราะถูกนายทาสตามมาพบ และเธอไม่อยากให้ลูกสาวต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่ตกต่ำยิ่งกว่าความเป็นมนุษย์ดังที่เธอเคยพบมาก่อน
เรื่องราวซับซ้อนหลอนหลอก ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก การเอาตัวรอด การฆ่าเพราะความรัก รวมถึงผลกระทบทางจิตวิทยาของการตกเป็นทาส ภาวะทาสที่กระทบกระแทกให้ตัวตนแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่ละส่วนเสี้ยวแยกขาดจากกัน คล้ายถูกโยนไว้ตรงนั้นตรงนี้ เพื่อจะพบพานการสูญสลาย
แต่ที่น่าสนใจที่สุด Beloved พูดถึง ‘ความเป็นชาย’ ซึ่งเป็นเงื้อมเงาปกคลุมความหมายในเรื่องเล่าชีวิตของเซธและเดนเวอร์ และนั่นทำให้เกิดการวิพากษ์ Beloved ว่า—โดยเนื้อแท้แล้วมีความเป็นเฟมินิสม์อยู่ ทว่าเป็น black feminism
Beloved แบ่งออกเป็นสามภาค ในสองภาคแรก ผู้อ่านจะได้พบกับงานเขียนที่ไม่สอดคล้องสม่ำเสมอ ภาษาเยี่ยงกวี ความผิดพลาดทางไวยากรณ์ และน้ำเสียงจากตัวละครทั้งสาม คือเซธ เดนเวอร์ และบีเลิฟด์ ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กระนั้น หลายคน (เช่นในการศึกษานี้) ก็เรียกส่วนนี้ว่า Trio Section หรือส่วนที่มีตัวละครหลักเท่ากับสาม
เป็นสามที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันอย่างยิ่ง
ที่จริงแล้ว เฟมินิสม์อาจต่อสู้ได้ในหลายมิติ เช่น ต่อสู้เพื่อโอกาสในการทำงาน โอกาสในรายได้ที่เท่าเทียม ไล่ไปถึงการต่อสู้ในเรื่องอำนาจและการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ เช่นประเด็น pornography ที่หยิบผู้หญิงขึ้นมาสู่สปอตไลต์ทางเพศ ผู้หญิงกับอำนาจทางศาสนาที่ครอบงำอยู่ รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางด้วยวิธีต่างๆ
แต่ผู้หญิงไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก ผู้หญิงแต่ละคนมีมิติซับซ้อนซ่อนอยู่ภายใน และมิติหนึ่งที่เฟมินิสม์ให้ความสนใจ ก็คือเรื่องของ ‘เชื้อชาติ’ (race) แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่เฟมินิสม์แต่ละสาย จะให้ความสนใจกับประเด็นนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เฟมินิสต์ผิวขาว (white feminist) อาจสนใจว่า ในบริษัทหนึ่งๆ มีผู้หญิงทำงานในตำแหน่งบริหารเพียง 30 คน แต่มีผู้ชายทำงานในระดับเดียวกันถึง 70 คน ทว่าหากเป็นเฟมินิสต์ผิวดำ (black feminist) ประเด็นอาจเลื่อนเลยจากเรื่องเพศไปสู่เรื่องสีผิวด้วย เช่น แม้มีผู้ชายทำงานในระดับบริหารมากถึง 70 คน แต่ผู้หญิงผิวดำกลับมีเพียง 10 คน เป็นต้น
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ black feminist จะสนใจทั้งเพศและสีผิวหรือเชื้อชาติไปพร้อมๆ กัน โดยเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ white feminist จะละเลยประเด็นเรื่องเชื้อชาติหรือสีผิว เพราะตัวเองอยู่ใน status quo ด้านสีผิวที่ได้เปรียบอยู่แล้ว จึงมีโอกาส ‘ตาบอด’ มองไม่เห็นเรื่องนี้ แบบเดียวกับที่ผู้ชายมองไม่เห็นอาการ sexism ในเรื่องอื่นๆ
นั่นเปิดโอกาสให้ identity politics หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ขัดแย้งกับการเมืองเชิงโครงสร้างได้อย่างลึกซึ้ง
Beloved ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1987 ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี ค.ศ. 1988 และส่งผลให้โทนี มอร์ริสัน ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1993 ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นนิยายที่ ‘มาก่อนกาล’ อย่างแท้จริง เพราะมันมาถึงก่อนที่ใครหลายคนจะรู้จักกับคำว่าเฟมินิสม์ด้วยซ้ำไป
เคยมีคนวิเคราะห์เอาไว้ว่า โทนี มอร์ริสัน ไม่ได้ ‘ไม่เป็นเฟมินิสต์’ หรอก (แม้เธอจะปฏิเสธตัวเองอย่างนั้น) แต่แท้จริงแล้ว เธอเป็นเฟมินิสต์ที่เรียกกันว่า postmodern feminist ต่างหาก
คำว่า postmodern feminist เป็นคำที่เคยพูดถึงกันมากในยุค 90s จนกระทั่งขึ้นสหัสวรรษใหม่ พร้อมๆ กับแนวคิดทางปรัชญาใหม่ๆ มากมาย เช่น post structuralism หรืออื่นๆ แต่แล้วหลังเหตุการณ์ 9/11 โลกก็เริ่มพลิกกลับผันเปลี่ยน ความก้าวหน้าทางความคิดต่างๆ ที่เคยมีหวนคืนกลับไปหาอดีตในแทบทุกเรื่อง ทั้งอุดมการณ์ขวาจัด ความอนุรักษ์นิยม และแม้กระทั่งเสรีนิยมและเฟมินิสม์เองก็ยัง ‘ย้อนอดีต’ กลับไปสู่ยุคก่อนหน้าด้วย
คำว่า postmodern feminist เอง ก็เป็นคำที่แทบจะหายไปเพราะถูกกระแสท่วมท้นของคำว่า gender pay gap หรือแฮชแท็กอย่าง MeToo เข้ามาเกลื่อนกลืน (โดยก็ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่า ทั้ง gender pay gap และ #MeToo นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายหรือแย่นะครับ) โดยเนื้อแท้ postmodern feminist หมายถึงเฟมินิสต์ที่ผสมรวมเอาหลากกระแสความก้าวหน้าทางความคิดเข้าด้วยกัน โดยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า หลักๆ คือ postmodernism ผสานรวมกับแนวคิดอื่นๆ อย่าง post struturalism และวิธีต่อสู้แบบเฟมินิสต์ฝรั่งเศสด้วย
แนวคิดหลักๆ ของ postmodern feminist ก็คือการปฏิเสธคุณค่าความเชื่อต่างๆ ที่มีลักษณะเป็น ‘สากล’ ว่าคนนั้นคนนี้ต้องคิดต้องเชื่อแบบนั้นแบบนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม เพราะอะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็น ‘ความจริงสากล’ (universal truth) ที่นำไปใช้กับผู้หญิงทุกๆ คน สุดท้ายแล้วก็จะไป ‘ลด’ คุณค่าของประสบการณ์ส่วนตัวลง
แน่นอน postmodern feminist ยังสนใจความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมอยู่ (แต่ภายใต้ความเป็นเฟมินิสต์ ก็แปลว่ายังสนใจเรื่องของ gender ที่มีสองเพศอยู่นั่นเอง) ทว่า ‘วิธี’ ที่จะสร้างความเท่าเทียม (อย่างน้อยก็ในเรื่องเพศ) ไม่ใช่การนำความจริงสากลของใครก็ไม่รู้ไปแปะโปะให้กับทุกๆ คน ว่าต้องคิดต้องเชื่อแบบนั้นแบบนี้เท่านั้นจึงจะถูกต้อง แต่ postmodern feminist สนับสนุนความหลากหลายของวาทกรรม รวมไปถึงแนวคิดที่เป็นอัตวิสัยหรือ subjectivity ด้วย ดังนั้น เส้นขอบฟ้าของ postmodern feminist จึงกว้างไกลแทบไร้ที่สิ้นสุด และนำมาซึ่งปัญหาในตัวของมันเองอีกรูปแบบหนึ่ง
ในกรณีของ โทนี มอร์ริสัน มีผู้วิจารณ์ว่า งานอย่าง Beloved และ Paradise ของเธอนั้น แสดงให้เห็นถึงการ ‘เขียนประวัติศาสตร์ใหม่’ จากประวัติศาสตร์ที่เคยถูกสร้างขึ้นจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่มักมีวิธีการแบบสองขั้ว ผิดถูก ดำขาว ให้กลายมาเป็นงานที่คลุมเครือ เป็นนามธรรม แต่ทว่าก็ทรงพลังและแจ่มชัดด้วยลีลาของภาษา และทำให้เรื่องของเพศและสีผิว กลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งขึ้นมาเป็นครั้งแรก
บทความนี้พูดถึงผลกระทบใหญ่หลวงของ โทนี มอร์ริสัน ต่อวิธีคิดเรื่องผู้หญิง โดยอ้างอิงคำพูดของ แคโรลิน เดอนาร์ด (Carolyn Denard) ใน Black Women in America: A Historical Encyclopaedia ที่บอกว่างานของมอริสันนั้น ได้ ‘ฉีกกระชาก’ เอาทั้ง ‘ความขาว’ และ ‘ความดำ’ ทิ้งไปเสีย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอได้ทำลายระบบทวิลักษณ์อันซับซ้อนลงด้วยพลังแห่งวรรณกรรมนั่นเอง
ความขาวและความดำที่ถูกเชิดชูโดยแต่ละฝ่ายนั้น สุดท้ายกลับกลายมาเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ทั้งคนผิวขาวและผิวดำในอเมริกาไม่สามารถ ‘รู้จักตัวเอง’ ได้อย่างถ่องแท้ เพราะเมื่อเรายกย่องสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เราก็มักมองไม่เห็นสิ่งนั้น
มองไม่เห็นทั้งความจริง ความเชื่อ และไม่อาจมองให้เห็นได้ว่า—เราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นอย่างไร เพราะสำหรับเราแล้ว มันจะอยู่ตรงนั้นเสมอ เป็นจริงเสมอ จนเราไม่อาจมองเห็นความไม่จริงใดๆ แทรกซอนปนเปื้อนอยู่ในนั้นได้
ไม่ว่าจะเป็นความขาว ความดำ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง หรืออื่นๆ
2
โทนี มอร์ริสัน มีลูกชายสองคน—แฮโรลด์ กับ สเลด
ว่ากันว่า เธอเป็นคนที่ไว้วางใจในสัญชาตญาณของตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด แต่เมื่อถูกถาม (ดูได้ ที่นี่) หลังการตายของสเลด—ว่าเพราะเหตุใดเธอจึงไว้วางใจในสัญชาตญาณ เธอกลับตอบว่าไม่—ไม่ใช่หรอก,
“ฉันไว้วางใจสิ่งอื่นต่างหาก” เธอว่า ครุ่นคิด และตอบคำถาม “สิ่งนั้นคือสติปัญญาที่จะใช้ตรวจสอบสัญชาตญาณของฉันเอง”
เมื่อสเลดเสียชีวิตลงกะทันหัน โทนี มอร์ริสัน หยุดเขียนหนังสือ
“ใครๆ ก็คอยบอกฉันว่า พวกเขาเสียใจกับฉัน แต่ไม่เคยมีใครบอกฉันเลยว่าพวกเขารักลูกของฉันมากมายเพียงไหน” เธอสารภาพว่าเธอมัวแต่ยุ่งกับความโศกเศร้า มัวแต่หมกมุ่นกับตัวเอง มัวแต่หยุดทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงเพื่อจะโศกเศร้า เพียงเพื่อจะต่อว่าโลกและผู้อื่น เธอทำแม้กระทั่งหยุดเขียนหนังสือ
แต่แล้ว—ด้วยสติปัญญา, เธอก็คิดขึ้นได้—นั่นน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ลูกชายของเธออยากให้เธอทำ สเลดไม่เคยอยากให้เธอตกจมอยู่กับตัวเอง อยู่กับความเศร้า อยู่กับความหลงในตัวเอง กับสิ่งที่ทำให้เธอหยุดแม้กระทั่งการเขียน
“เขาคงอยากบอกฉันว่า—ได้โปรดเถอะครับแม่ ผมตายไปแล้ว แต่ขอให้แม่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไหม…”
นั่นทำให้เธอกลับมาเขียนหนังสือใหม่อีกครั้ง มันกลายเป็นงานเขียนเรื่อง Home ที่เธออุทิศให้กับเขา—ลูกชายของเธอ
มอร์ริสันตายที่บรองซ์ ในศูนย์การแพทย์มอนเทฟิออเร (Montefiore Medical Center) ด้วยอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง
ในวัย 88 ปี เธอไม่ได้อ่อนล้าต่อความรักและการมีชีวิตอยู่ เธอยังคงเป็นเหมือนถ้อยคำที่เขียนไว้ใน Beloved ถ้อยคำที่ถูกจารึกไว้ ณ อนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพและความยุติธรรม ที่เมืองมอนต์โกเมอรี่ ในรัฐแอลาบามา ถ้อยคำที่บอกให้พวกเรารู้จักรักตัวเอง ลูบคลำลำคอของเรา ยืดตัวตรง วางมือลงบนนั้น ลูบไล้และโอบกอด เพราะไม่มีใครหรอกที่รักลำคอของเราเหมือนที่เรารักมัน
เธอสอนให้เรารักดวงตา เท้า ปอด ครรโภทร แต่เหนืออื่นใด จงรักหัวใจของเราเอง
หัวใจที่ทั้งเต้นเร่าและถูกทุบตีอยู่เสมอ
เป็นความรักนี้เอง ที่จะอยู่กับเราเสมอไป แม้ผู้รักและผู้ถูกรักจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม