เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นครบรอบวันเกิดของโทนี่ มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนและปัญญาชนหญิงอเมริกันผิวดำที่โลกรัก ทั้งเดือนกุมภาพันธ์ยังเป็นเดือน Black History Month เดือนที่ว่าด้วยความสำคัญและความเท่าเทียมของคนผิวดำ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราพูดถึงหนึ่งในผู้หญิงที่เขียนประวัติศาสตร์อเมริกันของผู้หญิงผิวดำ ย่อมต้องผายมือไปที่คุณแม่ที่โลกนี้รักยิ่งไม่ว่าคุณจะเป็นคนชนชาติใดก็ตาม
โทนี่ มอร์ริสัน เป็นนักคิดและนักเขียนระดับตำนาน เธอเป็นเหมือนอีกหนึ่งผู้นำทางภูมิปัญญาของยุคสมัย งานเขียนของเธอคือการพินิจพิเคราะห์ชีวิต และส่งเสียงของผู้ถูกกดขี่ด้วยวิธีที่ซับซ้อนและแยบยล Beloved เป็นหนึ่งในผลงานที่วงวรรณกรรมร่วมสมัยยอมรับ และมีการกล่าวกระทั่งว่าเสียงและประวัติศาสตร์ของคนผิวดำนั้นถูกบรรจุไว้ผ่านการเล่าแบบวรรณกรรม และเสียงเล่าจากพื้นที่บ้าน เป็นการทั้งส่งเสียงและตอบโต้กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ผลงานและความคิดของเธอมักจะเกี่ยวข้องกับการกดขี่และการโต้กลับ รวมไปถึงการแสวงหาความหมายของชีวิตและความซับซ้อนยอกย้อนของภาษา ความคิดของโทนี่ทั้งที่บรรจุไว้ในวรรณกรรมหรือในปาฐกถาในที่ต่างๆ ทั้งการบรรยายในโอกาสการรับรางวัลโนเบล ไปจนถึงสุนทรพจน์ในการจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ คำพูดที่หนักแน่นของมอร์ริสัน หลายครั้งเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้หวนกลับมาทบทวนหมุดหมายและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี
“Love is or it ain’t. Thin love ain’t love at all,”, Beloved
จะรักหรือไม่ อย่างไรความรักอันบางเบานั้น ไม่ถือเป็นความรักโดยสิ้นเชิง
ความรักครึ่งๆ กลางๆ นับไปเป็นความรักไหม- Beloved นับเป็นงานเขียนที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของโทนี่ มอริสัน กระทั่งเป็นงานสำคัญของงานเขียนของคนผิวดำในกระแสวรรณกรรมร่วมสมัย นักวรรณคดีนิยามว่า Beloved คือการบันทึกประวัติศาสตร์คนผิวดำที่เต็มไปด้วยการกดขี่ ความรุนแรง และเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ การเล่าเรื่องที่ยอกย้อนงานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของคนผิวขาว เอาแค่ประโยคเปิดของ Beloved ที่โควตพระคัมภีร์ว่า ‘I will call them my people, which were not my people; and her beloved, which was not beloved.’
“We mistook violence for passion, indolence for leisure, and thought recklessness was freedom.”, The Bluest Eye
เราหลงมองความรุนแรงเป็นความปรารถนา ความเกียจคร้านเป็นการใช้เวลาว่าง และหลงคิดไปว่าความไม่คิดหน้าคิดหลังเป็นเสรีภาพ
ในความงดงามกลับความชั่ว โทนี่ มอร์ริสันเป็นหนึ่งในนักเขียนที่จริงจังกับภาษา และเป็นคนที่ใช้ถ้อยคำเพื่อรื้อถอนความคิดและความเชื่อบางอย่าง โทนี่ มอร์ริสันเป็นนักเขียนที่จริงจังกับงานเขียน และการเป็นนักเขียนคืออาชีพที่เธอทำเป็นลำดับที่ 3 หลังจากทำอาชีพอื่นๆ มาแล้วทั้งการสอน หลังจากจบปริญญาโทจากคอร์แนลเธอก็ทำงานด้านบรรณาธิการมา 18 ปี The Bluest Eye นวนิยายเล่มแรกของเธอนั้นตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1970 เมื่อเธออายุได้ 39 ปี
“but my lonely is mine. Now your lonely is somebody else’s. Made by somebody else and handed to you. Ain’t that something? A secondhand lonely.” ,Sula
ความเดียวดายในตัวฉันเป็นของฉัน แต่ตอนนี้ความเดียวดายของเธอนั้นเป็นของใครบางคน ที่สร้างและส่งมอบให้เธอ เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า? เจ้าความเหงามือสอง
เราเหงาด้วยตัวเอง หรือถูกทำให้รู้สึกเดียวดาย- Sula เป็นนวนิยายเล่มที่ 2 ต่อจาก The Bluest Eye เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1972 ตัวเรื่องเล่าถึงหนทางของผู้หญิงผิวดำสองคนที่ต่างเลือกเส้นทางของตนเอง และในที่สุดเส้นทางที่แตกต่างกันนั้นนำพวกเธอกลับมาเผชิญหน้าซึ่งกันและกันและนำไปสู่การประนีประนอมเข้าหากัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดนวนิยายเรื่องนี้เล่าถึงความจำเป็นและราคาของการเป็นผู้หญิงผิวดำในอเมริกา
“If you wanna fly, you got to give up the shit that weighs you down,”, Song of Solomon
ถ้าเธอจะโบยบิน เธอต้องทิ้งสิ่งเฮงซวยที่ถ่วงเธอเอาไว้
ตัวตนของเรา หลายครั้งคือการทิ้งบางสิ่งออกไป- คาแรคเตอร์หนึ่งของโทนี่ มอร์ริสัน และไอคอนหญิงผิวดำอันหมายถึงการเป็นคนดำก็ว่ายากแล้ว และการเป็นผู้หญิงอีก แต่ตัวตนที่เรามักจะเห็นจากผู้หญิงผิวดำนั้นคือความแข็งแรง การยืนหยัดอย่างมั่นคง ความเชื่อมั่นในตัวเอง และการก้าวไปข้างหน้า Song of Solomon เป็นนวนิยายที่พอจะนิยามได้ว่าเป็นแนว coming of age คือพูดถึงการเติบโต และการก่อร่างสร้างตัวตนที่บางครั้งการเติบโตนั้นคือการกลับไปสำรวจอดีต ตลอดจนการไล่ตามหาความฝันและการรักษาความหวังเอาไว้
“We die. That may be the meaning of life. But we do language. That may be the measure of our lives,”, 1993 Nobel Lecture
เราล้วนต้องตาย และนั่นอาจเป็นความหมายของชีวิต แต่เรามีภาษา และนั่นคือเครื่องชี้วัดการมีชีวิตของเรา
ถ้าเราต่างไม่ตาย ชีวิตจะยังมีความหมายหรือไม่ ตายหรืออยู่อาจไม่สำคัญเท่าการกะประมาณชีวิตของเรา – ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงชราตาบอด แต่ชาญฉลาดยิ่ง’ สิ่งที่โทนี่ มอร์ริสันทำคือการเล่านิทานขึ้นเรื่องหนึ่งในการรับรางวัลทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนที่เธอจะเล่านิทานในการบรรยายสำคัญในโอกาสรับรางวัลโนเบลนั้น เธอได้ย้ำกับทุกคนว่า ‘นวนิยายไม่เคยเป็นของสนุกสำหรับฉัน มันคืองานที่ฉันทำในฐานะผู้ใหญ่ และฉันเชื่อว่าบันเทิงคดีคือช่องทางอันสำคัญในการรักษา ย่อย และยึดถือในการเล่าเรื่องของเรา’
“If you find a book you really want to read but it hasn’t been written yet, then you must write it.”, Speech at the Ohio Arts Council in 1981
ถ้าคุณมองหาหนังสือที่คุณอยากอ่าน แต่ยังไม่มีใครเขียนหนังสือเล่มนั้น คุณจงเขียนมันขึ้นมาด้วยตัวเอง
การเขียนคือการขั้นกว่าของการอ่าน และคือการอ่านอย่างเชื่องช้า คือข้อความที่มาก่อนก่อนที่มอร์ริสันจะกล่าวกับเหล่าศิลปินว่า ในที่สุดในงานศิลปะใดใดทั้งการเขียนและงานแขนงอื่น งานสร้างสรรค์เหล่านี้คือความยากลำบาก และหลายครั้งคือภาระหน้าที่ที่เราต้องสร้างบางสิ่งที่เราคิดว่าควรมี ที่เราอยากมีนั้นขึ้นมา ความพิเศษหนึ่งของโทนี่ มอริสันคือความชำนาญด้านการใช้ภาษา กระทั่งการให้สัมภาษณ์หรือการกล่าวสุนทรพจน์ใดใด น้ำเสียงและถ้อยคำของเธอนั้นเต็มไปด้วยการคัดสรรค์และมีความเป็นวรรณกรรมที่งดงาม เธอเลือกใช้คำที่ทุ่มนุ่ม คำกล่าวด้วยเสียงต่ำๆ ที่พาเรากลับไปสำรวจความฝันและความเป็นไปอีกครั้ง
“If you can’t imagine it, you can’t have it.”, Lecture at Portland in 1992
ถ้าเธอจินตนาการถึงสิ่งใดไม่ได้ เธอย่อมไม่สามารถมีมันได้
ในบางพื้นที่ บางบุคคล ข้อจำกัดไม่ได้จำกัดแค่กายภาพ แต่จำกัดถึงความฝันและจินตนาการ- จากข้อสังเกตว่างานของมอร์ริสันคืองานที่เจือความเป็นการเมืองเสมอ แน่นอนงานของผู้หญิง ในห้วงสมัยของการกดขี่และการเหยียดเชื้อชาติ กระทั่งสงคราม เลคเชอร์ที่ Portland State University ที่ Oregon ถือเป็นอีกหนึ่งการบรรยายสาธารณะที่ชี้ให้เห็นว่าเธอคือผู้ที่ศึกษา เข้าใจและมองเห็นความอยุติธรรมในสังคม และตั้งใจใช้ภาษา สำนวน และเรื่องเล่าในการปลดแอกและให้เสียงของผู้หญิงผิวดำด้วยวิธีการ และพลังอันแปลกประหลาดของเธอ
“There is no time for despair, no place for self-pity, no need for silence, no room for fear. We speak, we write, we do language. That is how civilizations heal.”, No Place for Self-Pity, No Room for Fear
เราไม่มีเวลาสำหรับความสิ้นหวัง ไม่มีพื้นที่ให้การดูแคลนตนเอง ไม่มีความจำเป็นสำหรับความเงียบ และไม่มีทีว่างให้กับความกลัว เราพูด เราเขียน เราใช้ภาษา และนี่คือหนทางที่อารยธรรมของเราจะได้รับการเยียวยา
ในห้วงวิกฤติ เรามีแต่ต้องยืนหยัดและเชิดหน้าเท่านั้น- ข้อเขียนของ No Place for Self-Pity, No Room for Fear เป็นข้อเขียนใน The Nation เผยแพร่ในปี ค.ศ.2015 ในระยะหลังโลกเราเผชิญกับสารพัดภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการแบ่งแยกทำร้าย ปัญหาผู้อพยพ การเหยียดสีผิวที่ไม่รู้จักจบสิ้น มอร์ริสันในฐานะผู้ที่ต่อสู้และให้เสียงของผู้ถูกกดขี่มานับสิบปี เธอเองก็ยังคงรักษาหน้าที่ของการเป็นผู้ชี้นำทางปัญญา ที่หลายครั้งคือที่ธำรงรักษาความหวังและความเข้มแข็งของมวลชนไว้ งานเขียน งานศิลปะ กระทั่งเสียงเล็กๆ ของทุกคน ไม่ว่าท้องฟ้าจะมืดดับแค่ไหน อารยธรรมอันรุ่งเรืองพังทลายลงเพียงใด ในที่สุดการเยียวยารักษาย่อมปรากฏขึ้นได้ในท้ายที่สุด
“the function of freedom is to free somebody else.”, Commencement Address to Barnard College in 1979
หน้าที่ของเสรีภาพ คือการปลดปล่อยอิสรภาพให้ผู้อื่น
ความหมายของเสรีภาพที่เรามี มีเพื่ออะไร- ดูเหมือนว่าสำหรับโทนี่ มอร์ริสันแล้ว สิ่งที่เธอพยายามทำมาโดยตลอดคือการปลดแอกของผู้คน ในฐานะนักเขียน หรือกระทั่งอาจรวมถึงในฐานะของการเป็นพลเมือง การมีเสรีภาพนั้นดูจะเป็นภาระ เป็นหน้าที่บางประการที่ไม่ใช่สิ่งที่เรามีเพียงเพื่อรักษาอิสรภาพของเราเองเท่านั้น แต่คือการปลดปล่อยผู้อื่นให้มีเสรีภาพดุจเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก