ตามที่ผมได้บอกไปเมื่อคราวก่อนว่า สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปปั่นจักรยานเล่นที่จังหวัดมิยาเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวที่นั่น เป็นแนวทางสำคัญของท้องถิ่นญี่ปุ่นในยุคนี้ที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเที่ยวในท้องถิ่นของตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ดูได้จากศาลเจ้าหรือวัดในหลายๆ ที่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวต่างชาติ (หรือชาวไทยเรานี่ล่ะ) แต่พอไปถามคนญี่ปุ่นแล้วกลับไม่รู้จักเลย ก็เป็นผลจากการขยันโปรโมตแข่งกันนั่นล่ะครับ ยิ่งเข้าไปในโตเกียวแล้ว ก็ยิ่งเห็นความพยายามดึงลูกค้าชาวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในร้านของตัวเองกันอย่างหนัก ทั้งการเปิดเคาน์เตอร์ tax free หรือการพยายามเพิ่มเมนูและคำอธิบายเป็นภาษาต่างๆ กระทั่งคาเฟ่นากเล็บสั้นยังมีใบปลิวภาษาอังกฤษเพื่อลูกค้าต่างชาติเลย
เรื่องทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับการดึงลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการที่ว่ามาก็ต้องกลับมาคิดใหม่อีกที เมื่อมิตรสหายท่านหนึ่งแชร์โพสต์ของชาวต่างชาติในญี่ปุ่นที่โดนปฏิเสธไม่ให้เข้าร้านราเมง ซึ่งที่หน้าร้านก็มีป้ายติดไว้ว่า “ไม่ต้อนรับคนต่างชาติหลังหกโมงเย็น” เห็นแล้วก็สตันไปหน่อยนึง เพราะมันต่างกับแนวทางของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยิ่งในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในอีกแค่สองปี การที่มีกิจการติดป้ายที่กีดกันชาวต่างชาติแบบนี้ แน่นอนว่าสามารถกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ได้ทันที
เจอเรื่องนี้แล้วก็ทำให้นึกย้อนถึงกรณีของ Debito Arudou หรือชื่อเดิมคือ David Aldwinckle ชายชาวอเมริกาที่หลงใหลในประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ได้พบกับเพื่อนทางจดหมายชาวญี่ปุ่นสมัยอยู่มหาวิทยาลัย เลยกลับไปตั้งใจเรียนภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยของตัวเอง พอเรียนจบก็ย้ายมาญี่ปุ่นแล้วก็แต่งงานกับเพื่อนทางจดหมายนั่นล่ะครับ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตทำงานสอนภาษาอังกฤษในบริเวณญี่ปุ่นตอนบนจนได้สัญชาติแล้วเปลี่ยนชื่อตัวเองให้เหมือนชาวญี่ปุ่นยิ่งขึ้น (มีคันจิของตัวเองด้วยนะครับ)
ถ้าใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ก็คงไม่มีอะไรให้ต้องเขียนถึง แต่วันหนึ่งในช่วงปลายยุค 90s ในเว็บบอร์ดของชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่น ก็มีโพสต์ของ Debito เล่าว่าเขาไปเจอออนเซ็นในเมืองโอตารุ ฮอกไกโด ติดป้ายไว้ว่า Japanese Only เท่านั้นล่ะครับ เขาก็เดือดทันที ว่าเลือกปฏิบัติแบบนี้ได้อย่างไร
เขาจึงปฏิบัติการตามเพื่อนต่างชาติทั้งหลายเพื่อที่จะไปใช้บริการที่ออนเซ็นเจ้าที่ว่า ก่อนจะโดนปฏิเสธกลับมา พวกเขาพยายามกันสองครั้งแต่ก็ไปไม่รอด และหลังจากที่เขาได้รับสัญชาติญี่ปุ่น เขาก็พยายามจะไปใช้บริการที่ออนเซ็นเจ้าดังกล่าวอีกครั้ง แต่ผลก็เป็นเช่นเดิม แม้เขาจะพยายามบอกว่า เขาไม่ได้เป็นชาวต่างชาติ แต่เขาโอนสัญชาติเป็นชาวญี่ปุ่นแล้ว แต่ออนเซ็นก็ไม่นำพา พวกเขาถูกปฏิเสธการใช้บริการด้วยเหตุผลว่า เพราะรูปลักษณ์ชาวต่างชาติของพวกเขาอาจทำให้ลูกค้าญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่เข้ามาใช้บริการด้วย
เรื่องยิ่งไปกันใหญ่เมื่อเขาและเพื่อนอีกสองคนตัดสินใจฟ้องร้องออนเซ็นเจ้าดังกล่าว ซึ่งพวกเขาก็ชนะคดีและได้ค่าเสียหายคนละ 1 ล้านเยน และยังฟ้องเมืองโอตารุอี ในข้อหาไม่พยายามกำจัดบรรยากาศของการเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย แม้ข้อหาหลังสุดจะถูกปัดตกไป แต่เท่านี้ก็เป็นข่าวใหญ่และเป็นคดีที่ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา – จากที่เป็นอาจารย์สอนภาษา เขาได้กลายมาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและนักเขียน
ฟังดูก็เหมือนเรื่องจะจบลงด้วยดี ผู้ประกอบการที่กีดกันชาวต่างชาติได้รับบทเรียนว่าโลกาภิวัตน์คืออะไร แต่จริงๆ แล้ว มีอะไรมากกว่านั้น
เรื่องของเรื่องคือ ออนเซ็นเจ้าดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองโอตารุ ที่แน่นอนว่าเป็นเมืองท่า และหนึ่งในกลุ่มคนที่วนเวียนเข้ามาในเมืองท่าแห่งนี้คือกะลาสีเรือชาวรัสเซียที่ออกเดินสายจับปลาในละแวกนั้น และแวะมาเทียบเรือเพื่อพักชั่วคราว ถ้าจะให้พูดแบบไม่ pc (politically correct) มากนัก ก็ต้องบอกว่ากะลาสีเรือเหล่านี้ไม่ได้สนใจธรรมเนียมอะไรหรอกครับ พวกเขาคงเห็นว่าที่นี่ก็เหมือนเมืองท่าอื่นๆ ที่เหมาะกับการเข้าเทียบ ลงไปหากิน หาเที่ยว เมาให้เต็มที่ เพื่อเตรียมออกเดินทางอีกครั้ง แน่นอนว่าส่วนผสมดังกล่าว เมื่อบวกเข้ากับออนเซ็นแล้วก็เป็นสมการแห่งความวินาศได้ เท่าที่ได้อ่านจากอีกมุมหนึ่ง ออนเซ็นเจ้าดังกล่าวมักจะพบปัญหากะลาสีชาวรัสเซียเข้าไปใช้บริการแล้วก็ไม่ได้สนใจมารยาทในการใช้ออนเซ็น ทำเอาลูกค้ารายอื่นเอือมจนเลี่ยงไม่ไปใช้บริการ แถมยังเกิดเรื่องเมาอาละวาดสร้างความเสียหาย
ออนเซ็นก็คงอยากจะแบนไม่ให้กะลาสีชาวรัสเซียเข้าใช้บริการนั่นล่ะครับ แต่จะบอกว่าไม่รับชาวรัสเซียก็ยากอีก จะขอดูหนังสือเดินทางก่อนก็คงไม่ใช่ ก็เลยทำอะไรสไตล์ญี่ปุ่น คือไม่ขาวก็ดำไปเลย ไม่ค่อยทำอะไรเทาๆ ตัดสินใจแบนชาวต่างชาติไปเลย…จบเรื่อง กลายเป็นที่มาของป้ายหน้าออนเซ็นอันอื้อฉาว
บอกตรงๆ ว่า เท่าที่เคยทำงานกับชาวญี่ปุ่นหรือสังเกตสังคมญี่ปุ่นมา ก็มักจะเห็นอะไรแบบนี้บ่อยเหมือนกัน เพื่อไม่ให้ต้องเกิดการตัดสินใจแบบ case by case หรือผลักภาระให้กับพนักงานเป็นคนตัดสินใจ หรือต้องคอยไปถามนายทีละครั้ง เขาเลยเลือกแบนทั้งหมดให้จบๆ แบบเดียวกับการห้ามคนมีรอยสักใช้บริการออนเซ็นหรือสระน้ำสาธารณะนั่นล่ะครับ แน่นอนว่าแต่เดิมมันเป็นสัญลักษณ์ของยากูซ่า เจ้าของกิจการที่ไม่อยากให้ยากูซ่าเข้ามาใช้บริการก็เลยติดประกาศไว้ แต่ปัจจุบันรอยสักแฟชั่นเริ่มเป็นที่นิยม มีคนสักมากขึ้น กลายเป็นว่าคนกลุ่มหลังก็เข้าใช้บริการของออนเซ็นหรือสระน้ำไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาห้ามคนมีรอยสัก จะบอกว่าไม่ใช่ยากูซ่านะ…ให้เข้าสิ ก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาไม่ได้ห้ามยากูซ่า แต่ห้ามคนมีรอยสัก จะให้พนักงานมานั่งตัดสินใจก็ไม่ใช่เรื่อง
นี่ล่ะครับ วิธีแก้ปัญหาสไตล์ญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าไม่ดีหรืออย่างไร แต่วิธีการตัดไฟแต่ต้นลมแบบนี้ จะว่าไปก็คล้ายกับร้านอาหารที่มีเดรสโค้ดหรือคลับที่มีคนคอยคุมว่าจะให้ใครเข้าหรือไม่เข้า
เพียงแต่ว่า ที่กรณีนี้เป็นปัญหาขึ้นมาไม่ใช่เพราะใช้การแต่งกายหรือความเท่เก๋ไก๋เป็นตัวตัดสิน แต่กลายเป็นเชื้อชาติแทน
แม้ร้านอาหารหรือบริการหลายแห่งจะพยายามปรับตัวเข้ากับนักท่องเที่ยว แต่อีกหลายที่ก็ยังไม่ได้ปรับตัวตาม ล่าสุดก็เห็นมิตรสหายอีกท่านโวยกับโรปเวย์ที่ปิดให้บริการในจังหวัดมิยากิ แต่แจ้งเฉพาะในเพจภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ได้มีประกาศเป็นภาษาอังกฤษ ก็ปล่อยให้ชาวต่างชาติวืดไปสิครับ ร้านอาหารหลายร้านก็ไม่ได้มีเมนูอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ ไม่ได้มีภาพอะไรให้สั่งเลย เป็นการไม่ต้อนรับชาวต่างชาติแบบกลายๆ เรียกได้ว่าขายดีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องง้อลูกค้าต่างชาติ เลยไม่แปลกที่ร้านเก่าแก่หลายร้านไม่ยอมให้ถ่ายทำรายการหรือถ่ายรูปไปลงสื่อ เพราะไม่ต้องการลูกค้าขาจรใหม่ๆ แค่ลูกค้าประจำก็พอแล้ว
พอเข้าไปดูสาเหตุแล้วก็พอเข้าใจว่าทำไมบางร้านถึงแปะป้ายไว้แบบนั้น ซึ่งนำไปสู่จุดที่ชวนให้คิดเหมือนกันว่า ในเมื่อเป็น ‘ธุรกิจส่วนบุคคล’ ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษามาตรฐานในการให้บริการทุกคน (เพราะไม่ใช่บริการที่จำเป็น เช่นการที่แพทย์จะบอกว่าจะไม่รักษาใครก็ไม่ได้) ในเมื่อการเปิดรับทำให้เกิดผลเสียมากกว่า
แม้จะไม่รู้ว่าเจ้าของร้านราเมงต้นเรื่องไปเจออะไรมาบ้างถึงแปะป้ายหราขนาดนั้น แต่อย่างกรณีของออนเซ็นก็เห็นได้ชัดว่า เขาเองก็ต้องปกป้องกิจการของตัวเองในเมื่อลูกค้าคนอื่นได้รับผลกระทบ เห็นแบบนี้ก็น่าคิดนะครับว่า ตกลงแล้วอะไรคือความเหมาะสมในกรณีแบบนี้