‘มะลิลา’ หนังสัญชาติไทยที่คว้ารางวัลมาแล้วทั่วเอเชีย ตั้งแต่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Kim Ji-Seok Awards ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน, รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติสิงคโปร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปฉายในทวีปยุโรปและอเมริกาอีกด้วย
แม้ว่ามะลิลาจะไม่ใช่หนังกระแสหลัก แต่ก็ได้นักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘เวียร์ ศุกลวัฒน์’ และ ‘โอ อนุชิต’ มาร่วมแสดงนำในบทบาทที่เราอาจเห็นได้ไม่บ่อยนัก ผ่านการแสดงที่นุ่มนวล งดงาม และเปราะบาง เช่นเดียวกันกับดอกมะลิ โดย ‘มะลิลา’ จะเริ่มฉายให้คนไทยเราได้ชมกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
The MATTER ได้พูดคุยกับ ‘นุชี่—อนุชา บุญยวรรธนะ’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘มะลิลา’ ถึงที่มาที่ไปของการสร้างหนังเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ กับธรรมชาติ ความสนใจเกี่ยวกับพิธีกรรมบายศรี สุนทรียะในการเล่าเรื่องที่โดดเด่นผ่านบรรยากาศ การแสดงที่ประณีตและอ่อนโยน รวมถึงชีวิตที่ขับเคลื่อนความตายมาโดยตลอด
The MATTER : ‘มะลิลา’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
นุชี่ : มะลิลาเป็นหนังที่อยากทำมานานแล้ว จริงๆ ควรเป็นหนังเรื่องแรก แต่เราไม่สามารถสร้างให้สำเร็จได้ในเวลานั้น ส่วนโจทย์ของมันจริงๆ คือความชอบ เป็นแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เจอในการใช้ชีวิตทั้งสิ้น มันเลยไปรวมกันอยู่ในหนังเรื่องนี้
The MATTER : มะลิลาเป็นโปรเจ็กต์เก่า ความคิดในการสร้างยังคงเหมือนกับที่เคยเตรียมไว้ไหม
นุชี่ : เป็นธรรมดาของโปรเจ็กต์ที่ถูกบ่มไว้นาน ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป พอใช้ชีวิต มุมมองเปลี่ยน เราเลยต้องเปลี่ยนหนังตามไปด้วย มีเวลาชั่งใจว่าอะไรที่ควรจะอยู่หรือไม่อยู่ในบทมากขึ้น แต่โครงสร้าง ธีม แก่นเรื่อง ประเด็กหลักอย่างเรื่องการบายศรี ศาสนา เกย์ ยังคงอยู่เหมือนเดิม
The MATTER : เพราะอะไรถึงต้องเป็นดอก ‘มะลิลา’
นุชี่ : เราชอบพวกต้นไม้ ดอกไม้ มันเป็น impression ของเราอยู่แล้ว ในหนังเรื่องมะลิลาต้นไม้ก็ specific ทุกต้น ทีมงานปวดหัวมาก ในบทเราระบุว่าตัวละครจะต้องไปนั่งอยู่ใต้ต้นกันเกรา เอ้า อีห่า ต้นกันเกราคืออะไร จะไปหาได้ที่ไหน ซึ่งต่อให้เราระบุต้นไม้ที่รองลงมา มันก็ยากอยู่ดี
ซึ่งตัวดอกมะลิ ก็ถือเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่ทำยากที่สุด มันสวย บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม แต่ก็เปราะบางมาก ดอกไม้ฝรั่งเขาเอาดอกเดียวตั้งแล้วก็จบ งานดอกไม้ไทยมันจุกจิกหลายขั้นตอน เป็นการทำดอกไม้จากดอกไม้ ดอกช่อหนึ่งอาจจะเกิดจากดอกมะลิ 5 ดอกรวมกัน ก็เลยต้องใช้ดอกไม้และช่างฝีมือเยอะ
ตอนถ่ายทำกินเวลาเป็นวัน แต่ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องร้อยเปลี่ยนระหว่างวัน เพราะอยู่ได้ไม่นานมันก็เหี่ยว เลยชวนให้คิดว่าคุณค่ามีอยู่จริงไหม แล้วคุณค่าคืออะไร ชีวิตเราพยายามแทบตายกว่าจะเป็นนู่นเป็นนี่ สุดท้ายก็ต้องถูกลืม และถูกทิ้งไป
The MATTER : ดูเหมือนว่ามะลิลานั้นให้ความสำคัญกับสุนทรียะค่อนข้างมาก คุณใช้ความงามสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์อย่างไร
นุชี่ : เวลามองความงาม เราชอบความงามที่ดูไม่ค่อยปรุงแต่ง เราพยายามที่จะ base on realistic พอสมควร ถามว่าหนังมันสะท้อนความสัมพันธ์ของตัวละครยังไง ก็คงเป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศที่เป็นห้วงอารมณ์ในหนัง ให้มันสามารถโอบอุ้มความสัมพันธ์ของตัวละครไว้ได้ ก็เลยดูละมุนละไม
อย่าง ‘อนธการ’ ลูกฆ่าพ่อแม่ตัวเองแต่ก็จะมีความซอฟต์ ซึ่งถ้าผู้กำกับคนอื่นทำอาจดูดิบเถื่อนกว่านี้ก็ได้ ใน ‘มะลิลา’ ก็มีศพนะ มีการอสุภกรรมฐาน มีความอัปลักษณ์ มีความงาม แต่ทุกอย่างถูกนำเสนอในลักษณะที่ผ่านสายตาของเรา ซึ่งบางคนก็บอกว่าภาษาเหมือนกวี
น้ำเป็นสัญลักษณ์ที่ Universal มาก คุณจะมองน้ำเป็นการชำระล้าง การเปลี่ยนผ่านของเวลา หรือความไม่จีรังยั่งยืนก็ได้ทั้งนั้น
The MATTER : ทำไมหนังของคุณมักมี ‘สายน้ำ’ เป็นส่วนประกอบ
นุชี่ : เราอาจจะชอบสายน้ำอยู่แล้ว เวลานั่งริมน้ำก็ชอบมอง มันสงบดี ตอนเราถ่ายหนังสมัยเรียนเรื่อง ‘ตามสายน้ำ’ ก็คิดว่าตัวเองถ่ายช็อตน้ำได้ดีแล้วมีความหมาย อย่างใน ‘อนธการ’ เองก็มีช็อตน้ำ ‘มะลิลา’ ก็มีเหมือนกัน มันเป็นการพัฒนางานของเรา เป็น signature shot ที่เราใช้ ก็ต้องดูว่าจะทำยังไงให้มันไม่ซ้ำซาก ดูไม่ธรรมดา และต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่คนดูเขาตีความไป เรามานั่งศึกษาดู ก็จริงอย่างที่เขาบอก เพราะว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ที่ Universal มาก คุณจะมองน้ำเป็นการชำระล้าง การเปลี่ยนผ่านของเวลา หรือความไม่จีรังยั่งยืนก็ได้ทั้งนั้น
อย่างมะลิลาเองก็เป็นการกลับมารวมกัน เราว่ามันเป็นความรู้สึกของความรักความอาลัยที่เกิดขึ้น เพราะเราอยากจะพบเจอคนๆ หนึ่งอีกสักครั้ง และอยากให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของเราตลอดไป หนังก็เลยเป็นความรู้สึกต่างๆ ที่ตัวละครหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง มันก็ดู Sensual ดีมั้ง
The MATTER : การนำเสนอเรือนร่างของมนุษย์ในหนังเรื่องนี้ เป็นมุมมองแบบ Sensual หรือ Sexual
นุชี่ : ในฐานะที่เรามองความงามของผู้ชายอยู่แล้ว บางคนอาจมองว่ามันโจ่งแจ้ง แต่นั่นเป็นสิ่งที่เรามองว่ามันเซ็กซี่ เราต้องการถ่ายให้ดูเย้ายวน เวลาเรากินผู้ชายคนนึง ก็ต้องเสิร์ฟน้ำ มีออเดิร์ฟ มี main course แล้วก็ปิดด้วยของหวาน ถ้าดูหนังก็จะเห็นว่าอะไรคือสิ่งเหล่านี้
จะบอกว่าเราไม่ได้สนใจ Sexual เลย ก็ไม่ใช่ เพราะส่วนตัวเราก็ชอบเซ็กซ์ ชอบความ Sensual อยู่แล้ว ก็เลยมาปรากฏในหนัง
The MATTER : เซ็กซ์ที่ Sensual จะกลายเป็นความไม่สมจริงไหม
นุชี่ : ปกติเวลาเรากำกับเลิฟซีน ฉาก Sensual มันจะเป็น realistic คัตติ้งแรกที่ตัดออกมาให้โปรดิวเซอร์ดู มันจริงเกินไป เหมือนเรานั่งมองเขามีอะไรกันตรงหน้า ทำให้สิ่งที่เราปูมาตั้งแต่ต้นถูกลืม เลยต้องหาจุดที่พอเหมาะพอดี
เลิฟซีนที่คัตสั้นๆ ก็ได้อารมณ์อีกแบบ แต่ยากที่จะทำให้เกิดความ realistic เราเลยชอบใช้คัตยาวๆ เพราะเวลาคนมีอะไรกันมันนานนะ 2 นาทีเสร็จก็ไม่ใช่ แต่นานแค่ไหนที่ทำให้รู้สึกสมจริงและไม่ตกไปสู่ความอึดอัด การทำพวกนี้ก็เป็นศิลปะนะ เราไม่รู้ว่าตัวเองบาลานซ์ได้ดีหรือยัง ต้องรอว่าคนดูเขาจะว่ายังไง
The MATTER : กลัวไหมว่าหนังของคุณจะกลายเป็นแฟนตาซีของเกย์
นุชี่ : เป็นก็เป็นไปสิคะ หนังมันพูดถึงความงามอยู่แล้ว ความงามของดอกไม้ ความงามของธรรมชาติ ความงามของความสัมพันธ์ ความงามของเรือนร่าง สิ่งเหล่านี้เป็นแฟนตาซีของคนได้ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันเราก็นำเสนอความเสื่อมสลาย ความอัปลักษณ์ ความไม่จีรังยั่งยืน อาจจะต้องทำใจไว้ว่า เมื่อคุณเห็นสิ่งที่ Sensual และดีงาม คุณก็ต้องเห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ด้วย
The MATTER : ดูเหมือนคุณตั้งใจออกแบบตัวละครและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ให้ต่างจากภาพจำของหนังเกย์ทั่วไป
นุชี่ : ผู้ชมต่างชาติอย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกง เขาบอกว่ามันแปลกไปจากหนังเกย์ที่เขาเคยดู ปกติหนังเกย์หรือหนัง LGBT มักเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคม ต่อสู้ในการเปิดเผยตัวเอง แต่หนังเรื่องนี้ไม่เป็นแบบนั้น เรามองว่าตัวละครเพศทางเลือกทั้งหลายก็เป็นมนุษย์ปกติ เราทำตัวละครนี้เพราะเราเข้าใจเขาดี เพศ LGBT ถึงได้เป็นตัวละครหลักของหนังเรา
ในหนังมันไม่ได้พูดถึงปัญหาของเพศที่สามโดยตรง แต่ก็มีการนำเสนออยู่ เพียงแต่เราเลือกประเด็นที่เป็น universal มนุษย์ชายหญิงทั่วไปก็ต้องพบเจอ ซึ่งเราเองสนใจเรื่องของสังคมและปรัชญาด้วย เลยมีการพูดถึงประเด็นของมนุษย์ทั่วๆ ไป อย่างเรื่องของชีวิต เรื่องของความเชื่อ
The MATTER : ทำไมหนังเกย์มักสร้าง ‘พื้นที่เฉพาะ’ ขึ้นมา
นุชี่ : เราก็ไม่แน่ใจ แต่สำหรับเรา เรามีพื้นที่พิเศษแบบนี้เพราะเราก็เป็น LGBT ฉะนั้นนี่คือเรื่องจริง ตอนเด็กๆ ฉันก็มีพื้นที่พิเศษของฉัน ความรักตอนที่ฉันยังเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้เปิดเผยมากนัก อย่างหนัง Call Me by Your Name ก็มีฉากที่เอลิโอจะพาแฟนเขาไปที่สระน้ำ มันพ้องกันโดยบังเอิญ เราว่ามันเป็นประสบการณ์ร่วมของคนที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศทางเลือกมากกว่า
มะลิลาก็มีพื้นที่เฉพาะเหมือนกัน แต่อาจเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครเข้าไป เช่น กระท่อม ซุ้มต้นไม้ พอดูแบบนี้ก็อาจวิเคราะห์ว่าตัวละครเป็นเกย์ ลี้ลับ ต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะเพื่อให้เกิดความรักที่อิสระ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อ้างอิงจากความเป็นจริงด้วย เพราะพื้นที่ส่วนตัวของเราในชีวิตจริงก็เป็นลักษณะนั้น
The MATTER : ทำไมเหตุการณ์ในเรื่องถึงเกิดขึ้นที่ชนบท
นุชี่ : เราอยากทำเรื่องบายศรี เลยมองว่าน่าจะเกิดขึ้นในภาคอีสาน เพราะว่าภาคอีสานมีวัฒนธรรมการทำบายศรีที่งดงาม แล้วเราก็ชอบผู้ชายอีสานด้วย เสียงพูด สำเนียงของเขา มันเซ็กซี่สำหรับเรา ซึ่งในขณะเดียวกันหนังก็ต้องเล่าถึงความเป็นธรรมชาติ ส่วนใหญ่เลยเป็น earthy elements เป็น setting อย่างต้นไม้ ใบหญ้า พื้นดิน
The MATTER : นอกจากสิ่งเหล่านี้ ยังมีอย่างอื่นที่คุณคิดว่ามันคือความเป็นธรรมชาติอีกไหม
นุชี่ : สิ่งหนึ่งที่เราชอบในตัวเวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) แล้วก็โอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) คือเขาไม่ได้ทำหน้ามา เป็นหน้าที่ไม่ได้ปรุงแต่ง เราชอบความงามแบบนี้ เราชอบมากเวลาเวียร์โกนผมมา แล้วมีรอยบาดตรงหัว ดูมีเรื่องราวนะ ทำไมมีแผลตรงนี้ ทำไมมีขนตรงนี้ อย่างโอก็มี ทำไมหลังเธอมีรอยนี้ ความธรรมชาติของเรือนร่างมันเป็นเสน่ห์ มนุษย์งามตามธรรมชาติได้โดยที่ไม่ต้องปรุงแต่งเยอะ
The MATTER : ระหว่างความเป็นธรรมชาติ กับความมีชื่อเสียงของนักแสดง คุณห่วงเรื่องไหนมากกว่ากัน
นุชี่ : การเลือกนักแสดงที่มีชื่อเสียง มันก็ต้องแมตช์กับสุนทรียะอย่างอื่นด้วย เขาเหมาะกับบทไหม การแสดงเขาเป็นยังไง รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง ใช่อย่างที่เราชอบรึเปล่า ซึ่งทั้งคู่เพอร์เฟ็กต์
เรายอมรับตรงๆ ว่าพอได้นักแสดงที่มีชื่อเสียงมาเล่น ก็จะมีคนที่ไม่เคยสัมผัสหนังแบบนี้มาก่อน อาจเป็นคนที่ดูแค่ละครโทรทัศน์อย่างเดียวมาดูหนังก็ได้ ไหนลองดูหน่อยซิว่าเรื่องนี้เป็นยังไง เขาอาจจะชอบ หรืออาจจะบอกว่าแปลกดี ซึ่งถ้ามันมีกลุ่มคนแบบนั้นมากๆ เข้า ต่อไปคนทำหนังอินดี้ก็จะมีพื้นที่มากขึ้น ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำตรงนี้ได้ เราก็จะทำ
The MATTER : แล้วส่วนอื่นๆ ยังคงความเป็นคุณอยู่ไหม
นุชี่ : เรื่องนี้อิสระและเป็นเราทั้งหมดเลย แต่ก็ยอมรับว่าเราเป็นผู้กำกับที่ต้องฟังเสียงคนดู ยึดโยงกับคนดูอยู่พอสมควร เราเคยฉาย ‘อนธการ’ ไปแล้ว ก็ฟังความคิดเห็นจากคนดู แล้วเอามาประมวลผลว่าจะทำยังไงถึงจะเป็นที่ชื่นชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นแนวทางของตัวเองด้วย เราไม่ใช่ผู้กำกับแบบที่ทำหนังสุดโต่ง คืออย่างน้อยมันก็เป็นหนังที่เล่าเรื่อง ไม่ได้ทดลองมาก มีเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้คนดูสามารถติดตามและทำความเข้าใจได้ ไม่ได้ดูง่ายหรือยากเกินไป
The MATTER : นอกจากความชอบในวัฒนธรรมอีสานแล้ว ทำไมคุณถึงสนใจพิธีกรรมบายศรี
นุชี่ : ถ้าพูดถึงบายศรีเราก็จะนึกถึงบายศรีสู่ขวัญ เวลามีเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เขาก็จะมีการเรียกขวัญ เป็นความเชื่อว่าเวลาเราจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ก็อยากให้คนมีสมาธิ มีความตั้งใจ มีจิตวิญญาณที่สมบูรณ์ บายศรีมาจากธรรมชาติ ชีวิตเรากำเนิดมาจากธรรมชาติ ที่สุดแล้วก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติไป
เรารู้สึกว่าบายศรีเป็นศิลปะของผู้หญิง แต่ไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญเท่าไหร่ เวลาไปดูงานพระเมรุหรืออะไรต่างๆ คนก็ไม่ได้มองเห็นมันนะ จะมองเลยไปเห็นตัวพระเมรุ ราชรถ รูปปั้น หรือว่าในพิธีกรรมต่างๆ คนก็ไม่ค่อยได้สนใจตัวบายศรี เขามองว่าเป็นแค่เครื่องบวงสรวง เครื่องถวายแด่เทพเจ้า เลยเป็นอะไรที่เหมือนมองผ่านไปเลยก็ได้ แต่เราว่ามันมีคุณค่า เลยอยากนำเสนอศิลปะตัวนี้ แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องให้คนไปจ้องมองมันนะ
The MATTER : แล้วทำไมถึงเอาเรื่องดอกไม้ เรื่องบายศรีมานำเสนอโดยผู้ชาย
นุชี่ : ตอนที่ไปเรียนทำบายศรี ทำมาลัย เราก็เรียนจากผู้ชาย ไม่ได้เข้าไปเรียนกับวิทยาลัยในวังหญิง การจะหาผู้ชายที่จะมารับบทแบบนี้ยากจะตาย ลองนึกถึงดาราผู้ชายคนอื่นให้เขาถือดอกไม้สิ ส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าเขาทำ ให้เวียร์ถือดอกไม้ เราเชื่อไหมว่าเวียร์ร้อย ก็ไม่ แต่ว่าโอ-อนุชิตมีคุณสมบัติพิเศษข้อนี้ เขาถือดอกไม้แล้วเราเชื่อว่าเขาทำ
งานบายศรีเป็นศิลปะของผู้หญิง ก็เหมือนกับมุมมองที่เป็น Feminine ไม่ค่อยถูกให้ค่า การที่เราทำสิ่งนี้ขึ้นมาก็ด้วยเหตุผลว่า ผู้ชายพวกนี้ไม่เห็นชื่นชอบกับอะไรเลย เราก็สงสัยว่าแล้วทำไมฉันถึงชอบ ฉันมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงาม มีคุณค่า แต่ผู้ชายบางคนก็มองผ่านไป เราเลยอยากนำขึ้นมาให้เห็น
The MATTER : การที่ตัวละครฝ่ายหนึ่งเป็น Feminine มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ถือเป็นความตั้งใจไหม
นุชี่ : การที่ตัวละครเป็น Masculine และ Feminine จะบอกว่าเป็นสันดานก็ได้ เพราะเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นคนที่มีความ Feminine ถ้าสมมติว่าเราเป็นบอยๆ แมนๆ เราอาจจะไม่ได้ทำหนังแบบนี้ก็ได้ ที่เราเลือกตัวละครให้เป็น Feminine และ Masculine เพราะมันเป็นเรื่องที่เรารู้ดี
The MATTER : ทำไมตัวละครของคุณมักเกี่ยวข้องกับความตาย
นุชี่ : มีคนเคยบอกว่าเราเป็น Dead Drive ชีวิตเรามักจะเกี่ยวข้องกับความตาย เคยมีผู้ชายที่เป็นมือปืนเข้ามามีความสัมพันธ์กับเรา ถ้าเป็นคนอื่นคงขอบาย มึงจะฆ่ากูหรือเปล่า แต่เราไม่กลัว มันเร้าใจ เราชอบ บางทีเป็นทหารรับจ้าง ทหารสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรารู้สึกว่าพวกเขาเหมือนผ่านความตายมา มีแผลสะเก็ดระเบิดตรงนั้นตรงนี้ เราก็เลยชอบพูดเรื่องความตายมั้ง
The MATTER : แล้วเคยนึกถึงความตายของตัวเองบ้างหรือเปล่า
นุชี่ : นึกอยู่เรื่อยๆ เลย เรากลัวว่าเราจะไม่ตายดี รู้สึกอยากเอาชนะ อยากขจัดความรู้สึกกลัวตายออกไป เรื่องผู้ชาย เงิน งาน จะหมดความหมายทันทีเมื่อเรานึกถึงความตาย บางคนบอกว่าไม่กลัวตาย แต่ถ้าเจอประสบการณ์เฉียดตาย หรือใกล้ความตาย คุณจะมองมันยังไง เราลองไปเพ่งศพ ไปบวช ไปเสี่ยงอันตราย เราว่ามันลึกลับ เราไม่สามารถเอาชนะมันได้ และยังเป็นเรื่องที่เราต้องสู้กับมันอยู่
The MATTER : การทำหนังที่เกี่ยวกับความตาย ช่วยให้คุณคลี่คลายมันขึ้นไหม
นุชี่ : ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสนใจความตาย เพราะเพื่อนคนสำคัญคนหนึ่งของเรา เขาเสียไปตั้งแต่อายุยังน้อย เลยทำให้เราช็อกเรื่องความตาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระลึกถึงเขาด้วย ตอนวันถ่ายใน sequence ครึ่งองก์แรกของหนัง เหมือนมันจบเรื่องของเพื่อนแล้ว เราก็ร้องไห้ รู้สึกว่าจะไม่ได้เห็นภาพนี้อีกแล้ว เหมือนเป็นการบอกลาในครั้งสุดท้าย เป็นเหมือน farewell flower ให้เธอไป
ถ้าถามว่าเราได้เรียนรู้ความตายจากการทำหนังไหม มันเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตัวหนังมันเป็นสิ่งที่เราถ่ายทอดออกมาให้กับผู้ชมมากว่า ระหว่างการทำก็ได้เรียนรู้เพิ่ม แต่เราก็เรียนรู้จากอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะหนัง