ดูเหมือนว่าความฝันที่ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงไว้ใช้กำลังใกล้ความจริงเข้าไปทุกที เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้ ม.44 ยกเว้นกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทั้งหลาย เคลียร์ทางให้รัฐวิสาหกิจสัญชาติจีนเข้ามาสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ได้สะดวก
ถ้าเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ อีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะมีทั้งรถไฟความเร็วสูงสายอีสานที่ดำเนินการสร้างโดยบริษัทจากจีน และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่จะใช้เทคโนโลยีเดียวกับรถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น
เรียกได้ว่าเป็นรถไฟไทยแลนด์สุดเก๋ 1 ประเทศ 2 ระบบ เข้ากับโลกยุคโลกาภิวัตน์ไร้ชาติไร้พรมแดนในตอนนี้เป็นไหนๆ
ทั้งหมดนี้อาจทำให้ใครหลายคนดีใจ ว่าในที่สุดแล้วความฝันที่จะได้มีบ้านหลังใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด และจับรถไฟไฮสปีดชิคๆ เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทุกเช้าจะได้เป็นจริงเสียที หลังจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศที่เสนอโดยรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ถูกตัดตอนให้เป็นหมันไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557
แต่ผมอยากจะเสนอว่า รถไฟขบวนที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านการใช้ ม.44 อาจไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างที่หลายคนหวัง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการสร้างรถไฟสายนี้ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าระบบรางของรถไฟสายนี้อาจไม่สามารถเชื่อมกับรถไฟสายเหนือที่สร้างโดยญี่ปุ่นและเส้นทางรถไฟที่ลงมาจากประเทศจีนได้เท่านั้น[1]
แต่เป็นเพราะว่าในกระบวนการได้มาซึ่งรถไฟขบวนใหม่นี้ เราได้ทำให้เนื้อดินที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยื่นเสียหายลงไปอย่างย่อยยับ
ประชาชนต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ ประเทศจึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน : บทเรียนจากบอตสวานา
ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อประเทศบอตสวานา (Botswana) ประเทศแลนด์ล็อกไม่ติดทะเลที่อยู่ทางใต้ของทวีปอาฟริกา แม้จะมีข้อเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ แต่บอตสวานากลับสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ โดยเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรากว่า 10% ต่อปีเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1966 บอตสวานาก็เติบโตในอัตรากว่า 10% ต่อเนื่องเรื่อยมา จนเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจก็ยังเติบโตในอัตรากว่า 6-7% ต่อปี จนเพิ่งเริ่มจะมาชะลอลงในช่วงหลังปี 2010 นี่เอง
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานของบอตสวานาทำให้ผู้คนในแวดวงการพัฒนาหันมาสนใจ และตั้งคำถามว่าเหตุใดเศรษฐกิจของบอตสวานาจึงสามารถขยายตัวในระดับสูงจนกลายเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในช่วง 35 ปีหลังสุดได้[2]
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะบอตสวานาเป็นแหล่งเหมืองเพชรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทรัพยากรธรรมชาติที่รุ่มรวยอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศพัฒนาก็เป็นได้ แต่จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่า การที่ประเทศอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินั้น ที่จริงแล้วเป็น ‘คำสาป’ ให้ประเทศพัฒนาช้าลงด้วยซ้ำ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาค้นพบมานานแล้วว่ายิ่งประเทศไหนมีทรัพยากรธรรมชาติมาก การขยายตัวของ GDP ของประเทศนั้นกลับยิ่งต่ำลง[3] ปรากฏการณ์เช่นนี้ถูกเรียกว่า “คำสาปของการมีทรัพยากรธรรมชาติล้นเหลือ” (natural resource curse)
ถ้าเหมืองเพชรที่มีอยู่เต็มประเทศไม่ใช่คำตอบ แล้วอะไรกันที่ทำให้บอตสวานาสามารถเดินไปบนเส้นทางการพัฒนาที่เติบโตรวดเร็วและยั่งยืนได้
ผู้คนในวงการการพัฒนาพยายามตอบคำถามนี้ แล้วพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้บอตสวานาสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดจากการที่บอตสวานามีสถาบัน (institution) ทางการเมืองที่เหมาะสม
บอตสวานาได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการมีสถาบันทางการเมืองภายในที่จำกัดอำนาจของผู้ปกครองและกลุ่มชนชั้นนำ สถาบันเหล่านี้พัฒนามาเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อนที่บอตสวานาจะตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร ดังนั้นแล้ว ภายหลังจากได้รับเอกราชในปี 1966 บอตสวานาจึงกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีวัฒนธรรมการตรวจสอบการใช้อำนาจของชนชั้นนำอย่างแข็งขัน[4]
โครงสร้างทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจถูกตรวจสอบโดยประชาชนอย่างเข้มข้นสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปของธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของประเทศที่อยู่ในระดับสูงด้วยด้วย งานศึกษาเรื่อง State Formation and Governance in Botswana ได้จัดอันดับให้ระดับความโปร่งใสและการมีธรรมาภิบาลของบอตสวานาอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก[5]
นอกจากนี้ การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกในปี 2016 ยังพบว่าบอตสวานาเป็นประเทศที่โปร่งใสที่สุดในอาฟริกา โดยอยู่อันดับที่ 35 ของโลกจากทั้งหมด 176 ประเทศ[6]
ส่วนพี่ไทยไม่ต้องพูดถึง ไม่ชอบเลข 2 หลัก อยู่สวยๆ ในอันดับที่ 101
การมีสถาบันทางการเมืองที่เหมาะสมที่เอื้อให้ประชาชนในประเทศสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองได้นี่เอง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้รัฐบาลของบอตสวานาต้องออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีและเป็นประโยชน์จริงต่อประชาชน ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยาวนานกว่า 4 ทศวรรษอย่างที่ทั่วโลกได้ประจักษ์แล้ว
รถไฟสายใหม่คงพาไทยไปไม่ถึงฝัน
ถ้าจะมีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนาของประเทศทั่วโลก รวมถึงจากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 40 ปีที่ผ่านมาที่บอตสวานา สิ่งนั้นคือระดับการพัฒนาของประเทศไม่ได้กำหนดจากเพียงจำนวนของทรัพยากรมนุษย์ (human capital) ทรัพยากรทางกายภาพ (physical capital) และระดับของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่ทรัพยากรเหล่านี้ได้อยู่ในประเทศที่มีเนื้อดินที่ดี นั่นคือการมีสถาบันทางการเมืองที่เหมาะสม ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ประชาชนและลดอำนาจผู้ปกครอง
ในประเทศที่เนื้อดินเหล่านี้เป็นพิษ ก็เป็นการยากที่วิสัยทัศน์ ปัญญา หรือทรัพยากรที่มีคุณค่าใดๆ จะงอกเงยและงอกงามได้ ไม่ต้องพูดถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้งและคิดอย่างรอบคอบที่คงไม่มีทางเกิดขึ้น มิหนำซ้ำ การใช้ ม.44 ในกระบวนการสร้างรถไฟสายใหม่ในครั้งนี้ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำและซ้ำเติมให้เนื้อดินเหล่านี้ของไทยที่เลวอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก
ด้วยโจทย์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับอย่างเร่งด่วน จึงไม่ใช่การเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เสร็จเร็วที่สุดโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่คือการเร่งปรับความสัมพันธ์ทางการเมืองให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ และทำให้ผู้อยู่ในอำนาจต้องอยู่ใต้เสียงที่ควรจะดังกว่าของประชาชนเสียก่อน ไม่อย่างนั้นสุดท้ายเราอาจต้องเสียเงินไปหลายแสนล้านบาทและได้รถไฟที่สุดท้ายอาจไม่ช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปไหนได้จริง
แต่ดูจากความจริงที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า สุดท้ายเราก็คงจะได้รถไฟที่มาด้วยคำสั่งที่ไม่เห็นหัวประชาชนอีกหลายสาย โดยไม่รู้ว่าคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราๆ ท่านๆ จะมีสิทธิมีเสียง ออกความคิดเห็น และคัดค้านได้โดยไม่ถูกปิดปากด้วยกำลังอยู่บ่อยครั้งเช่นทุกวันนี้ไปอีกนานแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] siteresources.worldbank.org
[4] siteresources.worldbank.org