ในบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดฮิตทั้งหลาย ตั้งแต่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต่อก หรือโซเชียลมีเดียน้องใหม่อย่างคลับเฮาส์ เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเลยว่า ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ผู้ใช้ ‘หัวร้อน’ มากเท่ากับทวิตเตอร์
นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดข้ึนเฉพาะในเมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
ปีที่แล้ว ในฤดูร้อน ถึงกับมีคนขี้สงสัยทำวิจัยขึ้นมาเพื่อดูว่า ความโกรธในทวิตเตอร์นั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอุณหภูมิภายนอกหรือเปล่า
และคำตอบก็คือ – ไม่
การสำรวจที่ว่านี้มีชื่อยาวเหยียดว่า In Cold Weather We Bark, But in Hot Weather We Bite: Patterns in Social Media Anger, Aggressive Behaviour, and Temperature ตีพิมพ์ในวารสาร Sage Journals เป็นของนักวิจัยชาวออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (ซึ่งก็ต้องบอกว่าออสเตรเลียนั้น เวลาร้อนก็ร้อนมากจริงๆ จนชวนหงุดหงิดอารมณ์เสียนะครับ)
โดยงานวิจัยนี้ตั้งสมมติฐานบนฐานคิดจากงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียที่บอกว่า อากาศร้อนสัมพันธ์กับอาชญากรรมอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส อาชญากรรมประเภทขโมยขโจรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และลดลงอย่างมีนัยสำคัญอีกเช่นกันเมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้จะยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสองเรื่องนี้เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร แต่ตัวเลขต่างๆ ก็บอกว่าสองเรื่องนี้มีสหสัมพันธ์กันแน่ๆ
คำถามจึงคือ – ก็แล้วถ้าเป็นความโกรธเกรี้ยวแบบออนไลน์ล่ะ มันเกิดขึ้นเพราะอากาศร้อนด้วยหรือเปล่า ซึ่งคำตอบที่ได้จากงานวิจัยนี้ก็คือไม่ เพราะไม่ว่าอุณหภูมิจะต่ำหรือหนาวแค่ไหน ถ้าโลกออนไลน์ (ในที่นี้เขาศึกษาเฉพาะทวิตเตอร์) จะเดือด จะหัวร้อน จะพ่นผรุสวาทะและอตรรกะใส่กัน – ก็จะพ่น
งานนี้สำรวจในการโพสต์ 74.2 ล้านทวิต เฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015-2017 โดยเฉพาะคนที่อยู่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยอัลกอริธึม เพื่อดูรูปแบบอารมณ์ของคนผ่านภาษาที่ใช้ โดยมีการกำหนดคำบางคำให้เป็นคำที่โกรธเกรี้ยว แล้วดูรูปแบบการปรากฏของมัน
เขาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนทวิตเดือดนั้นจะสูงสุดเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และมีจำนวนต่ำสุดช่วงที่อุณหภูมิอุ่นสบาย คือ 25-30 องศาเซลเซียส โดยถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ทวิตเดือดจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ข้อสรุปของงานวิจัยนี้จึงตรงข้ามกับการก่ออาชญากรรม เพราะดูเหมือนว่ายิ่งหนาว คนจะยิ่งโกรธออนไลน์มากขึ้น
ทำไมมันถึงเกิดปรากฏการณ์ตรงข้ามกันขึ้นมาได้?
สิ่งที่ผู้ทำวิจัยพยายามอธิบายก็คือ ความร้อนและหนาวของอากาศนั้นสามารถไปกระตุ้นการตอบสนองทางสรีระหรือทางร่างกายของมนุษย์ได้ อุณหภูมิไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้สูงหรือต่ำได้ ซึ่งก็จะรวมไปถึงปริมาณออกซิเจนที่พุ่งขึ้นไปสู่สมอง การหลั่งของฮอร์โมนต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนความเครียด ฮอร์โมนเพศ และความสามารถในการนอนหลับ นอกจากนี้ อุณหภูมิยังไปกระตุ้นการทำกิจวัตรต่างๆ ของเราได้ด้วย เขาบอกว่า ที่อุณหภูมิสูงกระตุ้นอาชญากรรมก็เพราะพอร้อน คนเลยต้องออกมานอกบ้านเพื่อใช้เวลาอยู่กลางแจ้งมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสในการพบปะสังสันทน์ โอกาสในการเกิดอาชญากรรมจึงมากขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่ออากาศหนาว คนต้องอุดอู้อยู่ในบ้าน จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราก็จะพยายามพบปะสังสันทน์กันอีกนั่นแหละ แต่ด้วยวิธีทางออนไลน์ ทำให้การโพสต์ทวีตเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น โอกาสในการปะทะกันแบบออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
งานวิจัยนี้ยังพบด้วยว่า วันที่คนพ่นความโกรธใส่ทวิตเตอร์สูงสุดคือวันจันทร์ (ซึ่งเป็นวันเริ่มงานที่น่าหงุดหงิด) และที่ไม่น่าประหลาดใจเลยก็คือ การพ่นความโกรธเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากผิดปกติ หลังเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในสังคม โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ว่านี้ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามเราว่า – ทำไมทวิตเตอร์ถึงทำให้คน ‘โกรธ’ มากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ
ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงข้อสังเกตของคนนอกหรือคนทั่วไปเท่านั้น เพราะ The Verge เคยรายงานว่า กระทั่งซีอีโอของทวิตเตอร์เอง คือ ดิ๊ก คอสโทโล (Dick Costolo) ก็เคยเขียนบันทึกภายในบอกว่า ทวิตเตอร์นั้นมี ‘ปัญหาเรื้อรัง’ ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดผู้อื่น (คือ Harassment กับ Abuse) โดยบอกพนักงานว่า ตัวเขาเองรู้สึกอับอายกับความล้มเหลวของบริษัทในอันที่จะแก้ไขปัญหานี้
คำพูดเป๊ะๆ ของเขาก็คือ “We suck at dealing with abuse and trolls on the platform and we’ve sucked at it for years.” คือยอมรับตรงๆ เลยว่า ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้มานานแล้ว
นักวิเคราะห์บางคนถึงขั้นบอกว่า กูเกิ้ลนั้นมีไว้สำหรับเสิร์ช
เฟซบุ๊กคือเครือข่ายสังคม ส่วนทวิตเตอร์คือเครือข่ายสังคม
ที่โกรธเกรี้ยว (“Google has search. Facebook has
the social network. Twitter has the angry social network.”)
คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นอย่างนี้?
มีผู้พยายามหาคำตอบมากมาย ว่าทำไมผู้ใช้ทวิตเตอร์ถึงได้ ‘โกรธ’ กันนักหนา เอะอะอะไรก็ต้องรีบออกมาฉอด ฉอดดีมีตรรกะก็ดีไป แต่ฉอดแย่ๆ ทว่าอยู่รอดได้มีพวกมากลากไปในห้อง Echo Chamber นั้นเป็นปัญหาแน่ๆ (ไม่ว่าผู้ฉอดจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นปัญหาก็ตาม) แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าอะไรทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้
คนหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ ก็คือผู้บริหารของทวิตเตอร์อีกคนหนึ่ง เขาคือ เจสัน โกลด์แมน (Jason Goldman) เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทวิตเตอร์มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยผู้รับสาร คือสามารถเลือกเนื้อหาที่จะปรากฏบนไทม์ไลน์ตัวเองได้ บล็อกคนอื่นๆ ได้ ดังนั้น โลกของผู้ใช้ทวิตเตอร์จึงมีลักษณะก้องสะท้อนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ยิ่งใช้ก็ยิ่งจำกัด และทำให้แต่ละคนมองเห็นโลกที่แตกต่างกันไปได้ แต่ยิ่งคนแต่ละคนมีความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์เหมือนกันมากเท่าไหร่ โลกของพวกเขาก็จะซ้อนทับหรือเหมือนกันมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์เสียงก้องในห้องแคบได้เป็นอย่างดี
อีกอย่างหนึ่งที่มีผู้วิเคราะห์ไว้ก็คือ ทวิตเตอร์ไม่ได้มีลักษณะเป็น ‘พื้นที่สาธารณะหนึ่งเดียว’ (Single Common Public Sphere) ตามแนวคิดของฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่เสนอว่า สังคมควรมีพื้นที่สาธารณะสำหรับสามัญชนคนทั่วไป (หรือ Commoners) ที่จะได้ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระนาบที่เสมอและอยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่ทวิตเตอร์มีลักษณะเป็น Multiple Publics หรือพื้นที่สาธาณะจำนวนมากที่ซ้อนทับเหลื่อมๆ กันอยู่ และเป็นอาการ ‘เหลื่อมๆ กันอยู่’ นี่เอง ที่เป็นปัญหา เพราะมันทำให้เราไม่ได้เห็น ‘เหตุและผล’ เดียวกัน โดยเข้าใจไม่ได้ด้วยว่าคนอื่นเห็นโลกอีกแบบหนึ่ง
ถ้าพื้นที่สาธารณะหรือโลกที่ว่านี้แยกขาดอยู่ห่างกันไปเลยคนละโลกคนละขั้ว คนที่กำลังสื่อสารแลกเปลี่ยนกันอยู่ก็จะเห็นได้ทันทีว่าจุดยืนของแต่ละฝ่ายคืออะไร เพราะมันอยู่ห่างกันมาก แต่ในพื้นที่สาธารณะที่เหลื่อมซ้อนกันนี้ เมื่อนำมาประกบเข้ากับในสังคมปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก ทุกคนจึงคิดว่าตัวเอง ‘รู้มาก’ พอๆ กันหรือมากกว่าคนอื่น และคิดด้วยว่าคนอื่นก็ต้อง ‘รู้’ มากพอๆ กับที่ตัวเองรู้ด้วย คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ก็ในเมื่อรู้เหมือนๆ กัน เห็นเหมือนๆ กัน ทำไมถึงไม่คิดเหมือน ‘ตัวฉัน’ (วะ)
เมื่อถกเถียงกัน อาการโกรธเกรี้ยวจึงบังเกิดขึ้น
ที่จริงแล้ว อาการโกรธเกรี้ยวที่ว่านี้ โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเรื่องดี เพราะมันเกิดจากกระบวนการตรวจสอบกันและกันนั่นแหละครับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ พอมีมวลหมู่มากมายที่คล้อยตามกันไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอาการโกรธเกรี้ยว ตัดสิน และกระหายอยากลงโทษหมู่ที่มักจะ ‘ไม่ได้ส่วน’ (Inappropriate) กับความผิดพลาด (ซึ่งในหลายกรณีก็ต้องกลับมาเถียงด้วยซ้ำไป ว่ามันคือความผิดพลาดหรือเปล่า)
ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นคือเรื่องของ สตีเฟน ฟราย (Stephen Fry) นักแสดงอังกฤษ เขาเคยล้อเล่นกับเพื่อนนักแสดงในงานแจกรางวัลใหญ่เมื่อปี ค.ศ.2016 เพื่อนนักแสดงคือ เจนนี บีแวน (Jenny Beavan) ที่แต่งตัวพะรุงพะรังตามบทบาทที่ได้รับในหนัง ฟรายบอกว่าบีแวนแต่งตัวเหมือน a bag lady ซึ่งบีแวนก็ไม่ได้ว่าอะไร เธอขบขันไปด้วย แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ฟรายถูกด่าในทวิตเตอร์อย่างหนักว่าเป็นพวกเกลียดผู้หญิง (Misogynist) และเป็น Hater บางคนก็บอกว่าเขาเป็นพวก Fucking Sexist ไปเลย ส่วนใหญ่เป็นคำวิจารณ์จากฝ่ายซ้าย ทั้งที่ปกติแล้วฟรายจะถูกฝ่ายขวามองว่าเป็นพวกเกย์เสรีนิยมที่เปิดกว้างจนเกินไป ความที่ฟรายมีคนติดตามในทวิตเตอร์มากกว่า 12 ล้านคน ทำให้คนที่เข้ามาด่าเขามีจำนวนมากมายมหาศาลและด่าต่อเนื่องด้วยการรีทวีตเป็นลูกโซ่ และบางส่วนก็ถึงกับอยากลงโทษเขาด้วยความรุนแรงในระดับไล่ให้ไปตายอะไรทำนองนั้นด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งที่มีผู้วิเคราะห์กันก็คือ ทวิตเตอร์มีความสั้นเป็นอาวุธ
แน่นอน เราสามารถทวิตร้อยเรียงเป็นเธรดได้ยาวๆ แต่กระนั้น ในเชิง ‘ภาพ’ หรือ Visual สมองของเราจะแบ่งแยกเธรดเหล่านั้นออกมาเป็น ‘ต่อนๆ’ หรือเป็นท่อนสั้นๆ อยู่ดี แล้วซึมซับรับรู้จนเกิดการตอบสนองทางร่างกาย (เช่นการหลั่งฮอร์โมนโกรธเกรี้ยว หัวใจเต้นแรง ฯลฯ) ขึ้นมาฉับพลัน โดยอาจยังไม่ทันได้อ่าน ‘ต่อน’ ต่อไป หรือต่อให้อ่านแล้ว การรับรู้ที่เกิดจากภาพประทับแรกก็ยังรุนแรงทรงพลังกว่าอยู่ดีจนอาจขาดความสามารถในการทำความเข้าใจภาพใหญ่ได้ ยิ่งหากมีการรีทวีตเฉพาะ ‘ต่อน’ หนึ่งๆ ต่อเนื่องกันไป ก็ยิ่งไปขยายเฉพาะจุดให้แพร่ลามไปไกลได้มากขึ้นด้วย ซึ่งก็เข้าข่ายการอ่านไม่จบหรืออ่านไม่แตกนั่นเอง แต่เป็นการอ่านไม่จบหรืออ่านไม่แตกเพราะโครงสร้างของแพลตฟอร์ม
เรื่องนี้แตกต่างจากการโพสต์ในเฟซบุ๊ก ที่เมื่อเห็น ‘ภาพ’ ของตัวอักษรยาวเหยียด (อย่างน้อยที่สุดก็ยาวเท่าที่หน้าจอจะรองรับได้) สมองของเราจะเตรียมการยืดหยุ่นเอาไว้ล่วงหน้า เช่นรับรู้หรือเผื่อใจไว้ก่อนว่าอาจเกิดการพลิกผันในเนื้อหาได้ ยิ่งถ้าเป็นการอ่านหนังสือที่เราเห็น ‘ภาพ’ ของหนังสือเล่มโตๆ ก่อนอ่าน เราก็จะยิ่ง ‘ตัดสิน’ ล่วงหน้าน้อยลง เผื่อใจไว้มากขึ้นกว่าการอ่านเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย
หลายคนวิเคราะห์ว่า ความสั้นของเนื้อความในทวิตเตอร์ ประกอบกับการตีความ ‘น้ำเสียง’ จากตัวอักษรด้วยต้นทุนการอ่านที่จำกัด ทำให้การตอบสนองผ่านต้นทุนของตัวเองเกิดขึ้นได้ง่าย รุนแรง และมีลักษณะพิพากษาผู้อื่นอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์หลายคนไปไกลถึงขั้นบอกว่าทวิตเตอร์นั้นต้องการให้เราเกลียดด้วยซ้ำไป เช่นบทความของ ไมเคิล คอเรน (Michael Coren) ใน The Walrus ที่เคยตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 ที่มีชื่อว่า Why Twitter Wants You to Hate และเคยมีการวิเคราะห์ของ ยานนิส เธโอคาริส (Yannis Theocharis) ซึ่งสอนด้าน Digital Governance และได้สำรวจในปี ค.ศ.2016-2017 พบว่าการใช้ภาษาในทวิตเตอร์เองก็เป็นปัญหา เขาเรียกลักษณะการใช้ภาษาในทวิตเตอร์ว่า Uncivil Language หรือภาษาประเภทไม่ศิวิไลซ์ ซึ่งหลายคนอาจจะเถียงว่าเป็นการใช้ภาษาแบบตรงไปตรงมา ดีกว่าภาษาสุภาพที่ดัดจริตและซ่อนความเกลียดชังเอาไว้ข้างใต้ แต่เธโอคาริสบอกว่า การใช้ภาษาแบบนี้มากเกินไปก็สร้างสภาวะที่ไม่ดีขึ้นมาได้เหมือนกัน โดยเขาเสนอว่า จะทำลาย ‘ภาวะเป็นพิษ’ (Toxicity) ของทวิตเตอร์ลงได้ ก็ต้องเปลี่ยนดีไซน์ของทวิตเตอร์ ซึ่งเท่ากับว่า ความโกรธเกรี้ยวในทวิตเตอร์นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็น ‘ความโกรธเกรี้ยวเชิงโครงสร้าง’ ที่เกิดจากการออกแบบก็เป็นได้
ทวิตเตอร์อาจเป็นเพียงแพลตฟอร์ม เป็นเพียงสื่อ ซึ่งหลายคนมองว่ามันเป็นแค่รูปแบบ (Form) ไม่ใช่เนื้อหา (Content) แต่เอาเข้าจริงก็เป็นไปได้เหมือนกัน ที่ตัวแพลตฟอร์มนี่เองจะย้อนกลับมากำหนดเนื้อหาที่เรารับส่งกัน และค่อยๆ ทวีบุคลิกลักษณะบางอย่างขึ้นเรื่อยๆ
ความโกรธอาจเป็นบุคลิกสำคัญของทวิตเตอร์ก็ได้