จากการถล่มหมอ ถล่มครู ถล่มโจร ถล่มรัฐบาล ถล่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จนถึงถล่มฝ่ายต่อต้านฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอีกที ถล่มเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ ถล่มเรื่องนั้นและเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียจะไม่เคยขาดความ ‘ดราม่า’ และคล้ายกับว่ายิ่ง ‘ดราม่า’ มากเท่าไร เรื่องนั้นๆ ก็จะยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมชาวโซเชียลมีเดีย (ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ชาวเฟซก็ชอบ ‘แซะ’ ว่าทวิตเตอร์นั้นฉาบฉวย ส่วนชาวทวิตก็ชอบ ‘แซะ’ ชาวเฟซว่าช่างเต็มไปด้วยเรื่องชวนให้ขุ่นเคือง มาเล่นทวิตสบายใจกว่าเยอะ) จึง ‘หัวร้อน’ หรือขี้หงุดหงิด ชอบใช้คำหยาบๆ คายๆ โจมตีตัวบุคคลและเปิดวอร์กันนัก เมื่อเทียบกับโลกภายนอกแล้ว ดูเหมือนว่าโลกจริงๆ เวลาที่เราเห็นไม่ตรงกัน เราจะไม่ได้ปะทะกันรุนแรงเหมือนกับโลกในหน้าจอ
ก่อนที่เราจะพยายามตอบคำถามว่า ‘ทำไมชาวเนตชอบดราม่า’ หรือ ‘ทำไมชาวเนตชอบหัวร้อน’ เราอาจต้องตกลงร่วมกันก่อนว่า หนึ่ง – การจะเรียกอะไรว่าดราม่าหรือไม่ดราม่านั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คำว่าดราม่านั้นสำหรับบางคนก็มีความหมายเท่ากับคำว่า ‘ขัดแย้ง’ เท่านั้น พวกเขาจะใช้คำว่า ‘ดราม่า’ กับทุกๆ เรื่องที่แค่รู้สึกว่าเริ่ม ‘บรรยากาศไม่ดี’ แต่บางคนก็ใช้คำว่าดราม่าอย่างระมัดระวังกว่านั้น พวกเขาอาจตีความว่าการจะใช้คำว่า ‘ดราม่า’ ได้นั้น การถกเถียงนั้นๆ จะต้องมีลักษณะ ‘ไม่สร้างสรรค์’ หรือ ‘ไม่ใช้ข้อมูล’ เสียก่อน ไม่ใช่ว่าเหมาว่าทุกเรื่องขัดแย้งคือดราม่าทั้งหมด
สอง – ความ ‘ดราม่า’ นั้นมีข้อดีอยู่ ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือการกระตุ้นความสนใจให้วงสังคมหันมาให้ความสำคัญกับบางประเด็นที่อาจเคยถูกมองข้าม มีดราม่ามากมายที่ข้ามจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ หรือจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปสู่หน้าตาของผู้มีอำนาจโดยตรง และช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาได้จริง ดังนั้น ‘ดราม่า’ นั้นไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง (แต่ก็อีกนั่นแหละ ขึ้นกับว่าคุณจะนิยามดราม่าว่าอย่างไร)
สาม – ความดราม่าไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของอินเทอร์เนตไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใดก็สามารถดราม่า คอมเมนต์สาดเสียเทเสียใส่กันได้ทั้งสิ้น การจะจบคำถามที่ว่า ‘ทำไมชาวเนตจึงดูหัวร้อน’ ด้วยคำอธิบายเฉพาะชนชาติเช่นตอบว่า ‘เพราะคนไทยชอบดราม่า’ ‘เพราะคนไทยชอบไทยมุง’ จึงไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
กลับมาที่คำถามว่า ‘แล้วทำไมชาวเนตจึงหัวร้อน’ ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราอาจต้องตรวจสอบตัวคำถามเองก่อนว่า ‘ชาวเนตหัวร้อน (กว่าชาวไม่เนต) จริงหรือ’
แล้วชาวเนตหัวร้อนจริงหรือ
ผมคิดว่ามีข้อควรระวังอยู่บ้าง ก่อนที่จะสรุปว่าชาวเนตหัวร้อน
ข้อควรระวังหนึ่งก็คือเรื่อง ‘ภาพจำ’ ว่าเรามักจำเหตุการณ์ที่มีลักษณะพิเศษได้ดีกว่าเหตุการณ์ปกติธรรมดา เช่น เราอาจรู้สึกว่าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ฝนจะตกลงมาเสมอ คล้ายกับว่าพระเจ้ากลั่นแกล้ง แต่อันที่จริงแล้ว หากดูกันยาวๆ ฝนอาจจะไม่ได้ตกลงมาในบางวันที่เราออกจากบ้าน และฝนอาจจะตกตอนที่เราอยู่บ้านมากกว่าก็ได้ แค่เราจะไปจำเฉพาะ ‘ช่วงเวลาที่มีลักษณะพิเศษ’ นั่นคือ เมื่อเราจะออกจากบ้านแล้วฝนตกพอดี
ในลักษณะเดียวกัน เราอาจกำลังสรุปไปเองก็ได้ว่าชาวเนตนั้นหัวร้อนเพราะเราเคยเห็นข้อความสาดเสเทเสียบ่อยๆ ในเนต ทั้งที่อันที่จริง ข้อความปกติๆ อาจจะมีมากกว่า (หรืออย่างน้อย มีมากพอๆ กับการสนทนาปกติประจำวัน) แต่เรากลับไปจำข้อความที่มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงเอง
อีกเรื่องที่ควรระวังคือ ชาวเนตอาจไม่ได้หัวร้อนด้วยตนเอง แต่ลักษณะของโซเชียลมีเดียนั้นไปสนับสนุนภาพลักษณ์ว่าชาวเนตหัวร้อน หรือไปเหนี่ยวนำให้ชาวเนตหัวร้อนมากขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้วนี่แทบจะเป็นปัญหาไก่กับไข่ คือคนมีความหัวร้อนดด้วยตนเองแล้วโซเชียลมีเดียไปกระพือไฟ หรือเพราะโซเชียลมีเดียกระพือไฟ คนจึงหัวร้อนขึ้น หรือทั้งสองอย่าง
คอมเมนต์ที่มีความก้าวร้าว รุนแรง สุดขั้ว อาจถูกแสดงขึ้นมาเป็นอันดับบนๆ (เพราะมีคนไปกดไลก์ หรือถูกใจมาก) และในลักษณะเดียวกัน ทวีตที่ใช้คำก้าวร้าว รุนแรง ก็อาจได้รับการรีทวีตมากกว่า ทำให้มีผู้เห็นมากกว่า
มึการศึกษาจาก Weibo โซเชียลเนตเวิร์กของจีนในปี 2013 เพื่อสนับสนุนเหตุผลนี้ พวกเขาบอกว่า “ความโกรธนั้นแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียได้ดีกว่าอารมณ์อื่นๆ” โดยพวกเขาศึกษาผู้ใช้ Weibo 200,000 คน วิเคราะห์ข้อมูลกว่า 70 ล้านโพสท์ เพื่อวัดว่าอารมณ์ใด (ความสุข ความเศร้า ความโกรธ และความรังเกียจ – disgust) ที่จะเผยแพร่ได้ดีที่สุดบนโลกโซเชียล และพบว่าความโกรธนั้นมีความสามารถที่จะแพร่กระจายจากผู้โพสท์ไปได้ไกลโดยเฉลี่ยถึงสามต่อเลยทีเดียว
หมายถึงว่า ถ้าผมโพสท์อะไรโกรธๆ โอกาสก็คือ นาย A จะแชร์ไปจากผม นาย B และคนอื่นๆ จะแชร์ไปจากนาย A และนาย C จะแชร์ไปจากนาย B – สามต่อ ในขณะที่อารมณ์อื่นๆ นั้น ไม่สามารถแผร่กระจายได้ ‘ไกล’ เท่า
ถ้าเปรียบเป็นเชื้อโรค ความ ‘หัวร้อน’ หรือความ ‘โกรธ’ ก็เหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ทรงอานุภาพมาก
โซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้เราหัวร้อนอย่างไร
เรื่องนี้สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่บทความปี 2001 ของ Suler ที่อธิบายว่า “โลกออนไลน์นั้นทำให้เรามีตัวตนต่างจากโลกแห่งความจริงอย่างไร” (Online Disinhibition Effects) โดย Suler อธิบายไว้กว้างๆ 6 ข้อ นั่นคือ โลกออนไลน์นั้นมีลักษณะที่ทำให้ คุณไม่รู้จักฉัน (You don’t know me : Dissociative anonymity), คุณไม่เห็นฉัน (You can’t see me : Invisibility ), พูดไม่พร้อมกัน (See you later : Asynchronicity), ฉันคิดไปเอง (It’s all in my head : Solipsistic Introjection), มันเป็นแค่เกม (It’s just a game : Dissociative Imagination) และพวกเราเท่ากัน (We’re equals : Minimizing Authority)
ผลลัพธ์ก็คือ บนโลกออนไลน์ (โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย) เมื่อปัจจัยสามหรือสี่ในหกปัจจัยนี้ทำงาน เราก็อาจถูกเหนี่ยวนำให้ ‘รู้สึกโกรธ’ หรือ ‘หัวร้อน’ ได้ง่ายขึ้น
Art Markman ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Texas อธิบาย (โดยผมคิดว่าเขาสรุปมาจากงานของ Suler อีกที) ว่า
หนึ่ง เมื่อคุณเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์ คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับคำหยาบคายนั้น (Dissociative Anonymity) ผมคิดว่าความเป็นนิรนามนี้หมายถึงทั้งการเป็นนิรนามอย่างสมบูรณ์ นั่นคือคอมเมนต์ไว้ไม่ต้องลงชื่อ หรือใช้โปรไฟล์ปลอมในการคอมเมนต์ และความเป็นนิรนามอย่างสัมพัทธ์ นั่นคือ คิดว่าเราเป็นเพียงคอมเมนต์คอมเมนต์หนึ่งเล็กๆ เหมือนใบไม้ในป่า คอมเมนต์ของเรานั้นไม่น่าจะถูกสาวมาจนทำให้เราเดือดร้อนได้
สอง เราต่างหลบอยู่หลังจอ (Markman ใช้คำว่า at a distance คือมีระยะห่างจากเป้าหมาย) เมื่อเราไม่ต้องพบปะเจอคนที่เราด่าจริงๆ แล้ว เราก็ด่าเขาได้ง่ายขึ้น (เพราะเขาเป็นใครก็ไม่รู้ เราไม่ต้องเผชิญหน้าใดๆ)
สาม ข้อนี้น่าสนใจและคิดว่าเป็นเหตุผลที่อาจจะดูใหม่กว่า ‘นิรนาม’ และ ‘หลบหลังจอ’ น่ันคือ Markman อธิบายว่าเรามักจะเขียนอะไรเลวๆ (nasty) ได้ดีกว่าการพูดอะไรเลวๆ นั้นออกมา นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเมื่อก่อนคนจึงต้องทิ้ง ‘โน้ตแห่งความเกลียดชัง’ (angry note) ไว้แทนที่จะพูดตรงๆ เพราะการพูดตรงๆ ต่อหน้านั้นนอกจากจะต้องเผชิญหน้า (อย่างในข้อสอง) แล้วยังอาจเรียบเรียงสิ่งที่จะพูดได้ไม่ครบด้วย
ด้วยความที่กล่องคอมเมนต์หรือกล่องโพสท์ของโซเชียลมีเดียนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามเวลาจริง (เหมือนกับการพูด) ทำให้เรามีเวลาคิด เวลาเขียน และมีเวลา ‘บ่มความโกรธกับตัวเอง’ สะท้อนความโกรธไปมากับตัวเอง ซึ่งอาจทำให้มุมมองของเรานั้นมีความสุดขั้วมากกว่าปกติ
Markman บอกว่า “ถ้าคุณสนทนากันในโลกจริงๆ ไม่มีทางหรอกที่คุณจะพูดคนเดียว (monologue) ได้อย่างในหนังหรือในละคร คุณก็ต้องพูดโต้ตอบไปมากับอีกฝ่ายทั้งนั้น และท้ายที่สุด ในการโต้เถียงจริงๆ คุณก็จะเหนื่อยจนสงบจิตสงบใจได้หน่อย แล้วฟังบ้าง”
นอกจากคำอธิบายของ Markman สามข้อนี้แล้ว ก็มีคำอธิบายที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น โซเชียลมีเดียนั้นขาดกิริยาท่าทาง ที่ทำให้เรารู้ได้ว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร ทำให้เราเดาไปเอง ซึ่งเราก็อาจเดาเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดเสมอๆ โดยเฉพาะหากเรามีอารมณ์โกรธหรือรู้สึกขัดแย้งกับผู้พูดอยู่ ข้อความธรรมดาๆ ที่อีกฝ่ายพิมพ์มา อาจถูก ‘เล่น’ ด้วยน้ำเสียงอีกแบบในหัวเรา ทำให้เรารู้สึกว่าต้องโต้ตอบด้วยความรุนแรงในระดับเท่ากัน
ทั้งหมดนี้จึงทำหน้าที่เป็นปัจจัยร่วมกัน – อย่างละเล็ก อย่างละน้อย – ในการช่วยโหมไฟให้อารมณ์ขัดแย้งหรือขุ่นมัวในใจของใครหลังหน้าจอ ปะทุขึ้นมาเป็นดราม่าในที่สุด
แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?
หากเป็นสมัยก่อน คำแนะนำที่ว่า ‘ให้ออกไปใช้ชีวิตในโลกจริงแทนที่จะอยู่แต่กับหน้าจอ’ อาจเป็นคำแนะนำที่ทำได้จริง แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ทั้งการงานและชีวิตผูกพันอยู่กับโลกโซเชียลมีเดีย คำแนะนำนี้ก็อาจไม่เหมาะสมสำหรับใครหลายๆ คนนัก (ถึงแม้จะช่วยได้บ้าง หากแบ่งเวลา และกำหนด ‘เวลาไร้จอ’ หรืออย่างน้อย ‘เวลาที่อยู่กับจอได้ แต่ไม่อยู่กับเนต’ ให้กับตัวเองบ้าง)
สิ่งสำคัญที่อาจควรระลึกไว้ (และโดยส่วนตัว ผมก็พยายามจะทำ ถึงแม้ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) ก็คือหากเราเริ่มรู้สึกว่าการถกเถียงอย่างมีเหตุผลบนโลกออนไลน์เริ่มกลายไปเป็นดราม่าที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ หลายครั้งความพยายามอธิบายอย่างดิบดี ก็ถูกแกะคำเล็กคำน้อยออกมาวิเคราะห์และตีความไม่รู้จบ ว่าผู้อธิบายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ – ในห้วงขณะของความหัวร้อน อะไรก็เกิดขึ้นได้ – สิ่งเล็กน้อยที่สุดที่เราทำได้ก็คืออย่าไปต่อความยาวสาวความยืด เพราะนั่นรังแต่จะนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไม่รู้จบ
และอาจต้องชั่งใจว่า ระหว่างสุขภาพจิตของคุณ กับความรู้สึกที่ได้เป็นฝ่ายถูก อะไรสำคัญกว่ากัน
อ้างอิง
ความโกรธแพร่กระจาย
https://www.technologyreview.com/s/519306/most-influential-emotions-on-social-networks-revealed/
https://www.fastcompany.com/3017596/anger-spreads-faster-on-social-media-than-any-other-emotion
Markman
https://www.scientificamerican.com/article/why-is-everyone-on-the-internet-so-angry/
https://www.themarysue.com/why-internet-comments-suck/
Online Disinhibition Effect
https://en.wikipedia.org/wiki/Online_disinhibition_effect
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15257832