ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นร้อนของสังคมไทยคงเป็นเรื่องของวงการแท็กซี่ปะทะบริการใหม่อย่าง Uber โดยมีรัฐเป็นตัวไกล่เกลี่ย (?) ซึ่งเอาจริงๆ เรื่องนี้ผมเองก็แสดงความเห็นได้ยาก เพราะยังไม่เคยใช้ Uber เนื่องจากยึดว่ายังเป็นบริการที่ไม่ถูกกฎหมายอยู่ และอีกอย่างคือผมมีพาหนะส่วนตัวครบหมดตั้งแต่รถยนต์ยันจักรยาน
แต่เมื่อสองสัปดาห์ก่อนก็พบว่า รถแท็กซี่ในกรุงเทพคงมีเยอะมาก เพราะบังเอิญได้เจอ 1% ที่ปฏิเสธผู้โดยสารรวมๆ 20 คันเท่านั้นเองครับ คิดแล้วก็คันปาก อยากเล่าเรื่องวงการแท็กซี่ของญี่ปุ่นบ้าง เพราะประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ Uber เข้าไปเปิดบริการเหมือนกัน มาดูว่าประเทศเขาจะปรับตัวรับบริการใหม่ๆ ด้วยวิธีไหนกัน
ถึงจะเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นกัน แต่หลายท่านก็อาจจะไม่เคยได้ลองนั่งแท็กซี่ของญี่ปุ่น เหตุผลส่วนหนึ่งคือ ‘ไม่จำเป็น’ เพราะในเมืองใหญ่ๆ ระบบขนส่งสาธารณะทำงานได้ดีจนไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถแท็กซี่เท่าไหร่นัก แถมราคาแท็กซี่ที่ญี่ปุ่นก็แพงเอาเรื่องด้วยสิครับ อย่างในโตเกียว แค่ขึ้นรถก็โดนชาร์จไป 730 เยนต่อ 2 กิโลเมตรแรก ฟังแล้วก็เหนื่อยใจไม่น้อย แต่อย่างน้อย ก็มั่นใจว่าได้ไปและไปถึงแน่นอนครับ
แท็กซี่ในญี่ปุ่น จัดเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ‘แบบบริษัท’ และ ‘แบบส่วนบุคคล’ แบบแรกคือ บริษัทแท็กซี่ ซื้อรถแล้วจ้างพนักงานมาขับรถ มีเงินเดือนให้ และถ้าทำระยะได้ดีก็จะมีโบนัสให้เพิ่ม ดังนั้นคนขับทุกคนก็จะเป็นพนักงานของบริษัท มีระยะเวลาทำงานแบ่งกะกันอย่างชัดเจน ส่วนแบบส่วนบุคคลก็คือคนธรรมดา เอารถที่มามาทำเป็นรถแท็กซี่ โดยต้องสอบใบอนุญาตให้ผ่าน ค่อยเอารถตัวเองมาขับได้ และถึงจะเป็นรถตัวเอง ขับเอง กำหนดเวลาเอง แต่ก็ต้องสังกัดสมาคมแท็กซี่ส่วนบุคคลไม่สมาคมใดก็สมาคมหนึ่ง ถึงค่อยได้ป้ายไฟติดบนรถมาใช้งาน (ซึ่งดีไซน์ก็จะแตกต่างกันไปตามสมาคมอีกที)
แต่ถึงจะบ่นเรื่องราคาแพงแต่ผมเองก็มีโอกาสได้ใช้แท็กซี่ที่ญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ ครับ ตั้งแต่สมัยเรียนที่นั่น ซึ่งเวลาจะขึ้นรถบัสไปสนามบิน ก็ต้องโทรเรียกแท็กซี่ให้มารับที่หอพักประจำ เพราะแบกกระเป๋าไปไม่ไหว ในนาโกย่าบางครั้งเวลาเที่ยวกลางคืนจนรถไฟหมดก็ต้องอาศัยแท็กซี่นี่ล่ะครับ แชร์กันกับเพื่อนเพื่อกลับมานอนสลบที่หอพัก ทุกวันนี้เวลาไปโตเกียวก็ได้ใช้แท็กซี่อยู่เรื่อยๆ เวลาของเยอะหรือเวลาเดินทางกับลูกค้า เรียกได้ว่าเป็นขาประจำเหมือนกัน
ข้อดีของแท็กซี่ญี่ปุ่นก็อย่างที่บอกไปว่า รับแน่ และไปถึงปลายทาง
อ้อ แต่มีครั้งนึงที่ผมโดนแท็กซี่ในโตเกียวปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ไม่มั่นใจเส้นทางจริงๆ แต่นอกนั้นก็จะรับขึ้นรถไปตลอด ถ้าไม่รู้ทางก็มี GPS ให้เช็ก แถมขอใบเสร็จเอาไปเบิกเงินบริษัทได้อีก คนขับก็จัดว่ามีมาตรฐานครับ เพราะกว่าจะมาขับได้ก็ต้องผ่านการคัดเลือกระดับหนึ่งแล้ว และเมื่อเป็นพนักงานหรือสังกัดสมาคม หากมีเคลมอะไรก็ส่งผลกับการทำงานได้ ดังนั้นเลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องคนขับเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ แท็กซี่เขาก็ยังมีกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมเคยเขียนลงเพจไปแล้ว เช่นเรื่องกระจกมองข้าง ที่เขาไม่ใช้กระจกมองข้างติดกับประตูแบบรถทั่วไป แต่จะไปติดไว้ที่ด้านหน้ารถยนต์ เพื่อให้เวลาคนขับมองกระจก จะได้ไม่ต้องส่ายหัวไปมา แค่ชำเลืองตาก็พอ ผู้โดยสารที่อยู่ข้างหลังจะได้รู้สึกสบายใจมากกว่า
ส่วนข้อเสียก็อย่างที่บอกไปว่า ราคาค่าโดยสารแพงครับ เริ่มต้นก็แพง ยิ่งนั่งไกลก็ยิ่งแพงอีก แถมถ้าขึ้นรถหลังสี่ทุ่มก็จะเป็นอัตราราคายามวิกาลที่แพงขึ้นไปอีก ทำให้หลายคนก็ไม่ค่อยอยากจะใช้แท็กซี่ถ้าไม่จำเป็น ลองคิดดูสิครับว่าถ้าบ้านอยู่นอกโตเกียว แล้วตกดึกไปกินเลี้ยงกับที่ทำงาน ต้องนั่งแท็กซี่กลับบ้าน ค่ารถนี่สามารถดีดขึ้นไปถึงหมื่นกว่าเยนเลยทีเดียวนะครับ เช่าแคปซูลโฮเทลนอนยังประหยัดกว่าเยอะ
ซึ่งพอมีช่องโหว่แบบนี้ และยิ่งเป็นเมืองใหญ่ แน่นอนว่า Uber ก็สนใจเข้ามา Disrupt ระบบแท็กซี่ของโตเกียวแน่ๆ
Uber ทดลองให้บริการในปี 2013 แล้วเริ่มเดินหน้าให้บริการอย่างจริงจังในปี 2014 ในเฉพาะ 23 เขตของโตเกียวเท่านั้น ฟังดูแล้วน่าจะเป็นคู่แข่งใหม่ของวงการแท็กซี่ญี่ปุ่นนะครับ
แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีอะไรง่ายดาย แน่นอนว่าที่ผ่านมา Uber ก็ต้องต่อกรกับหน่วยงานของรัฐและคนขับแท็กซี่เดิม ในประเทศที่ระบบต่างๆ เคร่งครัดอย่างญี่ปุ่น บริษัทที่โด่งดังเรื่อง Ride Sharing ก็กลายเป็นบริษัทให้บริการแท็กซี่แทบไม่ต่างจากบริษัทอื่น เพราะว่าเขาก็มีกฎหมายเข้มงวดเรื่องแท็กซี่เถื่อน จะให้ Uber มาเปิดง่ายๆ ก็คงต้องมีปัญหากับบริษัทแท็กซี่ที่มีมาแต่เดิมแน่นอน ดังนั้นระบบ Ride Sharing แบบที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศก็ไม่สามารถเกิดได้ในประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีการทดลองใช้งานในจังหวัดฟุคุโอกะอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางระงับโครงการ ทำให้ญี่ปุ่นดูเป็นตลาดที่ไม่หอมหวานสำหรับ Uber เลยแม้แต่น้อย
แม้จะดูเหมือนว่าฝ่ายแท็กซี่ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ชนะ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ย่ามใจนะครับ เพราะการเข้ามาของบริการใหม่ๆ ก็ผลักดันให้แท็กซี่เองต้องปรับปรุงตัวเองเช่นกัน
สิ่งแรกคือเดือนเมษายนปีนี้ ในโตเกียวจะมีการปรับอัตราตั้งต้นในการใช้รถแท็กซี่ลง จากเดิมที่บอกไว้ว่า 730 เยนต่อ 2 กิโลเมตรแรก กลายเป็น 410 เยน สำหรับ 1.059 กิโลเมตรแรก แล้วค่อยชาร์จ 80 เยน ต่อ 237.25 เมตรต่อไป ซึ่งถ้านั่งไป 2 กิโลเมตร ก็ค่อยรวมเป็นยอดเงินพอๆ กับ แบบเดิมคือ 730 เยน ฟังดูอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จริงๆ แล้ว นี่เป็นการปรับเพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมของชาวเมืองที่ต้องการใช้แท็กซี่ในระยะสั้นๆ เช่นจากสถานีไปถึงบ้าน เพราะเขาไม่มีวินมอเตอร์ไซค์แบบเรานี่ครับ แล้วถ้ามีของเยอะ หรือเป็นคนแก่เดินลำบาก สุดท้ายก็ต้องพึ่งแท็กซี่นั่นเอง การปรับค่าบริการลงแบบนี้ ช่วยให้คนนั่งแท็กซี่ในระยะใกล้ๆ มากขึ้นครับ แต่ปัญหาคือ ถ้านั่งทางไกลแล้วจะเปลืองกว่าเดิม ก็ต้องมาคอยดูกันว่าการปรับราคาครั้งนี้จะส่งผลดีหรือเสียแค่ไหนอีกที
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทแท็กซี่ที่พัฒนาแอพเพื่อเรียกรถของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาหากโทรศัพท์เรียกแท็กซี่แล้ว เขาก็จะส่งคันที่ตอบรับงานมารับเรา ซึ่งถ้าเจอคันใกล้ๆ ก็ดีไป แต่ถ้าไปเจอคันที่มาจากที่ไกลๆ ก็รอนานและแท็กซี่ก็จะเปิดมิเตอร์ตั้งแต่วิ่งมารับนั่นล่ะครับ พอมีแอพแบบนี้ ก็เลือกแท็กซึ่คันที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเองได้ ประหยัดตังค์ไป
นี่ล่ะครับ ปรับตัวเข้ากับโลก ไม่ใช่แค่จะนอนกินอย่างเดียว
ส่วน Uber พอหากินในเมืองใหญ่ลำบากก็หาแนวทางใหม่แทน ซึ่งก็น่าสนใจเช่นกันครับ นั่นคือการไปให้บริการ UberX ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Tangocho ที่อยู่ปลายติ่งของเกียวโตไปในทะเลญี่ปุ่น ประชากรในเมืองมีแค่ไม่ถึง 6,000 คน และอายุเฉลี่ยคือ 70 ปี! (อีกเมืองที่ได้สิทธิ์ให้บริการ Uber คือ Nakatonbetsu ในฮอกไกโด) ซึ่งเมือง Tangocho ก็เป็นหนึ่งในเมืองไกลปืนเที่ยงที่คนหนุ่มสาวย้ายหนี ประชากรลดลงเรื่อยๆ จนบริษัทแท็กซี่ดั้งเดิมต้องปิดตัวลง ส่วนรถบัสก็มีแค่ชั่วโมงละคัน และแน่นอนว่า ป้ายรถเมล์ก็อาจจะห่างจากบ้านไปไกลเกินกว่าคนชราจะเดินไปไหว ถ้าไม่ขับรถเองก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่ก็นั่นล่ะครับ อุบัติเหตุของคนขับรถสูงวัยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมา
Uber ก็เลยติดต่อไปที่เมืองและขออนุญาตเป็นพิเศษ ซึ่ง NPO ของเมืองก็ถึงกับอึ้งและทึ่งเมื่อเจอระบบของ Uber ที่สามารถหาคนขับรถเพื่อไปรับผู้สูงวัยไปนู่นมานี่ได้ ช่วยสร้างความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยได้เสียที ที่น่าทึ่งคือ เหล่าผู้สูงวัยทั้งหลายไม่ได้มีสมาร์ตโฟนไว้ใช้เองหรอกครับ แต่ต้องโทรไปหาคนที่มีเพื่อให้เรียก Uber ให้ ฟังดูก็น่าตลก แต่ก็น่าทึ่งในขณะเดียวกัน นี่ก็คือโอกาสใหม่ๆ และเป็นช่องโหว่ที่ Uber สามารถเข้ามาอุดได้โดยไม่สร้างความลำบากให้กับใครด้วย ซึ่งทำให้มีหลายท้องถิ่นที่ต้องการให้ Uber ไปเปิดบริการแบบเดียวกัน ก็ต้องคอยดูกันต่อไปครับ
ดูเรื่องแท็กซี่ดั้งเดิม และ Uber ในตลาดญี่ปุ่นแล้ว ก็น่าจะได้ไอเดียเรื่องการจัดการบริหารของบ้านเรานะครับ เพราะของเขา พอมีอะไรใหม่เข้ามา ถ้าจะปฏิเสธก็ต้องดูก่อนว่าของที่มีอยู่ให้บริการได้ดีแค่ไหนและปรับอะไรได้บ้าง (ไม่ต้องพูดถึงการขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ที่จัดว่าครอบคลุมได้ดีอยู่แล้ว) ส่วนบริการใหม่เองก็ต้องปรับตัวเพื่อหาทางอยู่รอดโดยไม่ได้ทำผิดระเบียบและไปเบียดเบียนคนที่ทำตามระเบียบอยู่แล้ว มองเขามองเรา ปรับปรุงอะไรได้ก็ปรับล่ะกันครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก