เมื่อสักสองสามวันก่อน มีพี่ที่รู้จักแชร์ข่าว ’50 บริษัทที่ฉลาดที่สุดในโลก’ จัดอันดับโดยนิตยสาร MIT Technology Review[i] ผมเข้าไปอ่านก็พบหลายบริษัทที่มีนวัตกรรมน่าสนใจ ตั้งแต่ Face++ ที่พัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อนำไปใช้ในการสืบสวนคดีและการสั่งจ่ายชำระเงินด้วยรอยยิ้ม หรือบริษัท 23AndMe ที่วิเคราะห์รหัสพันธุกรรมให้ลูกค้าเพื่อบอกว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคอะไรบ้าง
มีแต่บริษัทล้ำๆ ทั้งนั้น จนอดอิจฉาคนที่ทำงานอยู่แถวหน้าด้านเทคโนโลยีและกำลังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกไม่ได้
แต่สิ่งที่สะดุดใจผมตลอดการทำความรู้จักกับบริษัทสุดฉลาดทั้ง 50 แห่งนี้ก็คือ มีบริษัทจำนวนมากทีเดียวที่กำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือไม่ก็กำลังเปลี่ยนบริษัทตัวเองให้ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (automation) มากขึ้น ดูจากทิศทางของบริษัทแนวหน้าด้านเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว ก็คงต้องบอกว่าเทคโนโลยีที่เหล่านักวิเคราะห์ต่างมองว่าจะส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากตกงานนั้นอยู่ไม่ไกลจากเราแล้ว[ii]
แนวโน้มที่จะมีการตกงานจำนวนมากจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้เอง ทำให้คนดังในแวดวงเทคโนโลยีหลายคน ออกมาสนับสนุนแนวคิด ‘รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า’ (universal basic income) โดยหวังว่านี่จะเป็นคำตอบให้กับปัญหาการตกงานจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว
อีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla Motors และ SpaceX เคยให้สัมภาษณ์กับช่อง CNBC ว่า “มีโอกาสมากทีเดียวที่สุดท้ายเราจะมี universal basic income หรืออะไรบางอย่างที่คล้ายกัน เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากหุ่นยนต์อัตโนมัติ”[iii]
ส่วน Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์แถวหน้าของโลก อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Baidu และผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera ก็หันมาสนับสนุนแนวคิด universal basic income เช่นกัน โดยเขาเคยเขียนในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ปัจจุบันเราต้องการ basic income เพื่อป้องกันผลเสียที่จะเกิดกับทุกคนมากกว่าช่วงเวลาไหนๆ”[iv]
และจากการทดลองใช้แนวคิดนี้จริงในหลายพื้นที่ก็ให้ผลลัพท์ที่น่าพอใจ
การทดลองให้ basic income กับประชากรของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศนามิเบีย พบว่าการให้ basic income ช่วยให้ปัญหาสังคมด้านต่างๆ ลดลงอย่างมาก อาชญากรรมลดลง 42% ปัญหาเด็กขาดสารอาหารและการออกจากโรงเรียนกลางคันลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถลดอัตราความยากจนจาก 76% เหลือเพียง 37% ในช่วงเวลาเพียง 1 ปีหลังจากเริ่มโครงการ[v]
ในการทดลองในสเกลที่ใหญ่ขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านและประชากรหลายพันคน ก็พบผลลัพธ์คล้ายกัน นั่นคือพื้นที่ดังกล่าวมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักขึ้น ภาวะโภชนาการและสุขภาพโดยรวมของคนในพื้นที่ดีขึ้น อัตราการเข้าเรียนและผลการเรียนของนักเรียนในพื้นที่ดีขึ้น รวมไปถึงส่งผลทำให้คนในชุมชนใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย โดยทำให้ผู้หญิงจากต่างวรรณะมารวมกลุ่มกันเพื่อให้คำแนะนำและปรึกษาการใช้เงินระหว่างกันเป็นครั้งแรก[vi]
อย่างไรก็ตาม ความหวังสูงสุดของผู้ที่สนับสนุนนโยบาย universal basic income คือการมองว่านโยบายนี้จะสามารถขจัดความยากจนไปได้อย่างถาวร โดยมองว่ารายได้ที่รัฐมอบให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าจะเป็นเหมือน ‘ฐาน’ อันใหม่ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตไม่ให้ต้องมีใครตกลงไปสู่ความยากจนอีก
แต่ในโลกความจริงที่ทรัพยากรมีจำกัด การออกนโยบาย universal basic income ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงเท่ากับการต้องจัดสรรเงินงบประมาณที่รัฐมีใหม่ด้วย นั่นหมายถึงการยุตินโยบายบางอย่างลง และนำเงินดังกล่าวมาจ่ายเป็นรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชนแทน
ซึ่งงานวิจัยล่าสุดจาก OECD[vii] พบว่า ถ้า basic income ที่รัฐจ่ายให้กับประชาชนนั้นไม่สูงพอ การใช้นโยบายนี้จะไม่ช่วยลดความยากจนลง มิหนำซ้ำยังมีความเสี่ยงที่จะซ้ำเติมให้กลุ่มคนรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลงด้วย
รายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนของนโยบาย universal basic income ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และสหราชอาณาจักร ซึ่งพบว่าหากนำงบประมาณด้านสวัสดิการที่ใช้จ่ายอยู่ในปัจจุบันมากระจายใหม่ด้วยแนวคิด universal basic income ผลปรากฏว่าจำนวนเงินที่แต่ละคนจะได้รับนั้นน้อยมาก จนไม่สามารถทำให้กลุ่มคนที่รายได้น้อยที่สุดสามารถหนีพ้นความยากจนได้จริง
และหากรัฐต้องการจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนให้อยู่เหนือเส้นความยากจนจริง รายได้พื้นฐานที่รัฐมอบให้ก็ต้องสูงขึ้นอีกมาก และนั่นเท่ากับการต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
มิหนำซ้ำ รายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า กลุ่มคนรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนนโยบายสวัสดิการที่เน้นมอบให้กลุ่มคนจนที่มีอยู่เดิม ไปสู่ระบบ universal basic income
ยกตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร หากมีการเปลี่ยนมาใช้นโยบายดังกล่าวจริง จะมีคนกว่า 45% ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐน้อยลง ซึ่งกลุ่มคนที่เสียประโยชน์นี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ‘คนที่เกือบจนที่สุด’ และกลุ่ม ‘คนที่เกือบรวยที่สุด’ โดยแต่ละกลุ่มจะมีสัดส่วนเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนสองกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการน้อยลงกว่าเดิมถึง 60% ในขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐน้อยกว่ากลับเป็นกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุด โดยมากกว่า 70% ของชนชั้นกลางในสหราชอาณาจักรจะได้รับผลประโยชน์จากรัฐมากขึ้น
ดังนั้นแล้ว ในเงื่อนไขที่รัฐยังไม่สามารถขยายฐานภาษีได้กว้างขวางและมีงบประมาณใช้จ่ายมากพอ นโยบาย universal basic income ที่หลายคนหวังว่าจะเป็นทางออกของปัญหาความยากจน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง มิหนำซ้ำยังมีความเสี่ยงที่จะซ้ำเติมกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงด้วย
หลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่แสดงให้เราเห็นถึงข้อจำกัดของนโยบาย universal basic income เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่า นโยบายในการจัดการกับปัญหาความยากจนในปัจจุบัน ที่เน้นการระบุตัวตนผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด แล้วให้สวัสดิการและความช่วยเหลือตามนั้น ก็มีข้อดีที่เหนือกว่าและมีประโยชน์ในตัวมันเองอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมันเป็นระบบที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า และช่วยเหลือได้แม่นยำตรงกลุ่มกว่า
แต่ถ้าข้อดีของระบบสวัสดิการในปัจจุบันคือความแม่นยำในการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ต้องการมันมากที่สุดแล้วละก็
คำถามที่เหลือจึงอยู่ที่ว่า ปัจจุบันเราระบุตัวตนกลุ่มคนเหล่านี้ได้แม่นยำเพียงพอแล้วหรือยัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[i]https://www.technologyreview.com/lists/companies/2017/?utm_medium=partner_social&utm_source=theatlantic&utm_campaign=50sc_traffic#23andme
[ii] ใครอยากลองทดสอบว่างานที่ตัวเองทำอยู่มีโอกาสจะโดนแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้หรือไม่ ลองเข้าไปเช็คดูที่ http://www.npr.org/sections/money/2015/05/21/408234543/will-your-job-be-done-by-a-machine
[iii] https://www.weforum.org/agenda/2017/03/these-entrepreneurs-have-endorsed-universal-basic-income
[iv] https://twitter.com/andrewyng/status/796384957077688320?lang=en
[v] http://www.bignam.org/Publications/BIG_Assessment_report_08b.pdf
[vi] http://www.huffingtonpost.com/scott-santens/universal-basic-income-wi_b_8354072.html
[vii] https://www.oecd.org/els/emp/Basic-Income-Policy-Option-2017.pdf