ในช่วงวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อาจจะนับได้ว่าเป็นช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่เข้มข้น เกรี้ยวกราด ดุเดือด เฉือนคม และเหนือคาดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เป็นได้ ขนาดที่ทำให้คนที่เฝ้าติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดถึงกับปรับอารมณ์ความรู้สึกตามกันไม่ทันเลยทีเดียว จนถึงป่านนี้ก็นึกไม่ออกว่าจะมีช่วงใดที่เหตุการณ์การขับเคี่ยวทางการเมืองระดับนี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่กระชับขนาดนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ที่จะเขียนนี้ไม่ได้เขียนถึงอะไรใหม่ ไม่ได้มีข้อมูลเบื้องลึกอะไร ไม่ใช่กระทั่งเขียนในเชิงวิชาการใดๆ แม้แต่น้อย แต่อยากจะ ‘บอกเล่า’ เรื่องราวและความคิดของผมเองในระหว่างที่นั่งเฝ้าดูเหตุการณ์นี้ในแต่ละช่วงที่เหตุการณ์กำลังดำเนินไป ว่าง่ายๆ คือ นี่คือข้อเขียนลักษณะ memoir ของ “คนที่ทำหน้าที่ได้แต่เฝ้าดู และไร้ซึ่งข้อมูลอะไรเป็นพิเศษ” เป็นเพียงความคิดเห็นที่คาดเดาความเป็นไปของการสู้กันของอีลีตนั่นเอง
เมื่อมันเป็นเพียงแค่การเฝ้าดู และวิเคราะห์ไปตามเกมของ ‘คนธรรมดา’ ที่แหงนมองดูศึกเทพยุทธ (แต่เป็นศึกเทพยุทธที่บอกว่าเป็นไปเพื่อ ‘คนธรรมดา’ อย่างเราๆ นะครับ แค่ว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดในสมการนั้นเลยก็เท่านั้น) เพราะฉะนั้นมันก็จะมีส่วนที่คาดการณ์ วิเคราะห์ตามเนื้อผ้าไป โดยที่ ‘ผิดแบบเต็มประตู’ อยู่ด้วย เพราะเราได้แต่คาดการณ์ไปเอง โดยไม่ได้มีข้อมูลอะไรในไม้ในมือ ว่ากันไปตามข่าวที่ปรากฏเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าการ ‘เดาผิด หรือผิดคาด’ นี้เกิดกับทุกฝั่งด้วย ไม่ว่าจะคนของค่ายลิเบอรัล หรือค่ายอนุรักษ์นิยม อันนำมาสู่การเปลี่ยนท่าทีกันชนิดฮอร์โมนในร่างกายแทบจะหลั่งไม่ทันในที่สุดนั่นเองครับ ว่าง่ายๆ คือ นี่เป็นเพียงแค่ memoir ที่บอกเล่าความนึกคิด ณ จังหวะเวลานั้นๆ
ก่อนที่จะเข้าเรื่องทั้งหมด ผมคิดว่าผมควรจะเริ่มจากสภาพ ‘ก่อนจะเกิดศึกเทพยุทธทางการเมือง’ นี้ก่อน คือ ผมเองเป็นนักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ก็เลยเป็นธรรมดาที่จะตามจับตาการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด และพยายามคิดตามด้วย เราก็จะพยายามคิดถึงฉากความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และฉากหนึ่งที่ผมคิดว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานั้น (ก่อนจะเกิดศึก หรือมีข่าวลือใดๆ) ก็คือ ฝั่งพรรคเพื่อไทย (รวมๆ กับพรรคสาขาของเพื่อไทย) ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. รวมกันแล้วมากที่สุด แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะ สว. สุดท้ายกลายเป็นว่าทางพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้เอง แต่ก็จะไม่สามารถคุมสภาได้
ลักษณะที่ว่านี้คือเกิดเดดล็อคครั้งใหญ่ในทางการเมือง
โดยส่วนตัวผมคิดว่าหาก realistic สักหน่อย คงจะเห็นได้ไม่ยาก และนักยุทธศาสตร์ของฝั่งทหาร คสช. หรือพลังประชารัฐเองก็ย่อมเห็นจุดนี้ด้วยแน่ๆ ไม่มีทางที่พวกเขาจะคิดไม่ได้ คำถามคือ ในกรณีที่พวกเขาคิดได้นั้น ก็ย่อมต้องหาทางแก้ แล้วสภาวะอย่างที่ว่ามันจะมีวิธีการอย่างไรที่เป็นไปได้บ้าง? (อันนี้พูดในแง่ความเป็นไปได้ในทางยุทธศาสตร์ หรืออาวุธในมืออย่างเดียวนะครับ ไม่ได้สนความถูกต้องทางหลักการอะไรใดๆ ทั้งสิ้น)
ในเวลานั้นผมมองว่าความเป็นไปได้หลักๆ น่าจะมี 3 แบบ คือ
- รัฐสภาวุ่นวายมาก จนไม่อาจจะควบคุมได้ ก็นำมาสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกรณีนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะทางฝั่งทหารคงจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น หลังจากที่อุตส่าห์ร่างกฎกติกามาให้เป็นแบบนี้แล้ว
- สร้างความวุ่นวาย หรือไม่ก็ลดคู่แข่งทางการเมืองลงไปแบบตรงๆ เช่น การยุบพรรค หรือตัดสิทธิ์พรรคคู่แข่งไปเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทย ที่เป็นคู่แข่งตัวหลักที่สุด อย่างไรก็ตาม ในกรณีแบบนี้ การยุบพรรคในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะยุบไปแล้วผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคเดิม ไม่สามารถย้ายลงสมัครให้กับพรรคอื่นได้อีก เพราะมีเวลาไม่ถึง 90 วัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในกรณีของพรรคเพื่อไทยกับพรรคสาขาตัวหลักอย่างพรรคไทยรักษาชาตินั้นต่างก็ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงครบทุกเขต โดยทั้ง 2 พรรคต่างก็ ‘สับหว่างกันลง’ เพื่อไม่ให้แย่งคะแนนเสียงกัน ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดูดี แต่ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยโดนยุบ (หรือไทยรักษาชาติโดนยุบ) การทำแบบนี้เองกลับเป็นผลเสีย เพราะผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เชียร์พรรคเพื่อไทย (ซึ่งโดนยุบ) จะไม่มีตัวเลือกไปเลือกพรรคในเครืออื่นๆ ที่เป็นตัวเลือกที่น่าเลือกจริงๆ อีก (ซึ่งหวยอาจจะไปตกที่พรรคอนาคตใหม่แทน)
หรือในเคสที่ร้ายที่สุดของการยุบพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะทำให้คนจำนวนมากโกรธ และออกมาต่อสู้ประท้วงอีก ก็ดูจะกลายเป็นเหตุผลให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้อีก และต่ออายุ คสช. ต่อไปได้อีกด้วย เหมือนเริ่มต้นกันใหม่หมด ทางเลือกที่ 2 นี้จึงดูค่อนข้างจะเป็นประโยชน์กับทางฝั่งรัฐบาลทหารไม่น้อย และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าหากไม่หาเหตุผลอะไรดีๆ มายุบ ก็คงจะดูห่ามมากไม่น้อย - ในกรณีที่อยากจะควบคุมรัฐสภาให้สงบ เดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ได้ใช้วิธีการสุดโต่งอย่างการยุบพรรค หรือรัฐประหารซ้ำอีกครั้งนั้น อีกตัวเลือกที่เป็นไปได้ก็คือ การใช้ดีลทางการเมือง ข่มขู่ เช่น (อันนี้อยู่ในฉากความเป็นไปได้ที่บอกแต่ต้นนะครับคือ ทหารตั้งรัฐบาลได้ แต่เพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด) ทหารบอกว่าต้องการจะผ่านงบนั้นนี้ หรืออยากออกนโยบายแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งโดยปกติเพื่อไทยคงไม่ยอมให้ผ่าน และนำมาซึ่งความโกลาหลในสภา เพราะรัฐบาลจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่หากรัฐบาลทหารประชารัฐยื่นข้อเสนอว่า “ต้องยอมผ่านนโยบายนี้ให้ ไม่งั้นจะโดนสั่งยุบพรรค” … กรณีที่เกิดดีลลักษณะนี้ขึ้น ตัวผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร
อย่างไรก็ตาม นี่คือ 3 ความเป็นไปได้หลักที่ผมคิดว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้น ก่อนจะมีข่าวลือ หรือศึกเทพยุทธใดๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความได้เปรียบและการกุมความเป็นไปได้แทบทั้งหมดดูจะอยู่ในมือฝั่งทหาร ผมพยายามคิดจนหัวแทบแตกอย่างไรก็คิดไม่ออก ว่าจะมีทางทำอย่างไรให้ฝั่งประชาธิปไตย ‘ได้เปรียบ’ ในสถานการณ์แบบที่ว่า และผมคิดว่านักรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากก็ค้างคาอยู่กับความเป็นไปได้ใกล้ๆ กันกับ 3 ข้อนี้
จนกระทั่งข่าวลือ ซึ่งโดยทั่วไปเข้าใจว่าเริ่มต้นขึ้นโดยนักข่าวต่างชาติท่านหนึ่งได้เริ่มสะพัดออกมา ว่าทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ อาจจะเป็นแคนดิเดตนายกแต่เพียงหนึ่งเดียวของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แทนที่จะเป็นคุณจาตุรนต์ ฉายแสง อย่างที่แทบทุกคนคาดการณ์ไว้แต่แรก และข่าวลือนี้ก็ลามไปทั่วในเวลาอันรวดเร็ว
ในเวลานั้น หลังจากที่ผมได้รับรู้ข่าวลือ บอกตามตรงครับว่ามีความรู้สึกโกรธมากในทางการเมือง เพราะสำหรับผมแล้วหากกรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจริง จะเป็นการแก้ปัญหาแบบนอกหลักการ ใช้พลังของอำนาจที่อยู่นอกระบบมาจัดการกับปัญหามาก แต่พร้อมๆ กันไปในแง่ยุทธศาสตร์ทางการเมือง (แบบยุทธศาสตร์ล้วนๆ) แล้วก็รู้สึกทึ่งกับทางเลือกนี้ด้วย เพราะเป็นตัวเลือกที่ไม่เคยคิดขึ้นมาก่อนจริงๆ อย่างน้อยๆ ก็ผมคนหนึ่งแหละที่ไม่ได้คิดถึงทางเลือกนี้จริงๆ (และดูจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยก็ครือๆ กัน)
หลังจากทราบข่าวลือ แม้ผมจะคิดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจริง คือทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช. แต่ผมมองว่ามีโอกาสที่จะเป็น ‘เกมบลัฟ’ มากกว่าในเวลานั้น (หรืออย่างน้อยๆ ก็คือ คาดหวังให้เป็นเพียงแค่เกมบลัฟ) เพราะข่าวลือที่ว่ามานั้น มีมาตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นอย่างน้อย และหากมีแคนดิเดตระดับทูลกะหม่อมอุบลรัตนฯ จริงๆ การเปิดหน้าไพ่ใหญ่นี้ให้เห็นตั้งแต่แรกเลยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ที่ผมว่าเปิดหน้าไพ่เลย (หากมีแคนดิเดตระดับนี้จริง) จะดีกว่าก็เพราะว่า ในช่วงเวลาแบบนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและเครือต้องกลัวมากที่สุดก็น่าจะเป็นไปตามฉากความเป็นไปได้ที่ว่าไป 3 ข้อนั้น คือ ต่อให้ได้เสียงส่วนมากมา ก็ไม่ได้ตั้งรัฐบาล เพราะ สว. จะไม่เลือก, มีโอกาสโดนยุบพรรค หรือตัดสิทธิโดยองค์กรอิสระต่างๆ ที่อาจจะใช้งานได้ ทั้ง กตต. ปปช. หรือกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งหากมีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตจริงๆ ก็ควรจะเปิดหน้าไพ่โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการโดนกลั่นแกล้งที่ว่าด้วย หรืออาจจะถึงขั้นทำให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่รับปากตกลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้พรรคพลังประชารัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าประยุทธ์อ้างเสมอในฐานะการเป็นตัวแทนความจงรักษ์ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นการเปิดหน้าไพ่เร็วดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แถมหากเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น ก็ยังจะมีเวลาอีก 1 วันพอให้แก้ไขได้ด้วย (และเมื่อมานั่งนึกย้อนเพื่อเขียน memoir นี้ การที่เสนอเพียงชื่อเดียว แทนที่จะเสนอ 2 ชื่อ คือ คุณจาตุรนต์ด้วยนั้น ก็อาจจะต้องนับเป็นจุดที่แปลกอีก 1 จุด)
ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงคิดว่าแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช. ในข่าวลือนี้ไม่น่าจะมีจริง เพียงแต่เล่นเกมบลัฟ ทำทีเหมือนว่ามีมากกว่า (แต่ก็ยังรู้สึกอยู่เสมอนะครับว่า ‘มีความเป็นไปได้ที่จะจริง’ แค่คิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้มากกว่า) และผมก็คิดว่าคนที่ตามข่าวนี้ก็ลุ้นหนักเหมือนกันว่าจะจริงหรือไม่จริง จนสถานะความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ดูจะมีพลังในตัวมันเองขึ้นมามาก แม้จะเป็นเพียงข่าวลือ สถานะแคนดิเดตในช่วงที่เป็นข่าวลือนี้ จึงมีพลังเหมือนกับทั้งเป็นความจริงและไม่จริงไปพร้อมๆ กัน (คือทุกคนมี What if… หรือ “ถ้ามันจริงขึ้นมาล่ะ?” อยู่ในหัวตลอด) จะเรียกว่าเป็น ‘ชโรดิงเจอร์ส แคนดิเดต’ ก็คงไม่ผิดนัก
ถึงเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2019 ความจริงก็ปรากฏแก่สายตาทุกคน ผมเดาผิด (แต่ก็ไม่ได้เซอร์ไพร์สนัก เพราะเซอร์ไพร์สไปหมดตั้งแต่ตอนข่าวลือแล้ว) ทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้พรรค ทษช. จริงๆ เมื่อมาถึงจุดนี้ การเป็นตัวแทนความจงรักภักดีของทหารดูจะสั่นคลอนไม่น้อย เพราะทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ยอมรับเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองซึ่งถูกทั้งรัฐบาลทหาร คณะรัฐประหาร พันธมิตรฯ และ กปปส. กล่าวหามาโดยตลอดว่า “ต้านเจ้า ล้มเจ้า” ในขณะที่ตัวผู้นำของทหารอย่างพลเอกประยุทธ์เอง ซึ่งแสดงออกเสมอในฐานะการเป็นตัวแทนของผู้จงรักภักดี กลับรับลงสมัครเป็นแคนดิเดตให้กับพรรคคู่แข่งของทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ
ความสั่นคลอนที่ว่านี้ดูจะตกไปถึงผู้บอกว่าตนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนมากด้วย ที่ออกมาก่นด่าประณามอย่างกราดเกรี้ยวในโลกโซเชียล ถึงขนาดที่ว่า มีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น กปปส. คนหนึ่งเสนอให้ล้มเลิกมาตรา 112 กันเลยทีเดียว (ทั้งที่ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยโดนพวก กปปส. ทำร้าย เพราะข้อเสนอเดียวกันนี้มาแล้ว)
ในตอนนั้น บอกตามตรงว่าผมคิดว่าพลังประชารัฐจบแล้ว น่าจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สำเร็จแล้วแน่ๆ (เพราะการที่ทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ จะมาเป็นแคนดิเดตนั้น พระราชวงศ์ท่านอื่นก็น่าจะรับรู้ด้วยแต่ต้น เพราะเป็นเรื่องใหญ่ระดับประวัติศาสตร์ชาติ) ผมนึกถึงความเป็นไปได้ 2 แบบ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากกรณีทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มาเล่นการเมือง คือ จะเกิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไปเลย และไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้น หรือหากทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบบการเลือกตั้งจริง พรรคเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติก็คงจะตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งไม่ว่าจะกรณีไหนก็น่าจะจบยุคของรัฐบาลทหารลง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นแบบนั้น ก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นซึ่งปัญหา
เพราะอย่างที่บอกไปแต่แรกว่า ตัวตนของทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในฐานะพระราชวงศ์คนหนึ่งนั้นมีสถานะที่พิเศษมากในทางสังคมไทย แต่พร้อมๆ กันไปกระบวนการทำงานในรัฐสภานั้นก็ต้องการการตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยละเอียด มิเช่นนั้นจะเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยไปเสียไม่ได้ ผมจึงพยายามคิดถึงฝ่ายค้าน ว่าเราควรถึงเวลาที่จะคิดถึงการวางระบบการตรวจสอบ และมองหาฝ่ายค้านที่มีความกล้าพอที่จะตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์อย่างถูกต้องตามหลักการทางรัฐสภาพด้วย ในกรณีที่ทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้จัดตั้งรัฐบาล หรืออย่างน้อยที่สุดก็นั่งเป็นคนหนึ่งใน ครม. ซึ่งหน้าที่นี้นอกจากจะต้องอาศัยความกล้าแล้ว ยังเสี่ยงต่อการโดนเกลียดด้วย เพราะตัวตนของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีพลังทางสังคมมาก จากการที่ตัวสถาบันและพระราชวงศ์เป็นที่รักและเคารพในสังคมไทย
กระนั้นตอนค่ำๆ ดึกๆ ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เกมของฝั่งพรรคเพื่อไทย—ทษช. ก็ดูจะพลิกอีก เมื่อมีพระบรมราชโองการโดย รัชกาลที่ 10 ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และทูลกะหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ นั้น แม้จะไม่มีพระอิสริยยศแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นพระราชวงศ์ที่ได้รับความรักและเคารพอยู่ จึงต้องอยู่เหนือการเมืองเช่นเดียวกัน พระบรมราชโองการนี้เองที่ทำให้นอกจากพรรคไทยรักษาชาติจะไม่เหลือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว ค่ายเพื่อไทยเองทั้งหมดก็กลับเข้าสู่วังวนของเดดล็อคเดิมที่มีโอกาสได้เสียงส่วนใหญ่ แต่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ และมาพร้อมกับความเสี่ยงในการจะโดนยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้มากขึ้น ตอนนี้ดูพอจะหาเหตุผลมาใช้อ้างในการเล่นงานได้มากขึ้นแล้ว และการพูดคุยหรือศึกเทพยุทธของการเลือกตั้ง “เพื่อประชาชน เพื่อคนธรรมดา แต่คนธรรมดาได้แต่เพียงแหงนหน้าดูแบบงงๆ” นั้นก็ดูจะจบลง ผมคิดว่าหากจะมีการพูดคุยอะไรอีกหลังจากนี้ ก็คงเป็นการล็อบบี้ต่อรองไม่ให้พรรคโดนยุบ หรือตัดสิทธิทางการเมืองแล้วเสียมากกว่าการหาทางเอาชนะใดๆ นักแล้ว
แต่จนถึงตอนนี้ ผมคิดว่าน่าจะมากพอแล้วที่จะสรุปว่า ในศึกเทพยุทธที่พูดเฉพาะในแง่ยุทธศาสตร์ล้วนๆ นั้น ค่ายของทักษิณ ชินวัตรดูจะพ่ายแพ้ไป อ่านหมากอ่านเกมไปได้ไม่ลึกเท่าฝั่งอนุรักษ์นิยม และก็เกิดการโป๊ะแตกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยขึ้น ส่วนบทเรียนที่ฝั่งประชาชนคนธรรมดาอย่างเราดูจะได้รับก็คือ “เราไม่มีพื้นที่อะไรในสมการนี้เลย” เราอาจจะไม่ได้เป็นกระทั่งเบี้ยเสียด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระดานที่เข้าเอาไว้ใช้ขยับเบี้ยอีกทีหนึ่งครับ