มีศัพท์ทางชีววิทยาคำหนึ่ง (จริงๆ คือสองคำ) คือ Carrying Capacity เป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายความสามารถในการ ‘รองรับ’ สัตว์หรือพืช (หรือสิ่งมีชีวิต) ชนิดต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ซึ่งหมายรวมไปถึงเรื่องของอาหาร ที่อยู่อาศัย น้ำ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ พูดอีกอย่างก็คือความสามารถที่ ‘ระบบนิเวศ’ หนึ่งๆ จะรองรับสิ่งมีชีวิตได้
ศัพท์คำนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ด้วยเหมือนกันครับ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เข้ามาอยู่รวมกันเป็นเมืองใหญ่ จึงเกิดศัพท์ที่เรียกว่า Urban Carrying Capacity หรือ UCC ขึ้น
UCC เป็นแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเมืองสมัยใหม่นะครับ เพราะมันคือการมองเมืองเป็นระบบนิเวศ แบบเดียวกับที่นักชีววิทยามองพื้นที่ที่จะสามารถ ‘รองรับ’ สัตว์หรือพืชในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ ได้ เมื่อมองว่าเมืองเป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่ง เมืองก็ไม่ใช่แค่โครงสร้างแข็งๆ อย่างเดียวเท่านั้น แต่เมืองยังมีชีวิต มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีเกิดมีตาย มีการผลัดเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วย
หลายคนเชื่อว่า UCC คือกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่การจัดการเมืองที่ยั่งยืน เพราะมันดูทั้ง ‘ปริมาณ’ (Quantity) และ ‘คุณภาพ’ (Quality) ของเมืองในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะผ่านทางสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เมืองสร้างขึ้นเพื่อให้บริการและรองรับวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง แต่เมืองที่ยั่งยืน ย่อมไม่ได้มีการจัดการดูแลให้สาธารณูปโภคทั้งหลายแค่ ‘ใช้การได้’ เท่านั้นนะครับ ทว่ายังมองไกลไปถึงสิ่งที่รัฐไทยไม่ค่อยมองเวลาพูดถึงการจัดการเมือง นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า Amenities ซึ่งไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี เพราะถ้าแปลตรงๆ ก็คือ ‘เครื่องอำนวยความสะดวก’ แต่เมื่อนำมาใช้กับเมือง มันจะกินความไปถึงหลายๆ เรื่อง บางคนอาจคิดว่า Amenities หมายถึงสนามกีฬา สวนสาธารณะ หรือสาธารณูปโภคเพื่อสันทนาการทั้งหลาย แต่ที่จริงแล้ว Amenities หมายรวมไปถึงมิติอื่นๆ เช่น สุขอนามัย การจัดการมลพิษ (เช่นมลพิษทางเสียงที่ ‘คุณป้าทุบรถ’ ต้องเผชิญ) หรือแม้กระทั่งการทำให้ชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองมีความ ‘รื่นรมย์’ ด้วย
ถ้าไม่มีการวางแผนสร้าง Amenities เอาไว้ล่วงหน้าอย่างดีพอ แต่ปล่อยให้เมืองเติบโตไปตามกระแส Urbanization อย่างไร้ทิศทาง ผู้บริหารเมืองมัวแต่ต้องนั่งบริหารอำนาจเพื่อรักษาเก้าอี้ของตัวเองเอาไว้ เมืองก็ย่อมเกิดปัญหา และปัญหาใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเกิดได้ – ก็คือการที่เมืองไม่มีความสามารถมากพอจะรองรับผู้คน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมืองไม่เหลือ UCC อีกต่อไป
กรณี ‘ป้าทุบรถ’ ที่เกิดขึ้นจนเป็นข่าวดังและมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายมุมมองนั้น ถ้ามองจากมุมของวิธีจัดการเมือง ต้องบอกว่านี่เป็นตัวอย่างของ UCC หรือการ ‘รองรับ’ ของเมืองที่ไม่เพียงพอ พูดง่ายๆ ก็คือ เมืองไม่สามารถ Carry ชีวิตของคุณป้าและชีวิตของผู้คนที่ต้องการใช้พื้นที่ตลาด – ได้ในเวลาเดียวกัน
เห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่า ‘เนื้อเมือง’ ในย่านที่คุณป้าทุบรถอยู่นั้น กำลังเกิดกระบวนการ Urbanization อย่างรุนแรง คือมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น ‘เมือง’ ที่มีการกระจุกตัวของผู้คน จากเดิมที่เนื้อเมืองตรงนั้นมุ่งหมายจะให้เป็นย่านชานเมืองและเป็นที่อยู่อาศัย (Residential Area) แต่เมื่อกระบวนการ Urbanization เกิดขึ้นแบบไร้ทิศทาง ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมาอย่างน้อยสองอย่างที่สวนทางกัน อย่างแรกก็คือเกิดความ ‘หนาแน่น’ (Density) ของประชากรในแบบสะเปะสะปะ และอย่างที่สองก็คือความขาดแคลน Amenities ที่จะรองรับและเอื้ออำนวยความรื่นรมย์ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคุณป้าหรือชีวิตคนอื่น – เพราะไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอะไรเลย มีชีวิตอยู่กันไปตามบุญตามกรรมและตามผลประโยชน์เบื้องหลังแท้ๆ
หลายคนบอกว่า จะไปรู้ได้ยังไงว่าใครจะย้ายเข้ามาอยู่ตรงไหนในเมืองบ้าง แต่ที่จริงแล้ว เราทำนายความหนาแน่นของเมืองได้นะครับ ในเมืองที่ศิวิไลซ์และ ‘เจริญแล้ว’ เขาจะมีการเก็บข้อมูลพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา เช่นลอนดอนมีการนับการใช้จักรยาน นับผู้คนที่เดินข้ามสะพาน ฯลฯ เพื่อให้เกิดข้อมูลที่นำไปตีความต่อได้ว่า เมืองจะเติบโตมากน้อยแค่ไหนในอนาคตอันใกล้ และจะเติบโตไปทางไหน ทั้งทิศทางในเนื้อเมืองและวิถีทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย ดังนั้นจึงสามารถและ ‘ต้อง’ วางแผนรับมือเอาไว้ล่วงหน้า โดยนักวางผังเมืองจะคอยคิดหรือทำ Projection อยู่ตลอดเวลา ว่าจะวางแผนรองรับการเติบโตของเมืองอย่างไร จะปล่อยให้เมือง ‘โป่ง’ หรือเกิดความหนาแน่นแบบไร้การควบคุมไม่ได้ เพราะมันจะสร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดขึ้น
รายงานข่าวของ thelinemedia.com เคยยกตัวอย่างเมืองมินนีอาโพลิส กับการวางแผนสร้างดาวน์ทาวน์ใหม่ (Rebuilding Downtown) ออกมาเป็นแผนชื่อ The Downtown 2025 คือวางแผนล่วงหน้า เพื่อสร้าง Amenities สำหรับคนที่จะเพิ่มขึ้นราว 70,000 คน จะเห็นว่าแค่เมืองมีคนเพิ่มขึ้นมาไม่ถึงแสนคน มินนีอาโพลิสก็ยังต้องวางแผนรับมือล่วงหน้าเป็นสิบปี (แผนนี้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว) เพราะถ้าไม่ ‘คิด’ เอาไว้ล่วงหน้า เวลาคลื่นคนอพยพเข้ามาจริงๆ ไม่มีทางรับมือได้ทันหรอกครับ
สิงคโปร์ ลอนดอน ปารีส หรือเมืองไหนๆ ก็มีแผนพวกนี้อยู่ และเป็นแผนที่ ‘ประกาศ’ ให้คนรู้เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย แต่คำถามก็คือ กรุงเทพฯ – เมืองดีๆ ที่ใครไม่ทราบดูแลนั้น, ควบรวมการดูแลเอาไปซุกไว้ในซอกไหนก็ไม่ทราบ จนคนทั่วไปไม่ค่อยได้มีโอกาสร่วมตัดสินใจหรือกระทั่งร่วมรับรู้ทิศทางการพัฒนาเมืองเลย และที่สุด ก็ส่งผลออกมาเหมือนที่เราเห็น – คือไม่เคย ‘รับมือ’ กับการเปลี่ยนแปลงใดๆ, ได้ทัน
เมื่อรับมือไม่ทัน ก็เกิดปัญหา UCC หรือความสามารถในการรองรับไม่เพียงพอ
UCC มีอยู่หลายด้านด้วยกัน แต่ละด้านก็จะเกื้อหนุนกันทำให้เกิดเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการรองรับเทรนด์ Urbanization ที่จะเกิดมาก เร็ว และรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
UCC แรก ก็คือความสามารถในการรองรับทางกายภาพ (Physical Carrying Capacity) พูดง่ายๆ ก็คือการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น ถ้ารู้ว่าจะมีคนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง หรือในพื้นที่ย่านนั้นย่านนี้ของเมือง ก็ต้องมีการสร้างที่อยู่อาศัยหรือสาธารณูปโภคเพิ่มเติม ย่านไหนเป็นย่านที่อยู่อาศัย ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนกันไปว่าการใช้พื้นที่มีวัตถุประสงค์อย่างไร ส่วนย่านไหนวางแผนให้เติบโตไปเป็นย่านการค้า ก็ต้องจัดหาสาธารณูปโภคที่ดีพอให้
ในสังคมไทย ความที่เราเป็น ‘วัฒนธรรมตลาด’ มาแต่ดั้งเดิม ประมาณว่าตลาดก็คือที่ชุมนุมขายของที่หลายคนไม่ค่อยคิดว่าต้องมีการสร้างสาธารณูปโภคอะไรมารองรับบ้างหรือเปล่า ทำให้การคิดถึงสิ่งที่ ‘ไปไกล’ กว่าสาธารณูปโภค คือ Amenities เป็นเรื่องที่เหลือพ้นวิสัยไปอีกขั้นหนึ่ง เรามักจะคุ้นเคยกับตลาดที่ ‘ผุด’ ขึ้นมาเองตามข้างทาง เพื่อรองรับความต้องการของคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในย่านที่มีการกระจุกตัวหนาแน่น เช่น ตลาดของพนักงานออฟฟิศทั้งหลาย ซึ่งอาจมีการทิ้งของเสียประเภทไขมันมากกว่าปกติ แต่หาก ‘โครงสร้าง’ ของท่อระบายน้ำในระดับเมือง ไม่ได้รับการออกแบบมาให้นำไปสู่ระบบดักและกำจัดไขมันที่มีประสิทธิภาพมากพอจะรองรับได้ ผลลัพธ์ก็คือการปล่อยของเสียอินทรีย์ลงสู่แม่น้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียทางสิ่งแวดล้อมได้มากมายอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง เช่นอาจเกิดภาวะแพลงตอนในทะเลปากอ่าวไทยเติบโตผิดปกติ และแย่งออกซิเจนจากสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นต้น
UCC ในด้านกายภาพจึงสำคัญ ซึ่งในกรณีป้าทุบรถ เราจะเห็นเลยว่าตลาดที่อยู่รายรอบบ้านป้าทุบรถนั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้ขออนุญาตสร้างเป็น ‘ตลาด’ เมื่อไม่มีใครคิดว่าเป็นตลาด ก็อาจแปลความได้ว่า – ไม่มีใครคิดว่าต้องมี ‘ระบบ’ อะไรมารองรับบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้จึงคือความทุกข์ยาวนานของป้าทุบรถและคนอื่นๆ รวมไปถึงความเละเทะ ทำให้คนที่ทนไม่ได้ต้องย้ายหนีออกไปเองโดยไม่มีใครมารับผิดชอบ
UCC อย่างที่สอง คือความสามารถในการรองรับทางเศรษฐกิจ (Economic Carrying Capacity) เรื่องนี้ยิ่งชัด เพราะเราจะเห็นว่า กระบวนการ Urbanization ได้ทำให้พื้นที่ที่เคยมีวัตถุประสงค์จะเป็นที่อยู่อาศัย (Residential Area) เดิมนั้น ถูกคนจำนวนหนึ่งนำพื้นที่มาใช้สอยผิดเป้าหมาย (ที่ร้ายก็คือการใช้สอยนี้นำมาซึ่งมหาชนจำนวนมหาศาล) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเมื่อเนื้อเมืองเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจที่รองรับเนื้อเมืองก็เปลี่ยนไปด้วย การที่พื้นที่อยู่อาศัยกลายเป็น ‘ตลาด’ จึงคือการเปลี่ยน ‘โครงสร้าง’ ของเนื้อเมืองหรือพื้นที่นั้นๆ ให้ไปมีหน้าที่หรือ Function อีกแบบหนึ่ง แต่เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากการออกแบบล่วงหน้า ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ของคนในพื้นที่ การเปลี่ยนโครงสร้างที่ว่านี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างทั้งใหม่และเก่าบิดเบี้ยวไปจากที่ควรเป็น
ที่พึงสังเกตก็คือ กระทั่งคุณป้าทุบรถที่ถือได้ว่าไม่ใช่คนยากไร้ แต่เป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในสังคม ก็ยังต้องตกเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ ยาวนานนับสิบปี ซึ่งน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่ามี ‘อำนาจ’ บางอย่างที่ใหญ่โตมหาศาลทำงานอยู่เบื้องหลัง
UCC ถัดมาที่สำคัญมาก ก็คือความสามารถในการรองรับทางสังคม (Social Carrying Capacity) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสองอย่างแรก นั่นคือเมื่อเนื้อเมืองเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในทางสังคมวัฒนธรรมตามมา
เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากคำบ่นของคุณป้าทุบรถ โดยเฉพาะมลพิษทางเสียง (นอกเหนือไปจากการจอดรถขวางทางเข้าออก) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้มาใหม่ใช้พื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์และรายได้ ไม่ได้ใช้พื้นที่เพื่อเป็น ‘บ้าน’ อยู่อาศัย พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้มี ‘สำนึก’ ว่าตัวเองเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ เมื่อไม่มีสำนึกนี้ ก็ย่อมไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่นมากนัก ถ้าคนที่อยู่ข้างบ้านของเราไม่ได้เห็นว่าที่ที่เขาอยู่เป็น ‘บ้าน’ แต่เป็นแค่ที่ที่มาทำมาหากิน เมื่อได้ประโยชน์เสร็จสิ้นแล้วก็กลับออกไปจากพื้นที่ จึงคาดเดาได้ไม่ยากนักว่าการดูแลพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีการรับรู้จากรัฐตั้งแต่ต้น – ว่าจะใช้พื้นที่นี้เป็นตลาด
UCC สุดท้ายที่หายไป ก็คือความสามารถในการรองรับทางชีวภาพ (Biophysical Carrying Capacity) ซึ่งหมายถึงการรองรับในด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องขั้นกว่าของทุก UCC ที่ผ่านมา คือต้องมีการวางแผนให้เกิดทุก UCC ที่ว่ามาข้างต้นเสียก่อน ถึงจะเกิด UCC ในด้านสิ่งแวดล้อม (หรืออีกนามหนึ่งก็คือความยั่งยืน หรือ Sustainability) ขึ้นมาได้ แต่เมื่อไม่มี UCC อื่นที่เป็นฐานเสียแล้ว ก็คาดเดาได้เลยว่าพื้นที่เหล่านี้ย่อมตกอยู่ในสภาพย่ำแย่
นอกจากความสามารถในการรองรับต่างๆ เหล่านี้แล้ว UCC ยังต้องการการรับรู้จากสาธารณะ (Public Perception) ด้วย ว่าเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นแล้ว สาธารณะรับรู้อย่างไร ยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงภาครัฐ (Institution Setting) ว่ามีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ มาดูแลรองรับอย่างไร และบังคับใช้ให้เกิดผลตามที่วางแผนเอาไว้หรือเปล่า (ซึ่งถ้าไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าก็ไร้ค่าไร้ประโยชน์อยู่ดี)
ความสามารถในการรองรับในมิติต่างๆ เหล่านี้ ต้องนำมาคลี่แผ่แล้วดูกันอย่างละเอียด เพราะทุกอย่างสอดประสานกันอย่างแน่นแฟ้น ถ้าคนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ มีจำนวนมากเกินกว่าความสามารถที่ ‘เนื้อเมือง’ ตรงนั้นจะรองรับได้ ก็อาจเกิดปัญหาที่พักไม่เพียงพอ ปัญหาขยะล้นเมือง รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมอื่นๆ ติดตามมาได้
อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเราจะหา ‘ขอบเขต’ ของ ‘ความสามารถในการรองรับ’ ที่ว่านี้ได้อย่างไร
คำตอบนี้ยากมากนะครับ เพราะแม้ UCC จะเป็นเรื่องที่พูดกันมากและยาวนานมาตลอด (เอาเข้าจริง เขาบอกว่าคนแรกที่พูดถึง UCC ก็คือ โธมัส มัลธัส ด้วยซ้ำไป) แต่กระนั้นก็ยังขาดการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์มากพอ
UCC คือการศึกษาที่มุ่งเน้นถึงเรื่องเมือง เป็นการศึกษา ‘ระบบเมือง’ ที่มากกว่าแค่การออกแบบ มากกว่าแค่การดูว่าพื้นที่เมืองนั้นๆ มีพื้นฐานทางธรรมชาติอย่างไร แต่รวมไปถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วย ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สาธารณูปโภค ฯลฯ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่เป็นการศึกษา ‘ภาพรวม’ ที่ใหญ่มาก คือศึกษาทั้ง ‘ร่างกาย’ และ ‘ความรู้สึกนึกคิด’ ของเมือง
แม้มีการศึกษาอยู่เนืองๆ เช่นการศึกษาเรื่อง UCC ของ ‘เมืองช้ันใน’ (Inner City) ของโตเกียว ในปี 1994 (Onishi, T. A Capacity Approach for Sustainable Urban Development: An Empirical Study.) แต่ก็มักเป็นการศึกษาในแนว Empirical Study คือการดูในเรื่องทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น ว่ามีอุปสงค์อุปทานอย่างไร การศึกษาในเรื่อง UCC ที่อินเดียหรือจีนก็คล้ายกัน คือเป็นการศึกษาถึงตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมทางการเงิน งบประมาณ และสาธารณูปโภคทั้งหลาย ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงทุกแง่มุมของ UCC เต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘วิญญาณ’ ของเมือง
ในการศึกษาเรื่อง UCC ของปักกิ่ง (ดูได้ที่นี่ )ผู้วิจัยบอกว่า การพัฒนาเมืองนั้น ต่อให้เป็นไปแบบที่ ‘ตั้งใจ’ และมีการ ‘วางแผน’ มาแล้ว แต่ถ้ามันมากเกินไปจนเลยขอบเขตของ UCC (คือพัฒนาจนล้นเกินความสามารถที่เมืองจะรองรับได้แล้วละก็ จะส่งผลเสียต่อเมืองแน่ๆ เรื่องหนึ่งก็คือมันจะไป ‘ทำลาย’ (Degrade) คุณภาพชีวิตของชาวเมืองลง ส่งผลให้ความยั่งยืนไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ข้อเสนอแนะสำคัญของผู้วิจัยในงานชิ้นนี้ก็คือ รัฐต้อง ‘กระจายอำนาจ’ หรือมีนโยบายแบบ Decentralization Policy ซึ่งจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (เป็นข้อเสนอที่ ‘กล้ามาก’ เพราะเสนอกับรัฐบาลปักกิ่งอันเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์เผด็จการอำนาจนิยม) ถัดมาคือต้องลงทุนและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ด้วยวิธีที่ ‘คิดและทำล่วงหน้า’ (Proactive) ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม ถัดมาก็คือ ต้องมีการวางผังเมืองและปรับปรุงการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและหลากหลาย และสุดท้ายก็คือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างที่เป็นอยู่ให้กลับไปคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า สังคมเมืองแบบใหม่ตามเทรนด์ Urbanization มักวางตัวอยู่บน ‘ระบบตลาด’ ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ทำให้ ‘พื้นที่เกิดใหม่’ ทั้งหลาย เป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์เบื้องหลังซับซ้อนโยงใยกันมากจนยากจะควบคุมจัดการได้ และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดสภาพอัปลักษณ์ไร้การดูแลและวางแผนล่วงหน้าอย่างที่เห็น
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องท้าทายสังคมไทยอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเรื่อง UCC เป็นเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยน ‘เนื้อเมือง’ ที่เราอยู่ เพื่อให้เราสามารถต่อกรกับ Density ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการวางแผนสร้าง Amenities ในหลายระดับล่วงหน้า แต่คำถามก็คือ – ในสังคมไทยนิยมอย่างที่เป็นอยู่ เราเคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้กันบ้างไหม
และเราต้อง ‘ทุบรถ’ ของใครอีกกี่คัน – คนมีอำนาจถึงจะมีสติขึ้นมาบ้าง