ในขณะที่รถตู้กำลังจะไปถึงยังที่หมาย เรากวาดสายตามองไปรอบๆ และคิดในใจว่าสวนที่ว่ามันอยู่ตรงไหน มองไปก็เจอแต่บ้านคน อีกทั้งรอบข้างก็มีเศษของเก่ามากมายวางรายล้อมเป็นจุดๆ ซึ่งให้ความรู้สึกที่น่ากลัวนิดๆ แต่พอได้ไปเห็นสวนเกษตรของชาวชุมชนพูนทรัพย์ก็ต้องหยุดความคิด ความสงสัยเอาไว้ เพราะสวนแห่งนี้เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ที่เขียวขจีและอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่เพียง 50 ตารางวา แต่ก็สัมผัสได้ถึงความใส่ใจ ความอบอุ่นของผู้ที่ดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี
สวนเกษตรชุมชนของชาวชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม คือ สวนเกษตรที่ทุกคนร่วมใจกันปลูกและได้รับการยื่นมือเข้ามาช่วยโดย ผศ.พัสรินณ์ พันธุ์แน่น หรืออาจารย์น้ำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก โดยแต่ก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่รกร้าง ชาวบ้านกับอาจารย์จึงร่วมด้วยช่วยกันจนเป็นสวนเกษตรที่สมบูรณ์
จุดเริ่มต้นสวนเกษตรชุมชน
เมื่อไปถึงพื้นที่ก็พบชาวพูนทรัพย์กำลังนั่งทานขนมกันอยู่ ซึ่งทุกคนให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อีกทั้งยังพาไปชมพืชพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกเอาไว้ขณะรอเจ้าของโครงการ และระหว่างที่ชมอยู่นั้น พี่แดง หนึ่งในสมาชิกชุมชนพูนทรัพย์เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของพื้นที่ตรงนี้ไปด้วยพลางๆ โดยเริ่มแรกชาวบ้านเป็นชุมชนใต้สะพานทั่วกรุงเทพฯ และโดนโครงการของรัฐไล่รื้อก็เลยมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ว่าถ้าไล่แล้วจะไปอยู่ไหน รัฐบาลควรมีที่รองรับให้กับเราบ้าง ชาวบ้านจึงร่วมกันต่อสู้ในระยะเวลา 8 ปี ผ่านไป 3 รัฐบาล จึงได้งบประมาณเพื่อมาทำพื้นที่ตรงนี้
เมื่อก่อนพื้นที่นี้เป็นพื้นที่การทำเกษตรตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ไม่มีใครใช้เลย พี่น้องพูนทรัพย์ก็เลยเข้ามาบุกรุกเพื่อทำประโยชน์ส่วนตัว บุกรุกมานานจนกลายเป็นพื้นที่ขยะไป พอได้มาทำโครงการกับอาจารย์น้ำ ก็คิดกันว่าอยากขยายพื้นที่เพิ่มจาก 50 ตารางวาให้เต็ม เพราะตรงนี้ชาวบ้านบล็อกไว้สำหรับทำเกษตรชุมชนโดยตรง ซึ่งตั้งแต่ก่อนรื้อย้าย ก็มีการวางแผนคิดมาตั้งแต่แรกแล้วแต่ยังไม่เป็นจริง อาจารย์น้ำจึงจัดประชุมเพื่อชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์ของสวนเกษตรส่วนรวม ทำเป็นพื้นที่ปลูกผักไร้สารเคมี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และอาจมีรายได้จากตรงนี้ด้วย โดยประชุมกันได้ 3 เดือน หลังจากนั้นผู้บุกรุกก็คืนพื้นที่ให้
“เราเป็นชุมชนเข้มแข็งตั้งแต่ที่เราถูกไล่รื้อนั้นแหละ คนเรามันมีความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันก็เลยเป็นที่มาว่าเราต้องรวมตัวกัน”
ป้านิด หนึ่งในสมาชิกชุมชนพูนทรัพย์ เล่าให้ฟังว่า ผลิตผลในสวนนี้ ทุกคนในชุมชนสามารถเข้ามาเก็บไปกินได้ บางคนเกรงใจก็เอาเมล็ดมาให้บ้าง เอามาแลกเปลี่ยนกันแต่ไม่ได้เก็บตังค์ ซึ่งการได้ทำสวนนี้ส่งผลให้ป้านิดมีสุขภาพดีขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยทำสวน ทำไม่เป็น พอได้มาทำก็รู้สึกแข็งแรง ขยันตื่นตั้งแต่ตีสาม ตีสี่มารดน้ำ เก็บเห็ด ปลูกผัก ทำปุ๋ยบ้าง “มันให้ความสุขกับคนแก่อย่างเราดี” ป้านิดเล่าด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่างเห็นได้ชัด
ขณะคุยกับชาวบ้านได้สักพัก อาจารย์น้ำ เจ้าของโครงการ ก็มาถึงพร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มสดใสและเป็นมิตร จากนั้นอาจารย์ก็เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ให้ฟังว่า ตอนแรกที่จะทำรู้เพียงว่าชุมชนพูนทรัพย์เป็นชุมชนหนึ่งในเขตสายไหม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยให้มาดูปัญหาของชุมชนก่อนว่ามีปัญหาอะไรที่ต้องการแก้ไข หรือพัฒนา เพราะต้องการทำวิจัยในสิ่งที่ชาวบ้านจำเป็นจริงๆ จากนั้นก็เรียกผู้นำชุมชนต่างๆ 3-4 ชุมชน มาประชุมร่วมกันว่ามีประเด็นปัญหาอะไรที่ต้องการแก้ไขไหม หรืออยากจะพัฒนาตรงส่วนไหนบ้าง ด้านชุมชนพูนทรัพย์ นำเสนอเรื่องของดินเสีย โดยอาจารย์น้ำได้ไปดูงานของเขตสายไหมแล้วพบว่าปัญหาไม่ได้หนักหนาอะไรมาก
ส่วนเรื่องพื้นที่ปลูกก็ไม่ได้ใหญ่มาก อาจารย์จึงไม่ได้สนใจเท่าไร จากนั้นอีกประมาณหนึ่งเดือน ทางศูนย์วิจัยก็ชวนอาจารย์มาอีกรอบ ชาวพูนทรัพย์ก็ยังบอกคำเดิมว่าต้องการที่จะแก้ไขปัญหาดินเสีย และชาวบ้านก็ได้บอกกับอาจารย์อีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องการแก้ ซึ่งคำพูดนั้นก็จุดประกายให้อาจารย์ตัดสินใจที่จะทำโครงการนี้
“อาจารย์ สวนเกษตรนี้มันเป็นสวนเกษตรส่วนรวม พวกเราอยากร้อยความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เพราะตอนนี้กิจกรรมที่ทำร่วมกันเริ่มห่างหายไปแล้ว พวกเราอยากให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่”
อุปสรรคและการแก้ปัญหา
เมื่อได้พื้นที่คืน อาจารย์น้ำก็ท้ออีกว่าจะเอาอะไรมารื้อ เลยไปขอความช่วยเหลือจากทางเขตและให้ประธานชุมชนทำหนังสือยื่นเรื่องไป จากนั้นก็ได้แม็คโครคันใหญ่มาขุด เพราะคนไม่ไหวแน่นอนๆ ทั้งต้นไม้ ทั้งเศษของต่างๆ แล้วก็ได้รถสิบล้อมาขนขยะทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากทั้งทางเขต ฝ่ายรักษาความสะอาดเขตชุมชน คสช. แล้วก็กสน. อีกด้วย
“เราหาเครือข่ายต่างๆ มาช่วย จนได้พื้นที่โล่งๆ นั้นมา ชาวบ้านก็เริ่มเอาไก่มาเลี้ยง เอารถมา และให้เขาไปหาไม้มาล้อมรั้ว ล้อมเสร็จเขาก็ค่อยๆ ปลูกนั่นปลูกนี่”
แล้วอาจารย์น้ำก็ให้ชาวบ้านสร้างเฟซบุ๊ก (Facebook) ขึ้นมา ชื่อว่า “ผักไร้สารบ้านพูนทรัพย์” เพื่อนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะว่ากำลังทำอะไรช่วงนี้ ซึ่งก็มีลูกศิษย์อาจารย์น้ำเข้ามาถาม และบริจาคเงินมาให้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ และทำให้อาจารย์น้ำกับชาวบ้านมีกำลังใจมากขึ้น
นอกจากนี้อาจารย์น้ำยังได้รับความช่วยจากทีม NGO โดยมีคุณกานดา คุณละมุนจิต และคุณธวัชชัย ซึ่งตอนแรกตัวอาจารย์น้ำก็ค่อนข้างมองในแง่ลบ เพราะคิดว่าเขาจะมาหาผลงาน หารายได้ ซึ่งพอได้มาทำงานร่วมกันแล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิด โดยเฉพาะหนึ่งในสมาชิก คุณกานดา ที่อาจารย์บอกว่าเป็นคนที่เสียสละมาก เพราะสามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง ซึ่งก็ช่วยได้ดีมากๆ ไม่ว่าจะการวางแผนที่ค่อนข้างทำได้อย่างเป็นระบบว่าตรงนี้จะใช้เงินเท่าไร และจะขอจากที่ไหนได้บ้าง
“อาจารย์บอกว่าอาจารย์จะทำโรงเห็ดตรงนี้ 3 โรง ถ้าเอาวัสดุดีๆ จะราคาเท่าไหร่ต่อโรง หรือถ้าเอาวัสดุราคาปานกลาง หรือว่าวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติจะหาได้ในราคาเท่าไร เขาสามารถคำนวนให้ได้เป๊ะๆ ”
พี่แดงกล่าวเสริมว่า ที่ตรงนี้ช่วยๆ กัน ออกความคิดเห็น เพราะต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับชุมชน พอมาเข้าโครงการวิจัยกับอาจารย์น้ำก็มีการเปิดเวทีให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดว่า เราจะทำแปลงเกษตร มันควรเป็นเกษตรในรูปร่างหน้าตาแบบไหน อยากได้อะไรในสวนเกษตร อยากปลูกอะไร ใครชอบแบบไหนก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน และจะมีการจัดประชุมทุกเดือน เดือนละครั้งอย่างน้อย ซึ่งคุยกันตั้งแต่รุ่นเด็ก วัยกลางคน วัยสูงอายุ แล้วหาข้อสรุปร่วมกันจนออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างนี้
นอกจากสวนเกษตร อาจารย์น้ำกับชาวบ้านก็ร่วมกันสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้น ซึ่งตอนแรกไม่ได้วางแผนไว้ คิดแค่ว่าทำสวนเกษตรเล็กๆ ปรากฏว่า พอมันใหญ่ขึ้น อาจารย์ กสน. ก็แนะนำว่า ต่อไปจะมีคนมาดูงาน ถ้าอาจารย์ไม่มีศูนย์เรียนรู้ อาจารย์จะไม่มีที่ให้เขานั่ง ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีงบ เลยบอกชาวบ้านว่าใครที่ไปเก็บของเก่าขายเจอถุงปูนที่เขาทุบตึกให้ขนมาด้วย ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี ออกไปเจอก็เอาใส่ท้ายรถกลับมาหรือไม่ก็ขอปูนคนนั้นคนนี้มานิดๆ หน่อยๆ ค่อยๆ ทำจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
เมื่อเริ่มลงมืออาจารย์น้ำก็สอนชาวบ้านตีตาราง สอนทุกขั้นตอนว่าถ้าคิดอย่างนี้ แล้วต้องวางยังไง ต้องเป๊ะยังไง กี่ตารางคูณกี่ตารางต้องใช้อะไรเท่าไร คำนวณออกมาด้วยความโปร่งใส โดยเฉพาะงบที่อาจารย์น้ำได้มาจาก สกว. อาจารย์ก็ให้ชาวบ้านดูหมดทุกคน สามารถเช็กได้ว่าใช้อะไรไปบ้าง ซึ่งตัวอาจารย์น้ำก็ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่รับงานวิจัยเดือนกรกฎาคม ปี 2559 จนสิ้นสุด เดือนธันวาคม ปี 2560 อาจารย์ก็ทำให้ชาวบ้านเห็นตลอด เวียนมาพูดคุยกับชาวบ้าน ถามไถ่ต่างๆ นานา ซึ่งพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นก็มาจากการแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านคิดขึ้นมาว่าอยากได้อะไรอยากทำอะไร แล้วก็ปลูกจนสำเร็จ
“ตัวเราเอง หนึ่งต้องมีความจริงใจ เพราะเราคิดว่าชุมชนนี้ก็เหมือนบ้านของเรา ชาวบ้านก็เหมือนญาติพี่น้อง ถ้าเราอยากให้ญาติพี่น้องเราเป็นยังไง เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นให้เขาเห็น”
ผลจากการร่วมแรงร่วมใจ
หลังจากที่ได้ฟังแล้วรู้สึกได้เลยว่า อาจารย์น้ำ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นอย่างมาก ซึ่งบวกกับพลังการร่วมแรงร่วมใจของชาวพูนทรัพย์ทุกคน จนสวนเกษตรเป็นรูปเป็นร่างและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งในขณะที่ได้พูดคุยกับทั้งอาจารย์และชาวบ้าน เราสังเกตได้เลยว่าสายตาของพวกเขาช่างมีความสุขและสนุกไปกับสิ่งที่ทำ โดยไม่ต้องแข่งขันกับใครแค่ทำไปเรื่อยๆ อยู่อย่างพอมีพอกินก็เพียงพอแล้ว
และอาจารย์น้ำก็ยังกล่าวไว้อีกว่า ความสุขของอาจารย์ที่ได้ทำโครงการนี้มีเพียง 3 สิ่ง เท่านั้น อย่างแรกคือ ความสุขในการได้แบ่งปันความรู้ให้แก่ชาวบ้านที่เขาไม่มีโอกาสได้เรียน ให้เขาได้มีความรู้ความสามารถในการทำมาหากิน อย่างที่สองเป็นการได้สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียน นักศึกษามาสร้างพื้นที่กิจกรรมกับชุมชนให้เยาวชนได้รับความรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน สุดท้ายความสุขเพื่อตนเอง เพราะอาจารย์น้ำมีความสุขมากๆ ที่ได้มาทำโครงการนี้ ได้เรียนรู้พืชชนิดต่างๆ และได้แบ่งปันความรู้กับคนอื่นๆ ทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตของเธอในยามเกษียณ
“การที่เราเป็นผู้ให้ อาจทำให้เกิดอะไรต่างๆ มากมาย เพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน สิ่งแวดล้อม ชีวิต และทุกอย่าง ยังไงผลมันก็ต้องดีขึ้น”
และสำหรับชาวบ้าน ความสุขของพวกเขาคือการได้ทำสวนเกษตรแห่งนี้ และการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน เพราะเมื่อทุกคนได้ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ทุกคนก็โฟกัสเรื่องการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และหนี้สินที่มาจากการสร้างบ้านจนห่างเหินเรื่องกิจกรรม แต่พอมีตรงนี้ มันก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้ชุมชน หรือชาวบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง ใครอยากกินอะไรก็เอาเข้ามาปลูก ใครสนใจอะไร อยากทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ให้นำมาเสนอ แลกเปลี่ยนกัน เราไม่ได้หวงว่าพื้นที่ตรงนี้ใครทำ แต่เราถือว่ามันเป็นพื้นที่ของชุมชนที่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ
“สิ่งที่ทุกคนลงแรงกันมันคุ้มค่าตั้งแต่คิดแล้ว เราอยากให้พี่น้องในชุมชนมีพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมและสานสัมพันธ์ด้วยกันได้ ซึ่งแค่นี้มันก็ทำให้เรามีความสุขร่วมกันแล้ว”
เมื่อคุยกันได้สักพักแสงแดดยามสายก็เลือนหายไปกลายเป็นแสงแดดที่แรงขึ้นจนชวนหัว สื่อให้รู้ถึงสัญญาณของมื้ออาหารที่กำลังจะมาถึง ชาวพูนทรัพย์จึงอาสาโชว์ฝีมือทำอาหารให้ได้ชิม โดยมีวัตถุดิบหลักที่ได้จากผลผลิตของสวนเกษตรนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นเห็ด หรือผักน้ำ ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกเห็ด ลาบเห็ด ผักน้ำชุบแป้งทอด บอกเลยว่ารสชาติดีมากๆ เพราะผักที่ปลูกนั้นล้วนเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ไร้ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลงอย่างแน่นอน โดยอาจารย์เล่าให้ฟังว่าช่วงแรกๆ ที่ปลูก แมลงมากินผลผลิตจนหมด ชาวบ้านบางคนก็จะใช้ยาฆ่าแมลง แต่อาจารย์ไม่ยอม และกลับไปศึกษาให้มากขึ้นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับแมลง
“เราก็บอกให้ทนหน่อยคงไม่นาน ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้ให้เขาดูว่ามันเกิดจากอะไร แมลงตัวไหน เราจะทำยังไงที่จะไม่ให้มันมากินบางทีเราฆ่ามัน แต่มันอาจจะเป็นตัวที่ดีกับผักชนิดอื่นก็ได้ เลยใช้วิธีปลูกพืชผสมผสาน อย่างแมลงชนิดนี้อาจจะชอบกินผักชนิดนี้แต่ไม่ชอบผักชนิดนี้ถ้าเราปลูกผสมผสานกันมันก็อยู่ด้วยกันได้”
ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร เรารับรู้ได้ถึงความสุขของชาวบ้านทุกคน ไม่ว่าจะเสียงหัวเราะ หรือรอยยิ้ม ซึ่งกว่าที่ทุกคนจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องแลกมากับอุปสรรคต่างๆ นานา อีกทั้งยังอาศัยความร่วมมือ การช่วยเหลือจากทุกๆ คน จนทุกอย่างสำเร็จและมีทุกวันนี้ หลังจากทานอาหารมื้อพิเศษมื้อนี้เสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาที่ต้องกล่าวลากับชาวบ้านและอาจารย์น้ำ พร้อมกับถุงเห็ดที่ชาวบ้านให้เป็นของฝาก เพื่อให้เรานำเอากลับไปทำประกอบอาหารกินที่บ้าน ช่างน่ารักเสียจริงๆ
ในตอนที่กำลังนั่งรถกลับ เรารู้สึกได้รับพลังงานที่ดีจากชาวชุมชนพูนทรัพย์จริงๆ ไม่ว่าจะความเข้มแข็ง ความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคี ความเชื่อใจกัน รวมไปถึงความอบอุ่นของคนในชุมชน ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อนำพื้นที่คืนจนสำเร็จ และเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนสามารถเข้ามาทำประโยชน์ ทำกิจกรรมร่วมกันได้ ทำให้คนในชุมชนมีความสุข มีชีวิตที่ดีกว่าแต่ก่อน จนคนนอกอย่างเรารู้สึกภูมิใจไปกับชาวบ้านและอาจารย์น้ำ ซึ่งมันคงดีไม่น้อยถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันดั่งเช่นชาวชุมชนพูนทรัพย์
เรียบเรียง
จิตรลดา ดอนชัย
ภาพ
ธเนศ รัตนกุล
อ้างอิงงานวิจัย
‘การบริหารจัดการสวนเกษตรชุมชนผักไร้สารบ้านพูนทรัพย์ อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของ ชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร’
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พัสรินณ์ พันธุ์แน่น และคณะ
ขอขอบคุณ
ชาวบ้านชุมชนพูนทรัพย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พัสรินณ์ พันธุ์แน่น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก