สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ช่วงหยุดยาวที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ทางไทย COVID-19 ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง ส่วนผมที่โตเกียวก็ตัวเลขพุ่งเหมือนเข้าโบนัสสเตจ ทำให้ปีใหม่ได้แค่อยู่แต่บ้านไป แต่ก็เป็นช่วงอยู่บ้านนี่เองที่ทำให้มีเวลาได้เสพสื่อนั่นนี่ พักผ่อนไปบ้าง และก็ได้ย้อนกลับไปดูคดีต่างๆ ที่น่าสนใจในญี่ปุ่น จนเจอคดีที่น่าสนใจและอยากจะเอากลับมาเล่าให้ฟังกันบ้าง หลังจากที่เคยเล่าคดีเก่าๆ เช่น มนุษย์กินคนที่กลายมาเป็นเซเล็บไปแล้ว
ในฤดูร้อนของปี ค.ศ.1998 ที่ชุมชนเล็กๆ ชื่อโซโนเบะในจังหวัดวาคายามะ ก็มีการจัดงานเทศกาล หรือ มัตซึริ ตามสไตล์กิจกรรมฤดูร้อนของชุมชนต่างๆ ในญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์กันในชุมชน โดยมีการชวนสมาชิกในชุมชนให้มาร่วมงานกัน โดยแบ่งหน้าที่ต่างๆ กันไป แต่ใครจะคิดว่า งานเทศกาลเล็กๆ นี้ จะกลายเป็นสิ่งที่ส่งให้ชุมชนเล็กๆ นี้กลายมาเป็นที่จับตามองจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ
ตลอดเวลาของกิจกรรม สมาชิกชุมชนก็แบ่งหน้าที่กันทำอาหาร หรือบางคนก็เอาอาหารจากบ้านมาแบ่งปันกัน พอได้ของกิน ก็นั่งกินกันตามสะดวก บางคนก็ห่อกลับบ้าน ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไร ดูเป็นกิจกรรมธรรมดาเหมือนที่จัดกันมาทุกปี
จนกระทั่งสมาชิกชุมชนกลับบ้านไป แล้วแต่ละคนเริ่มรู้สึกแปลกๆ หลายคนเริ่มอาเจียน มีอาการเหมือนแพ้อาหารอย่างรุนแรง หรือบางคนหน้าบวมเป่ง จนคืนนั้น รถพยาบาลวิ่งวนส่งคนไปมาจนแทบไม่ได้พัก ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนกว่า 70 คนถูกส่งโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 4 รายคือ ผู้นำชุมชน รองผู้นำชุมชน เด็กชาย และเด็กหญิง และแพทย์ก็เปลี่ยนผลการวินิจฉัยโรค จากอาหารเป็นพิษ เป็นการได้รับผลกระทบจากไซยาไนด์ ทำให้ทุกคนในชุมชนงุนงงกับเรื่องที่เกิดขึ้น
เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตำรวจเข้ามาสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สายตาทั่วญี่ปุ่นจับจ้องมาที่ชุมชนเล็กๆ นี้เพราะอยากรู้ความจริงว่าอะไรเกิดขึ้น และในที่สุด ความจริงก็ปรากฏว่า จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ไซยาไนด์ แต่เป็นสารหนูน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม ที่ถูกผสมลงในแกงกะหรี่ที่แจกในงานเทศกาล ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าสยองมาก เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าใครคือเหยื่อ คนทั้งชุมชนอาจจะตายก็ได้
เป็นการเจตนาฆาตกรรม
โดยไม่ได้สนใจระบุตัวเหยื่อเลย
ซึ่งก็ได้ทำให้สังคมญี่ปุ่นยิ่งงุนงงเข้าไปใหญ่
หนึ่งในผู้ที่ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงคือครอบครัวคากาวะที่เปิดร้านขายแพนเค้ก เพราะหน้าร้านเป็นที่ตั้งหม้อแกงกะหรี่ และตัวเจ้าของบ้านเองก็ไม่ได้มาร่วมกินด้วย แม้ลูกสาวจะกินและได้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเหมือนกัน ก็ยังไม่พ้นจากข้อสงสัยได้ง่ายๆ
แต่เป้าหมายอันดับหนึ่งของชุมชนคือ ครอบครัวฮายาชิ ที่เพิ่งย้ายเข้ามาในชุมชนเมื่อสามปีก่อน แต่กลับไม่สุงสิงกับคนในชุมชนเท่าไหร่นัก ครอบครัวฮายาชิจัดว่ามีฐานะดี มีบ้านใหญ่ระดับต้นๆ ในชุมชน พร้อมสวนสวยในบ้าน พอไม่ยุ่งกับใครก็ทำให้กลายเป็นแกะดำในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อคุณเพิ่งย้ายมาได้ไม่นานแต่กลับไม่พยายามเข้าหาเจ้าถิ่น
แต่ครอบครัวฮายาชิก็ดูไม่สนอะไร และมักจะชวนเพื่อนเก่าจากนอกชุมชนมาเล่นไพ่นกกระจอกที่บ้านเสมอ และยังมีเพื่อนบ้านที่ถูกครอบครัวนี้ขับรถ BMW บีบแตรไล่เพราะขับช้าเกิน และมีคนเห็นว่าครอบครัวนี้ทิ้งขยะลงแม่น้ำในชุมชนอีกด้วย กลายเป็นว่าตลอดสามปีครอบครัวฮายาชิเป็นเหมือนคนนอกของชุมชน
สิ่งที่ชวนให้สงสัยในครอบครัวนี้ก็ยังมีประเด็นอื่นเช่นว่า ทำไมครอบครัวถึงมีเงินอยู่บ้านใหญ่โต ทั้งๆ ที่ฝ่ายสามี เคนจิ ฮายาชิ (Kenji Hayashi) ก็ไม่ได้มีงานประจำ แม้จะเคยเปิดบริษัทกำจัดปลวกมาก่อน ส่วนตัวภรรยา มาสุมิ ฮายาชิ (Masumi Hayashi) ก็ทำงานขายประกัน และทั้งสองคนดูเหมือนจะเดินไม่สะดวกเพราะอุบัติเหตุที่รายละเอียดไม่ชัดเจน
หลังจากเกิดเรื่องได้สามเดือน ในที่สุดตำรวจก็เข้าจับกุมตัวสองสามีภรรยา โดยมีการเปิดเผยกับสื่อก่อนว่าจะจับกุมด้วยข้อหาอะไร เพราะคดีนี้ถูกจับตามองจากทั่วญี่ปุ่น ทำให้ตำรวจและอัยการต้องรีบหาตัวคนร้ายมาให้ได้ สองสามีภรรยาถูกดำเนินคดีโกงเงินประกันภัย โดยเคลมเงินเกินอาการเจ็บป่วยที่แท้จริง เป็นที่มาของความร่ำรวยของครอบครัวนี้ แต่ตัวมาสุมิถูกดำเนินคดีฆาตกรรม
เธอกลายเป็นผู้ต้องสงสัยเพราะว่าเธอมีส่วนร่วมกับการเตรียมงานเทศกาล และเข้าถึงหม้อแกงกะหรี่ได้ ซึ่งก็พบว่า ในผมและบ้านของเธอมีร่องรอยของสารหนูอยู่ ที่สำคัญคือ รายละเอียดทางเคมีของสารหนูที่พบในแกงกะหรี่ กับสารหนูที่เคนจิเคยใช้ในกิจการกำจัดปลวกนั้นตรงกัน รวมไปถึงการสอบสวนพบว่าเธอพยายามวางยาเพื่อนเล่นไพ่ของเธอสองคน เพื่อหวังเงินประกัน
เธอถูกดำเนินคดีและต่อมาก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรกับการทำงานของศาลญี่ปุ่นในยุคนั้น ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ส่งสืบสวนอะไรเพิ่มเติม เป็นเหมือนการประทับตรารับรองผลการสืบสวนของตำรวจเสียมากกว่า ตามที่ผมเคยเขียนมาแล้วว่า หลายครั้งแทนที่จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนที่ต้องหาหลักฐานความผิด กลายเป็นฝ่ายจำเลยต้องหาข้อมาแย้งว่าทำไมไม่ได้ผิดตามที่ถูกกล่าวหา แม้หลักฐานจะอ่อนแค่ไหน มาสุมิ และสามีของเธอ รวมถึงทนายพยายามร้องเรียนขอให้ยกคดีมาพิจารณาอีก แต่ก็ถูกปัดตกไป ทุกวันนี้เธอก็ยังคงอยู่ในคุก รอวันที่สัสดีจะเดินมาบอกว่า วันนี้เป็นวันประหารชีวิต
อ่านถึงตรงนี้แล้ว อาจจะคิดว่า สมแล้วกับการกระทำที่ชั่วร้ายของเธอ แต่ประเด็นมันไม่ใช่แค่นั้นสิครับ ในความเป็นจริงคือ ทุกวันนี้เธอก็ยังไม่ยอมรับสารภาพว่าได้กระทำผิด (แม้เธอและสามีจะรับสารภาพในคดีโกงเงินประกัน)
และในความเป็นจริงแล้ว
ฝ่ายกฎหมายก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจน
พอจะมัดตัวเธอกับคดีนี้
แน่นอนว่าการเป็นที่เพ่งเล็งของคนในชุมชนก็มีส่วนทำให้เธอถูกสงสัย แต่การที่ครอบครัวเธอมีสารหนูในครอบครอง และมีสารหนูในเส้นผมเธอ รวมถึงการที่เธอสามารถเข้าถึงหม้อแกงกะหรี่ได้ ก็ยังจัดว่าเป็นหลักฐานที่อ่อนและไม่ได้มัดตัวเธอชัดเจน แน่นอนว่าคดีความครั้งนี้ร้ายแรงและน่ากลัว แต่การจะกล่าวหาใครสักคนด้วยหลักฐานเท่านี้ก็ยังจัดว่าอ่อนเกินไปอยู่ดี
แต่ในตอนนั้น ใครจะสนล่ะครับ นอกจากคนในชุมชนที่เพ่งเล็งเธอแล้ว สื่อก็ตามติดคดีนี้อย่างเต็มสูบ ถ้าคิดว่าคดีน้องชมพู่บ้านเราหนักแล้ว สื่อญี่ปุ่นยุคนั้นอาจจะหนักกว่าก็ได้ เมื่อครอบครัวฮายาชิกลายเป็นเป้าหมายแล้ว กองทำสื่อก็พร้อมลุยชุมชนเล็กๆ นี้ ตามเกาะติดครอบครัวนี้ และยุคนั้นสื่อญี่ปุ่นจัดว่าแข่งขันกันหนักจนลืมคำว่าจรรยาบรรณ มีการกระทำตั้งแต่เฝ้าอยู่หน้าบ้านตลอด ค้นตู้จดหมาย จนกระทั่งปีกำแพงขึ้นหลังคาเพื่อไปถ่ายชั้นสองของบ้าน โดยนักข่าวตอนนั้นเล่าว่า รุ่นพี่และหัวหน้าบอกว่า ทำอะไรก็ได้ ขอแค่อย่าให้เป็นคดีหนัก มีอะไรจะไปประกันตัวช่วยเอง ขอให้ได้ข่าวก่อนหน้าคนอื่น
และการเกาะติดนี้ก็ทำให้เกิดภาพจำภาพหนึ่งขึ้นมา เมื่อกองทัพนักข่าวไปเซ้าซี้ครอบครัวฮายาชิมากๆ ก็มีวันหนึ่งทีมาสุมิไล่นักข่าวด้วยเอาสายยางฉีดน้ำที่เธอรดน้ำต้นไม้อยู่ มาฉีดไล่นักข่าว พร้อมทั้งทำหน้าสะใจ กลายเป็นคลิปวิดีโอที่สื่อเอามาปั่นกันได้ตลอด โดยใส่ความเห็นว่าเธอไม่ได้สนใจ ร้อนใจ หรือมีสำนึกอะไรเลย ตัดสินว่าเธอเป็นคนเลือดเย็นก่อคดีได้โดยไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรไปโดยสิ้นเชิง พอปั่นมากๆ แบบนี้ ฝ่ายกฎหมายของรัฐก็เหมือนโดนบีบให้รีบทำคดีไปโดยปริยาย
ซึ่งมานั่งมองย้อนแล้วมันก็น่าแปลกใจเอาเรื่อง เพราะว่าการวางยาครั้งนี้ กำหนดเป้าหมายชัดเจนไม่ได้ แม้หัวหน้าและรองหัวหน้าชุมชนจะเสียชีวิตราวกับมีแผนฆาตกรรมก็ตาม แต่เอาเข้าจริงๆ ใครจะตายบ้างก็ไม่รู้ ถ้าตั้งใจจริงทำไมเลือกที่จะทำการฆาตกรรมด้วยวิธีนี้ แน่นอนว่าเธอเองก็มีคดีความมาก่อน แต่เธอได้อะไรจากการวางยาในแกงกะหรี่ครั้งนี้ ดูแล้วมันก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย จะบอกว่าทำไปเพราะไม่พอใจคนในชุมชน มันก็ดูจะเกินความไป แถมยังไม่ได้หนีคดีไปไหนอีก และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในตอนนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพออีกด้วย
ผมเองก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าคดีนี้เป็นความจริงแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ คลิปเธอฉีดน้ำไล่นักข่าว พร้อมการหยุดภาพตอนเธอยิ้มพอดี กลายเป็นภาพที่ถูกใช้ซ้ำไปมาเมื่อมีการย้อนพูดถึงคดีนี้ พร้อมทั้งฉายา ‘Dokufu 毒婦 หรือแม่บ้านพิษ’ ก็กลายเป็นชื่อเรียกเธอไปแล้ว ในยุคนั้นสื่อหลักคือโทรทัศน์เท่านั้น และหลายคนก็พร้อมจะเชื่อสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ทันที
จนอยากรู้ว่า ถ้าคดีนี้เกิดขึ้นในยุคนี้แล้ว ผลจะออกมาอย่างไรกันแน่ มีความเห็นว่า ที่เธอตกเป็นเป้าหมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเธอไม่ได้ยอมความง่ายๆ เธอถึงกับเถียงสู้กับตำรวจที่มาสอบสวน แทนที่จะหงอรับคดีความไป กลายเป็นภาพที่ทางการไม่อยากให้คนเห็น
เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเป็นชายสูงมาก
การถูกเถียงแบบนี้ก็เหมือนโดนลูบคม
ทำให้เธอไม่เป็นที่น่าเห็นใจสำหรับทางการ
แต่ผลกระทบจากคดีนี้ก็ใหญ่หลวงจริงๆ ครับ ช่วงหนึ่งถึงขนาดมีทัวร์ไปดูสถานที่เกิดเหตุและบ้านของครอบครัวฮายาชิ ที่เป็นบ้านร้างและมีคนไปพ่นข้อความด่าครอบครัวฮายาชิอยู่เสมอ ครอบครัวก็แตกเป็นเสี่ยงๆ ลูกทั้งสี่ต้องเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก ลูกชายของเธอออกมาเขียนหนังสือเล่าสิ่งที่เจอ ทั้งการถูกละเมิดทางเพศจากผู้ดูแลหญิง การโดนให้ออกจากงาน รวมถึงการถูกพ่อของแฟนที่อยากจะแต่งงานเฉดหัว ทั้งหมดเพราะเขาคือลูกของคนที่ถูกตัดสินว่าเป็นฆาตกรโหด
ในหัวเขาคือ เขาสมควรที่จะโดนอย่างนี้แล้ว เพราะตัวเขาเองก็มีความบาปในตัวด้วย เคนจิ สามีของเธอก็พยายามเดินสายเรียกร้องให้พิจารณาคดีนี้อีกครั้ง ในขณะที่ตัวมาสุมิก็ยังอยู่ในคุกจนถึงทุกวันนี้ และติดต่อกับลูกชายเป็นระยะ ที่น่าตกใจอีกเรื่องคือ ภรรยาของหัวหน้าชุมชนที่เสียชีวิต บอกว่าเธอเองก็ไม่ปักใจว่าเป็นมาสุมิที่ก่อคดี เธอยังอยากจะรู้ความจริงให้ได้อยู่
ผมเองก่อนมาไล่อ่านรายละเอียดคดีนี้ ก็เห็นแค่ภาพจำภาพนั้น แล้วก็ติดในหัวว่าเธอคือคนก่อคดีดังวางยาฆ่าคนด้วยแกงกะหรี่อย่างเลือดเย็น แต่พอมาอ่านรายละเอียดเพิ่มแล้ว ก็เริ่มสงสัยว่า ตกลงความจริงเป็นอย่างไร และกลายเป็นข้อเตือนใจว่า ก่อนจะไหลไปตามสื่อชี้นำ ก็ควรระแวงให้มากขึ้น
แต่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะมองว่า ผมเองก็เขียนเรื่องชี้นำคนอ่านได้เหมือนกันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก