1
“คุณไม่รู้หรอก ว่ามันยากแค่ไหนที่จะมีชีวิตอยู่โดยรักษาความรักอันยิ่งใหญ่นี้ไปด้วย”
วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) เคยพูดไว้อย่างนั้น
หากไม่รู้จักเธอมาก่อน หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าเพราะอะไรการมีความรักอันยิ่งใหญ่ และอยู่ร่วมกับคนที่ตนรักไปจนชั่วชีวิต – ถึงได้เป็นเรื่องยากลำบากนักแต่ก็อย่างที่รู้กัน วอลลิส ซิมป์สัน ไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดาๆ แต่เธอคือคนที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พรินซ์ออฟเวลส์ มกุฏราชกุมารอังกฤษ ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดแห่งบัลลังก์อังกฤษ, หลงรัก และปรารถนาจะใช้ชีวิตอยู่กับเธอมากยิ่งกว่าอยู่บนบัลลังก์
ชะตากรรมของวอลลิส ซิมป์สัน ที่ถูกขีดด้วยความรักนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้กระทั่งยามที่เธอมีเอ็ดเวิร์ดอยู่เคียงข้าง แต่มันยิ่งยากเย็นและเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเอ็ดเวิร์ดจากเธอไปก่อนด้วยโรคมะเร็ง ทิ้งให้เธอต้องเดียวดายอยู่ลำพังไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
2
วอลลิสเป็นสาวสังคม เธอเติบโตมาในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐอเมริกา และก่อนที่จะพบรักกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เธอเคยแต่งงานมาแล้วถึงสองครั้งด้วยกัน
ครั้งแรก เธอสมรสกับนักบินของกองทัพเรือสหรัฐ เอิร์ล วินฟิลด์ สเปนเซอร์ จูเนียร์ (Earl Winfield Spencer Jr.) และมีชีวิตคู่อยู่นานถึง 11 ปี ก่อนจะแยกทางกัน
ชีวิตแต่งงานครั้งแรกนั้นพูดได้ว่าค่อนข้างโลดโผน เพราะวอลลิสได้เดินทางไกลติดตามสามีไปประจำการในตะวันออกไกล ทั้งในฮ่องกงและจีน และเป็นที่ปักกิ่งนี่เอง ที่เธอได้พบกับ กาเลียซโซ เชียโน (Galeazzo Ciano) ซึ่งเป็นลูกเขยของมุสโซลินี จอมเผด็จการแห่งอิตาลี และว่ากันว่า เธอกับเขามีสัมพันธ์กันจนเธอตั้งครรภ์
ข่าวยังร่ำลือต่อไปอีกว่า นั่นทำให้วอลลิสต้องลอบไปทำแท้ง และเป็นสาเหตุทำให้เธอไม่อาจมีลูกได้อีกตลอดชีวิต และแน่นอน นั่นคือร่องรอยร้าวฉานหนึ่ง ที่สุดท้ายย้อนกลับมายุติชีวิตสมรสครั้งแรกของเธอลง
วอลลิสได้พบกับ เออร์เนสต์ อัลดริช ซิมป์สัน (Ernest Aldrich Simpson) ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทขนส่งทางเรือที่ร่ำรวยก่อนหน้าจะหย่ากับสามีคนแรก ดังนั้นเมื่อการหย่าร้างเกิดขึ้น เออร์เนสต์ก็ขอเธอแต่งงาน วอลลิสส่งโทรเลขตอบรับคำขอแต่งงานจากเมืองคานส์ ที่ที่เธอพำนักอยู่กับเพื่อน แล้วชีวิตสมรสครั้งท่ีสองก็เริ่มต้นขึ้น
คุณอาจคิดว่า ชีวิตรักของวอลลิสนั้นช่างยุ่งเหยิงซับซ้อนยิ่งนัก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องบอกต่อไปอีกด้วยว่า การ ‘พบรัก’ กับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดของวอลลิส ก็เป็นเรื่องซับซ้อนไม่แพ้ความสัมพันธ์สองครั้งแรกของเธอ
ในตอนนั้น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ผู้เป็นมกุฏราชกุมารอังกฤษ และครองตำแหน่งพรินซ์ออฟเวลส์ มี ‘นางใน’ คนหนึ่ง ชื่อว่าเลดี้เฟอร์เนส (Lady Furness) ปรากฏว่า วอลลิสมีโอกาสได้รู้จักกับเลดี้เฟอร์เนสผ่านทางเพื่อนคนหนึ่ง และก็เป็นเลดี้เฟอร์เนสผู้นี้เองที่พาวอลลิสเข้าไปในราชสำนัก กระทั่งเธอได้พบกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเป็นโอรสของพระเจ้าจอร์จที่ห้าและควีนแมรี่ พระองค์คือทายาทแห่งราชบัลลังก์ ในช่วงเวลาที่เธอได้พบกับเจ้าชายนั้น ปรากฏว่าธุรกิจของสามีเธอไม่ค่อยดีนัก เออร์เนสต์พบกับปัญหาทางการเงินหลายอย่าง จนต้องเลิกจ้างลูกจ้างอย่างต่อเนื่อง แน่นอน นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดก็ได้ แต่กระนั้น เมื่อเลดี้เฟอร์เนสเดินทางไปต่างประเทศ เธอก็กลายเป็นของเจ้าชายทั้งเนื้อตัวและหัวใจไปโดยง่าย และท้ายที่สุด ก็กลายเป็นวอลลิสนี่เองที่ได้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดในหัวใจของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเอาไว้
ในปี ค.ศ. 1936 พระเจ้าจอร์จที่ห้าเสด็จฯ สวรรคต นั่นทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดต้องขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา แต่หลังขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์พบว่าตัวเองอยู่บนเขาควายของปัญหา นั่นคือพระองค์ต้องเลือกระว่างราชบัลลังก์กับความรัก
มีรายงานว่า หลังพระเจ้าจอร์จที่ห้าเสด็จฯ สวรรคตได้ไม่นาน วอลลิสเคยพูดกับเพื่อนของเธอว่า — อีกไม่นานฉันจะได้เป็นราชินีแห่งอังกฤษ, แต่เรื่องนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะกษัตริย์อังกฤษถือเป็นผู้ปกครองสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษด้วย แต่เนื่องจากวอลลิสเคยแต่งงานและหย่าร้างมาแล้วถึงสองครั้ง ศาสนจักรจึงไม่อนุมัติให้ประมุขของตนแต่งงานกับผู้หญิงที่ด่างพร้อยเช่นนี้ได้ โดยหลักศาสนาแล้ว คนที่แต่งงานจะต้องอยู่กับคู่ของตนไปจนชั่วชีวิต การหย่าร้างถือเป็นเรื่องผิด ดังนั้น ผู้หญิงที่มีความผิดติดตัวเช่นนี้ จึงไม่สามารถสมรสกับกษัตริย์ได้
แน่นอน — เรื่องราวเป็นไปอย่างที่เรารู้ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดเลือกสละราชบัลลังก์เพื่อมาแต่งงานกับผู้หญิงอเมริกันที่ด่างพร้อย
พระองค์เลือกความรัก — ทรงเลือกที่จะอยู่กับผู้หญิง
ที่พระองค์รักที่สุดในชีวิต ซึ่งก็คือวอลลิส ซิมป์สัน นั่นเอง
3
เมื่อสละราชบัลลังก์แล้ว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดทรงได้รับการแต่งตั้งให้มีสถานะเป็นดยุคแห่งวินด์เซอร์ ซึ่งก็แปลว่า วอลลิส ซิมป์สัน ได้กลายเป็นดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ไปด้วย
แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์จะได้รับการยอมรับจากครอบครัว
ไม่เลย — ทั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ (คือพระเจ้าจอร์จที่หก) รวมไปถึงพระมารดาคือควีนแมรี่ และกระทั่งพระชายาของพระเจ้าจอร์จที่หก (คือควีนเอลิซาเบธ ซึ่งต่อมาคือ ‘ควีนมาเธอร์’ หรือ ‘ควีนมัม’ ผู้เป็น ‘แม่’ ของราชินีเอลิซาเบธที่สอง ซึ่งเป็นราชินีอังกฤษองค์ปัจจุบัน) ต่างไม่ยอมรับวอลลิสว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ดังนั้น ความขมขื่นและรอยร้าวระหว่างสองหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงาน กับครอบครัวขนาดใหญ่ที่เป็นสถาบันและเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศจึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
หลังสละราชบัลลังก์ ทั้งคู่มีสภาพคล้ายถูกเนรเทศ แม้ไม่ได้มีใครเนรเทศอย่างเป็นทางการก็ตาม ทว่าความขัดแย้งในครอบครัวทำให้ทั้งคู่เลือกจะ ‘หาย’ ไปจากสังคมของอังกฤษ เว้นแต่เมื่อมีงานใหญ่ๆ หรือมีเหตุฉุกเฉินต่างๆ ยามที่มีญาติๆ เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น โดยย้ายไปพำนักอยู่ในทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี (และมีข่าวว่าทั้งสองพระองค์สนับสนุนนาซีเยอรมัน) แต่หลังสงครามและในช่วงท้ายของชีวิต ทั้งคู่ก็เลือกมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส
เป็นที่นี่เอง ที่ดยุคแห่งวินด์เซอร์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1972
ทิ้งให้ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ หรือ วอลลิส ซิมป์สัน, ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปเพียงลำพังในฐานะหญิงหม้าย
4
เมื่อสุขภาพของดยุคแห่งวินด์เซอร์เริ่มทรุด วอลลิสอยู่เคียงข้างสามีของเธอแทบตลอดเวลา ทั้งคู่จัดปาร์ตี้หรูหราเป็นการอำลาส่งท้าย และเมื่อสามีของเธอสิ้นชีวิตลง วอลลิสก็ต้องเดินทางไปร่วมงานศพในอังกฤษ โดยพักอยู่ในพระราชวังบัคกิงแฮมตลอดช่วงงาน
แน่นอน — ที่นั่นไม่ใช่ที่ที่เป็นมิตรนักสำหรับเธอ
เมื่อไร้ชายผู้เป็นที่รัก วอลลิสก็เลิกออกสังคมโดยสิ้นเชิง เธอกลับมายัง ‘บ้าน’ ที่เธอเคยอยู่ร่วมกับเขา และใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังคนเดียว เธอได้รับเงินปีจากควีนเอลิซาเบธ แต่นั่นก็ไม่ได้สลักสำคัญอันใดอีกต่อไป
ไม่นานนัก วอลลิสก็เริ่มชราลง อาการที่มาเยือนเธอคืออาการแห่งความหลงเลือน เธอเริ่มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมเพราะอาการชราอย่าง dementia นั่นทำให้เธออ่อนแอลงเรื่อยๆ ทั้งกายและใจ เธอหกล้มหลายครั้ง และมีอยู่สองครั้งที่ถึงขั้นทำให้กระดูกสะโพกหัก
วอลลิสไว้วางใจทนายความคนหนึ่ง ชื่อ ซูซาน บลุม (Suzanne Blum) ให้ดูแลจัดการทรัพย์สินให้ บลุมค่อยๆ เริ่มขายทรัพย์สินของวอลลิสออกไปทีละชิ้นๆ ว่ากันว่า ทนายความของเธอเล่นไม่ซื่อ บลุมขายทรัพย์สินต่างๆ ออกไปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เธอขายให้กับเพื่อนของตัวเอง และถูกกล่าวหาว่ารับส่วนแบ่ง เธอถูกกล่าวหาถึงขั้นว่าเป็นคนร้ายกาจระดับ ‘ซาตาน’ ที่บังหน้าตัวเองด้วยความเมตตาสงสารวอลลิส แต่ลับหลังแล้วฉกฉวยโอกาสหากิน
ในระหว่างนั้น สุขภาพของวอลลิสค่อยๆ ทรุดลงโดยลำดับ จนในที่สุด เธอก็พูดไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไม่รับแขกใดๆ อีกเลย ผู้ที่ได้พบเห็นเธอมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้น
เธอเสียชีวิตลงในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1986
ที่บ้านในบัวส์เดบูโลญจน์ (Bois de Boulogne) ณ กรุงปารีส
ด้วยวัย 89 ปี และถูกฝังไว้เคียงข้างสามีของเธอในสุสานหลวงใกล้กับปราสาทวินด์เซอร์
ที่ดินส่วนใหญ่ที่วอลลิสอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น ยกให้เป็นของสถาบันปาสเตอร์ตามคำแนะนำของบลุม ซึ่งทำให้หลายคนประหลาดใจมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าวอลลิสมีเจตนาเช่นนั้น
ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เครื่องเพชรอันหาค่ามิได้ของวอลลิสที่มีอยู่มากมาย ถูกบลุมนำออกประมูล โดยคนที่ประมูลเครื่องเพชรของวอลลิสไปเป็นจำนวนมากไม่ใช่ใครอื่น แต่คือมหาเศรษฐีชาวอียิปต์อย่าง โมฮัมหมัด อัลฟายเอ็ด ผู้เป็นบิดาของ โดดี อัลฟายเอ็ด ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกับเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในอุบัติเหตุรถยนต์ที่กรุงปารีสนั่นเอง โมฮัมหมัดประมูลเครื่องเพชรเหล่านั้นไปด้วยมูลค่ามหาศาล การประมูลทั้งหมดทำรายได้มากถึง 45 ล้านเหรียญ และหลังการตายของโดดี อัลฟายเอ็ด แล้ว บิดาของเขานำเครื่องเพชรของวอลลิสออกมาประมูลขายเพื่อการกุศล ปรากฏว่าทำเงินได้มากกว่า 14 ล้านปอนด์
5
ความรักของคนสองคนอาจเป็นเรื่องไม่ยากนัก ถ้าหากว่าโลกนี้มีคนอยู่เพียงสองคน
แต่ความรักระหว่างหญิงสามัญกับกษัตริย์ โดยเฉพาะหญิงที่ด่างพร้อยในสายตาของสังคมหนึ่งๆ มาก่อน – ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
“คุณไม่รู้หรอก ว่ามันยากแค่ไหนที่จะมีชีวิตอยู่โดยรักษาความรักอันยิ่งใหญ่นี้ไปด้วย”
แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายหลายแง่มุม แต่วอลลิส ซิมป์สัน ก็ได้แสดงให้เราเห็นจริงดังคำของเธอ