ในบรรดานิทานพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ วรรณคดี ตัวละครหญิงที่ถึงกลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว ก็คงไม่พ้น ‘วันทอง’ ‘โมรา’ ‘กากี’ ที่อยู่ในกลุ่ม slut-shaming ประณามว่าเป็นหญิงชั่ว หลายผัว ชื่อของเธอกลายเป็นตำนานคำด่าผู้หญิงในโลกภาษาไทย ตามสำนึกปิตาธิปไตยยุคก่อนสมัยใหม่
อย่างไรก็ตามพวกเธอได้รับการตีความใหม่ ด้วยสำนึกสมัยใหม่ อธิบาย และ ‘แก้ต่าง’ โดยนักวิชาการ เฟมินิสต์ นักวรรณกรรมวรรณคดีหลายครั้ง ที่มองเห็นความเสมอภาคทางเพศมากกว่า ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนผัวของพวกเธอ หรือการแข่งกันมีรัก ว่าผู้ชายมีเมียมากได้ ทำไมผู้หญิงจะมีมากบ้างไม่ได้ หากแต่รวมถึงการใช้อำนาจของผู้ชาย อำนาจของผู้แต่ง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่วารสาร อ่าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 มกราคม-มีนาคม 2552 บทความ “กากี ความบัดสีบัดเถลิงของอำนาจ”ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์)
และ ‘นางวันทอง’ จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็ถูกนำมาตีความใหม่อีกครั้งเป็น ‘วันทอง 2021’ ที่พยายามขับเน้นการตีความสำนวน ‘วันทองสองใจ’ เป็นจุดขาย หลังจากห่างหายไปนานที่เคยถูกตีความใหม่ในละครร้อง การกลับมาของละครเวทีวันทอง-The Return of Wanthong เมื่อปี พ.ศ.2561 โดย ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินศิลปาธร ที่ตีความวันทองในฐานะเหยื่อของการจัดลำดับช่วงชั้นสังคมและอำนาจรัฐ
ขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณกรรมอีกเรื่องที่ถูกนำมาวิพากษ์ และตีความในหลายมิติ แน่นอนมีแนวคิด gender และ sexuality เช่น ‘สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในอดีต : ภาพสะท้อนจากวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน’[1] ‘นัยการล่วงละเมิดทางเพศในวรรณคดีไทยโบราณ:กรณีสีดาถูกคุกคามทางเพศและวันทองถูกข่มขืน’[2] มีการตีความไปจนถึง ‘การปกครองและการบริหารแผ่นดินในเสภาขุนช้างขุนแผน : ศึกษาวิเคราะห์จากภาพสะท้อน และปฏิบัติสัมพันธ์ทางสังคมของตัวละคร’[3] และ ‘การวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน’[4]
หา!…อิหยังวะ
อันที่จริง ขุนช้างขุนแผน (สันนิษฐานว่าเริ่มบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อปี พ.ศ.2143 หลังจากแต่งขึ้นเป็นคำร้องจดจำสืบทอดกันมานาน) เป็นวรรณกรรมที่มีหลายฉบับถูกแต่งผ่านหลายคนหลายครั้ง เช่นเดียวกับวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านอื่นๆ และเป็นบันเทิงก่อนสมัยใหม่ของยุคสมัยนึงที่ยังคงเป็นเรื่องราวชิงรักหักสวาท ตบตีแย่งผัวแย่งเมียแบบละครหลังข่าว
ด้วยสังคมปิตาธิปไตยที่ควบคุมกำกับเนื้อตัวร่างกายและเพศวิถีของผู้หญิงและกำหนดให้ผู้หญิงมีบทบาทไว้สนองกามารมณ์ของผู้ชายเท่านั้น และอนุญาตให้ผู้ชายมีเสรีภาพทางเพศมากกว่าและสามารถมีเมียมากได้
‘วันทอง’ ที่มีหลายผัว จึงอยู่ในฐานะคำด่า slut-shaming
ที่ในโลกภาษาไทย มันก็ด่าผู้หญิงอยู่เรื่องเดียว
ซึ่งก็คือเรื่องเพศและจำนวนผัว
เช่น “อีแดกแห้ง” ที่หมายถึงหญิงที่ยังไม่ทันมีเมนส์ก็มีผัวเสียแล้ว “อีร้อยซ้อน” คือหญิงมีผัวแล้วยังมีผู้ชายอื่นอีกร้อยคน ความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “อีร้อยควย”[5]
สำนึกเช่นนี้ พวกเธอไม่ได้มีอวัยวะเพศและความต้องการทางเพศเพื่อพวกเธอเอง หากแต่เพื่ออุทิศบำเรอให้แก่ผู้ชาย เหมือนกับนางวันทอง ตัวละครเอกในเรื่องเล่า ที่เป็นสาวรูปงาม แต่ตกเป็นเหยื่อของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง แย่งกันไปแย่งกันมา ตั้งแต่เป็นเด็กยันลูกโต จนนางตกเป็นเมียของทั้งคู่ และกลายเป็นคดีใหญ่โตขึ้นโรงขึ้นศาล ให้พระราชาตัดสินให้นางเลือกว่าจะไปอยู่กับใคร
ในโลกวรรณคดีไทยอันเอ้อเอิงเอย ความปรารถนาของผู้หญิงเป็นสิ่งต้องห้าม พวกเธอถูกขัดเกลาไม่ให้เอ่ยปากเรียกร้องหรือแสดงความต้องการเจตจำนงค์ของพวกเธอเอง เมื่อพวกเธอแสดงความต้องการของเธอเอง บอกหรือร้องขอให้สามีทำสิ่งใด มันก็จะมักนำไปสู่ปมปัญหาของเรื่อง ความวุ่นวายหายนะ หรือนั่นก็นำไปสู่ความฉิบหายของสามีพวกเธอเอง
ในรามเกียรติ์ นางสีดาที่เดินดงกับพระราม นางเห็นกวางทองในป่าแล้วอยากได้ ขอให้พระรามไปจับมาเลี้ยงให้หน่อย แต่นั่นก็เป็นกวางจำแลงที่ยักษ์ร้ายล่อลวงมา ก็ทำให้เธอและสามีตกอยู่ในกับดักยักษ์ เป็นอันต้องพลัดพรากจากกัน เช่นเดียวกับนางไกยเกษีเมียอีกคนของท้าวทศรถพ่อพระราม ที่เป็นต้นเหตุให้พระรามต้องเดินดง เนื่องจากนางขอท้าวทศรถให้พระพรตลูกชายนางขึ้นครองราชบังลังก์แทนพระรามที่เป็นพี่คนโต แล้วให้พระรามไปบวชอยู่ในป่าเป็นเวลา 14 ปี โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่ท้าวทศรถผู้เป็นสามี รบกับปทูตทันตยักษ์จนเพลาราชรถหัก นางไกยเกษีอยู่ในเหตุการณ์ด้วยจึงอธิษฐานด้วยความสวามิภักดิ์ต่อสวามีเอาแขนเข้าแทนเพลารถขออย่าให้เป็นอันตราย แล้วนางก็ยื่นแขนต่างเพลารถ ช่วยสวามีออกรบ…. หา!! กล้ามาก เก่งมากแม่
เมื่อรบชนะท้าวทศรถจึงสรรเสริญนางพร้อมบอกว่าหากนางประสงค์สิ่งใดก็จะให้ตามที่นางขอ แต่เมื่อนางขอ ก็ทำให้ท้าวทศรถผู้เป็นสวามีเสียใจจนตาย และลูกพรตของนางก็ขึงโกรธถึงกับจะฆ่านางให้ได้
หญิงที่ดีในวรรณคดีต่างๆ จึงไม่ใช่หญิงที่เรียกร้อง แสดงความปรารถนา
รบเร้าสามี แต่คอยก้มหน้าก้มตาตอบสนองผัว
อยู่ในความต้องการของผัวเท่านั้น
เช่นนางมัทรีในนิทานชาดกพระเวทสันดร ที่สามีนาง พระเวสสันดรตั้งปณิธานจะบรรลุธรรมด้วยการบำเพ็ญทานบารมี บริจาคทานให้ผู้ที่มาขอไม่เลือกหน้าเลือกหลัง ใครขออะไรก็ให้หมด รวมทั้งลูกเมียในฐานะสิ่งของนอกกาย เพื่อให้ตนเองได้กุศลผลบุญส่วนตัว พระเวสสันดรจึงบริจาคเมียให้เป็นทาสให้กับพระอินทร์จำแลง และบริจาคลูกกัณหา-ชาลีให้ไปเป็นทาสรับใช้ชูชก
ผู้หญิงจึงมีสถานะสิ่งของ เครื่องประดับผู้ชาย (เหมือนสำนึกที่ว่าผู้ชายยิ่งมีเมียมากกว่ายิ่งดูรวยมาก สามารถเลี้ยงดูบริวารอุปถัมภ์ผู้คนได้มาก) ซึ่งการที่ชูชกมาขอกัณหา-ชาลีไปเป็นข้ารับใช้นั้นก็คือความฉิบหาวายป่วงที่เกิดจากความต้องการของนางอมิตดา เมียชูชก (ซึ่งนางเองก็มีสถานะสิ่งของเช่นกัน พ่อแม่นางติดหนี้ชูชกแต่ไม่มีปัญญาใช้คืน เลยให้อมิตดามาชดใช้แทน) นางใช้อำนาจจากความสาวความสวยที่มี สถาปนาอำนาจเหนือผัวแก่อัปลักษณ์ ใช้ให้ชูชกไปขอสองกุมารมาเป็นข้าทาสบริวารมารับใช้ เพราะนางไม่ต้องการทำงานบ้านเรือนปรนนิบัติพัดวีสามีอีกต่อไป และนั่นก็ทำให้สามีเธอต้องออกจากบ้านบุกป่าฝ่าดง แล้วไม่ได้กลับมาอีกต่อไปเพราะท้องแตกตายในตอนท้ายของเรื่อง
อมิตดาจากลูกสาวแสนกตัญญูสยบยอมต่อบุพการี ให้พ่อแม่ขายใช้หนี้ ก็กลายเป็นนางร้ายในทันที
เมื่อพวกเธอถูกกำหนดให้ไม่ร้องขออะไรจากสามี มีสถานะเป็นสิ่งของ ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีสิทธิอำนาจตัดสินใจในการเลือก แม้แต่การดำรงชีวิตของเธอเอง เหมือนกับที่นางในวรรณคดีที่จะเลือกคู่เองก็ต้องโยนมาลัยเสี่ยงทาย ให้คุณพระคุณเจ้าดลบันดาล และเมื่อถูกบีบบังคับให้ต้องเลือก เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจเลือกนางจะเลือกไม่เป็นเลือกไม่ได้ เช่น นางวันทอง ที่แม้แต่ตอนนางมีผัวใหม่เป็นขุนช้างก็เพราะถูกขุนช้างหลอกล่อลวงและแม่ของเธอเองก็บังคับขู่เข็ญ และเมื่อนางถูกกษัตริย์ที่ตั้งตนเป็นศาลสั่งให้นางต้องเลือกว่าจะอยู่กับใคร จะผัวคนที่ 1 ขุนแผน ผัวคนที่ 2 ขุนช้าง หรือลูกรักที่เกิดกับผัวคนแรก การเลือกไม่ได้ของนางได้สร้างความรำคาญใจให้กับสมเด็จพระพันวษาแห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าผู้เป็นศาลตัดสิน ด่าทอนางเสียๆ หายๆ และเพื่อตัดรำคาญลำไย นางถูกพระราชาสั่งประหารชีวิตให้ตายๆ ไปสะ เรื่องจะได้จบๆ (แบบนี้ก็ได้หรอ)
ร้ายไปกว่านั้นในเสภาขุนช้างขุนแผน
เมื่อวันทองโดนประหารชีวิตไปแล้ว นางกลายเป็นผีเปรต
เป็นการตอกย้ำประณามนางตั้งแต่โลกมนุษย์ไปถึงปรโลก
ที่มี 2 ผัวแล้วเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่กับผัวคนไหน แต่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายหรือทางศีลธรรมความเชื่อกับผู้ชายจะมีเมียมาก ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ถูกนำมาอธิบายเสมอๆ เมื่อพูดถึงวันทอง อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจตุลาการของกษัตริย์กลับยังไม่ถูกนำมาตีความ
การตัดสินประหารชีวิตนางวันทองไม่เพียงตีตราตราหน้าด่านางว่าเป็นหญิงสองใจน่ารังเกียจ แต่ยังเป็นความต้องการการรักษาอำนาจของกษัตริย์ผู้ตัดสินคดี เพราะเรื่องราวอีรุงตุงนังชิงนางวันทองระหว่างขุนแผนขุนช้างวันทอง รวมทั้งจมื่นไวยวรนาถ (ลูกของขุนแผน กับ นางวันทอง) นำไปสู่ขัดคำสั่งอำนาจงสมเด็จพระพันวษาผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในเสภาก็เต็มไปด้วยเรื่องข้อกฎหมายบทลงโทษ และอำนาจของกษัตริย์ในฐานะกฎหมายเอง[6]
เอาเข้าจริงผู้ร้ายที่น่าด่าในเรื่องไม่ใช่วันทอง ขุนช้าง หรือขุนแผน หากแต่คือ สมเด็จพระพันวษาผู้เป็นพระเจ้าอยู่หัว หรือ ‘เหนือหัว’ เพราะกษัตริย์ตามลัทธิเทวราชา มีอำนาจมากล้นจนสั่งฆ่าใครก็ได้ สั่งกุดหัวไพร่ราษฎร์ที่ไม่ได้ดั่งใจ มีความอำมหิตที่ได้รับความชอบธรรม เช่นนางวันทอง และพ่อของขุนแผน ชื่อขุนไกร ที่เป็นทหารของสมเด็จพระพันวษา มีหน้าที่ดูแลควาย แต่พอฝูงควายแตกตื่นหน้าพระที่นั่ง เขาเกรงว่าจะไปขวิดสมเด็จพระพันวษา จึงฆ่าควายตายเพื่อป้องกัน สมเด็จพระพันวษาโกรธมากสั่งประหารชีวิตขุนไกรทันทีแล้วนำศพแห่ประจาน ริบลูกเมียทรัพย์สินข้าทาสบริวาร
‘วันทองสองใจ’ ที่เป็นคำคล้องจองติดหูติดปากเวลาด่าผู้หญิงจึงไม่เพียงเป็นผลผลิตปิตาธิปไตยแต่ยังเป็นซากเดนศักดินาอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม
[1] อภิวันทน์ อดุลยพิเชฎฐ์. สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายไทยในอดีต ภาพสะท้อนจากวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน. . วิทยานิพนธ์สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544.
[2] วรรณนะ หนูหมื่น.นัยการล่วงละเมิดทางเพศในวรรณคดีไทยโบราณ:กรณีสีดาถูกคุกคามทางเพศและวันทองถูกข่มขืน.วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ(สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มกราคม – มิถุนายน 2555).
[3] สุจิกา ยีมัสซา. การปกครองและการบริหารแผ่นดินในเสภาขุนช้างขุนแผน : ศึกษาวิเคราะห์จากภาพสะท้อน. วิทยานิพนธ์ วิชาเอกไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2541.
[4] วีระชาติ ศิริไกรวัฒนาวงศ์. การวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการสอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552.
[5]วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล. “หญิงชั่ว” ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ – พ.ศ. 2477. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559.
[6] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ทำไมต้องฆ่าวันทอง? วิเคราะห์ “นางวันทองสองใจ” จริงหรือ แล้วผิดข้อหาอะไร.ศิลปวัฒนธรรม (ตุลาคม 2551).