ซีรีส์ ‘มหากาลี เทวีพิทักษ์โลก’ อวตารลงมาคืนจอทีวีอีกครั้งแบบงงๆ กับผังช่อง 3 ว่าจัดวางกันประสาอะไร อารมณ์ไหน เหลืออีกไม่กี่ตอนจะจบ อยู่ดีๆ ก็แขวนสะงั้น แล้วก็ดันไปขุดละครเก่ามาฉายแทน พอข้ามปีก็เอามหากาลี 4-5 EP ที่เหลือ กระโดดข้ามปีมาฉายทีหลัง (ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ) ทำเอาสาวกพระแม่งงเงิบไปตามกันๆ
ฮึ…ดูหนังอินเดียเรื่องอื่นก็ได้ เดี๋ยวนี้ขนมาฉายกันดกดื่น ดกพอๆ กับขนหน้าอกหนุ่มอินเดียเลย
ทว่าหนังบอลลีวูดหลายเรื่องที่ดู โดยเฉพาะแนวปกรณัม จักรๆ วงศ์ๆ ที่ดาราชายต้องถอดเสื้อโชว์กล้ามแน่นๆ ทั้งเรื่อง ดาราหนุ่มกลับเกลี้ยงเกลาไร้ขนแม้แต่จั๊กแร้ ผิดกับประชากรชายชาวอินเดียที่เราเข้าใจและเคยเห็นว่ามีขนดกดำลามไปทั่วเรือนร่าง ทั้งหน้าอก หน้าท้อง ไหล่ หลัง ดาราพวกนี้ผิวเนียนไร้ขนเนียนยิ่งกว่า CG ฉากอภินิหารเสียอีก ไม่ว่าจะเล่นบทเทพเจ้ามีหลายมือหลายแขน ก็ไม่มีขนรักแร้แพลมให้เห็นสักเส้น
แม้แต่ Saurabh Raj Jain ที่รับบทพระศิวะในมหากาลี ต่อให้หนวดเคราครึ้มแค่ไหน ก็ไม่มีไรขนหน้าอกให้เห็นสักเส้น
เหลือแค่บรรดาบริวาร ตัวประกอบ คนใช้ ตลก ฤๅษี ชาวบ้าน อสูรร้ายใจบาปเท่านั้นที่ยังพอเลี้ยงขนไว้บ้าง
กระแสซีรีส์อินเดียในทีวีไทยจึงไม่เพียงทลายภาพจำคนไทยต่อหนังอินเดียว่าดาราต้องอวบอั๋นบึ้บบั้บ พุงพลุ้ย เต้นระบำครึ่งค่อนวันข้ามทวีป แบบ ‘ช้างเพื่อนแก้ว’ (ฉายครั้งแรกในไทยปี 2517) หรือเรื่อง ‘โชเล่ย์’ (ฉายในไทยปี 2519-2520) กลายเป็นนางเอกสาวหุ่นสะโอดสะองประกอบคู่กับพระเอกหล่อล่ำประเวศร์ยิม แต่ยังทำให้ความขนหน้าอกปุกปุยหายไปจากจอหนังอินเดียอีกด้วย
ขนหน้าอกถือว่าเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของแฟชั่นและความหล่อกระแสหลักของดาราบอลลีวูด ที่เราจะไม่ค่อยได้เห็นดาราไว้หนวดเคราโชว์ปล่อยขนหยิกฟูคลุมไปทั้งหน้าอกหน้าใจหน้าท้องเลยไปไหล่และหลังอย่างสง่าผ่าเผย แบบ Anil Kapoor, Sanjay Dutt และ Sunny Deol ดาราดังยุค 80s หรือ Salman Khan ที่เริ่มเข้าวงการบันเทิงในช่วงปลาย 80s ด้วยแผงขนหน้าอกอันหนาทึบของเขา ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้นำเทรนด์กำจัดขนของดาราชาย จากฉากใส่กางเกงยีนส์ตัวเดียวเต้นระบำ ถอดเสื้อโชว์กล้ามอันเกลี้ยงเกลาไร้ขนฟู ในเรื่อง Pyaar Kiya To Darna Kya (1998) จนได้สมญานามว่าเป็นตัวพ่อแห่งการแว็กซ์ขนหน้าอก
Akshay Kumar พระเอกดังยุค 90s คอหนังอินเดียยังคงจำหุ่นล่ำๆ และขนหน้าอกเขาในเรื่อง Khiladi (1992), Waqt Hamara Hai (1993) และ Hera Pheri (2000) ได้เป็นอย่างดี แม้ Hera Pheri ไม่ค่อยจะมีฉากถอดเสื้อ แต่ขนหน้าอกที่แพลมพ้นเสื้อยืดคอกลมของเขาก็สะดุดผู้ชมมากพอให้จินตนาการถึงขนข้างในร่มผ้าขาวบางนั่น กระทั่ง 2003 เขาก็โกนขนหน้าอกหนวดเคราสะเกลี้ยงเกลาในเรื่อง Talaash: The Hunt Begins เช่นเดียวกับเรื่อง Garam Masala (2005) และ Heyy Babyy (2007) ที่ผู้ชมหลายคนบอกว่าเขาดูเด็กลงเยอะเลย
การโกน เล็ม แว๊กซ์ เลเซอร์กำจัดขนตามตัวและใบหน้ากลายเป็นของของจำเป็นและมาตรฐานความหล่อของนายแบบและดาราหนุ่มในอุตสาหกรรมบันเทิงอินเดีย เช่นเดียวกับร้อยไหม ฟิลเลอร์ โบท๊อกซ์ของดาราไทย
เนื่องจากอินเดียเป็นสังคมปิตาธิปไตยจ๋า ที่ต้องการภาพตัวแทนผู้ชายที่ใกล้เคียงกับ ‘ความเป็นชาย’ ในอุดมคติให้มากที่สุดในหนังละคร
ทั้งหุ่นล่ำและขนดกเป็นสัญลักษณ์ของความแมน แต่ไหนแต่ไรพระเอกจึงต้องกล้ามแน่นๆ ยิ่งกล้ามโตยิ่งมาโช (macho) แมนๆ ก็ยิ่งได้งาน ได้ค่าตอบแทนสูง ขณะเดียวกันขนอันดกดำก็สะท้อนถึงความเป็นชายที่ล้นเหลือ ซึ่งจะดกแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับโชคช่วยของพวกเขา
จนกระทั่งในยุค 90s ที่เกิดกระแส metrosexual กระตุ้นให้หนุ่มๆ หันมาแต่งองค์ทรงเครื่อง พิถีพิถันกับความหล่อเหลาแบบสะอาดสะอ้าน ทั้งวงการบอลลีวูดและฮอลลีวูดก็ตอบสนองสำนึกนี้ การประกาศ ‘ความเป็นชาย’ ในอุดมคติที่อุดมไปด้วยไรขนดกดำคมเข้มมาดแมนจึงถูกทดแทนกล้ามเป็นมัดๆ หนังเกลี้ยงๆ จากการกำจัดขน ด้วยเหตุนี้ Anil Kapoor ดาราดัง ที่ติดทำเนียบเซเลบขนปุกปุยอย่างภาคภูมิ แห่งยุค 80s ก็ต้องแว๊กซ์จนโกร๋น ถอดเสื้อโชว์ในเรื่อง Race 2 (2013)
ขณะเดียวกันร่างกายที่มีแต่ขนรกชัฏก็ถูกนิยามให้เป็น geek มากกว่าจะเป็นพระเอกได้ ซึ่ง geek ก็เป็นสัญลักษณ์ของพวกไม่รู้จักดูแลตัวเองและก็ดูจะห่างไกลจากความเป็นชายในอุดมคติ และหน้าอกที่ไร้แผงขนก็ดูขึ้นกล้องกว่า ไม่มีขนฟูๆ มาปกคลุม เห็นมัดกล้ามซิกแพคชัดกว่า กลายเป็นวิบากกรรมของดาราชายบอลลีวูดที่ต้องดัดแปลงเนื้อตัวร่างกายตนเองเพื่อหน้าที่การงาน กล้ามแน่นๆ ไร้ขนดกดำจึงพอจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าพวกเขาจะยังคงเป็นที่โปรดปรานหลงใหลในวงการ เป็นนักแสดงนำได้ ไม่ใช่ตัวประกอบ
มากไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เทคโนโลยีทั้งการแพทย์อาหารและยา บริการถอนขนและการเพาะกายเองก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้กระแสกล้ามแน่นไร้ขนดำรงอยู่ในวงการบันเทิงอินเดีย
เมื่อขนต้องถูกกำจัดออกไปเพื่อโชว์ให้เห็นกล้ามโตๆ แน่นๆ ได้ชัด ก็เท่ากับว่าขนหน้าอกคือความเป็นชายที่รองลงมาจากเรือนร่างล่ำๆ ที่แน่นไปด้วยกล้าม
ความหล่อกระแสหลักของดาราบอลลีวูดจึงเป็นเครื่องตอกย้ำถึงการเป็นสิ่งประกอบสร้างของ ‘ความเป็นชาย’
ไม่เพียงจะผันผวนชุดนิยามความหมายไปตามยุคสมัย และสัมพันธ์กับวัฒนธรรมบริโภค หากแต่ยังต้องผลิตสร้างเองเพราะไม่ใช่อวัยวะติดตัวมาแต่กำเนิด เหมือนกับที่พวกเขาจึงต้อง work out อย่างหนักและมีวินัย ควบคุมอาหารและยา เพื่อให้ได้ซิกแพค มัดกล้ามที่วงแขน หัวไหล่ หน้าอก หลัง ขา สะโพก หัวหน่าว ไม่ใช่แผงขนที่ปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ
แม้ว่าหนวดเคราขนดกรกชัฏจะแสดงออกถึงความเป็นชายได้น้อยกว่ามัดกล้ามแข็งๆ แล้วในโลกบันเทิงกระแสหลัก ทว่าในปลาย 2010 เป็นต้นมา ก็ดูเหมือนว่าขนหน้าอกจะเริ่มถูกปลูกเป็นเทรนด์ ด้วยการนิยามว่าเป็นความเซ็กซี่แบบเรโทรๆ หนังสือพิมพ์ The New York Times ในปี 2016 ถึงขั้นประกาศกร้าวว่าขนหน้าอกกำลังจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากกระแสฮิปสเตอร์ การไว้หนวดเคราเริ่มเฟื่องฟู ขนหน้าอกก็ถูกให้ความหมายของการเป็นตัวของตัวเองของผู้ชายที่ไม่ได้ต้องคอยแว๊กซ์คอยโกน ปล่อยให้ร่างกายเป็นอิสระ ไม่ใช่ร่างกายใต้บงการ อย่างน้อยที่สุดก็ภายใต้โฆษณาของ Calvin Klein เหมือนกับแฟชั่นยุคปลาย 60s และ70s ที่เต็มไปด้วยเสื้อคอลึกคอเว้าและขนหน้าอกเขียวครึ้ม และเป็นช่วงสมัยที่ถูกนิยามถึงอิสรภาพ เสรีภาพ ขบวนการเคลื่อนไหวของฮิปปี้
ทว่าฮิปสเตอร์หลายคนที่บุคลิกสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ ก็ไว้หนวดเคราแต่กำจัดขนหน้าอกอยู่เพราะหนวดเคราอยู่นอกร่มผ้าเป็นสไตล์ที่เห็นได้ชัดเจนกว่า ซ้ำยังรู้สึกว่าขนหน้าอกรุงรังไม่สะอาดสะอ้านชวนให้ร้อนอบอ้าวในช่วงฤดูร้อน
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ขนหน้าอกก็จะยังคงอยู่ยั้งยืนยงและเป็นที่ถวิลหาเช่นเดียวกับหนวดเครา แม้ไม่ใช่ความหล่อกระแสหลัก แต่สำหรับหลายคนแล้วการได้เอานิ้วละเลียดไปตามไรขน เอาหน้าซุกไซ้ลงไปที่แผงขนหน้าอกลามไปถึงสะดือ หรือถูกถูไถด้วยหนวดเครามันรัญจวนใจมากกว่ารสสัมผัสจากผิวเนียนๆเกลี้ยงๆ ที่พื้นผิวสัมผัสแบบนั้นหาได้จากตุ๊กตายางที่บ้านก็ได้
อันนี้ส่วนตัวไปปะ…
อ้างอิงข้อมูลจาก