หม่อมฉันบมีบุรุษผู้ ประดิพัทธะใดใด,
เป็นโสดบมีมะนะสะใฝ่ อภิรมย์ฤสมรส.
– มัทนะพาธา
เพราะความอยุติธรรมและการกดขี่ขูดรีดที่สะท้อนถึงช่องว่างระหว่างเพศในกลุ่มแรงงานผู้หญิง จึงนำมาสู่การตอบโต้ด้วยการลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงเพื่อต่อต้านความไม่ชอบธรรม จนเป็นที่มาของวันสตรีสากลโลกในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ความเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นหมุดหมายและประกายไฟที่ถูกจุดยังคงส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง และจะต่อเนื่องต่อไปเพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงทุกคน
เช่นเดียวกับในสังคมไทย ค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่ละยุคสมัย แต่ใช่ว่าคนในสังคมเองจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เรายังคงส่งต่อความรู้อย่างเข้าใจ ผู้คนยังคงตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเอง และมองเห็นความเสมอภาคที่ควรมีอย่างเท่าเทียมในสังคมด้วย
เนื่องในวันสตรีสากลโลก The MATTER จึงชวนทุกคนย้อนกลับไปมองสภาพสังคม และสิ่งที่ผู้หญิงไทยอาจต้องประสบพบเจอในอดีตผ่านวรรณคดีของไทยหลายๆ เรื่องที่เราคงจะรู้จัก แม้หลายงานเขียนจะถูกสร้างสรรค์ผ่านผู้ชาย และถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของความเป็นชาย และแน่นอนว่าเมื่อมนุษย์ไม่มีใครขาวหรือดำซะทีเดียว ตัวละครอย่างพวกเธอเองก็คงหนีอคติ 4 อย่างรัก โลภ โกรธ และหลงไปไม่พ้น เรื่องราวต่างๆ ของผู้หญิงเหล่านี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างที่อาจสะท้อนให้เราเห็นถึง ‘ความเป็นหญิง’ ในฐานะตัวเธอเอง ลูกสาว เมีย และแม่ ว่าพวกเธอต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง และตัวเธอเป็นอย่างไรในเรื่องเล่าของใครอีกคน
มัทนา – กุหลาบงามผู้รู้หัวใจตัวเธอเอง
เทพธิดานาม ‘มัทนา’ หญิงผู้เป็นที่ต้องตาต้องใจของสุเทษณ์เทพ แต่เธอกลับปฏิเสธพระองค์อย่างหนักแน่น ด้วยเหตุนี้สุเทษณ์จึงโกรธและลงโทษด้วยการสาปให้นางลงไปเกิดเป็นดอกกุพชะกะ (ดอกกุหลาบ) ในโลกมนุษย์ ซึ่งสามารถเป็นหญิงสาวได้เฉพาะในวันเพ็ญเพียง 1 วัน 1 คืน และเป็นเช่นนี้ไปกระทั่งนางมีความรักกับชายใดถึงจะไม่ต้องกลับไปเป็นดอกไม้อีก แต่ถ้าหากมีรักแล้วก็ยังคงขอให้นางต้องทนทุกข์และต้องจากลากับคนรักไป
หลังจากนั้นมัทนาก็ได้พบกับท้าวชัยเสน ทั้งคู่ตกหลุมรักและได้อภิเสกสมรสกัน มัทนาจึงไม่ต้องกลับไปเป็นดอกกุหลาบอีกต่อไป แต่ความรักของมัทนากลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะท้าวชัยเสนมีมเหสีชื่อพระนางจัณฑีของตนเองอยู่แล้ว ด้วยพิษรักแรงหึง พระนางจัณฑีจึงได้วางแผนใส่ร้ายมัทนาขณะป่วย ทำให้ท้าวชัยเสนสั่งประหารนาง แต่อมาตย์ผู้คุมการประหารครั้งนั้นกลับปล่อยตัวนางไป นางมัทนาเลยทนทุกข์และนึกถึงเจ้าของคำสาป สุเทษณ์เลยปรากฏตัวและชักชวนนางกลับไปเป็นชายา แต่นางก็ยังมั่นคงในหัวใจของตัวและขอปฏิเสธเช่นเคย ทั้งยังขอให้ช่วยให้นางกลับไปรักกับท้าวชัยเสนดังเดิม สุเทษณ์จึงโกรธและสาปให้มัทนากลายเป็นดอกกุหลาบตลอดไป
นี่คือตำนานแห่งดอกกุหลาบจากวรรณคดีของไทยเรื่องมัทนะพาธา ตำนานที่บอกเราว่า “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดใด…” แต่หากมองดูดีๆ แล้วหญิงงามนามว่ามัทนา กลับกล้าหาญและแข็งแกร่ง เพราะความซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเธอเอง และมั่นคงกับความรักที่เธอมีกว่าสิ่งใด
จินตะหราวาตี – หญิงผู้ช้ำใจเพราะรักมั่นในรักแรก
อิเหนาเวอร์ชั่นไทยกล่าวถึง ‘จินตะหราวตี’ ว่าเธอสาวงามแห่งเมืองหมันหยาที่ตกหลุมรักอิเหนาอย่างสุดหัวใจ เช่นเดียวกับตัวอิเหนาเองที่ก็คลั่งไคล้ในตัวเธอ ถึงแม้เขาจะมีบุษบาเป็นคู่หมั้นหมายมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วก็ตาม แน่นอนว่าความรักระหว่างอิเหนากับจินตะหราล้วนมีท้าวหมันหยาผู้เป็นพ่อของนางรู้เห็นเต็มใจ แม้ก่อนหน้าจะเกือบยกจินตหราให้กับโจรป่าปันหยี (ซึ่งก็คือิเหนาปลอมตัวมา) เพียงเพราะขลาดกลัวจะต้องสู้รบ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้อิเหนาจำต้องจากเมืองหมันหยาไป ฝ่ายจินตะหราเองก็หวั่นใจว่าอิเหนาจะปันใจไปให้หญิงอื่น ในขณะที่อิเหนาก็จำใจต้องจากไปพร้อมให้คำมั่นสัญญาไว้กับนาง
และก็เป็นดั่งที่จินตะหรากลัวมาตลอด เมื่อได้กลับมาพบกับอิเหนาอีกครั้ง เธอก็ต้องชอกช้ำเพราะรักที่มีต่ออิเหนาอย่างสุดซึ้ง เมื่ออิเหนาไม่เพียงแค่มีภรรยาอื่นอีกมากมาย แต่ภายในห้องหัวใจของอิเหนาตอนนี้กลับเปลี่ยนไปเป็นหญิงงามนามบุษบาเข้าเต็มเปา แถมจินตะหราเองยังมีศักดิ์ต่ำต้อยหญิงงามคนนั้น แต่ต่อให้จะโกรธและเจ็บช้ำใจจากอิเหนาขนาดไหน เธอก็รู้อย่างเต็มอกว่าสามี (ที่ต้องใช้ร่วมกันหญิงอื่น) ทั้งหน่ายและไร้รักเธอแล้วจริงๆ
“…เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมก็ชมหวาน ถึงยามยืดจืดกร่อยทั้งอ้อยตาล เคยโปรดปรานเปรี้ยวเค็มรู้เต็มใจ…” ไม่มีสิ่งใดจีรัง ความรักก็เช่นกัน เมื่อรักแรกไม่ได้แปลว่ารักสุดท้าย การรักมั่นและซื่อตรงก็ไม่ได้แปลว่าจะได้เป็นนางเอกของเรื่อง (ในวรรณคดีไทยนางเอกคือ ‘บุษบา’) เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงเป็นความเจ็บปวดใจของจินตะหราวตี หญิงผู้เป็นเมียที่มีอิเหนาเป็นรักแรกและรักสุดท้าย แต่เธอกลับเป็นเพียงรักแรกที่ถูกลืมไปของชายคนนั้น หญิงผู้เป็นลูกสาว แต่ผู้เป็นพ่อกลับขี้ขลาดเกินจะยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการเรื่องใดๆ เธอจึงเป็นหญิงผู้เข็มแข็งที่ต้องทนกับความช้ำใจต่อไปทุกคืนวัน
นางพันธุรัต – หญิงผู้รักลูกปานชีวา
ยักษีจากวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง หญิงตัวคนเดียวไร้ลูกไร้ผัวที่บังเอิญได้พบกับเด็กน้อยหอยสังข์ ที่ทั้งถูกเนรเทศเพราะเป็นหอยและถูกจับถ่วงน้ำมา เธอรักพระสังข์อย่างสุดหัวใจจึงแปลงกายเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งให้บริวารพี่เลี้ยงปลอมตัวเพื่อรับใช้พระสังข์ด้วย ทว่าวันหนึ่งลูกน้อยก็ได้พบกับกองกระดูกมากมายเลยได้รู้ความจริงว่า แม่ที่รักและเลี้ยงดูตัวเองมาตลอดนั้นคือ ‘ยักษ์’ จึงกลัวและคิดหาโอกาสที่จะหนี และแล้ววันนั้นก็มาถึง พระสังข์ได้มีโอกาสหนีออกจากอ้อมอกของนางพันธุรัต โดยหยิบเอารูปเงาะ ไม้เท้า และเกือกแก้วก่อนจะเหาะหนีไปอยู่บนเขา
ระหว่างนั้นนางพันธุรัตกลับวังมา และพบว่าลูกน้อยที่เปรียบเสมือนดวงใจของนางได้หนีไปแล้ว นางร้องห่มร้องไห้และรีบเรียกบริวารออกตามหา เมื่อพบกับลูกน้อยแล้วก็ขอวิงวอนให้พระสังข์ลงมาหาตน พร้อมกับบอกให้พระสังข์อย่านึกระแวงที่นางเป็นยักษ์ ของวิเศษต่างๆ ที่นำติดตัวไปก็พร้อมจะมอบให้ แต่พระสังข์กลับไม่ลงมาเพราะตนอยากออกไปตามหาแม่ที่แท้จริง และเกรงว่านางจะโกหก จึงกล่าวขอโทษด้วยความรู้สึกผิด นั่นเองเลยทำให้คนเป็นแม่อย่างนางพันธุรัตต้องร้องไห้ และเสียใจจนอกแตกตายในที่สุด
นี่คือความรักของหญิงร่างใหญ่ในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง นามพันธุรัต นางยักษ์ที่แปลงกายเป็นมนุษย์เพราะกลัวลูกมนุษย์ของตนเองจะเกรงกลัว หญิงผู้เฝ้าฟูมฟักในฐานะแม่แม้ลูกจะไม่ใช่สายเลือดในอก หญิงผู้ให้วิชาติดตัวจนเกิดเป็นประโยชน์แก่ลูกน้อยในภายภาคหน้า หญิงผู้ต้องจบชีวิตลงอย่างฟูมฟายด้วยความเสียใจเพราะลูกน้อยจะจากอ้อมอกของนางไป
วันทอง – หญิงผู้หาใช่สองใจไม่
พูดชื่อ ‘วันทอง’ ขึ้นมาเมื่อไร คงหนีไม่พ้นการต่อท้ายด้วย ‘สองใจ’ ก่อนจะเป็นวันทอง เดิมเธอชื่อ ‘พิมพิลาไลย’ หญิงงามลูกแม่ค้าที่มีเพื่อนเล่นคือพลายแก้วและขุนช้าง คนหนึ่งรูปหล่อ คนหนึ่งหัวล้านมาแต่เด็ก เมื่อเติบใหญ่ทั้ง 3 ได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง ขุนช้างหลงรักและพยายามให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ โดยที่แม่ของพิมพิลาไลยนั้นดีใจจนเป็นคนคอยจัดการให้เพราะความร่ำรวยของอีกฝ่าย ในขณะที่ลูกสาวอย่างพิมพิลาไลยก็เดือดเนื้อร้อนใจเพราะรักในตัวพลายแก้ว แถมยังลักลอบได้เสียกันไปแล้วจากความช่วยเหลือของพี่เลี้ยง (ซึ่งตอนหลังก็ตกเป็นเมียของพลายแก้วอีกคน แต่พิมพิลาไลยไม่สามารถทำอะไรได้) แต่ต่อมาพลายแก้วและพิมพิลาไลยก็ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องท่ามกลางความแค้นใจของขุนช้าง
วันหนึ่งพิมพิลาไลยเกิดป่วยไข้ขึ้นในขณะที่พลายแก้วจำต้องไปออกศึก เลยเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วันทอง’ แล้วจึงหายป่วยไข้ และแล้วเรื่องราวของวันทองก็เริ่มยุ่งเหยิงเมื่อขุนช้างใส่ความว่าพลายแก้วตายระหว่างรบ และนี่คือสิ่งที่ผู้หญิงในฐานะภรรยาและลูกสาวต้องเจอ คือแม่ของวันทองทั้งเฆี่ยนตีและส่งมอบนางให้แก่ขุนช้าง แม้วันทองจะไม่ยินยอมก็ตาม เพราะไม่อย่างนั้นตามกฎแล้วนางจะต้องเป็นหม้ายหลวง ในขณะที่ขุนแผน (เดิมคือพลายแก้วแต่ได้เลื่อนยศ) ก็กลับมาพร้อมภรรยาใหม่ที่มอบความเจ็บช้ำแก่วันทอง และยุ่งเหยิงขึ้นเมื่อมีเหตุให้ขุนแผนและขุนช้างลักพาตัวนางไปๆ มาๆ จนท้ายที่สุดวันทองในฐานะแม่ก็จำต้องห่างจากพลายงาม (ลูกของนางกับขุนแผน) ไป
ทว่าเรื่องราวก็ยังไม่สงบสุข เมื่อต่อมาก็มีเหตุให้วุ่นวายอีกครั้งด้วยฎีกาที่ถวายแก่พระพันวษา กษัตริย์ผู้มองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากหญิงชื่อวันทองเพียงคนเดียว จึงให้เธอเลือกว่าจะอยู่กับใคร แต่ด้วยความเกรงกลัวต่อกษัตริย์ และชีวิตที่เธอแทบจะไม่เคยได้เลือกด้วยตนเอง วันทองจึงตอบคำถามนั้นเพื่อรักษาน้ำใจทุกฝ่าย แต่พระพันวษาได้ฟังกลับทรงกริ้วเพราะคิดว่านางมักมากเลยสั่งประหารวันทองในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวโดยย่นย่อของหญิงในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน นามวันทอง ลูกสาวที่มีคำว่ากตัญญูค้ำคอ เมื่อแม่อยากให้เธอได้ดิบได้ดี หญิงที่มีชีวิตในฐานะเมียกับความรักที่เธอเลือก และถูกบีบบังคับโดยไม่ได้อยากเลือก ชีวิตกับบทบาทความเป็นแม่ที่จำต้องพลัดพรากจากลากันไปด้วยความรักและความระแวดระวังภัยแก่ลูกน้อย
สีดา – หญิงผู้ขอพิสูจน์ตัวเธอเอง
‘สีดา’ ธิดาของทศกัณฐ์และนางมณโฑ ที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพราะคำทำนายว่าเธอจะเป็นผู้นำภัยพิบัติใหญ่มาสู่ตระกูลยักษ์ เธอจึงถูกนำใส่ผอบและลอยน้ำไปตามคำสั่งของทศกัณฐ์ที่ตัดสินใจฆ่าลูกตนเองไม่ลง จนท้ายที่สุดก็มีฤๅษีเป็นผู้รับเลี้ยง ก่อนจะตั้งชื่อให้ว่า สีดา และแน่นอนว่าความงามของนางสีดานั้นก็เป็นที่เลื่องลือไปถึงพระรามและพระลักษมณ์ สองพี่น้องที่มาร่วมยกธนูโมลีที่มีน้ำหนักมหาศาลเพื่อหาคู่ครอง ท้ายที่สุดนางสีดาก็ได้อภิเสกสมรสกับพระราม
เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อต่อมาความงามของนางสีดาได้เลื่องลือไปถึงเมืองยักษ์ ก่อนจะมีเหตุให้มียักษ์ตายลงด้วยศรของพระราม และเรื่องก็มาถึงทศกัณฐ์ เจ้าแห่งกรุงลงกา สีดาจึงถูกลักพาตัวไป แต่เธอก็ยังคงมีศักดิ์ศรีและระแวดระวังตัวจากทศกัณฐ์อยู่เสมอ จนต่อมาเกิดเป็นศึกใหญ่ระหว่างมนุษย์ ยักษ์ และลิง แต่ระหว่างนั้นแม้นางสีดาจะสามารถหลีกหนีได้จากความช่วยเหลือของหนุมาน แต่สีดาก็ยังทระนงตนรอคอยให้พระรามรบชนะก่อน ทั้งยังขอลุยไฟเพื่อพิสูจน์ถึงความรักอันภักดีที่มีต่อสามีแต่เพียงผู้เดียว ทว่าเหมือนจะแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีเหตุให้พระรามเข้าใจผิดว่า นางสีดามีใจให้ทศกัณฐ์จนรับสั่งให้ประหารชีวิตภรรยาของตน แต่พระลักษณ์เกิดความสงสาร นางสีดาเลยออกเดินทางไปอาศัยอยู่ที่อาศรมของฤๅษี พร้อมกับเลี้ยงดูลูกน้อยเพียงลำพัง (ซึ่งภายหลังพระรามก็ได้รู้ความจริงและกลับมารับนางพร้อมลูกไปอยู่ด้วย)
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวส่วนหนึ่งในรามเกียรติ์ของไทย หญิงงามผู้เลื่องลือนามสีดา ลูกสาวผู้ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่ลืมตาดูโลก หญิงผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรี หญิงผู้ต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฐานะเมียผู้ซื่อสัตย์ และหญิงผู้เป็นแม่ที่ต้องโอบกอดและเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยตนเอง
ผีเสื้อสมุทร – หญิงที่สามีและลูกน้อยไม่ต้องการ
ผีเสื้อสมุทรหรือผีเสื้อน้ำ อสุรีสูงใหญ่ผู้บังเอิญได้ยินเสียงปี่ของพระอภัยมณีจนต้องตามไปหาที่มา ก่อนจะหลงรักเจ้าของเสียงปี่อันเพราะจับใจนั้น จนลักพาตัวพระอภัยมณีกลับไปไว้ในถ้ำของตนและแปลงกายเป็นหญิงงาม พระอภัยมณีรู้เต็มอกว่านางคือยักษ์ แต่ก็หาทางหนีทีไร่ไม่ได้ จึงทำข้อตกลงว่าตนเองจะยอมเป็นสามีของนาง เพื่อแลกกับการที่นางจะไม่ทำร้ายตนเอง จนท้ายที่สุดก็ได้ให้กำเนิดสินสมุทรออกมา
ทว่าในวันหนึ่งเมื่อสินมุทรรู้ความจริงจากปากของคนเป็นพ่อ พระอภัยมณีจึงได้หนีจากถ้ำพร้อมกับความช่วยเหลือของลูกและครอบครัวนางเงือก ทว่านางผีเสื้อสมุทรกลับมายังถ้ำก็รู้ว่าพระอภัยมณีหนีตนไปแล้ว จึงรีบออกตามหาด้วยทั้งรักทั้งแค้น แต่ก็ไม่สามารถเข้าใกล้พระอภัยมณีและสินสมุทรได้ เพราะความช่วยเหลือของฤๅษีบนเกาะแก้วพิสดาร นางเลยทั้งฟูมฟาย ทั้งโกรธแค้น ในขณะเดียวกันก็แสนรักพระอภัยมณีอยู่เต็มอก และภายหลังก็จบชีวิตลงด้วยเสียงปี่ของพระอภัยมณี
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวโดยย่อของผีเสื้อสมุทร จากวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี ยักษีร่างใหญ่ผู้ตกหลุมรักชายรูปงามจน ‘ลักพาตัว’ มาทำสามี กึ่งเฝ้าทะนุทะนอมแต่ก็ ‘กักขัง’ จนมีลูกน้อยด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องสิ้นชีวาลงด้วยน้ำมือของคนที่รักสุดหัวใจ เพราะสามีและลูกน้อยไม่ได้รักเมียและแม่ตนนี้เลย…
กากี – เมื่อโลกประณามหญิงผู้นี้ว่าชั่วช้า
หญิงงามนาม ‘กากี’ มเหสีของท้าวบรมพรหมทัต ผู้มีกลิ่นกายหอมขนาดว่าถ้าชายใดได้สัมผัส กลิ่นหอมนี้จะติดตัวชายผู้นั้นไปถึง 7 วันเลยทีเดียว ทว่าวันหนึ่งนางได้พบกับพญาครุฑ คู่หูเล่นสกาของท้าวพรหมทัตที่แปลงร่างเป็นหนุ่มรูปงาม โดยพญาครุฑได้ลักพาตัวกากีไป และแม้กากีจะพยายามเอื้อนเอ่ยถ้อยคำต่างๆ นานา แต่ในที่สุดนางก็ตกเป็นของพญาครุฑในที่สุด ต่อมาคนสนิทของท้าวพรหมทัตอย่างคนธรรพ์ได้ขออาสาไปตามหานางกากีกลับคืน เมื่อได้พบหน้าคนธรรพ์นางกากีก็รู้สึกละอายกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ตกเป็นของคนธรรพ์ด้วยอีกผู้หนึ่ง
หลังจากนั้นคนธรรพ์จึงกลับมาทูลท้าวพรหมทัตว่ากากีมีใจให้พญาครุฑแล้ว ทำให้ท้าวพรหมทัตต้องการตัวกากีกลับมาเพื่อลงโทษ ทว่าภายหลังก็มีเหตุให้พญาครุฑรู้ว่ากากีได้ลักลอบเป็นชู้กับคนธรรพ์ จึงด่ากราดพร้อมกับนำตัวนางมาคืนท้าวพรหมทัตที่สั่งให้นำตัวกากีปลอยแพ ทว่านางก็ถูกช่วยเหลือและตกเป็นภรรยาของพ่อค้าสำเภาอีกคน แต่ต่อมานางก็ถูกกลุ่มโจรลักพาตัวไปและกลายเป็นเหตุให้เกิดการฆ่าฟันกันขึ้นเพื่อแย่งชิงกากี กากีจึงอาศัยจังหวะนั้นหนี และกลายเป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ภายใต้การโกหกถึงปูมหลังของตน เรื่องยังไม่จบเท่านี้ เพราะภายหลังมีการแย่งชิงกากีขึ้น ทำให้นางต้องกลับไปเป็นของคนธรรพ์ที่ตอนนี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากท้าวพรหมทัตตายไปแล้วอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องกากี ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ถูกต่อเติมโดยนายโชติ มณีรัตน์จนจบเรื่อง หญิงรูปงามกายหอมที่เลื่องลือจนจำต้องตกเป็นของชายมากหน้าหลายตา เพราะความไร้สุ้มเสียงและสิทธิ์ที่เธอจะเลือกได้เอง และแม้เรื่องราวส่วนหนึ่งจะเต็มไปด้วยตัณหาจากเหล่าชายทั้งหลาย แต่ทำไมตอนจบกลับกลายเป็นว่าเธอคือหญิงชั่ว ผู้ถูกตราหน้าว่ามักมากในกามแต่เพียงผู้เดียวกันนะ?
อ้างอิงจาก
kingchulalongkorn.car.chula.ac.th
จุฑารัตน์, นางในวรรณคดี (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์, 2561).