เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันหลายรุ่นหรือหลายเจเนอเรชั่น มากขนาดนี้ เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มาแล้ว อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นปีละ 3 เดือน เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน อายุขัยเฉลี่ยของคนในบางประเทศจึงสูงกว่าเดิมอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ผู้หญิงสวีเดนเคยมีอายุขัยเฉลี่ย 45 ปี ในศตวรรษที่ 19 ตอนนี้ตัวเลขพุ่งไปเป็น 83 ปี เป็นต้น
การอยู่ ‘ร่วมรุ่น’ กันแบบนี้ ทำให้เกิด ‘การปะทะ’ กันระหว่างคนหลากรุ่นในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ช่วงก่อนการเลือกตั้งในไทย เราจะเห็นผู้ใหญ่บางคนเหยียดเด็กประมาณว่า “เด็กรุ่นใหม่มันจะไปรู้อาไร้ ดีแต่เห่อเลือกตั้ง แต่เลือกเป็นแต่หน้าตา รู้เรื่องนโยบายหรือเปล่าก็ไม่รู้” หรือ “ที่นอนมันยังไม่เก็บเลย จะไปรู้เรื่องประชาธิปไตยอะไร”
นั่นทำให้เด็กตอบโต้กลับไปประมาณว่า น่าจะเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่ชอบส่งต่อ ‘ข่าวปลอม’ ในไลน์ต่างหาก ที่ ‘จะไปรู้อะไร’ ในโลกยุคใหม่
เขาบอกว่า ถ้าแบ่งแบบอเมริกัน ตอนนี้ในโลกมีคนอยู่อย่างน้อยที่สุดก็ 6 รุ่น นั่นคือรุ่น GI (Greatest generation) ซึ่งเป็นรุ่นที่ตกทุกข์ได้ยากที่สุดแล้วละมั้งครับในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคใหม่ เพราะต้องเผชิญหน้ากับ The Great Depression หรือเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และสงครามโลกตั้งสองครั้ง คนรุ่นนี้เกิดในราวปี 1901-1926 ถัดมาคือคนรุ่นที่เรียกว่า Silent Generation ซึ่งเกิดในช่วงปี 1927-1945 คนในรุ่นนี้มีอาทิ คลินต์ อีสต์วูด, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์, แอนดี วอร์ฮอล หรือจอห์น เลนนอน (ซึ่งไม่เห็น ‘เงียบ’ เลยนะครับ แต่ที่ได้ชื่อว่า Silent generation ก็เพราะเป็นคนรุ่นที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าค่อนข้างลำบาก จึงมีลูกกันน้อย
รุ่นถัดมาก็คือรุ่นที่เราคุ้นเคยกันเป็นอันดี ได้แก่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby boomers, เกิดราวๆ 1946-1964) ตามมาด้วยเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X, เกิดราวๆ 1965-1980) แล้วก็ตามมาด้วยคนเจนวายหรือมิลเลนเนียลส์ (Generation Y, เกิดราวๆ 1981-2000) ถัดมาก็เป็นเจนแซดหรือเจนซี (Generation Z) ที่เกิดในปลายๆ ยุค 90s จนถึงราวปี 2010
นอกจากนี้ ยังมีเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2010 อีกนะครับ มาร์ก แม็กครินเดิล (Mark McCrindle) นักประชากรศาสตร์ชาวออสเตรเลียบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ เรียกว่า Generation Alpha ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 ไปจนกระทั่งถึงราวปี 2025 ในอนาคต
ที่จู่ๆ โลกมีคนถึง 6 รุ่น มาอยู่ด้วยกันนั้น เป็นเพราะมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก เพราะมนุษย์ในยุคนี้ผ่านสงครามโลกสองครั้ง ผ่านการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ที่ทำให้คนตายหลายล้านคน ผ่านการระบาดของโรคเอดส์ แต่ประชากรก็ยังเพิ่มถึงเจ็ดเท่า ซึ่งน่าจะทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลงเนื่องจากแย่งชิงทรัพยากรและมีความเป็นอยู่ที่หนาแน่นมากขึ้น
แต่ไม่เลย—มนุษย์เอาชนะสิ่งเหล่านี้มาได้ โดยมีอายุขัยเฉลี่ยของเราเป็นหลักฐานแห่งชัยชนะที่ว่านั้น
ทุกวันนี้ ถ้าใครยังมีชีวิตอยู่ละก็ คาดหมายได้เลยว่าแต่ละคนจะอยู่ไปได้อีกยาวนานทีเดียว เพราะคาดการณ์กันว่า อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และอย่างที่บอกว่า ถ้าแต่ละปี อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้นสามเดือน (อย่าลืมว่าหมายถึง Life expectancy at birth หรืออายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดนะครับ) ก็แปลว่าเมื่อถึงสิ้นศตวรรษนี้ มนุษย์อาจจะมีอายุขัยเฉลี่ยถึง 100 ปี กันเลยทีเดียว
คำถามก็คือ เมื่อคนอยู่ ‘ร่วมรุ่น’ กันมากมายหลายรุ่นขนาดนี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?
ในสังคมอเมริกัน มีการตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ไว้หลายอย่างนะครับ อย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสีผิว เพราะเขาบอกว่า ตัวเลขของเด็กที่เกิดมาใน Generation Alpha นั้น เด็กที่เป็นเด็กผิวขาวมีน้อยกว่าเด็กที่เป็นกลุ่ม Minorities (เช่น คนผิวสี คนเอเชียนอเมริกัน คนฮิสแปนิก ฯลฯ) พอสมควร
เพราะฉะนั้น ในอนาคต สังคมอเมริกันจะไม่ใช่สังคมที่ีมีคนผิวขาวมากที่สุดอีกต่อไป แต่จะเป็นสังคมที่มีประชากรแบบใหม่เป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ กลุ่มต่างๆ มากถึงราว 56% ของทั้งประเทศ (ในราวปี 2060) เทียบกับปัจจุบันที่มีอยู่ราว 38%
การที่มี ‘ชนกลุ่มน้อย’ กลุ่มต่างๆ หลากหลายมากขนาดนี้บอกอะไรเรา?
แน่นอนครับ คำตอบก็คือ—คนรุ่นใหม่ๆ (นับตั้งแต่เจนวายเป็นต้นไป) จะคุ้นเคยกับ ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ กันมากขึ้น เป็นความคุ้นเคยกับความแตกต่างหลากหลายที่ลึกลงไปถึงสำนึกและการใช้ชีวิตประจำวันเลยนะครับ ไม่เหมือนคนเจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ (หรือก่อนหน้านั้น) ที่อาจพูดเรื่องนี้แต่ไม่ได้มี ‘สำนึก’ หรือเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เนื่องจากคนรุ่นก่อนเองไม่ได้มีความหลากหลายอยู่ใน ‘รุ่น’ ของตัวเองมากพอที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างถึงแก่น
ในหนังสือ Diversity Explosion : How New Racial Demographics are Remaking America ของ วิลเลียม เฟรย์ บอกไว้ว่า ในอนาคต สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือการ ‘ปะทะ’ กันของวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่คราวนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมของ ‘กลุ่มชนเผ่า’ อีกแล้วนะครับ ทว่าเป็นการปะทะกันของวัฒนธรรมของเจเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน
เขาบอกว่า ในโลกที่คนหลากรุ่นมาอยู่รวมกันนั้น มันจะเกิด ‘ช่องว่างทางวัฒนธรรม’ (ซึ่งไม่ใช่แค่ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ เท่านั้นนะครับ) ขึ้นมา และจะกินลึกไปถึงระดับนโยบายของรัฐเลยทีเดียว
ในไทย เราจะเห็นได้เลยนะครับว่าข้อสังเกตของวิลเลียม เฟรย์ เริ่มเป็นจริงแล้ว เพราะมี ‘การปะทะกัน’ ทางความคิด (และอาจเลยไปสู่การกระทำได้ด้วย) ในเรื่องการ ‘เลือก’ พรรคการเมืองของคนแต่ละรุ่น
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะตอนนี้สังคมไทยมีปัญหาอย่างหนึ่ง เป็นปัญหาที่คนสูงวัยอาจไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่คนรุ่นใหม่เป็นว่าเป็นปัญหาแน่ๆ นั่นคือสังคมไทยตกอยู่ใต้ ‘การครอบงำ’ ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ผู้นำอาวุโส’ (ageing leadership) โดยเฉพาะผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ อย่างที่เราเห็นได้ชัดเลยว่า—ก็เป็น ‘คนแก่ๆ’ ทั้งนั้นนั่นแหละที่ร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ ‘ตัดสินใจ’ เรื่องใหญ่ต่างๆ ในบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่จะเกี่ยวพันไปถึงอนาคนในอีก 20 ปีข้างหน้า อย่างยุทธศาสตร์ชาติที่ออกแบบมาเพื่อ ‘บังคับ’ ให้คนเดินไปตาม ‘กรอบกรง’ แบบเดียวกันทั้งประเทศ
แล้วคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับ ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ จะอยากได้ ‘กรอบกรง’ พวกนั้นหรือ
บทความของ เกร็ก อีสเตอร์บรูก (Gregg Easterbrook) ใน The Atlantic บอกไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง (เพราะมันคล้ายกับสังคมไทยมาก) ว่า เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่มีอายุมาก แต่มาหาเสียงกับคนอายุน้อย จึงมักหาเสียงว่าตัวเองจะ ‘ปฏิรูป’ สิ่งต่างๆ (เช่นกฎหมายทางการเงิน ฯลฯ) แต่พอทำจริงแล้ว มักไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายใดๆ ขึ้นมา ซึ่งในสังคมไทย เราคงเห็นอยู่ว่า คนที่ท่องคาถา ‘ปฏิรูป’ มาตั้งแต่ก่อนหน้ารัฐประหาร เมื่อมาได้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองแล้ว ได้ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ปฏิรูป’ มากน้อยแค่ไหน
ในสหรัฐอเมริกา อีสเตอร์บรูกยังบอกด้วยว่า สภาคองเกรส (ไม่ว่าจะสภาสูงหรือสภาล่าง) กำลังกลายเป็นสภาที่ ‘แก่’ ที่สุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาเคยมีมา เพราะตอนนี้ อายุเฉลี่ยของวุฒิสมาชิกคือ 62 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของ ส.ส. คือ 57 ปี ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นนี่เอง
การที่คนสูงวัยไปมีที่นั่งแห่งอำนาจนั้น สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดก็คือการรักษาสถานะ (Status Quo) ของตัวเอง (หรือคนรุ่นตัวเอง) เอาไว้ ด้วยการออกกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างมากีดกันคนรุ่นอื่น เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจนานที่สุด จึงเป็นการ ‘ฟรีซ’ ความคิดสดใหม่ทั้งหลาย
คำถามก็คือ การที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือ Silent generation มีอำนาจในการกำหนดชีวิตคนรุ่นหลังๆ ที่ ‘แตกต่าง’ ไปจากตัวเองมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น จะสร้างความตึงเครียดระหว่างรุ่นขึ้นมากแค่ไหน
มีการสำรวจโดย Pew Research พบว่า คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และ Silent generation นั้น เป็นรุ่นที่ไม่เปิดรับความแตกต่างหลากหลายมากพอ อาทิเช่น คนกลุ่มนี้จำนวนมากไม่เห็นว่าการที่คนลาตินหรือคนเอเชียเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือมีการแต่งงานข้ามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี
ด้วยเหตุนี้ การ ‘ปะทะ’ กันครั้งใหม่ของโลก จึงอาจไม่ใช่การปะทะกันระหว่างซ้ายกับขวา หรืออนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม มากเท่ากับการปะทะกันระหว่าง ‘คนต่างรุ่น’ ก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะโครงสร้างสังคมแบบที่เป็นมาตลอด เอื้อให้คน ‘รุ่นใหญ่’ ครองอำนาจเพื่อมากำหนดกะเกณฑ์ชีวิตของคนรุ่นใหม่ แต่ปัญหาก็คือ—โลกได้เปลี่ยนไปไกลมากแล้ว โลกซับซ้อนขึ้น หลากหลายขึ้น กระทั่งกลายเป็นโลกที่คนรุ่นก่อนที่ยังคร่ำครึอยู่กับอำนาจแบบเก่า, อาจไม่มีวันเข้าใจได้ถ่องแท้ก็ได้
การที่ผู้ใหญ่ค่อนแคะเด็กๆ ประมาณว่า—เก็บที่นอนยังไม่เป็น, เลือกนักการเมืองที่หน้าตาเพราะไม่รู้จักศึกษานโยบาย และอื่นๆ อีกมากมาย อันเป็นมุมมองจากโลกเก่า จึงยิ่งเหมือนการสุมไฟให้กับความขัดแย้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ที่เห็นเด็กรุ่นใหม่เอาแต่ ‘ก้มหน้า’ มองดูจอมือถือนั้น บ่อยครั้งพวกเขาไม่ได้ทำแค่ส่งข้อความคุยกับเพื่อนนะครับ แต่หลายคนอ่านหนังสือ ฟังพ็อดแคสต์ แสวงหาความรู้ หรืออาจกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ตัวเองสนใจอยู่ก็ได้
เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ต่างหากเล่า—ที่อาจรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์น้อยกว่าเด็ก!
ที่จริงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ตอนนี้ มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ ‘ดีที่สุด’ เท่าที่ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเคยมีมา นั่นทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ที่จริง คำว่า ‘อายุขัย’ นั้น ถ้าจะพูดให้ตรงเป้า ก็ต้องบอกว่าคือ Life expectancy at birth คือเมื่อเกิดมาแล้วสามารถ ‘คาดหมาย’ ได้ว่าจะมีอายุขัยประมาณเท่าไหร่
จากหลักฐานและการคำนวณต่างๆ พบว่าแทบไม่มียุคไหนเลยที่มนุษย์จะมีอายุขัยยืนยาวมากนัก มนุษย์ยุคบรอนซ์หรือยุคเหล็กนั้น อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 26 ปีเท่านั้น หรือขยับมายุคกลาง อายุขัยเฉลี่ยก็อยู่ที่ราวๆ 30 กว่าปี แม้กระทั่งเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ก็ยังต่ำมาก เช่นในปี 1900 มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย 31 ปี แล้วจึงขยับขึ้นมาเป็น 48 ปี ในปี 1950 แต่พอถึงปี 2010 ตัวเลขนี้ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 67.2 ปี
พูดแบบนี้เหมือนว่าสังคมสมัยก่อนโน้นไม่มีผู้อาวุโสหรือคนแก่เอาเสียเลย เพราะชิงตายกันไปตั้งแต่อายุสามสิบกว่าปีกันหมด แต่ถ้าดูในรายละเอียด เราจะพบว่ามีความซับซ้อนกว่านั้นนะครับ เช่น ถ้าเป็นยุคกรีกหรือโรมัน แม้คนจะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 20-30 ปี แต่ถ้าสามารถอยู่ได้จนพ้น 10 ขวบไปแล้ว อายุขัยเฉลี่ยของคนที่อายุเกิน 10 ขวบ จะเพิ่มขึ้นไปได้อีกถึงราวเกือบสี่สิบปี (เนื่องจากอัตราการตายหลังคลอดหรือตายตั้งแต่เด็กนั้นสูงมากเพราะการแพทย์ไม่ดี) เพราะฉะนั้น อายุเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้จึงอยู่ที่ราว 47.5 ปี ในอังกฤษก็คล้ายๆ กัน ในหมู่ขุนนางอังกฤษนั้น แม้อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30 ปี แต่ถ้าอยู่รอดได้จนอายุ 21 ปี ก็จะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงทีเดียว คือตั้งแต่ 64-71 ปี (โดยยกเว้นช่วงศตวรรษที่ 12 ซึ่งมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 45 ปี เพราะมีโรคระบาดหนัก)
เพราะฉะนั้น อายุขัยเฉลี่ยจึงไม่ได้แปลว่าคนทุกคนตายตอนอายุน้อยๆ กันหมดนะครับ คือมีผู้อาวุโสอยู่ด้วย แต่ผู้อาวุโสในสมัยก่อนไม่ได้มีจำนวนมากจนสามารถชี้เป็นชี้ตายให้สังคมได้ คนสมัยก่อนอายุแค่สามสิบกว่าปีก็ถือว่าเป็นผู้นำสังคมกันแล้ว ผู้อาวุโสจะ ‘ถอย’ ออกไปจากการควบคุมสังคมเพราะล้าแรง โดยแต่ละชนเผ่าแต่ละชาติพันธุ์มีวิธีปฏิบัติต่อผู้อาวุโสต่างกันไป มีตั้งแต่ยกย่องบูชาในประสบการณ์ กระทั่งถึงโหดร้ายขนาดเอาไปฆ่าทิ้งเพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรของสังคมนั้นๆ ก็มี
เมื่อโลกมีผู้อาวุโสจำนวนมากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ก็ควรยิ่งที่ผู้อาวุโสจะใช้ ‘โอกาส’ ที่ถือว่าเป็น ‘ครั้งแรก’ นี้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเปิดกว้างโอบรับความคิดที่แตกต่าง เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้ากับคนรุ่นใหม่ไปสู่อนาคต
และในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ อาบน้ำร้อนมาก่อน เห็นโลก (ออฟไลน์) มามากกว่า ก็ควรมีสติมากกว่าเด็ก พร้อมกับต้องยอมรับด้วยว่า คนรุ่นใหม่อาจมีความรู้ใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยรู้มากกว่า จึงอย่าเพิ่งรีบตีกรอบขนาบเด็กด้วยวิธีเก่าๆ ที่ตัวเองคุ้นเคย เพราะในที่สุดก็จะถูกเด็กโต้กลับด้วย ‘ความรู้ใหม่’ ต่างๆ จนเกิดเป็นการปะทะกันระหว่างรุ่นอันรุนแรง และสุดท้ายแล้ว การปะทะกันแบบนี้จะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ใหญ่ที่จมอยู่กับอดีต แต่ไม่น่าจะใช่เรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ที่เปิดกว้างและพร้อมรับความแตกต่างหลากหลายของวันพรุ่งนี้