คำถามที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ ย้ำๆ เดิม ก็คือ – เป็นไปได้ไหม, ที่คนรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งที่ปิดหูปิดตาตัวเองอยู่ในกรงขังของชาตินิยมและอำนาจนิยม อาจไม่ได้รู้จัก ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ ‘หลากหลาย’ มากพอจะนำมาใช้เป็นฐานในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรในปัจจุบัน
โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่อยู่ในอำนาจ
การอยู่ในอำนาจเป็นเรื่องแปลก เพราะมันเป็นทั้งพรและคำสาปแช่ง มนุษย์ไม่สามารถอยู่ในอำนาจในสังคมหนึ่งๆ ได้โดยไม่สมาทานตัวเองกับ ‘เรื่องเล่าหลัก’ (grand narrative) ของสังคมนั้นๆ ยิ่งเป็นสังคมอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจยิ่งต้องสยบยอมต่อเรื่องเล่าเดิมๆ ที่ถูกขังอยู่ในประวัติศาสตร์จารีตแบบเก่าที่ถูกปลูกฝังบ่มเพาะมา จนเรื่องเล่าพวกนั้นฝังตัวลงไปภายในกลายเป็นน้ำเนื้อตัวตน และอาจทำให้ความสามารถในการมองเห็นหรือเปิดใจยอมรับ ‘เรื่องเล่า’ ใหม่ๆ อื่นๆ มีจำกัด
ย้อนแย้งไปกว่านั้น ก็คืออาจพยายามปลูกฝังความสยบยอม (passive) เหล่านั้นอย่างแข็งขัน (active) ด้วยซ้ำ
พร้อมกับคำถามที่ว่ามาข้างต้น ก็เกิดคำถามตามมาในอีกด้านหนึ่งด้วยว่า – เป็นไปได้ไหม, โลกใบใหม่ที่เทคโนโลยีทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนได้รวดเร็วและหลากหลาย จะทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง สามารถ ‘เข้าถึง’ สิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ได้หลากหลายกว่าคนรุ่นเก่าบางคน
บางคนอาจจะบอกว่า ก็แน่ละสิ, คนรุ่นใหม่ย่อมเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้มากกว่า เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลหรือโลกออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า จึงย่อม ‘เห็น’ ประวัติศาสตร์ที่หลากหลายได้มากกว่า
แต่ที่จริงแล้ว การ ‘เข้าถึง’ ประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เรื่องของเทคโนโลยีภายนอกเท่านั้นนะครับ มันยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ‘ภายใน’ ตัวเราด้วย นั่นก็คือ เรามี mindset ที่สามารถเปิดกว้างยอมรับข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เราเคยรับรู้มามากแค่ไหน
เคยมีการสำรวจของ Pew Research Centre ว่าด้วยเรื่องของคนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า ซึ่งแม้จะเป็นการสำรวจในคนอเมริกัน แต่ก็อาจพอนำมาเทียบเคียงกับสังคมไทยได้อยู่บ้าง การสำรวจที่ว่านี้ พอพูดได้ว่าเป็นการสำรวจเพื่อดูว่าคนแต่ละรุ่นนั้นเห็นว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ (ในแง่มุมต่างๆ) มากน้อยแค่ไหน
เขาพบว่า คนรุ่นบูมเมอร์ส เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีความรับผิดชอบถึง 66% เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่คิดเองเป็น 51% เห็นว่าตัวองเป็นคนที่มีศีลธรรม 46% และเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีเมตตา 47%
แต่ถ้ามาดูคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ Pew Research Centre พบว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีความรับผิดชอบเพียง 24% เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่คิดเองเป็นแค่ 27% เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีศีลธรรม 17% และเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่มีเมตตาเพียง 29%
ยิ่งถ้ามาสำรวจ ‘ความรักชาติ’ (patroticism) ก็จะพบว่าคนรุ่น Silent generation ซึ่งเป็นรุ่นพ่อของบูมเมอร์สนั้น เห็นว่าตัวเองเป็นคนรักชาติ 73% คนรุ่นบูมเมอร์สอยู่ที่ 52% แต่ถ้าเป็นคนรุ่น X จะลดลงมาเหลือ 26% และพอเป็นรุ่นมิลเลนเนียลส์ ก็ยิ่งต่ำไปกว่านั้นอีก คือบอกว่าตัวเองเป็นคนรักชาติหรือชาตินิยม (patriotic) แค่ 12% เท่านั้นเอง
ถ้าตีความข้อมูลกันแบบทื่อๆ ตรงๆ ก็อาจรู้สึกว่า พวกคนรุ่นใหม่นี่น่าจะเป็นคนรุ่นที่มีปัญหา เพราะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ การคิดเองเป็น มีศีลธรรม และมีเมตตาน้อยกว่าคนรุ่นเก่า แถมยังรักชาติน้อยลงเยอะด้วย แต่โปรดอย่าลืมนะครับ ว่านี่คือการ ‘ประเมินตัวเอง’ คือเป็นการสำรวจที่ให้แต่ละคนบอกว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร
เพราะฉะนั้น ถ้ามองในอีกแง่ ข้อมูลแบบนี้ก็อาจแสดงให้เห็นถึง ‘ปัญหา’ ที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างสังคมของคนแต่ละรุ่นได้ เป็นไปได้ไหม ที่คนรุ่นเก่าแถวๆ บูมเมอร์ส ขึ้นไป มักจะประเมินว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ มากกว่าเด็กรุ่นหลัง อย่างน้อยก็คิดว่าตัวเองรับผิดชอบมากกว่า มีศีลธรรม ความเมตตา และความรักชาติมากกว่าเด็กรุ่นหลัง และการประเมินแบบนี้ ก็อาจส่งผลกระทบมาถึงคนรุ่นหลัง ทำให้คนรุ่นถัดๆ มา เกิด ‘ความเครียด’ เป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่แผ่กว้างไปทั้งรุ่นได้
ในอีกด้าน การที่เด็กรุ่นใหม่ประเมินตัวเองว่ามีความรับผิดชอบต่ำ ไม่ได้เป็นคนดิบดีสักเท่าไหร่ รวมทั้งไม่รักชาติด้วยนั้น ก็อาจมีสาเหตุที่ซับซ้อนและแสดงให้เห็นถึงการ ‘โต้กลับ’ ในทางความคิดด้วยเช่นกัน
คริส ซิโดติ (Chris Sidoti) ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เอาไว้ว่า เป็นไปได้อย่างมาก ที่คนรุ่นมิลเลนเนียลส์จะ ‘ถูกกระทำ’ อย่างหนักจากคนรุ่นก่อนหน้า (เขาใช้คำว่า hard done by) จนทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นกลุ่มคนที่ ‘ล้มเหลว’ ในหลายมิติ ซึ่งก็อาจเชื่อมโยงไปถึงปรากฏการณ์โรคซึมเศร้าที่พุ่งสูงขึ้นกับคนรุ่นใหม่ด้วย
คนรุ่นเก่ามักจะบอกคนรุ่นใหม่ว่าให้เชื่อถือในคนรุ่นเก่า เพราะตัวเองเป็นกลุ่มคนที่เคย ‘พบเห็น’ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาจริงๆ เจ็บจริง ฟื้นตัวกลับมาได้จริง และอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วมีผู้วิเคราะห์เอาไว้หลายคนว่า เรื่องนี้อาจกลับข้างกันกับที่เรามักคิดกันทั่วไปก็ได้
โดยทั่วไปแล้ว เรามักเชื่อว่า คนที่เคยผ่านเรื่องราวนั้นๆ มาโดยตรง (คือมี first-hand experience) คือคนกลุ่มเดียวที่พูดได้ว่า ‘รู้’ เรื่องราวเหล่านั้นจริงๆ แต่บ่อยครั้งมาก ที่คนที่ผ่านเหตุการณ์หรืออยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ มาด้วยตัวเอง กลับมองเห็นเหตุการณ์นั้นได้ ‘แคบ’ กว่าคนที่มองจากข้างนอกย้อนกลับไป นั่นเพราะเวลาเราอยู่ในเหตุการณ์หนึ่งๆ เราจะมีมุมมองอันจำกัด เราเห็น ‘โลก’ ได้เฉพาะโลกที่อยู่ตรงหน้าเราเท่านั้น และบางครั้งสิ่งที่เราเห็นก็อาจไม่ใช่แค่ ‘แคบ’ เท่านั้น แต่ยังอาจ ‘ผิด’ ไปถนัดใจก็ได้ นั่นคือเหตุผลที่เวลาพิพากษาตัดสินคดีต่างๆ จึงต้องหา ‘พยาน’ จากหลากหลายมุม เพราะเราไม่อาจเชื่อถือคนเพียงคนเดียวได้ แม้คนคนนั้นจะอยู่ในเหตุการณ์ก็ตาม
ในบทความชื่อ ‘Seeing and Believing: Common Courtroom Myths in Eyewitness Memory’ เล่าไว้ว่า ในปี 1982 เคยมีผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งถูกลักพาตัวไปข่มขืนเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในป่า เมื่อหนีรอดออกมาได้ เธอให้การกับตำรวจว่า คนที่ลากเธอไปข่มขืนเป็นชายผิวดำผมสั้นมีหนวดบางๆ เธอจำได้แน่นอนแม่นยำว่าเป็นใคร เพราะเธอถูกข่มขืนหลายครั้งเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เวลาชี้ตัว เธอก็ชี้ตัวอย่างมั่นอกมั่นใจ และสุดท้ายก็ทำให้ชายผิวดำคนหนึ่งถูกจำคุกนาน 15 ปี
แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ พบว่าหลักฐานทางดีเอ็นเอไม่ตรงกับผู้ต้องหา (ที่ติดคุกไปแล้วเรียบร้อยนานหลายปี) แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงคนนั้นระบุตัวคนผิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะอคติ (เช่นอคติต่อสีผิว) หรือความผิดพลาดอื่นๆ ก็ได้
เมื่อย้อนกลับไปดูคดีอื่นๆ โดยรวม พบว่าที่ผ่านมามีถึง 330 คดี ที่ผู้ประสบเหตุโดยตรง ให้การไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (คือผลการตรวจดีเอ็นเอ) โดยในจำนวนนี้ 72% เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ประสบเหตุชี้ตัวผิดเอง
ที่ยิ่งไปกว่านัั้นอีกก็คือตัวโครงสร้างของสังคมที่เราสังกัดอยู่ เช่น ระบบกฎหมายแบบดั้งเดิม ความเห็นของสาธารณชน รวมไปถึงของตัวผู้ประสบเหตุเอง ต่างก็ ‘เชื่อ’ ว่าสิ่งที่ผู้พบเห็นโดยประสบการณ์ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ ‘น่าเชื่อถือ’ ที่สุด ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะในอดีต ไม่มีเทคโนโลยีที่จะใช้เพื่อแยกแยะความถูกต้อง ไม่มี ‘หลักฐานทางวิทยาศาสตร์’ ที่จะนำมาคัดง้างกับความเห็นของผู้มีประสบการณ์ตรง (ที่อาจจะผิด) ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อตรวจสอบหลักฐานและการให้การต่างๆ เพิ่มขึ้น จะได้ไม่ ‘พิพากษา’ อะไรไปผิดๆ โดยใช้แค่ความเชื่อ ความเห็น หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นเกณฑ์เท่านั้น
ที่จริงแล้ว บทความ Seeing and Believing นี้รวบรวม ‘มายาคติ’ (myth) เกี่ยวกับการพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเองเอาไว้หลากหลายแง่มุมนะครับ มีทั้งโปรและคอน ถ้าได้ลองอ่านกันอย่างละเอียด จะทำให้รู้เท่าทันสิ่งที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ตรง’ ของตัวเราเองและของคนอื่นได้มากขึ้น
เอาเข้าจริง การเห็นโลกด้วยประสบการณ์ตรงหรือเห็นโลกในมุมจำกัดนั้นไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเองนะครับ เพราะในฐานะ ‘มนุษย์’ ที่มีตาสองคู่มีหูสองข้าง ใครๆ ก็เห็นโลกได้เฉพาะที่ตัวเองรับรู้เท่านั้น แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่คือการ ‘ยึดมั่นถือมั่น’ อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรับรู้ ยึดมั่นในประสบการณ์ตรงนั้นๆ และยึดมั่นใน ‘เรื่องเล่า’ ที่เกิดจากการมองเห็นของตัวเอง—ว่านั่นคือสิ่งเดียวที่ถูกต้อง เรื่องเล่าอื่นๆ ผิดหมด
ในระดับที่ใหญ่ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง การยึดมั่นอยู่กับประสบการณ์ในอดีต อาจทำให้เราเลือก ‘ปิดขัง’ ตัวเองอยู่ใน ‘กรง’ ที่คับแคบของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถ ‘เห็น’ ประวัติศาสตร์ได้เพียงแบบเดียว ไม่อาจเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ อื่นๆ เราอาจเป็นเหมือนคนที่ถูกข่มขืนและกล่าวหาคนผิด ทว่ายึดมั่นอยู่กับความเชื่อนั้นอย่างหัวชนฝา ต่อให้มี ‘หลักฐานใหม่’ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโต้แย้ง เราก็ไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมมองให้เห็น ไม่สามารถคิดให้กว้างออกมาจากกรอบเดิมๆ ของเราได้ และบางครั้งก็ถึงกับสาปแช่งหรือเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวคิดใหม่ๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นผีปีศาจไปเลยก็มี
เอาเข้าจริง คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ต่างจากคนรุ่นเก่าเท่าไหร่ เพราะเราต่างก็เป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกัน คนแต่ละรุ่นมี ‘ความยึดมั่นถือมั่น’ ที่แตกต่างกัน โลกมีทั้งคนที่เป็น far right และ far left ที่ต่างก็ยึดมั่นอยู่ในความคิดความเชื่อสุดโต่งคนละชุด ดังนั้น เราจึงไม่สามารถ ‘เหมารวม’ ว่าคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หมดทุกคนได้
แต่สิ่งที่แตกต่างไปแน่ๆ ก็คือยุคสมัย ‘โลกยุคเก่า’ กับ ‘โลกยุคใหม่’ แตกต่างกันตรง ‘ความเปิด’ ของโลก โลกยุคใหม่มีเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนมากมาย หลายหลาก และรวดเร็วกว่าโลกยุคเก่า ดังนั้น เราจึงสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาเปรียบเทียบ ประชันขันแข่ง และตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อเดินหน้าไปหา ‘ความจริง’ ได้
อุปสรรคเดียวที่จะขัดขวางการเดินทางไปสู่ความจริง – ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความจริงของตัวเอง
ในทางการเมืองและการสืบทอดอำนาจทางการเมือง เราจะเห็น ‘แพตเทิร์น’ หรือ ‘รูปแบบ’ การเล่าเรื่องแบบเก่าๆ ที่วนเวียนซ้ำซากกลับมาเรื่อยๆ เพื่อรักษาสถานะ (Status Quo) และอำนาจแบบเดิมๆ เอาไว้
ที่รูปแบบเรื่องเล่าเก่าๆ มันผุดขึ้นมาซ้ำๆ ก็เพราะมันเป็นเรื่องเล่าที่ ‘เคย’ ใช้ได้ผลมาตลอด เนื่องจากการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสมัยก่อนช้า คนจึงไม่สามารถ ‘ตรวจสอบ’ ข้อมูลข่าวสารได้ว่าอะไรจริงหรือปลอม รัฐจึงมักบอกให้ประชาชน ‘เชื่อ’ เฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทั้งที่บ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่ล่าช้า และบางครั้งก็อาจเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดได้ทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ
การบอกให้ประชาชนฟังแต่ข้อมูลจากรัฐ เชื่อฟังแต่รัฐ (รวมไปถึงการบอกให้หน่วยงานราชการเปิดเพลงนั้นเพลงนี้เพื่อ ‘ปลุกใจคน’ และวิธีคิดอื่นๆ ในแนวทางเดียวกันนี้) โดยเนื้อแท้แล้วแสดงให้เห็นถึง ‘ความเชื่อ’ ว่าโลกที่ตัวเองอยู่ยังเป็นแบบเก่าอยู่ เป็น ‘ความเชื่อ’ ที่ว่า โลกแบบเดิมๆ ยังคงมีพลานุภาพ ยังเชื่อว่าโลกนี้เป็นโลกที่ข้อมูลข่าวสารไหลช้า เป็นโลกที่การตรวจสอบทำไม่ได้เพราะ ‘คนอื่น’ ไม่มีข้อมูลมากเท่ารัฐ
แต่เมื่อเริ่มเห็นแล้วว่า ความเชื่อแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ การ ‘สั่ง’ หรือการวางหมากวางอุบายต่างๆ จากอำนาจเดิมๆ เริ่มไม่ได้ผล เพราะข้อมูลในโลกใบใหม่ไหลเร็วขึ้น การตรวจสอบเข้มข้นหลากหลายมากขึ้น ก็จะเกิดความสั่นคลอนภายใน จนต้องยกระดับแพตเทิร์นการรักษาอำนาจแบบเดิมๆ อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คือการ ‘สร้างเงื่อนไข’ ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม เช่นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจที่มีอยู่กล่าวหาป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพื่อกระตุ้นให้คนไม่เหลือทางเลือก จะได้ออกมาเรียกร้องบนท้องถนน จากนั้นฝ่ายที่มีอำนาจก็จะขนานนามการออกมาบนท้องถนนว่า ‘ความไม่สงบเรียบร้อย’ แล้วสุดท้ายก็เป็นไปได้ที่จะเกิดความพยายามเข้ามา ‘รักษาความสงบเรียบร้อย’ ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันมาตลอดประวัติศาสตร์
แต่คำถามก็คือ – ในโลกยุคใหม่ ในเกมอำนาจแบบใหม่ที่การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารกลายเป็นอำนาจใหม่ทายท้าอำนาจแบบเก่า, วิธีการแบบเดิมๆ พวกนี้จะยังใช้ได้อยู่อีกหรือ
เราจะเห็นทวิตเตอร์ของคนรุ่นใหม่เตือนกันว่า ‘อย่าออกไปชุมนุม’ หรือ ‘อย่าไปเล่นเกมตามเขา’ มากมายเต็มไปหมด หลายคนอาจจะบอกว่า การนั่งอยู่หน้าจอไม่ได้ช่วยอะไร แต่กรณีของราฮาฟกับฮาคีม ที่ถูกกดดันจากโลกออนไลน์ให้รัฐไทยส่งตัวไปยังประเทศที่ปลอดภัย – น่าจะเป็นตัวอย่างการปะทะกันของเกมอำนาจแบบเก่ากับเกมอำนาจแบบใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า เกมอำนาจแบบไหนที่ ‘ใหญ่’ กว่ากัน
ที่จริงแล้ว ความเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ นั้นไม่ได้เกี่ยวกับ ‘วัย’ มากเท่าสภาวะทางจิตและระบบศีลธรรมที่ตัวเองยึดถือนะครับ ดังนั้น เกมอำนาจเหล่านี้จึงไม่ได้เกิดจากอะไรอื่น นอกจาก ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความยึดมั่นถือมั่น’ ของคนที่แม้จะอยู่ในโลกทางกายภาพใบเดียวกัน แต่กลับอาศัยอยู่ในจักรวาลทางความคิดคนละจักรวาล
และจักรวาลทั้งสองก็กำลังปะทะกัน
ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างไรเสียเราก็ต้องถูกดูดเข้าไปสู่เกมอำนาจทั้งเล็กใหญ่ต่างๆ อยู่แล้ว
เรื่องสำคัญก็คือ – เรามองเห็นไหม, ว่าเราอยู่ในเกมอำนาจแบบไหน และเราเป็นใครในเกมอำนาจนั้น
ผู้เล่น – หรือผู้ถูกเล่น