“ชีวิตคือการทดลองที่ไม่มีตัวแปรควบคุมและทำซํ้าไม่ได้” – Tim Kreider
(Life is an unrepeatable experiment with no control.)
ตลกดีที่มีตัวตนของเราเองที่ลืมไปแล้วแต่แอพพลิเคชั่นยังจดจำได้แม่นยำ และนำพากลับมายํ้าเตือนเราได้ว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหนในช่วงเวลาไม่กี่ปี ตั้งแต่ที่ Facebook มีฟังก์ชั่น On This Day เทคโนโลยีก็ช่วยพาเราย้อนอดีตรายวันของตัวเองในช่วง 1-7 ปีที่ผ่านมา
สำหรับผู้เขียนที่ชอบโพสต์บ่อย ทำให้มีข้อความเก่าๆ ให้กลับไปดูทุกวัน เป็นอะไรที่บันเทิงมาก มีหลายข้อความที่เห็นแล้วอยากลบทิ้ง เพราะน่าอับอาย ชวนสงสัยว่าตอนนั้น ‘คิดอะไรอยู่?’ นอกจากนี้ยังมีร่องรอยดิจิทัลของคนที่เคยสนิท คอมเมนต์หยอกล้อกันในวันวาน ในวันนี้เขาห่างหายกลายเป็นคนแปลกหน้าไปก็มาก แล้วตัวเราในวัยรุ่นจะคิดอย่างไรกับสิ่งที่เราเป็นในวันนี้ จะกด ‘Love’ กด ‘Angry’ หรือกด ‘Sad’
โตขึ้นอยากเป็นอะไร?
คำถามคลีเช่ที่ผู้ใหญ่ชอบถามเด็กๆ อาจเพราะไม่รู้จะคุยอะไรดีที่
เด็กๆ แค่ตอบตามสิ่งที่พวกเขาพบเห็นหรือรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นครู กระเป๋ารถเมล์ นักบอล พระ เจ้าหญิง หรือนักบินอวกาศ ความบันเทิงของผู้ใหญ่คือการนำคำตอบซื่อๆ ของเรามาขำขัน ช่างน่าเอ็นดูในความไร้เดียงสาอ่อนต่อโลก
คำถาม ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ ได้ดำเนินมาหลอกหลอนตลอดวัยเด็กและวัยรุ่นจนจบการศึกษาเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น คาดคั้นให้เราต้องเลือกอนาคตในโลกที่เรายังไม่แน่ใจว่าทำงานอย่างไร ราวกับโลกรอไม่ไหวให้เราเติบโตและกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ระบุตัวตนได้ชัดเจน
บางครั้งก็คิดว่าคงจะดีนะ หากเราสามารถโคลนนิงสร้างสำเนาตัวเองเป็นจำนวนหลายคนเท่าที่ต้องการ ทดลองโดยมอบหมายให้แต่ละร่างกายแยกย้ายไปใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ลองทำดูทุกอาชีพเพื่อหาว่าอะไรที่เหมาะสม แต่ละคนจะมีบุคลิกภาพและนิสัยต่างกันมากไหม ตัวเราจะเป็นเราอยู่ไหม ‘เรา’ ที่เลือกอาชีพหมอจะแตกต่างจาก ‘เรา’ ที่เลือกอาชีพนักออกแบบมากแค่ไหน?
ตัวตนอันเสมอต้นเสมอปลายอาจไม่มีจริง
ในงานวิจัยแสนยาวนานถึง 63 ปี เพื่อศึกษานิสัยใจคอบุคลิกภาพ (personalities) ของคนตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นอายุ 14 ปี จำนวน 1,208 คน ในสกอตแลนด์ โดยได้เก็บข้อมูลบุคลิกภาพนิสัยใจคอด้านต่างๆ ผ่านการทำแบบทดสอบและให้ครูประจำชั้นประเมินผล เมื่อเวลาผ่านไป 63 ปี วัยรุ่นเหล่านี้มีอายุ 77 ปี จำนวนหนึ่งเสียชีวิต และย้ายถิ่นฐาน หรือติดต่อไม่ได้ ทีมวิจัยได้พยายามตามหาพวกเขาเท่าที่ทำได้ จำนวน 174 คนยินยอมตกลงทำแบบทดสอบบุคลิกภาพอีกครั้ง (ยกเว้นคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม) เพื่อเปรียบเทียบอุปนิสัยสมัยวัยรุ่นกับวัยชรา
ผลที่พบคือตัวตนและนิสัยใจคอนั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในทุกด้านจนไม่เหลือเค้าเดิมในระยะเวลา 63 ปี
สรุปก็คือต่อให้ไม่ได้มีโรคสมองเสื่อม เราก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากตัวเราที่คุ้นเคยอยู่ดีในเวลาอันยาวนานของอายุขัยชีวิต ไม่ว่าจะเปลี่ยนกระทันหรือว่าค่อยๆ เปลี่ยนไป อาจทำให้รู้สึกหวั่นกลัวไม่มั่นใจและช่วยปลอบใจได้ในเวลาเดียวกัน ‘ความเป็นเรา’ อาจไม่ได้มั่นคงถาวรอย่างที่เราคิด
ผลการวิจัยนี้อาจทำให้เราปล่อยวาง ให้อภัยดารา นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน เพื่อน คนรัก ญาติมิตร ฯลฯ ใครก็ตามที่เราติดตามเฝ้าดูเขาเปลี่ยนแปลงไป เราอาจตัดพ้อว่า ทำไมเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ทำไมตัวตนของเขาถึงไม่คงทนถาวรมั่นคง แต่ในอีกมุมหนึ่งต่อให้เขาไม่เปลี่ยน ก็อาจเป็นตัวเราเองที่เปลี่ยนไป ดารานักร้องที่ตายไปตั้งแต่วัยหนุ่มสาวถูกแช่แข็งอยู่ในเวอร์ชั่นที่เราชอบหรือจดจำได้ตลอดไป ไม่ทันได้เปลี่ยนไปตามอายุขัยให้สับสนสงสัยในตัวตนของเขา
ในวัยรุ่นก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ หลังหมดพายุฮอร์โมนส์แสนแปรปรวน ดูเป็นวัยที่มั่นคงปลอดภัย เหมือนว่าเราจะคงที่และมีนิสัยตัวตนถาวรชัดเจน แต่จากการศึกษาพบว่า สมองของเรายังปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปหลังวัยผู้ใหญ่ไปจนวัยชรา กล่าวได้ว่า สมองและนิสัยใจคอของเราจะเคลื่อนไหวไม่อยู่นิ่งไปจนจบชีวิต
หากเราสามารถพาตัวเองในช่วงอายุต่างๆ กันตั้งแต่เด็กจนโตมานั่งประชุมในห้องเดียวกัน และร่วมรีวิวทุกการตัดสินใจในชีวิต ทุกคนอาจจะทะเลาะ ถกเถียง มีความเห็นต่างกัน แม้ในใจเราอาจรู้สึกว่า ฉันก็เป็นฉันคนเดิมในร่างเดิมที่แค่โตขึ้นตามเวลา
ตัวตนเราถูกเก็บอยู่ตรงไหน
‘ตัวตน’ (Identity) ความเป็นเรา คืออะไร?
ในร่างกายของเรา จิตวิญญาณหรือความเป็นเราบรรจุอยู่ไว้ตรงไหน?
ในสมัยศตวรรษที่ 17 นักปรัชญา Rene Descartes มีทฤษฎีว่า ร่างกายอันเป็นสสารกับจิตวิญญาณของเราแยกจากกัน (Dualism) เชื่อว่าวิญญาณของเราบรรจุอยู่ที่ต่อม Pineal Gland (Principal Seat of the Soul) คอยรับสารและภาพ ควบคุมร่างกายให้เป็นไปตามที่ใจสั่งการ ปัจจุบันประสาทวิทยาได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ศึกษากายวิภาคศาสตร์ของสมองก็ไม่พบส่วนใดในสมองควบคุมกายเอนกประสงค์นี้ และสมองและการสั่งการมีความซับซ้อนกว่าภาพที่แสดงด้านล่างยิ่งนัก ผิดเพี้ยนจากความจริงที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในยุคหลังๆ อย่างยิ่ง
ในประวัติศาสตร์ของชีววิทยา เคยมีทฤษฎียอดนิยมในช่วงศตวรรษที่ 17 มีทฤษฎี Preformationism ที่ว่ามีคนตัวจิ๋วสำเร็จรูปถูกบรรจุอยู่ในเซลล์อสุจิเรียบร้อยก่อนวิ่งเข้าไปเติบโตกลายเป็นทารกในมดลูก ก่อนวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งสำเร็จตั้งแต่อสุจิแต่เกิดจากผสมเอ็มบริโอที่รวมไข่+อสุจิ ถูกแสดงเป็นภาพวาดที่น่ารักมาก เลยเอามาให้ดู (ภาพด้านล่าง) เป็นอีกความเชื่อที่ถูกล้มล้างโดยวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ พวกเราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์จิ๋วบรรจุไว้ในอสุจิอีกต่อไป
เราต่างเป็นเครื่องจักรกลทางชีวภาพที่ซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลงของฮาร์ดแวร์มีผลกับซอฟต์แวร์ Descartes หรือนักปรัชญาในยุคก่อน ไม่ได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ผลต่อบุคลิกจิตใจที่แสดงออกมา การมีเนื้องอกในสมองส่งผลเปลี่ยนพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนได้ เช่น ทำให้กลายเป็นคนรุนแรง David Eagleman นักประสาทวิทยาได้เล่าไว้ในหนังสือ The Brain: The Story of You ว่าคนเป็นโรคพาร์กินสันมีแนวโน้มจะลดความศรัทธาในศาสนา ในขณะที่ยาบางตัวของโรคพาร์กินสันมีผลค้างเคียงทำให้เสี่ยงติดการพนัน ฯลฯ
ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์คุณยายเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ในเช้าวันหนึ่งตอนผู้เขียนอายุ 13 ปี คุณยายออกจากบ้านไปโดยไม่ใส่รองเท้า พูดจาแปลกๆ ไม่รู้เรื่องผิดปกติ พูดคำหยาบทั้งที่ปกติเป็นคนสุภาพอ่อนโยน คนรู้จักพากันบอกว่าต้องผีเข้าแน่ๆ โชคดีที่พาคุณยายไปพบแพทย์ทางสมองไม่ได้ไปหาหมอผี เอ็กซ์เรย์ตรวจพบเส้นเลือดในสมองปริ เมื่อทานยาสมํ่าเสมออาการก็ทุเลาลง แต่ความทรงจำหลายๆ ส่วนไม่เคยกลับมาอีกเลย รวมถึงทักษะการทำอาหารที่อร่อยมากของคุณยายก็หายไปในพริบตา เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เรียนรู้ว่า จิตใจนั้นแยกได้ยากจากสภาพสสารของร่างกาย
ในขณะที่สัตว์อื่นอาจเกิดมามีสัญชาตญาณและทักษะต่างๆ ลูกม้าสามารถเดินได้เองหลังคลอด 1 ชม. แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่เกิดมาแบบไม่สำเร็จรูป มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีวัยทารกและวัยเด็กยาวนานมาก ปรับการรับรู้และทักษะได้ยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อม
นี่คือภาพเซลล์ประสาทที่มีอยู่ในสมองของเรา ซึ่งมีจำนวนถึงแสนล้านเซลล์ (100,000,000,000) เซลล์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เราเกิดจนเข้าวัยผู้ใหญ่และไม่หยุดยั้งในวัยผู้ใหญ่ คอยเชื่อมต่อและเขียนวงจรเชื่อมโยงใหม่ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเราตามประสบการณ์และกิจกรรมที่เราทำ
ในขณะที่เซลล์อื่นๆ ในร่างกายนั้นตายไปและสร้างใหม่ตลอดเวลาตามอายุขัยของเซลล์ เซลล์สมองที่มีจำนวนมหาศาลไม่ได้ถูกสร้างทดแทนเมื่อเซลล์ตายไป แต่เขียนใหม่ไปเรื่อยๆ ความทรงจำเหล่านี้เองที่อาจทำให้เรารับรู้ตัวตนของเราที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ในขณะที่เซลล์ส่วนอื่นๆ อาจผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต
สมองของคนชอบมองไปอนาคตข้างหน้า
มนุษย์รักและถนัดในการมองไปในอนาคตและเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด ความสามารถในการสร้างภาษา สร้างเครื่องมือ การร่วมมือ การมีวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์พิเศษจากสัตว์อื่น แต่มนุษย์มีความสามารถที่จะมองไปในอนาคตพิจารณาถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดหรือจินตนาการในสิ่งที่ดูเหลือเชื่อและไม่เห็นตรงหน้า เช่น วิญญาณ พระเจ้า และความเป็นไปได้ที่ยังมาไม่ถึง
สมองของมนุษย์สะสมอดีตและแก้ไขความทรงจำเพื่อสร้างจำลองอนาคตผ่านอดีตที่เก็บไว้ ความทรงจำกับการคิดถึงอนาคตนั้นเกี่ยวข้องกัน
ในการศึกษาพัฒนาการของเด็กวัย 3-5 ปี หากเด็กๆ ยังไม่สามารถรื้อความทรงจำของตัวเองได้ เด็กๆ ก็จะไม่สามารถนึกถึงอนาคตได้ด้วย Hippocampus คือส่วนที่สร้างความทรงจำกับสมองส่วนที่สร้างความเป็นไปได้ในอนาคต คนไข้ในประวัติศาสตร์ Henry Molaison ถูกตัดส่วน Hippocampus นี้ออกไป ผลที่ได้คือทำให้เขาไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต นอกจากนั้นเขายังไม่สามารถคิดถึงอนาคตได้เลย
มนุษย์สามารถเสียสละในปัจจุบัน ยอมลำบากเหนื่อยยากในวันนี้ เพื่อแลกกับรางวัลของวันพรุ่งนี้หรืออนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือแนวคิดการเสียสละในชาตินี้เพื่อชีวิตหลังความตายในหลายๆ ศาสนา การมองไปในอนาคตและคิดถึงทางออกหลายทางและวางแผนได้ในระยะไกล อาจมีส่วนสำคัญทำให้สปีชีส์ของเราประสบความสำเร็จกว่าสัตว์อื่นๆ
งานวิจัยหนึ่งใน Chicago ศึกษาความคิดของคนจากการให้คนจำนวน 500 คนบันทึกความคิดและความรู้สึกตลอดวันพบว่า คนนึกถึง ‘อนาคต’ บ่อยกว่า ‘อดีต’ ถึง 3 เท่า นอกจากนี้การระลึกอดีตบางส่วนยังเกี่ยวข้องกับการครุ่นคิดเพื่อจำลองความเป็นไปได้ในอนาคต และยังพบว่าระดับความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อคนได้วางแผนและนึกถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลับไม่สามารถนึกถึงอนาคตในแง่บวกได้ และไม่มีจิตใจจะวางแผนเพราะรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคต
แม้ว่าตอนนี้เราจะไม่สามารถจำลองโคลนร่างกายของเราออกมาเป็นหลายๆ คนเพื่อทดลองใช้ชีวิตหลายๆ แบบ แต่สมองของเรามีศักยภาพที่จะนึกถึงอนาคตหลายๆ ทาง ผ่านจำลองเหตุการณ์ในสมองถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในสมอง
อย่าเสียใจหากเรากลายเป็นคนแปลกหน้า
มนุษย์เกิดมาเพื่อมโนถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดและความเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถคิดถึงเรื่องเหลือเชื่อไกลเกินกว่าสัตว์อื่นๆ จะจินตนาการ ผู้เขียนเองก็อยู่ในวัย 26 ปี ที่สนใจเขียนบทความนี้อาจเพราะเป็นห่วงอนาคตมากตามวัย ซึ่งคงเป็นไปตามปรกติของช่วงชีวิต และคงบรรเทาลงไปเองเมื่อเติบโตขึ้น อีกการสำรวจก็พบว่ายิ่งเราโตขึ้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความสามารถในการคิดถึงอนาคตจะลดลงเองไปตามลำดับ อาจเพราะยิ่งแก่ เราก็ยิ่งไม่แน่ใจว่าอีก 30 ปีเราจะมีชีวิตอยู่รึเปล่า เพราะอยู่ในวัยหนุ่มสาว ขอใช้สมองวางแผนและมโนให้พอใจ สำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ปวดหัว
สมองของเราต่างขยับ เคลื่อนที่ ปรับปรุง เขียนใหม่ไปเรื่อยๆ เมื่อเรียนรู้ทักษะหรือพบประสบการณ์ใหม่ ตัวตนของเราจึงเคลื่อนไหวขยับปรับไปเรื่อยๆ และไม่มีจุดสุดยอดสำเร็จ และคนรอบๆ ตัวเราต่างกำลังอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อาจทำให้เราเข้าใจและยอมรับหากคนที่เรารู้จักเปลี่ยนไปไม่สามารถคงเดิมได้ตามสัญญา
แม้เราอาจอยากเข้าข้างว่า ฉันเป็นคนมั่นคงและมีตัวตนชัดเจนที่ต้องรักษาเก็บไว้ จริงๆ แล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น อย่าเสียใจหากสุดท้าย เราไม่ได้ใช้ชีวิตตามคำตอบที่เคยตอบผู้ใหญ่ในคำถามที่ว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ หลายครั้งเราพยายามตั้งใจเลือกและวางแผนให้ดีที่สุด เลือกทางที่เราในอนาคตจะขอบคุณเราในวันนี้ สุดท้ายแล้วตัวเราในวันข้างหน้าอาจกลายเป็นคนแปลกหน้าที่เราคาดเดาไม่ได้
เมื่อเติบโตขึ้น อาจฟังดูน่ากลัวที่เราอาจกลายเป็นคนแปลกหน้าของตัวเองในวันวาน อย่าได้ห่วงว่า ‘ตัวตนของเรา’ จะเปลี่ยนไปไม่คงเดิม ชีวิตอาจไม่ใช่การค้นหาตัวตนหรือการพยายามรักษาความเป็นเราอันพิเศษสำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จจากในครรภ์ แต่คือกระบวนการผลิต ทำลาย ลบล้าง แก้ไข และสร้างใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีชีวิตจึงเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงเขียนใหม่จนกว่าจะตายไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
Personality Stability From Age 14 to Age 77 Years
Instant Recall: How do we remember when apps never forget?
We Aren’t Built to Live in the Moment
Recalling yesterday and predicting tomorrow
Epigenesis and Preformationism
The Brain: The Story of You
Older Adults Have Greater Difficulty Imagining Future Rather Than Atemporal Experiences
Religiosity in patients with Parkinson’s disease