ย้อนกลับไปหนึ่งปีก่อนเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ปรากฏชัดเจนว่า COVID-19 ได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำในหลากหลายแง่มุม สำหรับประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม พ.ศ.2564 ภาพความเหลื่อมล้ำของชีวิตประชาชนก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น คนไร้บ้านติดโรคถูกทิ้งให้เสียชีวิตข้างถนน หมอ พยาบาล ทำงานหนักเกินติดต่อหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ ผู้คนจำนวนมากสูญเสียรายได้ สูญเสียงาน คนรวยเดินทางไปฉีดวัคซีนต่างประเทศ ชนชั้นกลางจองวัคซีน คนจนป่วยติดเตียงรอหมอ รอเตียงจนเสียชีวิต ภาพเหล่านี้เกิดต่อเนื่องมาหลายเดือนและทวีคูณความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่เริ่มกระจายไปทั่วโลก แต่มีหลายประเทศที่สามารถประยุกต์บทเรียนจากการระบาดเมื่อปีที่แล้ว และให้ COVID-19 เป็นบทเรียนที่ประชาชนทวงคืนอนาคต และสร้างสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันหลักการเดิมว่าด้วยความเสมอภาคที่มีมา หรือการสร้างกรอบแนวคิดใหม่ว่าด้วย สุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจ เพื่อยืนยันว่า COVID-19 นั้นรุนแรงและฆ่าคนได้มากกว่าในสังคมที่เหลื่อมล้ำ รวมไปถึงรัฐสวัสดิการกลายเป็นกระแสใหม่ของประเทศหลัง COVID-19
สหรัฐอเมริกา ประเทศที่เหลื่อมล้ำและมีปัญหาการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมสูงที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้สูงด้วยกัน ในการระบาดในช่วงปี ค.ศ.2020 สหรัฐอเมริกาสูญเสียทั้งชีวิต เศรษฐกิจ ตลอดจนความเชื่อใจระหว่างกันในสังคม อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ.2021 การเปลี่ยนรัฐบาลนำโดย โจ ไบเดน และคณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งซึ่งมีแนวคิดทางสังคมนิยมประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนวิธีคิดสำคัญเดี่ยวกับระบบภาษีและการจัดสวัสดิการ เมื่อปี ค.ศ.2020 ภายใต้เศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจขนาดเล็กปิดตัวสิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางเมื่อกลุ่มคนที่รวยที่สุดไม่กี่ตระกูลกลับมั่งคั่งมากขึ้น โดยมี 15 ตระกูล มั่งคั่งมากขึ้นกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในส่วน 20% ของฐานล่างของสังคมมีอัตราการตายจาก COVID-19 สูงกว่ากลุ่มคนในส่วน 20% ของฐานบนถึง 67% ซึ่งมาจากเหตุผลสำคัญที่ว่ากลุ่มคนที่รายได้น้อยไม่สามารถหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ และต้องแบกรับความเสี่ยงมากเมื่อเทียบกับผู้มีรายได้สูงกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จึงพยาบามผลักดันแผนฟื้นฟูครั้งสำคัญ ด้วยวงเงิน 1.2 ล้านล้านเหรียณสหรัฐ ซึ่งนอกจากการกระจายสวัสดิการสู่ประชาชนทั่วไป ยังมีแผนเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งจากทรัพย์สินจากคนที่มีทรัพย์สินเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ 2 % ของทรัพย์สิน รวมถึงภาษีกำไรจากตลาดหุ้นที่มีการเพิ่มอัตราภาษีที่สูงขึ้น
การกรทำลักษณะนี้เป็นการทบทวนแนวคิดใหม่ของประเทศศูนย์กลางทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกาว่า ระบบสวัสดิการที่ผูกติดกับกลไกตลาด การพิสูจน์ความจนเพื่อรับสิทธิเป็นระบบที่ล้มเหลว และถึงเวลาของการขยายระบบสวัสดิการสู่ระบบถ้วนหน้าในฐานะสิทธิพื้นฐาน เช่นเดียวกับค่านิยมความเชื่อที่คลาดเคลื่อนจากความจริงที่ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเปิดกว้างสำหรับทุกคน ซึ่งสวนทางกับความจริงที่คนรวยที่สุดไม่กี่กลุ่มสามารถผูกขาดความมั่งคั่งข้ามรุ่นได้
การเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้ากลายเป็นก้าวใหญ่
ที่สำคัญสำหรับอนาคตของความเสมอภาค
หลังวิกฤต COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา
ข้ามไปในทางยุโรปที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวิกฤติโรคระบาด กลุ่มประเทศนอร์ดิก แม้จะมีหลากหลายแนวทางในการจัดการกับโรคระบาด ซึ่งแตกต่างกัน เช่นสวีเดนเน้นการล็อกดาวน์น้อยที่สุดเพื่อให้กิจกรรมทางสังคมและการบริการสาธารณะสามารถดำเนินต่อไปได้เพื่อไม่ให้ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นขยายขึ้น ขณะที่ฟินแลนด์และเดนมาร์กมีการล็อกดาวน์ที่รวดเร็วกว่าโดยสัมพัทธ์ อย่างไรก็ตามนับจากไตรมาสที่สองของปี ค.ศ.2021 กลุ่มประเทศนอร์ดิกสามารถจัดการกับอัตราการตายของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้ดี ปัจจุบันสวีเดนแม้จะเผชิญปัญหาการเสียชีวิตที่รุนแรงในช่วงปีแรก แต่ในปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตหลักหน่วยต่อวัน และมีคนไข้อาการหนัก 29 คนหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 จากผู้ป่วยที่รับการรักษา 12,248 คน ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.2021 เช่นเดียวกับฟินแลนด์ที่ ที่มีผู้ป่วยรุนแรงเพียง 16 คนจาก 65,676 ที่อยู่ระหว่างการรักษา และอัตราการเสียชีวิตรายวันก็เป็นหลักหน่วย
ความน่าสนใจอยู่ที่กลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการไม่ได้มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงเมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกันอัตราการล็อกดาวน์ในช่วงระบาดก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นในยุโรป เมื่อเปรียบเทียบในสหรัฐอเมริกาอัตราการติดและเสียชีวิตรุนแรงขึ้นในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดี
กลุ่มประเทศนอร์ดิกที่มีพื้นฐานระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จึงสามารถที่จะกระจายความเสี่ยงจุดนี้ได้ดีกว่า ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือหยุดกิจกรรมบางอย่างชั่วคราว คำสั่งเหล่านี้จึงไม่ได้กระทบต่อชีวิตงานและรายได้ของผู้คนนัก และการให้ความร่วมมือย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย ระบบการจัดการโรงเรียนในระดับอนุบาล-ระดับประถม นับเป็นสิ่งสำคัญที่การเรียนแบบออนไลน์ไม่สามารถแทนที่ได้ และการปิดโรงเรียน จึงเป็นทางเลือกท้ายเพราะอาจสร้างความเหลื่อมล้ำตามมาในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ประเด็นสำคัญที่ WHO ได้เปิดเผยเอกสารความสัมพันธ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจ กับ COVID-19 พบว่ามีความสัมพันธ์ทางตรงต่อการเสียชีวิต และ NCDs มีความสัมพันธ์ทางตรงกับรายได้ของประชากร ระบบสุขภาพ ลักษณะงาน รวมถึงเวลาว่าง การพักผ่อน การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวตลอดจนขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของกลุ่มเสี่ยงต่อ COVID-19 นี้
ไม่ได้รักษาด้วยยา แต่รักษาได้ด้วยรัฐสวัสดิการ
และสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น
รายงานของ OECD ระบุว่ารัฐบาลฟินแลนด์ตระหนักว่าแม้ระบบรัฐสวัสดิการของประเทศจะเข้มแข็งและสามารถรอดพ้นจากวิกฤติสาธารณสุขได้ แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงสำคัญคือกลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะ กลุ่มผู้หญิง และแรงงานรุ่นใหม่เริ่มเสียโอกาสในการทำงาน รัฐบาลจึงเร่งขยายการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ทำให้การจ้างงานมีความหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ พร้อมกับแนวทางการสนับสนุนแรงงานรุ่นใหม่ให้มีเวลาและเงินทุนมากพอที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับธุรกิจใหม่นั้น ขณะเดียวกันเดนมาร์กติดอันดับหนึ่งของการฟื้นฟูประเทศหลัง COVID-19 ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเน้นให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับคุณภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งลดความเสี่ยงของประชาชนจากความเปราะบางด้านสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมไปในตัว เช่นการให้เงินสนับสนุนการใช้จักรยานแทนรถยนต์และลดพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปในรูปแบบต่างๆ ที่สร้างมลพิษและผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
การก้าวพ้นจากวิกฤติ COVID-19 ไม่จำเป็นต้องใช้สมการวันสิ้นโลกที่ต้องให้มีคนเสียสละเพื่อโลกที่รอด ไม่จำเป็นต้องยอมรับสภาพสังคมเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนและระหว่างวิกฤติ เราสามารถออกแบบสังคมใหม่ได้ให้ดีกว่าที่เป็นมา และสิ่งที่รักษาชีวิตคนได้ในระยะยาวคือรัฐสวัสดิการและความเท่าเทียม ขณะที่ความเหลื่อมล้ำและความไม่โปร่งใสในการจัดการ รวมถึงความมั่งคั่งและผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำคือฆาตรกรต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่างและหลัง COVID-19
อ้างอิงข้อมูลจาก