เมื่อวาน (4 ส.ค.) เป็นวันแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขึ้นเกิน 20,000 รายเป็นครั้งแรก ขณะที่หนทางเดียวในการรับมืออย่างวัคซีน ก็ยังคงมีประเด็นชวนเวียนหัวใหม่ๆ ในทุกอาทิตย์
ตั้งแต่สัญญาการผลิตวัคซีน AstraZeneca ที่หลวมโครก ไปจนถึงเกณฑ์การฉีดวัคซีน Pfizer ให้แก่บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ออกมาในช่วงแรก หรือข่าวกลุ่ม #VVIP ที่ใช้สิทธิพิเศษชิงตัดหน้าวัคซีนที่ควรมอบให้บุคลากรด่านหน้าอื่น ไม่ว่า สัปเหร่อหรือพนักงานเก็บขยะมากกว่า
เรียกได้ว่าวัคซีน COVID-19 ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองจนสังคมเกิดภาวะวิกฤตความเชื่อมั่น (Crisis of Trust) ต่อตัวรัฐบาลและรัฐไทยทั้งองคาพยพ
คำถามคือ ถ้าเรามีวัคซีนที่เพียงพออยู่ในมือ หรือวัคซีนที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยเสียเอง ทุกคนจะเบาใจมากขึ้นไหมนะ ?
The MATTER ได้ติดต่อบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด หนึ่งในทีมผลิตวัคซีน COVID-19 สัญชาติไทย ซึ่งล่าสุดกำลังจะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดลองเฟส 1 ในคนครั้งแรก และคาดว่ากระบวนการจะสิ้นสุด และสามารถนำมาฉีดให้คนไทยได้ภายในกลางปี 2565
วัคซีน COVID-19 หรือวัคซีนใบยามีรายละเอียด ที่มาที่ไปอย่างไร การทดลองที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง และมันจะกลายเป็นความหวังที่หยุดการแพร่ระบาดในสังคมไทยได้จริงไหม คำตอบอยู่เบื้องล่างนี้
บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม
สำหรับจุดเริ่มต้นของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ หรืออาจารย์แป้งประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าว่า มันเริ่มจากที่เธอได้ไปเรียนต่อปริญญาเอก สาขาวิชาชีววิทยาพืช มหาวิทยาลัยแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ทำวิทยานิพนธ์โดยผลิตวัคซีนไวรัสอีโบลาจากพืช
เมื่อกลับมา เธอได้มีโอกาสสอนที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ขณะที่นอกเวลาสอน เธอหมั่นยื่นขอทุนเพื่อทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอ แต่งานวิจัยของเธอก็ไม่เคยออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้ชัดเจน กล่าวคือเธอทำงานวิจัยกี่ครั้งก็เพียงถูกนำมาตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ องค์ความรู้หมุนวนอยู่ในคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
“พอเป็นอาจารย์มาสักพัก เรารู้สึกว่าขอทุนวิจัยในประเทศมาก็ได้แค่ตีพิมพ์ แต่มันไปต่อไม่ได้ เพราะถ้าจะต่อยอดให้สามารถใช้ในคนได้ มันต้องใช้ทุนวิจัยหลักร้อยล้านบาท แต่ทุนวิจัยที่นักวิจัยไทยได้ อย่างเก่งก็แค่ปีละล้านบาท”
กระทั่ง โครงการ CU Innovation ได้กำเนิดขึ้น โดยมีเป้าหมายผลักดันให้อาจารย์นำงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ เธอจึงตัดสินใจชวน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ลางานและซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปดูบริษัทด้าน Biotec ที่ประเทศเยอรมนีและสหรัฐฯ
“เราในฐานะคนทำแล็บพยายามบอกอาจารย์บิ๊บ (ดร.สุธีรา) ว่า ถ้าเราสามารถนำพืชไปผลิตยาหรือวัคซีนได้ เราจะพัฒนายาตัวใหม่ๆ ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ต้นทุนจะถูกลง ใช้เวลาผลิตน้อยลง และเราเคยมีงานวิจัยตีพิมพ์มาแล้ว เราเลยชวนอาจารย์บิ๊บไปดูบริษัทที่สหรัฐฯ และเยอรมนีเลย”
เธอเล่าต่อว่า นอกจากความชอบในเรื่องการวิจัยและทดลองแล้ว มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจเริ่มทำบริษัทด้าน Biotec
“อีกจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรนอกจากการเป็นนักวิจัยคือ เราเทรนด์เด็กทำวิจัยในคณะเภสัชฯ มา 4-5 ปี แต่พอเด็กจบ พวกเขาก็ไปเข้าบริษัทยาต่างชาติ อยู่ร้านขายยาหรือโรงพยาบาล คือเขาได้งานดีแหละ แต่ไม่มีใครที่กลายมาเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนายาเลย เราก็เอ๊ะ จะสอนไปทำไม”
“แต่ที่จริงคือมันไม่มีทางเดินให้เขา ไทยเราไม่มีบริษัท Biotec เหมือนสหรัฐฯ เราเลย รู้สึกว่าถ้าเราทำสตาร์ตอัพ มันน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ให้คนทำงานวิจัยมีงานและเงินเดือนที่เหมาะสม ได้ทำวิจัยอย่างเต็มที่ ไม่ต้องอยู่ในระบบราชการหรือมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ยืดหยุ่น”
หลังจากเธอทั้งสองตัดสินใจก่อตั้งบริษัทใบไฟโตฟาร์ม จำกัด พวกเธอก็เริ่มทดลองสกัดโปรตีนสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมความงามก่อน จนกระทั่งการระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้โปรเจคท์ดังกล่าวต้องพับลง
บริษัทใบยาตัดสินใจเบนเข็มจากการคิดค้นเครื่องสำอาง มุ่งเดินเครื่องผลิตวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 เต็มรูปแบบ โดยเลือกต้นใบยาสูบออสเตรเลีย และวิธี Protein Subunit เป็นทางเดิน
วัคซีนชนิด Protein Subunit และที่มาของใบยาสูบ
สำหรับวัคซีนชนิด Protein Subunit เป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีน Novavax ซึ่งเป็นวัคซีนที่หลายคนตั้งตาคอย เพราะประสิทธิภาพของมันสูงจนโดดเด่น ขณะที่รายงานผลข้างเคียงก็น้อยเสียจนน่าตกใจ
โดยวัคซีนชนิดนี้ ภายในจะบรรจุโปรตีนที่จดจำรหัสพันธุ์กรรมชนิดนั้นๆ ของไวรัส และเมื่อมันถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย เซลล์จะจดจำและสร้างแอนติบอดี ซึ่งสำหรับไวรัส COVID-19 คือโปรตีนหนาม และเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ร่างกายจะมีแอนติบอดีที่ต่อสู้และต่อต้านไวรัสได้ดีขึ้น
สำหรับข้อดีของวิธีนี้ อาจารย์แป้งอธิบายว่า ประการแรก มันเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนที่แพร่หลายในปัจจุบันอยู่แล้ว อาทิ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี, HPV (ป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ตลอดจนวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ มันจึงเป็นองค์ความรู้ที่เชื่อถือได้และไม่ต้องดัดแปลงพลิกแพลงมากนัก
ประการที่สอง โอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อย เพราะวัคซีนที่ใช้วิธีผลิตแบบ Inactivated Vaccine (Sinovac หรือ Sinopharm) หรือ Viral Vector (AZ หรือ J&J) ก็ต้องใช้ไวรัสเป็นพาหะในการฉีดเข้าสู่ร่างกาย จึงมักมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ส่วนวัคซีน mRNA ก็เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่เกินไปจนทำให้หลายคนไม่มั่นใจ
“วัคซีนชนิด Protein Subunit คือการที่เราส่งโปรตีนเข้าไปในร่างกายเลย โดยเรารู้ปริมาณที่เหมาะสม บวกกับไม่ต้องใข้กระบวนการสร้างโปรตีนของร่างกายแต่ละคน ดังนั้น ผลข้างเคียงมันน่าจะต่ำกว่า”
จุดโดดเด่นอีกประการของวัคซีนจากบริษัทใบยาคือ การนำใบยาสูบออสเตรเลียซึ่งเป็นพืชที่มีทั่วไปในแล็บมาเป็นตัวเพาะโปรตีน
“ข้อดีประการแรกของการใช้พืชเป็นแหล่งผลิตคือ มันเพิ่มจำนวนได้ง่าย ดังนั้น หากจะผลิตในสเกลอุตสาหกรรม ไม่ว่าเราจะปลูกพืชร้อยหรือหมื่นต้น มันไม่ได้ซับซ้อนมาก นอกจากนี้ เรายังสามารถผลิตและเริ่มทดลองได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ดังนั้น ในแง่ของต้นทุนคือมันมีประโยชน์อยู่แล้ว”
ส่วนข้อจำกัดของการผลิตวัคซีนด้วยวิธี Protein Subunit เรียกได้ว่า อยู่ที่ความเสี่ยงที่พืชจะไม่สังเคราะห์โปรตีนตามที่ต้องการ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าว อาจารย์แป้งมองว่าสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้พืชชนิดอื่นแทนใบยาสูบก็ได้
“ต้นทุนการผลิตมันต่ำ ถ้าเกิดเราไปใช้ระบบการผลิตที่แพงมาก มัน (ราคาวัคซีน) ก็จะแพงยิ่งขึ้น”
ผลการทดลองในสัตว์ และความคืบหน้าล่าสุด
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา The MATTER ได้ลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของวัคซีนใบยาไปบ้างแล้ว โดยพวกเขาเตรียมเริ่มทดลองในคนระยะที่หนึ่งในเดือนกันยายนนี้
“ตอนนี้การทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูและลิงได้ดี”
“สำหรับในเรื่องความปลอดภัย ตอนที่เราทดสอบในลิง เราพบว่าแทบไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่ในหนูทดลอง เราลองใช้ปริมาณโดสที่สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้เราเสร็จสิ้นทุกอย่างแล้ว และกำลังยื่นข้อมูลทั้งหมดไปที่ อ.ย. เพื้อขอทดสอบในมนุษย์”
ขณะนี้ ทางบริษัทใบยากำลังอยู่ในการยื่นขอทดลองวัคซีนในมนุษย์กับ อ.ย. และถ้าหากไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์ พวกเขาจะเริ่มทดลองเฟส 1 โดยเปิดรับอาสาสมัครในเดือนสิงหาคม และจะเริ่มฉีดในเดือนกันยายนเป็นต้นไป โดยเปิดรับอาสาสมัครทั้งหมด 100 คน แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่อายุระหว่าง 18-55 ปี และกลุ่ม 65-75 ปี โดยจะฉีดทั้งหมดสองเข็ม ระยะเวลาห่างกันสามสัปดาห์
ทั้งนี้ สำหรับสูตรของวัคซีนตอนนี้ยังคงไม่แน่นอน โดยการทดลองในเฟส 1 จะมีเพื่อหาสูตรที่มีปริมาณโปรตีนเหมาะสมที่สุด เพื่อเลื่อนสู่การทดลองในเฟส 2 ต่อไป
“จริงๆ เราวางไว้ว่าต้องฉีดสองโดส ห่างกันสามอาทิตย์ แต่เนื่องจากมันเป็นการทดสอบในมนุษย์ครั้งแรก เราเลยต้องทดสอบปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมด้วย ที่ผ่านมาเราทดลองในสัตว์แล้วมันเวิร์ค แต่ในคนต้องมาดูอีกทีหนึ่งว่าปริมาณโปรตีนเท่าไร ตรงนี้หลังจากจบเฟส 1 น่าจะได้คำตอบ”
สำหรับข้อโดดเด่นอีกประการของวัคซีนใบยาคือ วิธีการเก็บรักษา โดยอาจารย์แป้งกล่าวว่า มาถึงขณะนี้วัคซีนสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
“เนื่องจากวัคซีนเราเป็น Subunit Vaccine เราเก็บที่ 4 องศาเซลเซียส หรือตู้เย็นธรรมดา และเท่าที่เราทดสอบ วัคซีนสามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปีแล้ว และเราจะทำการเก็บต่อไปเรื่อยๆ”
ซึ่งเทียบกับวัคซีน Pfizer ที่ CDC สหรัฐฯ ได้อนุมัติให้เก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ในระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ต้องถือว่าวัคซีนจากบริษัทใบยาเก็บได้ยาวนานกว่าอย่างน้อย 10 เท่าแล้ว
สายพันธุ์เดลตาและชนิดกลายพันธุ์อื่น
มาถึงขณะนี้ เดลตาได้กลายเป็นสายพันธุ์ที่ครองร่างผู้ป่วยส่วนใหญ่ของโลกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมผู้ผลิตวัคซีนใบยายอมรับว่า วัคซีนของพวกเขายังไม่มีประสิทธิภาพนักเมื่อต้องเผชิญหน้าสายพันธุ์ที่แพร่เก่งเทียบเท่าโรคอีสุกอีใส
“ตอนนี้เมื่อฉีดสองโดสในลิง ยังได้ผลที่ไม่ค่อยดี”
“แต่มีลิงที่เราเริ่มบูสต์วัคซีนโดสที่สาม หลังผ่านเข็มที่สองไป 4 เดือน และพบว่ามันป้องกันเดลตาได้ รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งเบตาและอัลฟา”
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้กล่าวถึงข้อดีของการใช้พืชมาผลิตวัคซีนคือ ความยืดหยุ่น กล่าวคือถ้าหากทราบรหัสพันธุกรรมที่ต้องการใส่ลงไปในพืชแล้ว จะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันในการผลิตวัคซีนที่ต้องการออกมา
สอดคล้องไปกับทีมนักพัฒนาของใบยาที่กำลังเร่งทดลองผลิตวัคซีนสูตรเฉพาะสำหรับสู้กับสายพันธุ์ต่างๆ ประกอบกับอาวุธลับอีกประการคือ การทำวัคซีนค็อกเทล หรือวัคซีนทูอินวัน
“วัคซีนที่มีต้นแบบจากสายพันธุ์ G เมื่อเผชิญบางสายพันธุ์มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น เราเลยเริ่มผลิตโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์อื่น เพื่อดูว่าสูตรไหนที่น่าจะป้องกันได้ทีเดียวหลายๆ สายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้เรากำลังเริ่มทดลองในลิงแล้ว”
“หรือถ้าตัวเดียวป้องกันได้ไม่หมด มันน่าจะเป็นไปได้ที่จะทำเป็น ‘ค็อกเทล’ คือใส่โปรตีนของไวรัสสองสายพันธุ์ผสมกัน เพื่อให้คนสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้หลายตัว นี่เป็นอีกกลยุทธ์ที่เรากำลังทำการทดลอง”
เธออธิบายต่อว่า วิธีค็อกเทลไม่ใช่วิธีใหม่ เพราะอย่างวัคซีน HPV ก็ใช้วิธีฉีดเข็มเดียวเพื่อป้องกันหลายสายพันธุ์เช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อวาน (5 ส.ค.) ทาง สวทช. ก็เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยวัคซีนที่เมื่อฉีดแล้วสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไวรัส COVID-19 สายพันธุ์อู่ฮั่นไปพร้อมกันได้
“มันเป็นข้อดีของวัคซีน Protein Subunit อย่างหนึ่ง เพราะวิธีอื่นไม่สามารถใส่เป็นค็อกเทลแบบนี้ได้”
เป้าหมายไม่ใช่แค่คนไทย
ถ้าหากทุกอย่างไม่ผิดจากแผน ทางบริษัทใบยาคาดว่าพวกเขาจะสามารถนำวัคซีนมาฉีดให้แก่คนไทยได้ในช่วงกลางปี 2565
“ถ้าทุกการทดลองของเราเป็นไปตามเป้าหมายคือ มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้ดี กลางปี 2565 เราน่าจะผลิควัคซีนมาให้ประชาชนทั่วไปได้ฉีด”
แต่วิสัยทัศน์ของทีมผู้บริหาร ซึ่งรวมถึงอาจารย์แป้งมองไปไกลกว่านั้น พวกเขาหวังว่าแพลตฟอร์มที่พวกเขาสร้างขึ้นจะกลายเป็นก้าวแรกสำหรับการคิดค้นวัคซีนชนิดอื่นเพื่อใช้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมถึงส่งออกไปในต่างประเทศ
“ใบยาพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีน ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งยาและวัคซีนตัวอื่น ซึ่งทุกวันนี้ ยังมีโรคในประเทศและรอบอาเซียนที่ยังไม่มีวัคซีนด้วยซ้ำ”
“หรือถ้าพูดแค่เรื่อง COVID-19 หลายคนอาจมองว่าบริษัทยาใหญ่ๆ เขาผลิตกันเยอะอยู่แล้ว เราจะไปขายยังไง แต่เราคิดว่ามันมีตลาดให้เราไปได้อยู่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โซนแอฟริกาหรืออาเซียน”
“ตอนนี้หลายคนอาจเรียกร้องวัคซีน mRNA แต่มันยังมีก็ข้อจำกัดในเรื่องของการขนส่ง จึงอาจนำไปใช้ได้ยากในหลายประเทศ ดังนั้น ถ้าวัคซีน Protein Subunit ของเราไม่ต้องใช้การแช่แข็งขนาดนั้น มันน่าจะสะดวกและทำให้เรามีตลาดตรงจุดนี้”
วงการแล็บไทยยังห่างไกลสากล
ถึงแม้ การเดินทางของใบยาจะเรียกได้ว่าเป็นก้าวใหญ่ของวงการห้องแล็บไทย แต่เมื่อมองเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ดร.วรัญญูยอมรับว่าเรายังห่างไกล โดยเฉพาะในแง่ของบุคลากร
“ต้องบอกว่าการพัฒนายาหนึ่งตัวต้องใช้เทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญหลายด้านมาก และปัญหาคือ มันไม่ใช่เอาเงินมาตู้มและผลิตได้”
เธออธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่จะมาพัฒนาและต่อยอดในองค์ความรู้ด้านนี้ ซึ่งสาเหตุหลักไม่ใช่อะไรแหวกแนวเลย แต่มันคือเรื่อยรายได้และการให้คุณค่าเท่านั้น
“เราเคยรับเด็กจบปริญญาโทมาทำแล็บในห้องปฏิบัติการ ทำงานไปสักพัก เขาขอลาออกไปขายกางเกงยีนส์.. เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในประเทศแบบนี้”
“แต่เราต้องมองไปข้างหน้า ทำให้ทุกคนเห็นว่ามันจำเป็นต้องทำการศึกษาและพัฒนา (ยาและวัคซีน) เองให้ได้ และตอนนี้มันน่าจะเป็นโอกาสในการขอทุนทำวิจัยและการให้ทุนเรียน อย่างใบยาเองเราอยู่กับจุฬาฯ เราก็เอานิสิตปริญญาโท-เอกเข้ามาเรียน คนไหนที่เก่งๆ มาเรียนต้องได้เงินที่ดีด้วย เราถึงจะดึงคนเก่งๆ เข้ามาได้”
เธอเปรียบสถานการณ์พัฒนาวัคซีน COVID-19 ในไทยตอนนี้เหมือนการเร่งสร้างห้อง ICU กล่าวคือ สุดท้ายแล้วสามารถสร้างสถานที่และมีอุปกรณ์การแพทย์จริง แต่คำถามสำคัญคือ มีบุคลากรการแพทย์หรือไม่ ?
“เหมือนวันนี้เราบอกว่า ICU ไม่พอ เราสร้างมาเต็มเลย แต่เราถามว่า เราสร้างหมอทันไหม? การพัฒนาวัคซีนมันก็เหมือนกันเลย”
เธอแสดงความเห็นต่อว่า การเร่งพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยให้รวดเร็วประการแรกควรเริ่มด้วยการออกจากระบบราชการและมหาวิทยาลัยที่ถึงแม้ทุนหนา แต่ระบบสั่งการใหญ่จนเทอะทะ
“การอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยทำให้เราทำอะไรได้ช้า สิ่งที่จะควรเปลี่ยนคือ เอางานวิจัยออกมาทำในสตาร์ตอัพ และเราจะสร้างคนไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น”
ทั้งในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัย เธอยังเชื่อว่าการมาถึงของไวรัส COVID-19 และการตอบสนองจากห้องแล็บไทย ไม่ใช่เพียงใบยา แต่รวมถึง Chula-Cov19 ของจุฬาฯ และ HXP-GPOVac ของมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นสัญญาณที่ดี
“ถามว่าเราห่างกับสหรัฐฯ ไหม ในแง่ของเทคโนโลยีน่าจะสักประมาณ 20 ปี แต่ถ้าเราดูจีนเป็นต้นแบบ เขาพลิกเร็วมาก สิบปีที่แล้ว เขาไม่ได้เจริญแบบนี้ เราอาจต้องไปเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไร”
“เรายังห่างจากหลายประเทศ แต่เราก็มาอย่ในจุดสตาร์ตได้แล้ว และเราน่าจะพัฒนาไปต่อได้ เรายังคิดว่ายังพอตามทันและสู้เขาได้นะ”
อ้างอิง:
Photograph From Baiya
Illustrator By Kodchakorn Thammachart