1
คุณเคยได้ยินคำพูดของฝรั่งว่า Taxation as Theft หรือการเก็บภาษีคือการปล้นบ้างไหมครับ
สำหรับคนที่จัดการภาษีของตัวเองไปแล้วอย่างเรียบร้อยเป็นระเบียบเนี้ยบกริบ ก็อาจรู้สึกว่าคำพูดนี้สุดโต่งบ้าบอคอแตก แต่ใครที่กำลังหัวหมุนกับการพยายามคำนวณภาษี ก็อาจเห็นคล้อยตามกับคำพูดนี้ไม่น้อย เพราะถ้าคิดว่าการเก็บภาษีเป็นการปล้น มันก็คือเรื่องไม่ชอบธรรม และถ้ามันไม่ชอบธรรม เราก็จะได้ไม่ต้องคำนวณภาษี!
แต่คำถามก็คือ การเก็บภาษีเป็นการปล้นจริงหรือ?
แล้วถ้ามันเป็นการปล้น ก็แล้วเราจะมีภาษีเอาไว้ทำไมกัน?
อันที่จริง ต้องบอกคุณก่อนว่า แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีเป็นแค่แนวคิดหนึ่งในการมองภาษีนะครับ การเก็บภาษีก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ทั้งปวง คือมีทั้งคนที่สนับสนุนเห็นด้วย คนที่คิดเห็นกลางๆ และคนที่ไม่ ‘เอา’ การเก็บภาษีเลย
คำพูดที่ว่า Taxation as Theft เป็นคำพูดที่มีปรัชญาการเมืองสองสามแบบที่มีความเห็นร่วมกันในเรื่องนี้แฝงอยู่ เช่นปรัชญาการเมืองแบบ Voluntaryism (พูดหยาบๆ ก็คือ – เห็นว่าทุกอย่างในสังคมควรจะเกิดขึ้นโดยการอาสาหรือสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ) หรือกลุ่ม Minarchism (คือกลุ่มอนาธิปไตยที่ไม่ถึงขั้นบอกว่าไม่เอารัฐเลย แต่รัฐหรือรัฐบาลที่มีอยู่ควรถูกจำกัดมากๆ คือมีบทบาทแค่จัดหาสาธารณูปโภคเช่นน้ำไฟ ฯลฯ ให้ประชาชนเท่านั้น ฟังดูคล้ายๆ กับรัฐบาลเป็นนิติบุคคลของคอนโดฯ ยังไงชอบกลนะครับ) ฯลฯ
เวลาพูดว่า Taxation as Theft หลายคนอาจนึกถึงรัฐบาลเผด็จการที่เลวทราม คอยกดขี่ข่มเหงผู้คน เอาหอกดาบมาทิ่มแทงบังคับเก็บส่วยเก็บภาษี หลายคนคุ้นกับภาพของ ‘คนเก็บภาษี’ แบบในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ชาวยิวยุคโน้นเห็นว่าคนเก็บภาษีเป็นคนเลวชั่ว โดยเหยียดคนเก็บภาษีว่าไม่มีอะไรดี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโสเภณี
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะในยุคก่อนโน้นไล่มาจนถึงยุคฟิวดัล ภาษี ส่วย ค่าบำรุง ฯลฯ ท่ีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นการเก็บจากคนจนทั้งนั้น ดังนั้น ภาษีจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากสิ่งที่ ‘รีด’ จากคนจนเพื่อนำบำเรอขุนนางหรือกษัตริย์ (ฝรั่งบอกว่า Taxes on the poor supported the nobility) เพื่อให้เหล่าคนชั้นสูงมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมคำสัญญาที่ว่าจะช่วยปกป้องดูแลคนที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นไพร่ทาสบริวารเหล่านี้ และบริวารก็ถูกปลูกฝังให้มีสำนึกว่าตัวเองเป็นเพียง ‘ข้าติดที่ดิน’ ที่มีบุญคุณของกษัตริย์และขุนนางคอยค้ำคออยู่ ภาษียุคเก่าจึงเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการแบ่งปันผลผลิต การถูกเกณฑ์แรงงาน การถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พล ฯลฯ สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของการใช้อำนาจทางตรงอย่างแท้จริง
แต่ภาษียุคใหม่ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ปรัชญาอย่างหนึ่งของภาษียุคใหม่ก็คือรัฐจะต้องเก็บภาษีเพื่อนำไปสร้างระบบสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส พูดง่ายๆ ก็คือ มัน ‘กลับข้าง’ กับระบบภาษียุคโบราณเต่าล้านปีนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นปรัชญาภาษีแบบนี้ หลายคนก็ยังมองว่ามันคือ Taxation as Theft อยู่ดี ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
สมมติว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อประวิตร (นามสมมติน่ะนะครับ) วันหนึ่งคุณกับประวิตรเดินไปเจอเพื่อนอีกคนหนึ่ง สมมุติว่าชื่อสมชาย ปรากฏว่าสมชายยากจนมาก เขาทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง คุณสงสารสมชายมาก และคิดว่าควรจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้สมชาย คุณจึงหยิบเงินออกจากกระเป๋า ส่งให้สมชายไปพันบาท
จากนั้นคุณก็หันไปมองหน้าประวิตร ปรากฏว่าแดดร้อนไปหน่อย ประวิตรเลยยกมือที่ใส่นาฬิกาขึ้นบังแดด ทำให้คุณไม่เห็นแววตาของประวิตร คุณก็เลยบอกไม่ได้ว่าประวิตรคิดอย่างไร แต่ที่คุณรู้ก็คือ ประวิตรเอาแต่บังแดดอยู่อย่างนั้น โดยไม่ยอมลดมือลงมาหยิบกระเป๋าสตางค์เจียดเงินที่ประวิตรมีให้กับสมชายบ้าง ทั้งที่คุณก็รู้อยู่ว่าประวิตรรวยจะตายไป
คำถามก็คือ – คุณจะทำอย่างไรกับประวิตรดีครับ?
คุณอาจจะรู้สึกว่า ไอ้เจ้าประวิตรนี่ทำไมมันขี้เหนียวอย่างนี้ (วะ) คุณอาจหว่านล้อมแกมบังคับ แต่ประวิตรก็ยังเฉย ในที่สุด คุณก็เลยใช้กำลังบังคับประวิตรเพื่อหยิบเงินออกจากกระเป๋าประวิตรเอามาให้สมชาย แต่คำถามก็คือ – แม้เป็นความปรารถนาดีอยากช่วยสมชาย (หรือคนจนคนด้อยโอกาสโดยทั่วไป) การทำอย่างนี้ถือเป็นการ ‘ปล้น’ ประวิตรหรือเปล่า
หรือถ้าลองขยายใหญ่ขึ้นมาอีกนิด คราวนี้ให้คุณกับประวิตรเดินมากับเพื่อนรวมแล้วสิบคน พอมาเจอสมชาย คุณอยากช่วยสมชาย ก็เลยให้เพื่อนๆ ช่วยกันโหวตว่าคนทั้งกลุ่มควรจะช่วยสมชายหรือเปล่า ปรากฏว่าเจ็ดคนโหวตว่าควรช่วย ผลลัพธ์ก็คือทุกคนต้องควักกระเป๋าเอาเงินมาช่วยสมชาย รวมถึงประวิตรและคนที่ไม่ได้โหวตด้วย
คำถามก็คือ – แม้ผ่านกระบวนการโหวตที่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่นี่ต่างอะไรกับการที่คุณใช้กำลังบังคับประวิตรตั้งแต่ต้นเล่า มันเพียงแต่เป็นการ ‘บังคับ’ ด้วยระบอบที่ต่างกันออกไปเท่านั้นเอง
โดยนัยนี้ แม้ว่าจะ ‘ยัง’ ไม่ได้มีกระบวนการทุจริตอะไรเลยระหว่างทาง คือเงินที่เก็บจากคุณและเก็บจากประวิตรนั้น ถูกนำไปให้สมชายเต็มเม็ดเต็มหน่วย (ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศเจริญแล้วที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยยิ่งกว่าน้อย) แต่นักปรัชญาการเมืองบางสายก็ยังมองว่ามันคือ ‘การปล้น’ อยู่ดีนั่นแหละ
แล้วลองนึกดูสิครับว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมด้อยพัฒนาที่มีการฉ้อฉลอยู่ตลอดเวลา หรือเกิดในสังคมเผด็จการที่เราตรวจสอบไม่ได้ แล้วมีคนแอบมิดเม้มเงินที่ควรจะเอาไปให้สมชายไว้กับตัวเวลาส่งเงินผ่านกันล่ะ – มันจะไม่ใช่การปล้นยิ่งกว่าปล้นหรอกหรือ
เราคงเห็นกันอยู่นะครับ ว่าเราอยู่ในประเทศแบบไหน ด้านหนึ่งก็ไม่เป็นประชาธิปไตยตรวจสอบไม่ได้ อีกด้านหนึ่งก็มีข่าวทุจริตคดโกงเงินเกิดขึ้นเต็มไปหมดในหลายระดับ แล้วไม่ต้องมาอุปมาอุปมัยอะไรถึงคนจนอย่างสมชายด้วย เพราะเป็นการทุจริตโกงเงินที่จะเอาไปช่วยคนจนจริงๆ ในหลายกรรมหลายวาระ
ช่างเฮงซวยและสิ้นหวังอะไรอย่างนี้!
คิดแล้วก็คับแค้นใจนะครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะจ่ายภาษีให้สังคมเส็งเคร็งแบบนี้ไปทำไม?
2
ถ้าเราคิดแบบเจ้าขุนมูลนายโบราณ คือยังเห็นว่าผู้มีอำนาจเป็นเหมือนกษัตริย์หรือขุนนาง แล้วประชาชนเป็นเหมือนไพร่ทาสติดที่ดินยุคฟิวดัลกันอยู่ เราก็จะเห็นว่าภาษีไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเงินหรือผลผลิตที่พวกคนจนต้องจ่ายเอาไปบำเรอคนรวย แล้วคนรวยก็จะ ‘เอื้อเฟื้อ’ ให้คนจนได้พออยู่พอกินไปตามอัตภาพอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวเจียมกะลาหัวอยู่ในที่ดินของคนรวยและมีอำนาจเหล่านั้น ไม่ต้องถูกอัศวินของขุนนางหรือกษัตริย์ในเมืองข้างเคียงบุกมารบพุ่งฆ่าฟัน (ทั้งที่เอาเข้าจริง ไพร่ทาสพวกนี้ไม่ได้เป็นคนไปมีปัญหากับขุนนางหรือกษัตริย์อื่นเลย เป็นเจ้านายเหนือหัวของตัวเองนั่นแหละที่ไปท้ารบกันเหยงๆ โดยมีชีวิตของคนที่ปลูกข้าวเอามาเลี้ยงขุนนางหรือกษัตริย์เหล่านี้เป็นเดิมพัน)
แต่ระบบภาษีสมัยใหม่ (Modern Taxation Systems) ไม่ได้มองภาษีแบบนั้นกันแล้วนะครับ รัฐบาลเก็บภาษีไปก็เพื่อนำเงินท่ีได้ไป ‘เกลี่ย’ ให้กับสังคม เรื่องสำคัญที่สุดของภาษีจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการที่ภาษีคือ ‘เครื่องมือ’ ในการลดความเหลื่อมล้ำ
ใช่ครับ – ถ้าไม่หลงยุคติดกับอยู่ในสมัยฟิวดัลจนโงหัวไม่ขึ้น ผู้บริหารบ้านเมืองก็ต้องเข้าใจให้ได้ – ว่าภาษีไม่ใช่เงินที่คนอื่นต้องเอามามอบให้ตัวเองและพรรคพวกเพื่อบำรุงบำเรอซื้อของเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้เสกป่าช้า (ที่แม้จะใช้การไม่ได้เลย แต่ที่สุดก็ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ) หรือนำเงินไปซื้อเรือเหาะเรือดำน้ำที่ไหน – มากเท่ากับการใช้ภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ
การเก็บภาษีสมัยใหม่มีเป้าหมายสองสามอย่างนะครับ อย่างแรกที่ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันแน่ๆ ก็คือการใช้ภาษีเหล่านี้ไป ‘จ้าง’ คนทำงานในรัฐบาล ซึ่งก็มีทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ซึ่งถ้าเราคิดอย่างมืออาชีพ คนเหล่านี้ก็คือ ‘ลูกจ้าง’ ของประชาชน และลูกจ้างก็ไม่ใช่ไพร่ทาสหรือเจ้าขุนมูลนาย จึงไม่ได้มีฐานะต้อยต่ำหรือสูงส่งกว่าประชาชน
(แต่ก็อีกนั่นแหละ นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกมานะครับ ไม่ได้นับรวมรัฐบาลเผด็จการด้วย เราไม่อาจล่วงรู้ได้หรอกว่าผู้นำรัฐบาลเผด็จการมี ‘สำนึก’ ว่าตัวเองเป็นมืออาชีพหรือเป็นเจ้าขุนมูลนายของประชาชน ไม่รู้ด้วยว่ามีแนวคิดตรงกับสำนึกที่พึงมีของรัฐบาลประชาธิปไตยหรือเปล่า)
เป้าหมายของการเก็บภาษีอีกด้านหนึ่งก็คือการนำเงินภาษีเหล่านั้นไปสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งก็ต้องบอกคุณไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ ว่าสาธารณูปโภคต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นไปตามใจของผู้เสียภาษีทุกคนหรอก แต่เป็นไปตามรสนิยม การให้คุณค่า องค์ความรู้ในหัว ฯลฯ ของผู้ที่ทำหน้าที่ใช้จ่ายภาษี ณ ขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งมา – ก็จะสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้, แต่ถ้าไม่ใช่ – ก็ตัวใครตัวมัน
อย่างไรก็ตาม อีกเป้าหมายหนึ่งของการจัดเก็บภาษีที่ ‘แหลมคม’ มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการใช้ภาษีในฐานะเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นดีเบตร้อนแรงในสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ มีหลายนโยบายภาษีที่โดยฉากหน้าดูดี แต่พอเจาะลึกลงไปเบื้องหลัง เราจะเห็นได้เลยว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยหรือคนที่อยู่ด้านบนของระบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการลดหย่อนต่างๆ
วิธีแยกแยะภาษีแต่ละประเภทนั้นมีหลายแบบ แต่แบบหนึ่งก็คือการแยกภาษีคร่าวๆ ออกเป็นสามแบบ คือภาษีก้าวหน้า (Progressive Tax) คือภาษีที่เก็บในอัตราก้าวหน้า พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีรายได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีมากเท่านั้น, ภาษีแบบสัดส่วน (Propotional Tax) อันนี้แม้ใช้คำว่า ‘สัดส่วน’ แต่จริงๆ คือการเก็บเป็นสัดส่วนเท่ากันหมด ตัวอย่างของภาษีประเภทนี้ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องจ่าย 7% เท่ากันหมด ยิ่งใช้จ่ายมากก็ยิ่งต้องเสียภาษีแบบนี้มาก ซึ่งก็มีคนวิจารณ์ว่าถ้าเอามาเทียบสัดส่วนกันแล้ว ภาษีแบบนี้ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเลย เพราะคนจนต้องเสียภาษีเท่ากับคนรวย ซึ่งถ้าดูโดยสัดส่วนแปลว่าเสียมากกว่า เช่นเวลาซื้อน้ำอัดลมกระป๋องหนึ่ง สมมติว่าเสียภาษีกระป๋องละ 1 บาท เท่ากัน ถ้าคนคนนั้นมีรายได้ 10 บาท ก็เท่ากับเสีย 10% ของรายได้ แต่ถ้าคนคนนั้นมีรายได้ 100 บาท ก็จะเสียภาษีแค่ 1% ของรายได้เท่านั้น ดังนั้นภาษีแบบนี้เลยไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ภาษีอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจมาก เป็นภาษีที่มีการพูดถึงและถกเถียงกันมานาน แต่ยังไม่เคยมีการใช้กันอย่างเต็มรูปแบบเสียที ก็คือภาษีที่เรียกว่า ‘ภาษีถดถอย’ (Regressive Tax) หรือในบางที่ก็เรียกว่า Negative Income Tax
ถ้าเป็นภาษีก้าวหน้า คนที่มีรายได้มากก็จะต้องเสียมากใช่ไหมครับ แต่ภาษีแบบถดถอยหรือ ‘ภาษีติดลบ’ นี่ ไม่ได้แปลว่ามีรายได้น้อยแล้วจะเสียภาษีน้อยเท่านั้นนะครับ ในบางประเทศ (เช่นของไทยเรา) คนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด จะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่แนวคิดเรื่องนี้ไปไกลกว่าการไม่เสียภาษีอีกนะครับ เพราะในหลายแห่ง (เช่นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน) เสนอว่าถ้าใครมีรายได้ต่ำลงไปอีก คือต่ำมากๆ ก็ควรจะต้องจ่ายภาษีแบบ ‘ติดลบ’ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐกลับต้องจ่ายเงินให้คนเหล่านี้แทนที่จะไปเก็บจากเขา
ข้อเสนอแบบนี้ถูกโจมตีแน่ๆ จากคนที่บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีใครทำงานเลยสิ เพราะทุกคนก็คงอยากนั่งงอมืองอเท้ารอให้รัฐจ่ายเงินให้ทั้งนั้น แต่มีการคิดโมเดลภาษีแบบนี้เอาไว้อย่างละเอียดละออมากมายหลายแห่งเลยนะครับ เพื่อหาว่าอัตราที่รัฐควรจะจ่ายออกมานั้นเป็นเท่าไหร่ จะได้ไม่ไปกระทบแรงจูงใจในการที่คนจะทำงาน หรือควรจะนำภาษีแบบถดถอยนี้ไปประกอบร่างเข้ากับอัตราภาษีแบบอื่นๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมา
นอกจากภาษีแบบก้าวหน้าหรือถดถอย ซึ่งจริงๆ เป็นภาษีเงินได้ (Income Tax) แล้ว ยังมีการใช้ภาษีอีกรูปแบบหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำของคนด้วย นั่นก็คือภาษีที่เรียกว่า ‘ภาษีมรดก’ (Inheritance Tax) หรือ ‘ภาษีที่ดิน’ (Estate Tax) ซึ่งภาษีสองอย่างนี้ไม่ต่างกันมากนะครับ เพราะคำว่า Estate Tax หมายถึงภาษีที่ประเมินจากทรัพย์สินของผู้ตาย ส่วน Intheritance Tax คือภาษีที่ประมินจากผลประโยชน์ที่ทายาทได้รับ ซึ่งไม่บอกก็คงจะรู้นะครับ ว่าการเก็บภาษีแบบนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ตั้งแต่ต้นทาง เพราะมันทำให้คนเริ่มต้นชีวิตด้วยต้นทุนที่มีระดับพอๆ กัน ไม่ใช่มีใครได้มรดกมากมายมหาศาลจนได้เปรียบคนอื่นในสังคมมากเกินไป
ภาษีจึงเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้นี่เอง
3
รู้ไหมครับ – ว่าเลขานุการของวอร์เรน บัฟเฟต เสียภาษีในอัตราที่มากกว่าเจ้านายของเธอ
หือ, ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ล่ะ?
เรื่องนี้อธิบายได้ง่ายมากเลยครับ เพราะวอร์เรน บัฟเฟต มีรายได้ส่วนใหญ่จากการค้าหลักทรัพย์ (หรือเรียกง่ายๆ ว่าซื้อขายหุ้น) ไงครับ เพราะฉะนั้น เขาจึงเสียภาษีที่เรียกว่า Capital Gains Tax ซึ่งในอเมริกาถือเป็นภาษีที่มีอัตราต่ำกว่าภาษีเงินได้ที่มาจากเงินเดือน
ในไทยก็ไม่ต่างนะครับ ถ้าคุณไปอ่านกฎเกณฑ์และการกำกับของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ เขาจะบอกไว้เลยว่า นักลงทุนมี ‘หน้าที่’ ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมายให้ถูกต้อง แต่ถ้าคุณไปดูว่าถ้าได้ ‘กำไร’ จากการซื้อขายหุ้น (กำไรจากการซื้อขายหุ้นก็คือ Capital Gain นั่นแหละครับ) แล้ว นักลงทุนต้องเสียภาษีอากรเท่าไหร่ คุณจะพบว่าข้อกำหนดก็คือ – ถ้าเป็นบุคคลธรรมจะได้รับการยกเว้นภาษี แปลว่าต่อให้ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นมากี่แสนกี่ล้านบาทก็ตาม ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีทั้งสิ้นทั้งปวง มีแต่รายได้จากเงินปันผลเท่านั้นที่ต้องจ่าย แต่ถ้าเป็นเงินปันผลที่มาจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีอีกนั่นแหละ
จะเห็นได้เลยว่า รัฐไทยสนับสนุนส่งเสริมการเล่นหุ้นมากมายขนาดไหน แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เล่นหุ้นโดยตรง ก็ยังสามารถซื้อกองทุนบางประเภทเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก แต่ถ้าคุณทำอะไรพวกนี้ไม่เป็นหรือไม่สนใจเรื่องพวกนี้เพราะไม่คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าเสียใจด้วยนะ คุณต้องจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ดังนั้น ถ้าคุณเป็นพนักงานบริษัทที่มีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียว ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่คุณจะเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าเจ้านายของคุณที่รายได้หลักมาจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็เข้าข่ายเดียวกับวอร์เรน บัฟเฟต และเลขานุการของเขาไม่มีผิด
จะเห็นได้ว่า แม้ในด้านหนึ่ง ปรัชญาภาษีบอกเราว่า เราควรใช้ภาษีเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาษีก็ถูกกำหนดมาจากคนที่มีอำนาจนั่นแหละ
แต่คนจนย่อมมีอำนาจน้อยอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในหลายสังคม คนจนจึงกลายเป็นผู้ ‘แบกภาระภาษี’ ที่มากยิ่งกว่าคนรวย ทำให้ปรัชญาภาษีย้อนกลับไปอยู่ในยุคโบราณอีกครั้ง นั่นคือคนจนเป็นผู้ ‘แบก’ คนรวยเอาไว้บนบ่า ทั้งที่สังคมเจริญแล้วไม่ควรเป็นแบบนั้น
ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษี จึงต้องทำให้ ‘อำนาจ’ ที่จะไปควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี เป็นอำนาจที่ชอบธรรม เพื่อจะได้สะท้อนความจริงของสังคมโดยไม่ปกปิด บิดเบือน หรือสร้างโครงสร้างที่เอื้อให้กับคนบางกลุ่มที่ได้เปรียบอยู่แล้ว โดยวิธีที่จะพาเราไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีอย่างที่ว่าได้ (เช่นการคิดถึงภาษีแบบถดถอย, การคิดถึงภาษีมรดก หรือการเปลี่ยนวิธีลดหย่อนภาษีที่จะทำให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์โดยไม่ยุติธรรม) ก็ต้องกระทำผ่านระบอบการปกครองที่มีข้อเสียน้อยที่สุด – นั่นก็คือระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนได้รับข้อมูลกระจายสม่ำเสมอ และมีสิทธิตัดสินใจเลือกอย่างเสรี – ไม่ใช่ผ่านระบอบเผด็จการ, ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการแบบไหนก็ตาม
4
อันที่จริง ข้อเสนอทำนองเดียวกับ Taxation as Theft นั้น ไม่ได้เป็นข้อเสนอของพวกที่มีแนวโน้มไปทางอนาธิปไตยเท่านั้นนะครับ แต่กลุ่มเสรีนิยมใหม่ (Neoliberal) บางกลุ่มก็คิดว่าการเก็บภาษีทำให้ระบบตลาดบิดเบี้ยว (เกิด Market Distortion) ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น นักวิชาการสายนี้จำนวนหนึ่งจึงพยายามหาวิธีการลดความบิดเบี้ยวเหล่านี้ลง
เรื่องหนึ่งที่อยากเล่าให้คุณฟังก็คือ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้เสนอว่าเราควรจะลดความบิดเบี้ยวนี้ด้วยการ ‘เก็บภาษี’ คนที่เข้าเรียนสูงๆ เช่นพวกปริญญาโทปริญญาเอก คือให้คนเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เรื่องนี้อาจกลับข้างกับความคิดของคนทั่วไป ที่ว่าถ้าคนเราเรียนเก่ง เรียนสูง รัฐก็ควรต้องสนับสนุนสิ เพราะจะทำให้ได้บุคลากรหรือทรัพยากรของชาติที่เก่งๆ เป็นจำนวนมากขึ้น การไปเก็บภาษีคนเรียนเก่งเรียนสูงจะไปได้ประโยชน์อะไร แต่นักคิดในสายนี้บอกว่าการเก็บภาษีคนเรียนสูงเยอะๆ จะทำให้คนเลือกเรียนสูงๆ น้อยลง ‘ช่องว่าง’ ระหว่างคนเรียนสูงกับเรียนไม่สูงจึงลดลงด้วย จึงไปลดช่องว่างที่เกิดจากต้นทุนการเรียนที่แตกต่างกันในตลาดแรงงาน ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดแรงงานเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเสรีมากขึ้น
โอ้โห! ช่างคิดกันจริงๆ นะครับ
จะเห็นได้ว่า เรื่องของภาษีนั้นมีความซับซ้อนย้อนแย้งของมันอยู่มาก ในสังคมที่เจริญแล้วและสามารถถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง การพูดว่า Taxation as Theft อย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอ เพราะภาษีสามารถมี ‘หน้าที่’ อื่นๆ ที่จะช่วยเกลี่ยกระจายสมดุลทางเศรษฐกิจ และสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้ในหลายมิติ
แต่กระนั้น (ยักไหล่) กับสังคมที่มีแต่ Thives หรือหัวขโมยที่คอยดัก ‘ปล้น’ ตั้งแต่อำนาจที่ต้นน้ำ จนถึงเศษเงินที่ปลายน้ำ ภาษีก็อาจไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการจ่าย ‘ส่วย’ ให้กับอภิมหาระบบทุจริตที่มีการฉ้อฉลในทุกระดับประทับใจ แถมยังเป็นระบบที่อาศัยอยู่ในโลกยุคเจ้าขุนมูลนายที่คิดว่าตัวเองทรงคุณต่อผู้คนเสียด้วย
ในสังคมแบบนี้ คำถามที่ว่า – ภาษีมีไว้ทำไม, อาจไม่ต้องการคำตอบอะไรเลยก็ได้ นอกจากการก้มหน้าจ่ายๆ ภาษีไปตามวิบากของแต่ละคนพอให้พ้นๆ ไป โดยไม่เคยรู้สึกถึงประโยชน์โภชน์ผลอะไรที่ได้จากการก้มหน้าก้มตาจ่ายภาษีเหล่านั้นเลยสักนิด…ปีแล้วปีเล่า
ชีวิตเราก็เท่านี้ – จริงๆ