“ขอพูดให้ฟังว่า 4 ปี ที่ผ่านมา ผมพยายามที่จะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด คือ การทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นตำแหน่งที่ทรงคุณค่า ผมบอกเสมอว่า ตัวเองก็มีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นความผิดของผมมีเพียงอย่างเดียวที่ผมรู้ คือ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์จะต้องมีความผิดพลาด มีโมโห มีโกรธ นี่คือความเป็นมนุษย์ของผม เพราะฉะนั้นในการเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องมีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติออกมา ผมเป็นมนุษย์ ผมเป็นคน และผมทำงานเพื่อคน เพื่อประเทศไทยเพื่อคนไทย ผมก็ต้องเป็นของผมแบบนี้”
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์
(อ้างจาก prachatai.com)
นิยามคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ มีด้วยกันหลายอย่าง
ความเป็นมนุษย์ในนิยามของขงจื๊อ กับความเป็นมนุษย์ในนิยามของอริสโตเติล ย่อมไม่เหมือนกัน ความเป็นมนุษย์ในนิยามของของพ่อค้าทาสในศตวรรษที่ 18 กับความเป็นมนุษย์ในนิยามของวิคตอร์ อูโก ที่เขียน Les Miserables ก็ย่อมไม่เหมือนกัน
ในปี 1872 เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งใช้นามแฝงว่า An Earnest Englishwoman ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกตั้งคำถามว่า Are women Animals? คือถามว่าผู้หญิงมีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับผู้ชายหรือเปล่า ทั้งนี้ก็เพราะความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงในนิยามแบบโบราณ กับความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงในนิยามของปัจจุบัน ย่อมไม่เหมือนกัน
ยิ่งในยุคใหม่นี้ ความเป็นมนุษย์ในนิยามของนักปรัชญา ความเป็นมนุษย์ในนิยามของเทววิทยาหรือศาสนา กับความเป็นมนุษย์ในนิยามของนักประสาทวิทยาหรือ Neuroscientist ที่ศึกษาลึกลงไปในสมองของผู้คน รวมไปถึงความเป็นมนุษย์ในนิยามของนักสร้างหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ก็อาจยิ่งเปลี่ยนแปลงซับซ้อนแตกต่างกันไปได้อีกมหาศาล
คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้จึงคือ – ความเป็นมนุษย์, ในนิยามของคำพูดที่ยกมาข้างต้นนั้น – คืออะไร, วางอยู่บนฐานของนิยามแบบไหนกันแน่
มีคนศึกษาประวัติศาสตร์ของ ‘ความเป็นมนุษย์’ เอาไว้มากมาย อย่างเช่น Joanna Bourke เคยเขียนหนังสือชื่อ What It Means to Be Human: Historical Reflections from the 1800s to the Present หรือในคลิปวิดีโอสั้นๆ แต่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งของมูลนิธิ The Leakey Foundation ที่มีชื่อว่า What Makes Us Human? ก็พยายามไปรวบรวมคำตอบจากผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ เจน กู๊ดดาลล์ (Jane Goodall) นักชีววิทยาชื่อดังผู้ศึกษาสัตว์จำพวกไพรเมตอย่างลิงชิมแปนซี, โรเบิร์ต ซาโปลสกี้ (Robert Sapolsky) นักประสาทวิทยาชื่อดัง, สตีเฟน พิงเคอร์ (Stephen Pinker) นักเขียนและนักจิตวิทยาการรับรู้ (ที่ก็ชื่อดัง) อีกนั่นแหละ รวมไปถึงคนอื่นๆ อีกหลายคน เพื่อมาตอบคำถามว่า ‘อะไรทำให้เราเป็นมนุษย์’ สามารถดูคลิปความยาวแค่ 7 นาทีกว่าๆ ได้ที่นี่ www.youtube.com
ถ้าได้ดูคลิปที่ว่า หรือได้ลองอ่านหนังสือว่าด้วย ‘ความเป็นมนุษย์’ ทั้งหลาย เราจะเห็นได้เลยว่าการพูดถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ในคำพูดที่ยกมาข้างต้นนั้น เป็นคำพูดที่เข้าใจความหมายให้ต้องตรงกันได้ยาก ลำพังแค่พูดว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ อย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้าใจเหมือนกันว่ามันหมายถึงอะไร ยิ่งในปัจจุบัน แม้อยู่ร่วมยุคกัน แต่ผู้คนกลับหลากหลายจนมีวิธีคิดคล้ายอยู่คนละยุคห่างกันได้เป็นร้อยๆ ปี คนฟังแต่ละคนจึงอาจอาจตีความคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ไปได้กว้างขวาง ตามต้นทุนทางสติปัญญา การบ่มเพาะเลี้ยงดู ความรู้หรือไม่รู้ และต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละคน
แม้ความหมายของ ‘ความเป็นมนุษย์’ จะยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่อย่างซับซ้อน แต่โชคดีอยู่อย่างหนึ่งว่าในโลกยุคใหม่นี้ มนุษย์ทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ นั้น ต้องได้รับการคุ้มครองตาม ‘ประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ซึ่งเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ที่ประชุมของสหประชาชาติยอมรับกันในวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ดังนั้น เวลาพูดถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ คนทั่วไปในโลกจึงมักอิงคำนี้เข้ากับคำว่าสิทธิมนุษยชน เพราะนี่คือเรื่อง ‘พื้นฐาน’ ที่สุดแล้วของความเป็นมนุษย์ในยุคสมัยที่เราก้าวเดินทางสติปัญญากันมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หลักการของสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่ายเท่าไหร่ เพราะแต่ละข้อในหลักการนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งซับซ้อน รวมทั้งมีประวัติศาสตร์เบื้องหลังมากมายจนอ่านแล้วก็อาจเวียนหัวได้ โชคดีที่ในเว็บนี้ (www.youthforhumanrights.org) เขาไป ‘ย่อย’ หลักการสิทธิมนุษยชนออกมาให้อ่านง่ายๆ 30 ข้อ ก็เลยอยากชวนคุณมาดูกัน เผื่อจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาความหมายของ ‘ความเป็นมนุษย์’ อย่างที่นายกรัฐมนตรีว่า
30 ข้อที่ว่า มีดังต่อไปนี้
1. เราเกิดมาเป็นอิสระและเท่าเทียมเสมอภาคกัน ก็เลยควรได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน
2. ต้องไม่เลือกปฏิบัติ
3. เรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ และมีสิทธิจะมีชีวิตอยู่อย่างมีเสรีและปลอดภัยด้วย
4. ไม่มีใครเป็นทาส ไม่มีการค้าทาส
5. มนุษย์ต้องไม่ถูกทรมาน ไม่มีใครมีสิทธิมาทำร้ายหรือทรมานเรา
6. เรามีสิทธิมนุษยชนนี้เสมอในทุกหนแห่งไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม
7. เราเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย หมายถึงกฎหมายต้องยุติธรรมกับเรา ไม่ใช่ใครรวยกว่า ทำอะไรก็ไม่ผิด
8. กฎหมายของแต่ละประเทศต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเรา
9. ต้องไม่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างไม่ยุติธรรม เช่น ไม่ใช่จับไปขังคุกหรือกักบริเวณโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ รวมไปถึงการ ‘ไล่’ คนออกไปจากประเทศตัวเองด้วย
10. เรามีสิทธิที่จะได้รับการไต่สวน เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่างๆ ในที่สาธารณะ
11. มนุษย์เราบริสุทธิ์ก่อน จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าผิดจริงๆ ไม่ใช่แค่ถูกกล่าวหาก็ผิดแล้ว
12. เรามีสิทธิที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy ของเรา
13. เรามีเสรีภาพที่จะย้ายที่หรือเดินทางตามที่เราต้องการ
14. เรามีสิทธิที่จะแสวงหาที่ที่ปลอดภัยในการดำรงอยู่ เช่นถ้าถูกปฏิบัติด้วยแย่ๆ ในประเทศของตัวเอง ก็มีสิทธิจะหนีไปอยู่ที่อื่น
15. เรามีสิทธิที่จะมีสัญชาติ คือมีสิทธิจะเป็นคนชาติใดชาติหนึ่ง
16. เรามีสิทธิที่จะแต่งงานและสร้างครอบครัว
17. เรามีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของสิ่งของต่างๆ ของเรา คนอื่นจะมาเอาของของเราไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้
18. เรามีเสรีภาพทางความคิด
19. เรามีเสรีภาพในการแสดงออก
20. เรามีสิทธิที่จะรวมตัวในที่สาธารณะ ตั้งแต่ไปพบเพื่อน หรือไปชุมนุมร่วมกันโดยสันติ และในเวลาเดียวกันก็ไม่มีใครมาบังคับให้เราเข้าร่วมกลุ่มอะไรที่เราไม่อยากร่วมได้
21. เรามีสิทธิที่จะมีประชาธิปไตย คือมีสิทธิจะมี ‘ส่วนร่วม’ ในการปกครองของประเทศที่เราอยู่ ผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ต้องสามารถ ‘เลือก’ ผู้นำของตัวเองได้
22. เราต้องมีสวัสดิการทางสังคม เช่น เข้าถึงบ้าน ยา การศึกษา การเลือกลูกได้
23. เรามีสิทธิของคนทำงาน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
24. เรามีสิทธิที่จะเล่น ที่จะพักผ่อน ที่จะผ่อนคลายจากการทำงาน
25. เรามีสิทธิในที่พักและอาหาร หรือสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ
26. เรามีสิทธิในการศึกษา การศึกษาคือ ‘สิทธิ’ อย่างหนึ่งที่รัฐจะต้องจัดหามาให้คนทุกคน ในตอนที่เรายังเด็ก พ่อแม่ของเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะเรียนอะไรบ้าง
27. เรามีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของสิทธิ (หรือลิขสิทธิ์) ในสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ หรืออื่นๆ
28. เรามีสิทธิที่จะได้รับโลกที่ยุติธรรมและมีเสรีภาพ คือต้องมี ‘ระเบียบ’ ที่เหมาะสม ทำให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถมีความสุขกับสิทธิและเสรีภาพในประเทศของตัวเองได้ทั่วโลก
29. เราไม่ได้มีแค่สิทธิ แต่มีความรับผิดชอบด้วย นั่นคือ ‘หน้าที่’ ที่เราต้องมีต่อผู้อื่น โดยหน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือการ ‘ปกป้อง’ สิทธิและเสรีภาพของทั้งตัวเองและผู้อื่น
30. ไม่มีใครพรากเอาสิทธิมนุษยชนไปจากเราได้
คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่นายกรัฐมนตรีว่านั้น มี ‘ฐานคิด’ ที่เกี่ยวเนื่องจากสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน และไม่ว่าจะมีหรือไม่มี มันแสดงให้เราเห็นอะไรบ้างหรือเปล่า และเพราะเหตุใด คำพูดเช่นนี้จึงออกมาจากปากผู้นำประเทศ ซึ่งแสดงให้เราเห็นถึงความรู้สึกลึกๆ และความกดดันหนักหน่วงรุนแรงของผู้พูด
อีกประโยคหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเอ่ยขึ้น ก็คือ “ผมยอมรับว่า ผมมีความผิด คือ การมีความเป็นมนุษย์สูง” ประโยคนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลงชื่อ Humans Being ของ Van Halen ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Twister ในปี 1996 ซึ่งที่จริงเป็นหนึ่งในเพลงที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยเพราะดนตรีนั้นรุนแรงเกินเหตุ แต่เนื้อร้องของเพลงนี้ต้ังคำถามถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ เอาไว้อย่างแหลมคมและดุดันหลายเรื่อง และมีบางท่อนบางประโยค ที่ผมแอบรู้สึกว่าให้อารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับคำพูดนั้นของนายกรัฐมนตรี
ท่อนที่ว่าก็คือ (ขออนุญาตไม่แปลนะครับ)
Some low life flat head scum infects
The sickness in his eyes reflects
You wonder why your life is screaming
Wonder why you’re Humans Being
เนื้อร้องในเพลงของ แวน ฮาเลน ทำให้นึกโยงใยไปถึงกวีอย่าง ปาโบล เนรูด้า (Pablo Neruda) ผู้ถูกเผด็จการขับไสไล่ส่งออกจากบ้านเกิดด้วยเหตุผลทางการเมืองที่อาจมองว่าเป็นเรื่องโง่ๆ ของมวลมนุษยชาติก็ได้ เนรูด้าเคยเขียนบทกวีชื่อ Walking Around โดยท่อนเปิดของบทกวีบทนี้คือ It so happens I’m tired of being a man มันคือการบอกว่าเขา ‘เหนื่อยหน่าย’ ที่จะเป็นมนุษย์เสียแล้ว
จากความเป็นมนุษย์ของนายกรัฐมนตรี ถึงสิทธิในความเป็นมนุษย์ในนามของสิทธิมนุษยชน กระทั่งถึงการตอบโต้ผู้ที่รุกล้ำในความเป็นมนุษย์ รวมถึงความเหนื่อยหน่ายในความเป็นมนุษย์ ทำให้เราเห็นได้ว่า แม้เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่มนุษย์กลับมองและรู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ไม่เหมือนกัน และอาจมีกระทั่งมนุษย์ประเภทที่เห็นแต่ ‘ความเป็นมนุษย์’ ในตัวเอง โดยไร้ความสามารถที่จะมองให้เห็นถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ในตัวผู้อื่นอยู่ด้วย
‘ความเป็นมนุษย์’ อันมีที่มาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี – จึงเป็นเรื่องซับซ้อนอย่างนี้นี่เอง