ในวันแรกที่บทความนี้เริ่มเผยแพร่ นับเป็นวันที่ “แพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 1 เดือนกว่า และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดอาหารประท้วงเกือบครบ 1 เดือนแล้ว เพื่อประท้วงที่เขาและเธอ รวมทั้งเพื่อนจำเลยในคดี 112 คนอื่นๆ ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี หลังจากเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง
ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงความวิปริตผิดประหลาด ทั้งตัวบทกฎหมายในตัวของมันเองของมาตรา 112 และกระบวนการในการใช้ ที่ทั้งอยุติธรรม ขัดกับสามัญสำนึกความถูกต้อง หลักการตามธรรมนองคลองธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มีหลายกลุ่มองค์กรและหลายคนพูดจนปากเปียกปากแฉะกันแล้ว แต่จะมาพูดถึงการอดข้าวประท้วง
การอดอาหารประท้วงเป็นการประท้วงอย่างหนึ่งของการต่อสู้ไร้ความรุนแรง (non-violence) ที่ผู้ประท้วงเสียสละใช้ร่างกาย สุขภาพและชีวิตเข้าแลก โดยหวังให้สาธารณชนไม่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด และผู้มีอำนาจหันมาตื่นตระหนักถึงปัญหาที่พวกเขาและเธอกำลังรณรงค์อยู่ ไปพร้อมกับวัดระดับจิตใจกันว่า ยังมีมนุษยธรรมหรือไม่ ยังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า เพราะทุกมื้ออาหาร ทุกวันทุกชั่วโมงที่ผ่านไป ยิ่งเพิกเฉยดูดายก็ยิ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองลงไปเรื่อย ๆ
และการที่เพนกวินและรุ้งอดอาหารมายาวนานขนาดนี้ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าพวกนั้น จิตใจไม่ใช่มนุษย์
ในฐานะยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมือง
การอดข้าวประท้วงจึงปรากฎอยู่ทั่วขบวนการเคลื่อนไหวทั่วทุกมุมโลก
ที่สามารถสั่นคลอนรัฐและผู้มีอำนาจได้ รวมทั้งปลุกกระแสสังคมได้
ก่อนที่ปฏิวัติรัสเซีย 1917 จะมาถึง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ที่เพิกเฉยชะตากรรมความเป็นอยู่และเสียงของของราษฎร ราชวงศ์โรมานอฟใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยฉาวโฉ่ในราชวัง ระบอบเช่นนี้ช่วยผลิตนักปฏิวัติมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเคลื่อนไหวของราษฎรผู้อัดอั้นเนืองๆ เกิดการต่อสู้ตอบโต้และปราบปราม มีนักโทษการเมืองถูกจับกุมเรื่อยมา ถูกยัดข้อหากบฏ ถูกลงโทษทรมานรูปแบบต่างๆ และถูกใช้แรงงานราวทาสในคุกไซบีเรีย
ในฤดูใบไม้ผลิปี 1878 นักโทษการเมืองชายในป้อมปีเตอร์แอนด์พอล (Peter and Paul Fortress) ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ได้อดอาหารประท้วงต่อต้านสภาวะการกดขี่เอารัดเอาเปรียบของระบอบซาร์ 3 วันถัดมา ข่าวการการนัดอดอาหารประท้วงก็ถึงหูครอบครัวของนักโทษการเมือง พวกเขาและเธอยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ปล่อยตัว ทว่าผู้อำนวยการสารวัตรทหาร นายพล N. V. Mezentsev ผู้อำมหิตปฏิเสธและรายงานว่า “ให้พวกนั้นตาย ๆ ไปสะเถอะ ฉันสั่งโลงศพให้พวกเขาทั้งหมดแล้ว” ซึ่งสร้างได้ความโกรธแค้นให้กับราษฎรอย่างมาก
นักปฏิวัติ และอดีตนายทหารปืนใหญ่อย่าง Sergius Kravchinskii จึงใช้มีดสั้นฆ่า Mezentsev บนถนนในเมือง จากนั้นเขาก็หนีไปยังบริเตนใหญ่อันเป็นแหล่งหลบภัยของเหล่านักปฏิวัติรัสเซีย นับตั้งแต่ Alexander Herzen เดินทางเข้ามาตั้งแต่ปี 1852 แล้วก่อตั้งสำนักข่าวปฏิวัติรัสเซีย Kravchinskii ก็เช่นกัน เขาใช้นามปากกา Sergius Stepniak เขียนบทความมากมายต่อต้านระบอบซาร์ และเมื่อ 1890 เขาได้เป็นบรรณาธิการวารสาร Free Russia ที่ลอนดอน ตั้งแต่ฉบับแรก เขานำเสนอลำดับเวลาเหตุการณ์การอดอาหารประท้วงของนักปฏิวัติจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำโดยกลุ่มนักปฏิวัติหญิงที่ถูกคุมขังที่ Kara ใน Trans-Baikál ทางตะวันออกของไซบีเรีย การประท้วงครั้งนี้ทำให้เกิดนักโทษการเมืองหญิงตายไป 1 คนหลังจากที่เธอถูกเฆี่ยน และนักโทษทางการเมืองทั้งหญิงและชาย 5 คนฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษหลังจากการตายของสหายของพวกเขาและเธอ นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ เจ็บปวดร่วมให้กับนักปฏิวัติรัสเซียในอังกฤษ[1]
และด้วยยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไม่เพียงปฏิวัติรัสเซียจะสำเร็จ สามารถโค่นล้มซาร์ได้
ยุทธศาสตร์การอดอาหารครั้งนี้ยังเป็นอีกแรงบันดาลใจ
และถูกอ้างอิงให้กับนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีอังกฤษในการ
เรียกร้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิพลเมือง สิทธิในการเลือกตั้งและรับเลือกตั้ง[2]
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักเคลื่อนไหวหญิงชาวอังกฤษจำนวนมากอดอาหารประท้วงในคุก ซึ่งการที่พวกเธอถูกจับเข้าคุกนั้นก็เพราะว่า พวกเธอออกมาเรียกร้องให้มีสิทธิในการเลือกตั้งและลงรับเลือกตั้งเหมือนกับพลเมืองชาย เพราะการอดข้าวประท้วงเป็นยุทธศาสตร์สากลอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองละหนึ่ง และสองพวกเธอใช้มันเพราะได้รับแรงอิทธิพลจากนักปฏิวัติรัสเซียที่ลี้ภัยมาอังกฤษ เธอกล่าวว่า นี่คือ “Russian method” [3]
Marion Wallace Dunlop เป็นคนแรกที่อดอาหารประท้วงในปี 1909 เธอโดนจับกุมจากการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเหมือนที่ผู้ชายมีมายาวนาน เธอถูกใช้แรงงานอย่างหนักตรากตรำในเรือนจำ Royal Holloway เธอจึงประท้วงด้วยการอดอาหาร โดยไม่ได้ปรึกษาใครแม้แต่แกนนำเคลื่อนไหวอย่าง Emmeline Pankhurst (ซึ่งต่อมาเธอก็เป็นอีกคนที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำเช่นกัน)จนกว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นนักโทษการเมือง และได้รับการปฏิบัติด้วยสิทธิตามสถานะ (ในประเทศที่เจริญแล้ว จะปฏิบัติตามหลักสากล ที่นักโทษการเมืองจะมีสิทธิในการรับปฏิบัติต่างจากนักโทษอาชญากรรมอื่นๆ )
หนังสือพิมพ์ที่มีจรรยาบรรณและศักดิ์ศรีในฐานะสื่อ รายงานข่าวเรื่องราวการต่อสู้ของเธออย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อเรียกร้อง จดหมายและบันทึกของเธอที่ต้องการให้สาธารณะได้รับรู้ เธอบันทึกว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ส่งอาหารมาให้เธอ เธอก็ปฏิเสธที่จะกิน โยนปลาทอด ขนมปัง 4 แผ่น กล้วย 3 ลูก และนมร้อน 1 ถ้วย ออกไปนอกหน้าต่างกรงขัง แม้ว่าจะหิวโหยแค่ไหนก็ตาม และตลอดทั้งวันเธอก็ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าจะปั๊มนมใส่รูจมูกของเธอ
การอดอาหารของเธอกินเวลา 91 ชั่วโมงก่อนที่เธอ
จะได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลที่ประหวั่นพรั่นพรึงว่าเธอจะเสียชีวิต
การประท้วงของเธอในครั้งนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงหัวก้าวหน้าหลายร้อยคน เคลื่อนไหวด้วยยุทธศาสตร์แบบเธอ เจ้าหน้าที่พยายามจัดการกับผู้อดข้าวประท้วงด้วยการบังคับให้อาหาร รุมกันยัดสายยางเข้าจมูกทั้ง 2 รู เข้าลำคอ ส่งผ่านอาหารเข้าร่างกาย บางคนถูกล็อกแขนขาตรึงไว้กับเตียง จับบีบปากเพื่อที่ตักอาหารกรอกปากได้ สร้างความเจ็บปวดทั้งกายและใจให้กับนักโทษที่อดอาหารอย่างมาก นำไปสู่การเรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทรมานนักโทษที่กำลังอ่อนระโหยโรยแรง แพทย์เองก็ออกมาบอกว่าการบังคับให้อาหารเช่นนี้ส่งผลร้ายต่อระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหารและระบบประสาท และบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ทำผิดวิธี ใส่ท่อผิดตำแหน่งจนนักโทษเป็นโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม
ผู้ชายที่สนับสนุนสิทธิพลเมืองของผู้หญิงก็มีนะ และเขาก็ร่วมอดอาหารด้วย Hugh Franklin คือหนึ่งในสมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็อดข้าวประท้วงในเรือนจำ Pentonville
ในที่สุดปี 1913 รัฐต้องยอมออกกฎหมายปล่อยตัวนักโทษชั่วคราว เฉพาะนักโทษประท้วงที่อดอาหารจนอ่อนแออิดโรยเสี่ยงอันตรายอาจถึงแก่ชีวิต แต่พอร่างกายพวกเธอกลับมาแข็งแรงอีกครั้งก็ถูกจับกุมตัวอีก โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญ… เป็นงงนะ
การเรียกร้องสิทธิสตรีในการออกเสียงเลือกตั้งนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 และก็ต่อสู้เรื่อยมาเกือบ 100 ปี กว่าพวกเธอจะได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบเมื่อทศวรรษ 1920 พวกเธอโดนมาเยอะ เจ็บมาเยอะ เคยมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่ผู้หญิงมากกว่า 3,000 คนมารวมตัวกันโดยนัดหมาย เดินขบวนตามท้องถนนของลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1907 หลายคนถูกจับกุม มีรายงานว่า มีนักเคลื่อนไหวหญิงมากกว่า 1,000 คนที่ต้องใช้เวลาอยู่หลังกรงขังระหว่างปี 1908 – 1914[4] และการอดอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองท้าทายอำนาจรัฐที่มันอยุติธรรม (แต่ก็ถือว่ายังมนุษยธรรม ที่ไม่ปล่อยให้นักโทษต้องประท้วงอดอาหารหลายวันเป็นเดือน ผิดกับบางประเทศ)
และการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเหล่าผู้หญิงถูกหมุดหมายให้เป็นการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 1
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า การประท้วงอดอาหารเป็นการต่อสู้ที่ไร้ความรุนแรงหรือสันติวิธีที่สุดอย่างหนึ่ง ผู้ประท้วงต้องกล้าหาญ เสียสละอย่างมาก ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความอำมหิตหยาบช้า ไร้มนุษย์ธรรมและความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เพิกเฉยมองข้าม ด้อยค่าการเคลื่อนไหวที่นักประท้วงกำลังต่อสู้ เพราะการอดข้าวประท้วง ที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อดทนต่อความความหิวโหย เจ็บปวดและทรมาน เป็นอีกการเคลื่อนไหวของประชาชนสามัญชนคนนึงเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ได้มีทรัพยากรอำนาจใดอย่างที่รัฐหรือผู้เรืองอำนาจมี และร่างกายจึงเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เขาและเธอมีและยอมเสียสละมัน
[1] Kevin Grant. (2011). British Suffragettes and the Russian Method of Hunger Strike. Comparative Studies in Society and History, 53(1), 113-143.
[2] Ibid
[3] Ibid