ผมได้ยินชื่อ โซเมีย (Zomia) ครั้งแรกก็จากหนังสือเล่มนี้
อย่างคร่าวๆ โซเมียคือชื่อเรียกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตรขึ้นไป ครอบคลุมบริเวณกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร แผ่ขยายจากพื้นที่แถบตะวันออกของจีน พาดผ่านเวียดนาม ลาว ไทย พม่า ไปจนถึงอินเดีย แน่นอนครับว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อาจฟังดูน่าเบื่อเมื่อแรกได้ยิน แต่ความน่าสนใจของโซเมียอยู่ที่จำนวนประชากรซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มีถึงร้อยล้านคน! คำถามคือ แล้วทำไมเราถึงไม่ค่อยจะได้ยินเรื่องราวของคนกลุ่มนี้ได้รับการพูดถึงเลยล่ะ ทั้งที่จำนวนมีมากถึงขนาดนี้? คำตอบก็คือ
ประชากรกลุ่มนี้ยังไม่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ใต้การปกครองของรัฐใดๆ โดยสมบูรณ์ กล่าวคือ ชาวเขาเหล่านี้คือคนไร้รัฐนั่นเอง (Stateless Peoples)
James C. Scott ศาสตราจารย์และนักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้หยิบยืมแนวคิดเรื่องผืนทวีปโซเมีย จาก Willem van Schendel ศาสตราจารย์ประจำวิชานักอุษาคเนย์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ผู้เสนอคำนี้เป็นครั้งแรกในปี 2002 ครับ
ลองมองอย่างนี้ครับ ‘รัฐ’ เป็นแนวคิดที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเพียงไม่กี่ศตวรรษเท่านั้น ยิ่งถ้าเทียบกับระยะเวลาหลายพันปีที่มนุษย์รอนแรมอย่างอิสระ เดินป่าล่าสัตว์และเก็บพืชพรรณอย่างปราศจากพันธะผูกมัดหรือถูกจำกัดจากเขตแดนใดๆ ก็ต้องบอกว่า ‘ความเป็นรัฐ’ ยังถือว่าเยาว์วัยมากทีเดียว ซึ่งหากเป็นแบบนี้คำถามที่ตามมาคือ แล้ววิถีชีวิตของคนไร้รัฐในยุคสมัยที่แนวคิดเรื่องรัฐได้ถูกสถานปนาขึ้นแล้วล่ะ จะเป็นอย่างไร แล้วคนไร้รัฐเหล่านี้มีมุมมอง สร้างคำอธิบาย และรับมือกับความเป็นรัฐอย่างไร
The Art of Not Being Governed ได้เสนอว่า การที่เราจะทำความเข้าใจชาวเขาในผืนทวีปโซเมียได้ดีที่สุด คือการทำความเข้าใจผ่านกรอบความคิดที่ว่า ชาวเขาเหล่านี้คือกลุ่มคนที่หลบหนีจากการกดขี่ของรัฐ โดยที่วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของพวกเขาในทางหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการความพยายามที่ต้องการจะผลักการกินกลืนของรัฐให้ห่างไกลจากตัวเอง
Scott กล่าวว่า ประชากรบนโซเมียที่ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง กะเหรี่ยง คะฉิ่น และอีกมากมายนั้น โดยส่วนใหญ่ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเหล่าชาวนาในพื้นที่ลุ่ม (Lowland Farmers) แต่มาจากผู้คนที่หลบหนีจากพื้นที่ลุ่มขึ้นสู่ที่สูง โดย Scott ได้เสนอว่า โซเมียควรจะถูกมองในฐานะของ ‘Shatter Zone’ ในความหมายของพื้นที่ที่ผู้คนที่ตัดสินใจแยกตัวจากการต้องอยู่ใต้ปกครองของรัฐมาพำนักและดำเนินชีวิต
โครงสร้างชุมชนในโซเมียมีลักษณะของการต่อต้านรัฐอยู่ในตัว เช่น ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำการเกษตรในลักษณะที่เรียกว่า การเกษตรแบบหลบหนี (Escape Agriculture) หรือการเกษตรแบบหมุนเวียน ที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นการผสมผสานพืชพันธ์ที่เพาะปลูกอย่างไม่แน่นอน จนทำให้ระบบการเก็บภาษีจากรัฐที่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต้องพบเจอ ใช้ไม่ได้กับพื้นที่แถบนี้ เนื่องจากระบบภาษีไม่สามารถติดตามผลผลิตและพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ ชุมชนในโซเมียยังมีลักษณะที่เรียกว่า โครงสร้างสังคมแบบหลบหนี (Escape Social Structure) ในความหมายคือ ไม่มีสายเลือดหรือตระกูลใดๆ ที่มีสถานะเหนือกว่าสายเลือดอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดเรื่องของฐานันดรหรือชนชั้นถือเป็นที่เกลียดชังในพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่ข้อสังเกตของ Scott ที่น่าสนใจที่สุดคือ ชาวเขานั้นขาดธรรมเนียมการเขียนที่ซับซ้อน จะมีก็แต่สัญลักษณ์ง่ายๆ เฉพาะกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เท่านั้น โดยเขาได้เสนอว่า เป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งชาวเขาเคยมีการเขียนที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับผู้คนในที่ลุ่ม แต่ในที่สุดก็เลือกละทิ้งธรรมเนียมการเขียนไปเพราะเห็นว่า การมีอักขระ หรือการจารึกใดๆ นั้นจะเป็นอันตรายต่อพวกเขาจากการพยายามกลืนกินของรัฐ
หากย้อนกลับไปในอดีต รัฐและเหล่าผู้ปกครองเคยมองว่าพื้นที่นอกการปกครองเป็นดินแดนอนารยชนที่รัฐเองออกจะหวั่นๆ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงเข้าสักวัน หากมองในฝั่งของรัฐ การที่รัฐพยายามชักจูงให้ผู้คนยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองโดยการตั้งถิ่นฐานแน่นนอน และปลูกผักอยู่กับที่นั้นก็เพื่อที่ตัวรัฐเองจะสามารถควบคุมผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างแม่นยำ แต่หากมองในฝั่งตรงข้ามตามสายตาของคนไร้รัฐ สาเหตุแรกที่รัฐหวาดกลัวต่อคนไร้รัฐนั้นมาจากการที่ทรัพยากรภายใต้การควบคุมของรัฐนั้นติดนิ่งอยู่กับที่ ชาวบ้านจะปลูกข้าวในนาผืนเดิม ทำสวนในอาณาบริเวณเดิม จนผลผลิตที่ได้ไม่ต่างอะไรกับทรัพย์สมบัติที่เตรียมพร้อมรอคอยการปล้นชิง
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไร้รัฐคือภาพแทนของการหยิบยื่นทางเลือกใหม่ๆ ที่เย้ายวนใจให้ผู้คนในปกครองของรัฐได้เห็นว่า การถอนตัวออกจากรัฐเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ พวกเขาก็สามารถไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้แบบคนไร้รัฐ พูดอีกอย่างคือ การมีอยู่ของคนไร้รัฐได้ตอกย้ำต่อคนในรัฐว่า การอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไม่ใช่หนทางบังคับของการมีชีวิต แต่เป็นแค่เพียงทางเลือกหนึ่งที่รัฐกล่อมเกลาให้ประชาชนหลงเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่น (นั่นคือการเป็นคนไร้รัฐ) อีกแล้ว
แต่คำถามคือ ทำไมอยู่ๆ รัฐถึงนึกอยากจะกลืนกินคนไร้รัฐและดินแดนโซเมีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมองว่าเป็นดินแดนอนารยะขึ้นมาล่ะ
Scott เล่าว่า ความพยายามของรัฐที่จะรวมผู้คนที่อยู่นอกเหนือการปกครองเกิดจากการมาถึงของแนวคิดเรื่องความก้าวหน้า, การพัฒนาการทางเศรษฐกิจ, การถ่ายทอดความรู้ด้านการอ่านเขียน, และการบูรณาการสังคม ซึ่งในความเป็นจริงคือ รัฐพยายามจะสร้างความนิ่งนอนใจให้กับตัวเองว่ากิจการทางเศรษฐกิจใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอาณาบริเวณของตน (แม้ว่าโซเมียจะเป็นพื้นที่ภูเขา แต่ก็ยังถูกขีดเส้นด้วยพรมแดนของรัฐ) ต่อจากนี้ไป จะถูกรับทราบ, ประเมินมูลค่า, ได้มาซึ่งภาษีแน่นอน และสามารถเข้าแทรกแซงและยึดทรัพย์ในกิจการใดๆ ของประชาชนได้ (ในที่นี้หมายถึงการดึงคนไร้รัฐกลับมาสู่การปกครองของรัฐอีกครั้งหนึ่ง)
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และคนไร้รัฐคือการยื้อยุดระหว่างกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฝั่งหนึ่งพยายามหลบหนี ในขณะที่อีกฝ่ายก็ดึงดันจะไล่จับลงตะกร้า แน่นอนครับว่าเท่าที่ผมสรุปมานี้เป็นเพียงการย่นย่อและลดทอนความซับซ้อนของหนังสือเล่มนี้ลงเป็นอย่างมาก ชนิดที่หากคุณผู้อ่านพอจะสนใจประเด็นเรื่องคนไร้รัฐขึ้นมาบ้าง ผมก็ยืนยันว่าลองไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเถอะครับ เพราะสำหรับผมแล้ว The Art of Not Being Governed น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ส่งผลกระทบต่อทัศนะ ความเชื่อ และมุมมองต่อคนไร้รัฐอย่างรุนแรง จนถือเป็น Eye-Opening Expereince ครั้งสำคัญในชีวิตเลยล่ะครับ