ดูเหมือนตอนนี้ ไม่ว่าใครก็ติดตามข่าวเรื่องไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่หรือที่ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า COVID-19 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นปวดหัวกันไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ว่าใครก็กลัวตายนั่นล่ะครับ ส่วนผมอยู่ทางโตเกียวนี่ก็ต้องบอกว่า คนน้อยลงจริงๆ นอกจากไปไหนมาไหนเท่าที่จำเป็นแล้วก็ไม่ค่อยอยากจะออกบ้านเท่าไหร่ครับ ถ้าไม่ต้องไปถ่ายงานหรือประชุมอะไร ก็ขออยู่บ้านเฉยๆ นี่ล่ะ เพราะต่อให้อัพเดตข้อมูลบ่อยแค่ไหน แต่ถ้าเกิดรายละเอียดเกี่ยวกับตัวโรคยังไม่ชัดเจนพอ ก็ยังไม่อยากเสี่ยงครับ
แน่นอนว่า ของแบบนี้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นแล้วก็คงได้แต่ต้องหาทางจัดการให้เร็วที่สุด ที่ผ่านมาผมเคยเขียนเรื่องการจัดการในแง่สาธารณสุข และในแง่ของการดูแลคนชาติตัวเองในต่างประเทศไปแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่อดพูดถึงไม่ได้จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้คือ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจครับ
ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่า หนึ่งในศรสามดอกที่เป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอาเบะก็คือ การท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่เปิดประเทศให้คนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะสำหรับชาวเอเชียด้วยกันที่แห่มาเที่ยวจนจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มกันจนกราฟชันอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งปี ค.ศ.2020 ที่กำลังจะมีอีเวนต์สำคัญของชาวโลกคือ โตเกียวโอลิมปิก รัฐบาลอาเบะก็ยิ้มร่าเตรียมรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะต้องมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนให้ได้
แต่พอเกิดปัญหา COVID-19 ขึ้นมา ก็กลายเป็นปัญหาสองปมให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปวดหัว ปมแรกคือ นักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะส่วนหนึ่งถูกกันไม่ให้เดินทาง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่อยากจะเดินทางไปไหนเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองเปล่าๆ และอีกปมคือ ในประเทศญี่ปุ่นเองก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ยิ่งในเรือสำราญที่จอดที่ท่าเรือโยโกฮาม่าที่มีคนติดเชื้ออยู่ในเรือก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อชาวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งทุกคนที่อ่านที่อยู่เมืองไทยคงรู้ดีอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเองก็ออกประกาศเตือนเรื่องการเดินทางมาที่ประเทศญี่ปุ่นนี่
ทั้งสองประเด็นที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นเรื่องชวนปวดหัวของรัฐบาลเพราะว่านอกจากการท่องเที่ยวที่หวังจะให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องสะดุดล้มเพราะ COVID-19 แล้ว ปัญหาที่ซ้ำเติมหนักคือ การหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวญี่ปุ่นชนิดที่ทำให้ทุกวงการต้องกุมหัวกันอย่างหนักเลยทีเดียว เอาจากความรู้สึกส่วนตัวเท่าที่ผมสัมผัสเอง ก็เห็นนักท่องเที่ยวน้อยลงจริงๆ ครับ จากที่สถานีสำคัญต่างๆ ต้องเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว นี่ไปไหนมาไหนก็รู้สึกว่านักท่องเที่ยวลดลง ร้านที่คิวยาวๆ ก็คิวหาย ถ้าเป็นร้านที่ยอดขายมาจากชาวจีนเป็นหลักก็คงเหนื่อยกันหน่อยครับ
เอาจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่มีผลหลายที่ในโลก เพราะปัจจุบันอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มสูงมากขึ้นจนพอเกิดอะไรก็รับผลกระทบกันไปพร้อมหน้าพร้อมตากันทั่วโลก
เพียงแต่ญี่ปุ่นอาจจะหนักกว่าเพราะว่าพึ่งพารายรับ
จากนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักช็อปกันมือเติบเป็นอย่างมาก
เมื่อเทียบกับตอนที่โรค SARS ระบาดในช่วงปี ค.ศ.2002 แล้ว ระหว่างปี ค.ศ.2002 ถึงปี ค.ศ.2019 ปริมาณนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานั้นถึง 6.1 เท่า และถ้าดูแต่ส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ก็เพิ่มขึ้นถึง 21.2 เท่า เรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ซึ่งในตอนที่ SARS ระบาดหนักขึ้น ในปีถัดมา คือปี ค.ศ.2003 ช่วงเดือนพฤษภาคม นักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นก็ลดลงโดยรวม 34.2% และนักท่องเที่ยวชาวจีนก็ลดลง 69.9% เลยทีเดียว ถ้ามองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นแล้วเอามาประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ ก็คงจะเห็นตัวเลขที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปาดเหงื่อด้วยความหนักใจ จากที่อะไรจะไปได้สวย ก็ต้องมาสะดุดเพราะปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน
จากการประเมินด้วยโมเดลปัญหาเดียวกันโดย Nomura Research Institute ถ้าปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงแบบเดียวกับตอนเกิด SARS ระบาดแล้ว การหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีนก็จะส่งผลต่อ GDP ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.2020 เป็นยอดเงินถึง 265,000 ล้านเยนโดยประมาณ ส่วนเมื่อมองโดยรวมแล้วก็จะส่งผลรวมถึง 776,000 ล้านเยน โดยประมาณ ซึ่งถ้าสถานการณ์ย่ำแย่แบบนี้ต่อไปเป็นเวลา 1 ปี ก็จะส่งผลต่อ GDP ของญี่ปุ่นประมาณ 0.45% เป็นเงินจำนวน 2.475 ล้านล้านเยน ฟังแล้วก็ชวนเหนื่อยเอาเรื่องจริงๆ ครับ
แม้รัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา มีเรื่องให้กระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนก็ยังคงชื่นชอบที่จะเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น เพราะทั้งระยะทางที่ใกล้ สินค้าที่ขายมีคุณภาพดี และเมื่อรายรับเฉลี่ยของชาวจีนเพิ่มมากขึ้น การมาเที่ยวญี่ปุ่นก็จัดว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวจีน รวมไปถึงชาวจีนรุ่นใหม่ที่โตมากับวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นไม่ต่างจากเด็กไทย ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาที่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก
และเมื่อดูตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวชาวจีนในญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมเขาถึงพยายามอยากจะดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศมากันมากเหลือเกิน ดูจากปริมาณการใช้เงินของนักท่องเที่ยวในปี ค.ศ.2019 แล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้เงินที่ญี่ปุ่นเฉลี่ยประมาณคนละ 212,921 เยน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโดยรวมคือคนละ 158,458 เยน เรียกได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยไปเยอะ ที่สำคัญคือ ชาวจีนใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอยช็อปปิ้งไปถึงคนละ 109,000 เยน เป็นเท่าตัวของค่าเฉลี่ยโดยรวมคือคนละ 53,000 เยนเลยทีเดียว
จะว่าไปก็ไม่แปลกเพราะแม้จะไม่ได้ใช้เงินมือเติบทุกคน แต่คนที่ใช้เงินก็ใช้หนักจริงๆ ขนาดที่ทำให้คำว่า ‘บะคุไก’ หรือ ‘ซื้อแบบถล่มทลาย’ ดังในสังคมญี่ปุ่นได้ ถ้ารายรับตรงนี้หายไป ไม่ใช่แค่เงินที่เข้ามาในระบบญี่ปุ่นโดยตรง แต่หมายถึงการทำให้กิจการร้านค้าต่างๆ ประสบกับปัญหาความคล่องตัว ซึ่งก็อาจจะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันต่อได้อีก
จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่ประสบปัญหานี้หรอกครับ แต่ยังรวมถึงภาคการผลิตและการบริโภคที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะจีนก็เป็นโรงงานใหญ่ของโลก แต่ที่เห็นผลกระทบตรงๆ คงเป็นการท่องเที่ยวนี่ล่ะครับ ซึ่งก็คงต้องดูต่อไปว่าจะฟื้นเมื่อไหร่ แม้บางเมืองจะพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการบอกว่า ไม่มีคนมาเที่ยวตอนนี้นะ (คงจะบอกเป็นนัยว่าไม่มีคนจีน) อยากจะมาเที่ยวก็มาเที่ยวตอนนี้สิ
ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเมืองเกียวโต ที่พยายามขายจุดเด่นที่ป่าไผ่ที่อาราชิยามะว่าไม่มีคนกวน อยากถ่ายรูปเท่าไหร่ก็ถ่ายได้ แต่เท่าที่อ่านรายงานก็คือ นักท่องเที่ยวก็ยังน้อยอยู่ดี คนที่เที่ยวเกียวโตมากขึ้นกลับเป็นนักธุรกิจหรือพนักงานบริษัทที่แวะพักผ่อนหลังติดต่องาน เพราะที่ผ่านมาร้านอร่อยชื่อดังต่างมีคิวยาว พอไม่มีคนแล้วก็ได้โอกาสไปลองกินบ้าง ก็ฟังพอให้ชื่นใจได้บ้าง แต่ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของการพึ่งพากับคาดหวังรายรับจากชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป จนจู่ๆ พอรายรับตรงนั้นหายไป ก็ช็อคจนต้องรีบหาทางแก้หันกะทันหันแบบนี้ล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก