ในสาธารณรัฐเคนยา มีประชากรประมาณ 54,985,698 คน เต็มไปด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น หากแต่วัฒนธรรมร่วมบางประการที่มีเหมือนกันคือการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation – FGM) และในปี ค.ศ.2020 จากการสำรวจพบว่ายังมีเด็กหญิงและหญิงชาวเคนยัน 4,000,000 คน ถูกขริบ
FGM มีหลายรูปแบบตั้งแต่
- ใช้กรรไกรหรือมีดเฉือนสไลด์บางๆ บางส่วนของคลิตอริสออก หรือทำเป็นรอยบากพอเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ยังพบในทางภาคใต้ของไทย ที่แม่จะอุ้มเด็กหญิงเล็กแบเบาะ ไปทำที่คลีนิคแถวชุมชนหรือเชิญหมอหรือหมอตำแยมาทำที่บ้าน[1]
- ตัดเฉพาะคริสตอริสออกหมด
- ตัดทั้งคลิสตอริส รวมทั้งแคมนอกและในถูกเลาะออก บ้างก็เลือกเหลือแคมไว้นอกหรือในไว้ ซึ่งเป็นการขริบที่พบมากที่สุดทั่วโลก
- เป็นการผ่าตัด เลาะคลิตอริสและอวัยวะปากช่องคลอดออกหมดแล้วตัดเย็บปิดอวัยวะเพศเว้นช่องไว้ให้ 2-3 มิลลิเมตรเพื่อให้ปัสสาวะและประจำเดือนไหลออกได้เท่านั้น จะถูกเปิดบางส่วนออกเมื่อแต่งงาน ให้เจ้าบ่าวตรวจเช็คก่อนตัดสินใจแต่งงาน เพื่อประกันความมั่นใจว่าเธอคือสาวพรหมจรรย์ และจะเปิดเต็มที่เมื่อคลอดลูก คลอดเสร็จก็จะถูกกลับไปเย็บปิดอีกครั้ง ซึ่งพบมากในตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา[2]
อีอันที่ 4 นี่ เป็นที่นิยมในวัฒนธรรมในเคนยา ซึ่งจะทำเมื่อเด็กหญิงเริ่มโตเป็นสาว อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ได้สร้างความเจ็บปวดทรมาน ทั้งกาย ใจ และความทรงจำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตโดยเฉพาะหญิงในพื้นที่ชนบท ครอบครัวยากจน ที่ยังคงสมานแผลผ่าตัดนี้ด้วยสมุนไพรภูมิปัญญาดั้งเดิม มีหญิงจำนวนมากต้องตายเพราะประเพณีเช่นนี้
ประเพณีนี้อยู่บนฐานคิดปิตาธิปไตยที่เชื่อว่าขริบแล้วเป็นประโยชน์ให้ผู้หญิงควบคุมพฤติกรรมทางเพศเมื่อโตเป็นสาว ให้เป็นคนสะอาด จิ๋มแข็งแรงไม่ติดเชื้อง่าย ลดความก้าวร้าวของผู้หญิง หญิงที่ไม่ขริบคือหญิงที่ไม่ได้รับการควบคุมความต้องการทางเพศ และจะกลายเป็นภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์ ควบคุมไม่อยู่ และไม่สามารถให้ความสุขกับผู้ชายได้ ชีวิตแต่งงานจะเต็มไปด้วยปัญหาในอนาคต การขริบจะช่วยประกันความมั่นใจให้กับสามีได้ว่าพวกเธอจะไม่คบชู้
ใดๆ คือ การขริบอวัยวะเพศหญิงต้องสะกดว่า “ขริบ” เพราะคำว่า “ขริบ” หมายความว่า ตัดเล็มออกแต่น้อยให้ได้ขนาดหรือรูปทรงด้วยกรรไกร ส่วน “ขลิบ” หมายถึงเย็บริมเพื่อความเรียบร้อยหรือสวยงาม[3] ดังนั้นจึงไม่ใช้คำว่า “ขลิบ” กับ FGM แต่ใช้คำว่า “ขริบ” เพราะมันไม่ใช่ความสวยงามเรียบร้อยแต่ประการใด หากแต่คือความอำมหิตบนเนื้อตัวร่างกายเพศสรีระหญิงด้วยโลกทัศน์ปิตาธิปไตย หากมองว่าเป็นความเรียบร้อยสวยงามก็เป็นการมองแบบชายเป็นใหญ่ที่ต้องการเข้ามาตัดเฉือนเนื้อตัวร่างกายอวัยวะเพศของผู้หญิงเพื่อควบคุมกำกับเพศวิถีของพวกเธอ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเคนยา FGM ยังคงปฏิบัติมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แม้ว่าจะถูกประกาศแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ที่กำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดและผู้ที่สนับสนุนการปฏิบัติ รวมทั้งลงโทษผู้ที่ข้ามประเทศไปขริบในต่างประเทศ อย่างยูกันดา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ที่ยังมีธรรมเนียมนี้ และไม่ว่าจะเป็นการยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกกระทำเองก็ถือว่าเป็นอาชญากรรม มีบทลงโทษจำคุก 3 ปีและปรับ 2,000 ดอลลาร์
แต่ถึงกระนั้นเด็กหญิงเคนยันอายุ 12 – 17 ปี ในบางชุมชนยังคงถูกขริบ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผู้ไร้การศึกษา คนยากคนจน และมุสลิมที่ยังปฏิบัติสืบต่ออันมาอย่างเข้มข้น[4] และเป็นการปฏิบัติอย่างลับๆ ผ่านผู้หญิงด้วยกัน จัดการโดยแม่ ป้า และย่า ถือเป็นพิธีกรรมในการเตรียมตัวหญิงสาวจะแต่งงาน ผู้หญิงที่ไม่ขริบจะกลายเป็นหญิงที่หาผัวยาก และก็เคยเกิดกรณีที่หญิงไม่ได้ขริบถูกสามีไล่ส่งกลับไปยังครอบครัวเดิมของพวกเธอ ถูกเพื่อนบ้านและชุมชน เยาะเย้ยสร้างความความอับอาย ทำให้หลายครอบครัวยังคงยึดประเพณี FGM เรื่อยมา
มากไปกว่านั้นการขริบยังช่วยให้เพิ่มค่าสินสอดทองหมั้นตามประสาปิตาธิปไตย
ในกรณีนี้จึงเห็นได้ว่าการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม
ความยากจนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการขริบอวัยวะเพศหญิง
FGM ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องในเคนยาส่วนหนึ่งก็เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มออกมาต่อต้านประเพณีดั้งเดิมที่อันตรายและละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ผู้ชายเองก็ร่วมด้วย มีกลุ่มผู้ชายรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว อย่างกลุ่ม Men End FGM Foundation นำโดย คนหนุ่ม Tony Mwebia และเพื่อนๆ ด้วยความตระหนักว่า ผู้ชายมีส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนความเชื่อ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของ FGM จึงได้ริเริ่มแคมเปญติด #MenENDFGM บนโลกออนไลน์ในปี ค.ศ.2013 พวกเขาทำหนังสั้นและจัดกลุ่มอภิปราย พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับเด็กผู้ชายและผู้ชาย รวมถึงผู้นำทางศาสนา สร้างเครือข่ายในการเคลื่อนไหวยุติ FGM[5] นอกจากนี้ Men End FGM Foundation ยังต่อต้านการแต่งงานกับเด็กหญิงและความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกด้วย
เพราะในขณะเดียวกันชาวเคนยันหลายคนยังคงเชื่อว่า การขริบเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเด็กหญิงสู่ผู้ใหญ่เต็มตัวของผู้หญิง ผู้หญิงจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า มีความรับผิดชอบภายในครัวเรือนมากกว่า น่าเชื่อถือ ไว้เนื้อเชื่อใจได้มากกว่า และถือว่าเป็นหญิงที่เคารพระเบียบสังคมทางเพศ และเธอก็จะไม่นอกใจ
ผู้ชายเองก็ต้องการแสดงความแข็งแกร่งให้เห็นว่ามีภรรยาผู้สยบยอมอ่อนน้อมถ่อมตน และตนสามารถรักษาบรรทัดฐานระเบียบสังคมที่บรรพบุรุษมอบให้ การแต่งงานกับหญิงที่ขริบจะได้รับพรจากบรรพบุรุษ หากแต่การแต่งงานกับหญิงที่ไม่ขริบจะถูกบรรพบุรุษสาปแช่ง ให้ยากจน พืชผลล้มตาย เจ็บป่วย และต้องหย่าร้าง ในชุมชนของพวกเขาเองก็มีผู้เฒ่าผู้แก่ปกครองให้ยึดถือปฏิบัติและรักษาประเพณีดั้งเดิม การรักกับหญิงที่ไม่ได้ขริบจึงถูกกดดันและรังเกียจในชุมชน พ่อแม่ เพื่อนฝูง ด้วยเห็นว่าพวกปฏิเสธ FGM คือพวกลืมรากเหง้า และมองว่า การต่อต้าน FGM คือภัยของความทันสมัยจากต่างแดนและศาสนาคริสต์ แม้พวกเขาจะต่อต้าน FGM ก็ไม่สามารถต้านทานได้เพราะไม่มีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่จะร่วมเคลื่อนไหว[6]
กระทั่งเมื่อมี Men End FGM Foundation ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิความเท่าเทียมทางเพศอย่างยิ่ง ไม่เพียงเคลื่อนไหวให้ยุติการขริบอวัยวะเพศหญิง แต่ยังเริ่มต่อต้านการแต่งงานกับเด็กหญิงและความรุนแรงต่อผู้หญิงในปี ค.ศ.2015 อีกด้วย และจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในฐานะมูลนิธิเมื่อปี ค.ศ.2019
กิจกรรมของมูลนิธิมุ่งเป้าไปที่ผู้ชาย เพราะในปิตาธิปไตยเคนยา
ผู้ชายยังคงเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจในการตัดสินใจ
ในขณะที่เป็นผู้หญิงเป็นผู้ส่งมอบประเพณี FGM ประกอบกันเองในหมู่ผู้หญิง แต่ผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจหรือออกคำสั่ง หากแต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า FGM ทำอะไรกับร่างกายผู้หญิงบ้าง ส่วนไหนถูกตัด ถูกตัดอย่างไร และก่อให้เกิดความเสียหายอันตรายอย่างไรบ้าง
หากผู้ชายเข้าใจปัญหาของ FGM ก็จะสามารถหยุดประเพณีอันโหดร้ายนี้ได้ เพื่อลูกสาวของพวกเขา ถ้าผู้ชายประกาศกร้าวที่จะปฏิเสธ FGM ก็จะสามารถหยุดธรรมเนียมปฏิบัตินี้ลง ลูกสาวของพวกเขาก็จะไม่ถูกขริบ
แม้การพูดเรื่องเพศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง FGM ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในชุมชนเคนยาหลายแห่ง แต่ Men End FGM Foundation ก็พยายามเปิดเวทีสาธารณะถกเถียงอภิปรายในหลายพื้นที่ และจากการเริ่มพูดเรื่องเพศและ FGM ในสาธารณะก็พบว่ามีหลายคู่สามีภรรยาต้องทนกับความเจ็บปวดจากประเพณีขริบนี้ ชายคนหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่สามารถอดทนได้ที่จะต้องเห็นภรรยาของเขาเจ็บปวดทรมานทุกครั้งที่เขาสอดใส่ไปยังอวัยวะเพศภรรยาที่ถูกเย็บปิดเหลือไว้แต่รูเล็กๆ เธอดิ้นทุรนทุรายตัวงอ กรีดร้องด้วยความเจ็บปวดและอ้อนวอนให้หยุดกิจกรรมทางเพศแล้วปล่อยเธอไว้เพียงลำพัง ภรรยาของพวกเขาหลายคนไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์เพราะความเจ็บปวดบอบช้ำทางจิตใจและกาย พวกเธอไม่มีความสุขทางเพศเลยและต้องการให้กามกิจนั้นเสร็จเร็วๆ และหลายกรณีก็ทำให้เธอคลอดลูกยาก ผู้ชายหลายคนเองก็หวาดกลัวประเพณีไม่อยากให้เกิดกับลูกสาวของพวกตนและต้องการปกป้องลูกสาวตนจากประเพณีนี้[7]
กลายเป็นการแก้ไขปัญหาปิตาธิปไตยด้วยปิตาธิปไตยอีกที หรือในอีกความหมายหนึ่งปิตาธิปไตยในเคนยาลดทอนความอำมหิตรุนแรงลงด้วยผู้ชาย และเป็นปิตาธิปไตยที่เริ่มมีหัวใจ
เมื่อประเพณี FGM เสื่อมลงเรื่อยๆ ด้วยการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทัศนคติในหลายชุมชนได้เปลี่ยนไป จากในปี ค.ศ.2014 ผู้หญิงชาวเคนยัน 4,000,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรหญิง เคยผ่านกระบวนการและยังคงอยู่กับสภาวะ FGM ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่า เด็กสาววัยรุ่นอายุระหว่าง 15 -19 ปี มีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้นที่โดนขริบ ทำให้เคนยากลายเป็นประเทศที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้ามากในแอฟริกา แต่ไม่ว่าอย่างไร การขจัดกระเพณีขริบอวัยวะเพศหญิงยังคงดำเนินต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] aljazeera.com ; theguardian.com
[2] World Health Organization. (2018). Care of girls & woman living with female genital mutilation: a clinical handbook. Geneva: World Health Organization.
[3] สำนักพิมพ์มติชน. (2547). พจนานุกรมฉบับมติชน. หน้า 118-119
[4]UNICEF Data and Analytics Section. (2020). A Profile of Female Genital Mutilation in Kenya.
[6] Brown, E., Mwangi-Powell, F., Jerotich, M., & May, V.L. (2016). Female Genital Mutilation in Kenya: are young men allies in social change programmes? Reproductive Health Matters, 24, 118 – 125.