หลังจากชมละครร้อง ‘สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคคัล’ จบ ฉันก็ปลิวเป็นฝุ่นออกจากโรง กลับมาดูละครย้อนหลัง ชีวิตประเทศนี้อยู่ง่ายกินง่ายจริงเชียว มีละเม็งละครให้ดูมากมาย ดูไม่ทันก็ดูย้อนหลัง ย้อนไปเวอร์ชั่นเก่าก็ได้ เพราะรีเมคกันวนไปวนมา สี่แผ่นดินเวอร์ชั่นมิวสิคคัลเรื่องเดียวก็เล่นกันไปแล้ว 2 แผ่นดิน
และละครรีเมคมากมายก็มักเป็นเรื่องแย่งผู้ทั้งนั้น สามีตีตรา เมียหลวง แรงเงา (แรงหึง) เพลิงบุญ
คนดูมักก่นด่าว่าทำไมละครไทยมีแต่แบบชะนีถลึงตา ตบตีแย่งผัว แต่ก็เห็นนั่งดูไม่ลุกไปไหนจนแทบเป็นแผลกดทับ ตอนอวสานทีถนนนี่โล่งรถไม่ติดเลยทั้งๆ ที่ดูย้อนหลังก็ได้ อย่างไรก็ดี Teaser ละครเพลิงบุญเวอร์ชั่นล่าสุด นางเอกก็ออกมาแก้ต่างให้ละครประเภทนี้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องของการแย่งผู้ชายหรอกค่ะ มันคือเรื่องศักดิ์ศรีของผู้หญิง!!” จำไว้นะคุณผู้ชม
สมกับสังคมปิตาธิปไตย ที่ผู้เป็นใหญ่ ผู้คือเจ้าโลก ผู้ประหนึ่งเสาค้ำจักรวาล เป็นที่ยึดพึ่งพิงเป็นสรณะ ใครพรากไปก็แทบล้มทั้งยืน เหมือนกับสำนวนว่า “สามีคือฉัตรแก้วกั้นเกศงามหน้างามเนตรทุกเวลา” ซึ่งก็มาจากเวสสันดรชาดก ทานกันฑ์ ที่ผู้ชายเป็นเจ้าของลูกเมีย ย่อมยกให้ใครเอาไปใช้เป็นแรงงาน ก็ได้ หรือบริจาคให้ขอทานที่ไหนก็ได้ เหมือนเศษเงินในกระเป๋าตังค์
อันที่จริง ละครเองก็ทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากชาดก แบ่งตัวละครออกเป็นขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม อากัปกิริยา บทสนทนา ชาติกำเนิด นางร้ายก็แสบสันต์ตัณหา อย่าง อีใจเริง ณ เพลิงบุญ นี่ไม่สนสี่สนแปด พ่อผัวตายก็หงุดหงิดเพราะขี้เกียจไว้ทุกข์ อุตส่าห์ซื้อชุดใหม่สีสันสดใสมา นางชอบแต่งตัวฉูดฉาด ตามใจตนเอง ติดแบรนด์เนม (ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไม่ตัวละครอิจฉาต้องถูกกำหนดคาแรคเตอร์ให้ต้องติดหรู ขณะที่นางเอกบ้านก็รวย บริโภคแบรนด์เนม ใช้ชีวิตหรูหราเหมือนกัน แต่ไม่มีบทแสดงประเด็นนี้) มั่นหน้า แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ทะเยอทะยานดิ้นรน แสดงออกถึงความต้องการทาเพศ ยั่วยิ้ม รู้จักใช้เสน่ห์ของตัวเอง แย่งผัวเพื่อนสาว ซ้ำยังเป็นลูกนักการเมือง (เข้ากันได้ดีกับความคิดความอ่านคนไทยที่มองนักการเมืองเป็นตัวร้าย เอะอะอะไรก็ขอด่านักการเมืองไว้ก่อน) ตรงกันข้ามกับอีนางเอกและครอบครัว ใจบุญสุนทาน ธรรมะธรรมโม คนเขียนบทก็สักแต่จะยัดพุทธศาสนสุภาษิตใส่ปากนักแสดง อย่างกะ tie in หนังสือพระ จะด่าทั้งทีก็อุปมาอุปไมย ดัดจริตทำสำบัดสำนวน
คือด่าไปเถอะย่ะ อีผู้ดี ด่ายังไงก็ไม่เจ็บ แต่อยากจะหัวร่อ !!
ขณะที่พระเอกหรือตัวละครผู้ชายจะมีเมียกี่คนก็ได้ บทในเรื่องก็พยายามทำให้คล้อยตามจนให้อภัย ผู้ชมเองก็มัวแต่โทษนางร้าย จนมองข้ามความผิดของพระเอก แล้วละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ‘ก็นั่นมันผู้ชาย’
ละครจึงทำหน้าที่มุ่งอบรมสั่งสอนหญิง ว่าอะไรคือ ‘หญิงดี – หญิงเลว’ ที่กลายมาเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ที่หญิงเลว หญิงอันตราย ถ้าไม่ยุ่งกับผัวชาวบ้าน ก็เปลี่ยนผัวเปลือง พวกนางสวยมีสเน่ห์แพรวพราวไม่ต่างไปจากนาง ‘ผู้หญิงดี’ หากแต่พวกเธอรู้จักใช้คุณสมบัติ ศักยภาพที่เธอมี และมีความทะเยอะทะยานพอที่จะใช้มัน ไม่ใช่เอาแต่ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมเหมือนพวก ‘หญิงดี’ แล้วเอาธรรมะเข้าข่ม เชื่ออย่างสนิทใจว่าฟ้ามีตาและโลกใบนี้ก็ไม่ซับซ้อนมากไปกว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม
ผู้หญิงอย่าง ‘อีเริง’ จึงถูกวางสถานะเดียวกับ ‘อีพริ้ง’ จากคนเริงเมือง ‘อีลำยอง’ จากทองเนื้อเก้า ‘นังเรยา’ จากดอกส้มสีทอง ที่ต่างพยายามดิ้นรนยกระดับสถานะของตนเอง พยายามถีบตัวเองจากความยากลำบากด้วยต้นทุนที่มีภายใต้โครงสร้างสังคมเช่นนี้ เพราะต่อให้ไปลงทะเบียนคนจนในประเทศนี้ ทำงานตามที่ประกันสังคมจัดหางานให้ ก็ใช่ว่าชีวิตจะดีขึ้น ทว่าการเป็นเมียคนรวยมันง่ายกว่า ไม่ว่าจะน้อยหรือหลวงก็เถอะ
เอาเข้าจริงละครมันเป็นแฟนตาซีที่สุดท้ายมันคือเครื่องมือช่วยปลดปล่อย ที่บางครั้งบางคราวเราก็อาจจะอิจฉาริษยาเพื่อนที่ได้ผัวหล่อผัวรวย อยากวิ่งเข้าไปถีบนางออกแล้วควงแทน อยากมีอยากได้แบบคนอื่น อยากหุ่นดีๆ ใส่ชุดสวยๆ ยั่วยิ้มได้บ้าง อยากจิกตาแตก อยากแรงๆ เหมือนนังตัวอิจฉาแล้วความดันไม่ขึ้นบ้าง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงเราเป็นแบบนั้นไม่ได้
ตัวละคร ‘หญิงเลว’ จึงเข้ามาตอบสนองความต้องการความก้าวร้าวที่เราไม่สามารถทำได้ในโลกที่ไม่ใช่ละคร
มันก็เหมือนละครบู๊ล้างผลาญ แอคชั่นเลือดสาดแตะต่อยหมัด ที่นำเสนอความรุนแรงให้มันเป็นเรื่องของอภินิหาร เวทมนตร์ พลังเหนือธรรมชาติ ให้ดูแฟนตาซีที่จะฆ่าจะแกงกัน ไม่ก็เป็นหนังละครพีเรียด เอาชาตินิยมมาสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงตีรันฟันแทง
แต่สุดท้ายแล้วผู้ชมเช่นเราก็ยินยอมให้ตัวละครประเภท ‘หญิงเลว’ จบลงอย่างน่าเวทนา เพราะลึกๆ แล้วเราก็กลัวว่าจะมีใครหอบลูกบ้ามาทำระยำตำบอนกับชีวิตของเรา แย่งผัวเรา เฉกเช่นเดียวกับนังตัวอิจฉาในเรื่องมันทำ อยากจะให้คนร้ายๆ แบบนี้ตายตกไปเหมือนตัวละคร เป็นอุทธาหรณ์ว่าไป fuck up แบบนี้กับใคร
บทก็นำพาให้พวกเธอตายไม่ดี ไม่เสียโฉม เสียสติ จนไม่สามารถไปยั่วใครได้อีก ก่อนจะขยี้ในตอนจบด้วยโอวาทหรือหลักธรรมในซีนสุดท้ายของตอนอวสาน ด้วยความกลัวว่าคนดูจะเลียนแบบ ราวกับว่าของแบบนี้มันซึมซับกันง่าย โปรดักชั่นสมจริงสมจัง บทละครอย่างกับงัดตู้พระไตรปิฎกมาทั้งตู้ คิดว่าผู้ชมคิดเองไม่เป็น จนต้องมีคำสอนเหมือนนิทานอิสปที่ต้องจบตอนด้วย “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”
ตัวละคร ‘หญิงเลว’ หญิงอันตราย กลายเป็นขั้วตรงข้ามกับ ‘แม่พลอย’ ณ สี่แผ่นดิน ที่จะไม่มีใครเรียกว่า ‘อีพลอย’ เหมือนอีพริ้ง อีลำยอง เพราะเธอคือ role model ของ ‘ความเป็นหญิง’ ที่สังคมไทยต้องการ
มีคุณค่าแค่แม่และเมีย มีผัวเดียวรักครอบครัวรักพี่รักน้อง ให้อภัยอดทน ใครจะด่าจะโขกสับนางก็รับได้ ไม่แรดไม่ร่าน ไม่ปีกกล้าขาแข็ง ไม่แสดงความคันกระสันต์ซ่าน จะผ่านมากี่แผ่นดินก็มีผัวเดียว สยบยอมจำนนต่อโครงสร้างสังคม ไม่ท้าทาย ไม่ตั้งคำถาม ไม่แข็งขืน อีพลอยจึงไม่เพียงภักดีต่อผัวแต่ยังต่ออุดมการณ์ชาตินิยม ชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ ของเธอไม่ได้เพราะตามสถานะของผัว เหมือนอีพริ้งหรือใจเริง หากแต่ผกผันไปตามสถานการณ์บ้านเมือง เพราะสำหรับแม่พลอย ชาติ (ในความหมายของเธอคือผู้มีพระคุณ ที่ต้องกตัญญูตกเวที ด้วยสำนึกขี้ข้าและยอมจำนน) คือสรณะ ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของปิตาธิปไตย เพราะ patriarchy แปลตามตัวคือระบอบที่มีพ่อเป็นผู้การปกครอง รัฐประหนึ่งครอบครัวหรือบ้าน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎของพ่อ บ้านของพ่อ เป็นรูปแบบพ่อปกครองลูก
เมื่ออีพลอยไม่ขบถ ไม่ท้าทายอำนาจผู้ชายไม่ว่าจะในรูปแบบผัวหรือชาติ เป็นผู้หญิงในอดมคติเธอจึงตายดีตามอุดมคติ ศพสวย ไม่เละ ไม่ติดกามโรค ไม่เป็นบ้า ที่กลายเป็นบทลงโทษทางสังคมที่ผู้หญิงเลว ก๋ากั่น เปลี่ยนผู้บ่อย ทะเยอทะยาน ที่จะต้องตายศพไม่สวย ตายไม่ดี ไม่ตายโหงก็ตายห่า
แต่ก็เอาเป็นว่า คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แต่งนวนิยาย ‘สี่แผ่นดิน’ ที่ได้กลายมาเป็นทั้งละครทีวี ละครร้อง ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ‘ถนนหนังสือ’ ฉบับกรกฎาคม 2528 ว่า
“…แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนเชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนนั้น (ฮา)
แม่พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนอยู่กรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็หลงรักคุณเปรมได้ ตามคติโบราณนั้นไม่เป็นไรหรอก แต่ไปก่อนแล้วรักกันเองทีหลัง แม่พลอยเป็นอย่างนั้นทุกอย่าง ทีนี้คนอ่านคนไทยปลื้มอกปลื้มใจเห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอยก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) โง่ฉิบหายเลยจะบอกให้สี่แผ่นดินถึงได้ดัง (หัวเราะ)”
อ่านจบแล้วก็ได้หัวร่อตามดังๆ จนฝุ่นปลิว