บรรยากาศเพิ่งจะเปิดเทอมมาหมาดๆ แบบนี้หนูๆ น้องๆ (เอิ่ม อันที่จริงบางคนก็รุ่นลูกแล้วแหละ) ก็คงจะเพิ่งไถผมเกรียนกันไปตามระเบียบ แต่ระเบียบที่ว่านี่จะทำกันไปทำไม? และเกิดขึ้นเมื่อไหร่รู้กันไหมเอ่ย?
ไม่ว่าคุณครูของน้องๆ (เอาน่า บอกว่าน้องก็น้องเส่ะ!) จะให้เหตุผลยอดนิยมอย่างการไว้ผมยาวจะทำให้เจ้าเส้นผมตัวดีมาแย่งสารอาหารของสมองไป (ทั้งๆ ที่ในทางวิทยาศาสตร์ เส้นผม คือเซลล์ที่ตายไปแล้ว และอะไรที่ตายไปแล้วก็คงไม่ลุกขึ้นมาแย่งอาหารจากใครไปได้แน่ๆ) หรือว่าเหตุผลสุดคลาสสิก อย่างการเป็นกุศโลบายให้นักเรียนมีสมาธิที่แน่วแน่ ไม่ต้องคอยมาห่วงสวย ห่วงหล่อ (แต่ถ้าโกนหัว โดยไม่ได้บวช ก็จะตกเป็นจำเลยในข้อหาประชดประชันคุณครูฝ่ายปกครองอยู่ดี แล้วตกลงจะเอายังไงแน่ ตอบ!) อย่าเพิ่งรีบเชื่อ แล้วรีบกลับสติก่อนเลยนะครับ เพราะว่าตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นเลยสักนิด
ข้อคิดเห็นที่น่าฟังมากกว่า มาจากปากคำของนักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของประเทศอย่าง ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเคยเขียนถึงทรงผมนักเรียนแบบไท้ไทย อยู่อย่างน้อย 2 ครั้ง 2 ครา ในช่วงตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมานี้
หนแรก อ. นิธิ เขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยมีเนื้อความสรุปง่ายๆ ได้ใจความว่า การไถผมจนเกรียนเป็นลานบินอย่างนี้ เริ่มเกิดขึ้นในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเราอยู่นี่เอง
และก็เป็นเพราะคำสั่งของจอมพลท่านนี้แหละ ที่ทำให้ทรงผมของเด็กนักเรียนไทย ‘เกรียน’ ไกลไปทั่วโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้ โดย อ.นิธิ ได้บอกกับเราว่า จอมพล ป. ท่านไปลอกแบบทรงผมมาจากทหารญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกผ่านทางเข้ามาในไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ที่ต้องเลียนแบบทรงผมทหารญี่ปุ่นนี่มันก็มีเหตุอยู่นะครับ ไม่ใช่ว่าชอบก็เลยนึกจะเลียนแบบมันขึ้นมาเฉยๆ แต่เป็นเพราะว่าช่วงนั้นน้อง ‘เหา’ เค้ากำลังระบาดอยู่ต่างหาก
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า อ. นิธิ ไปได้ข้อมูลมาจากไหน แต่ก็มีเรื่องเล่าว่าเหาระบาดอยู่มาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามค่ายกักกันต่างๆ ในยุโรป (แน่นอนว่าเป็นเพราะการจัดการทางสุขอนามัยที่ไม่ดีนัก) หากเหาจะมาระบาดในค่ายกักกันนักโทษที่ทหารญี่ปุ่นนำมา ก่อนจะระบาดไปสู่ชุมชนบ้านใกล้เคียงก็ไม่น่าจะแปลกอะไรเท่าไหร่
และในสมัยจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (ซึ่งคาบเกี่ยวกันกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่แหละ) ก็ได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ออกมา เนื้อหาภายใน พ.ร.บ. ฉบับนี้เน้นหนักในเรื่อง ‘เสื้อผ้า’ แถมยังไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของ ‘หน้าผม’ สักเท่าไหร่
แต่ก็นั่นแหละครับ เครื่องแบบต่างๆ ในประเทศแห่งนี้ มักไม่หมายถึงสิ่งที่บังคับให้ใครสวมใส่เข้าไปเท่านั้น แต่ยังมักจะหมายถึงการจับเอาร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นทรงหรือสีของเส้นผม เล็บมือ หรือหนังหน้า เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบอยู่ด้วยเสมอ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีถ้อยความประเภท การให้เกียรติเครื่องแบบให้เราได้ยินกันบ่อยๆ หรอก
พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันนี้ยังเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดรูปแบบชุดนักเรียนไทย ให้มีหน้าตาเป็นอย่างปัจจุบันนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ก่อนหน้านั้นประเทศไทย ที่ยังใช้ชื่อเดิมว่าสยามอยู่นั้นจะไม่มีเครื่องแบบนักเรียนมาก่อน เพราะอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีหลักฐานการใส่เครื่องแบบนักเรียนด้วยเสื้อราชปะแตน (ชุดไทย ที่ลอกแบบฝรั่ง แถมยังถือกำเนิดขึ้นที่อินเดีย) กับกางเกงไทย และมีหมวกฟางพันผ้าสีประจำโรงเรียนเป็นเครื่องประดับชิคๆ คูลๆ อีกด้วย
เพิ่งจะเป็น พ.ร.บ. ฉบับปี 2482 นี่เองที่ไปเอาเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น (พร้อมๆ กับผมทรงลานบิน อย่างที่ อ. นิธิ ว่าไว้) มาเป็นเครื่องแบบนักเรียนไทย
อีกหนหนึ่งที่ อ. นิธิ เขียนถึงทรงผมนักเรียน ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 18-24 มกราคม พ.ศ. 2556 ซึ่งก็ยังยืนยันว่า ทรงผมเกรียนเกิดขึ้นสมัยจอมพล ป. อยู่เหมือนเดิม แต่คราวนี้อาจารย์ไม่ได้อ้างถึงเรื่องเหา
สิ่งที่ อ. นิธิ เน้นย้ำมากในบทความชิ้นหลังนี้สรุปง่ายๆ ว่า ผมทรงลานบินคือการกล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจแบบทหาร ดังนั้น วินัยจากการแต่งตัวจึงตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สีของกางเกง, ความยาวของขอบกางเกง, ถุงเท้า, รองเท้า, เข็มขัด, หัวเข็มขัด ฯลฯ
และก็ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ทรงผมสั้นเสมอติ่งของนักเรียนหญิงก็ถือกำเนิดขึ้นจากวินัยแบบทหารเช่นเดียวกัน
เอาเข้าจริงแล้ว นอกเหนือจากเราจะไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงระเบียบในการตัดผมเกรียนแล้ว เรายังมีภาพถ่ายเก่าๆ ของนักเรียนไทย อย่างรูปของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ขณะที่เป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ไม่ได้ตัดผมเกรียนอีกด้วย (แน่นอนว่า ยังต้องมีภาพของนักเรียนคนอื่นๆ อีกเช่นกันที่ผมไม่ได้เอ่ยถึง เพราะไม่เคยเห็น หรือเห็นแล้วแต่จำไม่ได้) เป็นได้ว่า ยังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนถึงการตัดผมสั้นเกรียน แต่เป็นไปในทางจารีตปฏิบัติ
ลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่พูดถึงการตัดผมสั้นเกรียนของนักเรียนไทยเป็นผลมาจาก ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 เมื่อปี พ.ศ. 2515 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตนเอง ที่มีข้อความว่า
“นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครองและครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนรวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการสมควรที่จะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาทให้รัดกุมยิ่งขึ้น”
จากประกาศฉบับนี้แหละครับที่ทำให้เกิด กฎกระทรวงฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. เดียวกัน ที่ลงรายละเอียดไปว่า นักเรียนจะต้องตัดผมข้างเกรียน และมีผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวได้ 5 เซนติเมตร
ผมเกรียนๆ ของนักเรียนไทย นอกเหนือจากจะตัดเพื่อหนีเหา และได้แบบอย่างมาจากทหารญี่ปุ่นแล้ว จึงยังเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อฟัง และไม่แข็งขืนต่ออำนาจ โดยเฉพาะอำนาจของเผด็จการที่ตกค้างมาถึงปัจจุบัน
ไม่ต้องแปลกใจเลยนะครับว่าทำไม ‘เกรียนไทย’ จึงชวนให้ปลงอนิจจังขนาดนี้