1.
“เราเปิดทีวีแล้วเห็นข่าว ทุกคนตกใจอย่างมาก”
เมื่อเวลา 23.21 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1986 ท่ามกลางราตรีที่ห่มคลุม อากาศหนาวเย็น ผู้คนกำลังหลับใหล ท้องถนนเริ่มเงียบ รถราเริ่มน้อย ทันใดนั้น เสียงปืนก็ดังสนั่นขึ้นมา 2 นัดในกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน
ฆาตกรจ่อยิงไปที่หลังของชายคนหนึ่ง เขาลั่นไกอย่างบรรจง ระยะเผาขน กระสุนทำลายกระดูกสันหลังในฉับพลัน
หลังจากนั้นมือสังหารจึงหันปืนหมายยิงผู้หญิงที่มากับชายรายนี้ กระสุนพุ่งไปอีกนัด แต่กลับเฉียดเธอไปอย่างเหลือเชื่อ
แม้จะดึกแล้ว แต่ก็ยังมีคนเดินไปมา นั่นทำให้มือสังหาร เก็บปืน แล้วเดินมุ่งหน้าไปในซอย ขึ้นบันได แล้วใช้ความมืดซ่อนเร้นตัวเองออกไป
พลเมืองดีรุดมาที่ร่างของผู้ถูกยิง หญิงคู่ชีวิตตะโกนขอให้แจ้งตำรวจ กินเวลาไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็เดินทางมาถึง พวกเขาทำสิ่งที่ผิดพลาดขึ้นในทันที และจะเป็นความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นหลายครั้งในการไขคดีนี้
ตำรวจไม่ได้กั้นจุดเกิดเหตุ พวกเขาเดินไปทั่วระหว่างรอรถพยาบาลมารับตัวคนถูกยิง ซึ่งกำลังอ่อนโรยแรง ชีพจรเต้นช้า ไม่รู้สึกตัว อาการสาหัส
“คุณไม่รู้เหรอว่าฉันเป็นใคร และคนที่ถูกยิงคือใคร” หญิงสาวคู่ชีวิตของชายที่โดนยิงพูดกับเจ้าหน้าที่
กินเวลาไม่นาน ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จึงรู้ความจริง จากนั้นข้อมูลก็จะกระจายไปอย่างรวดเร็ว สังคมทั้งสวีเดนตื่นขึ้นมาพบกับฝันร้ายกลางดึก
แม้แพทย์จะทำการยื้อร่างและวิญญาณแข่งกับมัจจุราชเพียงใด แต่กระสุนทำลายอวัยวะสำคัญ ระบบประสาทย่อยยับ ผู้ถูกยิงต่อสู้กับความตายนานหลายชั่วโมง ก่อนจะแพ้พ่าย
ทางการออกแถลงการณ์ตอนตี 5 มันสร้างความช็อกให้กับคนทั้งประเทศในฉับพลัน
เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นบาดแผลฝังลึกของสวีเดนกว่า 32 ปี มันคือคดีที่ไร้ข้อสรุป คดีที่มากด้วยทฤษฎีสมคบคิด เรื่องราวมากมายถูกเล่าขาน แต่ไม่มีใครรู้ว่าใครคือผู้ก่อเหตุ
หลังการสังหารโหด ฆาตกรเดินทางกลับบ้านพักอย่างไร้ร่องรอยพิรุธใดๆ ทั้งสิ้น เขานิ่งสงบ และเข้านอนตามปกติ ก่อนจะตื่นเช้ามาพบกับข่าวร้ายร่วมกับคนทั้งประเทศ
“นายกรัฐมนตรีสวีเดนถูกยิงเสียชีวิต” ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์เริ่มต้นรายงาน
โอลอฟ พาลเมอร์ (Olof Palme) ตายจากโลกนี้ไปด้วยวัย 59 ปี นี่คือนายกรัฐมนตรีหัวเอียงซ้าย ชายที่ท้าทายอเมริกา ต่อต้านสงครามเวียดนาม และระบบนายทุน ถึงแก่อสัญกรรมด้วยการถูกฆ่าตายกลางถนน
“จนถึงตอนนี้ เรายังไม่รู้ว่าใครคือคนก่อเหตุ”
2.
พาลเมอร์ เป็นนายกหัวเอียงซ้าย เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของสังคม และสมาทานแนวคิดมาร์กซิสต์ ต่อต้านการที่ประเทศมหาอำนาจเข้าไปวุ่นวายกับชาติกำลังพัฒนา เขาแกร่งกล้าถึงขนาดด่าประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ของอเมริกา จนนำไปสู่การลดระดับความสัมพันธ์ และถูกนิกสันตั้งสมญานามให้ว่า “ไอ้ห่าสวีดิช”
แน่นอนพาลเมอร์ มีคนไม่ชอบมากมาย เพราะด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น จนนำไปสู่การบุกลุยเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า ตามสไตล์ฝ่ายซ้าย เขาจึงมีศัตรูทั้งในและนอกประเทศ
พลันที่ถูกสังหารโหด ทางการสวีเดนจึงอยู่เฉยไม่ได้ มีการตั้งชุดสืบสวนเพื่อไขเรื่องนี้ทันที เพราะขณะนั้นไม่มีใครรู้ว่าการที่พาลเมอร์ถูกฆาตกรรมนั้น มันเกิดจากฝ่ายขวาในประเทศลงมือ หรือกลุ่มชาติมหาอำนาจลงขันฆ่ากันแน่
แต่แล้วดูเหมือนตำรวจสวีเดน จะทำงานยากๆ นี้ให้กลายเป็นเรื่องอลหม่านได้อย่างเหลือเชื่อ เริ่มที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานที่เดินทางมาช้ากว่าประชาชนสวีเดน ซึ่งแห่กันมาตรงจุดเกิดเหตุ วางดอกไม้ ไว้อาลัย และเหยียบย่ำที่ตรงนั้นจนหลักฐานเละตุ้มเป๊ะไปหมด
เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้หลักฐานอะไรที่จะช่วยไขคดีได้เลย
ไม่เพียงเท่านั้น ทางสายตรวจที่ไปจุดเกิดเหตุ ก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ให้กับหัวหน้าชุดสืบสวนในทันที จนปล่อยให้เหล่านักสืบรู้ทุกอย่างจากข่าวโทรทัศน์แทน
ที่สำคัญหัวหน้าชุดที่คุมเรื่องนี้ กลับเป็นอัยการที่ไม่เคยผ่านคดีฆาตกรรมมาก่อน พวกเขาแค่ตั้งโต๊ะรับร้องเรียน มีคนกระหน่ำโทร.ให้ข้อมูลมากมาย เพราะคนทั้งประเทศต้องการให้ตำรวจจับมือสังหารพาลเมอร์ให้ได้โดยเร็ว
แต่ดูเหมือนมันจะไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะหัวหน้าทีมไม่อาจมอบนโยบายการไล่ล่าคนร้ายแก่ตำรวจได้เลย ทุกอย่างจึงต่างฝ่ายต่างทำ จนนำไปสู่ทางตัน
ด้านฆาตกรที่ลงมือยิงนายกสวีเดน นั่งดูข่าวผลงานตัวเอง ก่อนจะทำสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง นั่นก็คือโทร.หาหนังสือพิมพ์ เพื่อบอกว่าตัวเองก็อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย แถมยังได้ช่วยปฐมพยาบาลพาลเมอร์ แต่ไม่เห็นว่าใครคือผู้ก่อเหตุ
ทางกองบก.รีบส่งนักข่าวกับช่างภาพเพื่อสัมภาษณ์ลงหน้า 1 ทันที อย่างไรก็ดีหลังการให้ข้อมูล ฆาตกรรายนี้ก็ได้โทร.ไปเปลี่ยนเรื่องกับนักข่าว ย้ำว่าตัวเองไม่ได้เข้าไปปฐมพยาบาลพาลเมอร์หรอก แต่แค่อยู่ในเหตุการณ์เฉยๆ
หลังจากนั้นพอเขาไปทำงานที่บริษัทประกันภัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ก็ได้เปลี่ยนเรื่องราวอีกครั้งว่า เห็นการก่อเหตุครั้งนี้จริง แต่อยู่ไกลมาก ไม่ได้อยู่ใกล้เหมือนที่หนังสือพิมพ์ลง
การกลับคำไปมาของฆาตกรคนนี้ ล่วงรู้ไปถึงชุดสืบสวน แต่ก็เป็นเพียงตำรวจไม่กี่นายที่งงว่า ตกลงแล้วชายคนนี้อยู่ตอนไหนของนาทีสังหารพาลเมอร์กันแน่
นั่นทำให้เจ้าหน้าที่เชิญตัวเขามาสอบปากคำ แม้อีกฝ่ายจะให้การวกวน ไม่ตรงกันจนน่าสงสัย แต่ชุดสอบสวนไม่อาจแจ้งข้อหาเขาได้ เพราะไม่พบอาวุธปืน ไม่พบแรงจูงใจการก่อเหตุ แม้จะมีบันทึกว่าชายต้องสงสัยรายนี้ ออกจากที่ทำงาน ใกล้เคียงกับช่วงที่พาลเมอร์ถูกยิงก็ตาม
ที่สำคัญรูปร่างของชายคนนี้ ดูไม่น่าจะฆ่าใครได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจค้นภูมิหลัง พวกเขาอาจปิดคดีได้เลย แต่เพราะคำสั่งของหัวหน้าทีม ที่ไม่ให้สนใจบุรุษรายนี้ พวกเขาจึงทำสิ่งผิดพลาดครั้งสำคัญ
นั่นก็คือการตัดฆาตกรตัวจริงออกจากผู้ต้องสงสัยในทันที
3.
เจ้าหน้าที่ทำงานผิดพลาด ท่ามกลางเสียงก่นด่าของสังคมที่อยากให้เร่งจับคนร้ายให้ได้โดยเร็ว แต่วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่าผ่านไป ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
จนกระทั่งหลังจากงมเบาะแสมานานกว่า 3 ปี ทางการจึงได้ฤกษ์ บุกจับกุมตัวพ่อค้ายาคนหนึ่งได้ โดยพบว่าชายคนนี้มีประวัติอาชญากรรมอย่างรุนแรง เคยแทงคน และมีพยานอ้างว่า เขาอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุด้วย แถมประเด็นสำคัญคือภรรยาของพาลเมอร์ได้ชี้ตัวว่าพ่อค้ายาคนนี้ คือชายที่กระหน่ำยิงสามีของเธอจากด้านหลัง
ด้วยหลักฐานเพียงแค่นี้ และแรงกดดันจากสังคมที่โหมกระหน่ำใส่ชุดสอบสวน พวกเขาจึงแจ้งข้อหาและนำตัวขึ้นศาลทันที โดยชี้ว่าการที่ภรรยาพาลเมอร์ชี้ตัวถูก ก็เพียงพอต่อการดำเนินคดีแล้ว
แน่นอนว่าศาลชั้นต้นตัดสินให้พ่อค้ายารายนี้มีความผิด ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่อีก 2-3 เดือนต่อมา ศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้อง โดยเห็นว่าการที่เมียนายกชี้ตัว ไม่ได้หมายความว่าพ่อค้ายารายนี้จะฆ่าพาลเมอร์จริง เพราะหลักฐานแค่นี้ ไม่เพียงพอจะเอาใครไปติดคุกได้
คำตัดสินนี้ แสดงถึงความชุ่ยของทีมไขคดีอย่างยิ่ง พวกเขาไม่พบปืนที่ใช้ก่อเหตุ ซึ่งตอนนั้นระบุได้แล้วว่าคือลูกโม่ .357 ซึ่งพ่อค้ายารายนี้ไม่มี แถมตัวแพะคนนี้ก็ไม่ได้มีแรงจูงใจจะยิงนายกตายด้วย
การยกฟ้องครั้งนี้ นำไปสู่ความอับอายของชุดสอบสวนอย่างยิ่ง จนต้องสลายตัวไปอย่างเจ็บปวด ที่ไม่อาจนำตัวฆาตกรตัวจริงมาลงโทษได้
เมื่อความคลุมเครือลอยนวลในคดีนี้ ทฤษฎีสมคบคิดก็ทำงาน มีเสียงกระซิบว่าอเมริกาส่งสายลับซีไอเอไปฆ่าบ้าง สหภาพโซเวียตส่งสปายมาสังหาร ทุกอย่างอลหม่านไปหมด
และในที่สุด มันก็กลายเป็นคดีปริศนา ที่สร้างบาดแผลให้กับสวีเดน ดูเหมือนพวกเขาจะเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่มีทางคลี่คลายลงไปได้ แม้จะมีคนจำนวนมากร่วมสืบสวน ไขคำตอบ แต่คำถามก็ยังคงตระหง่านในหลุมดำแห่งอนธการ
จนกระทั่งในปี 2018 นักข่าวรายหนึ่งได้เขียนบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นงานสืบสวนสอบสวนชั้นเยี่ยม ที่ใช้เวลาในการทำงานกว่า 12 ปี จึงบอกแก่สังคมได้สำเร็จว่า
ใครฆ่าโอลอฟ พาลเมอร์
4.
โทมัส เพ็ตเตอร์ซัน (Thomas Pettersson) ก็เหมือนคนสวีเดนทุกรายที่โตมากับคดีนี้ และก็อยากจะรู้สักทีว่า ใครกันแน่ที่ฆ่านายกของพวกเขา
สิ่งที่โทมัส แตกต่างจากคนสวีเดนทั่วไปก็คือ เขาเป็นนักข่าว มีทักษะการสืบสวน พอถึงเวลาว่างจากการทำงานข่าวทั่วไป ก็จะนั่งตรวจสอบข้อมูลนี้ ซึ่งมีเอกสารมากมายก่ายกอง เพราะมีการสอบพยานไปถึง 1 หมื่นราย และมีคนมาสารภาพว่ายิงพาลเมอร์จำนวน 134 คนด้วยกัน ซึ่งทุกคนที่โทร.มาบอกว่าผมคือฆาตกร ไม่เคยเป็นฆาตกรตัวจริงเลย
สิ่งที่โทมัสทำ คือการตรวจสอบทุกอย่าง แล้วไล่คำตอบไปทีละขั้น เริ่มจากอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งหนังสือ รายงานคดี การรายงานข่าวของสื่อยุคนั้น ขั้นต่อมา ก็คือไปดูจุดเกิดเหตุด้วยตัวเอง
ถึงจุดนี้เขาก็นึกถึงชายคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าตัวเองอยู่ในจุดเกิดเหตุ แต่อยู่ตอนไหน และตรงไหนนั้น ไม่เคยให้การตรงกันสักครั้ง นี่ทำให้โทมัสมองว่าชายคนนี้น่าสงสัยอย่างมาก
ขั้นตอนที่ 3 โทมัสคิดเหมือนคนทั้งโลกว่า ฆาตกรยิงพาลเมอร์ ไม่ได้ก่อเหตุเพียงคนเดียว น่าจะถูกจ้างหรือทำงานกันเป็นทีม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งโทมัส ก็ยิ่งคิดถึงชายต้องสงสัยที่เขาหมายหัวไว้ในใจ นักข่าวหนุ่มตัดสินใจเดินทางไปสัมภาษณ์ภรรยา เพื่อนฝูงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับชายคนนี้
นั่นจึงนำไปสู่ความจริงว่า ฆาตกรที่ก่อเหตุยิงพาลเมอร์นั้น ลงมือเพียงคนเดียว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใดตามที่ทฤษฎีสมคบคิดกระพือทั้งสิ้น และขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการสำรวจลักษณะนิสัยส่วนตัวของชายต้องสงสัย จนพบแรงจูงใจบางอย่าง และเหตุผลที่เขาพยายามปั่นหัวสื่อและตำรวจให้ไขว้เขว เพื่อทำให้ทุกคนสงสัยว่าเขาอาจเป็น หรือไม่เป็นฆาตกรตัวจริงในคดีฆ่านายก
ทุกอย่างดูเหมือนง่าย แต่ความจริง มันไม่ง่ายเลย เขาใช้เวลาและความมุ่งมั่นมหาศาล เพื่อผลิตงานข่าวชิ้นนี้
ในที่สุด 12 ปีแห่งความพยายาม โทมัสก็เขียนบทความยืนยันว่า สติก อิงสตรอม (Stig Engstrom) พนักงานบริษัทประกัน คือฆาตกรฆ่านายก
พลันที่ข่าวแพร่ออกไป มันสร้างความตื่นตกใจอย่างมาก แต่สติกกลับไม่ได้แสดงความเห็นใดในเรื่องนี้ เพราะว่า เขาเลือกจะจบชีวิตตัวเองไปในปี 2000 แล้ว
จึงมีเพียงอดีตภรรยาที่ออกมาให้ข่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่สติกจะยิงพาลเมอร์ตาย
“เขาไม่ใช่คนกล้าอะไรเลย แม้แต่ยุงยังไม่กล้าตบด้วยซ้ำ”
5.
แต่ชุดสืบสวนในคดีนี้ไม่ได้คิดแบบนั้น พลันที่ข่าวชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป อัยการก็สั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เจ้าหน้าที่เอางานของโทมัส มาตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง พอเช็กอย่างละเอียด ทุกอย่างเข้าเค้าจะใกล้เคียงกับการไขคดีนี้ได้ในรอบ 32 ปีเลยทีเดียว
ชุดสอบสวนที่ตั้งมาใหม่ พบว่าพยานในจุดเกิดเหตุ เคยให้ข้อมูลชี้ตัวว่าฆาตกรที่ลงมือฆ่าใส่หมวก ซึ่งเป็นหมวกที่สติกมี โดยตัวเขานั้น ออกจากที่ทำงานใกล้เคียงนาทีสังหาร แต่เพราะเสียงปืนที่ดังสนั่น จึงทำให้การจดจำใบหน้าคนร้ายคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดีมีพยานหลายรายที่พูดถึงบุคลิกคนร้ายท่าทางคล้ายกับสติกมาก
เมื่อมีมุมมองใหม่ หลักฐานทุกอย่างจึงได้รับการตีความใหม่โดยชุดสืบสวน
ทางโทมัสเผยชีวิตของชายรายนี้ว่า บุรุษต้องสงสัย เคยเป็นจ่าในกองทัพ และชอบไปยิงปืนที่สนามยิงปืนของทหาร นั่นทำให้เขาใช้อาวุธสังหารเป็น และมีปืนไว้ในความครอบครองด้วย คาดว่ามันน่าจะเป็นกระบอกที่ใช้ลั่นไกใส่พาลเมอร์
ความลับตรงนี้เอง คือสิ่งที่ตำรวจไม่รู้และมองว่าชายคนนี้ เป็นคนอ้วนๆ ร่างท้วมๆ ไม่ได้มีพิษสงอะไรเลย ทั้งที่เพื่อนฝูงหลายคนชี้ชัดว่าสติกนั้น เกลียดพาลเมอร์และนโยบายเอียงซ้ายอย่างมาก
แถมพยานย้ำว่ามือสังหารใส่แว่นสายตากลม กางเกงสามส่วน ใส่หมวกไหมพรม ซึ่งเครื่องแต่งกายนี้ ตัวสติกเคยใส่ไปให้สัมภาณ์ในโทรทัศน์ด้วย จนมีคนจำได้และให้ข้อมูลแก่นักข่าว
หลังตรวจสอบข้อมูลกันอยู่พักใหญ่ๆ ในปี 2020 อัยการสวีเดนก็สรุปคดีนี้ว่า สติกนั่นแหละคือฆาตกรที่ฆ่าพาลเมอร์ตัวจริง ปิดคดีที่สังคมสวีเดนสงสัยได้สำเร็จ แม้ภรรยาของพาลเมอร์จะไม่ได้อยู่จนถึงวันที่ความจริงปรากฏ แต่ทางลูกของอดีตนายกรายนี้ ก็ดีใจที่ทางการรู้ตัวคนร้ายที่ฆ่าพ่อเสียที
แม้จะตั้งข้อหาสติกไม่ได้ แต่ก็ทำให้ประเทศสวีเดนคลายใจลงไป หลังร่วมกันหาคำตอบในเรื่องนี้มานาน ตามคำแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกมาพูด หลังปิดคดีได้แล้วว่า
“การฆาตกรรมนายกรัฐมนตรี เป็นบาดแผลของประเทศ มันคือความบอบช้ำ ที่เกิดจากการไม่รู้คำตอบ ตอนนี้พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเริ่มเยียวยาความเจ็บปวดนี้ได้แล้ว”
6.
ณ ปัจจุบันไม่มีใครในโลกนี้รู้ว่า สติกวางแผนก่อเหตุอย่างไร นานแค่ไหน และลงมือไปเพราะแรงจูงใจอะไรกันแน่ แม้จะมีการพบอาวุธปืนสังหารในภายหลังก็ตาม แต่เพราะการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอที่ไม่ดี จึงไม่รู้ว่ามันคือกระบอกที่ใช้ก่อเหตุหรือไม่
คำถามมากมายยังคงเจือด้วยข้อสงสัย แต่อย่างน้อย พวกเขาก็เชื่อว่าความจริงทั้งหมดคือความจริงที่ใฝ่หามานานกว่า 34 ปี
และทุกอย่างเกิดขึ้น ก็เพราะนักข่าวแท้ๆ ที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมด นำไปสู่จุดสิ้นสุด และทำให้เห็นว่างานข่าวดีๆ ก็สามารถเปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีได้ด้วย
ตัวโทมัสเอง ได้รับรางวัลมากมาย และเคยตอบคำถามจากเพื่อนนักข่าวถึงสติกไว้แบบน่าสนใจว่า หลังการเสียชีวิตของพาลเมอร์ ตัวสติกเอง ก็ไม่ได้ดีเด่อะไรเลย เขาหย่ากับเมีย ติดเหล้า และถังแตก
ส่วนสาเหตุที่เจ้าตัวออกมาพูดกับสื่ออยู่หลายครั้ง ว่ารู้เห็นเหตุการณ์สังหารโหดนี้ นอกจากเพื่อปั่นหัวตำรวจเล่นแล้ว ยังเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นๆ ด้วย เพราะสติกพยายามอย่างมาก ที่จะมีชื่อเสียง เป็นคนดัง และมีตัวตนในสังคมนี้ ซึ่งสุดท้าย เขาก็ทำไม่สำเร็จสักอย่าง
“และนี่อาจมีส่วนที่ทำให้เขาเลือกจบชีวิตลงแบบนี้”
อ้างอิงจาก
https://gijn.org/stories/how-they-did-it-solving-the-mystery-of-who-killed-swedens-prime-minister/
https://magasinetfilter.se/filterbubblan/olof-palme-murder-case-solved/
https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-44225024
https://magasinetfilter.se/reportage/59-minuter-som-forandrade-sverige/
https://www.bbc.com/news/world-europe-52909643
https://www.bbc.com/news/world-europe-52991406