ขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้อยู่ (วันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน 2563) ผมเพิ่งอ่านบทความสั้นๆ ของคุณ Akkarasorn Opilan (ไม่กล้าสะกดเป็นภาษาไทย กลัวผิด 555) จบ ผู้เขียนคนนี้เขียนบทความที่ชื่อว่า Young, Rich, and Ignorant: An Indictment of Privileged Kids [1] ซึ่งเขียนถึงอีลีตรุ่นใหม่รุ่นเยาว์ที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ทั้งหลาย ในฐานะที่เธอเองก็เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคมเดียวกันนี้ด้วย เธอเขียนถึงความอับอายที่เธอมีต่อชุมชนที่เธอสังกัดอยู่นี้ที่ ‘เพิกเฉย’ ต่อประเด็นทางการเมืองมากมาย หากมันแลดู ‘ไม่เก๋หรือดูคูล’ (fashionable) อย่างกรณีของ #BlackLivesMatter กับ #Saveวันเฉลิม ที่พรรคพวกของเธอเงียบกริบราวกับไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ และหลายๆ ครั้งความเพิกเฉยๆ นี้อยู่ในรูปของการเป็น ‘การเพิกเฉยโดยเต็มใจ (willfully ignorant)’ ด้วย และผมรู้สึกไปเองระหว่างที่อ่านบทความของเธอว่ามันไม่ใช่เพียงความรู้สึกอับอายต่อเพื่อนร่วมชุมชนของเธอ หรือการตัดพ้อต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของเพื่อนๆ เธอเท่านั้น แต่มันยังแฝงความรู้สึกรับผิดชอบและขอโทษอย่างหนักอึ้งในความ ไม่เอาไหนของชุมชนที่เธอสังกัดอยู่ หรืออาจจะกระทั่งตัวเธอเองที่ไม่สามารถผลักดันอะไรให้ไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้
พออ่านเสร็จ แวบแรกเลย ผมรู้สึกชื่นชมและปลาบปลื้มใจกับผู้เขียนที่อายุเพียง 16 ปีคนนี้มาก เพราะไม่ใช่แค่เธอมีมุมมองต่อชุมชนที่เธอสังกัดมานำเสนออย่างแยบคายแล้ว ยังมีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical mind) มากระดับที่ตรวจสอบตัวเองอยู่ด้วย และผมคิดว่าเป็นความกล้าหาญไม่น้อยในการจะทำเช่นนั้นต่อตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทั่งหลายคนในชุมชนวิชาการยังขาดด้วยซ้ำ ไม่ต้องไปพูดถึงวงการการเมืองไทยที่หนังหน้าหนาเสียยิ่งกว่าหนังแรดดำแอฟริกาเสียเลย (ตัวอย่างมีให้ระลึกได้เกินมากพอ กรณีแบบธรรมนัส นาฬิกายืมเพื่อนหรือปารีณานั้น หากเป็นที่อื่นในโลกอาจจะถึงขั้นลาออกมันทั้ง ครม. ไปแล้ว) แต่พร้อมๆ กันไป ในแวบต่อมา ผมก็กลับมีบทสะท้อนต่อตัวเองและเพื่อนๆ ลิเบอรัลร่วมยุคสมัยไปด้วยว่า “เออ การเป็นลิเบอรัลเนี่ย มันช่างเหนื่อยจริงหนอ และพร้อมๆ กันไปบางครั้งมันก็ทำให้เรารู้สึกไปเองว่าตัวเองนั้นคูลเกินจริงไปด้วยหนอ”
ที่ผมรู้สึกว่าบทความดังกล่าวมันกึ่งๆ เป็นบทสะท้อนตัวเองด้วย เพราะผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ในมาตรฐานของสังคมไทยนี้ ผมเคลมตัวเองได้แน่ๆ ว่าผมเป็นลิเบอรัลคนหนึ่ง และหากจะอวดตนมากขึ้นไปกว่านั้น ก็คิดว่าพอจะหน้าหนาพูดต่อไปได้อีกด้วยซ้ำว่า ตอนยุครัฐประหารปี พ.ศ.2549 ผมกับเพื่อนๆ จำนวนไม่มาก เป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาเพียงไม่กี่กลุ่มในตอนนั้นที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ไม่นับความเปรี้ยวตีนที่ตัวเองตอนนี้ยังงงว่ากล้าทำไปได้ยังไง อย่างการไปอภิปรายให้ ‘ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550’ ถึงถิ่น ASTV ตอนนั้น หรือในระดับส่วนบุคคลที่ก็คิดว่าสู้สุดตัวขนาดชี้หน้าด่ากับอาจารย์สลิ่มทั่วไปหมด แบบไม่สนใจเกรดและคะแนนใดๆ (เขียนด่าในตัวข้อสอบก็ทำ 555) ในขณะที่เพื่อนๆ ร่วมรุ่นของผมเองในเวลานั้น โดยมากก็มีท่าทีที่ค่อนข้างเพิกเฉยต่อการเมืองหรือกระทั่งเอนเอียงไปอีกข้าง (แม้จะเรียนคณะรัฐศาสตร์ก็ตามที) กระทั่งหลายๆ คนมองว่าผมแรงๆ บ้าๆ ด้วยซ้ำแหละครับ เอาล่ะ ขี้โม้อย่างหน้าด้านๆ มากพอแล้ว ที่ร่ายมานี่ไม่ใช่อะไรนะครับ แต่แค่เพื่อจะบอกว่า ทุกวันนี้ในฐานะ ‘เจเนอร์เรชั่นที่ล้มเหลวในการต่อสู้’ นั้น ผมเองก็ยังรู้สึกอับอายต่อความไม่ได้เรื่องของตนเอง และยังรู้สึกว่าจำเป็นต้องขอโทษสังคมและคนรุ่นหลังจากผมทุกครั้งที่โอกาสอำนวย ที่รุ่นและยุคสมัยของผมห่วยแตกเกินกว่าจะสู้กับความเฮงซวยในสังคมได้ และสุดท้ายต้องส่งผ่านหรือผลักภาระความเฮงซวยนี้มาให้กับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน และผมกล้าบอกได้ว่านี่คือความรู้สึกจากใจเลย คือ รู้สึกว่าห่วยแตกและอยากขอโทษจริงๆ
ในแง่นี้ผมคิดว่าอารมณ์ความรู้สึกอะไรนั้น มันไม่ได้ต่างอะไรนักจากผู้เขียนบทความถึงสภาวะความเพิกเฉยของเหล่า ‘เด็กนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์’ ข้างต้น ที่รู้สึกอับอายและปนๆ กับความรู้สึกขอโทษ แต่นั่นแหละครับ ด้วยความน่าหมั่นไส้เหลือแสนของตัวผมเอง ผมก็เสือกไปคิดต่ออีกว่า “เอาเข้าจริงๆ แล้ว การเป็นลิเบอรัลนี้มันช่างเหนื่อยจริงหนอ” … คือ ตอนสู้ ก็สู้อย่างค่อนข้างโดดเดี่ยว เครื่องไม้เครื่องมือหรือทรัพยากรที่จะเอาไปใช้สู้กับรัฐอำนาจนิยมอะไรได้ก็ยังจำกัดจำเขี่ยเหลือแสนอีก ถูกรังแกหรือตกเป็นเหยื่อต่อความรุนแรงก่อนก็พวกกูอีก และพอทำไม่สำเร็จก็ยังเสือกจะมารู้สึกผิดในความไม่เอาไหน และขอโทษขอโพยแทนคนร่วมยุคสมัยหรือร่วมชุมชนที่ไม่ทำห่าอะไรเลย กระทั่งตอนนี้ก็อาจจะยังไม่รู้ตัวถึงภาระที่ได้สร้างขึ้นด้วยซ้ำ (หรือรู้ตัวแต่ทำเนียนเป็นลืมๆ มันไปก็มี) ความเหนื่อยเกินสมควรจากการต้องเหนื่อยที่ส่วนหนึ่งโบยตีตัวเองอย่างล้นเกินตลอดเวลาของเหล่าลิเบอรัล ที่ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วมันทำให้ขบวนการต่อสู้ของฝั่งก้าวหน้านั้นมันบอบช้ำและอิดโรยไปก่อนจะได้เคยลิ้มรสความสำเร็จใดๆ เป็นชิ้นเป็นอันสักครั้งด้วย
ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า การโบยตีตัวเองอย่างล้นเกินนี้มันส่งผลให้เพื่อนๆ สายลิเบอรัลของผมจำนวนมากต้องประสบพบเจอกับอาการป่วยทางจิตประสาทตามๆ กันมามากมายด้วยไหม ทั้งซึมเศร้า ทั้งไบโพลาร์กันเกลื่อนวงการ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ก็ไม่อาจจะกล้าสรุปอะไรไป แต่ลึกๆ ผมเชื่อว่าเกี่ยว ผนวกกับการที่คนเหล่านี้มีภาพของ ‘โลกที่คาดหวัง’ กับ ‘โลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องสู้เพื่อให้ไปสู่โลกที่คาดหวัง’ ชนิดที่ห่างไกลกันลิบลับมาก ก็แลดูจะยิ่งทำให้สาหัสขึ้นอีก
แต่นั่นแหละครับ ผมอยากจะบอกว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่จะรู้สึกเหนื่อยเหลือเกินในการเป็นลิเบอรัล เพราะบอกตามตรงว่า
(Progressive) Liberalism โดยตัวคอนเซปต์นั้น
เป็นแนวคิดที่ ‘เรียกร้องจากเรามากเหลือเกิน’ ครับ
กระแสดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายๆ คริสทศวรรษ 1950s – 1960s หรือระหว่างสงครามเย็นนั่นเอง และสหรัฐอเมริกากำลังอินกับแนวคิดโดมิโน ที่ทำให้เปลี่ยนท่าทีแบบเสรีนิยมคลาสสิก มาเป็นการพยายามจะ ‘แผ่แนวคิดแบบเสรีนิยมไปเป็นวงกว้าง’ เพื่อสกัดการรุกคืบของค่ายคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น ผนวกกับขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ 1960s ทำให้เกิดการ ‘กลืน’ กันของจุดยืนแบบเสรีนิยมคลาสสิกที่เน้นไปที่การมีเสรีภาพส่วนบุคคล กับแนวคิดแบบฝ่ายซ้ายที่พยายามจะประกันการเข้าถึงทรัพยากรของสังคมมวลรวมให้ทั่วถึงมากขึ้น โดยรวมแล้วจึงเกิดเป็นสภาวะที่เรียกกันว่า Liberal Hegemony (หรือเสรีนิยมอำนาจนำขึ้นในท้ายที่สุด) นั่นเองครับ
แต่การกลายสภาพที่ว่านี้มันก็นำมาสู่ข้อเรียกร้องจากเราที่มากขึ้นไปด้วย จนสุดท้ายหลายเรื่องก็ขัดกันเองบ้าง หรือหาจุดแบ่งที่ชัดเจนได้ลำบากมากขึ้นบ้าง ตัวอย่างง่ายๆ ของความเรียกร้องเชิงโครงสร้างที่แนวคิดเสรีนิยม (ก้าวหน้า) ชักพามานะครับ ก็เช่น แนวคิดแบบ ‘สิทธิเชิงบวก’ (positive rights) ที่ไม่ได้สนใจแค่สิทธิเสรีภาพของตัวเราเอง แต่ประกันการสามารถเข้าถึงสิทธิของ ‘ทุกๆ คน’ ได้ด้วย ว่าอีกแบบก็คือ มันเป็นแนวคิดที่พยายามสร้างความเป็นสากล (universality) เป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกคนใดเฉพาะอีกต่อไปแล้ว
การริดรอน การกีดกัน การเบียดเบียนการเข้าถึงสิทธิของใครก็ตามที จะมาบอกว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา’ อีกไม่ได้แล้ว เราต้องเป็นเดือดเป็นร้อนกับ กับทุกๆ ความอยุติธรรมและการกดขี่ที่เกิดขึ้น แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวนี่ มันก็เป็นข้อเรียกร้องที่มากมหาศาลและเหนื่อยแสนสาหัสแล้วนะครับ แต่เพราะเช่นนี้แหละ เราจึงได้หันมาสนใจกับกรณีของจอร์จ ฟลอยด์และ #BlackLivesMatter แม้ว่าในทางปฏิบัติ ชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลยสักนิดก็ตาม ทำนองเดียวกันกับกรณีของ #Saveวันเฉลิม หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และอื่นๆ
และหากกล่าวกันอย่างถึงที่สุดแล้ว ดราม่าที่มีต่อดาราเอย นักสตรีมเกมชื่อดังเอยต่อกรณี #Saveวันเฉลิม นั้น ก็มาจากรากฐานความแตกต่างของจุดยืนของสิทธิเชิงลบ (negative rights) แบบเสรีนิยมคลาสสิก (ที่โดยทั่วไปในโลกถือว่าเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม) กับจุดยืนของสิทธิเชิงบวก (positive rights) แบบเสรีนิยมก้าวหน้า ที่ถืออยู่ในละแวกกลาง-กลางซ้ายในทางสากลนั่นเองน่ะแหละครับ
ความเหนื่อยยากแสนเข็ญไม่ได้จบแค่นั้น
เมื่อเสรีนิยมก้าวหน้าต้องการมีท่าทีแบบสากล
มันจึงต้องเปิดรับความแตกต่างล้านพันประการให้มีที่ยืน
ได้อย่างเสมอเหมือนกันด้วย
อันนำมาซึ่งแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมนิยม, ความอดทนอดกลั้นทางวัฒนธรรม (cultural toleration) ไปจนถึงความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) ว่าง่ายๆ ก็คือ ไม่แต่เพียงเราต้องเป็นเดือดเป็นร้อนต่อความทุกข์ร้อนของมนุษย์ทุกผู้ทุกคนบนโลกเท่านั้น เรายังต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อความหลายหลายและไม่คุ้นชินล้านแปดที่มีอยู่ในโลกให้ได้ตราบเท่าที่มันไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หรือต่อให้มันเป็นเรื่องที่ดูโง่เง่าปานใดก็ตาม กระทั่งการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานและความเป็นคนให้กับกลุ่มคนที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (อย่างการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกให้กับ กปปส. แม้เราจะเห็นว่ามันน่ารังเกียจปานใดก็ตาม)
เราต้องแคร์ทุกคน เราต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งทนได้แทบทุกอย่างแล้วยังไม่พอนะครับ เสรีนิยมก้าวหน้ายังเรียกร้องให้เราหน้าบางอย่างเหลือประมาณกับทุกสิ่งที่เราอาจจะพลาดพลั้งไปสร้างภาระให้กับ ‘สาธารณะ’ อีกด้วย เราจำเป็นต้องมีสำนึกรับผิดชอบ (accountability) ต่อการกระทำของตนเสมอ เราต้องรู้สึกผิด และเราต้องระวังตัวจากทุกการกระทำของเราเอง (ไม่ใช่แค่เฉพาะจากฝั่งที่เราพยายามต่อสู้ด้วย) ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาผิดคุณลักษณะ political correctness อันดีงาม การตบตีของเฟมินิสม์แปดหมื่นกว่าสำนักเพื่อจะยืนยันท่าทีอันถูกต้องหนึ่งเดียวของตนให้ได้ในฐานะมาตรฐานหลักของ ‘โลกเสรี’ ไปยันการชี้หน้าประณามคนที่ตนมองว่า ‘สร้างภาระให้กับสาธารณ’ อย่างเกินกว่าค่ามาตรฐานส่วนตนที่ตนเองตั้งไว้ อย่างเหล่าวีแกนบางเผ่าพันธุ์ที่เที่ยวชี้หน้าคนกินเนื้อว่าโรงงานสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นต์ เป็นต้น
ในแง่นี้เอง เราจะเห็นได้ว่า การเป็นลิเบอรัลนั้น มันช่างเหนื่อยเหลือเกิน ในขณะที่การเป็นลูกไล่เผด็จการอำนาจนิยมนั้นช่างสบายตัวสบายใจกว่ามาก ขอแค่ขยันทำตัวโง่ ไม่เห็นความเลวร้ายตรงหน้าหน่อยก็พอแล้ว ทีนี้ ใครจะโดนกดขี่ที่มุมไหนของโลก ก็จะสามารถ “เออ เรื่องของมึง ไม่เกี่ยวกับกู กูทำมาหากินของกูไปก็พอแล้ว” ได้ เจอความต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่ตรงใจอะไร ก็สามารถใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางและตัดสินอย่างบ้าอำนาจได้ โดยไม่ต้องสนปี่สนขลุ่ยอะไร หรือจะพูดจาห่ามๆ โง่ๆ หรือสร้างความเดือดร้อนอะไรขึ้นต่อสังคมมวลรวมปานใด ก็ทำมึนเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อไปได้ ซึ่งมีให้เห็นได้มากมายตั้งแต่มนุษย์ป้ามนุษย์ลุงไปยันทหารที่ลากรถถังเข้าสภา คู่ต่อสู้ของลิเบอรัลนั้น นอกจากจะมีอาวุธ มีเครื่องไม้เครื่องมือในการตอบโต้ลิเบอรัลอย่างมากมายกว่ามากแล้ว ยังเหนื่อยน้อยกว่าเยอะจริงๆ ครับ ไม่แปลกหรอกที่ลิเบอรัลอย่างเราๆ จะเหนื่อยตายเพราะโบยตีตัวเอง หรือตบกันเองภายในไปก่อน (ทั้งนี้ผมไม่ได้บอกว่าการตบกันเองในหมู่ลิบฯ มันไม่ควรนะครับ ทำไปเถอะ แค่จะบอกว่าทำไมเราจึงเหนื่อยกว่าคู่ต่อสู้เรามากเหลือเกิน)
ผมเขียนมายาวยืดนี้ ไม่ใช่เพื่อจะลดคุณค่าแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้าใดๆ เลย แม้บ่อยครั้งจะเหนื่อยเพราะมันเหลือเกิน เพียงแค่อยากจะชี้ให้เห็นว่า 1. เออ มันทำให้เราเหนื่อยกว่าอีกฝั่งจริงๆ นะ ฉะนั้นไอ้พวกที่ทำตัวเนียนเพิกเฉยอยู่หรือแกล้งโง่อยู่เนี่ย มาช่วยกันทำงานหน่อย อย่าเอาเปรียบแต่พวกกูเลย และ 2. ผมอยากให้ประชาชนฝั่งลิเบอรัลเองนั้นรับรู้ถึงปัญหาที่แนวคิดเสรีนิยมมันสร้างขึ้นด้วย เพราะบ่อยครั้งเวลาที่เราเชียร์อะไร เรามีแนวโน้มที่จะเชียร์มันอย่างชนิดลืมหูลืมตา ไม่เพ่งพินิจปัญหา กระทั่งความย้อนแย้งในตัวของมันไปด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เวิร์คนัก และ 3. ผมอยากให้เพื่อนๆ ชาวลิเบอรัลด้วยกันนั้น อาจจะได้ลองลดทอนการโบยตีตัวเองอย่างล้นเกินลงบ้าง ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีต่อเราเองไม่น้อย เพราะแค่ความเหนื่อยที่ตัวโครงสร้างแนวคิดมันเรียกร้องจากเราก็มากพออยู่แล้ว ทีนี้ถ้าทางส่วนตัวจะไปเค้น จะไปโบยตีเพิ่มขึ้นไปอีกคงได้ลมปราณแตกซ่านกระอักเลือดตัวเองตายกันก่อนพอดี
แต่ปัญหามันไม่ได้หมดแค่นั้นนะครับ ไอ้ความเหนื่อยจากสารพัดข้อเรียกร้องเชิงโครงสร้างของแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้าที่ว่ามานี้
ท้ายที่สุดแล้วมันกลับกลายมาเป็น
‘ข้อจำกัดต่อเสรีภาพและความเสมอภาค’
ในตัวเองของแนวคิดนี้ไปด้วย
ทั้งเรื่องความถูกต้องทางการเมือง ความอดกลั้นทางวัฒนธรรม ไปจนถึงการต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจและต่อสู้เรียกร้องให้ทุกๆ การกดขี่ในฐานะ ‘มาตรฐานหลักของชีวิต’ นั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วมันต่างอะไรกับการบังคับว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ และต้องทำอะไรจึงจะดีพอ จึงจะสมควร? แต่หากทำได้แล้วจะเป็นอย่างไร คุณก็จะเป็นลิเบอรัลผู้เพรียบพร้อมสมบูรณ์แบบกระนั้นหรือ?
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ชาวลิเบอรัลอย่างเราต้องยอมรับคือ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา หรืออย่างช้าที่สุดก็หลังสงครามเย็นสิ้นสุด ท่าทีแบบเสรีนิยมก้าวหน้าทั้งมวลที่กล่าวมานั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในทางวัฒนธรรมของ ‘ความมีอารยธรรม มีการศึกษา หรือมีวุฒิภาวะ’ (civilized, educated and maturity) ในทางสากลไปด้วย ความสามารถในการอดกลั้นต่อความเห็นต่าง ท่าทีที่แตกต่าง หรือวัฒนธรรมแปลกๆ ได้อย่างเปิดใจกว้างนั้น กลายเป็น ‘ความพยายามจะเป็น’ ของชาวลิเบอรัลสากล ‘เราต้องเข้าใจพวกเขา เราต้องเปิดกว้าง เราต้องมีพื้นที่ให้ความแตกต่าง’ แต่พร้อมๆ กันไปแล้ว ท่าทีดังกล่าวมาก็ผูกติดอยู่กับความเหนือกว่าทางจิตวิญญาณอยู่ด้วย “เออ ฉันจะไม่ทำตัวแบบมนุษย์ป้าคนนั้น เพราะฉันไม่ใช่คนอย่างนั้น ฉันดีกว่านั้น” ฯลฯ ท่าทีเหล่านี้เองที่สุดท้ายแล้วทำให้พฤติกรรมแบบลิเบอรัลเองกลายมาเป็น ‘ท่าทีอำนาจนำ’ ที่ยืนอยู่บนแท่นสูงสุดของความสูงส่งทางศีลธรรม (moral high ground) ไปด้วย และตัดสินความเหนือกว่า ดีกว่า สมบูรณ์พร้อมกว่าบนฐานวิธีคิดดังกล่าวไป
ผมคิดว่ามันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะในยุคอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ที่ ‘ภาพลักษณ์ หรืออิมเมจ’ กลายมาเป็นปัจจัยหลักอีกอย่างในชีวิตไปแล้วนั้น
จะทำให้ท่าทีเสรีนิยมเสรีกลายมาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบ
ของแฟชั่นแห่งยุคไปด้วย (fashionable ideology)
อย่างที่บทความที่อภิปรายถึงชุมชนเด็กนักเรียนอินเตอร์ดูจะเป็น กล่าวคือ เลือกจะลิเบอรัลเฉพาะเรื่องที่มัน fashionable พอ เพราะถึงที่สุดแล้วการมีท่าทีเสรีนิยมนั้นมันจำเป็นสำหรับอิมเมจที่ดีของผู้ถือครองอยู่ เรียกได้ว่าโดยโครงสร้างของแนวคิดเอง เสรีนิยมก้าวหน้ามันก็สร้างความย้อนแย้งให้กับมากัดกินตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องนับว่าข้อเรียกร้องเชิงโครงสร้างของแนวคิดเสรีนิยมก้าวหน้าเองมันเยอะมากเหลือ จนไม่มีทางจะทำได้ครบถ้วนในทางปฏิบัติ สุดท้ายมันก็บังคับให้เราต้อง ‘เลือก’ ว่าจะเอา จะอินกับเรื่องไหนบ้าง หนักขึ้นไปกว่านั้น หลายๆ ครั้งเองเราก็ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวต่อความไม่ทั่วถ้วนนี้ ว่าแท้จริงแล้วเราก็เลือกที่จะปฏิบัติกับบางอย่างเป็นพิเศษ หลงลืมหรือเพิกเฉยต่อบางสิ่งไป กระทั่งกำลังกดขี่คนอื่นอยู่โดยไม่ทันรู้ตัวก็มีให้เห็นได้
รูปนี้ผมนำมาจากเพจ Occupy Wall Street มันเป็นภาพที่ผมคิดว่าสะท้อนให้เห็นถึงความเพิกเฉยโดยไม่รู้ตัวของเหล่าลิเบอรัลไม่น้อยเลยครับ และผมก็ชอบมากถึงขนาดนำมาใช้เป็น profile picture ตัวเองเลย เพื่อเตือนตัวเองให้ไม่ลืมว่า มึงเป็นลิเบอรัล แค่นั้นจบ ไม่ได้พิเศษกว่าใคร ไม่ได้ดีเด่กว่าใคร และก็ย้อนแย้งในตัวเองไม่ได้น้อยกว่าใครด้วย
สุดท้ายผมอยากจะจบบทความนี้ไปแต่เพียงว่า ผมเขียนมานี้ หลักๆ เพื่อจะเป็นบทสะท้อนต่อความเหนื่อยของการเป็นลิเบอรัล ที่โดยตัวมันเองก็เหนื่อยมากพออยู่แล้ว และยิ่งมาอยู่ในสังคมอำนาจนิยมอย่างไทยอีก มันยิ่งเหนื่อยหนัก ในเวลาแบบนี้บางทีเราอาจจะต้องลดทอนความเหนื่อยลงด้วยการโบยตีตัวเองให้น้อยลงบ้าง จำกัดตนเองให้น้อยลงบ้าง และที่สำคัญควรจะลดระดับความเป็นผู้เหนือกว่าทางปัญญาและอารยธรรมของตนลงบ้าง กี่ครั้งแล้วก็ไม่รู้ที่ลิเบอรัลพ่ายแพ้เพราะประเมินขีดความสามารถตนเองสูงไป แต่ประเมินกำลังของฝั่งตรงข้ามอย่างอำนาจนิยมต่ำไป
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม
[1] โปรดดู https://thisrupt.co/society/young-rich-and-ignorant/