หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมคนที่ดู ‘ก้าวหน้า’ หรือลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมาก ถึงได้ไม่เห็นก้าวหน้าเอาเสียเลยในเรื่องเพศ
เราจะเห็นนักกิจกรรม นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหลายต่อหลายคน มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ ตั้งแต่เรื่องเบาะๆ อย่างเช่นการลวงล่อคนไปมีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจหรือ consent จนถึงการก่อความรุนแรงในทางกายขึ้นมาจริงๆ
หลายปีก่อน วอชิงตันโพสต์ เคยรายงานการวิจัยที่น่าสนใจเอาไว้ โดยงานวิจัยที่ว่าตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Social Science & Medicine ว่าด้วยเรื่องของ Nordic Paradox หรือ ‘ปฏิทรรศน์ของกลุ่มประเทศนอร์ดิก’
สรุปสั้นๆ ได้ว่า ในประเทศแถบนอร์ดิก (คือนอร์เวย์ สวีเดนอะไรทำนองนั้น) แม้เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ สูงที่สุดในโลก แถมยังเป็นประเทศประชาธิปไตยที่น่าอิจฉา เพราะมีความเป็นรัฐสวัสดิการด้วย แต่ประเทศเหล่านี้กลับมีอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) ที่กระทำต่อผู้หญิงสูงที่สุดในโลก
เรื่องนี้น่าประหลาดใจมาก เพราะถ้าคิดโดยใช้สามัญสำนึกทั่วไป สังคมที่สมาทานความเท่าเทียมเสมอภาค เป็นประชาธิปไตย หรือว่าให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน มีสวัสดิการสังคมที่ดีเพราะเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ก็น่าจะเป็นสังคมที่ปลอดความรุนแรงเบื้องต้น – คือความรุนแรงในบ้านไม่ใช่หรือ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือเรื่องศาสนา เขาบอกว่าประเทศอย่างเดนมาร์กและสวีเดนที่มีอัตราการใช้ความรุนแรงในบ้านสูงนั้น จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่คนนับถือศาสนาน้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศอย่างโปแลนด์ที่คนยังนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากอยู่ แม้จะมีคะแนนความเท่าเทียมหรือความเป็นประชาธิปไตยต่ำกว่า แต่กลับมีอัตราการใช้ความรุนแรงในบ้านต่ำกว่า ดังนั้น ศาสนาหรือ ‘จริยธรรม’ แบบพื้นๆ จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยเก่าในปี ค.ศ.2006 ที่ดูความสัมพันธ์ระหว่างความเคร่งศาสนากับความรุนแรงในครอบครัว พบว่าคนที่ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ จะใช้ความรุนแรงในครอบครัวน้อยกว่าคนที่ไปโบสถ์ปีละครั้งถึง 50%
ซึ่งก็แน่นอนว่า คนที่ไปโบสถ์มากกว่า ย่อมเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม จึงเป็นไปได้ว่า ชาวอนุรักษ์นิยมมีแนวโน้มทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงน้อยกว่าเสรีนิยม
ถ้าเรามาดูตัวอย่างที่เป็นคนมีชื่อเสียงบ้าง
คนหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่ามีประวัติทำร้ายผู้หญิง
ก็คือ จอห์น เลนนอน
เขาอาจเป็นคนเขียนเพลง Imagine ซึ่งเป็นเพลงที่พูดถึงโลกในอุดมคติแสนงดงาม แต่จอห์น เลนนอน ก็เคยสารภาพว่าเขาเป็น a hitter คือเป็นคนที่ตบตีภรรยาคนแรก (ชื่อซินเธีย) โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้กับนิตยสารเพลย์บอยในปี ค.ศ.1980 แถมยังมีข่าวว่า เขายังใช้ความรุนแรงกับลูกชาย (คือ จูเลียน เลนนอน) จน พอล แม็คคาร์ทนีย์ ต้องเข้ามาช่วยปกป้องดูแล (และถึงขั้นเขียนเพลง Hey, Jude ปลอบใจ)
มีผู้รวบรวมรายชื่อนักดนตรีดังๆ ที่มีความเสรีนิยมในหลายๆ มิติ แต่กลับล้าหลังในเรื่องความสัมพันธ์เอาไว้ในบทความหนึ่ง ซึ่งถ้าไปเปิดดูก็จะพบรายชื่อมากมายที่น่าตกใจ
ในอังกฤษ เคยมีคนสัมภาษณ์ ‘เหยื่อ’ ที่รอดจากการล่วงละเมิดทางเพศในหมู่นักกิจกรรม แล้วได้ข้อสรุปออกมาหลายอย่าง เช่น พบว่าผู้หญิง (และ/หรือ คนเพศอื่นๆ) ที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแล้วตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดของผู้ชายนั้นมีจำนวนไม่น้อย โดยเขาบอกว่า ผู้หญิงหรือคนเพศอื่นๆ มักเคยมีบาดแผล เคยเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ มาก่อน เวลาเข้าร่วมขบวนการเหล่านี้ก็จะเข้าใจการถูกกดเหยียดอย่างลึกซึ้ง และมองว่าการต่อสู้ทางการเมืองก็เป็นการต่อสู้ส่วนตัวด้วย
แต่กระนั้น คนที่จะ ‘อยู่ข้างหน้า’ ของขบวนการต่อสู้เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี และมักเป็นผู้ชายที่มีคุณสมบัติแบบ mansplainer หรือเป็นนักอธิบายที่ ‘รู้ทุกอย่าง’ เกี่ยวกับการต่อสู้ด้วย หลายขบวนการยังคิดว่าการให้ผู้ชายเป็น ‘หน้าตา’ ของขบวนการต่อสู้นั้นดีกว่าให้ผู้หญิงหรือคนเพศอื่นๆ เป็น คนอื่นๆ จึงเป็นเพียงกลไกหรือฟันเฟืองขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเท่านั้น ดังนั้นถ้ามองในแง่อำนาจ คนที่มีเพศสภาพแบบผู้ชายจึงยังครองอำนาจเหนือในขบวนการต่อสู้ทางสังคมส่วนใหญ่อยู่ดี
นอกจากนี้ เหยื่อยังมักเข้าใจว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นพื้นที่แห่งอุดมคติ มีความเสมอภาค จึงไว้วางใจ เพราะขบวนการมักพูดเรื่องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย ฯลฯ แต่มิติของความเท่าเทียมกลับแตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง ‘เสียง’ ของผู้หญิง (หรือคนเพศอื่นๆ) ในขบวนการต่อสู้ทางสังคมจำนวนมากเป็นเสียงที่เบากว่าผู้ชาย ยิ่งถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศก็จะยิ่งถูกทำให้เบาลงไปอีกด้วยวิธีต่างๆ เนื่องจากผู้นำขบวนการทางสังคมจำนวนมากมักถูกมองว่าเป็นคนเสียสละตัวเอง การกล่าวหาคนแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ละเลยมิติทางเพศ จึงเป็นการต่อสู้ที่หลายคนเรียกว่าเป็น ‘Liberal Hipocrisy’ นั่นคือไม่ได้สู้เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคทั้งหมด เพราะกระทั่งความเสมอภาคที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่ง คือความเสมอภาคทางเพศ – ก็ยังถูกละเลย