มีผู้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘คอลเอาต์’ ในหลายด้าน โดยเฉพาะการคอลเอาต์ของดารานักแสดงที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล จนหลายคนถูกกล่าวหาว่ากำลังปล่อย ‘เฟกนิวส์’
การวิเคราะห์แนวหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เดิมที ดารานักแสดงเหล่านี้มักจะพยายามพาตัวเองให้ออกห่างจากความขัดแย้งทางการเมือง เพราะมันไม่เป็นผลดีต่ออาชีพการงานของตัวเองสักเท่าไหร่ ดังนั้น การออกมาคอลเอาต์ขนานใหญ่ครั้งนี้ จึงน่าจะเกิดจากความ ‘ทนไม่ได้’ จริงๆ เพราะเห็นสถานการณ์อันย่ำแย่เลวร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา โดยสถานการณ์ที่ว่านี้มีทั้งเรื่องที่เกิดข้ึนกับ ‘คนอื่น’ เช่น คนที่ได้รับผลกระทบจากอาการเจ็บป่วย การหาวัคซีนไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคนที่ต้องตายอยู่ริมถนน รวมไปถึงสถานการณ์ที่เกิดข้ึนกับ ‘ตัวเอง’ เช่น งานหดหาย ไม่มีรายได้
จะเห็นว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นเหมือนสึนามิระลอกใหญ่ที่ซัดเข้ากระทบสุขภาวะของผู้คนในหลายมิติ ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจจนกระทั่งถึงมิติทางการแพทย์ และซัดเข้ากระทบทั้งกับคนเล็กคนน้อย ไล่เลยไปจนถึงคนที่มีสถานภาพสุขสบายพอสมควร อย่างเช่นเหล่าดารานักแสดงด้วย
เมื่อมองแบบนี้ ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาคอลเอาต์ของดารานักแสดงเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ของสังคมประชาธิปไตย มันคือการออกมา ‘ส่งเสียง’ ในพื้นที่ที่ตัวเองได้รับผลกระทบ ซึ่งก็คือการเรียกร้องเพื่อต่อสู้ต่อรองให้กับตัวเองเป็นหลัก แต่ในกรณีนี้มันคือการต่อสู้เพื่อสังคมไปด้วย เพราะเรื่องที่เดือดร้อนนั้น เป็นเรื่องเดียวที่พบและกระทบกันไปทั่วทั้งเนื้อสังคมนี้
การคอลเอาต์ของเหล่าดารานักแสดงนี้เป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในด้านหนึ่งจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจศึกษาในทางสังคมอย่างยิ่ง ว่ามันได้เกิดการ ‘เคลื่อน’ (Shift) ในทางสังคมอย่างไรขึ้นบ้างหรือเปล่า
แต่ในอีกด้านหนึ่ง – สิ่งที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่งก็คือ, ทำไม ‘ผู้อยู่ในอำนาจ’ ทั้งหลาย ถึงยังทำตัวไม่รู้หนาวรู้ร้อน ไม่รู้จัก ‘ตอบสนอง’ ต่อปรากฏการณ์ทางสังคมเหล่านี้ (ที่ไม่ได้มีแค่การคอลเอาต์ของดารานักแสดงเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนอีกจำนวนมากด้วย)
พวกเขา ‘ไม่รู้’ จริงๆ หรือ – ว่าตัวเองทำงานบกพร่องอะไรบ้าง
และควรต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูกจุดอย่างไรบ้าง
พวกเขา ‘ไม่รู้’ จริงๆ หรือ – ว่าการแก้ตัวตะพึดตะพือในทุกเรื่อง ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้เลย
และพวกเขา ‘ไม่รู้’ จริงๆ หรือ – ว่าการกล่าวหาโต้กลับว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เป็น ‘เฟกนิวส์’ เป็นได้แค่น้ำมันที่ราดลงบนกองเพลิงเท่านั้นเอง
เวลาได้ยินคนบอกว่า – อำนาจเป็นของหอมหวาน ใครได้เสพแล้วจะมักจะติด ไม่สามารถถ่ายถอนตัวเองออกจากอำนาจได้, ผมมักสงสัยเสมอว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ
หรือว่ามันเป็นเฉพาะกับคนที่มีวิธีคิดบางแบบเท่านั้น
ถ้าดูสังคมการเมืองไทย เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า กลุ่มคนที่เป็นผู้ควบคุม สถาปนา และจัดวางโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งแสดงจิตเจตนากันอย่างชัดแจ้ง ว่าจะจัดวางควบคุมกันต่อไปในอนาคต อย่างน้อยที่สุดก็ 20 ปี ข้างหน้า – คือคนที่มีช่วงวัยใกล้เคียงกัน ผ่านโลกมาคล้ายๆ กัน มีวิสัยทัศน์และโลกทัศน์คล้ายคลึงกัน ถูกบ่มเพาะปลูกฝังอุดมการณ์ในทางประวัติศาสตร์แบบเดียวกัน
หรือพูดให้ลึกไปกว่านั้นก็คือ อยู่ใน Bubble หรือ
‘ฟองสบู่ทางสังคม’ แบบเดียวกันมาโดยตลอด
หลายคนเรียกคนกลุ่มนี้ว่าบูมเมอร์ส ซึ่งแน่นอน – มันเป็นคำพูดที่เหมารวม เพราะไม่ได้แปลว่าคนที่เกิดในยุคสมัยเดียวกันทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน แต่ให้บังเอิญว่าเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจในการควบคุม สถาปนา และจัดวางโครงสร้างสังคม ณ ขณะนั้น – ดันเป็นคนกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างกันแบบนี้
ที่จริงแล้ว การจำกัดความบูมเมอร์นั้นไม่ได้ง่ายนัก แต่ละประเทศมีบูมเมอร์แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปถือว่า บูมเมอร์เป็นคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2486 ถึง พ.ศ.2503 (หรือ ค.ศ.1943 ถึง ค.ศ.1960) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีอายุราวๆ 57 ถึง 74 ปี (หรือกว่านั้น) คนกลุ่มนี้เติบโตมาในยุคหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง เป็นยุคที่สังคมและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จึงพูดได้ว่า คนกลุ่มนี้ ‘สบาย’ กว่าคนรุ่นก่อน เพราะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ ถึงระดับเป็นตาย แต่กระนั้นก็ถือว่า ‘เกิดทัน’ คนรุ่นก่อน ทำให้ตัวเองยัง ‘เห็น’ ความยากลำบากของคนรุ่นก่อน และได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดความคิดและคุณค่าหลายอย่างมา
โดยเฉพาะความคิดเรื่อง ‘อำนาจ’
แน่นอน การพูดว่าคนรุ่นไหนเกิดช่วงไหน มีลักษณะนิสัยอย่างไร ย่อมเป็นการ ‘เหมารวม’ แน่ๆ เพราะคนในแต่ละรุ่นแต่ละกลุ่ม ย่อมไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันไปหมดทุกคน แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ในหนังสือ A Generation of Sociopaths : How the Baby Boomers Betrayed America ของ บรูซ กิบนีย์ (Bruce Gibney) มีการพูดถึง ‘ลักษณะร่วม’ บางอย่าง ที่ก่อให้เกิดเป็น ‘บูมเมอร์สกระแสหลัก’ (Mainstream Boomers) ขึ้นมา และคิดคำเฉพาะที่เอาไว้เรียกวิธีคิดร่วมของบูมเมอร์ส – ว่า Boomerism
เขาบอกว่า คนรุ่นบูมเมอร์ส เป็นคนรุ่นแรกที่ ‘เงื่อนไขทางสังคม’ เอื้อให้ไม่ต้องอยู่ในระเบียบแบบแผนมาก เพราะมีชีวิตช่วงหลังสงครามที่โลกเริ่ม ‘สบาย’ ขึ้นแล้ว ทั้งยังเติบโตมากับยุคที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เกิดความก้าวหน้าใหม่ๆ ในโลก เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้พบกับการมาถึงของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ทีวี จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ปะทะกับ ‘ป๊อบคัลเจอร์’ และโลกาภิวัตน์เต็มตัว
กิบนีย์บอกว่า ปัญหาจำนวนมากในโลกยุคนี้เกิดขึ้นเพราะวิธีคิดแบบ Boomerism (ซึ่งก็ต้องเน้นย้ำไว้ตรงนี้ว่าไม่ได้หมายถึงตัวคน แต่หมายถึงคนบางกลุ่มที่มีอำนาจและมีวิธีคิดแบบนี้) ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะบูมเมอร์สเกิดมาในยุคที่ทรัพยากร (ยัง) มีมาก บวกกับมีสภาวะ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ (คือพ่อแม่ตามใจ) เพราะเงื่อนไขทางสังคมไม่ได้ยากแค้นเกินไป พ่อแม่จึงฟูมฟักเลี้ยงดูได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังทันเห็นร่องรอยความยากลำบากของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ดังนั้นลักษณะเด่นของบูมเมอร์สจึงคือการกอบโกยสร้างเนื้อสร้างตัวเพราะกลัวลำบาก ส่งผลให้มี ‘สำนึกสาธารณะ’ ต่ำกว่าคนรุ่นก่อนหน้า รวมไปถึงต่ำกว่าคนรุ่นหลัง แต่ถ้าจะมีสำนึกสาธารณะอยู่บ้าง ก็มักมีลักษณะอิงแอบอยู่กับอิทธิพลทางศาสนา เช่น ทำบุญทำทาน เมตตาปราณี ทำกิจกุศลเพื่อสังคม – ซึ่งก็เป็นวิพากษ์อยู่ว่าเป็นสำนึกสาธารณะแบบเดียวกับที่พึงเป็นหรือเปล่า
นักเขียนอีกคนหนึ่ง คือ ลินเน็ต โลเปซ (Linete Lopez) เขียนไว้ใน Business Insider (หลังเกิดการโหวต Brexit และทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจ) ว่า บูมเมอร์สเป็นกลุ่มคนที่ ‘ครองโลก’ มาแล้วหลายสิบปี ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น บูมเมอร์สจึงมี ‘อำนาจ’ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากกว่าคนในเจนเนอเรชั่นอื่นๆ
ที่สำคัญก็คือ โครงสร้างสังคมและโครงสร้างอำนาจแบบที่ถูกสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันได้ ‘คัดเลือก’ ให้บูมเมอร์สเฉพาะบางแบบเท่านั้น (ส่วนใหญ่คือบูมเมอร์สที่มีวิธีคิดแบบ Boomerism) ได้ก้าวขึ้นมา ‘เถลิงอำนาจ’ และ ‘สืบต่ออำนาจ’ กันมาเรื่อยๆ โดยมีลักษณะเป็นโครงข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ มีการเกื้อหนุน เกื้อกูลกัน ผลักและดันกันอยู่อย่างนั้น ซึ่งหากผลักและดันเอาไว้แล้วได้ผลดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ผลดี ออกมาไร้ประสิทธิภาพ ตัว ‘ระบบ’ ของการอุปถัมภ์ผลักดันก็ต้อง ‘ยักแย่ยักยัน’ ดันกันต่อไป เพราะถ้าคนที่ถูกดันเอาไว้ด้านบนเกิดล้มลงมา ไม่ว่าจะลาออกหรือตายดับไป ผลลัพธ์ก็คือการต้องมา ‘จัดเรียง’ โครงสร้างทั้งหมดกันใหม่
การ ‘ได้ครองอำนาจ’ ของบูมเมอร์สหนึ่งคน จึงไม่ใช่แค่การครองอำนาจของบูมเมอร์สหนึ่งคนเท่านั้น แต่มันคือการเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนของโครงข่ายบูมเมอร์ส (รวมไปถึงคนที่อายุน้อยกว่าบูมเมอร์ส แต่มีความคิดแบบ Boomerism ด้วย) เพื่อให้คนคนนั้นยังคงครองอำนาจต่อ แล้วคนอื่นๆ ก็จะได้เก็บกินผลประโยชน์ที่ได้จากบูมเมอร์สคนนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องออกหน้าออกตาหรือเหน็ดเหนื่อยจนเกินไปนัก
บูมเมอร์สจึงมีคำพูดถึงการ ‘ขึ้นหลังเสือ’ อยู่บ่อยๆ
– ว่าขึ้นแล้วลงไม่ได้ ซึ่งก็เกิดขึ้นจากวิธีคิดที่มีต่อ ‘อำนาจ’ แบบนี้นี่เอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้มีอำนาจที่มีแนวคิด Boomerism และฝันหวานอยากจัดวางโครงสร้างสังคมให้ ‘คงเดิม’ ต่อไปอีกหลายๆ สิบปี จู่ๆ ต้องมาเจอกับฝันร้ายในนามของโรคระบาดอย่า COVID-19 จึงเกิดอาการ ‘งง’ และ ‘รับมือไม่เป็น’ เพราะนี่คือเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนรุ่นพ่อรุ่นปู่รุ่นทวดไม่เคยมีใครสอนเอาไว้ว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น จะต้องทำอย่างไร โรคระบาดในอดีตที่เคยเกิดขึ้นเป็นร้อยปีก่อนก็ไกลเกินไป ขาดช่วงเกินไป จนไม่รู้เลยว่าตัวเองควรทำอย่างไร
สิ่งเดียวที่พอจะทำได้ตามสติปัญญา ต้นทุนทางประสบการณ์ และการให้คุณค่าตามที่ถูกบ่มเพาะสั่งสมมา – ก็คือสำนึกหนึ่งเดียวในการพยายาม ‘รักษาอำนาจ’ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด ยาวนานที่สุด ด้วยวิธีการ ‘อะไรก็ได้’ จนเกิดอาการ ‘ไม่พอเพียง’ ในอำนาจขึ้นมา แต่ไม่ใช่ความไม่พอเพียงในอำนาจที่เกิดจากปัจเจก มันคือตัว ‘โครงสร้าง’ ใหญ่ทั้งหมดนั่นแหละ ที่ทำให้บูมเมอร์สที่ถูกผลักดันขึ้นไปอยู่ในอำนาจ ไม่สามารถลงจากอำนาจนั้นได้
วิธีคิดแบบนี้อาจเคยได้ผลในสังคมเผด็จการบางแห่งในประวัติศาสตร์ แต่กงล้อกาลเวลาได้หมุนเลยจุดนั้นมานานแล้ว ภาพที่เกิดขึ้นจึงคือความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าที่ค่อยๆ สั่งสมกันมาตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา และทำให้เกิดกระแส ‘คอลเอาต์’ เชี่ยวกรากมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่ Boomerism (ที่ไม่ได้หมายถึงบูมเมอร์สคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงสำนึกแบบนี้ที่ฝังอยู่ในโครงข่ายบูมเมอร์ส ไม่ว่าจะเป็นบูมเมอร์สเองหรือคนที่สมาทานบูมเมอร์สก็ตาม) ไม่มีความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับมันได้ ได้แต่พยายาม ‘ยักแย่ยักยัน’ รักษาอำนาจเอาไว้ โดยฝันหวานถึงอดีต คิดว่าใช้วิธีเดิมๆ ประเดี๋ยวมันก็จะผ่านพ้นไป
แต่ขอโทษ – ที่จะต้องบอกว่า, ครั้งนี้มันจะไม่ผ่านพ้นไปหรอก
โรคระบาดอาจผ่านพ้นไปได้ แต่วิธีคิดของคนในสังคมไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว และโครงข่ายอำนาจแบบเดิมที่ไม่รู้จักพอเพียงในอำนาจจะไม่สามารถวางตัวแข็งแรงได้เหมือนที่เคยเป็นมาหลายทศวรรษในอดีตได้อีก
การคอลเอาต์ครั้งนี้จึงไม่ใช่การเรียกร้องแค่เรื่องโรคระบาดหรือวัคซีนเท่านั้น
มันใหญ่กว่านั้นมาก