“สมัยพ่อกับแม่ลำบากกว่านี้เยอะ”
“ที่เธอเจอยังไม่ได้ครึ่งของฉันเลย”
“เรายุ่งกว่าแกอีก ยังเห็นไม่บ่นสักคำ”
“อันนี้เรียกว่าหนักแล้วหรอ?”
ทุกคนรู้จักเกมที่เรียกว่า ‘ใครเหนื่อยกว่าคนนั้นชนะ’ มั้ย? กติกาก็คือถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบ่นว่าชีวิตช่วงนี้เหนื่อยหน่าย ยุ่งเหยิง หรือยากลำบากแค่ไหน อีกฝ่ายที่รับฟังก็จะรีบสวนกลับทันทีว่าสิ่งที่เขาเจอมานั้นยิ่งกว่านี้
สมมติเราบ่นถึงชีวิตมัธยม พี่มหาลัยก็จะบอกว่า “เข้ามหาลัยเหนื่อยกว่านี้อีก เนี่ย พวกพี่ไม่ได้นอนมาหลายวันแล้ว” สมมติเราบ่นถึงชีวิตมหาลัย พี่วัยทำงานก็จะบอกว่า “โห แค่มหาลัยก็บ่นแล้วหรอ แล้ววัยทำงานจะขนาดไหนล่ะเนี่ย” สมมติเราบ่นถึงชีวิตวัยทำงาน พี่ที่แต่งงานไปแล้วก็จะบอกว่า “ลองมามีครอบครัวดูสิ แล้วจะรู้สึกว่าชีวิตทำงานน่ะง่ายสุดแล้ว”
เป็นเกมที่กติกาง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร แต่สงสัยมั้ยว่าใครจะเป็นผู้ชนะ?
“ฉันเหนื่อย” “ฉันสิเหนื่อยกว่า” “ฉันต่างหากที่เหนื่อยที่สุด”
เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกันนะ ปกติเราจะเห็นผู้คนเกทับกันในเรื่องชีวิตดี เช่น ใครมีมากกว่า ใครมีดีกว่า แต่ทำไมคนบางกลุ่มถึงชอบเกทับกันในเรื่องความลำบาก เพื่อให้อีกฝ่ายอุทานออกมาว่า “เห้ย มันขนาดนั้นเลยหรอ?”
แม้การบ่นเรื่องราวบัดซบในชีวิตจะไม่ใช่พฤติกรรมที่แปลกอะไร เพราะในแต่ละวันเราต่างก็เจอความยากลำบากในชีวิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การที่เราอยากแชร์ความลำบากนั้นออกมาให้ใครสักคนฟังไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย แต่ปัญหามันอยู่ที่จู่ๆ เรื่องราวเหล่านั้น กลับถูกนำมาแข่งขันกันนี่สิ
ที่จริงแล้วมีคำที่ใช้เรียกการแข่งขันนี้ด้วย นั่นก็คือ Oppression Olympics หรือการแข่งขันว่าใครถูกกดขี่มากกว่ากัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ถูกผลักให้เป็น ‘คนชายขอบ’ เช่น กลุ่มคนดำ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ซึ่งพวกเขาต้องการนำเสนอภาพการถูกกดขี่ของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อเน้นย้ำให้สังคมมองว่าปัญหานั้นสำคัญ และควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการสตรีนิยม ปี ค.ศ.1990 และถูกบันทึกอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยนักสิทธิสตรี นามว่า อลิซาเบธ เบทิตา มาร์ติเนซ (Elizabeth Betita Martinez) ที่กล่าวว่า แนวคิดทั่วไปคือไม่มีการแข่งขัน ไม่มีลำดับชั้นไหนที่ควรอยู่เหนือกว่า นี่ไม่ใช่ Oppression Olympics! โดยเธอมองว่า การมานั่งเกทับความยากลำบากใส่กันนั้นไร้ซึ่งประโยชน์ เราควรจะเอาความโกรธไปใส่ที่ความอยุติธรรมที่ยังคงอยู่ในสังคม เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการต่อต้านและการเปลี่ยนแปลงทางระบบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ปิตาธิปไตย ความหวาดหลัว หรือการเอารัดเอาเปรียบระบบทุนนิยมทั่วโลก
ต่อมา Oppression Olympics ก็นำมาใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ด้วยไดนามิกที่เบาบางกว่านั้น กลายมาเป็นเพียงแค่เกมที่เต็มไปด้วยประโยคที่ว่า “อ๋อ เธอคิดว่าชีวิตเธอลำบากแล้วหรอ?” ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า แม้เราจะบ่นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็อาจถูกเกทับได้ หากมีคนจ้องจะเอาชนะการแข่งขันนี้
มีบทความหนึ่งที่ช่วยขยายคำกล่าวข้างบนได้เป็นอย่างดี เป็นบทความแนะนำวิธีเป็นผู้ชนะ Oppression Olympics หรือฮาวทูทำให้ยังไงตัวเองดูซัฟเฟอร์ที่สุด เช่น ตั้งสเตตัสบ่นความยากลำบากของชีวิตบ่อยๆ ไปเจอเพื่อนด้วยสีหน้าเหนื่อยล้า ถ้าใครถามว่าเป็นอะไรก็ให้ตอบไปว่า “ช่วงนี้ไม่ได้นอนเลย” พร้อมกับอธิบายความยุ่งเหยิงของชีวิตให้ฟัง หรือถ้าใครอาศัยอยู่กับรูมเมท ให้ติดปฏิทินขนาดใหญ่ที่ผนัง แล้วขีดเขียนกิจกรรมหรือตารางงานลงไปให้เยอะๆ เมกชัวร์ด้วยว่าปฏิทินนั้นต้องติดอยู่ในมุมที่รูมเมทเดินมาเห็น
แม้อ่านแล้วจะดูเหมือนเป็นบทความที่เขียนมาเพื่อจิกกัดหน่อยๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการเกทับเรื่องความลำบากนั้นมีอยู่จริง โดยผู้เขียนกล่าวว่า
“การแข่งขันว่าใครถูกกดขี่มากกว่ากัน เป็นการแข่งขันที่ผู้เข้าร่วมพยายามแสดงให้เห็นว่าชีวิตของพวกเขายากลำบากกว่า หรือถูกกดขี่มากกว่าคนอื่นๆ แม้ว่าเดิมทีจะเป็นการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับการกดขี่เชิงอัตลักษณ์ (กลุ่มคนชายขอบ) แต่ทุกวันนี้ เราจะเห็นการแข่งขันนี้ได้ในกลุ่มนักเรียน ที่พยายามโน้มน้าวนักเรียนคนอื่นให้เห็นว่า พวกเขามีงานทำมากที่สุด หรือยุ่งที่สุดในบรรดานักเรียนทั้งหมด
“การเข้าร่วมการแข่งขันนี้สำคัญมาก เพราะคนรอบตัวเราจะได้รู้ว่าชีวิตเรายากลำบากขนาดไหน ถ้าพวกเขาไม่รู้ว่าชีวิตเราผ่านอะไรมาบ้าง เขาจะประทับใจในตัวเราได้ยังไงล่ะ?” ซึ่งประโยคนี้ทำให้เห็นว่าบางคนมองคุณค่าคนจากความลำบาก คนเราจะถูกยกย่องก็ต่อเมื่อมีชีวิตที่ทรหด ซึ่งใช้เป็นบทพิสูจน์คนจริง หรือความลำบาก สามารถสร้างสตอรี่ชีวิตคนๆ หนึ่งให้ดูล้ำค่าขึ้นมาได้
แต่เราทำแบบนั้นกันไปเพื่ออะไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงที่มาจากโลกทุนนิยม ที่มักจะให้คุณค่ากับคนโปรดักทีฟ ลึกๆ ผู้พูดอาจต้องการให้คนฟังมองว่าเขาเป็นคนเก่ง คนขยัน ให้คุณค่ากับงานอันดับหนึ่งจนต้องอดหลับอดนอน หรือเป็นคนสำคัญขององค์กรจึงต้องทำงานหนัก เหมือนในยุคหนึ่งมีคำกล่าวว่า “ถ้าอยากให้คนอื่นคิดว่าคุณสำคัญ ให้บอกว่าตัวเองยุ่ง” นั่นแหละ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมเราจึงชอบอวดว่าตัวเอง ‘ทำงานหนัก’ บนเฟซบุ๊กทวิตเตอร์) โดยลืมมองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ส่งผลให้ร่างกายและสภาพจิตใจเหนื่อยล้ายังไงบ้าง
หรืออีกนัยน์หนึ่งอาจจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การที่เรามักจะมองเห็นความเหนื่อยล้าของตัวเองชัดเจนที่สุด จึงทำให้เราคิดว่าชีวิตเรานี่แหละที่ลำบากสุดแล้ว
ความเหนื่อยที่วัดกันไม่ได้
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสุดท้ายใครเป็นผู้ชนะการแข่งขันนี้? ใครเป็นกรรมการผู้ตัดสิน? เขาวัดความเหนื่อยจากอะไรกัน? เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต้องบอกว่าพวกเราแข่งขันกันไปก็เท่านั้น เพราะเกมนี้ไม่มีกรรมการ ไม่มีหน่วยวัดค่า และไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด นอกเสียจากไม่มีใครเหนื่อยไปกว่าใคร ทุกคนก็แค่ ‘เหนื่อย’ เท่านั้นเอง
มีประโยคทัชใจจาก TED Talk ตอนหนึ่งชื่อ We’re all hiding something, Let’s find the courage to open up โดย แอช เบคแฮม (Ash Beckham) เธอพูดถึงการที่ทุกคนล้วนมีความทุกข์บางอย่างที่ทำให้พวกเขาต้องหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเธอเรียกมันว่า ‘ตู้เสื้อผ้า’ โดยที่ตู้เสื้อผ้าของแต่ละคนมีรูปร่าง หน้าตา หรือสีสันไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือ พวกเขากำลังทุกข์ทรมานกับการหลบซ่อนบางอย่างอยู่ในนั้น
“ความยากลำบากของเราไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ลำบากก็คือลำบาก ใครบอกได้บ้างว่าคนที่เพิ่งล้มละลาย ยากลำบากกว่าคนที่เพิ่งถูกนอกใจมายังไง ใครบอกได้บ้างว่าการเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ ยากลำบากกว่าการบอกลูกวัย 5 ขวบว่าพ่อแม่กำลังจะหย่ากันยังไง ไม่มีอะไรที่เรียกว่ายากกว่า มีแต่ ‘ยาก’ เฉยๆเท่านั้นเอง
“เราต้องหยุดจัดลำดับความยากลำบากกับคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นหรือแย่ลงได้แล้ว เราเพียงแค่ต้องเห็นอกเห็นใจกัน และยอมรับความจริงที่ว่าทุกคนล้วนมีความยากลำบากของตัวเอง” เธอกล่าว
ความเหนื่อย ความเครียด และความยากลำบาก มีอยู่ในทุกช่วงวัยและทุกช่วงชีวิต แม้แต่เด็กประถมก็เครียดได้ หากเรียงสีไม้ไม่ถูกช่อง เด็กมหาลัยก็เหนื่อยได้ หากเจออาจารย์ที่ไม่เข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ตัดต่อวิดีโอเป็น มนุษย์วัยทำงานแต่ละสายงานก็มีความยากลำบากที่ต่างกันออกไป การคิดคอนเทนต์ทุกวันไม่ได้แปลว่าจะเหนื่อยมากหรือน้อยไปกว่าการต้องมาดีลกับลูกค้าแสนงี่เง่า หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นไปได้ว่ากรรมการก็คือตัวเราเอง ซึ่งเป็นผู้ตัดสินว่าคนที่เหนื่อยที่สุดในเกมนี้ ก็คือคนที่กำลังเผชิญหน้าและรับมือปัญหานี้อยู่นี่แหละ
ทุกคนมีความเหนื่อยที่เท่ากัน
แม้จะต่างบริบทก็ตาม
บ่นออกมาเถอะ ระบายออกมาเลย เพราะนั่นคือสิ่งที่เรากำลังรู้สึกในตอนนี้ หรือต้องพูดว่า เหนื่อยตอนนี้ก็ต้องบ่นตอนนี้ จะให้ไปบ่นตอนไหนล่ะ ความยากลำบากในช่วงวัยอื่นที่อีกฝ่ายเกทับมา ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคตไปก่อน ถ้าเขาไม่อยากฟังก็ไม่เป็นไร เราก็แค่กลับมาบ่นในพื้นที่ของตัวเอง หรือเปลี่ยนไปบ่นกับคนที่พร้อมจะเข้าใจจริงๆ ก็ได้
การแข่งขันที่มีแต่แพ้กับแพ้
นอกจากไม่มีผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้แล้ว ในขณะที่เรามัวแต่ปฏิเสธที่จะรับฟังความเหนื่อยยากของคนอื่น บอกให้พวกเขาเลิกบ่นได้แล้ว ไม่เห็นจะลำบากตรงไหน หรือเอาแต่บลัฟเรื่องของตัวเองให้ดูเหนือกว่า เราไม่รู้เลยว่าปัญหาบางอย่างที่สะท้อนออกมาจากคำบ่นเหล่านั้น กำลังถูกเพิกเฉยหรือถูกลดทอนไปเรื่อยๆ อยู่
เหมือนเวลาเราบ่นให้แม่ฟังว่า “วันนี้รอรถเมล์เป็นชั่วโมงเลยแม่ พอรถมาคนก็แน่นไปหมด ไม่มีที่นั่ง ร้อนก็ร้อน เกือบเป็นลม” แต่แม่ตอบกลับมาว่า “ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทนเลย สมัยแม่ก็เคยผ่านมาแล้ว ไม่เห็นจะมานั่งบ่นแบบนี้” ซึ่งด้วยความที่อยากจะพูดปลอบใจหรืออยากให้ลูกเลิกบ่น แต่แม่อาจจะลืมสังเกตไปว่า ผ่านมาแล้วหลายสิบปี ปัญหาที่เคยมีก็ยังไม่ถูกแก้ไขสักที แม่ลืมสังเกตไปว่า จริงๆ เราไม่ควรต้องรอรถเมล์นานขนาดนี้ หากการเมืองดีหรือผู้นำมีความรับผิดชอบ
การที่เราเคยผ่านความยากลำบากนั้นมาก่อน
เราควรจะเข้าใจความยากลำบากนั้นดีที่สุดไม่ใช่หรอ?
หรือแม้แต่การที่เด็กมัธยมบ่นว่าเรียนหนัก การบ้านเยอะ หรือเพื่อนร่วมงานบ่นว่าทำงานถึงตี 4-5 แม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้พักผ่อน หากเรามีทักษะที่เรียกว่า การรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathic Listening) เราจะไม่มองว่าพวกเขาบ่นไร้สาระหรือไม่มีความอดทน ในทางกลับกัน เราจะสัมผัสได้ถึงอะไรที่มากกว่านั้น เราจะเห็นความเจ็บปวด ความอึดอัดใจ ต้นตอของปัญหา ไปจนถึงสัญญาณขอความช่วยเหลือบางอย่าง
เราจะตั้งคำถามว่าทำไมเด็กในวัยนี้ถึงต้องเรียนหนักจนไม่มีเวลาให้กับกิจกรรมอื่นๆ เราจะตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ใส่ใจกับ work-life balance ของพนักงาน เราจะตั้งคำถามถึงปัญหาเชิงโครงสร้างแม้เรื่องนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม และเราจะตั้งสมมติฐานแบบแกล้งๆ ว่าทางออกของเรื่องนี้ควรจะเป็นยังไง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ในตัวเองไปด้วย
ซึ่งถ้าเรามัวแต่กลัวว่า การที่เราลำบากน้อยกว่าหรือมีชีวิตที่สุขสบายกว่า เราจะกลายเป็นผู้แพ้ในการแข่งขันครั้งนี้ทันที จนต้องรีบขัดจังหวะ รีบปฏิเสธที่จะรับฟัง หรือรีบแทรกด้วยเรื่องราวของตัวเอง :ซึ่งนอกจากจะทำให้อีกฝ่ายมองว่าเราไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี เราเองก็อาจมืดบอดเพราะมองไม่เห็นสิ่งที่เขาต้องการสื่ออย่างแท้จริง เต็มไปด้วยอคติที่ว่าไม่มีใครเหนื่อยไปกว่าตัวเราอีกแล้ว ทั้งที่ความเหนื่อยเป็นอะไรเปรียบเทียบกันไม่ได้ตั้งแต่แรก และจมอยู่กับความภาคภูมิใจที่มองความลำบากเป็นเรื่องน่ายกย่อง จนไม่พยายามหลุดออกมาจากความลำบากนั้น
ส่วนคนที่ได้ยินอีกฝ่ายเกทับกลับมาแล้วรู้สึกแย่ อยากให้สำรวจความรู้สึกตัวเองดูให้ดีว่า เรารู้สึกแย่เพราะอะไร เพราะชีวิตเราไม่ลำบากตรากตรำเท่านั้นใช่มั้ย แล้วจำเป็นหรือเปล่าที่เราจะต้องมีชีวิตแบบนั้น เพียงเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายเฉยๆ และอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมเราจะต้องรู้สึกมีคุณค่าจากสายตาของคนอื่นเท่านั้น ต้องหาอะไรมาเติมเต็มให้คนชื่นชม แม้กระทั่งการใส่ความทุกข์เข้าไปในชีวิตตัวเอง แทนที่เราจะสะท้อนดูว่าตอนนี้ชีวิตกำลังเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า มีอะไรไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นหรือเปล่า แล้วเราจะหลุดออกมาจากบ่วงนี้ เพื่อมีความสุขมากขึ้นได้ยังไงดี
เชื่อว่าไม่มีใครอยากบ่นชีวิตของตัวเองเพื่อทำให้คนฟังรู้สึกแย่ พวกเขาเพียงแค่อยากบ่นเพื่อเยียวยาตัวเอง หรือระบายความทุกข์ในใจออกมาก็เท่านั้น ในฐานะผู้ที่รับฟัง พยายามอย่าด่วนตัดสินว่าปัญหาที่เขาเผชิญมา เล็กน้อยเกินไปหรือไม่มีค่าพอที่จะรับฟัง เพราะด้วยเงื่อนไขหรือประสบการณ์ของเขา นั่นอาจจะเป็นเรื่องที่หนักหนาที่สุดในชีวิตตอนนี้แล้วก็ได้ ซึ่งเราเพียงแค่ต้องรับฟัง ปลอบใจ แบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองได้บ้าง แต่อย่าถึงขั้นแข่งขันหรือเอาชนะกันให้เหนื่อยเปล่าๆ เลย
ความเหนื่อยมีหน่วยวัดเป็นอะไรไม่มีใครรู้ ฉะนั้น Oppression Olympics จึงเป็นการแข่งขันที่ยากจะหาผู้แพ้ผู้ชนะ เพราะทุกคนล้วนมีความเหนื่อยเป็นของตัวเอง เป็นความเหนื่อยที่มีแต่ตัวผู้ที่เผชิญเองเท่านั้นจึงจะเข้าใจ ถึงต่อให้คุณจะบลัฟหรือขิงว่าคุณเหนื่อยตัวแทบขาดยังไง ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาสัมผัสถึงความเหนื่อยนั้น หรือมองว่าพวกเขาเหนื่อยน้อยกว่าคุณได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก