1
หลายคนอาจไม่คิดว่า – สำนึกแบบเผด็จการอำนาจนิยมนั้น อาจส่งผลกระทบมาถึง ‘สุขภาพ’ ของเราๆ ท่านๆ ได้ด้วย
ไม่ใช่แค่ ‘สุขภาพจิต’ ประเภทถูกกดขี่ข่มเหงจากระบอบหรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม (ประเภทเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ โดยไม่มีหลักกฎหมายที่มีความศิวิไลซ์อะไรรองรับ) และไม่ใช่สุขภาพกายที่เกิดขึ้นเพราะรัฐเผด็จการใช้ความรุนแรงกับผู้คนเท่านั้น,
แต่หมายรวมไปถึง ‘สุขภาพ’ แบบทั่วๆ ไปนี่แหละ
พูดให้เป็นรูปธรรมก็คือ – เผด็จการอาจทำให้เราเป็นหวัดได้นั่นเอง
คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
2
แปลกดี – ที่แพทเทิร์นของสำนึกเผด็จการนั้นแทบจะเหมือนกันไปหมดทั่วทั้งโลก
แพทเทิร์นสำคัญอย่างหนึ่งของสำนึกเผด็จการก็คือ เผด็จการมักไม่ใส่ใจกับคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ หรือถ้าใส่ใจ ก็มักเป็นกระบวนการใส่ใจอันตรงข้ามกับการสนับสนุน
เคยมีบทความที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2007 เป็นการศึกษาเผด็จการในประเทศทางเอเชียกลางแห่งหนึ่ง คือประเทศเติร์กเมนิสถาน บทความนั้นเป็นของ เบิรนด์ เรเชล (Bernd Rechel) และ มาร์ติน แมคคี (Martin McKee) ตีพิมพ์อยู่ในเว็บ BMC Medicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์แบบออนไลน์ บทความนั้นมีชื่อว่า The Effects of Dictatorship on Health: The Case of Turkmenistan ซึ่งก็แปลตรงตัวได้ว่า ‘ผลของภาวะเผด็จการที่มีต่อสุขภาพ: กรณีศึกษาในเติร์กเมนิสถาน’
ผู้เขียนทั้งสองคนเป็นแพทย์และนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์ European Observatory on Health Systems and Policies แห่ง London School of Hygiene and Tropical Medicine ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกนั่นแหละ ที่บุคลกรอย่าง ‘แพทย์’ จะลุกขึ้นมาทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ‘เผด็จการ’
ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่แพทย์ก็จะทำงานวิจัยด้านการแพทย์ไป แต่การแพทย์ที่เกี่ยวข้องสังคมนั้น แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง (หรือแม้กระทั่งในวงการการแพทย์เอง)
บทความนี้ศึกษาเติร์กเมนิสถานที่อยู่ใต้การปกครองของพรรคการเมืองเดียวมาตลอดเวลา 21 ปี โดยมีประธานาธิบดีชื่อ ซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ (Saparmurat Niyazov) เป็นผู้ปกครองสูงสุดมาตลอด เขาแต่งตั้งตัวเองให้เป็นประธานาธิบดีแบบไม่มีวาระ คือเป็นได้ไปจนตาย (แบบเดียวกับสีจิ้นผิงในปัจจุบัน) และในที่สุดก็ได้ตายในตำแหน่งสมใจนึก เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในปี ค.ศ.2006
ในยุคการปกครองของนิยาซอฟนั้น เติร์กเมนิสถานถือว่าเป็นประเทศปิดที่มีการกดขี่ภายในมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก พรรคฝ่ายค้าน สหภาพแรงงาน สื่อ รวมไปถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (อย่าลืมว่าอินเทอร์เน็ตมีมาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.2000 แล้ว) ล้วนถูกปิดกั้น
ในปี ค.ศ.2006 ปีเดียวกับที่นิยาซอฟตาย องค์กร Reporters Without Borders จัดให้เติร์กเมนิสถานเป็นหนึ่งในองประเทศที่ละเมิดเสรีภาพสื่อสูงสุดในโลก เคียงคู่กันมากับเกาหลีเหนือ
แน่นอน สภาวะแบบนี้ย่อมกดดันผู้คนในหลากหลายมิติ แต่คำถามก็คือ – แล้วสภาวะแบบนี้ส่งผลต่อ ‘สุขภาพ’ ของคนทั่วไปอย่างไร
เผด็จการทำให้เราเป็นหวัดได้อย่างไร?
3
บทความวิชาการนี้เล่าถึงการวิจัยที่แสดงผลให้เห็นอย่างน่าประหลาดใจ – ว่า ‘เสรีภาพทางการเมือง’ กับ ‘สาธารณสุข’ นั้น มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิดจนน่าประหลาดใจเลยทีเดียว
แน่นอน เราวัดตัวเลขทางสาธารณสุขต่างๆ ได้ง่าย แต่วัด ‘คุณภาพความเป็นเผด็จการ’ ได้ค่อนข้างยาก เพราะธรรมชาติเดิมแท้ของเผด็จการ ก็คือการปกปิดและปฏิเสธตัวเอง ทำให้หาข้อมูลต่างๆ ได้ยาก แดังนั้นแล้ว การวัดตัวเลขสาธารณสุขในประเทศเผด็จการถึงที่สุดอย่างเติร์กเมนิสถานในยุคนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำดื่ม วิถีชีวิต และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ล้วนถูกปกปิดทำให้เข้าถึงได้ยาก นักวิจัยจึงต้องใช้เวลายาวนานและหาวิธีสืบเสาะเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างยากลำบาก
ที่จริงก็คล้ายสำนึกเผด็จการในอีกหลายประเทศเหมือนกันนะครับ ที่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเอาเสียเลย
นโยบายปกปิดและปฏิเสธ (Policy of Secrecy and Denial) นั้น ทำให้รัฐล้มเหลวในการรับรู้ถึงปัญหาสุขภาพของผู้คน ซึ่งก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เพราะคนในเติร์กเมนิสถานยุคนั้นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอะไรได้เลย
การเข้าถึงข้อมูลไม่ได้นั้นมีหลายระดับ เช่น เข้าถึงข้อมูลในการดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะรัฐเผด็จการถนัดแต่จะใช้งานโดยไม่ดูแลคน เรื่องสาธารณสุขเชิงป้องกันนั้นไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มีอยู่แล้ว ผู้คนจึงมีโอกาสล้มป่วยได้ง่ายกว่า และเมื่อล้มป่วยแล้ว รัฐเผด็จการก็ถนัดปกปิดเอาไว้ก่อน ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้โลกรู้ว่ากำลังมีเรื่องแย่ๆ ทางสาธารณสุขเกิดขึ้นในประเทศ (ทั้งที่เป็นความเสี่ยงร่วม) เพราะสำนึกเผด็จการย่อมอยากลอบปกครองประเทศเงียบๆ และหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าประเทศช่างสงบสุขเรียบร้อยเหลือเกิน
จะเห็นว่า แพทเทิร์นของสำนึกเผด็จการนั้น – ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ดูคล้ายกันไปหมด
แต่แล้ว ปัญหามันก็เกิดขึ้นจริงๆ นั่นคือดันเกิด ‘โรคระบาด’ ขึ้น
ในเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีตั้งแต่วัณโรคจนถึงโรคเอดส์
ในช่วงแรกๆ เติร์กเมนิสถานไม่ยอมรายงานสถานการณ์โรคระบาดให้โลกรู้ เช่นในปี ค.ศ.2000 จู่ๆ ก็หยุดรายงานปัจจัยบ่งชี้ทางสาธารณสุขต่างๆ ให้กับองค์การอนามัยโลก รวมทั้งไม่ยอมรายงานข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส HIV และพยายามปกปิดการระบาดของโรคต่างๆ แต่ที่ร้ายกาจที่สุด – ก็คือมีการสั่งห้ามการวินิจฉัยโรคติดต่อบางชนิดด้วย
เพียงเพื่อจะได้ทำให้ ‘ตัวเลข’ มันดูไม่แย่จนเกินไป
ตัวเลขที่น่าทึ่งที่สุด น่าจะเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อ HIV ใหม่ในปี ค.ศ.2005 ในประเทศแทบเอเชียกลาง ซึ่งประเทศอื่นๆ เขาก็รายงานกันมาตามจริง เช่น อุซเบกิสถานมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 2,198 คน, คาซักสถานมี 964 คน, ทาจิกิสถานมี 189 คน, คีร์กิซสถานมี 171 คน แต่ของเติร์กเมนิสถานนั้น มีจำนวน 0 คน
ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเติร์กเมนิสถานคือหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ยาเสพติดสูง มีการค้าประเวณี และมีอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ สูง แต่การติดเชื้อ HIV ใหม่ กลับเป็น 0 นั่นแสดงให้เห็นภาพด้านกลับอย่างชัดเจน – ว่ามีการปกปิดข้อมูล ซึ่งต่อมาภายหลังก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริง เพราะในปี ค.ศ.2006 ตัวเลขที่ค้นพบพุ่งสูงเกินพันคน ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำด้วยซ้ำไป ของจริงอาจมากกว่านี้อีก ปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับโรคอื่นๆ ด้วย เช่น วัณโรค โรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดตามชายแดนจนแพร่ลามไปหาประเทศอื่นๆ และโรคอื่นๆ
เมื่อโรคระบาดมันลุกลามไปจนเกินห้ามไหวแล้ว เติร์กเมนิสถานก็จำต้องพยายามขอความช่วยเหลือจากนอกประเทศ โดยเฉพาะกับวัณโรค มาลาเรีย และโรคเอดส์ แถมประเทศยังต้องเจอกับภัยคุกคามซ้ำซากสำทับเข้าไปอีกเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ในที่สุดก็เลยต้องขอความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งก็ต้องเข้ามาช่วย ‘รื้อ’ ข้อมูลต่างๆ ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่ไม่ง่าย – ก็เพราะปัญหาสำนึกเผด็จการหมักหมมจนกลายเป็นวัฒนธรรมเผด็จการ ทำให้บุคลการทางการแพทย์ทั้งหลายเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขได้ไม่ง่าย ข้อมูลมีบ้างไม่มีบ้างนั้นเรื่องหนึ่ง แต่เข้าถึงยากในระดับวัฒนธรรม (คือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใส่ใจให้ความร่วมมือ) ก็อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งยังมีอุปสรรคทางภาษา ขาดแคลนบุคลากรในประเทศ และไม่ค่อยจะยอมให้คนภายนอกเข้าไปมีส่วนในการจัดการอีก (ซึ่งก็คือสำนึกแบบเดียวกับที่คิดว่า – คนนอกประเทศจะมายุ่งเกี่ยวอะไรกับกิจการภายในของประเทศฉันนั่นเอง)
อีกวิธีคิดหนึ่งที่สร้างปัญหามาก ก็คือการไม่สนใจจะสร้าง ‘ระบบสาธารณสุข’ ที่ดีขึ้นมา แม้ประเทศเพื่อนบ้านของเติร์กเมนิสถาน ไม่ว่าจะเป็นโซเวียตรัสเซียหรือประเทศในเอเชียกลางอื่นๆ จะมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นมากแล้ว (ถึงยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็เถอะ) และพยายามกระตุ้นให้เติร์กเมนิสถานพัฒนาด้วย (เพราะถ้าประเทศใกล้ๆ มีปัญหา ก็อาจแพร่ปัญหานั้นมาสู่ประเทศตัวเองได้ด้วย) แต่ความที่เติร์กเมนิสถานเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ และผู้นำเผด็จการไม่สนใจเรื่องนี้ ทำให้ไม่มีพัฒนาการทางนโยบายสาธารณสุขไปด้วย เรื่องนี้รุนแรงมาก เพราะนิยาซอฟเคยทำถึงขั้นสั่งปิดโรงพยาบาลทั้งหมดในเมืองแห่งหนึ่ง ทำให้นานาชาติต้องกดดัน
ทั้งหมดนี้ส่งผลรุนแรงมาก ถึงระดับไป ‘ลดอายุขัยเฉลี่ย’ ของชาวเติร์กเมนิสถานลงกันเลยทีเดียว ทั้งยังมีอัตราการตายของทารกแรกเกิด และการตายของแม่ที่เกิดจากการคลอดสูงมากด้วย
แม้ไม่ใช่เผด็จการทั้งโลกจะไม่ได้เลวร้ายย่ำแย่ หรือ ‘โง่’ (ในความหมายของ Ignorant เพราะอยากรักษาอำนาจ) เหมือนนิยาซอฟไปหมด แต่กรณีของเติร์กเมนิสถานก็ทำให้เราเห็นว่า – การเป็นเผด็จการอาจมีผลกระทบลึกลงมาถึง ‘สุขภาพ’ ของเราได้เหมือนกัน
ได้แต่ภาวนาขออย่าให้เกิดขึ้นในโลกใกล้ตัวเลย