โรคภัยไข้เจ็บอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด
เราแทบไม่มีทางรู้เลยว่า ในอนาคตเราจะป่วยเป็นโรคอะไรไหม บางคนดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี แต่ก็ดันตรวจเจอโรคร้ายซะงั้น จนบางทีก็แสนงุนงงว่า โรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้เข้ามาหาเราด้วยการสุ่มหรือเปล่านะ?
ในเมื่อโรคต่างๆ สามารถเข้าหาเราได้แบบไม่เลือกวิธี หนึ่งสิ่งที่เราอาจเตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้าได้ แม้ยังไม่ทันจะตรวจเจอโรคร้าย คงจะมีเพียงจิตใจข้างใน ซึ่งเป็นตัวช่วยประคับประคองเรา หากวันใดวันหนึ่งเราต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยแบบไม่ทันตั้งตัว
ทั้งนี้ สุขภาพทางใจยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่เราต้องดูแล เพราะสุขภาพกายกับใจต่างก็ส่งผลถึงกันและกัน ยิ่งวันไหนสุขภาพกายเราไม่แข็งแรง การดูแลจิตใจให้พร้อมเลยเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น The MATTER เลยอยากชวนดูวิธีรับมือทางใจในวันที่โรคภัยไข้เจ็บสุ่มหยิบชื่อเราขึ้นมากัน
จากโรคทางกาย สู่โรคทางใจ
บนโลกนี้มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่หลายร้อยหลายพันอย่าง เราแทบคาดเดาไม่ได้เลยว่า วันหนึ่งเราจะป่วยเป็นอะไร เพราะงั้นเรามาลองแง้มดูสถิติกันหน่อยดีกว่า ว่าผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเจ็บป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคอะไรกันบ้าง
จากรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Statistics 2024) พบว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) คือสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดย 5 อันดับแรกของโรคที่ตรวจพบบ่อยสุด ได้แก่ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด (โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง) โรคในกลุ่มมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ตามลำดับ
โรคต่างๆ ข้างต้นยังถูกจัดเป็นโรคเรื้อรัง (Chronic Diseases) หมายถึง โรคซึ่งมีอาการ หรือต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหลักเดือน หลักปี หรือตลอดชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีบางโรคเรื้อรังที่หากเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ตลอดจนยืดอายุขัยของเราให้อยู่ได้นานมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
อย่างไรก็ตาม โรคเรื้อรังนอกจากจะสร้างผลกระทบต่อร่างกายแล้ว มันยังมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราได้เช่นกัน โดยงานศึกษาเกี่ยวกับผลจากอิทธิพลของโรคเรื้อรังต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า จาก Survey of Health, Ageing and Retirement in Europe (SHARE) พบว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความเสี่ยงการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามจำนวนโรคเรื้อรังที่เป็น แถมโรคเรื้อรังบางชนิดยังมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้นด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
สาเหตุหลักที่ภาวะซึมเศร้ามีโอกาสมาเยือนสูงเมื่อเราป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็เป็นเพราะความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งอาจก่อตัวขึ้นจากกระบวนการจัดการกับอาการของโรคเรื้อรัง ด้วยผลกระทบในระยะยาวของโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยสิ่งนี้จะสร้างภาระทางจิตใจอันหนักอึ้งให้แก่ผู้ป่วย จนทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า
ดูแลรักษาใจ ในวันที่เราต้องต่อสู้กับโรคร้าย
เมื่อป่วยทางกายขึ้นมา จึงย่อมมีโอกาสที่เราจะป่วยทางใจได้ด้วยเช่นกัน เพราะบางครั้ง โรคทางกายและจิตใจอาจไม่สามารถแยกจากกันได้ เราจึงควรดูแลรักษาทั้งสองส่วนควบคู่กันไป
เพื่อสุขภาพใจที่แข็งแรงสำหรับเตรียมพร้อมรับมือกับโรคร้าย Essential Insights Counseling Center ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต จากสหรัฐอเมริกา จึงได้เสนอวิธีการอันน่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องไปกับงานศึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยเตรียมพร้อมสุขภาพใจของเรา หากโรคร้ายกับเราต้องมาพบเจอกันโดยบังเอิญ ดังนี้
เรียนรู้ที่จะปรับตัวและยอมรับ
หลายอย่างอยู่นอกเหนือความคาดหมายของตัวเรา เราจึงอาจควบคุมมันไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บเองก็เป็นหนึ่งในนั้น การเรียนรู้จะยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้จึงเป็นก้าวแรกสำหรับการอยู่ร่วมกับโรคร้ายเหล่านี้ได้
เรื่องนี้มีงานศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของการเชื่อมโยงตนเอง ของคริสทีน คลุสแมน (Kristine Klussman) นักวิจัยและนักจิตวิทยา พบว่า การได้ตระหนักต่อความรู้สึกและยอมรับความเป็นตัวเอง ทำให้เราเข้าใจความหมายของการมีชีวิต จนนำไปสู่การสร้างความสุขในชีวิตได้ และยังสอดคล้องกับช่วงเวลาอันยากลำบากทางความคิด การได้ยอมรับความรู้สึก รวมถึงอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น จะช่วยให้เราค่อยๆ เข้าใจจิตใจของตนเอง และพร้อมพัฒนาไปสู่สภาพทางจิตใจที่ดีขึ้นได้
ฝึกดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเอง
แม้บางครั้งเราจะดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองดีอยู่แล้ว แต่โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ได้เลือกเกิดแบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้น เมื่อเรารับรู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับข่าวร้าย การดูแลรักษาสุขภาพกายให้ดีอยู่สม่ำเสมอ อย่างการทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ย่อมช่วยให้สุขภาพใจของเราดีขึ้นตาม โดยมีงานศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ จาก University of Galway ชี้ให้เห็นว่า การดูแลรักษาสุขภาพให้ดีสามารถนำไปสู่การมีสภาวะทางจิตใจที่ดีขึ้นตามมาด้วยจริงๆ
การสื่อสารออกไปช่วยให้ใจดีขึ้น
จาเร็ด เดวิส (Jared Davis) ที่ปรึกษาอาชีพด้านสุขภาพจิต มองว่า การสื่อสาร คือกุญแจสำคัญสำหรับการมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะไม่มีใครสามารถคาดเดาความรู้สึกแท้จริงของเราได้ เขาเชื่อว่าคนแต่ละคนต่างก็มีคนรอบตัวพร้อมจะช่วยอยู่เสมอ เพียงแต่เราต้องกล้าจะสื่อสารความรู้สึกของเราออกไป เพราะมันสามารถช่วยลดความรู้สึกเครียด ความวิตกกังวล และความเศร้าโศกของเราได้
คิดบวกเข้าไว้ ดีต่อใจเราแน่นอน
เมื่อเรากำลังถูกรายล้อมไปด้วยปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ ความคิดเชิงลบต่างๆ ทยอยกันออกมา พร้อมพาตัวเราดำดิ่งไปกับความรู้สึกไม่พึงประสงค์มากมายได้ ยิ่งช่วงเวลาสุดเครียดจากการวิตกกังวลด้านสุขภาพกาย สมองเรามักพาเราคิดไปนู่นไปนี้ จนส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของตัวเราเองได้อีกต่อหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง การเรียนรู้วิธีการในการจัดการกับความคิดเชิงลบของเรา ก็อาจสามารถช่วยสนับสนุนสภาวะทางจิตของเราได้เช่นกัน โดยดร.คาร์ล่า ชูมาน (Carla Shuman) ผู้อำนวยการของ Mindful Solutions เสนอว่า หากตัวเราโฟกัสกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้ อย่างความคิดของตัวเองให้คิดบวกเข้าไว้ จะส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น และสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รับมือคนเดียวไม่ไหว ยังมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมช่วยเหลือ
นอกจากคนรอบตัวจะสามารถช่วยรับฟังเราในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาอันหนักอึ้งได้แล้ว การไปพบและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นอีกหนึ่งทางสำหรับการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของเราได้ด้วย เพราะบางครั้งตัวเราเองก็อาจไม่สามารถรับมือกับปัญหาด้วยตนเองได้ทั้งหมด
การมาคุยกับผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาทางอารมณ์อันยากเกินจะรับมืออาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ใครหลายคนมองข้ามไป โดยแม็กซ์ วอน ซาเบลอร์ (Max von Sabler) นักจิตวิทยาคลินิก เสนอแนะว่า ผู้เชี่ยวชาญนั้นสามารถร่วมพัฒนากลไกการรับมือในการจัดการกับความท้าทายทางอารมณ์ของเรา พร้อมกับให้เราได้มีเครื่องมือสำหรับพัฒนาสุขภาพจิตของเราให้ดีขึ้นได้นะ
คงไม่มีใครอยากป่วย หรือต้องเผชิญกับโรคร้ายกันทั้งนั้น ทว่าในวันข้างหน้า เราไม่อาจรู้ได้เลยจริงๆ ว่า ในลิสต์รายชื่อที่โรคร้ายถือมาด้วยจะมีชื่อเราอยู่ในนั้นหรือเปล่า การเตรียมตัวเรียนรู้วิธีซึ่งช่วยพาให้เรามีสุขภาพจิตแข็งแรงเอาไว้ล่วงหน้า ก็คงไม่เสียหายเท่าไหร่นัก เพราะถ้าหากวันนั้นมาถึง หรือวันนั้นคือวันนี้ของเราแล้ว เราจะได้มีแรงใจมากพอสำหรับต่อสู้กับโรคภัย และพร้อมกับการดำเนินรักษาร่างกายในขั้นตอนถัดๆ ไปได้
เพราะฉะนั้นแล้ว นอกจากการรักษาสุขภาพกายแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรงกันด้วยนะทุกคน!
อ้างอิงจาก
yourhealth.methodisthealth.org