ภาพทหารอยู่ร่วมเฟรมเดียวกันกับนักเรียนระดับชั้น ป.3 ป.4 ของโรงเรียนสาธิตฯ ชื่อดังแห่งหนึ่ง ดูจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ เพราะยังไง้ยังไงใครต่อใครก็คงนึกไม่ค่อยจะออกว่า ทำไมทหารต้องไปยืนคุมแถวเด็กประถมด้วย?
แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนที่จะมโนถึงเหตุผลกันเองไปจนไกล เราลองมาฟังปากคำของผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อกรณีนี้กันก่อนนะครับ
ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ก็ มศว ไม่มีจุด นั่นแหละ!) ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีพี่ๆ ทหารมายืนคุมแถวของน้องๆ นักเรียนในครั้งนี้เอาไว้ว่า
“รร. สาธิตเป็นโรงเรียนที่มีบทบาท หน้าที่จัดประสบการณ์จริงให้เด็กเรียนรู้ รู้จักและมีทัศนคติที่ดีต่อทุกอาชีพไม่ใช่เฉพาะทหาร และก็ทำมานานแล้วไม่ใช่ปีนี้เป็นปีแรก และในปีนี้เป็นเรื่องของการฝึกวินัย ในการเข้าคิว เข้าแถวในการรับประทานอาหาร การเข้าแถว การเดินขึ้นลงบันไดของนักเรียน”
แถมท่านคณบดียังออกตัวล้อฟรีต่อไปอีกด้วยว่า “โรงเรียนเอาทหารมาฝึกวินัยของเด็กทั่วๆ ไปที่ต้องใช้ในสังคม ไม่ได้เอามาฝึกวินัยของทหาร และปลูกฝังให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในสังคม ในวันหน้า ที่ใช้ทหารมาฝึก จะทำให้นักเรียนให้ความสนใจมากขึ้นตามหลักการเรียนรู้ทั่วไป”
น่าสนใจนะครับว่าสังคมแบบไหนกัน ที่ต้องใช้ ‘ทหาร’ มาฝึกเด็กตัวน้อยๆ ถึงจะเข้าแถวเป็น เข้าคิวได้ จนกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในสังคม?
และถ้าจะมีสังคมแบบนั้น ‘วินัย’ ของผู้ใหญ่ในสังคมที่ว่า มันจะต่างอะไรไปจากวินัยทหาร?
แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรหรอกนะครับ นักเรียนไทยถูกผูกเข้ากับวินัยอย่างทหารมานานอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โน่นแล้ว มรดกตกทอดที่สำคัญยิ่งของอะไรทำนองนี้ก็คือทรงผมเกรียน ที่เห็นได้บนหัวของนักเรียนเองนั่นแหละ
เพราะทรงผมแบบที่เราเรียกว่า ‘ทรงนักเรียน’ นั้น เป็นท่านผู้นำอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไปลอกแบบเอามาจากทหารญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกผ่านทางเข้ามาในไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในข้อเขียนเรื่อง เกรียนไทยมาจากไหน แล้วทำไมทรงผมถึงกลายเป็นเครื่องแบบ? ในหนังสือดี๊ดีที่ชื่อ ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง #พื้นที่โฆษณา)
โดยในสมัยที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น ก็ได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ออกมา เนื้อหาภายใน พ.ร.บ. ฉบับนี้เน้นหนักในเรื่อง ‘เสื้อผ้า’ แต่ยังไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของ ‘หน้าผม’ สักเท่าไหร่ จึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่า มีการกำหนดให้นักเรียนไว้ผมทรงนักเรียนออกมาเป็นกฎหมายเลยหรือเปล่า?
แต่ก็นั่นแหละครับ เครื่องแบบต่างๆ ในประเทศแห่งนี้ มักไม่ได้หมายถึงสิ่งที่บังคับให้ใครสวมใส่เข้าไปเท่านั้น แต่ยังมักจะหมายถึงการจับเอาร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นทรงหรือสีของเส้นผม เล็บมือ หรือหนังหน้า ยัดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบอยู่ด้วยเสมอ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีถ้อยความประเภท ‘การให้เกียรติเครื่องแบบ’ ให้เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ
พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันนี้จึงเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดรูปแบบชุดนักเรียนไทย ให้มีหน้าตาอย่างในปัจจุบันนี้ และสามารถสรุปง่ายๆ ได้ใจความว่า ผมทรงนักเรียนเป็นการกล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจแบบทหาร ดังนั้น วินัยจากการแต่งตัวจึงตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สีของกางเกง, ความยาวของขอบกางเกง ถุงเท้า รองเท้า เข็มขัด หัวเข็มขัด ฯลฯ นั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงสมัยที่มีการออก พ.ร.บ. ฉบับที่ว่า ก็เริ่มมีกลิ่นตุๆ ที่คุกรุ่นขึ้นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2482 ปีพุทธศักราชเดียวกันที่ พ.ร.บ. เครื่องแบบนักเรียนฉบับนี้ถูกประกาศใช้
อันที่จริงแล้วรัฐสยามได้เตรียมพร้อมสำหรับศึกสงคราม โดยได้หมายใจให้เด็กนักเรียนมีส่วนในการร่วมรบด้วย ดังปรากฏข้อความในระเบียบทหารบก ที่ 1/7742 ที่มีความบางส่วนกล่าวถึง ‘ระเบียบสำหรับนักเรียนที่เข้ารับการฝึกทหาร’ โดยเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 ดังนี้
“ด้วยทางราชการทหารได้พิจารณาความผันแปรเหตุการณ์ของโลกปัจจุบัน (พ.ศ. 2478) รู้สึกเป็นที่แน่ใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องเกิดสงครามขึ้นอีก รูปของสงครามคราวต่อไปจะร้ายแรงกว่าที่แล้วๆ มาเป็นอันมาก เพราะด้วยความเจริญแห่งอาวุธและวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประหัตประหารกัน จะมิใช่ทหารรบกันเท่านั้น จะต้องเป็นชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน เพราะเมื่อเกิดสงครามขึ้น เครื่องบินรบอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามเอาลูกระเบิดต่างๆ มาทิ้งไว้ในที่ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นโดยแท้ที่เราทั้งหลายทุกคนต้องเตรียมตัวหัดการรบไว้ให้พร้อม ถ้าชาติใดข่มเหง เราทุกคนในชาติจักได้ช่วยกันสู้รบอย่างเต็มที่ คือพวกเราต้องเป็นทหารของชาติ ทุกคนทั้งแผ่นดินนั่นเอง”
ความในระเบียบที่ระบุว่า ‘ชาติต่อชาติรบกัน คือผู้คนในชาติหนึ่ง ทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็ก จะต้องอยู่ในสนามรบพร้อมกัน’ จึงทำให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรเลยถ้ารัฐจะเห็นว่า การนำใครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาฝึกทหารนั้นเป็นสิ่งสมเหตุสมผล เพราะถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ใครทุกคนในชาติก็ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามร่วมกันหมดอยู่แล้ว การฝึกเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แถมยังกลับเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า หากว่าโลกเกิดจะวอร์กันขึ้นมาจริงๆ
และนี่ก็เป็นที่มาของ ‘ยุวชนทหาร’ ที่มีส่วนร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา ส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ ก่อนที่ต่อมาจะค่อยกลายมาเป็นอะไรที่เราเรียกกันว่า ‘รด.’ อย่างในทุกวันนี้
ทั้งหัวเกรียนๆ และเครื่องแบบนักเรียนไทยของน้องๆ หนูๆ นั้น จึงมีที่มาจากวินัยของทหารที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทยจริงๆ นั่นแหละครับ
แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ในโลกที่สงครามได้เปลี่ยนรูปไปจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเฉียดๆ 80 ปีก่อนมาไกลโพ้นแล้ว เด็กๆ ของเรายังจำเป็นต้องเข้าไปร่วมรบอยู่หรือเปล่า?
และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ เรายังมีความคิดว่าควรเข้าไปเผชิญหน้ากับความโหดร้ายของสงคราม เหมือนกับเมื่อ 80 ปีที่แล้วกันอยู่จริงๆ หรือ?
อย่างน้อยที่สุดก็มีผมคนนึงแหละ ที่ไม่คิดว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้น และการฝึกวินัยให้กับเด็กๆ จะยังจำเป็นที่จะต้องเอาไปผูกโยงเข้ากับทหารจริงๆ หรือครับ? ในเมื่อบรรดาสารพัดสังคมบนโลกที่ขึ้นชื่อว่ามีวินัยจัด ซึ่งคงจะขาดชื่อสังคมอย่าง ญี่ปุน ไปไม่ได้ เด็กๆ ของพวกเขาก็ยังสามารถมีวินัยได้ในรัฐที่เคยไม่มีแม้กระทั่ง ‘กองทัพ’ เป็นของตัวเองเลยด้วยซ้ำไป
‘วินัย’ จึงไม่จำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาจากอำนาจการสั่งการ แบบที่กองทัพใช้ในการจัดการกันเพียงถ่ายเดียว เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถสร้างขึ้นได้โดยระบบ และการจัดการโครงสร้างของสังคมที่ดีด้วยอีกอย่างหนึ
สำหรับใครที่คิดว่า ‘วินัย’ จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับความเชื่อฟังในอำนาจการสั่งการอย่างในกองทัพ นั่นจึงแปลว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่เคยจินตนาการถึงสังคมที่เรียบร้อย และสุขสงบจากการมีระบบการจัดการโครงสร้างทางสังคมที่ดีได้เลยต่างหาก
และถ้าเขาหรือเธอคนนั้นจะจินตนาการไม่ออก หรือคิดไม่ได้ก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไรนัก แต่โปรดอย่ายัดเยียดความคิดผุๆ พังๆ อย่างนั้นให้กับเด็กๆ เพราะอย่างน้อยเยาวชนของเราก็ควรมีสิทธิที่จะฝัน และจินตนาการถึงสังคมที่มีระบบโครงสร้างที่ดี ที่พวกเขาอาจจะสร้างมันขึ้นมาได้หลังจากพ้นยุคสมัยขอพวกเราไปแล้วไม่ใช่หรือครับ?