เป็นประจำทุกปี เสาร์ที่สองของเดือนมกราคม คือ วันเด็กแห่งชาติ
เป็นประจำเช่นกัน คำขวัญประจำวันเด็กแห่งชาติ (ที่สะท้อนวิธีคิดของนายกฯ และบรรยากาศบ้านเมือง ณ ขณะนั้นได้เป็นอย่างดี) หน่วยงานต่างๆ เปิดให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ ทดลองเป็นผู้ประกาศข่าว ปีนรถถัง ดูเครื่องบินรบ นั่งเก้าอี้นายก ฯลฯ สวนสนุกบางที่ลดราคาค่าบัตร สวนสัตว์หลายที่ให้เข้าฟรี และห้างสรรพสินค้าก็มีกิจกรรมสนุกๆ เต็มไปหมด
‘วันเด็กแห่งชาติ’ เป็นวาระหนึ่งเดียวของประเทศที่ทุกองคาพยพจะร่วมกันทำอะไรบางอย่างเพื่อเด็ก
บทสัมภาษณ์นี้ก็เช่นเดียวกัน
เรานัดหมาย อัลฟ่า–ธนิดา สินวรณ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (แผนวิทยศาสตร์ คุณภาพชีวิต) และจีน–ศิรัญญา ทองเชื้อ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบ รังสิต (แผนศิลป์ – ภาษาจีน) สมาชิก ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ เพื่อสนทนาแบบสบายๆ ก่อนเครื่องบันทึกเสียงจะทำงาน เราออกตัวให้ทั้งสองคนผ่อนคลายว่า เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ไม่มีคำตอบไหนผิด บทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้มาเพื่อตรวจสอบใคร
เรามาเพื่อฟัง
ฟังเพื่อเข้าใจ
เข้าใจอย่างที่เด็กเป็น ไม่ใช่อย่างที่อยากให้เด็กเป็น
การศึกษา
ทั้งสองคนเข้าร่วม ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ได้ยังไง
จีน : ย้อนไปช่วง ม.5 ตัวเองเรียนแผนศิลป์-จีน ได้อ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ของ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ที่เด็กศิลป์เรียน แล้วไปอ่านเล่มของเพื่อนที่เป็นเด็กวิทย์ ปรากฏว่าเนื้อหาไม่เหมือนกัน คิดว่าเราต้องบอกคนอื่น เลยอัดคลิปลงเฟซบุ๊กตัวเอง เปิดพับลิก แล้วแท็ก สสวท. จุดประสงค์ไม่ได้จะถามหรอก ถามไปก็ไม่ได้คำตอบ เราต้องการบอกว่ามีข้อผิดพลาด อยากสื่อสารกับเพื่อนๆ และรุ่นน้องว่า ถ้าอ่านหนังสือของเด็กศิลป์ ทำข้อสอบโอเน็ตไม่ได้แน่ๆ ต้องหามาอ่านเอง หลังจากคลิปแพร่ออกไป มีรุ่นพี่คนนึงนัดมาพูดคุย ทำให้ได้เจอเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เขาบอกว่าดูคลิปแล้ว เห็นด้วย หนังสือเล่มนั้นเขาเปิดทีเดียวก็ปิดเลย เพนกวินพูดถึงกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นเลขาธิการ หลังจากนั้นจีนก็มาเป็นสมาชิกกลุ่ม
อัลฟ่า : ตอน ม.ต้น เราเห็นเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) จากสื่อต่างๆ หลังจากสอบเข้าเตรียมอุดม ได้มาร่วมงานเสวนาที่จีนเป็นคนจัด เลยได้รู้จักกับกลุ่ม
จีน : จากคลิปที่โพสต์ เพนกวินชวนจัดเป็นงานเสวนาร่วมกันอาจารย์เจษฎา (รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์) ชื่องานว่า ผ่าพิภพตำราวิทย์
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททำอะไรบ้าง
อัลฟ่า : เราเป็นกระบอกเสียงให้นักเรียน เจอปัญหาอะไรในโรงเรียน ให้เราเป็นตัวแทนพูด
จีน : เวลามีเด็กส่งข้อความมาในอินบ็อกซ์ เล่าว่าที่โรงเรียนมีปัญหาแบบนั้นแบบนี้ เราจะทำเป็นแถลงการณ์ขึ้นมา เกิดปัญหานี้ ควรแก้ยังไง หลายเรื่องไม่ค่อยมีใครรู้ ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าเพิ่งรู้เป็นครั้งแรก ที่มีนักเรียนส่งเข้ามาบ่อยๆ คือเรื่องกฎระเบียบ บางโรงเรียนมีกฎระเบียบที่ประหลาดมาก
อัลฟ่า : การบังคับใช้ที่มาตรฐานไม่เท่าเทียมกันด้วย
จีน : ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียนไว้ผมยาวได้แล้ว แต่ในกฎยังมีระบุว่า ‘อยู่ที่ดุลยพินิจของโรงเรียน’
อัลฟ่า : แล้วดุลยพินิจแปลว่าอะไร
จีน : เราว่ามันไม่แฟร์เลย เช่นโรงเรียนอยู่ติดกัน 4 แห่ง ทุกที่ไว้ผมยาวได้แล้ว แต่มีที่เดียวที่ไม่ให้ไว้ พอเด็กไปบอกทางโรงเรียนว่า “กระทรวงศึกษาธิการออกกฎว่าให้ไว้ผมยาวได้แล้ว ทำไมถึงไว้ไม่ได้ล่ะ” โรงเรียนกลับตอบว่า “นี่โรงเรียนของเรา ไม่ต้องทำตามรัฐบาลก็ได้” ซึ่งมันเป็นการจำกัดสิทธิ์เด็กมากเกินไป
อัลฟ่า : เขาลดความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก
จีน : ครูมักบอกว่า วัยเรียนก็ควรเรียน แต่ความจริงคือ เรายังต้องเจอคน เราต้องสวยนะ
อัลฟ่า : เป็นผู้หญิงต้องสวย ครูไม่เข้าใจเหรอคะ (เสียงสูง)
จีน : ครูชอบบอกว่า “ตัดๆ ไปเถอะ ทรงผมไม่เกี่ยวกับสติปัญญาหรอก” ก็ใช่ รู้ แล้วทำไมต้องตัดล่ะ ที่เล่าคือโรงเรียนอื่นนะ เพราะโรงเรียนของหนูไว้ผมยาวได้
สมัยเรียนอยู่ ม.ต้น ที่โดนตัดผมทรงติ่งหู ทั้งสองคนรู้สึกยังไง
จีน : ไม่เข้าใจว่าตัดไปทำไม ใครๆ ก็อยากสวย ใครๆ ก็อยากดูดี พอตัดติ่งปุ๊บ อย่างเด๋อเลย จีนเลยซอยผมนิดนึง ไม่ได้อยากขัดแย้งกับครู แต่หนูตัดสั้นๆ ตรงๆ แล้วผมมันฟู
อัลฟ่า : ไม่ใช่ทุกคนที่ตัดทรงนั้นแล้วโอเคไง (เน้นเสียง)
จีน : ใช่ เด็กผู้หญิงเลยต้องซอยให้ผมงุ้มๆ ซึ่งก็ผิดกฎ แต่ถ้าไว้ผมยาว ทุกคนรัดผม ตรวจง่าย เต็มที่ก็ดูความยาว จะมาตรวจว่า ซอยผมหรือเปล่า สไลด์หรือเปล่า เพื่ออะไร
อัลฟ่า : ถ้าอาจารย์จะให้นักเรียนตัดติ่ง อาจารย์ต้องตัดเป็นเพื่อนด้วยสิ เพื่อความเท่าเทียมไง คุณจะบังคับเราอย่างเดียวได้ยังไง เราต้องบังคับคุณได้ด้วยสิ
อัลฟ่าล่ะ ตอนถูกตัดทรงติ่งหู รู้สึกยังไง
อัลฟ่า : ตอนนั้นหนูเป็นเด็ก ม.ต้น ในอุดมคติ อาจารย์ให้ทำอะไรก็ทำ ตัดทรงไหนก็ได้ นักเรียนที่ดีต้องทำตามกฎระเบียบ แต่พออยู่กับพี่เพนกวินเยอะๆ อ่านบทความทางการศึกษาต่างๆ ทำให้เข้าใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราอยู่ในกรงที่มองไม่เห็น ที่บอกว่าควรเป็นแบบนั้น ควรเป็นแบบนี้ ทั้งที่เราควรมีสิทธิ์เลือกเองได้ คนเป็นเด็กมักอยู่กับความคิดว่า นักเรียนไม่ต้องดูแลตัวเอง แต่จริงๆ วัยนี้เป็นวัยที่สวยได้แล้ว! ไม่ว่าวัยไหน เราก็ควรดูแลตัวเอง ควรรักตัวเอง ไม่ควรถูกมองเป็นแค่วัตถุที่ต้องตัดติ่งตามอาจารย์ บ้านเราต่อสู้เรื่องนี้จนกลายเป็นกฎเกณฑ์แล้ว แต่ดันยังมีติ่งอยู่ว่า ‘ตามแต่ดุลยพินิจ’
ทั้งที่มีการออกกฎอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางโรงเรียนกลับยังปฏิบัติแบบเดิม คิดว่าเป็นเพราะอะไร
อัลฟ่า : ผู้บริหารโรงเรียนถูกหล่อหลอมด้วยชุดความคิดแบบนั้น ต้องผมติ่งเท่านั้น ถ้าไม่ตัดผมติ่ง ไม่ตัดผมเกรียน จะไม่เรียบร้อย เกเร ไม่เรียน นู่นนี่นั่น พวกเขาพยายามตีความเข้าข้างตัวเอง แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ซึ่งการถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไร คงต้องอาศัยการเปิดใจด้วย
จีน : พวกเขามองว่า ไม่เห็นต้องรักสวยรักงามเลย ตัดๆ ไปเถอะ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันจริงๆ คนตัดผมติ่งเข้าห้องน้ำทุกคาบเลย พอเพื่อนทักว่าผมฟูผมชี้ ต้องเข้าไปหวีแล้ว ขณะที่การไว้ผมยาว ทุกคนรัดเรียบตรง ผูกโบว์ อยู่ได้ทั้งวัน เข้าห้องน้ำเพราะไปฉี่เท่านั้นแหละ มีบางโรงเรียนที่ยังไม่เปลี่ยนให้เหตุผลว่า อยากทำเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนด้วยนะ
มีเพื่อนชอบไว้ผมสั้นบ้างไหม
จีน : มีค่ะ เขาชอบตัวเองตอนผมสั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องสั้นเหมือนกัน ใครจะตัดสั้นก็ได้ หรือจะไว้ยาวก็ได้ นักเรียนควรมีสิทธิ์เลือก
ชอบไปโรงเรียนกันไหม
อัลฟ่า : ไม่ชอบ! (เน้นเสียง) ไม่ชอบ… (ลากเสียง)
จีน : จีนชอบไปโรงเรียน แต่ไม่ชอบเรียน ที่ไม่ชอบเลย คือทำไมต้องให้ไปเช้าขนาดนั้น เริ่มเรียนตั้งแต่แปดโมง วันละเก้าคาบ ทำไมต้องเยอะขนาดนั้น ถ้าเรียนสักครึ่งวัน แล้วให้ทำกิจกรรม เรียนรู้นอกห้อง เด็กคงอยากไปโรงเรียนมากกว่านี้ มีเพื่อนคนไทยไปเรียนนิวซีแลนด์ เขาเรียนทั้งหมด 6 วิชา คาบละ 1-2 ชั่วโมง โรงเรียนจะบังคับ 3 วิชา คือ วิทย์ คณิต อังกฤษ ที่เหลือเขาเลือกได้เอง เพื่อนจะเรียนต่อทางบัญชี เขาก็เลือกแต่วิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมันตรงกว่านะ แต่ประเทศไทยสอนให้เด็กเป็นเป็ด อยู่ในน้ำก็ได้ บินก็ได้ แต่ทำอะไรได้ไม่ดีสักอย่าง ทุกวันนี้บางคนยังไม่รู้เลยว่าอยากเป็นอะไร
อัลฟ่า : หนูไม่ชอบเรียน และไม่ชอบไปโรงเรียนด้วย (เสียงอย่างเซ็ง) การไปโรงเรียนเป็นการบังคับที่ทรมานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องไปแต่เช้า (ทั้งสองคนจับมือกัน)
อัลฟ่า : เราเป็นวัยรุ่น มีชีวิตที่นอนดึกตื่นสาย หนูพยายามตื่นเช้าแบบคนอื่นนะ แต่มันไม่ไหว ลืมตาขึ้นมาหัวหนักอึ้ง แต่ถ้าให้ตื่นตามนาฬิกาชีวิต มันดีกว่า ตื่นมาก็เรียนรู้ได้เต็มที่ อีกอย่างคือ หนูรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเรียนในห้อง ไม่รู้ว่าตัวเองสมาธิสั้นหรือหัวเร็วเกินไป ฟังอาจารย์ในห้อง ถ้าไม่หลับไปเลย ก็ต้องหาอะไรมาทำ หนูจะจับประเด็นได้ดีขึ้นถ้าวาดรูปไปด้วย เราไม่หลับแล้วฟังได้ด้วย บางช่วงที่อาจารย์สอนเร็วไป เราอยากให้หยุด ถ้าบอกไป อาจารย์จะหาว่าทำไมมีปัญหาเยอะ เพื่อนเขม่นอีก รู้สึกว่าตัวเองเรียนได้ดีกับการดูในยูทูป ไม่เข้าใจก็กด PAUSE อยากรู้อะไรก็ค้นหา ลงมือทำ ไม่ต้องให้อาจารย์มากำหนดว่าควรเรียนเรื่องอะไร ถ้าสงสัยว่าผีมีจริงไหม ก็ไปหาข้อมูลดู ทั้งทางคติชนวิทยา จิตวิทยา ประสาทวิทยา มันได้ใช้ความรู้มากกว่าอีก ระหว่างทางได้เก็บความรู้หลายๆ อย่าง เราได้หาความรู้ตามที่สนใจ หรือถ้าไปเจอประโยคในหนังสือเรียน เราก็มาค้นให้ลึกๆ ได้
จีน : หนูว่าบางวิชาไม่ควรเรียนแค่บนกระดาน เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ที่อื่นอาจพาทดลองเยอะแยะ แต่โรงเรียนของจีน นับครั้งลงแล็บได้เลย ในแบบฝึกหัดมีลงแล็บ 10 ครั้ง จีนลงครั้งเดียว วิชาแบบนี้ควรได้สังเกต ทดลอง ถ้าหยดสารนี้ลงไป จะเปลี่ยนแปลงยังไง เราได้สังเกต บันทึก หรืออย่างวิชาภูมิศาสตร์ ก็ควรไปเซอร์เวย์เลย ไม่ใช่มาคิดจินตนาการว่า ตรงนี้จะมีหนองน้ำ แล้วหนองน้ำเป็นยังไง
เคยบอกครูไหม
จีน : เคยค่ะ ครูบอกว่า “อยากจะพาไปนะ แต่หลายๆ อย่างมันไม่เอื้อ” เขาตอบแค่นี้ แต่เข้าใจครูนะ การจะพาเด็กออกไปแต่ละที มันต้องเข้าที่ประชุม แต่ที่ไม่เข้าใจ ทำไมแค่ทำแล็บถึงไม่ให้ทำ บอกผลการทดลองมาหมดเลย เราอยากรู้ว่าที่จะมีฟองฟู่ๆ มันเป็นแบบไหน
เคยพูดกับพ่อแม่ตรงๆ ว่าไม่อยากไปโรงเรียนหรือเปล่า
อัลฟ่า : ไม่พูด แต่ทำเลย ไปโรงเรียนสายบ้าง หนูดื้อเงียบ พ่อแม่ก็รู้ว่าไปสายนะ
ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ลงไป พ่อแม่ได้มาอ่าน จะบอกอะไรกับเขาไหม
อัลฟ่า : ได้ บอกเลย “พ่อแม่คะ หนูไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบ ไม่ชอบมาก (ลากเสียง) แต่หนูไม่ได้ขี้เกียจเรียนนะ มีความอยากเรียนของตัวเองอยู่ หนูอาจจะชอบไปโรงเรียนกว่านี้ ถ้าสอนอะไรที่เราสนใจ ห้องเรียนมันคับแคบ หนูไม่อยากไปนั่งเฉยๆ ยุคนี้มันไม่จำกัดว่าคุณต้องเรียนที่ไหน แหล่งความรู้มีทั้งในอินเทอร์เน็ตและนอกห้องเรียน หนูรู้ว่าการสอบมันสำคัญ แต่หนูก็ไม่อยากไปโรงเรียนอยู่ดี”
จีน : ตอนนั้นกลับบ้านมา หนูพูดหน้าเซ็งๆ ว่า “ไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว” พ่อกับแม่คิดว่าไปมีเรื่องกับใครหรือเปล่า ไม่ใช่ แค่ไม่อยากไป ไม่อยากตื่นเช้า ไม่อยากไปเรียนเยอะๆ พ่อกับแม่ก็เข้าใจ พวกเขาบอกว่า แต่ถ้าไม่เรียนเลย ในชีวิตจริงมันยากนะ ถ้าอยู่ต่างประเทศอาจมีโอกาส แต่ประเทศไทยยังต้องใช้ปริญญา คิดซะว่าเราไปเพื่อสร้างอนาคตให้ตัวเองละกัน ไปให้ผ่านไป เพื่อไปถึงจุดที่เราอยากไป ฟังแล้วรู้สึกดีนะ ที่เขาเข้าใจ แต่ก็ไม่อยากไปโรงเรียนอยู่ดี (หัวเราะ)
แต่ก่อนอินเทอร์เน็ตไม่แพร่หลาย ความรู้อยู่ในหนังสือ อยู่ในครูผู้สอน แต่ตอนนี้ความรู้อยู่ในกูเกิล ยูทูป เคยรู้สึกไหมว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเรา
จีน : ถามว่าวันไหนไม่รู้สึกดีกว่า (หัวเราะ)
แล้วแบบนี้เด็กไปโรงเรียนเพื่ออะไร
จีน : ไปให้ได้ใบจบ (หัวเราะ)
อัลฟ่า : ไปให้ไม่มีปัญหากับพ่อแม่
จีน : แต่โรงเรียนก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จีนชอบไปคุยกับครูด้วย คุยประเด็นการศึกษา นอกจากมุมมองเด็ก เราได้รู้มุมมองครู คุยกับครูเรื่องไร้สาระ เรื่องติ่งเกาหลี โรงเรียนทำให้เราได้เจอผู้คน เตรียมพร้อมไปใช้ชีวิตภายนอก
อัลฟ่า : สำหรับหนู โรงเรียนไม่มีสิ่งที่ชอบเลย เราไม่ค่อยชอบเข้าสังคม พูดแบบนี้ไม่ใช่ไม่มีเพื่อนนะ (หัวเราะ) เราไม่ได้สนใจเหมือนคนอื่น ไปโรงเรียนเพื่อเก็บข้อสอบ สังเกตปฏิกิริยาอาจารย์ในห้อง เรื่องไหนพูดบ่อยก็มีสิทธิ์อยู่ในข้อสอบ เอาจริงๆ ก็เกรงใจด้วยนะ เห็นครูมีความตั้งใจสอน ไม่อยากให้เขารู้สึกแย่ว่าเด็กไม่ชอบหรือเปล่าถึงไม่มาโรงเรียน
เคยรู้สึกว่าครูโง่กว่าเราบ้างไหม
จีน : โห…จีนเคยเจอครูสอนผิด เราไปกระซิบบอก เขามองหน้า แล้วตอบว่า ‘เดี๋ยวครูลองดูก่อน’ สักพักก็ยอมรับ แล้วคนนี้ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เลยเลิกฟังเขาไปเลย
อัลฟ่า : ต้องถามก่อนว่าโง่คืออะไร รู้ไม่เท่าเรา หรือใช้ความรู้ได้ไม่เท่าเรา ถ้ารู้ไม่เท่าเรา อาจารย์รู้เยอะกว่าหมดแหละ เพราะตั้งแต่ ม.ปลาย หนูไม่ค่อยสนใจความรู้ในห้องเรียนเท่าไร แต่ถ้าการประยุกต์ใช้ความรู้ เราไม่แน่ใจว่าครูมีมากน้อยแค่ไหน ข้อสอบของไทยวัดแค่ความจำ ไม่วัดการประยุกต์ใช้ เลยประเมินไม่ได้ แต่ถ้าให้ตัดสินเลยว่า อาจารย์โง่กว่าไหม ตอบยากนะ มันมีความโง่หลายด้าน บางเรื่องหนูอาจจะรู้มากกว่า แต่หนูอาจกลายเป็นคนโง่ในการเข้าสังคมก็ได้
นอกจากหนังสือเรียน ทั้งสองคนอ่านอะไรกันบ้าง
จีน : หนูชอบอ่านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ชอบที่สุดคือ เด็กชายในชุดนอนลายทาง (วรรณกรรมเยาวชน เขียนโดย จอห์น บอยน์) อ่านแล้วน้ำตาไหล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นช่วงสงครามยิวกับเยอรมัน เคยดูเป็นหนังมาก่อน เด็กชายคนนึงชื่อ บรูโน่ พ่อเป็นทหารเยอรมัน ความเป็นเด็กเลยรู้แค่พ่อเป็นทหาร บรูโน่เดินเล่นตามประสาเด็กไปเจอเด็กชายชาวยิวใส่ชุดนอนลายทาง บรูโน่ถามว่าทำไมต้องใส่ชุดนี้ล่ะ เด็กคนนั้นตอบว่าคนยิวต้องใส่ ทั้งสองคนเล่นด้วยกัน บรูโน่อยากรู้ว่าข้างในเป็นยังไง เลยเข้าไปในแดนของยิว เด็กชาวชาวยิวบอกว่าต้องไปตามหาพ่อ บรูโน่ก็ไปช่วยหา เลยโดนเข้าไปในห้องรมแก๊ส เรื่องราวสะท้อนประวัติศาสตร์ พอมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองเด็ก สะเทือนใจมาก เด็กไม่รู้อะไรเลย แต่ต้องมาเสียชีวิต แล้วก็ชอบอ่านหนังสือชีวประวัติของผู้หญิงเก่งๆ เช่น มิเชล โอบามา, บูเช็กเทียน หนูชอบอ่านเป็นเรื่องราวชีวิตคน
อัลฟ่า : หนูชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ เล่มที่ชอบคือ โลกจิต ของพี่แทนไท ประเสริฐกุล เขาอธิบายสิ่งที่ดูเข้าใจยาก ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ อธิบายในคำถามที่เราสงสัย ทั้งเชิงปรัชญา ความเชื่อทางศาสนา มันอธิบายได้ผ่านหลักวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักประสาทวิทยา แล้วก็ 500 ล้านปีของความรัก อธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์ ผ่านประสาทวิทยา ปกติหนูอ่านหนังสือแล้วจะง่วงแล้วก็หลับ แต่สองเล่มนี้ไม่หลับนะ พออ่านเรื่องที่ชอบ ที่สนใจ สมองตื่นตัวตลอดเวลา หนังสือวรรณกรรมที่ชอบมาก คือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต คนเขียนเจ๋งมาก หนูกรี๊ดคุณวีรพรมาก (กรี๊ด…) ติดตามงานเขาตลอด เคยขอลายเซ็นด้วย แต่ยังไม่ได้ถ่ายรูปคู่ ตอนนั้นเกรงใจ เขินด้วย เอาจริงๆ หนูไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ว่าเขาจะสื่ออะไรหรอก แต่ตอนอ่านมันรู้สึกเจ็บที่หน้าอก เป็นเล่มเดียวที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ ทั้งที่เราไม่เคยมีแฟน ประสบการณ์เรื่องรักมีแต่แอบรัก แต่อ่านแล้วรู้สึกร่วมอย่างแปลกประหลาด ตัวหนังสือของคุณวีรพรสวย เหมือนงานศิลปะ เหมือนภาพใส่ฟิลเตอร์ ไม่เชิงฟรุ้งฟริ้ง มันหม่นๆ
ถ้าคุณวีรพรได้มาอ่านบทสัมภาษณ์ อยากบอกอะไร
อัลฟ่า : อุ๊ย เขินจัง (เอามือสองข้างเล่นผม บิดตัวไปมา) รักคุณวีรพรมากค่ะ (ชูนิ้วเลิฟยู)
เด็กดี
เวลาพูดถึงคำว่า ‘เด็กดี’ มีเพลงหนึ่งที่ถูกอ้างอิงเสมอ “เด็กเอ๋ย เด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน…” เรามองนิยามคำว่า ‘เด็กดี’ ในเพลงนี้ยังไง
อัลฟ่า : แค่ข้อแรกที่บอกว่าให้นับถือศาสนา หนูไม่ได้นับถือศาสนาไหน เป็นคนนอกรีต (หัวเราะ) แต่อะไรที่เดือดร้อนคนอื่น หนูไม่ทำนะ เราศึกษามาหลายศาสนาแล้ว พุทธ คริสต์ อิสลาม ไม่มีศาสนาไหนตอบโจทย์เลย แม้กระทั่งพุทธ เราเคยซาบซึ้งในศาสนาพุทธ ศึกษาพอสมควร นั่งวิปัสสนา ตอนนี้ก็ไม่ได้เชื่อแล้ว เราเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่า ทั้งพุทธและวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการอธิบายความจริงที่แตกต่างกัน พุทธมีหลักการของเขา ความจริงอยู่ตรงนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ ถ้าวันข้างหน้าพบว่ามันไม่จริง เราสามารถเปลี่ยนความจริงได้ เอาจริงๆ นะ ถ้าไม่นับข้อแรก หนูจำไม่ได้สักข้อ (จีนร้องเพลงทวนทีละข้อ / สองรักษาธรรมเนียมมั่น) รักษาธรรมเนียมมั่นเหรอ บางอย่างก็ควรปรับไปตามสมัยนะ (สามเชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์) หนูไม่เชื่อ (สี่วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน) หนูไม่สุภาพอ่อนหวาน โอ๊ย…หนูไม่ได้สักข้อเลย ถ้าเพลงนี้คือคุณลักษณะเด็กดีที่ควรเป็น หนูไม่ใช่เลย
จีน : มีปัญหาตั้งแต่ข้อแรกแล้ว คนมักบอกว่าศาสนาคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วถ้าคนเรามีอย่างอื่นยึดเหนี่ยวล่ะ ผิดเหรอ ถ้าใครสักคนบอกว่าไม่นับถือศาสนา ก็ต้องโดนละ ไอ้พวกนอกรีต (อัลฟ่า : คนบาป! มันจะไปฆ่าคน!) คนไม่นับถือศาสนาไม่ได้แปลว่าเป็นคนเลวร้าย เขาอาจเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ชอบที่จะทดลองเอง ไม่ดีเหรอ ข้อต่อมารักษาธรรมเนียมมั่น ที่บอกว่าไม่ควรมีความรักในวัยเรียน หนูก็ไม่เห็นด้วย
มีคนเปรียบเทียบไว้ว่า มีรักในวัยเรียน เหมือนจุดเทียนกลางสายฝน
จีน : ก็เอาร่มมากาง แล้วนั่งมองเทียนไม่ได้เหรอ หนูมีแฟน ก็ช่วยกันเรียน ไม่ได้พากันโดดเรียน กินเหล้า ตั้งแต่คบคนแรกจนถึงปัจจุบัน หนูบอกพ่อแม่ด้วยนะ ปกติคุยกับพ่อแม่ทุกเรื่อง ตอนมีแฟนคนแรกเลยอัดอั้น ต้องโกหกไปถึงไหน หนูเลยไปบอกแม่ก่อน “แม่ หนูมีแฟนนะ” แม่เงียบไป เราคิดในใจ เอาแล้ว โดนตัดค่าขนมแน่ สักพักแม่ถามว่า “หล่อไหมอะ เจอกันได้ยังไง อยากเห็นหน้า พามาให้เจอได้ไหม” แม่ไม่ว่าเลย พอไปบอกพ่อ เขาถามว่า “หล่อไหม รวยไหม เรียนเก่งไหม” พ่อบอกว่ามีแฟนได้รู้ว่าไปไหนมาไหนกับใคร มีคนรักดีกว่ามีคนเกลียด พวกเขาไม่ว่า ขอแค่อย่าทิ้งการเรียน แล้วพามาให้เจอหน้าบ้าง ถ้าเอาตามเพลง เราก็ขัดกับนิยามหลายอย่างเลย
นิยามคำว่า ‘เด็กดี’ สำหรับทั้งสองคนคืออะไร
จีน : เอาตัวรอดได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่นับทำให้คนอื่นหมั่นไส้นะ แล้วก็เป็นตัวของตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง และประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องโกง
อัลฟ่า : ทำอะไรก็ได้ ทำไปเลย อย่าไปละเมิดสิทธิใครก็พอ ต้องเป็น Active Citizen ด้วย เราอยู่กันเป็นสังคม ต้องมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ใส่ใจกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น คนที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับเรามีปัญหา แต่เขาอยู่ร่วมสังคมกับเรา มันก็ต้องเกิดผลกระทบกับชีวิตเราด้วย ดังนั้นก็ควรช่วยเหลือกัน ตอนนี้หนูทำโปรเจ็คต์อยู่ ชื่อ Behind Bangkok พาคนที่มีความสามารถในการทำสื่อมาเข้าค่าย ลงพื้นที่สำรวจชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ 5 แห่ง เบื้องหน้าที่ดูมีความเจริญ เบื้องหลังยังมีปัญหา แล้วนำว่าผลิตเป็นสื่อเพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ปัญหามากขึ้น
ชาติไทย
ตั้งแต่ลุงตู่มาเป็นนายกฯ เขาพูดบ่อยมากๆ ว่าให้ทุกคนทำเพื่อชาติ ทั้งสองคนมองคำว่าทำเพื่อชาติยังไง
อัลฟ่า : ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคำว่า ‘ชาติ’ มากกว่า ‘ชีวิตคนในประเทศ’ มากกว่า ‘ความเป็นอยู่คนในประเทศ’ สิ่งสำคัญจริงๆ ไม่ใช่คำว่า ‘ชาติ’ แต่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ เราเคยชินกับชุดความคิดว่า ต้องชาตินิยมเท่านั้น ประเทศถึงจะอยู่รอดได้ สมัยก่อนต้องเป็นชาตินิยมเพื่อให้รอดการครอบงำจากต่างประเทศ แต่นี่สมัยไหนแล้ว คำว่าชาติควรถูกลดความสำคัญ แล้วให้ความสำคัญกับชีวิตคนมากกว่า
จีน : คิดเหมือนกันนะ แล้วคำ ‘ชาติ’ ที่เขาหมายถึงคืออะไร ถ้าคือพื้นดินและแม่น้ำในประเทศไทย มันเป็นความคิดที่แคบมาก เขาต้องโฟกัสที่ประชาชนก่อน ประชาชนต้องการอะไร บางอย่างที่เขาทำอาจไม่ได้เป็นผลดีกับประชาชน หนูมองว่าคำว่า ‘ชาติ’ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ไม่ต้องโฟกัสมากขนาดนั้น ควรโฟกัสกับประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้นดีกว่า
“เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” คิดยังไงกับคำนี้
อัลฟ่า : นั่นคำขวัญเหรอคะ
ใช่สิ คำขวัญวันเด็กประจำปี 2560
อัลฟ่า : หนูลองปลอมตัวเป็นลุงตู่นะ เขาคงคิดว่า เด็กที่ตั้งใจเรียน โตขึ้นมาต้องเป็นกำลังของชาติแน่นอน ทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ประเทศชาติก็มั่นคง แล้วคนในชาติก็มีความสุข แต่เราต้องรื้อใหม่ ลุงคงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดหรือเปล่า ขออนุญาตลุงมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ (เสียงเบา) มันมีปัญหาตรงคำว่า ชาติ คำว่าชาติเป็นตัวทำลายนักเรียนซะเอง บางทีบ้านที่อยู่ก็ทำร้ายเรา ไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับเรา ไม่เข้าใจสภาพความเป็นตัวเรา เข้าใจค่ะ ว่าบ้านตอบสนองเราไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในฐานะนักเรียน เราควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ ไม่ถูกกดขี่ จนนักเรียนไม่มีจุดยืนของตัวเอง
จีน : คำว่าใส่ใจศึกษา ต้องระบุอีกว่าหมายถึงอะไร หนูเดาว่าลุงคงหมายถึงการศึกษาในห้องเรียน มันกำกวมนะ ถ้าเราไม่ได้เรียนในโรงเรียนล่ะ เราจะทำให้ชาติมั่นคงไม่ได้เหรอ ถ้าไม่ได้เรียน แต่ไปทำกิจกรรมจิตอาสาในที่ต่างๆ เราจะได้รับการยอมรับหรือเปล่า หรือต้องเรียนในห้องเท่านั้น ถ้าเรียนเก่งในโรงเรียน แต่ไม่ทำอะไรเลยล่ะ มันทำให้ชาติมั่นคงหรือเปล่า
อัลฟ่า : อื้อ อื้อ อื้อ (พยักหน้า)
ทั้งสองคนช่วยแต่งคำขวัญวันเด็กให้หน่อยสิ ไม่ต้องซีเรียสนะ ลุงตู่แต่งแบบนี้ยังเป็นคำขวัญวันเด็กประจำปีได้เลย
(ทั้งสองคนเงียบนาน)
จีน : มีความสุขกับสิ่งที่ชอบ แล้วทุกอย่างจะดีเอง
อัลฟ่า : จะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องใส่ใจส่วนรวม