เมื่อไม่นานมานี้ แวดวงศิลปะในบ้านเรา มีวิวาทะร้อนๆ ในประเด็นเกี่ยวกับผลงานศิลปะในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ที่ผลงานของ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) ศิลปินชาวเยอรมันผู้ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ อย่าง Nai Nam Mee Pla, Nai Na Mee Khao – In the water there is fish, in the field there is rice. (2023) ถูกรื้อถอน
งานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากสุภาษิตของไทยที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ในพื้นที่แสดงงานกลางแจ้งของหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) สรรค์สร้าง ‘ห้องใต้นา’ หรือห้องใต้ดินที่ผู้ชมสามารถเดินลงบันไดแคบๆ เพื่อเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ล้อมรอบด้วยทุ่งนา ด้านบนห้องเปิดโล่งราวกับจะให้ท้องฟ้าเบื้องบนเป็นหลังคา ภายในห้องมีผลงานประติมากรรมจัดวางเปี่ยมสีสันที่จำลองผลงานภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้ คลื่นใหญ่นอกคะนะงาวะ (The Great Wave off Kanagawa) (1829–1833) ชิ้นลือเลื่องของศิลปินระดับปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) ที่อยู่ในรูปแบบกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์เรียงตัวไล่เฉดสีเป็นภาพพิกเซลสามมิติรูปคลื่นยักษ์แตกฟอง บนประติมากรรมคลื่นยักษ์ที่ว่านี้ ยังประดับด้วยปลากระป๋องจำหลายกระป๋องว่างไว้ทั่วห้อง ราวกับเป็นฝูงปลาแหวกว่ายให้ผู้ชมสามารถหยิบฉวยกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกได้ ด้วยการหลอมรวมศาสตร์และศิลป์หลากแขนงรวมถึงวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันอย่างเปี่ยมสีสันสนุกสนาน ทำให้ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงรายเลยก็ว่าได้
ทว่าความงดงามของศาสตร์และศิลป์นี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิวาทะ เพราะหลังจากมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งนี้จบลงในปลายเดือนเมษายน 2024 ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ของเรห์แบร์เกอร์ก็ถูกรื้อถอน หรือพูดง่ายๆ ก็คือทำลายทิ้งนั่นแหละ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยบ้านเราออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้กันในวงกว้าง ทั้งศิลปินในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่นๆ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงศิลปะอย่าง นักวิจารณ์ศิลปะ ภัณฑารักษ์ และคนทำงานในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทย ทั้งในแง่ของความเสียดายในผลงานของศิลปินระดับโลกชิ้นนี้ หรือในแง่ของความสิ้นเปลืองทรัพยากรในการสร้าง และงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
แต่หลังจากการถกเถียงนี้เริ่มแพร่หลายออกไป ก็เริ่มมีเสียงตอบกลับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ ทั้งศิลปินและภัณฑารักษ์ ที่ชี้แจงว่า การรื้อถอนผลงานชิ้นนี้เป็นไปตามระเบียบราชการ ด้วยความที่ข้อตกลงในการสร้างงานระหว่างศิลปินเจ้าของผลงานกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม นั้นไม่ได้เป็นการ commission หรือจัดจ้าง/ซื้อลิขสิทธิ์ให้สร้างผลงานชิ้นนี้แบบติดตั้งถาวร หากแต่เป็นการยืมลิขสิทธิ์ผลงานมาจัดแสดงในช่วงระยะเวลาของมหกรรมศิลปะเท่านั้น เมื่อจบจึงต้องรื้อถอนผลงานออก เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ของศิลปินเจ้าของผลงาน และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ (Right against Exploitation) ในภายหลัง
อันที่จริง ก็ยังมีอีกหลายผลงานของศิลปินในมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ที่ถูกรื้อถอนหลังจากจบงาน ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Chantdance (2023) ศิลปะจัดวางที่เปิดโอกาสให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ข้างในของ ออร์เนสโต เนโต (Ernesto Neto) ศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของโลกชาวบราซิล ที่จัดแสดงในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ก็ถูกรื้อถอนออกตามสัญญาที่ตกลงกับศิลปินเอาไว้แต่แรก
เช่นเดียวกับผลงาน Weekend (2023) ของ ไมเคิล ลิน (Michael Lin) ศิลปินร่วมสมัยระดับโลกชาวไต้หวัน ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่มหึมาบนฟาซาด (Façade) หรือ พื้นที่ส่วนหน้าของอาคารศาลากลางจัดหวัดเชียงรายหลังเก่า ก็ถูกรื้อถอนออกหลังจากจบงาน เนื่องจากระเบียบเกี่ยวกับอาคารราชการ
หรือผลงาน ความเชื่อเป็นเหมือนสายลม’ (2023) ประติมากรรมจัดวางผสมเสียงของ อริญชย์ รุ่งแจ้งศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล ที่ถูกรื้อถอนหลังจากจบงาน เนื่องจากพื้นที่แสดงงาน ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวันไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดูแลรักษาผลงานศิลปะที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้
แต่ก็ยังมีผลงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่ไม่ถูกรื้อถอนหลังจากจบงาน ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Between Roof & Floor (2023) ของสตูดิโอสถาปนิก all(zone) ที่ถูกติดตั้งถาวรในพื้นที่แสดงงาน ด้วยความที่เป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากการว่าจ้างของ สศร.
หรือผลงาน Inner Light – Chaing Rai Rice Barn (2023) ประติมากรรมจัดวางจากยุ้งข้าวแกะสลักของ ประติมากรชาวญี่ปุ่น ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido) ก็ถูกติดตั้งอย่างถาวรในพื้นที่แสดงงานอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง
และผลงาน Garden of Silence (สวนแห่งความเงียบ) (2023) ของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่ ก็ติดตั้งอยู่เป็นการถาวรในสวนยางพาราของ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำสมาธิวิปัสสนาของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมชมไร่แห่งนี้
อันที่จริง การจัดเก็บ รื้อถอนผลงานศิลปะออกจากพื้นที่แสดงงานในนิทรรศการ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก คือถ้าเป็นงานศิลปะที่รื้อถอนจัดเก็บง่ายๆ อย่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และงานวาดเส้นต่างๆ หรือถ้าเป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง งานกราฟฟิตี้ที่แค่ลบทิ้งเอา ก็คงจะไม่น่าตกใจเท่าไร แถมศิลปินระดับโลกหลายคนก็เคยทำลายผลงานตัวเองทิ้งให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนก็คงเป็นในวงการหนังหรือภาพยนตร์ ที่มีการรื้อถอน ทำลายงานศิลปะหรืองานออกแบบที่อยู่ภายในหนังอยู่บ่อยครั้งเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นใน Boogie Woogie (2009) หนังตลกร้ายเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยของลอนดอนในยุค 1990 ได้อย่างเจ็บแสบ ที่ผู้สร้างจำลองผลงานภาพวาด Broadway Boogie-Woogie (1943) ของ พีท มงเดรียน (Piet Mondrian) จิตรกรชาวดัชต์ระดับตำนานขึ้นมาใหม่ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อถ่ายทำในหนัง โดยมีข้อตกลงว่า ต้องทำลายทิ้งหลังจากถ่ายทำเสร็จ ซึ่งหนังก็หยิบเอากระบวนการเผาทำลายภาพวาดจำลองชิ้นนี้มาใส่ในฉากหนึ่งของหนังด้วย
หรือในหนัง 2001: A Space Odyssey (1968) หนังไซไฟที่เปลี่ยนโฉมหน้าของหนังไซไฟไปตลอดกาลของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ที่เต็มไปด้วยงานดีไซน์จนกลายเป็นไอคอนทางดีไซน์แห่งศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงทุกวันนี้ แต่หลังจากที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสิ้นลงและออกฉาย คูบริกก็ได้ทำลายอุปกรณ์ประกอบฉากและงานออกแบบทั้งหลายทั้งปวงที่ใช้ในหนังจนสิ้นซาก เนื่องจากเกรงว่าจะมีคนหัวใสเอาไปทำกำไรต่อในภายหลังนั่นเอง
นอกจากนี้ ลักษณะการหยิบยืมลิขสิทธิ์ของงานศิลปะมาสร้างขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ และรื้อถอนหรือทำลายงานทิ้งเมื่อจบวาระการแสดงงาน ก็ยังพ้องกับลักษณะของงานศิลปะแบบคอนเซ็ปชวลอาร์ต (Conceptual art) ที่ไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะวัตถุมากไปกว่าความคิดของศิลปิน ตัวอย่างที่ชัดเจนในแง่นี้ก็คือ โครงการศิลปะที่เรียกกันว่า do it หรือกระบวนการทำงานศิลปะในรูปแบบของ คำแนะนำที่มอบให้ทีมงานของหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่สาธารณชนต่างๆ ที่ได้รับคู่มือไปสร้างผลงานขึ้นเป็นการเฉพาะกิจชั่วคราว โดยที่ศิลปินเจ้าของผลงานและคำแนะนำไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับการสร้างผลงานเลยแม้แต่น้อย แต่ผลงานเหล่านั้นก็จะต้องถูกรื้อถอนหรือทำลายหลังจากจบการแสดงงานนั่นเอง
แต่เมื่อผลงานที่ถูกทำลายดันเป็นผลงานศิลปะจัดวาง หรืองานในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต้องมีการรื้อถอน ทำลายทิ้งกันอย่างเอิกเกริกในพื้นที่สาธารณะ ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าตระหนกตกใจสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัย Anthropocene (หรือช่วงเวลาที่มนุษย์สร้างผลกระทบให้กับโลกอย่างไม่มีวันหวนคืน ทั้งการเผชิญหน้ากับภัยพิบัตินิวเคลียร์ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม) ที่ผู้คนเริ่มตระหนักและมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า การรื้อถอนก็เป็นเรื่องที่น่าครุ่นคิดเอาการ
และการที่ใครสักคน (หรือหลายคน) จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานราชการที่ใช้งบประมาณที่ได้มาจากภาษีประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการทางกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
เราก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้กับการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในประเทศไทย เพื่อทางภาครัฐและหน่วยงานราชการมีการศึกษาประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนได้รับทราบ ทำความเข้าใจ หรือแม้แต่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดทิศทางของศิลปะวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัวเองบ้างอะไรบ้างก็ยังดี
อ้างอิงจาก
Facebook: Chakkrit Chimnok
จิตติ เกษมกิจวัฒนา
รชพร ชูช่วย
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ
หนังสือ Ways of Curating โดย Hans Ulrich Obrist
https://www.themarginalian.org